ใครหนอ แกล้งพ่อ


ลมร้อนแล้งนั้นดุนัก ..คงเป็นแรงอธิฐานที่ลูกหลานส่งมารดน้ำสงกรานต์ แต่ค่อนข้างจะอึกกะทึกครึกโครมถล่มทลายไปหน่อย มองปลายไม้เบื้องสูง ยอดไม้ใหญ่โอนเอนตามแรงลมสะบัด ลมกระโชกแรงอย่างนี้แหละที่หอบหลังคาชาวบ้านไปทิ้งนับ100เมตร เสียงลมฝนขย่มมาเป็นละลอก บ้านใครจะเปิดหลังคาอ้ารับน้ำสงกรานต์จากสวรรค์ก็ไม่รู้เน๊อะ ต้นไม้หักโค่นเสียหายมากไหมหนอ?

ฝนโปรยปรายได้น้ำได้ท่าจุใจ คงจะฉ่ำชื้นไปอีกนาน

คืนนี้คงได้นอนปกติสุข

ดีใจด้วยนะต้นไม้ ที่ได้น้ำท่าบริบูรณ์

ดีใจด้วยนะอึ่งอ่าง ที่จะได้เล่นน้ำจ้ำจี้มะเขือเปราะ

คืนนี้ดนตรีป่าคงแซ่ซร้องระงม รับวสันตฤดูอย่างชื่นมื่น

เสียงฟ้าผ่าเปรี้ยง! สะเทือนพสุธาและหัวใจน้อยๆ ของผู้ที่รอถ่ายรูป คราวนี้ไม่ได้ผ่าสาธิตนะครับ แต่ผ่าเป็นชุด360องศา เปรี้ยงที่โน่นที่นี่เล่นเอาหัวใจสะท้าน

ทบทวน ทบทวน ด่วน!

เคยแอบสาบานไว้กับใครรึเปล่า

ก็ไม่มีนี่น๊า..

เท่าที่อยู่มาโทนโท่จวนจะเข้าโลงก็รักปกติ

รักคนแซ่เฮ รักต้นไม้สายลมและแสงแดด

แต่เพื่อความไม่ประมาท

ถอดปลั๊กไฟ ยกคัตส์เอ๊าท์ใหญ่ลง

นอนเงียบๆมืดๆฟังเสียงฟ้าขู่คำราม

ใครหนอแกล้งพ่อ

ส่งรามสูรย์มาล่อแก้ว เปรี้ยง!  เปรี้ยง!

หมายเลขบันทึก: 176783เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2008 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เสียวมาแต่เช้าแล้วว่าจะมีพายุ  โชคดีที่ได้น้ำ  โชคร้ายต้นไม้สลายไปกี่ต้นไม่รู้ครับ

กราบสวัสดีครับ

ยินดีด้วยนะครับ

http://weather.is.kochi-u.ac.jp/SE/00Latest.jpg

สงกรานต์ห่าใหญ่...จะทำอย่างไรให้น้ำอยู่...

 

ฟ้าผ่าดังเปรี้ยงๆ นั่นหล่ะดีครับ ไ่ม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีครับ เพราะเป็นการเติมประจุและธาตุอาหารให้กับดินอีกอย่างหนึ่งครับ

ผ่าลงไปเยอะๆ ครับ ตรงไหนที่คนใช้สารเคมีเยอะๆ นะครับ ดินจะได้มีปุ๋ยครับ อิอิๆ

รักษาสุขภาพครับ

  • สวัสดีค่ะ พ่อครูฯ
  • เมฆขลา ป่าวหลอกล่อรามสูรย์นะคะ
  • ที่นี่ก็กำลัง เปรี๊ยงๆๆๆ ค่ะ
  • เย็นๆๆๆๆ ในวันสงกรานต์ค่ะ

 

มาส่งกำลังใจ ขอพรพระคุ้มครองพ่อครูบาค่ะ โอ๋เป็นคนกลัวเสียงฟ้าอย่างแรงค่ะ อ่านบันทึกนี้ไปก็ระทึกไปด้วย ขอให้ธรรมชาติกลับคืนสู่สมดุลด้วยเถิ้ด....(ทำอะไรได้น้อยนิดก็จะไม่ลืมค่ะ)

อย่ากลัวไป ครับ ครูฯ  ไม่ได้ทำบาปไม่ต้องกลัว อิอิ..

ที่ผมก็พายุเป็นระลอก ลูกเห็บประปราย เสียวครับ

สวัสดีวันครอบครัวครับ

ผมตามดูรูปมาหลายรูปตามประสาคนไม่เคยไปสวนป่า และอยากเรียนถามขอความรู้ตามประสาคนไม่รู้เรื่องหน่อยครับ คือว่า

  • ดินส่วนใหญ่แถวนั้น ที่ระยะ 9 เมตรเป็นชั้นหิน (ย่อหน้า 6-7 ในบันทึก จดหมายรักจากKM.ชุมชนบุรีรัมย์) ถ้าเป็นอย่างนี้ ขุดบ่อลึกถึงชั้นหินนี้ จะช่วยประหยัดค่าพลาสติกปูบ่อหรือไม่ครับ
  • ผิวดินในหลายรูปไม่มีพืชคลุมดิน อันนั้นเป็นเพราะมุมกล้องไปถ่ายทางเดินเข้า หรือว่าเป็นเพราะดินเป็นดินดาน รากพืชเจาะไม่ไหวครับ
  • หญ้าแฝกจะไหวไหมครับ (แก้ปัญหาดินเลว...)

สวัสดีวันครอบครัวครับ

ผมตามดูรูปมาหลายรูปตามประสาคนไม่เคยไปสวนป่า และอยากเรียนถามขอความรู้ตามประสาคนไม่รู้เรื่องหน่อยครับ คือว่า

  • ดินส่วนใหญ่แถวนั้น ที่ระยะ 9 เมตรเป็นชั้นหิน ถ้าเป็นอย่างนี้ ขุดบ่อลึกถึงชั้นหินนี้ จะช่วยประหยัดค่าพลาสติกปูบ่อหรือไม่ครับ
  • ผิวดินในหลายรูปไม่มีพืชคลุมดิน อันนั้นเป็นเพราะมุมกล้องไปถ่ายทางเดินเข้า หรือว่าเป็นเพราะดินเป็นดินดาน รากพืชเจาะไม่ไหวครับ
  • หญ้าแฝกจะไหวไหมครับ (แก้ปัญหาดินเลว...)

ตอบ

1.   เรื่องของสภาพดิน ภาษาวิชาดิน เรียกว่าชุดดิน เช่น ชุดดินโคราช ชุดดินลพบุรี ฯลฯ คำว่าชุด มีความหมายถึงคุณสมบัติดินที่เป็นลักษณะเฉพาะ  : ซึ่งแยกย่อยกันอีก ที่สวนป่าเป็นดินชุดโคราช เนื้อดินเป็นทรายสีแดง การตัดต้นไม้ ใช้รถแทรกเตอร์ไถบดย้ำ ทำให้เกิดหน้าดินดาน ฝนซึมลงได้น้อย น้ำฝนจึงไหลทิ้ง รวมกันกัดเซาะเป็นร่องน้ำ

: คุณสมบัติหน้าดินแตกต่างและลึกไม่เท่ากัน ที่สวนป่าโหดหน่อย ที่ระยะ9เมตรเจอหินดานหนา0.5-1เมตร จะมีน้ำซึมออกมาไม่มากนัก

ถาม ถ้าขุดถึงชั้นหินจะช่วยประหยัดค่าพลาสติกปูบ่อไหม?

ตอบ

         ถ้าขุดอย่างนั้น ค่าขุดแพง ค่าปูแพง นำน้ำมาใช้แพง โชคดีที่มาเจอวิธีขุดน้ำบาดาน แถมสวรรค์ก็เป็นใจ ได้น้ำใต้ดินที่สะอาด ไม่มีสนิม ฟอกสบู่ฟองเต็มตัวเหมือนอาบน้ำฝน

: ถ้าจะลงทุนเรื่องน้ำ

1 ทำบ่อซีเมนต์  ใช้ถังพลาสติก เก็บน้ำฝน

2 ทำแท็งก์สูงเก็บน้ำบาดาน เหมือนถังประปาหมู่บ้าน ทราบว่าราคาประมาณ 3-4แสนบาท ถ้าเราสร้างเองด้วยคอนกรีต แข็งแรง-ถาวรกว่า-ถูกกว่า ค่าก่อสร้างประมาณ3แสนบาท เราสูบน้ำบาดานขึ้นถึงสูง แล้วปล่อย ไปตามท่อ จะเป็นระบบน้ำหยด สปริงเกอร์ก็ได้ เสียพลังงานไฟฟ้าสูบครั้งเดียว แรงดันน้ำจากถังสูงก็จะกระจายน้ำด้วยระบบดังกล่าว ณ วันนี้ วิธีนี้น่าจะเหมาะกว่า เรื่องปูบ่อพลาสติกแพง ไม่ถาวร ไม่เหมาะกับคนเบี้ยน้อย

  แต่ถ้าเป็นธุรกิจ หรือหน่วยราชการ อาจจะดูดี เพราะมีงบประมาณมากมาให้ลองเล่น

3 ปลูกไม้ยืนต้นมาก เราจะเก็บน้ำไว้กับต้นไม้ ร้อนๆเดินเข้าป่า อากาศจะเย็น เพราะมีการคายน้ำยามแล้ง และเติมน้ำยามฝน โดยกลไกของต้นไม้ ปลูกให้มีหลายหลายชนิด หลายระดับ เอาเรื่องไม้เบิกนำ จะคลี่คลายเรื่องใหญ่ๆได้หลายเรื่อง

4 เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ การสัญจร ตลาด เทคโนโลยีที่เหมาะสม ถ้าไปฝืนเงื่อนไขทางธรรมชาติ เราจะเหนื่อยและลงทุนแพงโดยใช่เหตุ จึงควรเลือกปลูกชนิดพืชที่ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย แข็งแรง เป็นตัวเบิกนำ

ถาม     ผิวดินในหลายรูปไม่มีพืชคลุมดิน อันนั้นเป็นเพราะมุมกล้องไปถ่าย 

      ทางเดินเข้า หรือว่าเป็นเพราะดินเป็นดินดาน รากพืชเจาะไม่ไหวครับ

: ตอบ

1 สมัยที่ป่าไม้ทำหน้าที่ดูแลธรรมชาติป่าผืนนี้ดินอุดมสมบูรณ์

2 มาถึงสมัยคนจัดการ ทำลายป่า เอาดินมาปลูกมันสำปะหลัง อ้อย ปอ ถั่วลิสง ข้าวโพด ฯลฯ ดินจึงเสื่อมลง หน้าดินถูกน้ำ แดด ลม ฝน

   ระบบการเตรียมดิน ก่อให้เกิดการสูญเสียหน้าดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก

3 ผลพวงข้อ2ทำให้เกิดดินเสื่อม ดินดาน ปลูกอะไรก็เหี่ยวเฉา ไม่งาม ต้องใช้ปุ๋ยเคมีมาแก้ไข ใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานสัตว์ ผืนดินมีข้อจำกัดใน

   การเลือกทำกิจกรรมได้ไม่กี่ชนิด ปัจจุบันในบางพื้นที่ ปลูกพืชล้มลุกไม่ได้ จึงปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง เพราะวงจรความชื้นในธรรมชาติไม่มากพอ ใกล้จะตาย ไม้ยูคาฯ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา โผล่มาพอดี ตอนนี้เดินมาถึงจุดที่ว่านี้

4 ดินดานยังไง รากพืชก็เจาะไหวครับ พืชมีน้ำย่อยที่ปลายราก หินยังเจาะทะลุได้ บนภูเขาจึงมีป่าไม้ขึ้นปกคลุม ในต่างประเทศจะใช้แทรกเตอร์ลากไถสิ่วเปิดหน้าดินดานเป็นแถวๆ บางประเทศใช้การฝังระเบิดเป็นจุดๆ

   แต่พวกเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างเรา ปลูกต้นไม้ดีที่สุด ประหยัด ยั่งยืน ได้ต้นไม้ ได้สภาพแวดล้อมกลับคืนมา การแก้ไขด้วยวิธีนี้ดีกว่าวิธีอื่น ในหลวงท่านปลูกต้นไม้ในวังให้ดู พวกทำงานพัฒนาที่ดินมองไม่เห็น

 

นี่ก็ได้ข่าวแหกตา จะมาปลูกต้นตะกูยักษ์หลอกขายพันธุ์อีก เมื่อก่อนมันคงนึกไม่ได้มั๊งว่าจะหลอกอะไร? ระดับหน่วยราชการยังคิดทำแค่นี้

กรรมเวรแท้ๆ

ถาม   หญ้าแฝกจะไหวไหมครับ (แก้ปัญหาดินเลว...)

ตอบ   หญ้าแฝกเหมาะสำหรับบางพื้นที่ ถ้าเราสังเกตในแต่ละท้องถิ่นมีพืชคลุมดินที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้ามาหญ้าแฝกมาปลูกที่นี่คงไปยาก แต่ถ้าเป็นหญ้าคา หรือวัชพืชอื่นจะเหมาะกว่า

หมายเหตุ เป็นข้อมูลเฉพาะถิ่น

สวัสดีครับ

    ดีจังครับ ที่จุดประกายเรื่องน้ำกันต่อครับ

ทางแก้เรื่องน้ำแบบทั่วไป

  • ศึกษาโครงสร้างดิน
    • ดินแข็งไป น้ำไหลออกข้างได้ง่ายกว่าไหลลงดิน
    • ดินร่วนไป น้ำไหลลงดินง่ายกว่าไหลออกข้างจนกว่าที่น้ำอิ่มดินจึงจะท่วมขังหรือไหลออกข้าง ขึ้นกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา
    • โครงสร้างดินทำให้เรารู้ว่าดินเหล่านี้เหมาะกับการจัดการน้ำอย่างไร
  • ศึกษาน้ำฟ้า น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน (น้ำเข้า น้ำออก)
  • ปลูกป่าเรียกฝน (ดิน น้ำ ต้นไม้ อากาศ เมฆ ฝน)
  • ปลูกคนสร้างป่า
  • ปลูกป่าในใจคนจนได้ต้นกล้า
  • ขยายพันธุ์ต้นกล้าในใจคนลงดินพื้นที่จริง
  • ปลูกคนจนรู้นิเวศ
  • นิเวศสร้างคน คนรักนิเวศ

หากทำได้ น้ำจะ่ท่วมอิสานทั้งปี

ดินนั้นจะดีได้ สิ่งมีชีวิตในพื้นที่ต้องดีก่อน (หลักๆ คือคนต้องดีด้วย)

ดินดีได้เิกิดจากอะไร...คนดีได้เกิดจากอะไร...

ดินดีเรามองที่ส่วนผสม????  คนดีต้องมีส่วนผสมอะไร????

กราบขอบพระคุณมากครับ

  • ที่เม้งพูดมาก็ถูก แต่มันอยู่ในภาคทฤษฎี (ดีครึ่งเดียว)
  • ต้องมาดูด้านสังคม ด้านนโยบาย ด้านการนำไปสู่การปฏิบัติ
  • ตรงนี้แหละเป็นจุดตายของประเทศ เพราะมีแต่คนคิด ไม่มีคนทำ
  • ถึงบอกว่าให้รีบกลับมาไง รึจะอยู่แพร่พันธุ์ที่เยอรมัน ฮ่วย!!

อิๆ กราบขอบพระคุณครับ

    คิดแล้วท้อง บ่นแล้วแท้ง ทำแล้วคลอดครับ

ขอบพระคุณมากครับ

 

สวัสดีค่ะครูบา

  • ที่ฟ้าผ่านั้น ... อาจเป็นได้ว่า...มีนางเมขลา...มานั่งล่อแก้วอยู่หรือเปล่าคะ อิ อิ อิ
  • คาราวะท่านคณุบาฯ
  • ข้าน้อย Lin Hui ผู้ด้อยด้วยปัญญา
  • ได้ยินได้ฟังมาว่าพระธรณีสิ้นชีพ
  • แต่ไม่เกินปัญญาธรรมชาติ ในหลวงทรงให้ความรู้เรื่องห่มการห่มดิน จะทำให้มีความชื้นค่อยๆเกิดขึ้นที่หน้าดิน
  • ไม่ซ้ำเติมดินคืนจุลินทรีย์ให้ดินช่วยปลุกพระแม่ธรณีคืนชีพ
  • ต้องมีความเข้าใจในพื้นที่แต่ละแห่งแล้วลงมือทำอย่างมีความหวังใบไม้แห้งกิ่งไม้แห้งที่ล่วงหล่นยามแล้งอย่ากวาดออกไปปล่อยให้ล่วงหล่นมาห่มดินให้ค่อยๆเรียกความชื้นเพิ่มขึ้นมา
  • ยามที่ฝนฟ้าคะนองเทน้ำมาให้ก็จำบังหน้าดินไม่ให้ถูกกระแทกอย่างุนแรง แถมยังกักเก็บน้ำไว้ให้หน้าดินได้นาน
  • เมือมีความชื้นความอบอุ่นเหล่าสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยก็จมาอาศัยอยู่งสร้างกิจกรรมตามธรรมชาติแวจะนำมาการฟื้นแผ่นดินค่ะ

P

คาระ อาจารย์ด้วยเครื่องหมาย X นะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท