Establishment of the Federal Reserve :: จุดเริ่มต้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา แถมพ่วงด้วยเรื่องของ ตระกูลรอธส์ไชลด์ (The Rothschild) กับ Fed


ข้อมูลเท่าที่มีตอนนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า รอธส์ไชลด์ มีอิทธิพลเหนือเฟดโดยตรงแต่อย่างใด

ใครที่ติดตามในแวดวงการเงิน จะทราบกันดีว่า เบน เบอร์นังเค่ (อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา) มีจุดยืนต่อต้านการหวนกลับไปใช้มาตรฐานทองคำมาตลอด เรื่องนี้มีเหตุผลและมีที่มาที่ไป เนื่องจากไม่เพียงแต่การที่เขาทำงานวิจัยเรื่องนี้โดยตรง แต่ยังเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมา ของพัฒนาการเงินสมัยใหม่ของโลกอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ทองคำทำหน้าที่เก็บรักษามูลค่าเงินแทนที่หน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งในมาตรฐานทองคำนั้น มูลค่าเงินตราจะคงที่เมื่อเทียบปริมาณทองคำ ดังนั้นปริมาณทองคำจึงเป็นตัวกำหนดปริมาณเงินและระดับราคา (ในบริบทแบบนี้ ธนาคารกลางจะมีบทบาทจำกัดในการแทรกแซงด้วยนโยบายการเงิน)

แต่มาตรฐานทองคำก็มีปัญหาในตัวเช่นกันคือ ทุกประเทศจะถูกบังคับให้คงอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (โดยเทียบกับทองคำ) มาตรการลักษณะนี้จะมีปัญหา ในทำนองเดียวกับการที่เราเคยรักษาค่าเงินบาทคงที่โดยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้เสียอิสระในการเลือกเป้าหมายทางการเงินไปอีกถึงสองข้อโดยอัตโนมัติ โดยเราเลือกได้ 2 จาก 3 คือ (1) ปล่อยให้เงินไหลเข้าออกโดยเสรี (Free capital flow) (2) การกำหนดค่าเงินคงที่ (Fixed Exchange Rate) และ (3) การมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน ((Independent Monetary Policy) ในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่จะเลือก (1) และ (3) เพื่อเชื่อมตนเองเข้ากับเศรษฐกิจโลก แต่ยังขอมีส่วนกำหนดนโยบายทางการเงินด้วย โดยเราไม่สามารถจะเลือกทั้งสามตัวเลือกพร้อมกันได้ เพราะจะมีปัญหาตามกฎ Impossible Trinity (วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการฝ่าฝืนกฎข้อนี้)

การผูกค่าเงินตรึงไว้กับทองคำจะมีปัญหาว่า ปัญหาเศรษฐกิจจากประเทศหนึ่งจะกระทบไปสู่อีกประเทศหนึ่งโดยอัตโนมัติ (หากทั้งคู่ผูกค่าเงินตนเองไว้กับทองคำ) นอกจากนี้แม้ระยะยาวมาตรฐานทองคำอาจทำให้มีเสถียรภาพด้านราคา แต่ในระยะกลางอาจเกิดปัญหาช่วงเงินเฟ้อและเงินฝืดได้ (ซึ่งจะมีปัญหาไปอีกแบบ)

ในช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดปัญหาขาดแคลนทองคำ เนื่องจากในช่วงนั้นสหรัฐยังผูกค่าเงินเข้ากับทองคำ ทำให้ปริมาณเงินหดตัวจึงทำให้เกิดภาวะเงินฝืด พวกชาวนาประสบปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ในขณะที่หนี้สินยังคงตัว เนื่องจากค่าเงินคงที่ ทำให้ในปี 1913 สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายธนาคารกลางขึ้นมา



ในรูปด้านบนนี้ เป็นภาพวาดของ วิลเบอร์ เคิร์ทซ์ ซึ่งแสดงถึงการลงนามของประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน เพื่อผ่านกฎหมายฉบับนี้ ในขณะนั้นธนาคารกลางมีหน้าที่ในการ เป็นแหล่งเงินกู้แหล่งสุดท้าย (lender of last resort) ให้กับธนาคาร และบริหารจัดการมาตรฐานทองคำเพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนในเรื่องอัตราดอกเบี้ย ในเวลาต่อมาด้วยปัญหาเศษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ดอลลาร์สหรัฐก็ออกจากมาตรฐานทองคำในที่สุด

มีการสรุปบทเรียนเรื่องความผิดพลาดเชิงนโยบายจากช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ที่ธนาคารกลางมีมาตรการหดตัวทางการเงิน เพื่อสู้กับการเก็งกำไรตลาดหุ้นและค่าเงิน ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยมีการว่างงานขนาดใหญ่และระดับราคาตกต่ำในช่วงปี 1932 ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ธนาคารไม่ตอบสนองต่อการล้มของธนาคาร การหดตัวของการปล่อยกู้สินเชื่อ และการสนับสนุนสินเชื่อให้กับธนาคารน้อยเกินไป ในช่วงนั้นธนาคารล้มไปกว่า 9,700 แห่งจากทั้งหมด 25,000 แห่งกว่าจะฟื้นตัวก็ต้องรอไปถึงปี 1934

ข้อมูลเหล่านี้ส่วนหนึ่งนำมาจากการบรรยายของ เบน เบอร์นังเค่ เกี่ยวกับเรื่องจุดกำเนิดและภารกิจของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ให้กับนักศึกษาวิทยาลัยธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน

อันนี้เป็นสาเหตุที่เบอร์นังเค่มองว่าเราไม่ควรย้อนกลับไปสู่มาตรฐานทองคำอีก http://www.businessinsider.com/ben-bernanke-explains-why-we…

- สามารถดูสไลด์ทั้งหมดได้ที่นี่ http://www.businessinsider.com/ben-bernankes-presentation-o…
- หรือดูคลิปการบรรยายและดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ http://www.federalreserve.gov/…/lec…/origins-and-mission.htm
- ภาพพร้อมรูปถ่ายนำมาจากหนังสือ "Historical Beginnings... The Federal Reserve" ดาวน์โหลดหนังสือทั้งเล่มได้จากที่นี่ครับ http://www.bos.frb.org/about/pubs/begin.pdf




ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลรอธส์ไชลด์ (The Rothschild) กับ Fed


รอธส์ไชลด์เป็นตระกูลที่สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาจากธุรกิจทางการเงิน ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงตลอดศตวรรษที่ 19 ธุรกิจหลักของรอธส์ไชลด์โดยการค้าขายพันธบัตร สร้างตนขึ้นมาจากสงครามนโปเลียน โดยเข้ากว้านซื้อพันธบัตรอังกฤษในช่วงปี 1815 - 1816 แล้วเทขายไปในปี 1817 ซึ่งราคาพันธบัตรขึ้นไปถึง 40% เหตุการณ์ครั้งนั้นต้องบอกว่ารอธส์ไชลด์ "เล่นพนัน" ข้างอังกฤษว่าจะชนะสงครามวอเตอร์ลูต่อกองทัพนโปเลียน ซึ่งเวลลิงตันเองก็ยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์ที่หวิดจะแพ้หวิดจะชนะ และโชคดีที่ปรัสเซียมาช่วยไว้ทัน

ในระยะหลังรอธส์ไชลด์กลายเป็นนายหน้าขายพันธบัตรให้ัอังกฤษถึง 43 ล้านปอนด์ ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของพันธบัตรทั้งหมดที่ออกโดยตลาดในลอนดอน นอกจากนี้ก็ขายพันธบัตรให้ประเทศอื่น ๆ ด้วย (วัตถุประสงค์เพื่อไปใช้ในการทำสงคราม) พันธบัตรที่รอธส์ไชลด์ขายถ้าเป็นสมัยนี้ต้องเรียกว่า investment grade ทั้งหมด ไม่มีพันธบัตรที่มีการผิดชำระหนี้เลยแม้แต่ล็อตเดียว

ในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ รอธส์ไชลด์ก็ "พนัน" เข้าข้างฝ่ายเหนือ ซึ่งก็ชนะสงครามต่อฝ่ายใต้อีกจึงได้กำไรไปมาก

หากสนใจ สามารถอ่านรายละเอียดของตระกูลรอธส์ไชลด์จากหนังสือของ ไนอัล เฟอร์กูสัน ได้ที่นี่ http://www.pdfarchive.info/pdf/F/Fe/Ferguson_Niall_-_The_House_of_Rothschild.pdf


ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างรอธส์ไชลด์กับเฟด นั้นสหรัฐฯพยายามตั้งธนาคารกลาง (แบบตามมีตามเกิด) มาสองครั้งแล้วก่อนจะมาตั้งเฟดขึ้นในรัฐบาลของวู้ดโรว์ วิลสัน เท่าที่ตรวจสอบจากกฎหมายข้อต่าง ๆ ไม่พบว่ามีอำนาจธนาคารเอกชนเข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง


"The Board of Governors is a government agency. There is absolutely no mechanism for private ownership. The governors are appointed by the president and confirmed by congress. Board members are forbidden from any economic interest in a bank or financial institution."

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://webskeptic.wikidot.com/federal-reserve-system และ http://www.federalreserve.gov/aboutthefed/fract.htm


สรุปว่าข้อมูลเท่าที่มีตอนนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า รอธส์ไชลด์ มีอิทธิพลเหนือเฟดโดยตรงแต่อย่างใด

คำสำคัญ (Tags): #Federal Reserve#The Rothschild
หมายเลขบันทึก: 593607เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท