งาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๑ : เกมส์ถอดรหัสความสำเร็จ "ครูฝึก ฝึกครู"


ยิ่งไปกว่าผลงานที่มีคุณภาพ คุณค่าต่อชีวิตที่ทุกคนได้รับจากการทำงานศิลปนิพนธ์ ก็คือ "การได้รู้จักตัวเอง" เพราะก่อนที่จะไปรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาจะต้องรู้จักความเป็นไทยให้ดีเสียก่อน แล้วการรู้จักตัวเองก็จะทำให้เรารู้จักคนอื่นได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง


คุณครูเกมส์ - สาธิตา รามแก้ว ได้เขียนสะท้อนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมช่วงเช้าของงาน "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๑ ที่มีเป้าหมายให้คุณครูได้เกิดการเรียนรู้จากการ ซึมซับ รับรู้ สู่การเปลี่ยนแปลง เอาไว้ว่า






ในกิจกรรมนี้ฉันได้เรียนรู้จากการที่คุณครูทั้งสองท่าน คือคุณครูใหม่ และคุณครูหนึ่ง ที่มาชวนกันสะท้อนการทำงานด้วยการนำชิ้นงานของเด็กนักเรียนชั้น ๖ มายกตัวอย่างให้ทุกคนได้เรียนรู้ว่า เด็กทุกคน “มีความเป็นตัวเอง” ครูจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน อยู่ในวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน โดยครูมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการพัฒนาการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


ฉันสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

๑.ครูมีการคิดกระบวนการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการทำงานของเด็ก เช่น สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน โดยให้นักเรียนทำเพียงชิ้นงานเดียว แต่ขอเป็นชิ้นงานที่เน้นคุณภาพ จากนั้นครูจึงสร้างแรงดาลด้วยการให้นักเรียนสมมุติตัวเองเป็น"ศิลปิน" ที่จะสร้างสรรค์งานขึ้นมา

๒.ตั้งกติกาให้ชัดเจน และเป็นกติกาที่ตกลงร่วมกัน

๓.ครูทำหน้าที่ช่วยคิดและมองหาจุดเด่นในตัวนักเรียน เพื่อเป็นแนวทาง ทางความคิดและต่อยอดงานได้ โดย"ครูต้องหาจากสิ่งที่นักเรียนมี" ฉันคิดว่ากระบวนการเรียนรู้นี้ต้องเริ่มจากการที่ครูต้องมีสายตาในการมองเด็ก เมื่อมองเห็นและค้นพบแล้วจึงสนับสนุนทันที แล้วเด็กจะต่อยอดได้ด้วยตนเอง และหากพบว่ามีเด็กที่มีความคิดที่มีขีดจำกัด ไม่หลากหลาย ครูควรให้ความ"ไร้กรอบ" ว่าสามารถเป็นอย่างไรหรือทำอย่างไรก็ได้

๔.นำสิ่งรอบตัวที่มีอยู่ พบ เห็น มาปรับใช้ในการสร้างงาน โดยครูให้นักเรียนคิดย้อน สะท้อนตัวตนตลอดเวลา

๕.ครูดูแลวิธีคิด ตลอดจนวัสดุ อุปกรณ์ มีการถ่ายทอดและแบ่งปันกัน จนเด็กมองเห็นว่าครูเป็นมืออาชีพที่ให้คำปรึกษาและแนะนำได้

๖.ครูเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็กเอง และเปิดโอกาสให้นักเรียนกลับไปค้นหา ทบทวนตัวเองว่า จะหาตัวเองเจออย่างที่ครูเห็นหรือเปล่า เช่นหากครูเห็นตัวตนนักเรียนผ่านชิ้นงาน ก็จงค้นให้พบพลังภายใน ดังเส้นสีที่แรงแต่มีพลัง

๗.ครูต้องมองให้เห็นถึงความแตกต่างของแนวคิด เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน ชิ้นงานก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย หากแต่เป้าหมายในการเรียนรู้นั้นคือเป้าเดียวกัน (ครูควรคำนึงถึงข้อนี้ให้มาก)

๘.ครูต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เรียนรู้บนความผิดพลาด จนก่อเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์

๙.วิธีคิดเด็กมีความแตกต่างกัน ความคิดคนละชุด และความคิดสร้างสรรค์จะเริ่มต้นจากอะไรก็ได้

ทั้งนี้แผนการสอนจากห้องเรียนครูหนึ่ง ไม่ใช่ห้องเรียนศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้เรื่องราวอาเซี่ยนโดยถ่ายทอดผ่านชิ้นงานศิลปะ เป็นการสอนอาเซียนเพื่อให้รู้จักความเป็นไทย ทำให้นักเรียนภาคภูมิในความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ผ่านเรื่องราวที่เรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งเนื้อหาเรื่องของอาเซียนนั้นนักเรียนได้เรียนรู้มาแล้วจากหน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษาในภาคเรียนเดียวกันนั้นเอง


สะท้อนคิด ใคร่ครวญหัวใจสิ่งที่ได้เรียนรู้

สำหรับฉันการได้เรียนรู้นี้นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวการทำงานที่เห็นความพากเพียรของครู เริ่มตั้งแต่ชวนคิด ชวนถาม จนรู้รายละเอียดข้อดี ข้อพร่องที่ครูเห็นช่องทางที่จะนำไปพัฒนาการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้น จนกระทั่งนักเรียนสามารถสร้างให้กลายเป็นผลงานนักเรียนที่มีคุณภาพ เกิดจากการที่ครูมีความเพียรในการมองหาช่องทางให้ตัวเด็กได้ฝึกฝนและพัฒนาตนจนพบกับความสำเร็จ

และยิ่งไปกว่าผลงานที่มีคุณภาพ คุณค่าต่อชีวิตที่ทุกคนได้รับจากการทำงานศิลปนิพนธ์ ก็คือ "การได้รู้จักตัวเอง" เพราะก่อนที่จะไปรู้จักประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาจะต้องรู้จักความเป็นไทยให้ดีเสียก่อน แล้วการรู้จักตัวเองก็จะทำให้เรารู้จักคนอื่นได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง



หมายเลขบันทึก: 628597เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท