ประชาธิปไตยจะสร้างค่านิยมที่ถูกต้องได้หรือ ?


หากให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยตามที่ Sen ว่า ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (พูดง่ายๆว่าไม่ Practical)

ในการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับบทความที่เราเขียนเรื่อง ความดีในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์  รุ่นน้องเขียนจดหมายมาจาก Oxford   เล่าให้ฟังเรื่องแนวคิดของ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่เขียนหนังสือหลายเล่ม  เช่น Development As Freedom    (เราคิดว่า งานของ Sen มีอิทธิพลต่อนักคิดไทยที่ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมหรืองานวิชาการทางเศรษฐกิจสังคมอยู่ไม่น้อย) 

ขออนุญาตเอาข้อมูลของน้องมาเล่าสู่กันฟังเพราะเห็นว่าน่าสนใจค่ะ  

*********** 

อะไรควรเป็นมาตรวัดการพัฒนา:  อรรถประโยชน์ หรือ ความสามารถ ?

  

“ Sen กล่าวว่าสาเหตุที่เขาคิดว่า Capability (ความสามารถ) ควรเป็นมาตรวัดทางการพัฒนานั้น ก็เพราะหากมองเอาที่ Utility (อรรถประโยชน์ หรือ ความพอใจ) แล้ว ความพอใจที่มากไม่ได้หมายความว่าจะดีจริงๆเสมอไป สาเหตุก็เพราะ ความพอใจถูกตีกรอบ (Bounded) โดยค่านิยมได้

 


Sen ยกตัวอย่างสังคมที่มีค่านิยมกดขี่ผู้หญิงว่า  ผู้หญิงที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นก็อาจไม่รู้สึกเสียความพอใจอะไรมากมาย เพราะค่านิยมที่ตนเองอยู่ด้วยมาแต่กำเนิดตีกรอบความพอใจของเขาไว้



แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการกดขี่ผู้หญิงไม่ควรถูกยกเลิก



ทีนี้ปัญหาที่เกิดก็คือ แล้วใครจะมาชี้ว่าค่านิยมไหมดีไม่ดี ค่านิยมไหนควรเปลี่ยนไม่ควรเปลี่ยน"

  

จะเปลี่ยนค่านิยมโดยวิธีใด:  ประชาธิปไตย หรือ การกำหนดจากเบื้องบน ?



ประเด็นที่ว่านี้ จะว่าไปเป็นจุดอ่อนของ Capability Approach ของ Sen ครับ เพราะ Sen เห็นว่าไม่ควรมีคุณพ่อรู้ดีมาบอกว่าค่านิยมควรเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ Senเน้นให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามกระบวนการประชาธิปไตย



นั่นคือเขาขัดแย้งกันในตนเอง เพราะหากให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเสียงคนในสังคมแล้ว คนในสังคมก็อาจติดอยู่ในค่านิยมแบบเดิม และไม่อาจรู้ได้ว่าค่านิยมตนที่มีอยู่นั้นมีข้อบกพร่องอย่างไร Capability Approach ก็เกิดขึ้นจริงไม่ได้



ประเด็นนี้มีคนโจมตี  Sen มาก และกลายเป็นจุดแตกต่างระหว่างนักวิชาการหลายคนที่สนับสนุน Capability Approach เช่น  Martha Nusbaam ที่ไม่เห็นด้วยกับ Sen และระบุว่าแนวทางที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมตาม Capability Approach ควรถูกนำไปใช้โดยรัฐบาลทุกประเทศ และบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบบนลงล่าง Nusbaam มองว่าหากให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตยตามที่ Sen ว่า ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (พูดง่ายๆว่าไม่ Practical)



วิวาทะดังกล่าวปัจจุบันก็ยังคงอยู่ครับ ถือเป็นประเด็นที่ Contoversial ที่สุดประเด็นหนึ่งในทฤษฎีของ Sen ”

 

  ************* 

 

ขอบคุณข้อมูลที่น่าสนใจจาก น้องชาย ผู้อยู่ต่างแดนค่ะ

  

สังคมไทยคงจะพอมีคำตอบจากประสบการณ์อยู่ว่า  จะคาดหวังการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลง ในทางสร้างสรรค์ จากผู้กำหนดทิศทางประเทศที่อยู่ส่วนบนได้มากน้อยแค่ไหน  ..... แม้ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชทานแนวทาง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อ เปลี่ยนค่านิยม  มาให้เป็นทางเลือกหนึ่งแล้วก็ตาม

 

หมายเลขบันทึก: 98041เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ตามมาอ่านครับอาจารย์
  • กำลังเก็บเรื่องดีๆของอาจารย์ไว้ครับ
  • ขอบคุณครับผม
  • ตามมาอ่านครับอาจารย์
  • กำลังเก็บเรื่องดีๆของอาจารย์ไว้ครับ
  • ขอบคุณครับผม
เรื่องนี้จริงๆผมเข้าใจว่ามีเบื้องลึกครับ

คือจากสถานการณ์การเมืองในอินเดีย ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญโดยขบวนการชาตินิยมฮินดู ซึ่งมีเนื้อหาการเคลื่อนไหวให้รัฐอินเดียมีรูปแบบเป็นเผด็จการ เพื่อนำ "ค่านิยม" ฮินดูมาใช้ (โดยเฉพาะเรื่องระบบวรรณะ) ในการกดพวกวรรณะต่ำและมุสลิมไม่ให้มีบทบาททางการเมือง

Sen เองในฐานะนักวิชาการคนสำคัญของอินเดีย คงไม่อยากให้ความเห็นไป "เข้าทาง" ของขบวนการดังกล่าว เขาจึงต้องเน้นย้ำเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆในสังคมควรมีพื้นฐานเป็น "ประชาธิปไตย" ไม่ใช่  "เผด็จการ"

เพื่่อนที่อ่าน Argumentative Indian ของ Sen แล้วเล่าให้ฟังว่า Sen เขียนหนังสือดังกล่าวก็เพื่อแย้งขบวนการชาตินิยมฮินดู ซึ่งอ้างว่ามีประชาธิปไตย ในรูปแบบอินเดีย (ที่แท้จริงออกจะเป็นเผด็จการมากกว่า) 

คือจริงๆพอค่านิยมกลายมาเป็นเครื่่องมือทางการเมืองแล้วมันอันตรายน่ะครับ ผมคิดว่าเราควรระวังตรงนี้ให้มากครับ ประวัติศาสตร์โลกมีให้เห็นมากมายว่า "ค่านิยม" มักเกี่ยวพันโดยตรงกับ "อำนาจ" และการ "ครอบงำ" เราไม่ควรลืมมิติเหล่านี้และมองค่านิยมเป็นเรื่องบริสุทธิ์อย่างเดียวครับ

สุดท้าย ผมแอบไปคุยกับอาจารย์ที่นี่คนหนึ่งที่เป็นศิษย์เอกของ Sen มา ว่าจริงๆ Sen หาทางออกกับเรื่องนี้อย่างไร (เรื่องการเปลี่ยนค่านิยม) 

อาจารย์ผมตอบว่า Sen ก็เข้าใจว่าแนวคิดเขามีจุดแย้งกันในตนเอง แต่ Sen บอกว่า แม้เขาคิดว่าไม่ควรมีใครไปบังคับใครให้มีค่านิยมอย่างไร แต่เขาก็เห็นว่า เรามีสิทธิที่จะ "บอก" คนอื่น 

การพยายาม "บอก" โดยไม่ "บังคับ" จึงเป็นวิธีการของ  Sen ในเรื่องการเปลี่ยนค่านิยมครับ







สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

ครั้งก่อนแวะมาส่งรูป  ครั้งนี้แวะมาอ่าน ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะธร

ดีใจมากที่แวะมาทักทายค่ะ   ตอนนี้อังกฤษคงประมาณเกือบ 11 โมงเช้า

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเชิงลึกนะคะ   เพิ่งได้ฟังเกี่ยวกับทัศนะเรื่องการเปลี่ยนความคิดคนของ Sen ...น่าสนใจค่ะ

ถ้า Sen ใช้เทคนิคนี้ที่เมืองไทยจะ work  ไหม  (หมายถึง การ"บอก"คนอื่น)  เพราะคนไทย " เชื่อเพราะคนที่เราเชื่อบอก"   มากกว่า "เชื่อเพราะเหตุผลที่บอก"  ค่ะ  ตรงนี้ขัดกับการเรียนรู้ในพุทธศาสนาเลยนะคะ

งานของ Sen อ่านยากมากค่ะ  ใช้ภาษายาก  อาจเพราะเขาคิดอะไรเชิงซ้อนอยู่

เจอคณบดี  ท่านอ่านเรื่องที่พี่เขียน แล้วไล่ให้พี่ไปอ่านงานของ Sen :)

ส่วนคำถามของธร  เกี่ยวกับ พอช. และอื่นๆ พี่จะดูให้อีกทีนะคะ

ขอบคุณครับอาจารย์

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญของ Sen ก็คือถ้าเรายอมให้มีการบังคับเพื่อเปลี่ยนค่านิยม เราก็ไม่รู้ว่ามันจะไปไกลถึงขนาดไหน 

ตัวอย่างสำคัญในอดีตเช่นการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนก็แสดงให้เห็นมาแล้วว่าการบังคับให้สังคมเปลี่ยนค่านิยมโดยรัฐบาล (เผด็จการ) นั้น สุดท้ายไปไกลได้ถึงขั้นมีคนล้มตายมากมาย คนเดือดร้อนนับล้าน

ผดคิดว่าถ้าปัญหาคือคนไทยเชื่อคนง่าย เชื่อเพราะคนที่เราเชื่อบอก..เราก็ควรไปแก้ที่ต้นเหตุให้คนรูุ้้จักตั้งคำถามให้มากๆ ไม่ใช่ไปแก้ที่ปลายเหตุโดยการบังคับให้ทำสิ่งต่างๆครับ (แน่นอน นั่นยิ่งทำให้ไม่สามารถตั้งคำถามได้เข้าไปใหญ่)

ผมเองตอนมาเรียนต่างแดนใหม่ๆแทบช็อค เพราะที่นี่ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามมากๆ ไม่ใช่แค่เรียนรู้เรื่องก็พอ แต่ต้องทำได้มากกว่านั้น คือต้องตั้งคำถามกับแต่ละเรื่องที่เรียนได้ว่ามีจุดอ่อนอะไร มีประเด็นไหนที่ขัดแย้งในตัวเอง

งานที่เขียนทุกชิ้นต้องตั้งประเด็นคำถามเอง รวมถึงการเรียนในห้องน้อยมาก เวลากว่าครึ่งของการเรียนคือการตั้งคำถามและการเถียงกันไปมา

ผมคิดว่าการตั้งคำถามเป็นจุดเริ่มที่สำคัญของการมี Critical Thinking ครับ และ Critical Thinking  เองก็เป็นพื้นฐานสำคัญไม่ให้คนเชื่ออะไรง่ายๆตามที่ได้ยิน

เราในฐานะคนสอนหนังสือเองก็มีหน้าที่โดยตรงต้องพยายามให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นล่ะครับ





พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท