วันที่ ๙ เดือน ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ มหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี : ที่มา


ทบทวนทิศทางการเคลื่อนแนวคิดจาก Bio-psycho-social approach เข้าสู่ Socio-environment approach มากขึ้น

วันศุกร์ที่ ๙ เดือน ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ คงเดินรอบหอประชุมที่ว่าการอำเภอสระใครได้อย่างต่ำ ๑๐ กิโลเมตรละค่ะ

ก่อนหน้านี้เดือนกว่า ๆ ที่เตรียมงานและเลือกวันจัดงานก็ไม่ได้สังเกตเรื่องเลข ๙

พอคุณหมอล่าทัก อืม ! ค่อยเห็นตาม เลข ๙ เยอะ ดีจัง ... วันจัดงานมหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี

^_,^

มีประสบการณ์ปลายปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๗ ที่ออกแบบกิจกรรมปีแรกในเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี อำเภอสระใคร จากนั้นต่อเนื่องมาก็เป็นแกนนำจากชุมชนที่เข้าร่วม มาตั้งวงคุยกันปรับกิจกรรมที่ชุมชนทำเอง

ออกไปตั้งวง “โสเหล่” ที่ในหมู่บ้านหลังเลิกงาน เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ปกครองเพื่อแปรงฟันให้ลูกหลาน ตั้งแต่ฟันขึ้นซี่แรก จนกว่าเด็ก “ข้อมือจะแข็ง” แปรงเองสะอาดอย่างน้อย ๆ ก็อายุ ๗ – ๘ ปี

วงสนทนาหรือโสเหล่เป็นที่ ๆ ผู้ปกครอง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ได้มาพบปะกัน

ค่อย ๆพูดคุยเรียนรู้จากสิ่งที่ปู่ย่าตายายมีเป็นจุดแข็ง คือ ความรักลูกหลาน อยากให้โตมาฉลาด ว่าง่าย เรียนหนังสือเก่ง สุขภาพแข็งแรง ฯลฯ

ให้กำลังใจ เสริมพลังให้มั่นใจและใจแข็ง ฝ่าฟันเสียงร้องไห้ของเด็ก และเพิ่มเทคนิค ทักษะการ “หนีบเด็ก” ด้วยสองขา หรือมีคนช่วยกดเข่า รวบมือเด็กเล็ก ๆ เวลาแปรงฟันให้ลูกหลาน

แต่ละปีนัดหมายหมู่บ้าน เอาผลงานมาโชว์กันด้วยการแข่งขัน ๑) แปรงฟันให้ลูกหลาน บวกกับ ๒) คะแนนแข่งแปรงฟันของผู้ปกครอง อสม.หรือผู้นำชุมชน และ ๓) รวมคะแนนกับตัวแทนแกนนำมาเล่าเรื่องชุมชนฟันดี มีอะไร ทำอะไรบ้างในชุมชน

เจตนารวมคะแนนเป็นหมู่บ้าน หมายถึง การผลักดันให้ระดับหมู่บ้านริเริ่มเห็นความสำคัญปากและฟันเด็ก สร้างทีมหรือตั้งกลุ่มดูแลฟันปากเด็ก ๆ ให้สะอาด จำนวนเชื้อโรคน้อยกว่าในน้ำลาย ทำความสะอาดฟันแท้ได้ดีต่อเนื่อง จะป้องกันฟันผุได้มากขึ้นในวัยที่มีฟันผสมทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้

แต่ละปีแกนนำมาเจอกันเรียกว่า “ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี” ยาวมาก อิ อิ

และจัดประชุมประเมินผลแบบมีส่วนร่วมไป ๒ ครั้ง ปี ๒๕๕๓ และ ๒๕๕๖


^_,^


ผลงานเด็กอายุ ๓ ปี ฟันครบ ๒๐ ซี่แล้ว อัตราฟันผุปีแรก ๆ จากร้อยละ ๖๘ ถึงปี ๒๕๕๙ เหลือร้อยละ ๓๑

๙ หมู่บ้านในปีแรก ขยายได้เป็น ๒๕ หมู่บ้านในปีที่ ๗ ที่มีแกนนำชุมชน ผู้ปกครองและเด็ก ๆ มาร่วมกิจกรรมตลาดนัดฯ

พักไป ๑ ปี ทบทวนทิศทางการเคลื่อนแนวคิดจาก Bio-psycho-social approach เข้าสู่ Socio-environment approach มากขึ้น

จากพัฒนากลุ่ม อสม. ผู้ปกครอง ยังไม่ถึง ๑๐ หมู่บ้านที่มีแกนหลัก ๆ ถึงผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน คณะ อสม. ที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดูแลปากและฟันได้ทั้งชุมชน

มีต้นแบบผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็ก ตัวผู้ปกครอง อสม.และผู้นำชุมชน ที่มีทักษะแปรงฟันสะอาดกระจายอย่างน้อย ๒๕ หมู่บ้าน อีก ๑๖ หมู่บ้าน ยังไม่สมัครมาร่วมกิจกรรม

โจทย์ท้าทายในปี ๒๕๕๙ นี้ คิดเรื่องขยายเครือข่ายชุมชนฟันดีในแนวราบ หน้าที่หลักตรงกับวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา

^_,^

จากผลการดูแลของโค้ชด้านลดน้ำหนัก (พี่นิต) เราจึงลด ๑๐ กิโลกรัม ยังคงน้ำหนักไว้ได้ ๑ ปีผ่านแล้ว

พี่นิต พี่พยาบาลผู้จัดการด้านโรคเรื้อรังของทั้งอำเภอสระใคร พูดจาให้กำลังใจบ่อย ให้หลักการมาปรับวิธีปฏิบัติเอง เข้าอกเข้าใจกันดี นำไปออกแบบใช้กับบุคลากรกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังของโรงพยาบาล ลดน้ำหนักกันต่อเนื่อง ชั่งทุกเดือน ถอดบทเรียนออกมา (ติดตามรายละเอียดได้ที่ มาตรการทางสังคมเล็ก ๆ : ไม่อยากเป็นที่หนึ่ง)


ครานี้ หน้าที่หลักอีกอย่างที่รับมอบใหม่ เป็นหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ที่ ๒ ของคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอ (คปสอ.) ขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

กลุ่มที่ป่วยแล้วมีทีมแพทย์ พยาบาล ดูแลรักษา เสริมพลังให้พฤติกรรมดีเอื้อควบคุมโรคและใช้ชีวิตอย่างสุขภาวะดีที่สุดในสิ่งที่มี อย่าได้มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และคณะตามมา หรือมาแบบเบา ๆ ที่สุด

ออกแบบกิจกรรมของ ๒ ประเด็นที่ขับเคลื่อน ช่องปากและสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยมาตรการปัจจัยเสี่ยงร่วม (Common risk factor) ๓ อ ๒ ส ๑ ฟ

อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ (ดี) ไม่เสพสุรายาเสพติด ไม่สูบบุหรี่ และ ฟ. ฟัน

ฟันสวยด้วยสูตร ๒ + ๒ – ๒ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง ๆ ละไม่น้อยกว่า ๒ นาที กินขนมน้ำหวานไม่เกิน ๒ ครั้งต่อวัน


^_,^

ทำหน้าที่หัวหน้าทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากของอำเภอมาตลอด

เริ่มงานกับทีมใหม่ ค่อย ๆ เรียนรู้กัน ที่ปรับมาก คือ Evidence-based ในการตัดสินใจว่าจะเลือกทำวิธีไหน เพราะอะไร

ประเด็นช่องปาก นอกจากเด็ก ต้องการขับเคลื่อนกลุ่มวัยทำงานด้วย วัยอย่าง อสม. แม่บ้าน วัยกลางคน เตรียมเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี กินอะไรก็อร่อย

ประเด็นสร้างเสริมสุขภาพ ที่จะทำงานแบบขับเคลื่อนชุมชน (Community action) นั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทำทีละหมู่บ้านก็ทำกันมาตลอด

ด้านลูกหลานฟันดีเคยทำตลาดนัดฯ มาก่อน เป็นการสร้างกระแสการรับรู้ในวงกว้างทั้งอำเภอ ค่อย ๆ สร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมอันใหม่ให้คุ้นชิน ขับเคลื่อนบรรทัดฐานทางสังคมไปในทิศทางเอื้อสุขภาพ

  • ขับเคลื่อนผู้ปกครองแปรงฟันให้ลูกหลานตั้งแต่ฟันขึ้นซี่แรก
  • มีต้นแบบผู้ใหญ่แปรงฟันสะอาดในชุมชน
  • แปรงฟันให้ลูกหลานต่อเนื่อง หรือแปรงซ้ำให้จนกว่า “ข้อมือจะแข็ง” ลูกหลานแปรงเองสะอาด ราว ๗ – ๘ ปี

^_,^





เหตุดังนั้น ฐานการทำงานก็จะเป็นระดับชุมชนย่อยสุด คือ หมู่บ้าน ไม่ต้องไปสร้างกลุ่มใหม่

พิสูจน์ทฤษฎีเล็ก ๆ จะบูรณาการวิธีทำงาน ๒ ประเด็น ผลลัพธ์ควรจะงอกเงยสานพลัง (Synergy) มากกว่าทีมช่องปากหรือทีม NCD (Non Communicable Disease) ต่างทีมต่างทำ

น้อยที่สุด หากผลเท่าเดิม งบประมาณควรลดลง

แต่ด้วยการมองโลกแง่บวก ชอบค้นหาสิ่งดีงาม รอบตัว สร้างวิสัยทัศน์ร่วม ร่วมมองหาจุดแข็งของชุมชน หาแนวทางสร้างสรรค์ทำงานอยู่แล้ว (Positive approach) เชื่อไว้ก่อนว่า ผลต้องเพิ่มทั้งปริมาณ คุณภาพ และความสุขของคนทำงาน หิ้วววววว

^_,^

ผู้อำนวยการก็ไม่ได้เอ่ยปาก ช่วงคุยว่าใครจะรับยุทธศาสตร์ไหน บอกเองว่ารับทำให้ก็ได้ จึงมอบมา

ไหน ๆ จะค่อย ๆ ใช้ Socio-environment approach มากขึ้นในการขับเคลื่อนประเด็นช่องปากอยู่แล้ว เพิ่มประเด็นสร้างเสริมสุขภาพมาก็ไม่น่าเพิ่มภาระอีกสักเท่าไหร่

ประเด็นสร้างเสริมสุขภาพนำร่องปีแรก เน้นที่หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ๑๒ หมู่บ้าน (นำร่อง) ซึ่งมีบ้านสมัครใจทำด้านช่องปากด้วย ๔ หมู่บ้าน และมีอีก ๗ หมู่บ้านอื่น สมัครทำเรื่องช่องปากเช่นกัน โดยน้องทันตาภิบาลขับเคลื่อนเอง

๑๒ หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มด้วยประชุมวางแผนร่วมกันแยกรายตำบล ๆ ละ ๔ หมู่บ้าน ๆ ละ ๑๐ คน เดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๕๙ (บันทึกกระบวนการประชุม ตำบลสระใครตำบลคอกช้างตำบลบ้านฝาง)

แล้ว Sakhrai NCD dream team ค่อยตามไปให้กำลังใจ เสริมพลัง เสริมความรู้ ปรึกษาหารือ ติดตามผลการดำเนินงาน ตั้งวงโสเหล่กันที่หมู่บ้าน (ตัวอย่างการออกติดตาม เสริมพลังแกนนำชุมชน สิ่งที่ซุกซ่อน : พลังชุมชนพลังชุมชนบ้านดงหลี่)

วิธีการใหม่ Sakhrai NCD dream team มาจากทั้ง ๓ ตำบล ไม่ได้แยกกันทำเหมือนที่ผ่านมา เสริมทัพด้วยทันตแพทย์ ที่มีประสบการณ์ชวนคุยต่อยอดต่อเติมจากสิ่งดีที่มีต้นทุนทางสังคม ทุนเศรษฐกิจ เวลา ความรู้ภูมิปัญญาในตัวคน รากฐานของชุมชน (เปิงบ้าน) ให้มีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ร่วมคิด ร่วมทำ โดยแกนนำหลักของชุมชนและสร้างความร่วมมือกับคนอื่น ๆ ขยาย ๆ ไปในหมู่บ้านของเรา

^_,^

ถึงวันนี้ วันที่ ๙ เดือน ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ กำหนดจัดงานมหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี

ท่านนายอำเภอ นายเจริญจิต สืบสาววงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอสระใคร

อนุญาตให้ใช้หอประชุมเอนกประสงค์เป็นที่จัดงาน สรุปความเป็นมาดังคำกล่าวรายงานนะคะ


คำกล่าวรายงานการจัดงาน มหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี ปีที่ ๑

โดย นายแพทย์อลงกฏ ดอนละ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระใคร

โครงการเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี ปี ๒๕๕๙

โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปาก อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ปี ๒๕๕๙

วันศุกร์ ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ณ หอประชุมเอนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสระใคร จ.หนองคาย

***************

เรียน ท่านประธาน ที่เคารพ (นายเจริญจิต สืบสาววงศ์ นายอำเภอสระใคร)

กระผม นายแพทย์อลงกฏ ดอนละ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระใคร และรองประธานคณะกรรมการดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอแบบเครือข่าย อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี ปีที่ ๑” ในวันนี้

ผมขออนุญาตกล่าวถึงความเป็นมา และวัตถุประสงค์การจัดงาน พอสังเขป ดังนี้

ในปี ๒๕๕๙ เครือข่ายสถานบริการสุขภาพอำเภอสระใคร ได้ตรวจคัดกรองรอบเอวประชาชนอายุ ๓๕ ปีขึ้นไป รวม ๙,๑๘๐ คน พบว่า ผู้หญิงที่มีรอบเอว ไม่เกิน ๘๐ เซ็นติเมตร ชายไม่เกิน ๙๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นเกณฑ์รอบเอวปกติ เพียงร้อยละ ๖๖ ผู้ที่มีรอบเอวเกินเกณฑ์ ๓,๐๗๗ คน (ร้อยละ ๓๔) หรือกล่าวได้ว่า หนึ่งในสามของคนอำเภอสระใคร อ้วนเกินเกณฑ์ ส่วนผลการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ๗,๕๓๙ คน พบว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน ๔๙๐ คน เสี่ยงความดันโลหิตสูง ๑,๔๒๒ คน ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ๘๗๒ คน ความดันโลหิตสูง ๑,๐๔๑ คน มีกลุ่มประชาชนที่ไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นเบาหวาน เพราะยังไม่ปรากฏอาการ และกลุ่มที่ป่วยแล้ว นอกจากค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและระดับประเทศจะเพิ่ม ๓.๕ เท่าแล้ว ความสุขสบาย การดำเนินชีวิต จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตลดลง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะหากเกิดพยาธิสภาพของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา ไต ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้ง ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง ที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต

ยังมีโรคเรื้อรังที่รุนแรงขึ้นตามอายุและภัยสุขภาพอีกหลายด้าน เช่น โรคในช่องปาก เกิดจากพฤติกรรมการดูแลตนเองที่ไม่เหมาะสม มีวิถีชีวิตด้านอาหารการกินเปลี่ยนไป อาหารหวาน มัน เค็ม จัดหามาได้ง่ายดายกว่าการปรุงอาหารเพื่อสุขภาพรับประทานเอง หรือการมีเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ยานพาหนะที่ทำให้เดินทางได้รวดเร็ว กิจกรรมนั่ง ๆ นอน ๆ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายลดลง การออกกำลังกายน้อยลง การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลไม่เหมาะสม

ดังนั้น โรงพยาบาลสระใครและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใคร จึงจัดทำโครงการเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี และโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปาก อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ปี ๒๕๕๙ ขึ้น

เพื่อจัดงานมหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี โดยมีวัตถุประสงค์

  • เป็นเวทีให้หมู่บ้านนำร่อง ๑๒ หมู่บ้าน ทั้ง ๓ ตำบล นำเสนอผลการดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ ที่ดำเนินการเองโดยแกนนำชุมชน กิจกรรม ๓ อ ๒ ส (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา)
  • เป็นเวทีให้หมู่บ้านสมัครเข้าร่วมประกวด “ชุมชนต้นแบบฟันดี” นำเสนอภูมิปัญญาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านช่องปากและฟัน ขยายมาตรการเพื่อฟันดี ๒ + ๒ – ๒ ต่อไป

ซึ่งทั้งสองกิจกรรมย่อย กลุ่มประชาชนมาจาก ๑๙ หมู่บ้าน ประมาณ ๔๐๐ คน เป็นแกนนำสำคัญที่จะขับเคลื่อนบรรทัดฐานทางสังคมของคนอำเภอสระใคร ให้ใส่ใจรับรู้ ตระหนัก และช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เอื้อต่อสุขภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์สถานที่ จากที่ว่าการอำเภอสระใคร สนับสนุนคณะกรรมการตัดสินประกวดและวิทยากร จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองหนองคาย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใคร และโรงพยาบาลสระใคร

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควร ขอเรียนเชิญ ท่านประธานในพิธี กล่าวเปิดงาน “มหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี ปีที่ ๑” ประจำปี ๒๕๕๙ ขอเรียนเชิญครับ

**********************


คำกล่าวพิธีเปิดงาน มหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี ปีที่ ๑

โดย นายเจริญจิต สืบสาววงศ์ นายอำเภอสระใคร

โครงการเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี

และโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปาก อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ปี ๒๕๕๙

วันศุกร์ ที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙

ณ หอประชุมเอนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสระใคร จ.หนองคาย

***************

เรียน คณะกรรมการดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอแบบเครือข่าย อำเภอสระใคร และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

จากคำกล่าวรายงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระใคร ชาวอำเภอสระใครมีภาวะอ้วนเกินเกณฑ์ถึงหนึ่งในสาม มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับการสร้างสุขภาพ ทั้งด้านอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่คณะกรรมการดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอแบบเครือข่าย อำเภอสระใคร ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งจากโรงพยาบาลสระใคร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใคร ได้จัดทำโครงการเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี และโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปาก อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ปี ๒๕๕๙ ขึ้น เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมทำงานกับผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน ทีมอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. พ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ในการหล่อหลอมที่ดีจากสังคมแต่ละหมู่บ้าน จากการสื่อสารระหว่างหมู่บ้าน และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งอำเภอสระใครของเรา จึงจะค่อย ๆ สร้างพฤติกรรมใหม่ ปรับเปลี่ยนเป็นบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม ให้ประชาชนวัยทำงานและเด็กรุ่นใหม่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ มีทักษะชีวิตในการสร้างแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง เป็นกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่บรรทัดฐานทางสังคมที่ดี ทั้งด้าน อาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ และการแปรงฟัน

การใช้กิจกรรมประกวดและรูปแบบตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านสุขภาพ จะช่วยให้แกนนำชุมชน ได้นำภูมิปัญญาที่เหมาะกับแต่ละหมู่บ้าน มานำเสนอสิ่งดี ๆ เผยแพร่ให้แกนนำหมู่บ้านอื่น ๆ นำไปปรับใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนตนเอง จะช่วยพัฒนาศักยภาพการดูแลตนเองของคนอำเภอสระใครอย่างก้าวกระโดดและพึ่งตนเองเพิ่มขึ้น

ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองหนองคาย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใคร และโรงพยาบาลสระใคร ที่สนับสนุนกรรมการตัดสินการประกวด หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และชุมชนต้นแบบฟันดี

ขออวยพรให้การจัดงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ ผมขอเปิดงาน “มหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี ปีที่ ๑” ประจำปี ๒๕๕๙ ณ บัดนี้

^_,^


CPR dance นำทีมโดยคุณหมอเบน พร้อมพยาบาลและผู้ช่วยแสนสวย ขอบคุณ VDO โดยคุณพิราพร บุญแสนแผน

บันทึกต่อไปค่อยดูภาพสวย ๆ ประกอบ ดูว่ากิจกรรมสนุกสนานแต่แฝงสาระมากมาย มีอะไรบ้างนะคะ

สวัสดี มีสุข แล้วพบกันใหม่นะคะ

^_,^










ความเห็น (18)

It is beautiful to see smiling faces in pictures. I think "smile" is the first thing to get when working on a "cultural solution" (love that socio-environmental approach ;-)

Would love to see more children involvement in workshops like this - having children around can lower 'heat' (agression) and add more thought 'for children' (through 'program' and behaviour modification).

What do you think?

สุดยอดเลยค่ะพี่อ้อ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

สุดยอดอิหลี เด้อค่ะเด้อ

-สวัสดีครับพี่หมอฟัน

-กิจกรรมน่าสนุกนะครับ

-เก็บภาพอาหารแบบไทยๆ มาฝาก/ให้กำลังใจคนทำงานครับ

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณท่าน sr มากค่ะ

มีกิจกรรมที่ทันตแพทย์และพยาบาลที่ผ่านการอบรมพัฒนาการเด็ก โดยโครงการขององค์การบริหารส่วนตำบลสระใคร ไปพบปะผู้ปกครองที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตั้งวงพูดคุยสนทนา ให้ผู้ปกครองเล่าว่า อีก ๓ ปีข้างหน้าอยากได้ลูกหลานเป็นอย่างเด็กอย่างไร

บทบาทของภาคส่วนสาธารณสุข อบต. ครูพี่เลี้ยง ก็เล่าว่าทำอะไรกันอยู่บ้าง

แล้วผู้ปกครองจะทำอะไรได้บ้างเพื่อลูกหลานของเรา ระดมความคิดและจิตใจช่วยกัน ทันตแพทย์และพยาบาลค่อยให้กำลังใจ เสริมพลัง เสริมความรู้ต่อยอดจากความคิดของผู้ปกครอง อยากได้ลูกหลานแบบที่ฝันเป็นจริง มีหลักการอะไรเพิ่มเติมบ้าง เช่น การแปรงฟันอย่างไรให้ลูกฉลาด การเล่านิทาน ปลูกฝัง เลี้ยงดูอย่างไรให้ลูกเป็นเด็กดี ว่าง่าย เชื่อฟังพ่อแม่ ครู ฉลาด เรียนหนังสือเก่ง ตามที่ผู้ปกครองฝันไว้

โดยเฉพาะเน้นเรื่อง พฤติกรรมกระจกเงา เด็กจะเลียนแบบจากสิ่งที่เห็น และส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร ส่งเสริมความฉลาดของลูกทุก ๆ ด้าน รวมทั้ง ด้านอารมณ์และสังคมด้วยค่ะ

หวังว่าเด็กเอาแต่ใจ อารมณ์ก้าวร้าว เด็กเทวดา จะค่อย ๆ ลดลงไปที่นี่นะคะ ("เด็กเทวดา" มาจากเพลงลูกทุ่งฮิตเมื่อหลายปีก่อน สะท้อนสภาพสังคมไทยค่ะ)

ขอบคุณพี่แก้วมากค่ะ

ขอบคุณทานตะวันแสนงามจากคุณมะเดื่อนะคะ

ขอบคุณมากค่ะพี่นาง ทำพื้นฐานดูแลสุขภาพเบื้องต้นให้ดี จะได้มีคนไข้ CKD ให้พี่นางดูแลน้อยลงทั้งจังหวัดของเรานะคะ

ขอบคุณ ได้กำลังใจมากมายจากต้นอ้อค่ะ

ยินดีค่ะคุณพี่ดารนี แอบอ่าน KM ของพี่ทางโทรศัพท์แล้วนะคะ เขียนตอบไม่ถนัดค่ะ

ขอบพระคุณคุณยายมาก ๆ ค่ะ สายสร้างสุขภาพเหมือนกันนะคะ

สนุกมากค่ะคุณเพชรฯ ไม่รู้เหนื่อยเลย แต่พอวันเสาร์นอนทั้งวัน พักขา อิ อิ ^_,^

สลัดถั่วน่ากินมาก เดี๋ยวแวะไปน้า

มหกรรมคน

มาพร้อมกับ

มหกรรม ความรู้....

ชื่นชมครับ

โดยเฉพาะความรู้จากการปฏิบัติจริงของผู้คนนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ อ.แผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท