ทำบุญให้ทานอย่างไรจึงจะได้อานิสงส์มาก


ทำบุญให้ทานอย่างไรจึงจะได้อานิสงส์มาก

ดร. ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

การทำบุญ มีหลักการทำอย่างไร จึงจะได้อานิสงส์หรือได้บุญมาก
ทำอย่างไรได้บุญน้อยหรือเป็นบาป เพราะบุญๆ นี้ไม่มีการปันแจก
แหกไม่ได้เหมือนดั่งไม้ผ่ากลาง บุญไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเองนะครับ

เมื่อพูดถึงคำว่า “บุญ” คือสิ่งทำแล้วทำให้เกิดความสุขใจ เกิดจาก
ที่เราได้สละสิ่งของเพื่อผู้อื่น สละความตระหนี่ ไม่ให้มาครอบงำจิตใจ
ทำกับคนทั่วไป จะเรียกว่า ทำทาน ทำกับพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า
การทำบุญ บุญไม่มีขายตามท้องตลาด อยากได้ต้องทำเอง

การทำบุญที่ถูกวิธี คือทำพอเหมาะกับฐานานุรูปของเรา
ไม่ใช่เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง คนมั่งมีเขาก็อาจจะสามารถ
บริจาคได้จำนวนมาก แต่ที่ถูกต้องคือทำตามกำลังศรัทธา
และจตุปัจจัยที่เรามีอยู่ ไม่เดือดร้อน นั้นแหละคือสุดยอดของ
การทำบุญ เพราะถ้าทำแล้วเดือดร้อน ก็ไม่เป็นบุญ แต่เป็นบาป
เพราะตนเองและครอบครัวเดือดร้อน

การทำบุญให้ทานที่จะได้อานิสงส์มาก

1. ถวายแด่ผู้ทรงศีล

ผู้รับทานนั้นมีศีลบริสุทธิ์ เช่น เป็นพระอริยบุคคลหรือเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์
(วัตถุสัมปทา) ผู้รับทาน ถือว่าเป็น “ปัจจัยหรือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด”
เพราะเราจะทำทานให้ได้ผลบุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนที่เราให้
จะต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม ส่งเสริมคนทำความดี หากคนที่
รับการให้ทานนั้นเป็นผู้ที่มีศีลมีคุณธรรมสูง เมื่อให้ทานไปแล้ว
ก็ย่อมเกิดผลบุญมาก หากผู้รับเป็นผู้ที่ไม่มีศีลมีธรรมแล้ว
ผลแห่งทานนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นคือได้บุญน้อยกว่านอกจากนี้แล้ว
การให้ทานกับคนยากจน ขาดแคลน ก็ย่อมมีอานิสงส์มากเช่นกัน
อุปมาเหมือนกับเราจะให้อาหารแก่คนที่เขากินอิ่มแล้ว
ย่อมจะมีคุณค่าน้อยกว่าเราให้อาหารกับคนที่เขากำลังหิว
อดอยาก ไม่มีรับประทาน นั้นเอง

2. สิ่งของที่ให้บริสุทธิ์ (ปัจจยสัมปทา)

คือเป็นสิ่งของที่เราได้มาหรือหามาเองด้วยความบริสุทธิ์
ไม่ใช่ไปรับจากโจร หรือลักขโมยมา เพราะการรับของโจร
ก็มีความผิดตามกฎหมายบ้านเมืองด้วย วัตถุสิ่งของที่ได้มาโดย
“สุจริต” หรือมีความบริสุทธิ์นั่นคือ เหตุแห่งการได้มาซึ่งของเหล่านี้
คือได้มาจากการประกอบวิชาชีพที่สุจริตด้วยแรงด้วยกำลังของ
ตัวเองอย่างแท้จริงไม่ใช่เป็นของที่ยืมมาหรือไปลักขโมยมาหรือ
ไปเบียดเบียนผู้อื่นไม่ว่าทางใดก็ตามยกตัวอย่างเช่น
การไปฆ่าสัตว์เพื่อนำมาประกอบอาหารอย่าง ปลา วัว
ควาย หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วยตนเอง เพื่อหวังจะ
นำเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาทำอาหารไปทำบุญพระหรือไป
บริจาคให้คนยากไร้ การที่เราได้เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
มาทำทานนั้นแม้จะเอาไปทำบุญสร้างบารมีก็ได้เพียงแต่น้อย
จนถึงเกือบจะไม่ได้อะไรเลย

2. จิตใจบริสุทธิ์เลื่อมใส 3 กาล
คือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว
(เจตนาสัมปทา)

เจตนาที่บริสุทธิ์ในการทำทานนั้นควรถึงพร้อม
ทั้งสามระยะคือ ก่อนจะให้ทานก็มีความสุข
ร่าเริงและยินดีที่จะให้ทานเพื่อสงเคราะห์ให้คนอื่น
ได้รับความสุข ระยะที่กำลังให้ทานก็มีจิตที่สดชื่นแจ่มใส
ร่าเริงเบิกบานในทานที่เรากำลังลงมือให้ผู้อื่น
และเมื่อครั้งให้ทานเสร็จแล้วหลังจากนั้นไม่ว่าเวลา
จะผ่านไปสักเท่าใดก็ไม่มีความรู้สึกเสียดาย
นึกถึงคราวใดก็มีความสุขอิ่มเอมใจอย่างนี้
เรียกว่าเจตนามีความสมบูรณ์ทั้งสามระยะ
แม้ในเรื่องเจตนานี้ยังส่งผลชัดเจนต่อผลแห่ง
การทำทานเพราะเจตนาในระยะให้ทานแตกต่างกันไปคือ


3. ผู้ที่เพิ่งออกจาก นิโรธสมาบัติ (คุณาติเรกสัมปทา)

คำว่า นิโรธสมาบัติ แปลแยกคำได้ว่า “นิโรธ”
แปลว่า หนทางดับทุกข์ กับ “สมาบัติ” แปลว่า
ความถึงพร้อม ผู้ที่ได้เข้านิโรธสมาบัติก็หมายถึง
ผู้ที่ถึงพร้อมจะเข้าสู่หนทางดับทุกข์แล้ว ใน
ทางพระพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยสงฆ์ตั้งแต่
พระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้นที่จะสามารถทำได้
การเข้านิโรธสมาบัติเป็นการเข้าสมาธิบำเพ็ญจิตภาวนา
เป็นระยะเวลานานและเข้าได้ยาก ต้องหาเวลาว่างจริงๆ
เพราะเข้าคราวหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 7 วันและอย่างมากไม่เกิน
15 วันโดยที่ไม่มีการกระทำกิจอันใดอื่นๆ แทรกเลยเมื่อ
พระอริยสงฆ์ผู้ที่ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วจะทำให้ร่างกาย
ทรุดโทรมและได้รับความลำบากมากเพราะท่านอดข้าวอดน้ำ
กันติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นตามความเชื่อในพระไตรปิฎก
ใครได้ทำบุญแก่พระภิกษุที่ออกจากนิโรธสมาบัตินี้จะได้ผลในวันนั้น
หมายความว่าคนจนก็จะได้เป็นมหาเศรษฐีในวันนั้นคุณผู้อ่าน
คงจะจำกระทาชายหนุ่มคนที่กลายเป็นมหาเศรษฐีคือ
ภัตตภติกะเศรษฐีได้ก็เพราะมีองค์ประกอบครบ 4 ประการ
จึงได้อานิสงส์แห่งทานมากกลายเป็นมหาเศรษฐีในพริบตา
แต่ในสมัยปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างเรื่องนี้ออกไป
เพราะการจะได้พบพระอริยสงฆ์ระดับชั้นสูงอย่าง
พระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้นก็เรียกได้ว่ายากเต็มทีแล้ว
ยิ่งการจะได้พบขณะที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัตินั้นก็ยิ่ง
เป็นเรื่องที่ยากลำบากเกินวิสัยคนธรรมดาจะได้พบ
ผู้ที่จะได้พบและมีโอกาสได้ทำบุญถวายทานกับ
พระอริยสงฆ์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัตินั้นเรียกได้ว่าขึ้นอยู่กับ
“กรรมเก่า” ที่ได้สร้างบุญมาดีจริงๆ จึงจะมีโอกาสได้พบ

ดังนั้นในปัจจุบันจึงกล่าวถึงหลักแห่งการทำทานให้ได้
ผลอานิสงส์สูงไว้เพียง 3 ประการเท่านั้นแต่ในที่นี้อยาก
จะขอกล่าวเพิ่มไว้ในประเด็นสำคัญที่คนปัจจุบันสามารถ
ทำทานให้ได้ผลบุญอานิสงส์มากนั้นเกี่ยวข้องกับ
อาการแห่งการให้ด้วย”

นอกจากเจตนาในการให้แล้ว เจตนาของผู้ให้จะส่งผลไปสู่
การกระทำทางกาย ที่เห็นได้จากกิริยาอาการที่แสดงออกมา
ในเวลาให้ทานก็มีความสำคัญมากเพราะนอกจากจะบ่งบอกถึง
“คุณภาพใจ” ของผู้ให้แล้วยังมีผลกระทบต่ออานิสงส์ที่จะได้
รับอีกด้วยหากเรามี “อาการของการให้ที่ดีประกอบแล้วย่อม
ส่งผลถึงอานิสงส์ที่จะได้รับในทานนั้นอย่างชัดเจนหากมี
อาการในการให้ที่ไม่ดีไม่บริสุทธิ์แม้เจตนาจะบริสุทธิ์
ผลสัมฤทธิ์แห่งทานย่อมไม่ถึงที่สุดแห่งผลบุญฉันนั้น
อาการแห่งการให้ที่ดีนี้เรียกว่า “สัปปุริสทาน”
พระพุทธองค์ตรัสเรื่องอาการแห่งการให้ที่ดีนี้
ไว้กับอนาถบิณฑิกเศรษฐีในสมัยพุทธกาลขณะ
ที่ท่านเศรษฐีกำลังยากจนลงแต่ก็ยังมุ่งมั่นถวายทาน
ด้วยอาหารที่พอจะหาได้ซึ่งพระองค์กล่าวไว้ว่า“
การให้ทานนั้นจะเป็นของดีหรือไม่ก็ตาม
ผลแห่งทานจะมีความสมบูรณ์หากได้ให้ด้วย
อาการแห่งสัตบุรุษ 5 ประการนี้ คือ
สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยอาการ ศรัทธา
ย่อมให้ทานโดยเคารพ ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร
เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน และย่อมให้ทานไม่กระทบตนเอง
และผู้อื่น ดังนั้น คนดีมีปัญญา เมื่อให้ก็ควรให้แต่สัปปุริสทาน
ซึ่งจะนำความสุขความดีงามที่สมบูรณ์มาสู่ชีวิต”

การให้ทานที่จะได้อานิสงส์มาก

1. การให้ทานด้วยศรัทธา

คืออาการแห่งการให้ทานนั้นให้ด้วยความเลื่อมใสใน
“กฎแห่งกรรม” ว่า ทำดีย่อมได้ผลที่ดี
ทำชั่วก็ได้ผลเป็นทุกข์ให้เดือดเนื้อร้อนใจ
เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมมีกรรมเป็นของตน
ล้วนต่างเป็นไปตามกรรมที่ตนกระทำและเชื่อใน
ปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คนเราจะบริสุทธิ์ได้
ด้วยการประกอบความดีด้วยกาย วาจา และใจที่บริสุทธิ์มาก
และจะสามารถเข้าถึงธรรมะภายในตนซึ่งมีอยู่แล้ว
ในสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ การน้อมนำธรรมะของ
พระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ จะทำให้ตนมีความบริสุทธิ์
ขึ้นจนถึงขั้นตรัสรู้ธรรมได้ ผู้ที่ให้ทานด้วย
ความศรัทธาย่อมเป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
และเป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม น่าดู
น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยผิวพรรณงามในที่ที่ทานนั้นส่งผล

2. ให้ทานด้วยความเคารพ

คือมีเคารพในตัวบุคคลที่เราจะมอบทานนั้นให้ มีความอ่อนน้อม
เช่น การให้ของโดยการยกประเคนด้วยมือทั้งสองหรือ
ยกขึ้นเหนือหัวแล้วจึงให้อย่างนี้ย่อมแสดงถึง
อาการแห่งความเคารพและเจตนาแห่งการให้ได้เต็มที่
ผู้ที่ให้ทานด้วยความเคารพจะส่งผลให้กลายเป็นผู้มั่งคั่ง
มีทรัพย์มากและจะเป็นผู้ที่มีบุตร ภรรยา บริวารคนใช้หรือคนงาน
ที่อยู่ในโอวาทคอยฟังคำสั่งสอนหรือตั้งใจใคร่รู้ในที่ที่ทานนั้นส่งผล

3. การให้ทานตามกาล

คือ ให้ทานนั้นๆในเวลาที่สมควร
ซึ่งเป็นเวลาจำเพาะที่จะต้องให้ในช่วงนี้เท่านั้นหากเลย
เวลานี้ไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์หรือเกิดผลแห่งทานแล้ว
ยกตัวอย่างความเชื่อเรื่องการทำบุญทอดกฐินว่าทำไม
จึงเชื่อกันว่าเป็นทานที่ทำแล้วได้บุญมากก็เพราะการถวาย
ผ้ากฐินแด่สงฆ์นั้นต้องกระทำในช่วงภายหลังจากออกพรรษาใน
เวลา 1 เดือนเท่านั้นเนื่องจากภายในหนึ่งปีพระพุทธองค์จะกำหนด
ให้คณะสงฆ์ทั้งหมดมีเวลาที่จะซ่อมแซมผ้าจีวรของตนเองให้เสร็จเรียบร้อย
ภายในเวลา 1 เดือน เพราะหลังจากนั้นจะได้นำเวลาไปเผยแผ่ใน
พระธรรมและการปฏิบัติธรรมอันจะเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มากสำหรับ
“กาลทาน” อื่นๆ ทั่วไป พระพุทธทรงแสดงไว้ในกาลทานสูตร
มีอีก 5 อย่าง คืออาคันตุกะทาน ให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตนเช่น
เมื่อมีผู้ที่ลำบากเพราะไม่คุ้นเคยในท้องถิ่นหากได้ให้ความช่วยเหลือ
ไม่ว่าทางใดก็ถือเป็นกาลทานที่ดี คมิกะทาน คือให้ทานแก่
ผู้ที่เตรียมตัวจะเดินทางไปยังที่ต่างๆ เช่น เมื่อมีผู้มา
ขอความช่วยเหลือในการเดินทางไปยังสถานที่อื่นที่เรา
รู้จักแต่เขาไม่รู้จักก็ถือเป็นกาลทานที่ดี ทุพภิกขะทาน
คือการให้ทานในช่วงเวลาที่ข้าวยากหมากแพงหรือเศรษฐกิจ
ตกต่ำหรือประสบภาวะอุบัติภัยทั้งหลาย สำหรับคนที่มีทรัพย์มาก
หรือเป็นพ่อค้าหากได้บริจาคหรือช่วยเหลือคนหมู่มากในเวลานี้
ก็จัดได้ว่าเป็นการให้ทานในกาลทานที่เหมาะสม นวสัสสะทาน
คือให้ทานเมื่อมีข้าวใหม่ๆ ก็นำมาทำทานก่อนหมายความว่า
ปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้มีความสุขมากที่สุดโดยนำของใหม่ๆ
มาให้ก่อน และ นวผละทานให้ทานเมื่อมีผลไม้ออกใหม่ก็นำ
มาทำทานก่อนผู้ที่ให้ทานตามกาลอันควรแล้วย่อมส่ง
ผลอานิสงส์ให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากและย่อมเป็นผู้ที่
มีความสุขมากคืออยากได้ในสิ่งใดเวลาที่ต้องการก็จะได้ในสิ่งนั้น

4. การให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์ เมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยากขาดแคลน
ปัจจัย 4 ก็มีจิตอนุเคราะห์ช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน
ผู้ที่ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์แล้วย่อมยังผลอานิสงส์
ให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากและมีความสุข

5. การให้ทานโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่น คือ
การให้โดยไม่ทำลายคุณความดีของตนเองและผู้อื่น
ไม่ผิดศีล ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนเพื่อถวายทาน เช่น
ฆ่าสัตว์ทำอาหารเพื่อถวายพระ เพราะการให้ทานอย่างนี้
เป็นการทำลายคุณงามความดีของตนเอง อีกนัยหนึ่ง
คือไม่ทำทานด้วยการทำให้คนอื่นเดือดร้อน หมดกำลังใจ
เกิดอาการกระทบกระเทือนใจ เช่น ทำบุญเพื่อข่มคนอื่น
ดูถูกดูแคลนคนที่ทำน้อยกว่า เหล่านี้เป็นต้นผู้ที่ให้ทาน
โดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่นย่อมได้รับผลบุญอานิสงส์
ทำให้เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มากไม่มีภยันตรายจากที่ใดจะ
มากล้ำกรายหรือทำให้สูญเสียทรัพย์ได้ไม่ว่าจะเป็น
ภัยจากไฟ จากน้ำ จากผู้มีอำนาจในบ้านเมือง จากโจรผู้ร้าย
รวมทั้งจากคนไม่เป็นที่รักด้วยส่วนอาการแห่งการให้ที่ปรากฏ
อยู่ในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นอย่างสุดท้ายก็คือ
“สัปปุริสทาน 8 ประการ” อันได้แก่ การให้ทาน
ด้วยของที่สะอาด ให้ของที่ประณีต ให้ตามกาล ให้ของที่สมควร
เลือกที่จะให้ ให้อย่างเนืองนิตย์ เมื่อให้แล้วจิตผ่องใส
และให้แล้วดีใจ อาการที่ให้ทานและวัตถุที่ให้ทานมีความประณีต
เช่น การให้ ข้าวและน้ำที่ สะอาดและมีความประณีตในการตั้งใจ
แสวงหาและทำมาให้ รวมถึงให้ตามกาลสมควร ให้อย่างเป็น
ประจำเนืองนิตย์ เลือกที่จะให้กับคนที่ดีหรือ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
อย่างนักบวช บริจาคของหรือให้ไปมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย
นั้นย่อมส่งผลให้อานิสงส์แห่งทานนั้นเกิดแก่ผู้ให้อย่างสมบูรณ์
คือได้เกิดในภพภูมิที่เป็นสุข หากเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นผู้ที่มีทั้งทรัพย์มาก
รูปร่างผิวพรรณหน้าตาดี มีบริวารที่ดี ต้องการในสิ่งใดก็จะได้
ตามกาลเวลาที่เหมาะสม ได้แต่ของที่ดีและประณีตและไม่มีเหตุ
ให้ต้องสูญเสียในทรัพย์ทั้งจาก โจรผู้ร้าย ผู้มีอำนาจหรือ
อุบัติภัยใดๆ ที่จะมาก่อให้เกิดความเสียหายได้เลยที่กล่าว
มาทั้งหมดคือหลักและวิธีการสร้างบุญด้วยทานที่ให้ผลเร็ว
และแรงผลแห่งทานมีอานิสงส์มากโดยที่พระพุทธองค์กล่าว
ตรัสถึงอานิสงส์แห่งการให้ทานนั้นจะทำให้ผู้ที่ให้ได้รับ
ผลบุญแห่งการทำทานปรากฏอยู่ในสีหสูตรว่า

“ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจแก่คนเป็นอันมาก คนดีเป็น
อันมากย่อมพอใจคบหาผู้ให้ทาน (หมายถึงจะได้
กัลยาณมิตรมาเพิ่ม) มีชื่อเสียงอันดีงามของผู้ให้และ
ยังผลให้ชื่อขจรขจายไป มีความกล้าหาญองอาจไม่
เกื้อเขินในที่ชุมชน และเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วย่อม
บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์”

จะเห็นได้ว่าการที่พระองค์กล่าวเช่นนี้ก็เป็นไป
ตามหลักกฎแห่งกรรมว่าทำดีย่อมได้ดีทำชั่วย่อมได้ชั่ว
เพียงแต่ได้ผลต่างกาลเวลากัน คือ ประการแรกยัง
อานิสงส์ให้เกิดในภพชาติปัจจุบันและอย่าง
สุดท้ายส่งผลในภพชาติต่อไปนั่นเอง

สรุป

การทำบุญที่จะได้อานิสงส์มาก คือถวายแด่ผู้มีศีลบริสุทธิ์
มีใจพลอยยินดี 3 กาล คือก่อนทำบุญ ระหว่างทำบุญและ
หลังทำบุญแล้ว ส่วนการให้ทานกับคนขาดแคลน ยากจนค้นแค้น
คนพิการ คนแก่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแล ก็จะได้อานิสงส์มาก
เช่นกัน และ การทำบุญที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด
เพราะเป็นพระที่สำคัญยิ่งในครัวเรือน ถ้าใครดูแล
ปรนนิบัติพ่อแม่เป็นอย่างดีแล้ว คนผู้นั้น
จะพบแต่ความสุข ความเจริญในชีวิต
ทำมาค้าขายหรือประกอบอาชีพอะไรก็จะมีแต่
ความรุ่งเรือง สมความปรารถนาทุกประการ




หมายเลขบันทึก: 628595เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ณัฐปภัสร์ สุพรรณธนาสิน

ขอบคุณความรู้ ขออวยพรให้ สุขภาพกายใจแข็งแรง พบความสุขความเจริญ ด้วยความเคารพค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท