อนุทิน 133595


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

พื้นที่ทางการทูตภายใต้กรอบความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

 

     ภายหลังจากที่ผู้ทำบันทึกได้มีโอกาสศึกษาในห้องเรียนวิชาปัญหาการทูตและการกงสุลถึงลักษณะของพื้นที่ทางการทูตระหว่างรัฐที่มีมาแต่เดิมและลักษณะของการเจรจาระหว่างรัฐในปัจจุบันที่พัฒนาไปเป็นการเจรจาภายใต้กรอบของการเจรจาพหุภาคีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเจรจาภายใต้กรอบของความร่วมมือในองค์การระหว่างประเทศ ประกอบกับความสนใจของผู้ทำบันทึกในการบริหารจัดการภัยพิบัติซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่าง Protection of persons in the event of disasters ของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (The International Law Commission (ILC))ผู้ทำบันทึกจึงมีความสนใจในความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติของอาเซียนซึ่งจะทำการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป โดยในบทความนี้จะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลการบริหารจัดการภัยพิบัติของอาเซียนในเบื้องต้นเพื่อนำมาปรับใช้กับความรู้ความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทการเจรจาทางการทูตระหว่างรัฐภายใต้บริบทของความร่วมมือในอาเซียนเท่านั้น 

 

ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน 

     ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนได้ริเร่ิมขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อครั้งเกิดแผนการจัดตั้งประชาคมอาซียนในปี 2558 ในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียนฉบับ ที่ ๒ หรือ ข้อตกลงบาหลี ๒ (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ซึ่งประกอบไปด้วยความร่วมมือหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง และความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม โดยความร่วมมือในการจัดหาภัยพิบัติปรากฎในเสาหลักด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ข้อ B5 และเสาหลักด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนข้อ B7 

     ภายหลังต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management) หรือ ACDM เพื่อดำเนินความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติร่วมกันของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคณะกรรมการอาเซียนได้รับการพัฒนามาจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของประเทศ (ASEAN Experts Group on Natural Disasters) ในปี ค.ศ.1971และเปลี่ยนชื่อเป็น ASEAN Experts Group on Disaster Management (AEGDM)  และท้ายที่สุดได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ในการประชุมครั้งที่ 12 เมื่อปี ค.ศ. 2002 เป้าหมายหลักของการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM เป็นไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านภัยพิบัติร่วมกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยกำหนดให้มีการให้มีการประชุมประจําปี และการดำเนินการเชิงรุกเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติอย่างรอบด้าน นับแต่ การป้องกัน การเตรียมความพร้อมการตอบโต้ การบรรเทาและฟื้นฟูโดยอาศัยความช่วยเหลือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

     ภารกิจสำคัญของคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM คือ การผลักดันให้เกิดการจัดทำ ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response (AADMER))  ภายหลังการเกิดเหตุแผ่นดินไหวและเกิดเหตุสึนามิหลายแห่งในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศพม่า และประเทศไทย เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติอย่างรอบด้าน นับแต่ก่อนการเกิดภัย ในขณะการเกิดภัย และ ภายหลังการเกิดภัย ตลอดจนความร่วมมือทางด้านวิชาการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติของแต่ละประเทศ โดยเน้นไปที่การบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติภายในของแต่ละประเทศเสียก่อน แล้วจึงอาศัยความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากประเทศอื่นภายใต้กรอบของ AADMR กลไกสำคัญในการบริหารจัดการภัยพิบัติภายใต้กรอบความตกลง AADMR ได้แก่ ระบบเตรียมพร้อมเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN Standby Arrangement for Disaster Relief and Emergency Response) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.) มาตรฐานวิธีปฏิบัติในการดําเนินการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามข้อ 8  และ 2.) บัญชีรายการสินทรัพย์และศักยภาพ   การฝึกซ้อมแผนเผชิญภัยพิบัติฉุกเฉินในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Disaster Emergency Simulation Exercises ) หรือ ARDEX รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนตามข้อ 20 และการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อการจัดการภัยพิบัติและบรรเทาภัยฉุกเฉิน (ASEAN Disaster Management and Emergency Relief) หรือ AADMER Fund ตามข้อ 24

 

 

พื้นที่ทางการทูตและการกงสุลภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

     หากพิจารณาจากกรอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในเบื้องต้นจะพบว่า การเจรจาระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติเป็นไปในลักษณะของการปรึกษาหารือทางการทูตร่วมสมัย โดยอาศัยกลไกของที่ประชุมอาเซียนอันถือเป็นกลไกการเจรจาในระดับพหุภาคีเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ หรือ ACDM เพื่อส่งเสริมและกำหนดกรอบความร่วมมือทางด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติในอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีแนวทางที่ชัดเจน 

     นอกจากนี้ รัฐสมาชิกของอาเซียน โดยเฉพาะรัฐที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในปีค.ศ. 2004 ยังอาศัยเวทีการเจรจาภายใต้กรอบของการดำเนินการของคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติอีกทอดหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการจัดทำความตกลงว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ หรือ AADMER เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและการดำเนินการของรัฐในการจัดการด้านภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อาทิ ความร่วมมือในการจัดมาตรฐานทางปฏิบัติสำหรับเพื่อเตรียมความพร้อมและประสานงานในการปฏิบัติร่วมกันของอาเซียนเพื่อบรรเทาภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ((Standard Operating Procedures for Regional Standby Arrangement and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operations) หรือ SASOP ซึ่งมีลักษณะเป็นคู่มือปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management) หรือ AHA centre เพื่อการประสานงานระหว่างรัฐสมาชิกในการดำเนินการเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากภัยพิบัติในกรณีต่างๆ รวมถึงเพื่อประสานงานในการขอความช่วยเหลือจากองค์การและประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเพื่อการบริหารงานและการจัดการภัยพิบัติในอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

บทสรุป

     เพราะเหตุที่ประเทศสมาชิกของอาเซียนยังไม่มีความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการภัยพิบัติให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพ รวมถึงขาดการประสานงานร่วมกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภัยพิบัติ ส่งผลให้การดำเนินการจัดการภัยพิบัติแต่เดิมที่ต่างดำเนินการภายในประเทศนั้นเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากเหตุภัยพิบัติ โดยมิได้มีการดำเนินการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการอาศัยเวทีการประชุมอาเซียนเพื่อผลักดันประเด็นปัญหาการจัดการภัยพิบัติให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการริเริ่มดำเนินการจัดการปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐสมาชิกของอาเซียนเพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนอย่างหนึ่งเช่นกัน

 

บันทึกโดย นางสาวนฤตรา ประเสริฐศิลป์
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 เวลา 17.22 น. แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 20.12 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท