ชีวิตบนรถเข็น


การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม

ในการเรียนวิชากิจวัตรประจำวันและการฟื้นฟูสมรรถภาพในครั้งนี้ เป็นการเรียนเกี่ยวกับรถเข็นสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ช่วงแรกนั้นก็ได้เรียนทฤษฎีเกี่ยวกับรถเข็นว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ลักษณะเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็เป็นกิจกรรมการทดลองใช้รถเข็นไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความตื่นเต้นให้พวกเรามาก เพราะเป็นการทดลองใช้รถเข็น โดยที่เราต้องแสดงบทบาทเป็นผู้ที่มีพยาธิสภาพด้วย โดยฉันได้เป็น spinal cord injury ที่ระดับ C7 คู่กับเพื่อนอีกหนึ่งคน อันดับแรกหลังจากที่เราทราบว่าต้องแสดงเป็นอะไรแล้ว คือการหาลักษณะอาการของโรค ซึ่งโชคดีที่เราเพิ่งเรียนมาพอดี จึงทำให้เราพอจะจำได้ว่าต้องแสดงอย่างไรบ้าง สถานที่ที่เราได้ไปคือสถานีรถรางภายในมหาวิทยาลัย ฉันให้เพื่อนได้ลองใช้รถเข็นก่อนและฉันแสดงเป็นนักกิจกรรมบำบัดเพื่อหาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง

ปัญหาที่ฉันสังเกตเห็นตอนนั้นส่วนใหญ่มาจากสถานที่ที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย ทำให้เดินทางได้ลำบาก และเมื่อเดินทางไปถึงสถานีรถรางแล้ว ฉันก็ได้สลับเป็นคนนั่งรถเข็น มันทำให้ฉันรู้สึกว่าเราต้องมีความแข็งแรงและกำลังของกล้ามเนื้อแขนและหัวไหล่เยอะมากในการดันล้อรถเข็นให้เคลื่อนที่ได้ แต่ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ฉันได้พบคือ รถเข็นที่ใช้ไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีพยาธิสภาพเป็น spinal cord injury ที่ระดับ C7 เลย เพราะอาการที่สำคัญของโรคนี้คือ ไม่สามารถกำมือได้ ทำให้ต้องใช้ฝ่ามือเพื่อดันล้อรถเข็น แต่รถเข็นที่ฉันได้ใช้มี Hand rim ขนาดเล็ก ซึ่งไม่เหมาะสมกับการใช้งาน และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อฉันได้ใช้ไปนานๆก็จะเกิดการเสียดสีระหว่างฝ่ามือกับ Hand rim ทำให้ผิวหนังรู้สึกร้อนและแดงขึ้นมา จนบางครั้งฉันต้องให้เพื่อนที่ไปด้วยกันช่วยเข็นให้ แต่น่าเสียดายตอนที่ฉันได้ใช้รถเข็นนั้นไม่ได้ถ่ายรูปของตนเองไว้เลย จึงมีแต่รูปเพื่อนที่ไปด้วยกัน

จากประสบการณ์ครั้งนี้มันทำให้ฉันได้เรียนรู้เลยว่าผู้ที่ต้องใช้รถเข็นนั้นมีความยากลำบากในการใช้รถเข็นขนาดไหน เพราะขนาดเราเป็นคนที่ไม่มีความบกพร่องใดๆยังรู้สึกว่ามันยากและทำให้หมดกำลังใจได้บ่อยครั้ง ดังนั้นฉันซึ่งจะก้าวไปเป็นนักกิจกรรมบำบัดคนหนึ่งจึงคิดวิธีแก้ปัญหาได้คือ อันดับแรกเราต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้ใช้ก่อน คือ เราต้องทำให้ผู้ที่ใช้รถเข็นมีกำลังกายที่ดีและกำลังใจที่ดีด้วย เพื่อที่จะได้มีพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป ต่อมาคือการที่เราช่วยแนะนำและปรับรถเข็นให้มีความเหมาะสมต่อผู้ใช้ เพื่อให้รถเข็นนั้นไม่ไปขัดขวางการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ใช้ จากนั้นคือการที่เราช่วยดัดแปลงหรือปรับสถานที่ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้รถเข็น และอันดับสุดท้าย คือ ช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ใช้รถเข็นได้แสดงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด เพราะทุกคนบนโลกนี้ควรได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข




หมายเลขบันทึก: 613683เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2016 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2016 00:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท