ผมตระหนักและยึดมั่นเสมอมาว่า “คนที่ทำงานเพื่อสังคม คือ คนที่ควรจะได้รับการยกย่องและยอมรับ รวมถึงการให้เกียรติจากสังคม” และสิ่งที่ผมตระหนักและยึดมั่นก็กำลังจะได้ดำเนินการขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 ณ ลานสะเดา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้ชื่อโครงการ “วันขอบคุณนักกิจกรรม”
ถ้าสี่ปีที่นี่ไม่มีอะไร
ยังลอยมาลอยไปในโลกกว้าง
เราคือใครก็ไม่รู้ไม่แคลงคลาง
ไม่รู้จักแม้จะวางตัวอย่างไร
ถ้าเช่นนั้น ชีวิตเธอเป็นโมฆะ
ปริญญาคือขยะคือหยากไย่
คือทางผ่านให้ก้าวมาก็ก้าวไป
มหาวิทยาลัยคือตึกโตอยู่เต็มเมือง
จงศึกษาเพื่อรับใช้ประชาชน
นี่คือหนทางเดียวอันเกี่ยวเนื่อง
ช่วงเวลาชีวิตเราไม่เปล่าเปลือง
แม้ก้าวเดียวก็กระเดื่องเฟื่องฟูภพ
เมื่อเธอก้าวมาถึงที่นี่
ขอเวลาสักนาทีเพื่อสงบ
อย่าให้เพลงชีวิตเราต้องเซาซบ
ต้องเลือนลบลอยลับกับกาลเวลา
(เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
วันขอบคุณนักกิจกรรม ถือเป็นวัฒนธรรมอันดีที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นในภาคปลายปีการศึกษา เพื่อเป็นเสมือนการบอกกล่าวคำขอบคุณต่อมวลนิสิตที่รังสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งต่อมหาวิทยาลัยและต่อสังคม
ในปีที่ผ่านมารูปแบบกิจกรรมเน้นการพบปะสังสรรค์ จัดนิทรรศการ มอบทุนการศึกษา การแสดงดนตรีบนเวที มอบเกียรติบัตรแก่ผู้นำองค์กรนิสิต..ประมาณนี้
หากแต่ปีนี้ ผมได้เน้นย้ำทีมทำงานให้หยั่งคิดถึงกระบวนการกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ให้เหมาะสมกับชื่อโครงการที่มุ่ง “ขอบคุณ หรือแม้แต่เชิดชู” คนของสังคมเหล่านี้ให้ชัดเจนและมีเกียรติประวัติมากกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อวางรากฐานไปสู่การเสริมสร้างและพัฒนาให้นิสิตเติบโตอย่างมีคุณค่า และเพื่อใช้เป็นกลไกแห่งการสร้างวัฒนธรรมการเชิดชูคนดีให้เกิดขึ้นในสังคม
ในปีนี้, ผมได้ปัดฝุ่นรางวัล “ช่อราชพฤกษ์” ขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่เงียบหายติดต่อกันไปถึง 2 ปี
ปีนี้, เราเปิดให้มีการเสนอชื่อผู้นำองค์กรนิสิต หรือนิสิตที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม (สังคม : หมายถึงแต่เฉพาะ มหาวิทยาลัยและสังคมทั่วไป) รวมถึงการเสนอตัวเองเพื่อเข้าสู่กระบวนพิจารณาคัดกรองเชิดชูเกียรติเป็น “บุคคลในวิถีแห่งกิจกรรม” ที่ควรค่าต่อการยกย่องและเชิดชู
แทบไม่น่าเชื่อว่าการเชิดชูเกียรตินักกิจกรรมเช่นนี้ได้ปิดตัวไปพร้อม ๆ กับผมที่เคลื่อนตัวออกจากงานนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่กำลังคืนกลับมาอีกครั้ง พร้อม ๆ กลับการคืนสู่ตำแหน่งของ ผม และกล้าที่จะเขียนอย่างทระนงว่าการเชิดชูเกียรติในนาม “ช่อราชพฤกษ์” นี้ก่อเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ผมและทีมงานได้บุกเบิกก่อร่างสร้างฝันไว้เมื่อปี 2544 ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ก็ล้วนได้รับการขานรับที่ดีต่อสังคมในแวดวงกิจกรรมอย่างน่าภาคภูมิ
(โลกของการงาน สิ่งที่ดีอยู่แล้วก็ควรได้รับการต่อยอดสืบไป มิใช่การสิ้นหายไปพร้อม ๆ กับคนบุกเบิก ซึ่งครั้งหนึ่ง คุณเอกจตุพร เคยบอกกับผมว่า “คนเคลื่อน งานจบ" !) สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ได้ด้วยระบบ มิใช่ติดยึดอยู่ที่บุคคล
ผมไม่ปฏิเสธหรอกว่า...คนทำดีไม่เคยหวังสิ่งตอบแทน แต่ในมุมกลับกัน สังคมก็ควรที่จะยกย่องและตอบแทนต่อคนเหล่านี้บ้าง
และครั้งหนึ่ง..ผมเคยเดินออกจากมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักแห่งนี้ โดยปราศจากวุฒิบัตรการรับรองด้านกิจกรรมใด ๆ ทั้งที่ยุคนั้น ผมมีตัวตนในด้านกิจกรรมอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่อง ..ผมจึงเข้าใจและปรารถนาให้การเชิดชูนักกิจกรรมเป็นวัฒนธรรมที่ดีของเราชาว มมส
และปีนี้ วันของคุณนักกิจกรรม ได้ต้อนรับวิถีการกลับมาของการเชิดชูเกียรตินักกิจกรรมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง.. เราจะมีประมวลภาพกิจกรรมหลากเรื่องราว มีละครเวทีของคนหนุ่มสาว มีการมอบทุนนักกิจกรรม มีการฉายหนังสั้นในวิถีสังคมภายใต้ลานสะเดา... ลานแห่งลมหายใจของคนทำกิจกรรม ...ลานแห่งชีวิตและลมหายใจของผมที่ซึ่งเคยผลักดันให้สังคมที่นี่ขานรับชื่อ “ลานสะเดา” มาแล้วในยุคหนึ่ง
และอานิสงส์นั้นก็ทำให้บรรดานักกิจกรรมทั้งหลายขานรับที่จะเรียกชื่อที่ตรงนี้ว่า “ลานสะเดา” สืบมาอย่างไม่รู้จบ โดยลานสะเดานี้ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนที่ย่ำเดินบนถนนสายกิจกรรมอย่างสนิทแน่นราวกับญาติมิตรก็ไม่ปาน
... พรุ่งนี้...ลานสะเดาคงตื่นเต้นไม่น้อยที่กำลังจะได้ต้อนรับการกลับมาของการเชิดชูเกียรตินักกิจกรรมในช่อราชกพฤกษ์อันทรงเกียรติของชาว มมส”
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แผ่นดิน ใน pandin
คำสำคัญ (Tags)#นักกิจกรรม#msu-km#ผู้นำนิสิต#กิจกรรมนิสิต#ช่อราชพฤกษ์#วันขอบคุณนักกิจกรรม
หมายเลขบันทึก: 80229, เขียน: 23 Feb 2007 @ 13:06 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 17:31 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 30, อ่าน: คลิก