จากการระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของที่ประชุมร่วมภาคประชาชนและภาคราชการ ต่อจากบันทึกที่แล้ว ลิ้งค์อ่าน ในที่สุดท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สรุปแนวคิดแนวทางพัฒนาจังหวัดนครศรีรรมราช เป็นแบบจำลองดังภาพข้างล่าง
click ดูภาพใหญ่
เนื่องจากภาพที่เห็นดูคล้ายกับภาพหยดน้ำ จึงเรียกแบบจำลองหรือโมเดลการพัฒนานี้ว่า "หยดน้ำเพชรโมเดล"
ทำไมจึงตั้งชื่อเป็นอย่างนี้ ทำไมจะต้องเป็นหยดน้ำ และหยดน้ำนี้จะต้องมีเพชรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยได้อย่างไร เพราะคุณสมบัติของของสองสิ่งนี้ดูจะขัดแย้งกัน
คำอธิบายก็น่าจะประมาณว่า น้ำมีคุณสมบัติที่สามารถเปลี่ยนรูปทรงได้ตามแต่ภาชนะที่จะบรรจุหรือใส่ และน้ำนั้นทำให้เกิดความชุ่มเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าน้ำนั้นเป็นน้ำที่สะอาดและเป็นน้ำจากธรรมชาติด้วยแล้วก็จะยิ่งให้คุณค่าและประโยชน์กกับผู้คน เปรียบเหมือนชุมชนหนึ่งๆที่มีสภาพหรือบริบทที่แตกต่างกันจะขึ้นลูกหรือพัฒนาให้เป็นรูปทรงใด ให้เป็นอย่างภาชนะใดหรือบรรลุเป้าหมายใดก็ย่อมแล้วแต่ชุมชนนั้นจะได้คิดออกแบบ ส่วนคำว่า เพชร ก็สื่อความหมายประมาณว่าเข้มแข็งยั่งยืน ชุมชนที่พัฒนาดีแล้ว เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์การพัฒนาดีแล้วก็จะเป็นผลให้ชุมชนนั้นสมบูรณ์ เข้มแข็ง และยั่งยืน
แบบจำลองหรือโมเดลนี้บอกให้เห็นถึงเป้าหมายของการพัฒนาว่ามุ่งสู่ความเป็นชุมชนอินทรีย์ ชุมชนที่มีการเรียนรู้แทรกปนอยู่ในทุกกิจกรรมตลอดเวลา โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญเครื่องมือหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ชุมชนอินทรีย์นี้จะตั้งอยู่บนฐานของวิสัยทัศน์จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ เกษตรและท่องเที่ยวน่าอยู่ สู่สังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืน และอยู่บนฐานของเศรษฐกิจพอเพียงอีกฐานหนึ่งด้วย
น้ำหนึ่งหยดเปรียบเหมือนหน่วยของการพัฒนาหน่วยหนึ่ง จะเป็นหน่วยครัวเรือน กลุ่มครัวเรือน หรือหมู่บ้าน หรือตำบล หรืออำเภอ หรือสุดท้ายก็จะเป็นหน่วยจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งจังหวัด เป็นหยดน้ำที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่พัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด
ในการพัฒนาชุมชนหนึ่งๆให้บรรลุสู่ชุมชนอินทรีย์นั้น คนในชุมชนเองคือผู้มีบทบาทสำคัญ เพราะแนวคิดแนวทางการพัฒนานี้จะยึดพื้นที่เป็นหลัก ประชาชนเป็นศูนย์กลาง อาศัยกลไก ฐาน และทุนเดิมของชุมชนเป็นแนวในการพัฒนา ไม่เน้นเปิดหน้างานใหม่ในชุมชน ใช้บรรดาสิ่งที่คนในชุมชนสร้างเอาไว้แล้วเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงาน องค์ค์กร ภาคีพัฒนาทุกภาคส่วนคือเครื่องมือสำหรับคนในชุมชนใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา บุคคลจากหน่วยงาน องค์กร ภาคีพัฒนาต่างๆคือตัวช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เร่งปฎิกิริยา และสร้างเครือข่ายการทำงานให้เข้มข้นกว้างขวางร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถสร้างความสำเร็จสร้างความชำนาญการในแต่ละเรื่องและเพื่อการพึ่งตนเองได้ในที่สุด
ในน้ำหนึ่งหยดจะมีพื้นที่ว่างสำหรับชุมชนเองจะได้พลิกแพลง สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาตามความต้องการของชุมชนเอง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานภาคส่วนใดก็สามารถเข้าไปร่วมมือกับชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ปราชญ์ ผู้รู้ ฯลฯสามารถเข้าไปเป็นตัวช่วยในการกรองให้น้ำใสสะอาดได้ แสดงบทบาทเสริมหนุนซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ซ้ำซ้อนบทบาทกัน
ในแบบจำลองการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช หยดน้ำเพชรโมเดล นี้ จะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนการพัฒนาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องร่วมกันของทั้งสามฝ่ายคือคนในชุมชนเองซึ่งเป็นองค์ประกอบหลัก หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆที่มีหน้างานอยู่ในชุมชน และภาควิชาการทั้งความรู้ภูมิปัญญาและความรู้จากแหล่งความรู้วิชาการภายนอกชุมชน
ชุมชนแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องจัดทำระบบข้อมูล ระบบเชื่อมต่อการพัฒนา และระบบกรองน้ำให้สะอาด เพื่อให้เห็นภาพขบวนการเคลื่อนงานพัฒนาของชุมชน
นี่คือ หยดน้ำเพชรโมเดล โมเดลการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราชตามความเข้าใจของผม
วันนี้ผมจะนำข้อความนี้ไปให้ ผู้ทีมีความสามารถทำไดอะแกรมของสำนักงาน พมจ.จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำแบบจำลองนี้ออกมาเป็นไดอะแกรม ตามที่นัดหมายไว้
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ครูนงเมืองคอน ใน ครูนอกโรงเรียน
คำสำคัญ (Tags)#ถอดรหัส โมเดล นครศรีธรรมราช#การพัฒนางานวิชาการ#การเผยแพร่ความรู้#การพัฒนารูปแบบกิจกรรม กศน.#การจัดทำสื่อการเรียนการสอน
หมายเลขบันทึก: 80109, เขียน: 22 Feb 2007 @ 20:01 (), แก้ไข: 06 Sep 2013 @ 17:49 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 9, อ่าน: คลิก
น่าสนใจโมเดลนี้มากครับ
แต่ ก็อยากจะถามว่า กระบวนการขับเคลื่อนจะเป็นอย่างไร ทั้งในเชิงภายใน และการขยายผล
ข้อต้องระวัง และจุดแข็งของระบบมีอะไรบ้างครับ
คิดว่าคงไม่ยากเกินไปนะครับ