สวนกสิกรรมธรรมชาติคงไพร.....3 บัณฑิต สู่ชีวิตที่พอเพียง


สวนกสิกรรมธรรมชาติคงไพร.....3 บัณฑิต สู่ชีวิตที่พอเพียง

หากผมไม่มีโอกาสไปสัมผัสวิถีเกษตรธรรมชาติ ณ สวนกสิกรรมธรรมชาติคงไพร ผมคงไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับแนวคิดการทำเกษตรผสมผสานและการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้อย่างแท้จริง ยิ่งได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ 3 บัณฑิตหนุ่มที่พึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาเพียง 30 ปีต้นๆ ซึ่งถือว่าเป็นคนในยุคที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและมีการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่รับอิทธิพลจากระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ผมคงไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอีกมุมหนึ่งของการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ ที่อยากนำมาเล่าสู่ท่านฟังครับ

    

อภิชาติ  สางห้วยไพร บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ่วงด้วยประกาศนียบัตรด้านธุรกิจจากสถาบันในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กับประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ 5 ปี และ นรงค์ฤทธิ์  สางห้วยไพร บัณฑิตสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ่วงด้วยปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่กำลังรอสอบเนติบัณฑิตในเร็วๆ นี้ กับประสบการณ์ 3 ปี ในหน่วยงานภาครัฐ สองพี่น้องที่หันหลังให้กับการทำงานในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบบราชการ กลับมาเริ่มต้นปรับที่ดินที่มีอยู่ราว 50 ไร่ ด้วยการวางระบบเกษตรแบบผสมผสานและน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เริ่มด้วยการขุดบ่อน้ำในพื้นที่สวน เพราะเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการทำเกษตร เสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงร่างกาย ปรับคุณภาพดินโดยการ “ห่มดิน” ด้วยฟางข้าวเพื่อทำให้ดินมีชีวิต การรักษาไม้ยืนต้นเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่สวน และเสริมพันธุ์ไม้ใหม่ที่เหมาะสมกับพืชเดิมที่มีอยู่ ด้วยแนวคิดการปลูกพืช 5 ระดับ คือ พืชใต้ดิน พืชเลื้อย พืชพ้นดิน พืชยืนต้นระดับกลาง และไม้ยืนต้นระยะยาว ในพื้นที่เดียวกัน โดยอาศัยความรู้ด้านการเกษตรจากเพื่อนไร่ติดกัน เริงฤทธิ์  คงเมือง บัณฑิตสาขาส่งเสริมการเกษตร จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทำงานเป็นช่างภาพและนักเขียนอิสระให้กับกับนิตยสาร National Geographic ไปพร้อมๆ กับการกลับมาเป็นแนวร่วมในการพัฒนาเกษตรแบบผสมผสานให้เกิดความยั่งยืน

    

ประมาณ 5 ปี กับการค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ต่อยอดจากของเดิมที่รุ่นพ่อได้ทำไว้ตั้งแต่หลังเกษียณราชการจากการเป็นครู ของบัณฑิตทั้ง 3 คน ทุกวันนี้ไร่ของทั้ง 2 ครอบครัว ที่มีพื้นที่รวมกันราว 60 ไร่ มีพืชทั้งที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน เช่น พืชผักสวนครัว พืชที่เก็บได้ทุกเดือน เช่น กล้วย ผลไม้ต่างๆ รวมถึงปลา เป็ด ไก่ ที่เลี้ยงไว้ส่วนหนึ่ง ไปจนถึงไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในในระยะยาว เช่น ยางพารา สักทอง เป็นต้น

นอกจากนั้นในสวนยังปลูกสมุนไพรไว้หลายชนิด ทั้งเพื่อการใช้เอง แบ่งปัน และเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้สนใจ โดยผลผลิตทั้งหมดของสวนนี้จะเป็น “ผลผลิตสีเขียว” ทั้งหมด ปราศจากการใช้สารเคมีทุกชนิด เพราะในสวนมีการทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง บางครั้งมีการไล่แมลงศัตรูพืชบางชนิดจากควันไฟที่เกิดการการเผ่ากิ่งไม้และพืชผลบางส่วนเพื่อสร้างเป็นถ่านคาร์บอนบริสุทธิ์ และกลั่นน้ำส้มไม้เพื่อใช้ประโยชน์ ส่วนการกระจายผลผลิตนั้น เจ้าของสวนกล่าวว่า ผลผลิตทั้งหมดจะเริ่มด้วยการนำมาใช้เองในครอบครัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ที่เหลือจะแบ่งปันไปยังเพื่อนบ้านและชุมชน จนผลผลิตเหลือใช้จึงจะนำเข้าสู่ “ตลาดที่มีสติ” คือ ตลาดที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เน้นการแบ่งปันแลกเปลี่ยน มากกว่าการซื้อขายด้วยการตีราคาเป็นค่าเงิน

ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างสมบูรณ์แบบ คือ ผู้ทำมีทั้งความรู้สมัยใหม่ ผสมผสานกับภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นพ่อ ตั้งอยู่บนความพอดี พอประมาณ และสร้างสมดุลของการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน ผลลัพธ์สุดท้ายจึงไม่เพียงแต่การอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเองเท่านั้น หากแต่เป็นการใช้ชีวิตที่ “อยู่เย็นเป็นสุข” มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง จิตใจที่สดชื่น จิตวิญญาณที่เสียสละแบ่งปัน และเกิดปัญญาที่จะช่วยหาทางออกให้กับชีวิต ชุมชน และสังคม ได้อย่างน่าชื่นชม

     

ความฝันเล็กๆ ของ 3 บัณฑิตแห่งสวนกสิกรรมธรรมชาติคงไพร ต.บ้านเพชร อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ในอนาคต คือ สร้างสวนเล็กๆ แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่นับวันจะห่างไกลคุณค่าและภูมิปัญญาด้านการเกษตรที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ แม้ว่าคงยากที่จะสวนกระแสสังคมให้คนเหล่านั้นหันกลบมาใช้ชีวิตแบบนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการจุดประกายและเตือนสติให้เห็นคุณค่า และนำแนวคิดบางส่วนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในยุคที่สังคมมีความซับซ้อน ก็เป็นที่น่ายินดีแล้ว ซึ่งผมเชื่อความฝันนี้กำลังจะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ อย่างน้อยที่สุด ในวันที่ 23 – 25 ตุลาคม นี้ น้องๆ ชมรมนักอนามัยชุมชน สถานฝึกอบรมและวิจัยอนามัยชนบท คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพาเพื่อนๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เข้ามาเรียนรู้แนวคิดดังกล่าว เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ทั้งในส่วนของการทำเกษตรผสมผสาน บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนไปพร้อมๆ กัน เชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะสานฝันของคนดีที่น่ายกย่องให้เป็นจริงครับ

ด้วยความเคารพรัก

หมายเลขบันทึก: 297895เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

น่าชื่นชมกับน้องทั้งสามคน ที่ตั้งใจดีมากๆๆ มาบอกอาจารย์ว่า ภาพใหญ่มากๆๆ เลยมาช้า

ลองใช้โปรแกรมนี้นะครับ

ย่อรูปภาพ

http://gotoknow.org/blog/katti/255954

ตกแต่งบล็อก

http://gotoknow.org/blog/katti/199894

ย่อรูปแต่งรูปพี่ดาวคนสวยใจดี

โห ยังไม่ link เลย ภาพมาช้า

อาจารย์ย่อภาพให้เหลือ ประมาณ 500x400 ก่อนนำขึ้นนะครับ ภาพอาจารย์ใหญ่มากๆๆๆๆๆ

วันก่อนดูภาพมหิดล กาญจนบุรี หนาวเลย เต็มจอครับ....

  • ขอบคุณอาจารย์ขจิต ครับที่แนะนำ
  • จริงๆ ตอน upload ขึ้นไป ก็ย่อขนาดลงแล้ว ไม่แน่ใจว่าผมอาจจะเข้าใจผิดอะไรบางอย่าง
  • จะลองเข้าไปปรับครับ

ด้วยความเคารพรัก

  • สงสัยผิดพลาดทางเทคนิคครับ
  • Dsc04807
  • ภาพนี้ถ้า load ตั้ง 3264x2448 pix เท่ากับ 1.87 MB
  • โอโหใหญ่มากเลยครับ
  • ลองย่อตามโปรแกรมนะครับ
  • ขอบคุณครับ

" สวนกสิกรรมธรรมชาติชื่อ คงไพร เหตุไฉนจึงปลูกขึ้นฝืนกระแส ท่ามกลางยุคกลางสมัยเปลี่ยนผันแปร ท่ามกลางแง่มุมมองของผู้คน

เห็นแล้วอึ้งคิดแล้วทึ่งถึงผู้เริ่ม ช่วยกันเติมเลี้ยงเพาะพืชผักผล เกิดอาหารเป็นพลังงานหมุนเวียนวน เปลี่ยนจากจนเป็นพอเพียงเลี้ยงกายใจ ขอชื่นชมความกล้าความสามารถ ความองอาจสามบัณฑิตน่าเลื่อมใส สานแนวคิดความพออยู่คู่พงไพร สู้ต่อไปยืนหยัดอยู่คู่ปณิธาน "

-เด็กน้อยเดินตามฝัน-

แต่งในฐานะที่ได้ไปเห็นมาแล้วนะครับ น่าชื่นชม

  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตมากครับ จะปรับแก้ตามคำแนะนำต่อไป
  • ขอบคุณสำหรับบทกลอนดีดี ครับมงคลฤทธิ์ ผู้เป็นความหวังและกำลังสำคัญของเยาวชนคนรุ่นใหม่

3บัณฑิต 3เรื่องราว 1แนวคิด เปี่ยมด้วยจิต คิดพอเพียง ทำตามฝัน

ร่วมสรรสร้าง ศูนย์เศรษฐกิจ เรียนรู้กัน พร้อมแบ่งปัน ความพอเพียง แก่ชุมชน

หนึ่งบัณฑิตด้วยปริญญาการเกษตร แอบซ่อนเก็บความพิเศษเก่งเหลือหลาย

สะพายกล้องบันทึกป่าตั้งมากมาย ทั้งใจกายรักษ์ธรรมชาติป่าพงไพร

นามพี่ชาติ คือบัณฑิต คนที่สอง ไม่เป็นรองพี่เบี้ยวเก่งหนักหนา

จบวิศวกรรมเครื่องกลเปี่ยมปัญญา ใช้ชีวาอยู่ต่างแดนมาหลายปี

นักอนามัยชุมชนชาวสาสุข ห่างไกลทุกข์ด้วยปณิธานที่แน่วแน่

สู้พากเพียรพัฒนาไม่ผันแปร สร้างกระแสให้ชุมชนรักพอเพียง

ขอชื่นชมพี่ทั้งสามด้วยแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง

พร้อมน้อมนำความจริงไม่หลอกลวง เพื่อตักตวงความมั่งมีอย่างพอเพียง

โต้ง comhealth 29

3 ก๊กรวมเป็นหนึ่ง

ได้สวนมา 1 สวน

เดียวต่อไปคงกลายเป็นผืนแผ่นดินใหญ่

ดูจากรูปก็สดชื่นแล้ว

อยากไปสัมผัสบรรยากาศที่ทุกต่างชืนชมชื่นใจกันนักหนาแล้วสิครับ

ผมว่าสิ่งที่จะได้จากค่ายนี้ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียวครับ

ไม่ใช่ประสบการณ์อย่างเดียวด้วย

หากแต่สิ่งที่ได้คือคุนค่าแห่งการเรียนรู้ที่อาจจะหาที่ไหนได้ยาก

ไปดูงานมาแล้วค่ะ

น่าชื่นชม พี่ทั้งสามคนจริงๆค่ะ

ที่เป็นบัณฑิตไม่ใช่แค่ได้ใบปริญญา

แต่ได้ถึงปริญญาชีวิต ที่รักบ้านเกิด

ขอนับถือพี่ทั้งสามคนมาก

ไปดูงานมาได้แนวคิดให้กับตัวเองอีมากเลยค่ะ

ขอขอบคุณสวนกสิกรรม คงไพร เป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ

ที่ได้ประสบการณืในครั้งนี้

อภิชาติ สางห้วยไพร

ขอบคูณทุกๆคนที่มีส่วนรวมในการจักงาน และน้องๆทุกคน ทางเราก็ขอให้น้องที่มาเยี่ยมชม ช้วยกันสวนฝันต่อไปในอนาคต และก็ขอบคูณ อ.ตี๋ ไว้ด้วยนะที่นี้ที่มีกิจกรรมดีๆ ช้วยสังคมต่อไป

http://www.porpeangnetwork.com/

สื่อกลางประชาสัมพันธ์ข่าวสารชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง เผยแพร่ข่าวสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนหรือแนะนำให้รู้จักชุมชนของท่าน เพียงแค่ ลงทะเบียน เป็นสามาชิกกับ porpeangnetwork ก็จะสามารถสร้างเครือข่ายพอเพียงกับเราได้ทันที พลังงานชุมชน พลังคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท