อาบลม ห่มดิน ทำกินวิถีพอเพียง


ถ้าพี่น้องเกษตรกรรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง ตามคำกล่าวยอดฮิตของผู้เชียวชาญตำราพิชัยสงคราม "ซุนหวู่" ซึ่งหมายถึงการที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ รู้จักศึกษาหาข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลผลแล้วนำมาปรับใช้ได้อย่างรอบด้าน ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ค่อนข้างสูง อย่างเช่น พวกเราชาวไทยส่วนใหญ่ที่มีความเชียวชาญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก็จำเป็นต้องรู้ในเรื่องที่เกี่ยว ดิน ฟ้า อากาศ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดินและระบบนิเวศน์เพื่อที่จะได้ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาอาชีพของเราได้อย่างถึงลูกถึงโคน ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สอนให้คนไทยและรัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ

การที่เราทำความรู้จักสภาพภูมิอากาศและฤดูกาลรวมทั้งโรคและแมลงในแต่ละช่วงฤดูก็สามารถที่จะดูแลแก้ปัญหาพืชที่นำมาปลูกได้อย่างทันท่วงที โอกาสที่พืชเสียหายก็จะมีน้อย เพราะส่วนใหญ่ก็จะแก้ไขได้ตรงประเด็นและสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนดินชื้นแฉะควรทำการระบายถ่ายเทน้ำให้รวดเร็วเหมาะสม โดยการอาบลมไม่ปล่อยให้ดินชื้นแฉะหรือถูกปกคลุมด้วยเศษซากอินทรียวัตถุจนหนาแน่นหมักหมม อมเชื้อโรค และเกิดอาการรากเน่าโคนเน่าจนพืชล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตา ต้องหมั่นสำรวจตรวจตราเสาะหาจุดที่ต่ำที่สุดทำสะดือนา สะดือสวน เพื่อรองรับน้ำส่วนเกิน ก็จะช่วยให้สวนของเรารอดพ้นจากโรคที่มากับฝนปนชื้นแฉะได้

อีกทางหนึ่งถ้าประสบพบเจอกับอากาศที่หนาวเย็น แห้งแล้งก็ต้องรู้จักห่มดินรักษาความนุ่มชุ่มชื้นจากอินทรีย์วัตถุโดยเฉพาะการนำเอาตอซังฟางข้าว หรือเศษซากใบอ้อยที่มีอยู่บานเบอะเยอะแยะในโซนที่ปลูกข้าวและอ้อยจำนวนมาก หรือไม่ก็ใช้ประโยชน์จากเศษซากของพืชที่ได้จากการตัดแต่งกิ่ง นำมาบดสับหั่นย่อยให้มีโมเลกุลที่เล็กลง เพิ่มกระบวนการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ขี้ควาย จุลินทรีย์ขุยไผ่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย ฯลฯ ก็ช่วยทำให้เกิดอินทรียวัตถุและปุ๋ยอินทรีย์นำมาใช้งาน ห่มดินให้นุ่มชุ่มชื้น ลดการคายน้ำจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดพาดผ่านจากประเทศจีนนำความหนาวเย็นและความแห้งมาด้วยและหอบเอาความชุ่มชื้นบนผืนแผ่นดินไทยไปตกหล่นในทะเล ทำให้พืชในระยะนี้มีอาการขาดน้ำแห้งเหี่ยวเฉาได้ง่าย

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreengro.com

หมายเลขบันทึก: 581559เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท