เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๑๕. สรุป (จบ)


 

ได้กล่าวแล้วตั้งแต่ตอนที่ ๑ ว่าในการเดินทางไปประชุมและดูงานครั้งนี้ ผมตั้งไจไปทำความเข้าใจเรื่องมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมในบริบทของสหราชอาณาจักร  และต้องการรู้ว่าเขาก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว  

ในเชิงส่วนตัว สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดคือเรื่องยุทธศาตร์การจัดการการเปลี่ยนแปลงระบบใหญ่ของประเทศ (คือระบบอุดมศึกษา) ที่แตกต่างจากวิธีของประเทศไทยโดยสิ้นเชิง    คือเขาไม่ใช้วิธีบังคับ    แต่ใช้วิธีจูงใจ สร้างกลไกต่างๆ รวมทั้งการให้ทุน มาจูงใจ   โดยมีการนำเสนออุดมการณ์ใหม่    แล้วเปิดโอกาสให้แต่ละสถาบันตีความและหาวิธีดำเนินการเอง    แล้วมีหน่วยประสานงานกลางทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ในเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมเป็นแกนนำการเปลี่ยนแปลง (change agent)    หมุนวงจรยกระดับการเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมขึ้นไปเรื่อยๆ    ผมได้เรียนรู้วิธีประยุกต์ใช้ KM เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมในระดับประเทศ    ดังได้เล่าไว้แล้วที่ https://www.gotoknow.org/posts/643647 


ข้อเรียนรู้โดยสรุปมีดังต่อไปนี้

  • กระบวนการมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์แนวราบ    ที่มหาวิทยาลัยกับภาคีหุ้นส่วนเสวนารับฟังซึ่งกันและกัน เพื่อรับรู้ความต้องการหรือจุดมุ่งหมายของแต่ละฝ่าย    เพื่อบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ร่วม    มีการดำเนินการร่วมกัน  เรียนรู้ร่วมกันเพื่อการบรรลุผลนั้น   หุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย (หรือหลายฝ่าย) ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ตามความมุ่งหมายของตน   ย้ำว่ากระบวนการนี้ใช่การช่วยเหลือกัน    แต่เป็นการร่วมกันทำงานที่ยาก ไม่สามารถบรรลุผลได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
  • ขบวนการชักจูง หรือผลักดัน ให้วงการอุดมศึกษาเข้าไปเป็นหุ้นส่วนพัฒนาบ้านเมือง/สังคม/พื้นที่/ชุมชน ที่เรียกว่า University Public Engagement  หรือ Social Engagement  หรือ Community Engagement เกิดขึ้นทั่วโลก   อาจกล่าวได้ว่าเป็นขบวนการ transform มหาวิทยาลัย    ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งศตวรรษที่ ๒๑   สำหรับประเทศไทยขบวนการนี้สำคัญยิ่งต่อการใช้อุดมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทย ๔.๐ (https://www.gotoknow.org/posts/634621)  
  • ยุทธวิธีดำเนินการ positive change management   ต่อวงการอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร    ไปสู่วัฒนธรรมเชื่อมโยงหุ้นส่วน   ใช้กระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (KM) เป็นพลังสำคัญ    ดังกล่าวแล้วตอนต้นของบันทึกตอนที่ ๑๕ นี้    เขาใช้ในการออกแบบกระบวนการทำงานอย่างแยบยล    โดยไม่เคยเอ่ยคำว่า KM เลย    เป็น “KM Inside” อย่างแท้จริง 
  • สหราชอาณาจักร โดย ๓ องค์กรคือ HEFCE, Wellcome Trust, และ RCUK ร่วมกันตั้ง NCCPE เป็นองค์กรขับเคลื่อน PE ของมหาวิทยาลัย   เริ่มปี ค.ศ. 2008   และใช้กลไกการให้ทุนริเริ่มสร้างสรรค์แบบที่มหาวิทยาลัยต้องแข่งขันกันเสนอตัวทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้    เอเกิดการเรียนรู้ในระดับหนึ่ง    ก็เปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับกิจกรรมเชื่อมโยงหุ้นส่วนขึ้นไปอีก
  • มีการยกร่าง กรอบการทำงาน (framework) เพื่อทำให้ กิจกรรมเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม ซึ่งเป็นนามธรรม    มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและมองรอบด้าน รวมทั้งพอมองเห็นระดับคุณภาพ หรือระดับของความเข้มข้นของกิจกรรมเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมแต่ละด้าน    แต่ไม่กำหนดเป็นเกณฑ์ตายตัว    คือเรียกเป็น กรอบการทำงาน    แล้วเปิดช่องและส่งเสริมให้แต่ละมหาวิทยาลัยตีความเพิ่ม เพื่อใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ของตน ในการทำงานหุ้นส่วนสังคม    และเมื่อมหาวิทยาลัยใดมีผลการริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดีหรือยอดเยี่ยม ก็มีการยกย่องและให้รางวัลในหลากหลายรูปแบบ    ผมตีความว่าระบบขับเคลื่อน PE ของสหราชอาณาจักร ได้รับการออกแบบให้เป็น “ระบบที่เรียนรู้และปรับตัว
  • การประชุม Engagement Conference 2017 ใช้หัวข้อ theme ว่า “exploring collaboration”   มีเนื้อหาใน ๓ หัวข้อคือ  (๑) การปฏิบัติ (practice)  (๒) หลักการ (principle)  และ  (๓) โอกาสในอนาคต (prospect)   เป็นวิธีใช้การประชุมเป็นพื้นที่เรียนรู้ (learning & sharing space)   ตามหลักการ KM   คือนำเอาการปฏิบัติที่ได้ผลดีมาร่วมกันตีความสู่หลักการ  และร่วมกันฝันหรือตั้งเป้าสู่อนาคต ที่ขบวนการมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมมีพลังยิ่งขึ้น    
  • น่าจะเหมือนๆ กันทั่วโลก ที่การเชื่อมโยงหุ้นส่วนภายนอก ง่ายกว่าการเชื่อมโยงหุ้นส่วนภายในมหาวิทยาลัยเดียวกัน   เพราะ “ความรู้สึกห่างเหิน” (sense of distance) ทางวิชาการ ระหว่างสาขาวิชาการ รุนแรงมาก    เป็นความท้าทายของ “วงการมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม” ที่จะเอาชนะความรู้สึกห่างเหิน   ให้กลายเป็น “ความรู้สึกเป็นหุ้นส่วน” (sense of partnership) ให้ได้
  • การเชื่อมโยงหุ้นส่วนภายในมหาวิทยาลัย ระหว่างต่างสาขาวิชา เป็นความท้าทาย   นี่คือการเปลี่ยนวัฒนธรรมวิชาการแยกส่วน ไปสู่วัฒนธรรมสหสาขา     และการเข้าไปร่วมกันทำงานเพื่อเป้าหมายของสังคมหรือพื้นที่ น่าจะเป็นกลไกสร้างความคุ้นเคยกับงานวิชาการประยุกต์ และข้ามศาสตร์ (trans-disciplinary)    ผมคิดว่า หลักการ practice  -> principle ->  prospect  ที่ NCCPE ใช้ในการออกแบบการประชุม Engagement Conference 2017 น่าจะเป็นหลักการที่ใช้ได้ผล    แต่ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว    เน้นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน   ที่หนุนหรือมีเงื่อนไขจากภายนอกให้ต้องเปลี่ยนแปลง
  • การประชุม Engagement Conference 2017 ใช้ช่วง plenary เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ    และสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ ที่ผลักดันผู้ปฏิบัติเข้าสู่ขบวนการ เชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม    โดย plenary แรกของทั้งสองวันเสนอโดยวิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศ คือจากอัฟริกาใต้ และจากสหรัฐอเมริกา    เป็นการสื่อสารว่าประเทศอื่นๆ ต่างก็ให้คุณค่าและดำเนินการกิจกรรมมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมได้ผลอย่างน่าชื่นชม    นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้เรียนรู้ยุทธศาสตร์และวิธีดำเนินการของประเทศอื่น  
  • เวลาส่วนใหญ่ของการประชุม Engagement Conference 2017 จัดเพื่อเอื้อให้ผู้เข้าร่วมประชุมนำประสบการณ์ของตนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    และตีความยกระดับความเข้าใจคุณค่าของผลที่เกิดขึ้น   รวมทั้งเป็น “พื้นที่ท้าทาย” ที่ NCCPE ใช้นำเสนอความท้าทายใหม่ๆ ต่องวงการ PE    เพื่อขับเคลื่อน PE ของประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง    ดังจะเห็นว่า เขาเริ่มชวนคิดชวนคุยเรื่อง quality framework ทักษะการทำงานของนักวิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม
  • มหาวิทยาลัยแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องปรับตัวเพื่อการดำรงอยู่    ประเด็นสำคัญของการปรับตัวเปลี่ยนแปลงคือเปลี่ยนจากวัฒนธรรมวิชาการแยกส่วน แยกสาขา  ไปเป็นวิชาการบูรณาการ หรือสหสาขา     เครื่องมือในการปรับวัฒนธรรมดังกล่าวคือการทำงานสร้างผลงานร่วมกับหุ้นส่วนในภาคชีวิตจริง หรือภาคทำมาหากิน     
  • มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเก่งทั้งความรู้ทฤษฎีและความรู้ปฏิบัติ    การที่จะเก่งความรู้ปฏิบัติได้ ต้องทำงานร่วมกับภาคีในภาคชีวิตจริง 
  • บัณฑิตในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเรียนรู้ตามแนวทางของ Learning Science   คือเรียนทฤษฎีจากการปฏิบัติ ตามด้วย reflection    การร่วมมือกับหุ้นส่วนจึงเป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง 
  • Engagement Thailand  ใช้คำภาษาไทยของ University – Social Engagement ว่า “พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม”    และให้ความหมายว่า  “ร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน   เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย   มีการใช้ความรู้และการเรียนรู้ร่วมกัน   เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้”  

 

ทรัพยากรที่มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ ใช้เพื่อการดำรงอยู่ขององค์กร    จะได้รับอุดหนุนแบบให้เปล่าจากรัฐในสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ    และมหาวิทยาลัยต้องหารายได้จากการทำงานวิชาการร่วมกับหุ้นส่วนมากขึ้น    นี่คือประเด็นความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑    

  

วิจารณ์ พานิช

๘ ม.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 643956เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2018 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2018 06:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท