ชักธงรบ...ปฏิบัติการต่อรองความรู้ท้องถิ่น


ภาพของกองทัพอันเกรียงไกร เสียงตีกลองสะบัดชัย ชักธงรบอย่างทรนงที่ล้านนาตะวันออก...ถึงเวลาแล้วที่จะประชัน

ชีวิตในบริบทสมัยใหม่เราพบว่ามีการผสมผสานของวาทกรรม(Discourse)ที่หลากหลายมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะประสานระหว่างกระแสโลกาภิวัฒน์(globalization) กับกระแสท้องถิ่นนิยม (Localization)

ผมมีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมการแพทย์ชนเผ่าและชุมนุมสมุนไพรลุ่มน้ำโขง ที่ มรภ.เชียงราย เมื่อผมก้าวย่างเข้าไปในงานก็ได้กลิ่นสมุนไพรแตะจมูก สัมผัสได้ว่านี่คือ ความรู้ท้องถิ่นที่ยังล่องลอยกลิ่นกำจายหอมกรุ่น เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าที่สั่งสมมายาวนานของบรรพบุรุษ

วันหนึ่งมีการศึกษากันอย่างจริงจัง นัยว่าจะปฏิบัติการต่อรองของความรู้ท้องถิ่น(Indigenous knowledge) ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการความรู้ตนเอง เพื่อยกระดับความรู้ เข้าสู่การใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นอย่างเต็มที่ และที่สำคัญที่สุดคือการแสดงตัวตนของคนชายขอบที่มีพลัง มองในอีกแง่หนึ่งก็คือทางเลือกออกจากความล้มเหลวของการพัฒนา อันเกิดจากแรงฉุดของ กระแสฟ้าบ่อาจกั้น (globalization) สู่ชุมชนท้องถิ่น ที่มีการเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลักและแนวทางการพัฒนาที่รวมศูนย์จากบนลงล่าง

ภาพที่เห็นเป็นการรวมตัวของหมอชนเผ่าที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งไทยใหญ่ อาข่า ม้งและเมี่ยน เปิดตัวสู่การยกระดับองค์ความรู้ เคียงคู่ไปกับ หมอเมืองล้านนา ที่พัฒนาขึ้นไปในระดับหนึ่ง

องค์ความรู้ทางด้านสุขภาพ เป็นการแสวงหาความอยู่รอดของชีวิต ดังนั้น หากการดำรงอยู่ซึ่งชีวิตโดยอาศัยความรู้ท้องถิ่นนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าในวิถีของคน สังเกตว่า ลักษณะความรู้ในสังคมไทยเป็นความรู้ที่สะสมฝังลึกในตัวคน(Tacit) มากกว่าจะเป็นความรู้ในเชิงเปิดเผย (Explicit) ที่เขียนเผยแพร่ตีพิมพ์ต่อสาธารณะ  ความรู้ทั้งสองลักษณะนี้มีข้อดี ข้อด้อยภายในตัวมันเอง เพราะลักษณะของความรู้ที่สั่งสมอยู่ในตัวคนหากไม่รักษาและสืบทอดนับวันองค์ความรู้ที่มีคุณค่าก็จะสูญหายไปกับกาลเวลา สิ่งที่พึงระวังที่เรายังคิดไม่ถึงคือ ความรู้ที่เป็นดาบสองคม ความรู้โดยตัวมันเองเป็นสิ่งที่ดี แต่การใช้ความรู้นั้นต้องมีสิ่งควบคู่ไปด้วยก็คือ คุณธรรม จริยธรรม องค์ความรู้ท้องถิ่นจึงสุ่มเสี่ยงต่อการการฉกฉวยเอาประโยชน์ของความรู้ (เช่น แย่งลิขสิทธิ์ จดสิทธิบัตร)  หากสื่อสารเชิงสาธารณะ จึงเป็นความยากอย่างหนึ่งในการจัดการความรู้ออกมาตรงๆ กระบวนการจัดการความรู้ในประเด็นอ่อนไหวนี้...คงได้พูดกันยาว

ผมมาจากชนบท ตอนเด็กๆผมเห็น และสัมผัสรูปแบบการรักษาพื้นบ้านที่หลากหลาย แล้วแต่อาการที่เจ็บป่วย การบำบัดที่พึ่งพาอาศัยกัน การบำบัดที่มีความอบอุ่นระหว่างญาติมิตรและพี่น้อง การรักษาที่บำบัดโดยคำนึงถึงศักด์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แตกต่างจากการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันทั่วไปที่แพทย์เป็นเทวเทพ ชี้เป็นชี้ตาย รวมศูนย์กลางแห่งอำนาจไว้ที่บุคคล โดยที่คนป่วยและญาติรองรับชะตากรรมทุกอย่างโดยดุษฎี และอ่อนแรงในการควบคุมชีวิต

ผมไม่ปฏิเสธว่านี่คือการโหยหาอดีตในท้องถิ่นชนบทที่งดงาม(Nostalgia of rural romanticisms)ของผม  บรรยากาศที่งดงาม บรรยากาศที่พึ่งพา เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งนับวันก็จะหายไปจากสังคม ชนบทเปลี่ยนไปเพียงเพราะว่าวิถีชีวิตสมัยใหม่ตอบสนองชีวิตปัจจุบันได้ดีกว่า  เราเห็นว่ามีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ทันนาฬิกา ฟ้ามิอาจกั้น ปัญหาต่างๆซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ชุมชนอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ

การเดินย้อนกลับหาใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการทบทวนตัวเองเมื่อเดินทางมาระยะหนึ่ง การหวนกลับมาของคนท้องถิ่น มาศึกษาเรียนรู้องค์ความรู้ท้องถิ่น ชักธงรบอย่างไม่หวั่นเกรงกองทัพ ฟ้าบ่อาจกั้น

ผมเดินคิดเรื่อยเปื่อยเมื่อตนเองเดินไปถึงกลางงานมหกรรมฯแล้ว ผมเห็นหมอเมืองสาธิตการย่ำขาง การบีบนวด ดูเมื่อ (ดูหมอ)  ตอกเส้น ผมเห็นหมอชนเผ่าอธิบายตัวยาสมุนไพรให้บรรดาลูกหลาน ผมรู้สึกได้ว่าบรรดาท่านผู้รู้เหล่านั้นมีความสุขเมื่อได้ถ่ายทอดและสังคมหวนกลับมาให้ความสำคัญอีกครา

กลิ่นสมุนไพรต้มที่หอมหวน  กลิ่นยังกรุ่นหอมที่ติดปลายจมูกเมื่อผมเดินออกมาจากงานมหกรรมฯ

ภาพของกองทัพอันเกรียงไกร เสียงตีกลองสะบัดชัย ชักธงรบอย่างทรนงที่ล้านนาตะวันออก…ถึงเวลาแล้วที่จะประชัน   <hr>

มหกรรมการแพทย์พื้นชนเผ่าและชุมนุมสมุนไพรลุ่มน้ำโขงวันที่ ๕ ๙ มกราคม ๒๕๕๐

</font><p>วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มรช.</p><p>สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย</p><p>(สกว.)    </p><p>                                                   </p><p align="right">                      จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร                                                     เชียงใหม่,๙ มกราคม ๕๐</p>



ความเห็น (19)
  • เมื่อใดที่เดินทางย้อนกลับสู่อดีต มันเป็นช่วงเวลาที่งดงาม  สุนทรีย์ จึงไม่แปลกเลยที่ผมเดินทางหาอดีต แม้จะงดงามและไม่งดงาม แต่ทุกครั้งที่เดินทาง มันหอมหวน ชวนอยากเดิน
  • ตามอ่านอยู่นะครับ คุณจตุพร

ครูเอก ครับ  ผมอ่านบทความนี้ รู้สึกทึ่งเล็กน้อยถึงปานกลาง  ในหลายแง่มุม

-การใช้ภาษา สวยงาม

-ได้รู้เรื่องราวว่า เป็นตลาดนัดสมุนไพร จากชนเผ่า เพิ่งได้ทราบว่า มีด้วยเหรอที่มีการจัดกิจกรรมแบบดังกล่าว  เท่าที่ผมทราบ ปักษ์ใต้ ไม่น่าจะมีกิจกรรมลักษณะนี้  หรือ ว่าผมไม่ได้อยู่ในวงการนี้ เลยไม่ทราบก็ไม่รู้นะ (ถ้ามีก็ขออภัยมานะที่นี้ด้วย)

-อ่านแล้วให้ความรุ้สึกว่า  ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ยิ่งขึ้นรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นเพราะ สังคมที่แวดล้อม ความเป็นอยู่ของผม และหน้าที่การงาน ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นโลกของธุรกิจที่มีแต่เรื่องที่ชวนเครียด

-เหนือสิ่งอื่นใด คงต้องขอบใจครูเอก ที่ทำให้ผมได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเองกว้างขึ้นกว่าเดิม อ่านแล้วรุ้สึกผ่อนคลายอย่างได้สาระ ขอบใจอีกครั้งครับครู

คุณจตุพร

ผมกำลังตื่นเต้นกับการพัฒนาแบบผสมผสานระหว่างภูมิปัญญากับหลักวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนาอย่างยืน

ผมคิดว่านี่คือทางเลือกที่เหลืออยู่ครับ

ผมก็พยายามทำด้านการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และการเกษตร ที่ตอนนี้เรากำลังหลงทางอย่างแรง วิ่งไปตามกระแสของตะวันตก ที่เขากำลังหันมาตามรอยเรา แต่เรากับวิ่งไปตามก้นเขา

น่าเสียดายจริงๆ 

  • เข้ามาอ่านด้วยความสุขใจค่ะ
  • พี่เป็นคนหนึ่งที่รักภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเราค่ะ
  • ตามมาอ่านครับ
  • ภาพก็สวยงามครับ บันทึกก็ปลุกเร้าจิตใจ และพอจะเห็นความหวัง
  • ขอบพระคุณมากครับ

การโหยหาอดีตในท้องถิ่นชนบทที่งดงาม

เป็นเหมือนกันค่ะ ที่บ้านอยู่เป็นชนบทเหมือนกันค่ะ รู้สึกว่าเมื่อก่อนมันมีอะไรที่สนุกและน่าเล่นมากมาย แต่ปัจจุบันนี้กลับมีแต่เพียงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงความเป็นชนบทไปทั้งสิ้น

โหยหาและอยากกลับไปเหมือนวันวานอีครั้ง

สวัสดีครับพี่เอก

   ขอบคุณบทความและเรื่องราวดีๆครับ

   มีความเห็นว่าถ้าหากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม

  กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง  แพทย์แผนปัจจุบันแบบผม

   ก็น่าจะสบายมากขึ้นทีเดียวครับ.........

   แต่ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นการผสมผสานเพื่อความเหมาะสมมากกว่าครับ

  เพราะว่าทุกขภาวะปัจจุบัน  มันมีมากมายหลายอย่าง

  เพราะเป็นผลมากจากความเปลี่ยนแปลงต่างที่มาก

  บางพื้นที่ของความเจ็บป่วยก็อาจจะเหมาะกับการ

   ดูแลที่แตกต่างกันไป   อาจจะ 30:70  ถึง 50:50(Old:New)

                    สวัสดีครับ....      

  • ตัวตนของคนชายขอบที่มีพลัง ถ้อยคำนี้ก็ทรงพลังเหลือหายเช่นกันนะครับ
  • อีกทั้ง "ฟ้าบ่อาจกั้น"  ก็ทำให้ผมคิดถึงหนังสือดีเล่มหนึ่งของลุงคำสิงห์  ศรีนอก เรื่อง "ฟ้าบ่กั้น"  ไม่ทราบว่าเอกเคยอ่านบ้างหรือเปล่า
  • ธรรมชาติคือบ่อเกิดของสรรพสิ่ง  มนุษย์ควรต่อการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากกว่าการ "จำลองธรรมชาติ"
  • ผมเห็นสังคมเมืองหลายแห่งนำวัตถุออกจากชุมชน แปรรูปในหลายรูปลักษณ์  ขณะที่ชุมชนก็ยินดีกับกระบวนการส่งออกวัตถุดิบมากกว่าการยืนหยัดเป็นผู้ผลิตซะเอง...แล้วที่สุดก็กลับกลายเป็นผู้บริโภคสั่งเข้าสิ่งต่าง ๆ จากสังคมภายนอก ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นก่อเกิดขึ้นจากชุมชนของตนเอง
  • แต่อย่างว่า...มันเป็นปรากฏการณ์แห่งยุคสมัย  แต่ก็มีความสุขที่ในสังคมอันไกลโพ้นยังมีวิถีเช่นนี้อยู่อย่างมากมายและเข้มแข็ง
  • ขอบคุณกลุ่มคนชายขอบที่ขับเคลื่อนและลั่นกองรบอย่างทรนง...
  • สังคมไทยก็มักเปลี่ยนแปลงจากคนกลุ่มเล็ก ๆ กันทั้งนั้น ใช่ไหมครับ.?

คุณ ออต

ไม่แตกต่างกันระหว่างวิถีคุณออตกับผม ผมมองว่าองค์ความรู้ท้องถิ่นเป็นสมบัติที่มีคุณค่า และหากจัดการความรู้นั้นเพื่อท้องถิ่นได้ จะเกิดประโยชน์สูงสุด

ขอบคุณครับ

..........................

พี่ไข่นุ้ย

ผมทราบว่าพี่ทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจการเงิน แต่ก็ได้ติดตามอ่านบันทึกและให้กำลังผมเสมอ ผมพยายามเขียนให้ออกมาอ่านง่ายๆไม่หนักเกินไปครับ

หากมีข้อชี้แนะผมน้อมยินดีรับฟัง และจะมีข้อแลกเปลี่ยนผมยินดีมากครับผม

ติดตามต่อไปนะครับ...ขอบคุณกำลังใจที่มีให้ตลอดเวลาครับ

อาจารย์ดร. แสวง รวยสูงเนิน

การรุกเข้ามาของความรู้ภายนอกอย่างรวดเร็วทำให้กลืนความเป็นชนบท คนท้องถิ่นเริ่มไม่สนใจรากของตนเองชั่วขณะ

ผมเห็นด้วยว่า วิถีที่เรามีอยู่ เป็นวิถีที่งดงามและเป็นวิถีแบบพอเพียง พออยู่ พอกิน สัมผัสและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ใครๆก็โหยหาธรรมชาติกันทั้งนั้น เมื่อเราอยู่กับสิ่งนี้ทำไมไม่เห็นความสำคัญ

อยู่แบบฉลาด นำวิทยาศาตร์มาผสานเรื่องท้องถิ่น..เข้าใจโลก รู้ทันกระแส และรู้ตนเอง นี่คือ ...ทางเลือกครับ

พี่อร Bright Lily

ปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ที่องค์ความรู้ท้องถิ่นเราถูกยกระดับ มีการเคลื่อนตัวมากขึ้น แสดงให้เห็นความพยายามในการนำเสนอตัวตนของคนท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสิ่งมีค่าและเป็นมรดกที่ต้องสืบสานครับ

ขอบคุณที่แลกเปลี่ยนครับผม

พี่วีรยุทธ สิงห์ป่าสัก

บรรยากาศที่กรุ่นด้วยพลังในงานมหกรรม อยากให้พี่ไปร่วมสัมผัสด้วยครับ ผมเห็นความงดงามของภูมิปัญญาที่หลากหลายในวันนั้น

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า องค์ความรู้ท้องถิ่นของเรา เข้มแข็งหากเรามีการจัดการความรู้ที่เหมาะสมครับ

ขอบคุณครับ

คุณ Wannaporn

วิถีปัจจุบันอาจเปลี่ยนตามเวลาและบริบท แต่ไม่อยากให้คนลืมรากตนเองไปหมด ผมมองว่าความรู้ท้องถิ่นเคียงคู่ความรู้ภายนอกได้เป็นอย่างดี

เข้าใจโลก รู้จักตนเอง

ขอบคุณมากครับ

น้อง Kmsabai : bukpat

เรื่องแพทย์แผนปัจจุบัน ผมกล่าวในภาพรวมที่เป็นจริง ดังนั้นทุกอย่างที่ไม่อยู่บนความพอดี ก็เกิดปัญหา

ทุกอย่างควรบูรณาการกัน แยกจากกันไม่ออกไม่ว่าจะเป็นระบบการแพทย์แบบใด ตามทฤษฎีของไคลน์แมน

....

 ....." แต่ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นการผสมผสานเพื่อความเหมาะสมมากกว่าครับ

  เพราะว่าทุกขภาวะปัจจุบัน  มันมีมากมายหลายอย่าง

  เพราะเป็นผลมากจากความเปลี่ยนแปลงต่างที่มาก

  บางพื้นที่ของความเจ็บป่วยก็อาจจะเหมาะกับการ

   ดูแลที่แตกต่างกันไป "....

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นนี้ของน้องครับ

 

คุณแผ่นดิน

 "คนชายขอบ" ไม่อ่อนแรง ผมคิดว่าองค์ความรู้ที่ทรงคุณค่า เป็นของดีของท้องถิ่น

"ฟ้ามิอาจกั้น" ไม่แน่ใจใช่ ลาวคำหอม หรือเปล่าครับ ผมไม่เคยอ่านแต่เคยเจอหนังสือเล่มนี้ครับ "โลกาภิวัฒน์" น่าจะเทียบเคียงได้กับ"ฟ้ามิอาจกั้น"

วันนี้ ชักธงรบ ด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นอันเกรียงไกร เริ่มจากหนึ่งแม้น้อยแต่เข้มแข็งครับ

ขอบคุณครับผม

 

 

 

  • ใช่ครับ...ฟ้าบ่กั้น หนังสือของ ลาว คำหอม
  • ชื่นชมกับการเทียบเทียงคำและภาษาของคุณเอกมากครับ "โลกาภิวัฒน์" กับ"กระแสฟ้าบ่อาจกั้น"
  • แต่สำหรับ ฟ้าบ่กั้น  ของลาว คำหอม คือ หนังสือที่บันทึกชีวิตคนอีสานที่ทุกข์ท้น ลำบาก ทั้งที่ลำบากโดยธรรมชาติและลำบากเพราะถูกกดขี่จากระบบสังคมที่เต็มไปด้วยศักดินา
  • และเคยเป็นหนังสือต้องห้ามในอดีต และรู้สึกจะเป็น 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน...

ผมเข้าใจว่า คุณแผ่นดิน เป็นหนอนหนังสือ ตัวยงคนหนึ่งเลยนะครับ

วันนี้มีพี่คนหนึ่งโทรมาคุยเกี่ยวกับ คำศัพท์ที่ผมที่เทียบเคียงนี้ว่าเหมาะสมและเห็นภาพ

มีคำๆหนึ่งที่คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ท่านได้เขียนไว้ว่า

globalization = ก่อบรรลัยใส่ฉัน

ผมชอบมากครับ!!!

เรียน คุณจุตพร

      ฟ้าบ่กั้น   ผมคาดว่าพวกเราใกล้จะได้คุยกันแบบเห็นกันตัวเป็นๆแล้ว   เพราะว้นนี้เป็นการพบกันโดยมิได้นัดหมาย

       ผมก้บคุณจตุพร  ขึ้นบทความด้วยประเด็นเดียวกัน   ถือว่าฟ้าบ่กั้น  จริงๆ  ผมเชื่อในพลังแห่งการเรียนรู้ว่ามีจริง

  • จริง ๆ ก็กะโปรยคำนี้ในทำนองนี้เหมือนกัน แต่ก็เกรงในคุณเอก ก็เลยเลี่ยง ๆ  ไปก่อน
  • แต่พอดีคุณเอกนำคำของ อ.เนาวรัตน์ ฯ  มากล่าวอ้าง globalization = ก่อบรรลัยใส่ฉัน
  • ผมก็ไม่ลังเลที่จะบอกว่า ผมก็รู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ
  • แต่ก็เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีความสุขกับสังคมยุคโลกไร้พรมแดน  เพราะมันจำเป็นจริง ๆ

เรียนอาจารย์เม็กดำ ๑

ผมแวะเข้าไปอ่านบันทึกท่าน๒ ครั้งแล้ว และกำลังประมวลความคิดอย่างช้าๆครับ (ผมคิดช้า) ผมก็แปลกใจที่บังเอิญว่า คิดในเรื่องที่คล้ายๆกัน

เป็นกระแสฟ้าบ่อาจกั้น  จริงๆครับ

เรื่องราวที่เม็กดำ ผมกำลังจะแนะนำให้บรรดาคุณครูกลุ่มหนึ่งที่แม่ฮ่องสอนได้เรียนรู้กับ "เม็กดำ" ทุกการเคลื่อนตัวครับ

 

จริงๆโปรยมาได้เลย ผมมีเลือดซาดิสต์ในจิตใจพอสมควรครับ ไม่มีปัญหาเลย ผมก็ชอบตรงๆฟังแล้วเข้าใจเลย ทำนองนั้น

เพราะความจำเป็น เราจึงต้องเลือกใช้ เลือกอยู่ ด้วยวิถีที่ฉลาดกว่าเป็นทาสของกระแส (พูดง่ายแต่ทำยากเหมือนกันนะ...ประเด็นนี้)

ขอบคุณหลายๆอีกครั้งครับ คุณแผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท