​“บอกข้อสอบล่วงหน้า”นักเรียนเป็นสำคัญ


เพื่อเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มากยิ่งขึ้น อย่างแรกคือ บอกข้อสอบนักเรียนล่วงหน้าทั้งหมด ข้อสอบนั้นต้องครอบคลุมเนื้อหาตามหลักสูตร คำถามต้องเน้นคำตอบที่เป็นการวิเคราะห์สังเคราะห์ แล้วทยอยให้นักเรียนทำข้อสอบจนครบ

ตระหนักถึงการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมานานพอสมควร พยายามเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ยังไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ อุปสรรคปัญหาที่เห็นมีทั้งในระดับโรงเรียนจนถึงระดับกระทรวงเลยทีเดียว โรงเรียนสนใจแค่เรื่องสอบโอเน็ต หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แม้แต่กระทรวงเองก็คล้ายเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการเรียนเพื่อสอบ บางโอกาสออกหน้าด้วยซ้ำไป ในเรื่องการติวหรือกวดวิชา ซึ่งเป็นวิธีจัดการเรียนรู้ตรงกันข้ามเลยกับผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งไม่เป็นไปตามหลักสูตรและพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542

แทนที่นักเรียนจะได้ฝึกคิด วิเคราะห์ หาแนวทางแก้ไข สืบค้นข้อมูลความรู้ต่างๆด้วยตัวเอง แต่ต้องมานั่งฟัง นั่งรอ นั่งรวบรวมความรู้จากครูผู้สอน หรือครูเป็นสำคัญอยู่ฝ่ายเดียว

อุปสรรคปัญหาสำหรับตัวเองแล้ว ที่ผ่านมา ความกลัวนักเรียนจะไม่รู้ความรู้หรือเนื้อหาอยู่ในใจเสมอมา รู้พอไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยกับเขาได้ไหม? เลยเถิดไปถึงเข้าเรียนได้แล้ว จะเรียนทันเขาไหม? ประสบการณ์จัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตัวเอง พบว่าต้องใช้เวลามากกว่า กว่าจะรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ตามหลักสูตร จะช้ากว่าการที่ครูบอกความรู้อย่างเห็นได้ชัด

การบอกความรู้ของครู คือวิธีที่ครูเป็นสำคัญนั่นเอง เป็นวิธีเดียวกับการติวหรือกวดวิชาโดยทั่วๆไป สุดท้ายสังคมก็บ่นกันอย่างในสภาพปัจจุบัน “คิดไม่ได้ คิดไม่เป็น” ผลการวัดประเมินต่างๆ อยู่ในอาการย่ำแย่มาโดยตลอด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับการศึกษาด้วย เมื่อไหร่จะทัดหน้าเทียมตาประเทศอื่น

จนถึงวันหนึ่ง เมื่อคิดหน้าคิดหลัง บวกลบข้อดีข้อเสียต่างๆแล้ว ตัวเองตัดสินใจว่า จะจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มากที่สุด แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ดังใจ ด้วยความคิดเรื่องเรียนต่อของลูกศิษย์นั่นเอง ที่เข้ามารบกวนจิตใจอยู่เรื่อยๆ

ขึ้นปีการศึกษาใหม่นี้(2558) ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้มากยิ่งขึ้น อย่างแรกคือ บอกข้อสอบนักเรียนล่วงหน้าทั้งหมด ข้อสอบนั้นต้องครอบคลุมเนื้อหาตามหลักสูตร คำถามต้องเน้นคำตอบที่เป็นการวิเคราะห์สังเคราะห์ แล้วทยอยให้นักเรียนทำข้อสอบจนครบ โดยจัดให้เป็นการทดสอบย่อยบ่อยๆ ตลอดทั้งภาคเรียน

พิเศษกว่าที่เคยก็คือ การสอบย่อยนี้ จะเปิดโอกาสให้เตรียมตำรา โทรศัพท์ หรือแม้แต่โน้ตบุ๊ค มาสืบค้นคำตอบในห้องสอบได้ทั้งหมด แล้วแต่ใครจะสะดวกหรือพร้อมอย่างไร? ตั้งกติกาไว้ด้วยว่า ทุกครั้งต้องเขียนอ้างอิงที่มาของข้อมูล เมื่อให้โอกาสแล้ว การอ้างอิงต้องมากกว่าในหนังสือเรียน ยิ่งมากแหล่งเท่าไหร่ ยิ่งดี! ยิ่งไปกว่านั้น “การสอบกลางภาคและปลายภาค ครูก็จะสุ่มเลือกข้อสอบย่อยเหล่านี้แหละ ไปสอบพวกเธอ” ชี้แจงทำความเข้าใจกัน ตั้งแต่วันแรกที่โรงเรียนเปิดเทอมเลยครับ


ลองมาหลายวิธีเต็มที เพื่อให้นักเรียนขยันอ่าน อ่านก่อนมาเรียนหรือหลังเรียนทุกครั้ง “ถ้ารักการอ่านเสียแล้ว จะเรียนอะไร จะอยากรู้อะไรก็ได้” เคยให้สรุปเนื้อหามาล่วงหน้าก่อนเรียนเรื่องนั้นๆ เคยให้ทดสอบคล้ายๆอย่างนี้มาก่อน แต่ไม่ให้เปิดตำราหรือสืบค้น เคยให้ทำรายงานสรุปสาระสำคัญ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ได้ผล ทำกันบ้าง ไม่ทำบ้าง ยังไม่ขยันอ่านกันอยู่ดี

วิธีใหม่นี้น่าจะช่วยให้นักเรียนอ่านได้ดีกว่า แถมต้องคิดวิเคราะห์สังเคราะห์คำตอบ จากการสืบค้นข้อมูลที่มีผู้ศึกษาและบันทึกไว้ในแหล่งต่างๆ อีกทั้งความค้างคาใจของครูที่ว่า จะรู้เนื้อหาไม่พอในการเรียนต่อ คงทุเลา..

อย่างที่สอง ในห้องเรียนจะอธิบายเนื้อหาสาระต่างๆให้น้อยลงกว่าเดิมอีก หรือลดอาการครูเป็นสำคัญลงอีก(ฮา) จะเน้นเฉพาะเรื่องหลักๆ หรือเรื่องที่นักเรียนอาจทำความเข้าใจด้วยตัวเองได้ยาก

เดือนกว่าๆแล้ว หลังจากเปิดเทอมมา อย่างแรกเรื่องสอบกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น นักเรียนตั้งใจกันดีมาก คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ใช้ได้เลย แต่บางข้อต้องแนะนำเพิ่ม “ว่าควรเขียนให้เป็นภาษาหรือเป็นประโยคของตัวเธอเอง มิใช่ตัดแปะมาจากที่นั่นที่นี่เอาอย่างเดียว อ่านให้เข้าใจแล้วค่อยเรียบเรียง คล้ายเขียนเรียงความ พยายามเพิ่มขึ้น จะดียิ่งกว่านี้อีก”

คิดไป ทำไป สังเกตและค่อยประเมินผลไปครับ!

งานครูเรา งานพัฒนานักเรียนของเรา

(ภาพ : ปฏิบัติการศึกษาระบบนิเวศในคลองหลังโรงเรียนของชั้น ม.4/1)

หมายเลขบันทึก: 591627เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านบันทึกการเรียนรู้...ครับ

-มาส่งข่าวด้วยว่า ณ เวลานี้อำเภอพรานกระต่ายประสบภัยแล้งเนื่องจากฝนไม่ตกมานาน..

-เพิ่งจะครื้ม ๆมาวันนี้...ครับ

-สถานการณ์ต่อไปจากนี้และปีต่อๆ ไปคงจะแย่ลง..

-น่าเป็นห่วง...การเกษตร...ของบ้านเรานะครับ..

เป็นกำลังใจให้นะคะ ... โรงเรียน ก็คงคล้ายๆกับ โรงพยาบาล นะคะ ... ให้เห็นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง/เป็นสำคัญ "Patient- Focus" ... เห็นให้ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ดีใจกับน้องๆด้วยค่ะกับวิธีการใหม่นี้...

ถ่ายภาพชวนให้ติดตามมากเลย คิดถึงช่างภาพนะคะ


พี่ว่าเป็นวิธีคิดที่เข้าท่านะคะ

บอกข้อสอบก่อน ให้นักเรียนสืบค้นจากทุกแหล่ง ห้ามตัดแปะ แต่ขอให้เอามาเรียบเรียงเป็นภาษาของตัวเอง แปลว่าพวกเขาต้องทำความเข้าใจในเนื้อหานั้นเป็นอย่างดี

ได้ฝึกสืบค้นหาความรู้ ประมวลความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์

การตั้งคำถาม ออกข้อสอบ ต้องเป็นสุดยอดคำถาม

อาจารย์ พี่ชวนอาจารย์ไปอ่านบันทึกพี่นะ How Children Succeed

ชอบใจการสอนของพี่ครู

การสอนเสียดาย สพฐ เน้นที่ ONET มากเกินไป มีส่วนในการประเมินครูอีก

อยากเห้นการสอนที่เน้นผู้เรียนเป้นสำคัญแบบของพี่ครูครับ

มาให้กำลังใจ

สู้ๆครับ

  • เกษตรกรต้องต่อสู้มากขึ้นแน่นะครับ กับข่าวคราวภัยแล้วที่ย่างกรายเข้ามา อุตุนิยมพยากรณ์ว่าฝนจะมาจริงๆจังๆสิงหา.....น่าเป็นห่วงจริงๆครับ
  • ขอบคุณคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ
  • เห็นการทำงานของชาวสธ.หลายๆครั้งแล้ว ล่าสุดก็เมอร์ส ชื่นชมในความเอาจริงเอาจังมากๆครับ
  • ขอบคุณกำลังใจครับ Dr.Ple
  • สังเกตวิธีสอนเด็กๆของตัวเอง พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีที่น่าจะดีกว่าไปเรื่อยๆครับ..
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ
  • ยังถ่ายภาพเด็กๆที่สอนเรื่อยๆครับ แต่รู้สึกว่ามันซ้ำเดิมครับพี่ (ฮา)
  • ขอบคุณพี่กิติยามากครับ
  • เมื่อครูใช้วิธีใหม่ๆ ปกตินักเรียนจะตั้งใจกันดีอยู่แล้ว ต้องติดตามดูต่อไปอีกครับ
  • คิดว่านักเรียนจะได้ทั้งฝึกอ่านและเขียนไปพร้อมๆกัน สาระเนื้อหาที่มีอยู่ในนั้น ซึ่งครูหลายๆคน รวมถึงตัวเองมักห่วง กลัวลูกศิษย์จะรู้ไม่สู้คนอื่น ก็น่าจะได้ด้วยครับ
  • ขอบคุณพี่Nuiครับ
  • ระดับนโยบายบางเรื่องก็คิดอย่างแต่ทำอีกอย่างนะครับ รู้หรือไม่รู้ตัว ไม่แน่ใจเหมือนกัน(ฮา)
  • ขอบคุณอาจารย์ขจิตครับ

ชอบบันทึกนี้คับ

..

อาจารย์สบายดีนะครับ

ด้วยความระลึกถึง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท