ศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง : ผู้อาจหาญทั้งทางโลกและทางธรรม


ศาสตราจารย์พิเศษ คุณรัญจวน อินทรกำแหง*

(พ.ศ.2464 – 2559)
*********************************

ศาสตราจารย์พิเศษ คุณรัญจวน อินทรกำแหง เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ที่บ้านบางรัก อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรนายพันเอก พระศรีพิชัยบริบูรณ์ (เหมือน) และนางเชย อินทรกำแหง มีพี่ชายร่วมบิดาคือ นายอมร และน้องชายร่วมบิดาและมารดาคือ ดอกเตอร์สาทิส อินทรกำแหง(ถึงแก่กรรม)

ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้เข้ารับการศึกษาในระดับประถมจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ จบชั้นมัธยมปีที่ 3 ใน พ.ศ. 2475 จากนั้นได้ย้ายตามบิดาไปเรียนต่อที่โรงเรียน สุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา จบชั้นบริบูรณ์คือมัธยมปีที่ 6 ใน พ.ศ.2479 แล้วมาเรียนต่อโรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย จังหวัดพระนคร จบชั้นมัธยมบริบูรณ์(ชาย)คือมัธยมปีที่ 8ใน พ.ศ. 2481 และศึกษาต่อโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา(ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา) สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถม(ป.ป.) ใน พ.ศ. 2483 ต่อมาหลังจากเข้ารับราชการไประยะหนึ่ง พ.ศ.2497 ก็ได้รับทุนจากUSOMให้ไปดูงานด้านบรรณารักษศาสตร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 1 ปี เมื่อไปถึงสหรัฐอเมริกาได้ขอเปลี่ยนจากทุนดูงานเป็นทุนการศึกษาโดยขอเทียบหน่วยกิตกับวิชาครูที่เรียนในประเทศไทย ก็ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยเรียนเฉพาะวิชาบรรณารักษศาสตร์อย่างเดียว ที่ Florida State University มลรัฐฟลอริดา สำเร็จได้รับปริญญา B.A.ใน พ.ศ.2498 แล้วได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทอีก 1 ปี ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน และสำเร็จได้รับปริญญา M.A. Libraly Science ใน พ.ศ. 2499

ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน เริ่มเข้ารับราชการครู เมื่อ พ.ศ. 2483 ที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดขอนแก่น”สตรีกัลยาณวัตร”(ปัจจุบันคือโรงเรียนกัลป์ยาณวัตร) พ.ศ. 2490 ย้ายมาที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2494ย้ายมาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จังหวัดพระนคร ต่อมา พ.ศ.2495 ก็ได้รับคำสั่งจากกรมวิสามัญศึกษาให้ไปทำหน้าที่ผู้ประสานงานกับUNESCOและUSOM พ.ศ.2499 หลังกลับจากไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศึกษานิเทศก์ ฝ่ายห้องสมุดโรงเรียนของกรมวิสามัญศึกษา พ.ศ.2508 ดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม กรมวิสามัญศึกษา พ.ศ.2511 เป็นผู้อำนวยการกองการสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2515 ลาออกจากราชการไปเป็นอาจารย์พิเศษที่ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และลาออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงใน พ.ศ. 2524 เพื่อมุ่งเดินทางสู่สายธรรมจนตลอดชีวิต
-------------------------------------
* บุคคลทั่วไปได้ยกย่องว่าเป็น “อุบาสิกา”

ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้อาจหาญทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อเป็นครูก็ได้ชื่อว่าเป็นครูที่ออกจะเคี่ยวเข็ญดูแลศิษย์อย่างจริงจัง มีอยู่คราวหนึ่งได้ลงโทษโดยให้นักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนให้ออกไปยืนนอกห้องเรียน ปรากฏว่านักเรียนทั้งชั้นต้องออกไปยืนนอกห้องเรียนทั้งหมด เหลือครูอยู่ในห้องเพียงคนเดียว แต่นักเรียนต่างก็เข้าใจดีว่า ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน อุทิศทั้งกายและใจ ทุ่มเทการสอนศิษย์อย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก และคอยอบรมนักเรียน ด้วยความรักความเมตตาอย่างสม่ำเสมอ นักเรียนจึงยอมรับการลงโทษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ชดเชยกับความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างมีชีวิตชีวาในชั่วโมงเรียนวิชาอื่นๆที่ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน สอน
ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้เล่าเรื่องราวในชีวิตความเป็นครูตอนนั้นให้ลูกศิษย์ฟัง เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในโอกาสครบรอบอายุ 72 ปี ซึ่งถือเป็นพินัยกรรมชีวิตและเป็นมรดกธรรมให้ลูกศิษย์ทั้งหลายบันทึกไว้ ปรากฏในหนังสือที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง ความตอนหนึ่งว่า
ส่วนมากมักจะสอนชั้น ม.ปลายมากกว่าชั้น ม.ต้น และวิชาที่สอนเขาก็ให้สอนทุกวิชาเลยนะสมัยโน้น ไม่มีหรอกว่าจะต้องเป็นครูอยู่ภาควิชานั้น ภาควิชานี้ สอนสิบชั่วโมงก็สอนรวดตลอดเลย จะว่างก็เฉพาะชั่วโมงพลศึกษา ที่เราไม่ต้องไปสอน ฉะนั้นจึงพูดได้ว่า ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นคอแห้งเป็นผงเลย ที่เขาบอกว่าคอแห้งเป็นผงยังไงรู้ตอนนั้นแหละ มันแห้ง มันเป็นผงจริง เพราะเราสอนเราพูดตลอด เราไม่ใช่ไปสอนแล้วก็กางหนังสือหรือกางสมุดให้นักเรียน เวลาที่จะสอนอะไรก็ยังจำที่ครูฝึกหัดครูสอนได้ว่า เราต้องเตรียมการสอนทุกวิชา ลองนึกดูสิ ไม่ใช่วิชาเดียวนะ แล้วเขาต้องมีสมุดการสอนด้วย ไม่ใช่เตรียมเฉพาะของตัว เราจะต้องมีสมุดเตรียมการสอนซึ่งเป็นสมุดปกแข็งเล่มใหญ่ แล้วก็ตีตาราง วันที่ วิชา หมายเหตุ แล้วก็วันเวลาอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นการเตรียมการสอนก็ต้องมีทั้งว่า เนื้อหาจะสอนอะไร แล้วก็จะมีแบบฝึกหัดอะไร แล้วก็จะหวังอะไรที่จะได้จากนี้ แล้วเวลาเตรียมก็จำได้ว่าเวลาเราเป็นนักเรียนเราไม่ชอบครูสอนแบบไหน เช่น ครูที่เข้ามาถึงก็มาอ่าน อ่านให้ฟังแล้วก็ไม่มองหน้านักเรียน เสร็จแล้วก็มานั่งโต๊ะเฉยๆ เราก็เบื่อ เราก็ตั้งใจว่าเราจะไม่เป็นครูอย่างนั้น เราเป็นครูจะต้องมีทุกอย่างอยู่ในสมอง ไม่เอาหนังสือมาดูไปสอนไป ไม่เอา อุดมคติมากนะตอนนั้น”
ขณะเป็นศึกษานิเทศก์ ฝ่ายห้องสมุดโรงเรียนคนแรกของกรมวิสามัญศึกษาในยุคของการบุกเบิกจัดตั้งห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งอยู่ในโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาในชนบท(ค.ม.ช.) ก็จะวางแผนบริหารงานห้องสมุดในแต่ละปีงบประมาณ พร้อมทั้งจัดอบรมผู้บริหาร ครูที่ทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุดให้ได้รับความรู้เรื่องการจัดการห้องสมุด การจัดหมวดหมู่หนังสือด้วยระบบทศนิยมตามที่ได้ศึกษาอบรมมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการสร้างบรรยากาศในห้องสมุดให้เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าของครูและนักเรียน รวมทั้งการปรับซ่อมหนังสือในห้องสมุดให้ใช้การได้ดีอยู่เสมอ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการนิเทศ ติดตามการใช้ การบริหารงานห้องสมุดโรงเรียนในโครงการทั้งการไปเยี่ยมเยียนที่โรงเรียนโดยตรง และทุกครั้งที่พบผู้บริหารหรือครูโรงเรียนในโครงการที่มาติดต่อราชการในกรมวิสามัญศึกษาหรือมาประชุมในงานโครงการอื่นๆ โดยจะไถ่ถามถึงสภาพงานห้องสมุดของโรงเรียนพร้อมทั้งถือโอกาสนิเทศให้คำปรึกษาแนะนำตามควรแก่กรณี ทำให้งานห้องสมุดของโรงเรียนเป็นระบบและมีคุณภาพมากขึ้น
ด้วยคุณลักษณะพิเศษของศาสตราจารย์ คุณรัญจวน ที่เป็นผู้มีระเบียบวินัยเคร่งครัด มีความรับผิดชอบสูง มีความสุภาพเรียบร้อย วางตนได้อย่างเหมาะในทุกสถานการณ์ และแต่งกายเรียบง่ายตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้รับแต่งตั้งจากกรมวิสามัญศึกษาให้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการกรมอีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งศาสตราจารย์ คุณรัญจวนก็สามารถปฏิบัติหน้าที่งานระบบสารบรรณงานในกองต่างๆนำเสนอกรมได้อย่างถูกต้อง เรียบร้อยเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ต่อมาเมื่อกระทรวงศึกษาธิการปรับโครงสร้างสำนักงานปลัดกระทรวงให้มีกองการสัมพันธ์ต่างประเทศขึ้น และเห็นว่าศาสตราจารย์ คุณรัญจวนเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการต่างประเทศสูงจึงขอให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ซึ่งศาสตราจารย์ คุณรัญจวนก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ
ด้วยจิตใจที่รักความเป็นครู และอยากจะไปสอนหนังสือมากกว่าทำหน้าที่บริหาร พอดี พ.ศ. 2515 มหาวิทยาลัยรามคำแหงติดต่อให้มาเป็นอาจารย์สอนวิชาบรรณรักษ์ศาสตร์ จึงขอลาออกจากระทรวงศึกษาธิการมาเป็นอาจารย์ประจำที่ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยทำหน้าที่เป็นทั้งอาจารย์ผู้สอนและเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้ง ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง และพ.ศ. 2517-2519 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาคณาจารย์คนแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกตำแหน่งหนึ่ง ระหว่างเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตลอดจนสอนการวิจารณ์หนังสือที่โรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศและวิทยาลัยการทัพอากาศ
นอกจากนี้ยังช่วยงานสมาคม โดยเป็นนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย 3 สมัย เป็นกรรมการสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย
โดยปกติศาสตราจารย์ คุณรัญจวนจะมีนิสัยใฝ่ในทางธรรมและจะหาโอกาสไปปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ มีครั้งหนึ่งได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์เทศก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย เกิดความรู้สึกชุ่มเย็นในจิตใจ มีความปลอดโปร่งเบาสบาย เกิดความรู้สึกเหมือนเห็นหนทางสว่างของชีวิตที่จะเดินต่อไป ต่อมา พ.ศ. 2523 มหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกน้ำท่วมหนักต้องปิดทำการสอนกว่าสองเดือน ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนจึงถือโอกาสไปปฏิบัติธรรมกับพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ที่วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ยิ่งเกิดความประทับใจในคำสอนที่รู้สึกว่าฟังง่าย ชัดเจน สั้นและลัดตัดตรงสู่เรื่องของความทุกข์ เข้าใจชัดว่ามีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ จึงขอสมัครเป็นศิษย์และตัดสินใจ ลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใน พ.ศ.2524 ปล่อยวางทุกสิ่งมุ่งสู่การปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำแสงเพชร จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นวัดสาขาแห่งหนึ่งของพระอาจารย์ชา สุภัทโท โดยขอปลงผม นุ่งผ้าดำ สวมเสื้อขาว และรับศีลแปด และพากเพียรปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จนกระทั่งพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) มรณภาพ เลยเกิดความรู้สึกว่าตนเองยังเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่อ่อนหัดจำเป็นต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ต่อไป พ.ศ.2525 จึงไปที่สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอรับการศึกษาและฝึกอบรมจากพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้เล่าถึงวันแรกที่ไปกราบท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ไว้ในเอกสารของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เรื่อง “บันทึกและรำลึกถึง อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง ผู้อาจหาญทั้งทางโลกและทางธรรม” ความตอนหนึ่งว่า
สิ่งที่ท่านอาจารย์สั่งให้ทำเป็นสิ่งแรก คือนับแต่นี้ให้ "อ่านหนังสือเล่มใน" หยุดอ่านหนังสือข้างนอกได้แล้ว นั่นก็คือ ให้ฝึกปฏิบัติด้วยการหมั่น "ดูจิต" ของตนเพื่อให้รู้จักลักษณะของจิต และให้รู้เท่าทันจิตว่ามีสภาพเป็นอย่างไร จะได้รู้จักแก้ไขพัฒนาจิตเถื่อนนั้นให้เป็นจิตที่เจริญ คือเป็นจิตที่นิ่ง มั่นคง และสงบเย็น พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา แล้วท่านอาจารย์ยังสั่งอีกว่า ให้หามุมสงบท่ามกลางธรรมชาติ แล้วก็อ่านหนังสือเล่มในให้แตกฉาน”
ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ที่สวนโมกขพลารามอย่างเคร่งครัดและเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พุทธศาสนาในหลายๆด้าน เช่น การดำเนินการจัดระบบห้องสมุดแห่งสวนโมกข์ (ห้องสมุดพุทธทาสบรรณาลัย ) จนสำเร็จ ในด้านการปฏิบัติภาวนา ได้มีส่วนช่วยจัดอบรมอานาปานสติภาวนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ และที่สำคัญ คือ การเป็นผู้นำในการจัดตั้ง “ธรรมาศรมธรรมมาตา”ตามดำริในช่วงปลายชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ซึ่งศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในเอกสารฉบับเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
“เป้าหมายสำคัญของการดำเนินงานธรรมาศรมธรรมมาตาคือ การดำเนินงานตามเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เขียนไว้ในบันทึกว่า เพื่อให้เพศแม่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระพุทธศาสนาได้สูงสุด ในลักษณะของธรรมฑูตหญิง เป็นการเสริมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่"

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนยังได้ช่วยจัดทำหลักสูตรการสอนและเป็นผู้ให้การอบรมที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถฝึกปฏิบัติธรรมได้อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ ตามโครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม นอกจากช่วยเหลืองานปฏิบัติภาวนาที่สวนโมกขพลารามแล้ว ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนยังได้ช่วยงานด้านปริยัติธรรมของสวนโมกขพลารามเป็นการแบ่งเบาภาระของท่านอาจารย์พุทธทาสไปได้มาก เช่น การจัดทำหนังสือ “ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรม” ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้กล่าวอนุโมทนาไว้ในหนังสือเล่มนี้ ที่แสดงถึงการให้สิทธิต่าง ๆ แก่สตรีเท่ากับบุรุษ โดยอ้างอิงไว้ในเอกสารเล่มเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า

“ใช่ว่าบุรุษ จะเป็นบัณฑิต ไปเสียทุกแห่ง ก็หาไม่ แม้สตรี เมื่อใช้วิจักขณญาณ อยู่ในที่นั้น ๆ ก็เป็นบัณฑิตได้”

ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้มีส่วนเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปอย่างกว้างขวาง ทั้งเผยแพร่โดยตรง และผ่านสื่อทั้งหนังสือและโทรทัศน์ ได้จัดรายการ "ธรรมสนทนา" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 - 2550 ซึ่งเป็นรายการที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมทุกระดับ และได้รับการตอบสนองจากผู้ชมว่า "พูดธรรมะ เข้าใจง่าย แต่ก็ถึงแก่นของพระธรรม" อาทิ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนชมเชยในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ คอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 ดังปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า
“อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง มีรายการโทรทัศน์ซึ่งท่านสอนพุทธศาสนาด้วยวิธีตอบคำถามแก่ผู้ที่ไปร่วมรายการกับท่าน เป็นการสอนตามแบบที่เขาเรียกกันว่า ไดอะเลกติก ในภาษาอังกฤษ คุณความดีของรายการนี้มีอยู่มาก ผมอาจพูดได้ว่า ผมไม่เคยเห็นรายการศาสนาใดๆ ที่ออกมาทางโทรทัศน์ดีเท่ารายการนี้ อุบาสิกา คุณรัญจวน มีหลักในการเผยแผ่ธรรมะว่า ต้องให้ผู้ฟังได้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา จึงจะสามารถนำมาปฏิบัติจนเกิดความสุขสงบเย็นที่แท้จริงได้”

ในส่วนของงานเขียนเผยแผ่ทางธรรมะ ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนมีงานเขียนที่ได้รับความนิยมหลายเรื่อง งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอนธรรมะที่สำคัญ เช่น จัดทำอัลบั้มงานเพลงปรมัตถ์ชุดแรกของไทยในชื่อ “80 ปีแห่งความทรงจำ” หรือ “ลอยธรรมะมาลัย” ซึ่งปรากฏในแวดวงเพลงและธรรม แล้วยังยกทัพธรรมไปในงานสัปดาห์พุทธทาส-พุทธธรรมที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2531 จนเป็นที่เลื่องลือ
ในฐานะที่เป็น “ครูผู้ให้”มาทั้งชีวิต ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนเคยเขียนหนังสือชื่อ "ครูคือผู้สร้างโลก" เมื่อพ.ศ. 2547 โดยระบุว่า ครูคือ ผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะนำพาศิษย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาทิฐิ มีความคิด ความเห็นที่ถูกตรง อันจะนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยได้สรุปคุณสมบัติของผู้เป็นครูไว้ว่า ต้องมีความเมตตากรุณาอย่างแท้จริง มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ตลอดชีวิต มีความซื่อตรงต่ออุดมคติของความเป็นครู อดทนและเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว เป็นเสมือนประภาคารหรือดวงประทีปของศิษย์ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ ครูต้องสามารถกระทำได้อย่างที่สอนศิษย์ ใครจะทำอย่างไรก็ช่างเขา แต่ผู้เป็นครู จะต้องมีจุดยืนให้เห็นว่า นี่คือความถูกต้อง ถ้าลูกศิษย์ไปประสบปัญหาชีวิต แล้วกลับมาหาครูเพื่อขอคำปรึกษา ครูต้องยืนอยู่บนความถูกต้อง ต้องชี้ให้ลูกศิษย์เห็น และกลับไปสู้ใหม่ ด้วยความถูกต้อง โดยธรรม นี่คือวิธีที่เราจะยกฐานะของสังคมให้เป็นโลกของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียงโลกของคน

ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน ได้ให้ข้อคิดการเป็นครูยุคใหม่ ไว้ในเอกสารฉบับเดียวกันความตอนหนึ่งว่า

"ถ้าดิฉันกลับไปเป็นครูได้ใหม่อีกครั้ง ดิฉันจะไม่สอนลูกศิษย์แต่เพียงว่าให้เป็นคนดี แต่จะสอนให้มี สติปัญญา ที่ฉลาดกว่านั้น จะช่วยอบรม ช่วยหล่อหลอม ช่วยกระตุ้นให้เขาเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง แข็งแกร่งพอที่จะยืนอยู่ได้ด้วยการกระทำ ที่แน่ใจว่า ถูกต้อง คำว่า "ถูกต้อง" ในที่นี้คือ ถูกต้องโดยธรรม เพราะการกระทำนั้น เป็นประโยชน์ทั้งต่องานที่ทำ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวผู้ทำเองก็ไม่ทุกข์ มีแต่ความเบิกบานแจ่มใส เพราะมันอิ่มใจ พอใจ ว่าสิ่งที่ได้ทำลงไปด้วยความแน่ใจว่า ถูกต้องนี้ จะมีคนได้รับประโยชน์ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีใครมารู้มาเห็น ว่าเป็นการกระทำของเรา”
ผลงานเขียนหนังสือ
ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน มีผลงานการเขียนหนังสือทั้งทางวิชาการและทางธรรมะไว้มากมาย อาทิ ทิพยาเยาว์:หนังสืออ่านประกอบวิชาสังคมศึกษา (พ.ศ. 2502) ถาม-ตอบบรรณารักษศาสตร์ สำหรับวิชาชุดบรรณารักษศาสตร์(พ.ศ.2506) ภาพชีวิตจากนวนิยาย(พ.ศ.2508) ห้องสมุดโรงเรียนระดับประถม(พ.ศ.2508) การเลือกหนังสือและโสตทัศนวัสดุ(พ.ศ. 2515) การเลือกหนังสือพิมพ์และวารสาร(พ.ศ. 2515) การบริหารงานห้องสมุดโรงเรียน(พ.ศ.2517) บรรณารักษศาสตร์ ชุดครูมัธยม(พ.ศ.2517) วรรณกรรมวิจารณ์(พ.ศ.2517) วรรณกรรมสำหรับเด็กและวัยรุ่น(พ.ศ.2517) ประชาธิปไตยแบบธรรมิกสังคม(พ.ศ.2529) นกเค้าแมวร้องสองครั้งที่แค็ทฟิทเบนด์(พ.ศ.2530) สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์?(พ.ศ.2531) ก่อนหยุด...หยุดก่อน(พ.ศ.2536) ลอยธรรมะมาลัย(พ.ศ.2536) สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์? ภาคสอง(พ.ศ.2537) สิทธิสตรีวิถีพุทธ(พ.ศ.2537) ท่านอาจารย์พุทธทาสในฐานะครู(พ.ศ.2538) ศิลปะการพัฒนาชีวิต(พ.ศ.2539) การปฏิบัติที่ใจ(พ.ศ.2547) ธรรม(พ.ศ.2542) กิเลส(พ.ศ.2543) ไตรลักษณ์(พ.ศ.2543) นกอินทรีเลี้ยงลูก(พ.ศ.2543) การสร้างจิตเงียบ การสร้างสรรค์มุมสงบ(พ.ศ.2544) สติและอนุสติ(พ.ศ.2544) อุปสรรคของการปฏิบัติธรรม(พ.ศ.2544) ความสำคัญของจิต(พ.ศ.2545) ประโยชน์ของเก้าอี้มีก็ต่อเมื่อมันว่าง(พ.ศ.2545) เรียนรู้ธรรมะจากนวนิยายเด็ก(พ.ศ.2545) จิตศีลธรรม-จิตปรมัตถธรรม(พ.ศ.2546) ฆ่าตัวตายทำไม?(พ.ศ.2546) เป็นอยู่อย่างไรไม่เป็นทุกข์(พ.ศ.2546) ครูคือผู้สร้างโลก(พ.ศ.2547) ปัจจเวกขณ์(พ.ศ.2547) สัปปรุสธรรม(พ.ศ.2547) ชีวิตโลก-ชีวิตธรรม(พ.ศ.2547) การปฏิรูปการศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาชีวิต(พ.ศ.2548) ความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่า “สุข”(พ.ศ.2548) จริยธรรมในวรรณกรรม(พ.ศ. 2549)
นอกจากนี้ยังเขียนบทความทางวิชาบรรณารักษศาสตร์และทางการศึกษาอื่นๆ ลงในวารสารต่างๆอย่างต่อเนื่อง เช่น วิทยาสารศูนย์ศึกษา วิทยาจารย์ วารสารห้องสมุด เป็นต้น

เกียรติคุณที่ได้รับ
ได้แก่

- ศาสตราจารย์พิเศษ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยคำแหง พ.ศ. 2515
-ปริญญาปรัชญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2524
-รางวัลวรรณกรรมไทยชมเชย มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ เรื่อง “สวนโมกข์ทำไม? ทำไมสวนโมกข์?” ภาคสอง พ.ศ. 2537
-รางวัลและประกาศเชิดชูเกียรติในฐานะบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นในการเสริมสร้างสันติภาพและสันติสุขในสังคมไทย จากคณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต) พ.ศ. 2542
-รางวัล “ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2544
-รางวัล “นราธิป” วรรณกรรมดีเด่น สำหรับนักเขียนอาวุโส สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2546
-รางวัล “Outstanding Woman in Buddhism” เนื่องในวาระวันสตรีสากลโลกขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2548

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทานคือ ทวีติยาภรณ์มงกุฏไทย และตติยจุลจอมเกล้า

ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนครองความโสดมาโดยตลอด ในบั้นปลายของชีวิต หลังจากท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ได้หยุดการบรรยายธรรมในที่ต่างๆลง และมุ่งมั่นสู่การปฏิบัติธรรมอย่างมั่นคง โดยมาพำนักตามลำพังที่วัดป่าหนองไผ่ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 กระทั่งวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 สิริอายุ 94 ปี 11 เดือน 4 วัน
ศาสตราจารย์ คุณรัญจวนได้เคยกล่าวไว้ในเอกสารฉบับเดียวกัน ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อใดที่บังเกิดความรู้สึก มี “ธรรมะ” เป็นเพื่อน มี “ธรรมะ” เป็นชีวิต เมื่อนั้นความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง อาจหาญ เป็นสุขสงบย่อมบังเกิดขึ้นอย่างเป็นประจักษ์พยานในตนเอง”

และในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของ ศาสตราจารย์ คุณรัญจวน ก็แสดงให้ประจักษ์ว่า เมื่อมีการปฏิบัติธรรมจริง ย่อมได้รับผลของการปฏิบัตินั้นจริง ชีวิตของท่านจึงสมบูรณ์พร้อมทั้ง ปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ

ศิษย์ผู้ใกล้ชิดและดูแลศาสตราจารย์ คุณรัญจวน จนถึงนาทีสุดท้ายได้เขียนไว้ในเอกสารเล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
“คำพูดสุดท้ายที่ท่านกล่าวย้ำซ้ำหลายรอบด้วยระดับเสียงที่แผ่วลงๆ เป็นลำดับ มีอยู่ประโยคเดียวอย่างมั่นคงจนถึงนาทีสุดท้ายคือ “เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรมเจ้า เห็นพระสังฆเจ้า” เป็นการจบที่สงบ สบาย และสง่างามที่สุด”

นายธเนศ ขำเกิด ผู้เรียบเรียง

ข้อมูลอ้างอิง

1. หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ท.ม., ต.จ. ณ เมรุวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันเสาร์ที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

2. เอกสารหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เรื่อง บันทึกและรำลึกถึงอุบาสิกา คุณรัญจวน
อินทรกำแหง ผู้อาจหาญทั้งทางโลกและทางธรรม วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙

3. DVD มรดกธรรม ศ. อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง ที่ระลึกงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ
๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙
4. บทสัมภาษณ์ รัญจวน อินทรกำแหง วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ สัมภาษณ์และประสานงาน:
สงวนศรี ตรีเทพประติมา

5.คำบอกเล่าของ จิรภัทร์ บัวอิ่น ศิษย์ธรรมมาตารุ่น ๑๘ ผู้ริเริ่มโครงการมาตาภาวนาเพื่อพัฒนาตน
ที่สวนโมกข์กรุงเทพ วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 628601เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2017 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รำลึก/สำนึกในผลงานและพระคุณที่ท่านอาจารย์ได้ทำไว้บนโลกใบนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท