การฟังที่ไม่เกิดปัญญา


          หลังจากอ่านบันทึกของ อาจารย์ดอกไม้ทะเล  ในบล็อก ดอกไม้ทะเล สิ่งเล็กๆน้อยๆ เรื่อง ฟัง ซึ่งเป็นบันทึกที่งดงามในการเรียงร้อยและช่วยกระตุ้นให้ ได้คิด ได้ทบทวนตนเอง  จึงได้ตอบแสดงความเห็นไว้ ในบันทึก ฟัง ว่า  

การฟัง ..บางครั้ง  “ไม่ได้ฟังในสิ่งที่ได้ยิน

แต่หลายๆครั้งที่ ฟัง เกินสิ่งที่ได้ยิน

และบ่อยๆครั้งที่  “ฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน

การฟังจึงเป็นการรู้ตนที่ดี อีกอันหนึ่ง 

 ที่คิดว่า การฟังเป็นการรู้ตนที่ดีนี้ คือสิ่งที่ควรทำ ทั้งในชีวิตประจำวัน และที่ได้ใช้มากยิ่งขึ้นคือในการทำวิจัยที่เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์  เพราะหากนักวิจัย เก็บข้อมูลการสัมภาษณ์แต่ไม่ฟังอย่างตั้งใจ  กลับไปฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน ข้อมูลที่ได้ก็จะไม่ใช่ข้อมูลของผู้ร่วมวิจัย จะกลายเป็นข้อมูลของนักวิจัยไป  

การฟัง ในชีวิตประจำวันที่คิดขณะนี้ว่า น่าจะรวม การอ่านบันทึกของผู้อื่นผ่านเนตด้วย นั้น โดยทั่วไปมักจะไม่ค่อยได้ระวังเท่ากับการฟังตอนที่เก็บข้อมูลวิจัย ทำให้เกิดการ ฟังผิด เพราะไปติดกับหน่วยความจำเฉพาะบุคคลมากเกินไป   เป็นอคติที่เกิดจากการไม่ได้ฟังในสิ่งที่ได้ยิน ฟังเกินสิ่งที่ได้ยิน และฟังเฉพาะสิ่งที่อยากได้ยิน มีตัวอย่างมากมายที่เคยเป็นมาแล้ว คือ

·         มักจะไปติดว่า บุคคลท่านนั้นๆ ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเช่นนี้ๆๆ เมื่อ ฟัง ก็มักจะเกิดการผูกเรื่องขึ้นมาก่อนแล้ว และจะคล้อยตามเรื่องไปได้ง่ายโดยไม่ไตร่ตรอง 

 ·         หรือบางคนพูดไทยคำฝรั่งคำ ก็มักจะไปคิดล่วงหน้าว่า ไม่อยากฟัง เพราะฟังภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่อง 

 ·         หรืออีกแบบคือ จะเลือกฟังเฉพาะคนที่คุ้นเคย หรือเคย ยอวาที กันมาก่อน คนที่ไม่คุ้นเคยหรือที่ไม่เคยมา ยอวาทีกันพอเห็นหน้าหรือเห็นบันทึกก็จะไม่เข้าไปแตะ จะเว้นไปเลย  

ตัวอย่างการฟังผิดข้างบน ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้มามาก และ เกิดมิจฉาทิษฐิ ด้วยตัวโง่ ที่เรียกว่าอัตตา หลงไปคิดว่า ...ได้ทำถูกแล้ว 

บันทึกของอาจารย์ ดอกไม้ทะเล เหมือนเป็นบันทึกที่ผ่านเข้ามาในเวลาที่พอเหมาะ ที่ช่วยให้เกิดความโล่งว่าง เพราะมาช่วยเขย่า ตัวโง่ ให้หลุดออกไปบ้าง เหมือนกับคำที่ว่า เพราะมีสิ่งนั้นจึงมีสิ่งนี้  ขอขอบคุณ อาจารย์ ดอกไม้ทะเล นะคะ  

คิดว่า ...ตัวโง่จากการไม่รู้ตนขณะฟัง นี้ มักมาเร็วกว่าตัวฉลาด เวลาเกาะก็จะเกาะนาน เคาะออกแต่ละทีได้ก็ยาก แต่เมื่อได้เคาะแล้ว ...ก็จะโล่งว่าง สบายดีจริงๆ ...โปร่งโล่งแล้วต่อไป ก็จะได้ตั้งใจ ฟังให้เกิดปัญญา  เพื่อพัฒนาตนเองต่อไป 

 

หมายเลขบันทึก: 98045เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 11:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ตัวอย่างการฟังผิดข้างบน ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้มามาก และ เกิดมิจฉาทิษฐิ ด้วยตัวโง่ ที่เรียกว่าอัตตา หลงไปคิดว่า ...ได้ทำถูกแล้ว ......

หนทางของปัญญาเกิดได้  ๓ ทางครับ คือ สุตตมยปัญญา (ปัญญาเกิดจากการฟัง)๑ จินตมยปัญญา (ปัญญาเกิดจากการใคร่ครวญธรรม)๑ และ ภาวนามยปัญญา(ปัญญาเกิดจากกัมมฐาน)

ถ้าเลือกจะใช้ชีวิตที่ดี ดำเนินไปอย่างถูกต้องทำนองครองธรรม  การฟังที่เกิดปัญญาจะเป็นการฟังธรรม แล้วอานิสงส์ของการฟังธรรม แม้จะฟังกันทุกวันพระก็ตาม แต่การฟังบ่อย ๆ  ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เคยฟังเลย  ย่อมได้ทบทวนธรรมที่ฟังแล้ว หรือฟังไม่ชัดเจน  มีความสงสัย จะได้หมดไป  มีความเห็นถูกต้องขึ้น และจิตใจย่อมสะอาด  ผ่องใสยิ่ง ๆ ขึ้น

การฟังในเรื่องที่ยากฟังบางครั้งมันก็ดีสำหรับคนบางคน   เพราะหากฟังในทุกเรื่องที่ได้ยินก็คงแย่    บางครั้งบางเรื่องต้องทำเป็นไม่ได้ยินบ้างเพื่อความสบายใจ  แต่เรื่องที่ดีและมีประโยชน์ก็ควรฟังเพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นคือเกิดปัญญาเหมือนที่จันทรรัตน์ว่านะค่ะดีค่ะ

มาเยี่ยม...คุณ จันทรรัตน์

การฟังอย่างไม่ตั้งใจ  แม้เสียงดังเท่าใดก็ฟังไม่ได้ยินนะครับ

เพราะมาช่วยเขย่า ตัวโง่ ให้หลุดออกไปบ้าง

ตัวที่ว่านี้เหมือนดินพอกหางช้างเลยนะครับ

ฮา ๆ เอิก ๆ

  • ตามมาอ่านและฝึกการฟังครับผม
  • ขอบคุณครับ

บางคนก็เรียกร้องที่จะฟัง

"ขอเพียงส่งเสียงมา"

แบบนี้แสดงว่า ฟังเจื้อยแจ้ว กระมังครับ

ขอบคุณค่ะ

รับฟังอย่างตั้งใจค่ะ

ปัจจุบัน

  • เรื่องที่ ต้องไปฟัง  มีมากขึ้นเรื่อยๆ ...
  • แต่เรื่องที่อยากพูด มีน้อยลงเรื่อยๆ  
  • ขณะที่พูดแล้วรับผิดชอบสิ่งที่พูด ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

กลายเป็นผกผันทั้งๆ ที่ไม่ใช่สมการตายตัว.....ไม่ทราบว่า ท่านอื่นๆ เป็นเช่นไรบ้างคะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์จันทรรัตน์

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆค่ะ ที่เล่าเรื่องการ "ฟัง" ในมุมมองของอาจารย์      ดิฉันชอบมากจนต้องนำไปเขียนติดไว้ที่โต๊ะทำงาน  เอาไว้เตือนตนให้รู้ตน  เพื่อนอ่านเข้าก็ชอบใจ   ถามว่าจากหนังสือธรรมะเล่มไหน   ดิฉันก็อมยิ้มทำเฉยเสีย  กะว่าค่อยเฉลยเธอตอนเปิดเทอม 

และที่อาจารย์เพิ่มมาให้ท้ายบันทึก ก็เป็นการตอบคำถาม ที่ดิฉันเคยถามตัวเองในใจสมัยหนึ่ง  ว่าทำไมผู้ใหญ่จีง  "นิ่ง" นัก     ทั้งที่พวกเรา(ที่สมัยนั้นอายุยังน้อย)   รู้สึกตื่นเต้นกระวนกระวาย   และคุมใจตนเองไม่ใคร่ได้กับหลายๆเรื่อง

ดังที่อาจารย์สรุปไว้สั้นๆ  แต่ตรงตามสภาพจริงเหลือเกินว่า

  • เรื่องที่ ต้องไปฟัง  มีมากขึ้นเรื่อยๆ ...
  • แต่เรื่องที่อยากพูด มีน้อยลงเรื่อยๆ  
  • ขณะที่พูดแล้วรับผิดชอบสิ่งที่พูด ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ดิฉันขออนุญาตแปลความเอาตามใจตัวเองว่า          
                    เมื่ออายุมากขึ้น ก็ได้พบด้วยตนเองว่า     เรายังไม่รู้อะไรอีกมากนัก      และเรารู้แล้วว่า  เราไม่รู้ "อะไร"   ดังนั้น    อะไรที่เราไม่รู้  เราก็ไม่พูด     อะไรที่เรารู้ และไม่ควรแก่กาละ  เราก็จะไม่พูด       และหากเราตัดสินใจพูด   แปลว่าเราต้องแน่ใจว่าจะรับผิดชอบสิ่งที่เราพูดได้    ทั้งหมดนี้ดูหน้าตาคล้ายๆกับ "วุฒิภาวะ"  ซึ่งปรับไปตามวัย

                    และบางครั้ง  เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร  แต่เราคิดว่าควรปล่อยให้เขารู้  และเรียนรู้ด้วยตัวเอง  เราก็ไม่พูด 
                          สรุปแล้วเราก็เลยพูดน้อยลง

ถ้าดิฉันแปลความต่างไป      หรือคลาดเคลื่อนไป   ต้องขออภัยด้วยนะคะ    : ) บังเอิญได้กุลีกุจอ ออกตัวไว้แล้วเป็นเบื้องต้น   จึงคิดเข้าข้างตัวเองว่าน่าจะรอดตัวไปอะค่ะ         : )    

                         ขอบพระคุณอาจารย์จันทรรัตน์มากค่ะ    

อ. จันทรรัตน์ ใกล้จะเป็นพหูสูตแล้วครับ อิอิ

ขอบคุณค่ะ

อาจารย์ดอกไม้ทะเลแปลความได้ทะลุทะลวง...ทำให้นึกไปถึง พระเตมีย์ใบ้เลยค่ะ ...

ตอนนี้ขออนุญาตไม่เป็น พหูสูตค่ะ แต่อาจะเป็น พหุสูตร...คือคนมีสูตร(การกินตามใจ)เยอะ....:-)

กลางวันนี้ควรกินอะไรดี

 

  • ตามมาเป็นหลานพระอานนท์ครับผม
  • ขอบคุณครับ

อาจารย์ขจิตเป็นหลายพระอานนท์?? ต้องเรียกว่า ขุนแผนสองพันปี???

เข้าไปฟังเพลง ในบันทึก เหตุเกิดเพราะหัวใจ ของอาจารย์...เลยเกิด imagine ภาพหลานพระอานนท์หรือขุนแผนสองพันปีค่ะ

  • ผมว่า อายุมากเกินไปครับ
  •  ขุนแผนสองพันปี???
  • ขอเป็นกามนิตหนุ่มอย่างเดิมดีกว่าครับ
  • ฮ่าๆๆๆๆ

งั้นเรียกกามนิตหนุ่มเหมือนเดิมค่ะอาจารย์ขจิต...ฮ่าๆ

สวัสดีค่ะ...คุณ จันทรรัตน์

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะ ครูอ้อยสิริพร กุ่ยกระโทก

แวะไปอ่านแล้วค่ะ..ณวมทั้งบันทึกอื่นๆด้วย......ครูอ้อยบันทึกได้เกิน พันสี่ร้อยบันทึก...นับถือ นับถือ ค่ะ

ชอบคุณที่ชมด้วยค่ะ...ปลื้มมากเลยค่ะ....

ขอบคุณค่ะคุณเมตตา

ขอบคุณที่เขียนเรื่องให้คิดและทำ....ฟังอย่างมีความสุข....

ดิฉันรู้สึกว่า อยู่ในสังคมทุกวันนี้ต้องการ การฟังที่มีคุณภาพและมีความสุข...ให้มากๆๆๆ ....ไม่ตกหลุมตกร่องอารมณ์ของตัวเอง...ทั้งจากความกลัว ความระแวงสงสัย....ฯลฯ  เพราะสังคมทุกวันนี้มีสิ่งกรอกหู หลายอย่าง ยั่วยุ ให้ฟังแล้วเลือดเดือด เลือดข้น ..ซะจริงๆเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท