แนวพระราชดำริโครงการห่มดิน


แนวพระราชดำริโครงการห่มดิน

1 ธันวาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ล้นเกล้าของชาวไทย มีแนวพระราชดำริที่สำคัญหลายโครงการในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน “ทรงเป็นปราชญ์แห่งน้ำและดินแห่งโลก” ปี 2013 (พ.ศ.2556) ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติมีมติประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” และในปี 2015 (พ.ศ.2558) กำหนดให้เป็น “ปีแห่งดินสากล” [2] วันนี้มาต่อในเรื่องแนวพระราชดำริ “โครงการห่มดิน” [3]

ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการกสิกรรม

ดิน (Soil) ถือเป็นเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่งเคียงคู่กับ “น้ำ” ในการทำเกษตร ต่อให้มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่มีดินที่เลว กล่าวคือ โครงสร้างแน่น อัดตัวเป็นก้อน ปราศจากซึ่งธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช ก็เป็นการยากต่อการปลูกพืชไม่ว่าพืชชนิดใดๆ

ดินจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ หรือ “การกสิกรรม” หรือ “การเกษตรกรรม” การพัฒนารักษาคุ้มครอง “ดิน” การเพิ่มความอุ้มน้ำให้แก่ดิน เช่น การเติมอินทรียวัตถุให้แก่ดินเศษวัชพืช แกลบดิบ ถ้าประสบพบเจอกับอากาศที่หนาวเย็น แห้งแล้งก็ต้องรู้จักรักษาดิน [4] รักษาความนุ่มชุ่มชื้นจากอินทรียวัตถุจากตอซังฟางข้าว หรือเศษซากใบอ้อย ซึ่งรวม ๆ การกระทำดังกล่าวเป็นไปตามหลัก “กสิกรรมธรรมชาติ” หรือ “หลักการเกษตรชีวภาพ” 3 ประการคือ [5] (1) การเลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช (2) การปรุงอาหารเลี้ยงดิน และ (3) การห่มดิน

ในหลวงทรงให้ความรู้เรื่องการห่มดิน

เพราะจะทำให้มีความชื้นค่อยๆ เกิดขึ้นที่หน้าดิน ในหลวงทรงรับสั่งให้ “ห่มดิน อย่าเปลือยดิน” [6] การทำให้โคนเตียนด้วยการถากเท่ากับเป็นการเปลือยดิน ทางที่ดี หากมีแรงจ้างตัดหญ้า น่าจะดี เพราะหญ้าที่ตัดจะเป็นอินทรียวัตถุให้ดินย่อยเป็นปุ๋ย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการดูแลและรักษาดินอีกทางหนึ่ง นั่นคือ “การห่มดิน” เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น จุลินทรีย์ทำงานได้ดี อันจะส่งผลให้ดินบริเวณนั้นทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดแร่ธาตุ ทั้งนี้การห่มดินมีอยู่ด้วยกันหลายวิธีการ เช่น ใช้ฟางและเศษใบไม้มาห่มดินหรือวัสดุอื่นตามที่หาได้ตามสภาพทั่วไปของพื้นที่, การใช้พรมใยปาล์ม (wee drop) ซึ่งทำมาจากปาล์มที่ผ่านการรีดน้ำมันแล้ว เริ่มจากการนำทะลายปาล์มมาตะกุยให้เป็นเส้น ๆ ก่อนจะเอาไปอัดให้เป็นแผ่นเป็นผ้าห่มดิน นอกจากประโยชน์ที่กล่าวไปแล้ว การห่มดินยังจะช่วยคลุมหน้าดินไม่ให้วัชพืชขึ้นรบกวนต้นไม้พืชหลักอีกด้วย [7]

การห่มดิน คืออะไร [8]

การห่มดิน คือ เป็นการป้องกันการระเหยของความชื้นที่อยู่ในดิน และเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จุลินทรีย์ชอบอยู่ในที่มืดที่มีความชุ่มชื้น ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ทำงานและขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะทำให้ดินมีความสมบูรณ์

การห่มดิน เป็นวิธีการป้องกันหญ้าที่ขึ้นในพื้นที่เราได้ด้วย เพราะหญ้าโดนคลุมไว้ก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้

การห่มดิน เป็นวิธีการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน หรือเป็นการปรับปรุงดินก่อนการเพาะปลูก ดินที่ดีสังเกตจะมีเชื้อราเกิดขึ้น และต้องใช้ร่วมกับ น้ำหมักชีวภาพ จะทำให้ดินมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ปลูกหญ้าแฝกด้วย ใบแฝกก็ตัดมาห่มดินได้ ก็เป็นการดี

การห่มดินเพื่อให้จุลินทรีย์ในดินมีความอุดมสมบูรณ์ ถ้าเปลือยดินไว้จะทำให้จุลินทรีย์ตาย ต้นไม้จะไม่สามารถเจริญเติบได้ [9]

ปัญญาธรรมชาติรักดินต้องปรับปรุง

เรื่องการห่มดินสรุปว่า เป็น “ปัญญาธรรมชาติ” “รักดินต้องปรับปรุง รักท้องทุ่งต้องใช้อินทรียวัตถุไปปรับปรุงดิน” ช่วงก่อนปี 2553-2554 มีการศึกษาและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร [10] กล่าวไว้ว่าพืชพันธุ์หรือต้นไม้ไม่ว่าพืชชั้นสูงพืชชั้นต่ำ ไม้ใหญ่ไม้เล็กก็ต้องการความสมดุลทางธรรมชาติเช่นเดียวกันทั้งสิ้นบางครั้งสิ่งที่เขาขาดไปเราก็สามารถแต่งเติมธรรมชาติให้เขาได้เช่นกันโดยไม่ทิ้งความจริงของธรรมชาติเช่น การห่มดิน

นักวิชาการเสริมอีกว่า การรักษาดินโดย [11] (1) ไม่ซ้ำเติมดินคืนจุลินทรีย์ให้ดินช่วยปลุกพระแม่ธรณีคืนชีพ (2) ต้องมีความเข้าใจในพื้นที่แต่ละแห่งแล้วลงมือทำอย่างมีความหวังใบไม้แห้งกิ่งไม้แห้งที่ล่วงหล่นยามแล้งอย่ากวาดออกไปปล่อยให้ล่วงหล่นมาห่มดินให้ค่อยๆเรียกความชื้นเพิ่มขึ้นมา (3) ยามที่ฝนฟ้าคะนองเทน้ำมาให้ก็จำบังหน้าดินไม่ให้ถูกกระแทกอย่างรุนแรง แถมยังกักเก็บน้ำไว้ให้หน้าดินได้นาน (4) เมื่อมีความชื้นความอบอุ่นเหล่าสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยก็จะมาอาศัยอยู่สร้างกิจกรรมตามธรรมชาติแล้วจะนำมาการฟื้นแผ่นดิน

ต่อมามีการศึกษาเรียนรู้ต่อยอดจากประสบการณ์นำแนวคิดการทำเกษตรผสมผสานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้ โดยการปรับคุณภาพดินด้วยการ “ห่มดิน” ด้วยฟางข้าว [12] เป็นต้น เพื่อทำให้ดินมีชีวิต การรักษาไม้ยืนต้นเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่สวน และเสริมพันธุ์ไม้ใหม่ที่เหมาะสมกับพืชเดิมที่มีอยู่ ด้วยแนวคิดการปลูกพืช 5 ระดับ คือ พืชใต้ดิน พืชเลื้อย พืชพ้นดิน พืชยืนต้นระดับกลาง และไม้ยืนต้นระยะยาว ในพื้นที่เดียวกัน

แนวพระราชดำริสำคัญในการแก้ไขปัญหาดิน ดังนี้ [13]

(1) การแก้ปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา งานจัดและพัฒนาที่ดินเป็นงานแรกๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญ ทรงเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินหุบกะพง ตามพระราชประสงค์ เมื่อปี 2511 โดยมุ่งแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นสำคัญ ดังพระราชดำรัสไว้ ณ สำนักงาน กปร. ในปี 2531 ว่า

“มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างมีการจัดตั้งจะเรียกว่านิคม หรือจะเรียกว่าหมู่หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้”

ทรงนำเอาวิธีการปฏิรูปที่ดินมาใช้ในการจัดและพัฒนาที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรม รกร้าง ว่างเปล่า นำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินได้ประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ และโครงการจัดและพัฒนาที่ดินในรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้โดยให้สิทธิทำกินชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมกับจัดบริการพื้นฐานให้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่ง โดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไป

(2) การอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน ทรงพระราชทานว่า “ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม ต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้ มีแร่ธาตุที่เรียกว่า ปุ๋ย ส่วนประกอบสำคัญคือ (1) N (nitrogen) ในรูป nitrate (2) P (phosphorus) ในรูป phosphate (3) K (potassium) และแร่ธาตุ อื่นๆ O H Mg Fe มีระดับ เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH 7) มีความเค็มต่ำ มีจุลินทรีย์ มีความชื้นพอเหมาะ (ไม่แห้ง ไม่แฉะ) มีความโปร่งพอเหมาะ (ไม่แข็ง)”

จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเสื่อมโทรม เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินจากหลายๆ สาเหตุ กลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก

ดังนั้น โครงการต่างๆ ในระยะหลัง จึงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหลากหลายสาขา มาใช้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แนวคิดและตัวอย่างการจัดการทรัพยากรดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน และสนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน สามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ทรงมีพระราชดำริว่า “การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน”

นี่เป็นพระอัจฉริยภาพโดยแท้ของพระองค์ท่าน องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชล้นเกล้าของปวงชนชาวไทย



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23229 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 1 – วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2559, หน้า 66

[2]5 ธันวา “วันดินโลก” เทิดพระเกียรติมหาราชา, ศูนย์ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ, 2 ธันวาคม 2557, http://www.qlf.or.th/Home/Contents/972 & UN จัดกิจกรรมวันดินโลก เทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9, 1 ธันวาคม 2559, http://news.thaipbs.or.th/content/258315

[3] ดิน...หลักการองค์ความรู้มิติที่ 2 แห่งศาสตร์ของพระราชา, http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/DMR_Ethics/download/article/article_20170918095729.pdf. & ดู ฑัชมาวรรณ ดีประเสริฐ, แนวพระราชดำริเรื่อง “ดิน”, องค์ความรู้สืบสานแนวพระราชดำริ เรื่อง ดิน, ศูนย์สารสนเทศ สปข.1, 2 กันยายน 2557, https://ewt.prd.go.th/ewt/region1/ewt_news.php?nid=878. 

[4] มนตรี บุญจรัส, อาบลม ห่มดิน ทำกินวิถีพอเพียง, 2 ธันวาคม 2557, https://www.gotoknow.org/posts/581559

[5] Thanu Mekawut, อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร (จบ), happyfarmer, 25 กรกฎาคม 2550, https://www.gotoknow.org/posts/114641 & คัดลอกจาก บทความเรื่อง: วิวัฒน์ ศัลยกำธร กับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติโดย: ศักดา ศรีนิเวศน์

[6] นเรศ หอมหวน, ปุ๋ยคืออะไร จะเชื่อใครดี, GotoKnow, 20 พฤศจิกายน 2553, https://www.gotoknow.org/posts/409404

[7] แนวพระราชดำริ “ห่มดิน”, http://pirun.ku.ac.th/~b5510404795/ห่มดิน.html & การห่มดินมีความสำคัญอย่างไร, 28 พฤษภาคม 2557, http://www.kasedtakon.com/85 & ห่มดินคืออะไร, 25 มิถุนายน 2555, http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topi... & วิวัฒน์ ศัลยกำธร, การห่มดินมีความสำคัญอย่างไร, by Dhammachard in เกษตรกรรมยั่งยืน, 28 พฤษภาคม 2557, http://www.kasedtakon.com/85 & http://www.kasetup.com/2016/11/blog-post_85.html&

[8] ห่มดินคืออะไร, 25 มิถุนายน 2555, อ้างแล้ว

[9] ปรียาภรณ์ ไกรยะนุช, การห่มดิน, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.: NSM), http://www.nsm.or.th/other-service/2077-online-science/knowledge-inventory/sci-trick/sci-trick-nsm/4152-thecoveredland.html& ห่มดิน...เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช, รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน, http://www.ajourneyinspiredbytheking.org/th/knowledge/local-knowledge-detail.php?id=18

[10] ณัฐพงษ์ พรดอนก่อ, การคืนชีวิตให้แผ่นดินสู่เกษตรธรรมชาติที่ยั่งยืน, farm@kasetpibul, งานฟาร์ม คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.พิบูลสงคราม, 26 มิถุนายน 2552, https://www.gotoknow.org/posts/271198

[11] ดร. พรรณี วราอัศวปติ, 14 เมษายน 2551, ใน สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์, ใครหนอ แกล้งพ่อ, GotoKnow, 13 เมษายน 2551, https://www.gotoknow.org/posts/176783

[12] กิตติพงศ์ พลเสน, สวนกสิกรรมธรรมชาติคงไพร.....3 บัณฑิต สู่ชีวิตที่พอเพียง, GotoKnow, 15 กันยายน 2552, https://www.gotoknow.org/posts/297895

[13] การห่มดินมีความสำคัญอย่างไร, by Dhammachard in เกษตรกรรมยั่งยืน, 28 พฤษภาคม 2557, http://www.kasedtakon.com/85

จากการบรรยาย ดร.วีระชัย ณ นคร 27 สิงหาคม 2553 ในการเสวนา “เกษตรยั่งยืน ฟื้นฟูภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” ในงาน ทักษิณวิชาการ-เกษตรแฟร์ ครั้งที่ 6 และงานนิทรรศการปิดทองหลังพระฯ

หมายเลขบันทึก: 619454เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2020 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ขอร่วมอนุรักษ์ดินด้วยการ"ห่มดิน"ด้วยนะครับ

บ้าหอบฟาง ตองเหลืองมุงดิน

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากๆ เลยครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท