อนุทิน 134477


Naruetra Prasertsilp
เขียนเมื่อ

คาบเรียนสุดท้ายในห้องเรียนวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2556

          ในคาบเรียนสุดท้ายของห้องเรียนปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุล ท่านอาจารย์แหวว ได้ชักชวนให้นศ.ทั้งสามคนได้แก่ พี่ปลาทอง ผู้เขียน และน้องแบงค์ คิดถึงความสอดคล้องกันระหว่างห้องเรียนกับลักษณะของการเรียนสอนตามแนวคิด “ทักษะครูเพื่อศิษย์ไทย ในศตวรรษที่ ๒๑”[1] ของอาจารย์วิจารณ์ พานิช 5 ประการ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ห้องเรียนวิชาปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุลมีความสอดคล้องกันกับแนวคิดดังกล่าวใน 3 ประการ ดังจะมีรายละเอียดดังนี้

 

          1.การสอนที่ไม่เน้นการถ่ายทอดความรู้ แต่ออกแบบการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก (facilitate)การเรียนรู้ ให้นักเรียนเรียนรู้จากการเรียนแบบลงมือทำ หรือปฏิบัติ เรียกว่า PBL (Project-Based Learning)

          PBL (Project-Based Learning) ในความเห็นของอาจารย์วิจารณ์ พานิช หมายถึง การออกแบบห้องเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน สามารถเรียนรู้โดยอาศัยกระบวนการคิด ไตร่ตรองและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มิใช่อาศัยความรู้จากการเรียนการสอนในชั้นเรียนแต่เพียงอย่างเดียว

          ดังจะเห็นได้จากการเผยแพร่รายงานและรูปภาพจากการลงพื้นที่ที่อำเภออุ้มผาง– อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556  ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการออกแบบห้องเรียนนอกสถานที่ให้แก่นักศึกษา เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการเสาะแสวงหาความรู้นอกชั้นเรียนอันเกิดจากการเข้าไปสัมผัสกับประเด็นปัญหาในทางข้อเท็จจริง อันเป็นที่มาของบทเรียนซึ่งใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาของและชี้ให้เห็นถึงแนวทางของหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายซึ่งปรับใช้ในแต่ละกรณี อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ของนศ.ด้วยตนเองจากการประสบกับข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นปัญหาของความไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งเป็นฟันเฟืองหนึ่งในบริบททางการทูตการกงสุล ในฐานะปัจเจกชนที่รัฐจำต้องให้ความคุ้มครองในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงจะได้รับ รวมถึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการเจรจาหรือดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ความคุ้มครองกับเอกชนภายใต้อำนาจรัฐดังกล่าว

 

          2.การเรียนแบบตั้งคำถามที่ถูกต้องซึ่งสำคัญกว่าการหาคำตอบ ฝึกฝนทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

          การชักชวนให้นักศึกษาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการคิดและแสดงความเห็นที่มีต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ท่านอาจารย์แหววใช้ในการเรียนการสอน กล่าวคือ ในการเรียนแต่ละครั้ง อาจารย์แหววจะกำหนดขอบเขตหรือเรื่องที่จะศึกษาล่วงหน้าก่อนเข้าชั้นเรียน เพื่อให้นศ.ได้ทำการหาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อจะนำมาแลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นระหว่างกัน โดยในระหว่างการเรียนการสอน อาจารย์แหววมักจะตั้งคำถามในประเด็นหรือข้อมูลที่นศ.ได้ไปทำการศึกษามาก่อนล่วงหน้า รวมถึงการชักชวนในขบคิดถึงประเด็นปัญหาจากข้อมูลดังกล่าว อาทิ การกำหนดให้นศสำรวจเว็ปไซด์ของสถานทูตและสถานกงสุลของประเทศต่างๆที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และเว็ปไซด์ของสถานทูตและสถานกงสุลของไทยซึ่งตั้งอยู่ที่ต่างประเทศ พร้อมชักชวนให้ฉุกคิดถึงการนำเสนอประเด็นที่แตกต่างกันในแต่ละเว็บไซด์ รวมถึงให้ร่วมกันคิดวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งในชั้นเรียนมีความเห็นร่วมกันว่า ประเด็นปัญหาหรือข่าวสารที่ปรากฎแตกต่างกันไปตามแต่ละเว็ปไซด์เป็นไปตามภารกิจในงานการทูตและการกงสุลที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ  อาทิ เว็ปไซด์ของสถานทูตประเทศพม่าประจำประเทศไทยจะปรากฏข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทำวีซ่าของนักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้แรงงานที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย หรือกรณีเว็ปไซด์ของสถานทูตไทยประจำยุโรปก็จะปรากฎเนื้อหาในประเด็นทางการค้าต่างๆของไทย เป็นต้น

 

          3. การสร้างให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้

          สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนได้รับจากห้องเรียนปัญหาการทูตและการกงสุล ไม่จำกัดแต่เฉพาะความรู้ความเข้าใจในกลไกของการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชน ที่จำต้องให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาดังกล่าวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสัมพันธ์ทางการเมือง การค้าและการลงทุนระหว่างรัฐ แต่ยังรวมถึงทักษะในการคิดไต่ตรองถึงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่รอบตัวตามสื่อต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และทักษะในการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง นำมาเรียงร้อยเป็นบันทึกเล็กๆ ซึ่งผู้เขียนเองสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าได้รับการพัฒนาทักษะในการสื่อสาร ทั้งการพูดในชั้นเรียนและการเขียน โดยการทำบันทึกเผยแพร่ใน Facebook และ Gotoknow

          ลักษณะเช่นนี้เองที่เป็นเป้าหมายสำคัญในชั้นเรียนที่อาจารย์แหววได้กล่าวกับนศ.ในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนากลายเป็นความรู้และองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต การทำบันทึกเล็กๆน้อยๆและทำการเผยแพร่ ไม่เพียงแต่จะเป็นการทบทวนความรู้ความเข้าในในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้เขียน หากแต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดความรู้ของผู้เขียนเอง กับทั้งผู้อื่นที่ได้แวะเวียนเข้ามาชมบันทึกของผู้เขียน ประโยชน์เช่นนี้เองถือเป็นหัวใจสำคัญซึ่งผู้เขียนได้รับจากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนวิชาปัญหาการทูตและการกงสุลในภาคการศึกษานี้

 

บทส่งท้าย

          สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอขอบพระคุณรองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร หรืออาจารย์แหววเป็นอย่างสูงที่ได้สละเวลามาออกแบบห้องเรียนและร่วมเรียนรู้ไปในห้องเรียนที่ทั้งสนุกสนานและอบอุ่น และขอขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิรุณา ติงศภัทิย์ ในความกรุณาแนะนำประเด็นปัญหา กับทั้งคอยกระตุ้นให้ผู้เขียนตระหนักถึงหน้าที่และบทบาทในฐานะนักศึกษากฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดีตลอดมา

          ผู้เขียนขอขอบพระคุณพี่น้องผู้ร่วมชั้นเรียน พี่ปลาทอง ศิวนุช สร้อยทอง และน้องแบงค์ ธนภัทร ชาตินักรบ ผู้ซึ่งมีความตั้งใจอย่างสูงที่จะเปิดห้องเรียนวิชาปัญหาการทูตและการกงสุล อันเป็นที่มาของห้องเรียนดังกล่าวนี้

          ท้ายที่สุด ผู้เขียนขอขอบพระคุณมวลมิตรทางวิชาการที่ให้ความสนใจและติดตามผลงานของผู้เขียนทั้งใน Facebook และใน gotoknow ตลอดมา

 

[1]วิจารณ์  พานิช. “วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21.” http://www.noppawan.sskru.ac.th/data/learn_c21.pdf. 22 มี.ค.57

 

บันทึกโดยนางสาวนฤตรา  ประเสริฐศิลป์

นักศึกษาชั้นปีที่ 2 นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ

คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.57  เวลา 23.15 น.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท