สายธารและเกลียวคลื่นแห่งความรู้ใน gotoknow


มีทั้งคลื่นที่ก่อให้เกิดคลื่นใหม่ และคลื่นที่วิ่งเข้าหาฝั่ง เพื่อกระทบให้ฝั่งขยายกว้างขึ้น เป็นลำธารที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่ว่าฝั่งไหนอ่อน ฝั่งไหนแข็ง จึงทำให้เกิดคุ้งความรู้ และวังแห่งความรู้อยู่เป็นแห่งๆ ใหญ่น้อย ลึกตื้น ตามระดับ และความแรงแห่งการไหลของกระแสความรู้

 หลังจากผมเขียนบล็อกแบบพยายามอ่านใจ สคส. มาระยะหนึ่ง ก็เริ่มมองเห็นกระแสความคิดด้านการจัดการความรู้ผ่านระบบการเขียนบล็อก 

ในขณะเดียวกัน ผมก็พยายามและลองวัดใจ blogger ทั้งหลายว่า มีใครคิดอะไร อย่างไร ผ่านระบบการโยนคำถามในการนำเสนอของแต่ละท่าน และประเด็นความเห็นของผมเอง แล้วลองมาทบทวนแบ่งแยกระดับความคิด และการเขียน ว่าใครอยู่ในแบบ และระดับไหน ตามยุทธศาสตร์ แหย่รังแตน ที่ทำให้แตนใหญ่น้อยแตกรังออกมา  

แล้วผมก็สังเกตการณ์บินของแตนแต่ละกลุ่ม ที่เกิดเป็นสายธาร และเกลียวแห่งความรู้ที่สวยงามมาก  ทุกวันผมเข้ามาดูและตามดูว่าเกลียวคลื่นของแต่ละสายธารใหญ่น้อย ไหลเวียน ทั้งแยกกันและเข้าหากัน อย่างไม่ขาดสาย 

 มีทั้งคลื่นที่ก่อให้เกิดคลื่นใหม่ และคลื่นที่วิ่งเข้าหาฝั่ง เพื่อกระทบให้ฝั่งขยายกว้างขึ้น ที่อาจส่งผลถึงนโยบายได้ เป็นลำธารที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามแต่ว่าฝั่งไหนอ่อน ฝั่งไหนแข็ง จึงทำให้เกิดคุ้งความรู้ และวังแห่งความรู้อยู่เป็นแห่งๆ ใหญ่น้อย ลึกตื้น ตามระดับ และความแรงแห่งการไหลของกระแสความรู้ 

ทีนี้ ผมมามองดูสายธาร และเกลียวคลื่นโดยรวม ยังได้ประสบการณ์ว่า แม้สวนใหญ่ของ Blogger ที่เข้ามาจะเข้าใจและทำในรูปแบบนี้ ทั้งในฐานะผู้สร้าง (เขียนบันทึก) และกระตุ้นเกลียวคลื่น (แสดงความเห็น) แห่งความรู้ แต่บางท่านก็ยังเข้ามานั่งดู (อ่าน) คลื่น  พอมาดูในมุมนี้ ผมก็มองเห็นกลุ่มทั้งนักสร้างเกลียวคลื่นตัวฉกาจ เข้ามาทีไร เกิดคลื่นใหญ่ (และลึก) ทุกที

และบางคนเข้ามาแบบสร้างคลื่นเล็กๆ แบบพูดจาทักทาย ว่าวันนี้ไปทำอะไรมา แหมคิดว่าวันนี้จะทำขนมไปให้รับประทาน รอหน่อยนะ เป็นการใช้บล็อก แบบวัยรุ่น (ตามที่เขาพูดกัน) อะไรประมาณนั้น ดูแล้วก็เพลินไปอีกแบบหนึ่ง 

แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เข้ามาแบบกลัวคนเห็น จะเขียนแบบสั้นหรือยาว ก็แล้วแต่ แต่ประเด็นที่เขียนจะไม่ค่อยมีสาระเชื่อมโยงกับใคร เป็นประเด็นที่คนอื่นอ่านแล้วก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรต่อได้ เพราะไม่เปิดช่องให้ใครต่อเชื่อม ก็เลยไม่เกิดเกลียวคลื่นแห่งความรู้ แม้จะมีสมาชิกที่เห็นใจพยายามอ่าน (เท่าที่ผมเข้าใจเองนะครับ) ก็ตอบได้แค่ว่า มาทักทาย มาให้กำลังใจ อ่านแล้วครับ ยอดเยี่ยมเลย ตามมาอ่าน อะไรประมาณนั้น  ที่ไม่ทำให้เกิดเกลียวคลื่นแห่งความรู้แต่ประการใด แต่ก็เป็นการรักษาลำธารไว้ได้ในระดับหนึ่ง 

ฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าเราจะทำให้สายธารและเกลียวคลื่นนี้มีพลังในการจัดการความรู้จริงๆ เราต้องมาทบทวนและคิดประเด็นว่า เราจะทำให้เกิดเกลียวคลื่นที่มีพลังได้อย่างไร ผมไม่ทราบว่า สคส. คิดอย่างนี้หรือเปล่านะครับ 

ถ้าคิดนะครับ
  1. ต้องกระตุ้นและให้กำลังใจคนเขียนที่มีพลังดังกล่าว โดยการให้รางวัลที่เหมาะสม
  2. สะกิดคนที่เขียนแบบปลาแห้งค้างปี copy เอกสารตำราที่รู้กันทั่วไป มาลง blog ให้เพลาๆลงบ้าง โดยวิธีการนุ่มนวล
  3. กระตุ้นและแนะนำคนที่มาแบบไร้ร่องรอย ให้กล้านำเสนอมากขึ้น
  4. แนะนำและกระตุ้นให้เกิดการเขียนที่เชื่อมต่อกันได้ง่าย ให้เกิดเกลียวคลื่นที่มีพลังจริงๆ

 ก็แล้วแต่นะครับจะนับผมเป็นเสียงนกเสียงกาก็ได้ครับ ไม่ว่าอะไรครับผมคิดอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น เพื่อการสร้างสรรค์ โดยไม่คิดจะว่าใครให้เสียกำลังใจเลยครับ 

มองดีๆ มีแต่ได้ครับ

 
หมายเลขบันทึก: 68105เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2006 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
ดิฉันก็เป็นส่วนหนึ่งใน 4 ข้อ ที่อาจารย์เสนอมาคะ แต่จะพยายามปรับปรุงวิธีการถ่ายทอดของตัวเอง โดยพยายามนำสิ่งที่เกิดจากกระบวนการทำงาน เกิดจากการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่ได้จากการทำงาน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กำลังพยายามอยู่ค่ะ  อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของน้ำเพียงสักหยด ในสายธารและเกลียวคลื่นแห่งความรู้ใน gotoknow นี้ค่ะ

ขอบคุณครับคุณรัตติยา

ผมว่าคุณทำได้ครับ

ลองกลับไปอ่านที่ผม comment วิธีการเขียนที่ง่ายและไม่หลุดประเด็นให้คุณใน

http://gotoknow.org/blog/sawaengkku/66217

ลองดูนะครับ

เรียนอาจารย์ ดร.แสวง ที่เคารพ//// ผมเป็นแตนคนหนึ่ง ที่พุ่งเข้ามา เพื่อเสพความรู้ และพร้อมแลกเปลี่ยน แต่แตนบนดอยอย่างผมเองก็ต้อง ออกตัวว่า ต้องเรียนรู้กับแตนหลากสถานะ...ที่ผ่านมาก็ได้รับความรู้และพลังความรู้ครับ/// แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าขาดไม่ได้ คือ ความมีชีวิต ชีวา ของ Blog จากการพูดคุยเรื่องเบาๆ ไม่เน้นวิชาการ ความคิดที่หนักเกินไป เว้นระยะไว้ในส่วนของความสุนทรียะบ้าง อย่างที่เห็นบันทึกที่มี Comment เยอะๆ ... วิชาการแข็งๆที่ขาดเรื่องสุนทรียะ ผมว่ามันจะตายง่ายๆ... เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของอาจารย์ในบันทึกทั้ง ๔ ข้อ

คุณจตุพรครับ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ

แต่ก็มีทางเลือกอย่างน้อย ๒ ทาง

  1. คือ ผสมกัน แข็งบ้างอ่อนบ้างแบบมีสาระ และสนุกสนานไปในขณะเดียวกัน
  2. หรือ ทำสลับต่างวาระกันไป
  3. หรือ ทั้งสองอย่าง

ที่ผ่านมาผมพยายามลองว่าแบบไหน work ไม่ work

ก็ยังคงลองอยู่นะครับ

ด้วยใจจริงผมอยากเห็นเกลีวคลื่นที่

  • สนุก
  • มีพลัง
  • มีชีวิต
  • ขยายผลได้
  • จริงใจ
  • จริงจัง

เราจะได้เป็นตัวอย่างของการใช้ internet ที่มีประโยชน์ ไม่ไร้สาระ เหมือนที่หลายๆ ระบบกำลังเป็นอยู่

และนี่คือความฝัน และความพยายามที่จะหนุนช่วยเท่าที่แรง และเวลาที่มีครับ

และขอรับสารภาพว่าก่อนเข้ามาใน blog ผมก็มองว่า blog นี้ เป็นการเล่นที่เสียเวลาที่ไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไร ผมเลยเฉยๆ มานาน

ผมคิดว่า น่าจะมีอีกหลายคนคิดอย่างนั้นจึงยังไม่เข้ามา และเข้ามาแบบครึ่งๆกลางๆ

ผมจึงพยายามกระตุ้นทั้ง สคส และกลุ่ม blogger ให้เข้าใจตรงกัน

และเป็นการปรับความคิดของผมด้วย ไปในตัว

ขอบคุณอีกครั้ง

หลายๆครั้ง มีคนมักบอกว่า นักวิชาการขาดด้านละมุน ของชีวิต ดูรายการตลกกลับไม่ตลกเหมือนคนอื่น ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่?... ผมมองว่า กิจกรรมใดก็ตาม ต้องเป็นธรรมชาติ ไม่มีแค่ขาว มีดำ แต่หลากสีสรรค์ หลากหลาย และสวยงาม... มาเพิ่มจาก Comment เบื้องต้นของผม/// สคส.เองก็คงพอใจ ที่เป็นอยู่ในวันนี้ ...ปล่อยตามธรรมชาติ อย่าบังคับให้มาก เป็นวิถีอย่างที่เป็น จะปรับเปลี่ยนก็คงค่อยๆแหย่รังแตนอย่างที่อาจารยทำ

คุณจตุพร

ผมกลับคิดว่าผมมีเวลาน้อยครับ ก็เลยอยากจะเห็นอะไร ที่พอจะเร็วได้ โดยไม่เดือดร้อนนัก ให้รีบทำกันหน่อย

ก็เหมือนที่ผมเคยบอกว่า

ขันน็อตที่หลวมๆบางตัวให้แน่นขึ้น เพื่อควบคุมทิศทาง

แต่ก็ไม่อยากเห็นการทำงานที่เครียดจนเกินไป เป็นทางสายกลาง

แต่อย่างว่า

สายกลางของผม กับ สคส อาจจะคนละเส้นก็ได้ครับ

แต่ผมก็หวังว่า มุมมองของผม จะนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง

ให้มีความหมายบ้าง ว่างั้นเถอะ

เพราะผมก็มี priority ในการทำงานของผมเหมือนกันว่า

ถ้าตรงนี้ไม่ work ก็ต้องหาทางเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้ชีวิตที่เหลือยู่ของผมนี้มีประโยชน์มากที่สุด

ในเรื่องเกิดโทษนั้น ผมพยายามเลี่ยงแบบสุดชีวิตอยู่แล้ว

คุณจะสังเกตว่า ผมจะไม่พยายามตอบโต้คนที่เข้ามากวนแบบไร้สาระ เพระผมไม่มีเวลาให้กับคนเหล่านั้น

เวลาผมมีค่ามากกว่านั้นครับ

ขอบคุณมากครับ ที่เข้าใจว่าผมกำลังทำอะไร เพื่ออะไร

ถือเป็นอีกยุทธการแหย่รังแตนหรือเปล่าคะ

มีประเด็นที่ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความเห็นกับบันทึกของอาจารย์ค่ะ คือ

  1.  ความจริงจังกับการจัดการความรู้ผ่านการเขียนบล็อก  ดูเหมือนว่าอาจารย์ต้องการบันทึกที่มีสาระและมีชีวิต  ใช่ไหมคะ ประเด็นนี้ดิฉันมีความเห็นว่าคงไม่ต่างกับบุคลิกของคน คือบ้างก็จริงจังเคร่งขรึม บ้างก็เก่งในการนำเรื่องยากมาทำให้ง่ายและสนุก แต่ทุกคนก็ทำให้เกิดสังคมที่ดีร่วมกันได้ถ้าปรับใจยอมรับกันได้ค่ะ ดิฉันคิดว่าท่านที่สามารถบันทึกให้ได้สาระและยังสนุกสนานเก่งมากค่ะ แต่อาจจะไม่จำเป็นว่าทุกบล็อกเกอร์ต้องมีลักษณะบันทึกเหมือนกันหมด มีคำถามต่อท่านอาจารย์ด้วยค่ะว่า แต่ถ้าทุกบันทึกต้องมีลักษณะเดียวกันหมด...จะตีกรอบกันหรือเปล่าคะ

   2  ความคาดหวังการต่อยอดความรู้จากบันทึก ถ้าเข้าใจไม่ผิด อาจารย์ต้องการเห็นบันทึกที่มีความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆ ที่มีสาระมากกว่าการบอกกล่าวสั้นๆว่า "เข้ามาอ่าน" ใช่หรือเปล่าคะ ต่อประเด็นเรื่องการต่อยอดความคิดด้วยการแสดงความเห็น เคยคิดว่าบันทึกที่มีความเห็นมากๆน่าสนใจและน่าจะบอกได้ว่าสังคมบนบล็อกต้องการอะไร แต่ก็เรียนรู้ว่า หลายๆบันทึกที่เข้าไปอ่านโดยไม่ออกความเห็นหรืออย่างมากก็เขียนว่า เข้าไปอ่านค่ะ นั้น เป็นบันทึกที่กระตุ้นความคิดได้เช่นกันค่ะ แต่การไม่ออกความเห็นเพราะต้องการเวลาสำหรับตัวเองในการไปย่อยความคิดค่ะ ดังนั้นแตนตัวนี้ก็เลยยินดีที่จะได้อ่านประสบการณ์ของคนผ่านบันทึกในรูปแบบที่หลากหลายค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

 

สวัสดีครับ  
  • สนุก
  • มีพลัง
  • มีชีวิต
  • ขยายผลได้
  • จริงใจ
  • จริงจัง

    ผมวิเคราะห์สิ่งที่ทำมา ทั้ง ตอบ ทั้ง เขียน ก็ดูพอจะเข้าประเด็นทั้งหมดครับ มากบ้าง น้อยบ้าง ผสมปนเปกันไปบ้าง .. แต่ยอมรับว่าไม่เคยวางแผนในการเขียนหรือตอบ และไม่เคยตั้งจุดมุ่งหมายล่วงหน้าชัดๆ ว่าจะให้มันเข้าข่ายใด  แต่ทำไปด้วยความรู้ความคิดที่มีอยู่ในใจจริงๆ แบบไม่ต้องกังวลว่า สื่ออะไรออกไปแล้ว อยู่ไปอยู่ไป มันกลับมาขัดกันเอง .. ง่ายๆคือผมไม่ชอบแต่งนิยายครับ .. สิ่งหนึ่งที่พอเผลอเมื่อไรผมชอบทำคือการ ถ่ายทอดความรู้สึกดีๆในใจ หรือทำอะไรเล็กๆ เพื่อให้กำลังใจและส่งเสริม คนดี ที่เราเคารพศรัทธา .. มันเหมือนเราได้ร่วมทำงานกับเขาด้วยทั้งๆที่เราไม่ได้ทำจริงๆ .. เช่นเอาเรื่องและรูปแมวไปคุยกับ ดร. จันทวรรณ น้อยวัน   ก็รู้สึกผมมีส่วนในการร่วมดูแล พัฒนา GotoKnow  ด้วย .. ก็แมวทำให้อาจารย์ท่านสบายใจ และทำงานได้มากขึ้น .. คนไม่รู้ก็คิดว่า อะไรกัน อยู่ๆก็มาคุยเรื่อง แมว.

คุณจันทรรัตน์ อาจารย์พินิจ

ผมเหนด้วยกับการเขียนแบบสบายๆ แหย่กันบ้างตามวาระ

เหมือนชีวิตของเรา หรืออาหาร ก็ได้ ที่ต้องมีหลายรสกลมกลืนกันจึงจะน่ารับประทาน

ถ้าเรารู้อย่างนั้นแล้ว ก็ทำให้สอดคล้องกัน

ผมพยายามดูภาพรวมอยู่แล้วครับ ว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่

อย่างเรื่องแมวผมก็เคยแซว ดรฺ จันทวรรณ เล่นๆ

อย่างเรื่องน้องวัว ผมก็แซวครูบาเล่นๆ

หรืออย่างเรื่องวัวผอม ผมก็แซวลูกศิษย์ผมเล่นๆ

ผมว่าเราเข้าใจตรงกันครับ

คืออยากให้มีทุกมุมมอง

ชีวิตจึงจะสมบูรณ์ครับ

  • อาการฮาฮา หยิก ๆ หยอก ๆ หลายสถานการณ์ก็ สร้าง ประสาน ต่อยอด ความรู้ได้ครับอาจารย์
  • BLOGGER ประสบการณ์น้อย ฝึกหัด เริ่มเรียนรู้ ก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากแรกเริ่มก็ขอกำลังใจจะเพียง "มาให้กำลังใจ" "มาเยี่ยมแล้วนะ" "เยี่ยมจัง" "ชอบนะ" ก็มีคุณค่า
  • คิดว่าต้องใช้เวลาบ้างนะครับ
  • เดินไปอย่างมั่นคง เดินไปพร้อม ๆ กัน แตนตัวน้อย ๆ จะได้ไม่เมายาสูบที่เขาเอามาพ่น
  • แต่ก็เห็นด้วยที่จะมี สนุก มีพลัง มีชีวิต ขยายผลได้ จริงใจ จริงจัง

เรียน ดร.แสวง

  • สวัสดีครับ ผมรู้จักอาจารย์จาก วีซีดี ปัญหามาปัญญามี ตอนไปดูชาวบ้านเขาจัดการความรู้เรื่องดินครับ
  • ผมได้ใช้ วีซีดีเรื่องนี้หลายครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเพื่อนๆ ผู้ร่วมอาชีพและเกษตรกรในทุกโอกาสที่จะทำได้
  • ในงาน NKM 3 ผมเห็นอาจารย์แต่ไม่ได้ F2F ครับ
  • ผมคิดว่า สคส. และพวกเราก็เห็น และกำลังทำทั้ง 4 ข้อ แต่อาจมีส่วนเหมือน-ต่างไปบ้าง  ทำได้มาก-น้อยบ้างตามกำลัง และโอกาส
  • สนุก  มีพลัง  มีชีวิต  ขยายผลได้  จริงใจ  จริงจัง   เสมอภาค-เท่าเทียม  ปลดปล่อยศักยภาพของเรา  อีกทั้งเป็นรูปธรรมและสามารถสัมผัสได้จริงด้วยครับ...สายธารปัญญาที่มีชีวิตแห่งนี้
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่เขียน เพื่อให้ได้มีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คุณออดครับ

ผมก็เห็นด้วยอีกนั่นแหละ ว่าต้องมีการพัฒนแบบนั้นอยู่ด้วย เหมือนกับการทักทายกัน

แต่ไม่ใช่ทุกวันก็ทักกันอยู่แค่นั้น ผมว่ามันจืดๆ ยังไงพิกลนะ

ที่ทำงานผมก็เหมือนกัน คนที่ผมไม่สนใจ พอผ่านกันก็จะทักอยู่ประโยคเดียวนั่นแหละ ตามมารยาท ทั้งปี

แต่ คนที่ร่วมงาน ผมก็จะเริ่มทักแบบเดียวกัน หรือแย่กว่านั้นก็เคย แต่เราก็รู้ว่า แค่ Ice breaking เท่านั้น

ต่อจากนั้น ก็ยาววววววววว อีกเป็นสิบเรื่องครับ

นี่แหละที่ผมเรียกว่ามีความสุข และมีชีวิตครับ แล้วอื่นๆก็ตามมา อีกยาวววววววววว

ครับ

คุณวีรยุทธ ครับ

ยินดีต้อนรับครับ

ผมได้ยินกิตติศัพท์คุณมานาน และกระหายจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มานานแล้วครับ

ผมเห็นด้วยกับความเสมอภาคในการแลกเปลี่ยนกัน ผมนับถือทุก blogger อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือหมอวิจารณ์ เมื่อเข้ามาใน blog แล้วเราต้อง comment กันได้ ไม่งั้นก็ไม่ต้องเข้ามาให้เสื่อมศักดิ์ศรี (ถ้าเขาคิดนะครับ)

ผมเลย comment ทุกคนแบบเดียวกัน ทั้งหมด

ทีนี้ก็มีบางคนที่ถือว่าตัวเองเก่ง ทำอะไรไม่เคยพลาด และไม่ต้องแก้ไข พอผม comment ไปหน่อย ก็ไม่พอใจ พูดจาประชด ประชัน ว่า ไม่ใช่ระดับ ดร. ที่จะคิดแบบนั้น

สิ่งที่ผมเล่ากึ่งบ่นมานี้ ก็เพื่อให้คุณวีรยุทธ ทราบว่าผมนี่ ไม่เคยคิดว่าใครต่ำใครสูง

เสมอภาคที่สุด เท่าที่จะนึกออก

เพราะผมถือว่า การเรียนรู้นั้นจะต้องไม่มีระบบอำนาจ หรือชนชั้นมาเกี่ยวข้อง ทุกคนต้องเท่ากันหมด จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุดครับ

ขอบคุณมากๆ เลยครับที่มาสะกิด ให้จดจำให้แม่นกว่าเดิม

 

  • ผมนึกว่าฝันไปครับอาจารย์ที่ได้อ่านบันทึกอาจารย์ ผมอยากให้มีการให้กำลังใจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปเรื่อยๆเป็นเกลี่ยวคลื่น ถึงแม้ว่าจะต่างวิชาชีพ ผมตามหาครูบานานมาก แล้วผมก็ผมปราชญ์ทางอีสาน อีกหลายท่านที่เก่งๆ
  • ดีใจที่มีคนคิดแบบอาจารย์มาช่วยกัน ตะโกนดังๆดีไหมครับ

ทำไมต้องฝันละครับ นานๆมาทีหรือยังไงครับ ผมก็เร่งเต็มสตีมแล้วนะครับ

แต่ผมเห็นคุณขจิตอยู่ทุกบล็อกที่ผมไปเยี่ยมเลย

ยอดเยี่ยมมาก ทำได้ไงครับ

ชื่นชม ชื่นชม ครับ

  • ที่ว่าฝันไปเพราะผมคิดว่า  ใครจะเขียนได้แบบของอาจารย์บ้าง หาอ่านยากเหมือนกันนะครับ
  • ผมชอบอ่านและชอบให้กำลังใจผู้อื่นครับ
  • หวังว่าคงได้พบกับอาจารย์ที่ขอนแก่นเร็วๆนี้นะครับ

คุณขจิตครับ

ผมว่า ที่ผมเขียนนะ ใครก็รู้ทั้งนั้นแหละ แต่จะกล้าเขียน แบบผมหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่งครับ

ผมนะครับ มีสมญานาม สารพัด เช่น

ขวานผ่าซาก

หมูไม่กลัวน้ำร้อน

แกว่งเท้า(ปาก)หาเสี้ยน

บ้าระห่ำ

ดับเครื่องชน

ฯลฯ

ผมจึงไม่ค่อยกังวลว่าดอกพิกุลจะร่วงหรือไม่ อย่างที่ครูบาเขียนไว้ให้นั่นแหละครับ

ข่าวดีนะครับ

ครูบาบอกว่าจะเอาทุกเรื่องที่เราเขียน ออกมาทำเป็นรูปเล่ม

ยิ่งเขียนมาก ก็ยิ่งมีส่วนร่วมมากครับ

ขอบคุณครับ

  • ผมจะนำข้อคิดที่อาจารย์ให้ไปพัฒนาครับ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ
  • จริงๆหากถามผมว่าเขียนอย่างไรให้มีการ ลปรร.ต่อกันไป
  • ผมจะตอบว่าควรลงท้ายด้วยคำถามให้เกิดอาการอยากตอบ
  • โดยมากผมจะใช้วิธีนี้ครับ
  • อาจารย์คิดเห็นว่าอย่างไรครับ

ผมก็ใช้วิธีเดียวกันครับ ก่อกวนความคิด ตั้งคำถามย้อนกลับครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท