การจัดเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก(Problem-Based-Learning)


การจัดเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก(Problem-Based-Learning)

อ.นิตยา ชีพประสพ

การจัดเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-Based-Learning)หรือ PBL เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning มีเทคนิคการสอนที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงและเรียนรู้จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้ฝึกทักษะการคิด โดยมีการวางเงื่อนไขและกติกาในการร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้นเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการทำงานกลุ่ม การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ตลอดจนทักษะการสื่อสาร ที่ถือว่ามีความจำเป็นและสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก โดยผู้เรียนจะเสนอสิ่งที่ตนเองอยากเรียนรู้ขึ้นมาและครูมีบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ

ความหมาย

อีเดนส์ (Edens.2000) ให้ความหมายของการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักไว้ว่าเป็นรูปแบบการสอน การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ที่จะคิดและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันวัน และมีความซับซ้อนเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเนื้อหาและเกิดทักษะการแก้ปัญหา

วัลลี สัตยาศัย (2557) ให้ความหมายว่าเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาโดยที่มิได้มีการศึกษาหรือเตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อน เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องแสวงหา และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียน

สรุปProblem-based Learning Method หมายถึงวิธีการเรียนการสอนที่ใช้ “ปัญหา” (Problem) เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหาทั้งนี้โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาและรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียนโดยผู้สอนมีส่วนร่วมเป็นผู้ช่วยเอื้ออำนวยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างลึกซึ้งวิธีการเรียนการสอนที่สถาบันต่างๆใช้กันมาแต่ดั้งเดิมมักจะเน้นที่เนื้อหาที่ครูผู้สอนศึกษาค้นคว้าเป็นหลัก (Teacher-centered Learning)

ดังนั้นวิธีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนส่วนใหญ่จึงมักจะใช้วิธีการบรรยาย (Lecture-based Approach) ทำให้ผู้เรียนได้รับทราบความรู้ทางด้านทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่หรือหากผู้สอนนำวิธีการปฏิบัติอื่นๆมาใช้บ้างก็อาจได้ทักษะบางส่วนแต่ผู้เรียนจะไม่ได้รับการพัฒนาในด้านทักษะที่จะนำความรู้ทางทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้ดีเท่าที่ควรยิ่งหากถ้าบุคคลนั้นต้องไปปฏิบัติงานในชุมชนด้วยก็อาจจะขาดทักษะในการทำงานเป็นทีมและการรู้จักใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหาที่พบจึงมีการนำวิธีการที่เน้นการพัฒนาตัวผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Student-centered Learning) มาใช้ซึ่งวิธีการที่กำลังเป็นที่สนใจมากที่สุดคือวิธีการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (P.B.L.)

กลไกพื้นฐานในการเรียนรู้แบบ Problem-based

ในการเรียนการสอนแบบ Problem-based นั้นสิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือการให้ผู้เรียนได้ผ่านกลไกต่างๆอย่างครบถ้วน 3 ประการนั่นคือ


1. Problem-based learning

คือกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนใช้ “ปัญหา” เป็นหลักในการแสวงหาความรู้ด้วยกลวิธีหาข้อมูลเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานอันเป็นการแก้ปัญหานั้นๆโดยผู้เรียนจะต้องนำปัญหามาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมความคิดที่มีเหตุผลและการแสวงหาความรู้ใหม่กระบวนการเรียนรู้แบบ Problem-based สามารถเกิดขึ้นได้กับการเรียนรายบุคคลหรือการเรียนกลุ่มย่อยได้แต่การเรียนแบบกลุ่มย่อยจะช่วยให้รวบรวมแนวความคิดในการแก้ปัญหาได้กว้างขวางมากกว่า

2. Self-directed Learning

คือกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีเสรีภาพในการใช้ความรู้ความสามารถในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองโดยผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบทั้งในด้านการกำหนดการดำเนินงานของตนเองยอมรับความรับผิดชอบของตนเองที่มีต่อกลุ่มคัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเองและการประเมินผลตนเองตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์งานของตนเองด้วย

3. Small-group Learning

การเรียนเป็นกลุ่มย่อยเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นทีมและยอมรับประโยชน์ของการทำงานร่วมกันให้ค้นคว้าหาแนวความคิดใหม่ๆ

ขั้นตอนการดำเนินการแก้ปัญหาของ “ผู้เรียน” ในขบวนการเรียนการสอนแบบ Problem-based

กระบวนการของการเรียนรู้แบบ Problem-based จะเริ่มต้นจาก “ปัญหา” (Problem) ซึ่งผู้เรียนจะใช้เป็นหลักในการดำเนินการแก้ปัญหาจนกระทั่งเกิดการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน 9 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1Clearify terms and concepts

ในขั้นตอนแรกกลุ่มผู้เรียนจะต้องพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาที่ได้รับเสียก่อนหากมีคำข้อความหรือแนวความคิดตอนใดที่ยังไม่เข้าใจจะต้องพยายามหาคำอธิบายให้ชัดเจนโดยอาจจะอาศัยความรู้พื้นฐานของสมาชิกภายในกลุ่มหรือจากเอกสารตำราอื่นๆที่มีคำอธิบายอยู่

ขั้นตอนที่ 2 Define the problem

ขั้นตอนนี้เป็นการให้คำอธิบายของปัญหาทั้งหมดโดยกลุ่มจะต้องมีความเข้าใจต่อปัญหาที่ถูกต้องสอดคล้องกันโดยอย่างน้อยที่สุดจะต้องเข้าใจว่ามีเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ใดถูกกล่าวถึงหรืออธิบายอยู่ในปัญหานั้นบ้าง

ขั้นตอนที่ 3 และ 4Analyse the problem and formulate hypotheses

การวิเคราะห์ปัญหาจะได้มาซึ่งความคิดและข้อสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างของปัญหาทั้งนี้โดยอาศัยพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียนรวมทั้งความคิดอย่างมีเหตุผลในการสรุปรวบรวมความคิดเห็นความรู้และแนวความคิดของสมาชิกภายในกลุ่มเกี่ยวกับขบวนการและกลไกที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหานั่นคือพยายามสร้างสมมุติฐาน (Hypotheses) อันสมเหตุสมผลสำหรับปัญหานั้นๆ

ในขั้นตอนนี้การแสดงความคิดเห็นแบบ “Brain-stroming” นับเป็นวิธีที่สำคัญที่จะทำให้สมาชิกของกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีเพื่อให้ได้มาซึ่งสมมุติฐานมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ขั้นตอนที่ 5 Identify the priority of hypotheses

จากสมมุติฐานต่างๆที่ได้มานั้นกลุ่มจะต้องนำมาพิจารณาจัดลำดับความสำคัญอีกครั้งโดยอาศัยข้อสนับสนุนจากข้อมูลและความรู้จากสมาชิกภายในกลุ่มเพื่อพิจารณาหาข้อยุติสำหรับสมมุติฐานที่ปฏิเสธได้ในขั้นต้นและคัดเลือกสมมุติฐานที่ต้องแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 Formulate learning objectives

ผู้เรียนกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่คัดเลือกไว้

ขั้นตอนที่ 7Collect additional information outside the group

จากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มจะถูกแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากภายนอกกลุ่ม โดยสามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งจากตำราเอกสารทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำงานจะทำเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ หากมีเวลาน้อยจำเป็นต้องแยกเป็นรายบุคคลไปช่วยกันหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ แล้วกลับมาพบกันในกลุ่มอีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนที่ 8Synthesize and test the newly acquired information

กระบวนการของการเรียนรู้แบบ Problem-based สมบูรณ์ได้โดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่แสวงหามาได้ เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่วางไว้โดยสมาชิกของกลุ่มแต่ละคนจะนำความรู้ที่ตนแสวงหามาได้เสนอต่อสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่ม เพื่อพิจารณาว่าข้อมูลที่ได้มาเพียงพอต่อการพิสูจน์สมมุติฐานหรือไม่ ดังนั้น กลุ่มอาจจะพบว่ามีข้อมูลบางส่วนไม่สมบูรณ์ จำเป็นจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกก็ได้

ขั้นตอนที่ 9Identify generalizations and principles derived fromstudying this problem

กระบวนการจะสิ้นสุดเมื่อกลุ่มสามารถหาข้อมูลครบถ้วนต่อการพิสูจน์ข้อสมมุติฐานทั้งหมดได้ และสามารถสรุปได้ถึงหลักการต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาปัญหานี้ รวมทั้งเห็นแนวทางในการนำความรู้และหลักการนั้นไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ทั่วไปได้

ลักษณะของผู้เรียน

ผู้เรียนที่เรียนด้วยการใช้วิธีการแก้ปัญหา (Problem-solving) ให้ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น จะต้องมีลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ

1.ความรู้ความสามารถ (Competence)

2.ความสามารถในการติดต่อกับผู้อื่น (Communicativeness)

3.ความตระหนักในความสำคัญ (Concern)

4.ความกล้าในการตัดสินใจ (Courage)

5.ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity)

ในลักษณะ 5 ประการดังกล่าวนี้ ลักษณะที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนได้ยาก คือ ลักษณะความกล้าตัดสินใจ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อขบวนการแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก เป็นที่เชื่อกันว่าเป็นลักษณะที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนอยู่แล้ว แต่จะสามารถแสดงออกมาได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้

ลักษณะสำคัญของผู้เรียนที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนแบบ Problem-based ก็คือ ความสามารถในการแสวงหาความรู้ใหม่ ซึ่งสภาวะการณ์สำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้มี 3 ขั้นตอนคือ

1. การกระตุ้นความรู้เดิม (Activation of prior knowledge)ความรู้เดิมของผู้เรียนเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้มาก จึงควรกระตุ้นความรู้เดิมออกมาจากความทรงจำของผู้เรียนให้นำออกมาใช้ให้ได้มากที่สุด

2.เสริมความรู้ใหม่ (Encoding specificity)ส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้เดิมมาสร้างความรู้ใหม่จะช่วยให้เข้าใจข้อมูลที่เป็นความรู้ใหม่มากขึ้น ยิ่งมีความคล้ายคลึงระหว่างสิ่งที่เรียนรู้แล้วและสิ่งที่จะนำไปประยุกต์ใช้มากเท่าไร ก็จะยิ่งนำไปใช้ได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น

3.ต่อเติมความเข้าใจให้สมบูรณ์ (Elaboration of knowledge)ความเข้าใจในข้อมูลต่าง ๆ จะสมบูรณ์ได้ หากผู้เรียนมีโอกาสเสริมต่อความเข้าใจนั้น โดยการกระทำหลายอย่าง เช่น การตอบคำถาม การจดบันทึก การอภิปรายกับผู้อื่น การสรุป การตั้งและพิสูจน์สมมุติฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการจดจำได้แม่นยำและสามารถนำออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว

สรุป

การจัดเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-Based-Learning)นั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียน เนื่องจากผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มากกว่าการรับฟังเนื้อหาจากครูผู้สอนเพียงฝ่ายเดียวแล้ว สิ่งสำคัญก็คือสถานการณ์ปัญหาหลักหรือกรณีศึกษาที่นำมาต้องมีลักษณะของปัญหาต้องมีความน่าสนใจ ท้าทายและน่าค้นหาคำตอบ รวมทั้งควรเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียนเพื่อผู้เรียนจะได้แสดงความสามารถในการแก้ปัญหาและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา การใช้เหตุผลในการคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตนเอง

เอกสารอ้างอิง

คณะอาจารย์วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก.(2558). คู่มือครูในการจัดการเรียน

การสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักสำหรับวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก.นนทบุรี : ยุทธรินทร์การพิมพ์.

วัลลี สัตยาศัย. (2557). เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเสริมสร้างทักษะการสอน

โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการเตรียมสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก.วันที่ 21-23 พฤษภาคม 2557. ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต ปทุมธานี.

ศิริพร โอภาสวัตชัย.(2553). คู่มือการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักรายวิชาบริหารการพยาบาล.

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นนทบุรี.

Edens,kellah M. (2000). Preparing Problem Solver for the 21st Century through Pro-Based

Learning.College Teaching 48 (2) : 55-60.

คำสำคัญ (Tags): #problem-based-learning
หมายเลขบันทึก: 593612เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

จากประสบการณ์เคยใช้วฺธีการสอนแบบPBLแต่ไม่เต็มรูปแบบโดยเป็นแบ่งฯนศ.ชั้นปีที่1เป็นกลุ่มและมอบหมายงานให้ค้นคว้าและมาแลกเปลี่ยนกันนั้นพบว่า

บทบาทของผู้สอน

1.ต้องมีการเตรียมตนเองให้เข้าใจถึงระบบและขั้นตอนการเรียนแบบPBL

2ศึกษาเนื้อหารายละเอียดในเรื่ิองนั้นๆและกำหนดหัวข้อขอบเขตเนื้อหาที่ต้องการ

3.ต้องเป็นผู้จ้ดเตรียมความพร้อมแก่ผุ้เรียนด้าน

-การเตรียมตัวโดยชี้แจงวิธีเรียนแบบPBL

- เอกสารเกี่ยวกับการเรียนแบบPBL

4.ในการดำเนินการผู้สอนต้อง

-กระตุ้นให้ผู้เรียนในกลุ่มมีส่วนร่วม

-คอยดูแลกำกับทิศทางของทุกขั้นตอนที่สำคัญคือขั้นตอนที่1-4ให้นศ.การแสดงความคิดเห็นแบบ “Brain-stroming”ให้ได้มากที่สุมีส่วนร่วมมากที่สุดโดยพยายามไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งโดม่เนตกลุ่ม หรือหากจำเป็นอาจจะต้องแนะนำบ้างเพื่อไม่ให้ออกนอกประเด็น

-ช่วยเหลือนศ.ด้านอื่นๆเช่นให้ข้อเสนอแนะหรือยกตัวอย่างกรณีนศ.เพื่อความเข้าใจ

5.สรุปบทเรียนในสรุปได้ถึงหลักการต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาปัญหานี้ รวมทั้งเห็นแนวทางในการนำความรู้และหลักการนั้นไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ทั่วไปได้..... อ่านต่อได้ที่:

บทบาทของผู้เรียน

1.มีทัศนะคติที่ดีต่อการเรียแบบPBL

2.มีความสามารถในการค้นหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี

3.มีความตั้งใจและขยันในการเรียนเพื่อการเรียนรู้จริง

4.สมากชิกกลุ่มต้องสามัคคีกัน

5.ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่นแลเคารพการตัดสินใจของกลุ่ม

6.กล้าแสดงความคิดเห็น

7.มีความสามารถในการย่อความสรุปความหรือสาระสำคัญ

8.มีน้ำใจและช่วยเหลือกัน

9.รักษาเวลา

ลักษณะสำคัญของการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานที่เคยใช้

มุ่งเน้นขบวนการมากกว่าผลลัพธ์ด้านเนื้อหาโดยผลลัพธ์ด้านเนื้อหาผู้สอนกำหนดเพียวขั้นต่ำที่ทุกกลุ่มต้องได้แต่ผลลัพธ์ของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน นศ.จะได้เรียนรู้การทำงานกลุ่ม การค้นคว้าหาข้อมูล การนำเสนอ การมีความรับผิดชอบต่อผลงานกลุ่ม ที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นศ.ได้เรียนรู้

ทักษะการฟัง การตอบค-ตั้งำถาม และเรียนรู้ด้วยตนเองว่าสิ่งที่ตนเองศึกษามามากหรือน้อย เข้าใจในเนื้อหาหรือไม่ ได้เรียนรู้อะไรจากเพื่อน แต่ต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดการเรียนรู็มากกว่าบรรยาย และต้องใช้ทรัพยากรสนับสนุนตำราแหล่งข้อมูลระบบสนับสนุนเพื่อการสืบค้นเช้สความพร้อมinternet

ผลที่เกิดขึ้นจากการจัด การเนียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานที่เคยใช้

มีความพอใจโดยรวมด้านผลลัพธ์ด้านเนื้อหาระดับปานกลางหรือรับได้ นศ.จะได้เรียนรู้การทำงานกลุ่ม การค้นคว้าหาข้อมูล การนำเสนอและทักษะอื่นๆที่สำคัญคือ การมีความรับผิดชอบต่อผลงานกลุ่ม นักศึกษาอาจจะไม่ชอบและต้องใช้เวลาในการปรับตัว




จากการที่ได้จัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ในนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ในรายวิชาจริยศาสตร์และกฏหมายวิชาชีพการพยาบาล ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 พบว่าในบทบาทผู้สอน ครูต้องเตรียมตัวอย่างมากในการเตรียมการสอน ตั้งแต่

บทบาทผู้สอน

1.การเตรียมทีมผู้สอน ปรับทัศนคติ สร้างแรงจูงใจ ต้องมีความยืดหยุ่น เป็นผุ้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และปรับบทบาทผู้สอนมาเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกพร้อมกระตุ้นการเรียนรู้

2.ทบทวนทักษะ การตั้งคำถาม การสังเกต การฟังและจับประเด็น การสะท้อนคิด และการเชื่อมโยงความคิดของผู้เรียน

3.เตรียมสิ่งสนับสนุนการเรียน เช่นห้องประชุมกลุ่มย่อย เอกสารประกอบการสอน

4.ทดลองสอนโดยให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการเรนียนแบบการใช้ปัญหาเป็๋นหลัก

บทบาทผู้เรียน

1.เตรียมผู้เรียนให้เข้าใจในการเรียนแบบการใช้ปัญหาเป็นหลักโดยผู้เรียนต้องแวงหาความรู้ด้วยตนเอง จะต้องมีความกระตือรือร้น การเรียนแบบกระบวนการกลุ่ม

2.ผู้เรียนต้องแสดงออกถึงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ให้เกียรติและเคารพผู้อื่นในการรับฟังความคิดเห็น การตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ

3.ผู้เรียนต้องเข้าใจทักษะที่จำเป็นในการเรียนเช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการใช้เทคโนโลยีในการสืบค้น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการทำงานเป็นทีม

ผลที่เกิดขึ้นหลังจากฝ่านการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก นักศึกษาจะเป้นคนช่างซักถามมากขึ้น มีทักษะในการสื่อสารกับอาจารย์และเพื่อนๆในการทำงานเป็นทีมมากขึ้น และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลและคิดวิเคราะห์ ในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ก่อนนำเสนอ


การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักถือเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ดิฉันสนใจมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๙ เพราะช่วงนั้นมีการรณรงค์การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักก็เป็นวิธีหนึ่ง ประกอบกับสถาบันพระบรมราชชนกใหเโอกาสในการใหเอาจารย์ไปศึกษาค้นคว้าณ ประเทศแคนาดาและออสเตรเลีย ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักชัดเจน ดิฉันได้โอกาสไปออสเตรเลีย ได้ประสบการณ์นำกลับมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนหลายรายวิชา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคใต้ จนเป็นรูปร่าง ต่อไปการดำเนินการค่อยเริ่มจางหายไปมีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น เช่น Critical thinking,Humanized care,Evidence based Learning เป็นต้น หลังนั้นเมื่อมีการพูดถึงนักเรียนนักศึกษาปัจจุบันต้องมีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักก็กลับมาอีก มีการส่งอาจารย์ไปศึกษาประเทศแคนาดาอีก ดิฉันได้โอกาสในการไปศึกษาค้นคว้าอีกครั้งได้ประสบการณ์นำกลับมาใช้ในรายวิชา จริยศาสตร์และกฎหมายวิชาชีพการพยาบาล วิชา การบริหารการพยาบาล ซึ่และได้ร่วมกับทีมอาจารย์ที่ไปอบรมด้วยกันสร้างคู่มือครูในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักสำหรับวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกขึ้น ในฐานะผู้ที่ใช้การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักมาตลอด มีข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ ดังนี้

๑.บทบาทผู้สอน

เป็นสิ่งแรกและเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ(Expert)มาเป็นผู้อำนวยความสะดวก(Facilitator)ให้กับผู้เรียน จากประสบการณ์การเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้สอนควรเตรียมตัวในเรื่องต่างๆ คือ

๑.๑เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนของการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักอย่างเข้าใจลึกซึ้ง พยายามให้ผู้เรียนก้าวผ่านแต่ละขั้นตอนด้วยตัวผู้เรียนเอง โดยผู้สอนแนะนำเส้นทางการเดินแต่ไม่ใช่บอกคำตอบ

๑.๒พัฒนาตนเองในทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก ได้แก่ ทักษะการตั้งคำถาม การสังเกต การจับประเด็นสำคัญ การเชื่อมโยงความคิด เป็นต้นเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนอย่างมีความหมาย

๑.๓สร้างทีมผู้สอนร่วม ต้องหาแนวร่วมที่มีใจรักในการสอนลักษณะนี้ ชี้แจงกระบวนการขั้นตอนอย่างละเอียด สิ่งสำคัญต้องให้เกียรติ เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เรียน

๑.๔เตรียมผู้เรียน ผู้สอนต้องเตรียมผู้เรียนให้พร้อมในการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือ สร้างความรู้สึกที่ดีให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ด้วยวิธีเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก

๑.๕เตรียมสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ ได้แก่ ห้องเรียนกลุ่มย่อย ตำราเอกสาร ฐานข้อมูล คู่มือการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก บอร์ดนิทรรศการ กระดาษฟลิปชาร์ท ปากกาเคมี เป็นต้น

๑.๖สร้างความรู้สึกของผู้สอนให้รักในการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักเพราะเมื่อมีความรัก จะเกิดความมุ่งมั่น มานะ อดทน ไม่ท้อ และมีกำลังใจ มีพลังในการปรับการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักให้ดียิ่งขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เป็นประเภทไม่เห็นความสำเร็จของงานต้องไม่ปล่อย และสามารถรอคอยความสำเร็จได้แม้ต้องใช้เวลา "ฮึด"นั่นเอง

ดิฉันรอคอยความสำเร็จจากการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักมาจนถึงปัจจุบันซึ่งค่อยขยายเครือข่ายไปทีเล็กทีละน้อย และได้เห็นเส้นชัยรออยู่ข้างหน้า อีกนิด....อีกนิด...... คงต้องรอประเด็นสำคัญในเรื่องอื่นครั้งหน้านะคะ......สวัสดีคะ......

ประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักนั้น ผู้เรียนที่จะเรียนและได้องค์ความรู้ในตนเองต้องมีความตั้งใจ เป้าหมายในการเรียนรู้ ส่วนความริเริ่มสร้างสรรค์นั้นจะช่วยให้ได้ผลงานที่โดเด่น ส่วนผู้เรียนที่เฉื่อยต่อการเรียนรู้จะเบื่อหน่ายและไม่ค่อยได้เท่าไรนักแม้มีการกระตุ้นอย่างดี

จากประสบการณืในการจัดการเรียนการสอนแบบ PBL พบว่าการจัดการเรียนการสอนแบบนี้เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียนที่มีขนาดเล็กไม่ควรเกิน 3-5 คนและเป็นกลุ่มผู้เรียนที่มีความกระตือรือร้นในการเรียน เป็นผู้ที่ต้องการแสวงหาคำตอบในประเด็นหรือคำถามที่สงสัย กลุ่มผู้เรียนเหล่านี้จะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขในการเรียน จะมีความสามารถในการแสวงหาความรู้และสรุปประเด็นต่าง ๆ เป็นองค์ความรู้ได้ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้เรียนที่เฉื่อยชา จะรุ้สึกเบื่อหน่าย ไม่ชอบในการแสวงหาความรู้ รู้สึกว่าเรียนแล้วไม่เข้าใจรวสมทั้งความสามารถในการสรุปเป็นองคืความรู้ก็ทำได้ไม่ดีนักแม้ว่าจะมีการกระตุ้นอย่างมาก ส่วนในบทบาทของผู้สอนนั้นตัวผู้สอนเองต้องมีการปรับทัศนคติ ต้องมีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจ และมีความยืดหยุ่น ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต รวมทั้งต้องสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีและต้องจับประเด็นแล้วมีการสะท้อนคิดรวมทั้งต้องมีการเชื่อมโยงความคิดของผู้เรียนได้ ตัวผู้สอนต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากการเป็นผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้แทน

ผู้เรียนมีความสำคัญมากในการจัดการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพราะเป็นผู้ที่ต้องแสดง

ศักยภาพของตนเองให้ประจักษ์เพื่อการประชุมดำเนินไปด้วยดี ดังนั้นลักษณะของผู้เรียนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก ดิฉันเชื่อว่าหากได้นำศักยภาพของผู้เรียนในศตววษที่ ๒๑ มีเชื่อมโยง ก็สามารถสรุปได้ว่า ผู้เรียนควรมีลักษณะ ดังนี้

๑.มีนิสัยรักการอ่าน เพราะการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักหลังจากได้วัตถุประสงค์การเรียนรู้ จำเป็นต้องไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารตำราหรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งเมื่ออ่านได้จำเป็นต้องสรุปความและบันทึกได้ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อยต่อไป

๒.มีทักษะการคิดและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและมีวิจารณญาณ ผู้เรียนต้องได้รับการฝึกคิดอย่างเป็นระบบคำนึงถึง Input-Process-Output-Feedback control และต้องเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิชาการไม่ใช้ตัวเองเป็นหลัก จะทำให้มองปัญหาและการแก้ไข Scenario ได้อย่างเหมาะสม

๓.มีทักษะการสื่อสาร อย่าลืมว่าการประชุมกลุ่มย่อย จำเป็นต้องมีการสื่อสารในกลุ่ม ทั้งบทบาทประธาน เลขานุการกลุ่ม สมาชิกกลุ่ม การใช้ภาษาที่เหมาะสม ที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่ม

๔.การรู้เท่าทันสื่อ ข้อมูล ผู้เรียนที่ได้วัตถุประสงค์การเรียนรู้แล้ว ต้องไปศึกษาค้นคว้า ผู้เรียนต้องสามารถแสดงศักยภาพในการสืบค้นและสกัดความรู้ออกมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ข้อมูลเป็นจริง

๕.มีทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี่ ข้อนี้เป็นลักษณะที่ผู้เรียนยุคนี้มีเหลือล้น ไว ทันการณ์ สามารถนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่น่าสนใจ แต่ต้องตระหนักในเรื่องความเหมาะสมด้วย

๖.มีทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวตกรรม ข้อนี้มีความสำคัญ การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เมื่อได้ข้อมูลมาแลกเปลี่ยนในกลุ่ม กลุ่มก็หาแนวทางในการแก้ไข ตรงนี้จะเห็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวตกรรมใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ผู้สอนต้องชื่นชม ก็จะทำให้ทักษะนี้เจริญเติบโตได้

๗.มีทักษะการทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ อาจไม่เกิดภาวะผู้นำทุกคนในการจูงใจในกลุ่มเดินไปสู่เป้าหมายแต่การทำงานเป็นทีม ผู้สอนต้องพยายามสร้างให้เกิดเพราะการทำงานปัจจุบันเน้นการทำงานเป็นทีม โดยทั่วไป ผู้เรียนมักชอบทำงานคนเดียว รวดเร็ว ได้ผลดี แต่เมื่อทำงานเป็นทีมต้องมีการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับกติกากลุ่ม พูดให้ง่าย คือ ฟังคนอื่นมากขึ้น ผลงานเป็นของกลุ่ม รับผิดและรับชอบร่วมกัน

๘.สิ่งสำคัญที่สุด ทัศนคติของผู้เรียน เกิดความรู้สึกอย่างไรต่อการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก ผู้เรียนที่ชอบคิดมอบชอบเรียนแบบนี้ ผู้เรียนบางคนชอบให้ผู้สอนบอกความรู้ไม่ชอบค้นคว้า ผู้สอนต้องสร้างความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นหลักเป็นเบื้องต้น เมื่อใจมา ทุกอย่างก็ฉลุย

ประสบการณ์การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เกี่ยวกับบทบาทผู้เรียน หากสามารถพัฒนาผู้เรียนให้ได้ดังที่กล่าว จะทำให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นอัตลักษณ์ประจำตัวไปเลย ให้กำลังใจผู้สอนทุกคนนะคะ ทำความดีไม่ต้องมีเงื่อนไขคะ ได้ความสุขเต็มๆ

จากประสบการณ์การสอน ถ้าเป็นภาคทฤษฎี องค์ความรู้ของผู้เรียนจะไม่ดีเท่ากับการใช้สอนใน-ภาคปฏิบัติ สาเหตุน่าจะเป็นเนื่องจาก สื่อการเรียนการสอนเป็นเรื่องราวจริง ได้สัมผัส สัมภาษณ์จริง ซึ่งต่างจากภาคทฤษฎีที่เป็นเพียงตัวอักษรหรือผ่าน IT ที่ไม่มีชีวิตจิตใจ

การจัดการเรียนเรียนการสอนแบบ PBL ในความคิดของผม เป็นการจัดการเรียนการสอนที่อาจารย์ผู้สอนต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดี และแหล่งสืบค้น ฐานข้อมูลวิชาการต่างๆ ต้องมีความพร้อม และนักศึกษาต้องสามารถสกัดความรู้ที่ได้สืบค้นมา เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ซึ่งการสอนโดยวิธีนี้คิดว่าจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งอาจารย์ นักศึกษา และแหล่งเรียนรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท