680. เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก "สามก๊ก" (ตอนที่ 10)


ดูๆสามก๊กไป ผมก็เห็นอะไรดีๆ มากมาย เช่นตอนหนึ่งที่กวนอู ต้องจำใจมาอยู่กับโจโฉ ซึ่งโจโฉก็ดีใจมากๆ เพราะโจโฉ อยากได้ตัวกวนอูมาช่วยงานมากๆ ... แต่กวนอูดูซื่อสัตย์มากๆ พูดถึงเล่าปี่ตลอดเวลา โจโฉเลยถามที่ปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี ที่ปรึกษาเลยบอกว่าต้องซื้อใจครับ ซื้อใจกวนอูด้วยการให้เกียรติ ให้ผลประโยชน์ ที่สุดโจโฉก็ทำทุกอย่าง มีการให้ม้าเซ็กเทา มาที่เป็นสุดยอดม้าในประวัติศาสตร์ วิ่งได้ 1,000 ลี้ต่อวัน... กวนอูถึงกับคุกเข่าคาระวะโจโฉ แล้วบอกว่า “ขอบคุณท่านมาก ที่ให้ม้าตัวนี้ เพราะว่าถ้าข้าได้ยินข่าวว่าท่านพี่เล่าปี่อยู่ที่ใด ข้าจะขี่มันไปหาท่านพี่ได้ในวันเดียว...”


สุดยอดไหมครับ ที่สุดให้ตำแหน่งถึงกับเป็นข้าหลวงใหญ่ ก็รั้งกวนอูไม่ได้ เมื่อได้ข่าวเล่าปี่ กวนอูก็ออกตามหาพี่ร่วมสาบานทันที

ปรากฏการณ์เรื่องกวนอูนี้ถึงเป็นเรื่องที่ตรึงตราตรึงใจคนมานับพันปี

กวนอูเป็นลูกน้องในฝัน ที่ตามหานาย ที่ตอนนั้นก็ตกอับสุดๆ

เอาเป็นว่าถ้ายังไม่ทึ่ง ลองจินตนาการเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่ง โรงงานเกิดไฟไหม้หมดตัว แต่ลูกน้องที่พลัดพลาดกันไปวันนั้นส่วนหนึ่งไปสมัครทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ที่นายใหม่ก็รักและให้ผลตอบแทน ให้เกียรติอย่างสูง พอได้ข่าวเจ้านายเดิม ก็ถึงกับลาออก ขี่มอเตอร์ไซค์ไปหา แล้วร่วมกับนายเก่า เริ่มจากศูนย์ ก่อร่างสร้างโรงงานใหม่ ทิ้งทุกอย่างได้

นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดามากๆ ...

จะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร เรื่องนี้ต้องวิเคราะห์กันว่านายเก่าของกวนอู คือเล่าปี่มีอะไรดีนักหนานะ ถึงได้ผูกใจคนเก่งได้ขนาดนี้ เรียกว่าขนาดตกอับจนขีดสุด คนเก่งรอบตัวก็ไม่หนีไปไหน แม้ว่าจะมีลาภสักการะมากองอยู่ตรงหน้าก็ตาม นี่แสดงว่าเล่าปี่ผูกใจคนได้จริงๆ และเก่งด้วย

การผูกใจคนนี้ภาษาสมัยใหม่จะบอกว่าเล่าปี่สามารถสร้าง Employee Engagement ได้ยอดเยี่ยม ...

ส่วนโจโฉก็คงงง ตายไปยังงง เพราะไม่สามารถใช้ผลประโยชน์จูงใจกวนอูได้เลย

แต่ถ้าโจโฉ อ่านหนังสือคือ Dan Pink เรื่อง Drive นี่จะเข้าใจว่าทำไมเล่าปี่ทำได้ครับ... ทำไมกวนอูจึงเลือกขี่ม้าเซ็กเทากลับไปหาเล่าปี่


Dan Pink ศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์แห่งการจูงใจ พบว่าการที่คนเราจะมีพลัง มีแรงจูงใจมากๆ ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะสามอย่างครับ คือ

Purpose มีจุดมุ่งหมายในชีวิต

Masterly มีความเชี่ยวชาญ

Autonomy มีอิสระ

ที่ Dan Pink เจอคือเงินไม่เกี่ยวครับ ไม่แปลกที่เล่าปี่แม้ตกยาก แต่ก็สามารถสร้างแรงจูงใจ แรงใจ สร้างแรงขับให้ลูกน้องได้ ไม่มีเงิน แต่ก็ไม่มีใครหนี กับย้อนกลับมาร่วมแรงร่วมใจสร้างอาณาจักรต่อ

Dan Pin พูดถึงงานวิจัยที่น่าสนใจเมื่อสี่สิบปีก่อน มีการทดลองง่ายๆ ให้ผู้เข้าทดลองแก้ปัญหาง่ายๆ แต่แบ่งคนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกบอกว่า นี่พวกคุณช่วยแก้ปัญหานี้หน่อย เราจะเอาเวลาที่คุณแก้ปัญหาได้ ไปเป็นมาตรฐานของคนอื่นๆ ส่วนอีกกลุ่มบอกว่า ถ้าคุณอยู่ในกลุ่ม 25% แรกที่แก้ปัญหานี้ได้เร็วที่สุด คุณจะได้เงิน 5 ดอลล่าร์ แต่ถ้าคุณเป็นคนแก้ปัญหานี้ได้เร็วที่สุด คุณจะได้รางวัลถึง 20 ดอลล่าร์ ครับคิดดูมากมายขนาดไหน เงินจำนวนนี้เมื่อ 40 ปีก่อน

สิ่งที่คาดกันก็คือกลุ่มที่สอง ที่ได้แรงจูงใจเป็นเงิน น่าจะแก้ปัญหาได้เร็วและสร้างสรรค์กว่ากลุ่มแรก การณ์กลับตรงข้ามโดยเฉลี่ย กลุ่มที่มีการกำหนดค่าตอบแทนเป็นเงินกลับแก้ปัญหาได้ช้ากว่ากลุ่มแรก โดยเฉลี่ยสามนาทีครึ่ง เรื่องนี้มีการทดลองซ้ำๆ นับร้อยครั้ง กว่า 40 ปี

ตลอดเวลามีการทดลองแบบนี้ในงานต่างๆ 99% เกิดผลลบ ครับถ้าให้ผลตอบแทนเป็นเงิน แต่ก็เจอเหมือนกัน 1% ว่าให้เป็นเงินแล้วได้ผล มันคืองานที่ไม่ต้องใช้ความคิดซับซ้อนครับ มีกฏชัดเจน เช่นไหนลองยกถุงจากจุด A ไปจุด B ถ้าเจอสิ่งกีดขวางให้หลบ นี่แหละครับ งานที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่างานใช้แรง (Mechanistics เมคานิสติก) ที่มีเป้าหมายเฉพาะหน้า เห็นๆ เห็นกับตาเท่านั้น ถ้าเพิ่มแรงจูงใจด้วยเงิน จะทำให้คนทำงานได้เร็วกว่า แต่เงินจะไม่ได้ผลกับงานที่เริ่มต้องใช้สมองแก้ปัญหา (Cognitive ค๊อกนิทีฟ) มีการทดลองที่ MIT สถาบันชั้นนำของโลก เมื่อไม่นานมานี้ก็ยืนยันครับ นักวิจัยแบ่งงานให้ให้นักศึกษาทำ เป็นงานที่ใช้ทักษะการเคลื่อนไหว (ไม่ต้องคิด) กับงานที่ต้องใช้หัวคิด ปรากฏว่ายืนยันครับ แรงจูงใจให้ผลกับงานที่ใช้ทักษะการเคลื่อนไหว (แบบไม่ต้องคิด) เท่านั้น ส่วนงานคิดสร้างสรรค์ เงินกลับบั่นทอนผลงานครับ

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/530751

มีการค้นพบโดย London School of Economics ว่าเงินเดือนของ CEO ไม่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินงานของบริษัทเลย.. งงไหมครับ

ที่สุดโจโฉอาจจะเริ่มเข้าใจว่าทำไมกวนอูอยากอยู่กับเล่าปี่...

อย่างแรกเล่าปี่ไม่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นเงินได้ เพราะฉะนั้นคนในกลุ่มต้องใช้ปัญญาอย่างเข้มข้น ที่สุดเกิดความเชี่ยวชาญ (Masterly) แถมไม่วงแตกง่ายๆ เพราะไม่มีเงินมากเป็นอุปสรรค อย่างที่สองจะเห็นว่าเล่าปี่ขายไอเดีย เรื่องความเป็นราชวงค์ ที่ต้องการกอบกู้ ราชบังลังค์ แถมที่ผ่านมาเล่าปี่รักประชาชน ตรงนี้เองที่เป็รสิ่งที่ผู้กล้ารู้สึกว่ามี Purpose คืออยู่ไปเพื่ออะไร ...สุดท้ายจะเห็นว่า เวลาทำอะไรเล่าปี่ค่อนข้างให้อิสระภาพกับลูกน้อง (Autonomy)

เป๊ะไหมครับ ก๊กของเล่าปี่ดูเสียเรียบสุด แต่ก็ไปได้ไกลสุด เพราะในทางจิตวิทยา บริวารของเล่าปี่ทุกคนล้วนมีกำลังใจ พลังใจสูงเยี่ยม ความสามารถถูกดึงออกมาอย่างสุดๆ ... ความสามัคคีสูง

ต่างจากโจโฉที่ใช้ลาภสักการะล่อ ..แน่นอนโจโฉน่าจะทำงานง่ายขึ้น กลับไม่ใช่ครับ ด้วยการที่คนในก๊กอาจมี Masterly และ Autonomy ก็จริง แต่แน่นอนหลายคนอยู่ด้วยความจำใจ เพราะโจโฉขาด Purpose แถมทำร้ายคนดีๆ มากๆ ... ที่สำคัญการใช้ประโยชน์บั่นทอนระบบการคิด แบบที่ Dan Pink พูดไว้ชัดๆ .. โจโฉจึงต้องออกแรงเยอะครับ

เรียกว่าถ้าเอาเล่าปี่มาเป็นอธิการบดี ก็อาจทำให้มหาวิทยาลัยจนๆ ไม่มีทุนสร้างโนเบลไพร๊ซ์ได้ครับ ...

เรื่องนี้เกิดจริงในอังกฤษ มีอาจารย์สองคนจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้รับรางวังโนเบลไพร๊ซจากการค้นพบกราฟีน ส่ิงที่อาจปฏิวัติวงการไฟฟ้า และตอนนี้ก็เริ่มปฏิวัติแล้ว มันเป็นตัวนำคาร์บอนที่เรียงตัวเป็นโมเลกุลหนาชั้นเดียว

คุณอาจคิดว่าระดับนี้แล้ว ต้องมาจากมหาวิทยาลัยที่ให้เงินเดือนอาจารย์ดีสุด โบนัสเพียบ ห้องแล๊บดี งานวิจัยดัง และโครงการนี้เป้นโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนท่วมฟ้า...เปล่าครับ ..อาจารย์สองท่านนี้ท่านรัก และรู้สึกรักในความเป็นอาจารย์นักวิจัย (Purpose) ... อาจารย์สองท่านทำวิจัยมามากๆ (Masterly) และอาจารย์ก็ทำงานโครงการวิจัยที่ได้ทุนมหาศาล แต่ก็รู้สึกไม่อิสระมากนัก เลยเจียดเวลาทุกวันศุกร์เย็น มากหารือ ร่วมกันศึกษาสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่ใช้ทุนใคร และไม่ใช้เครื่องมืออะไรแพงๆ ที่สุดค้นพบกราฟีน ส่ิงปฏิวัติโลก....

ถ้าคุณดูเรื่องกรณีศึกษา Nobel Prize นี้คุณจะรู้เลยว่าก๊กของเล่าปี่จะมีสีสัน ทรงพลังปัญญา ขนาดที่กลายเป้นคู่แข่งที่น่ากลัวของก๊กที่มีอำนาจเงินตรา และกำลังอย่างโจโฉได้อย่างไร...

ตอบได้ครับว่าเพราะ Drive ของคนในก๊กสูง แถมไม่มีเรื่องเงินมาบั่นทอนความฉลาด เลยแรงครับ...

สำหรับนักพัฒนาองค์กรสมัยใหม่ ผมแนะใช้โค้ชครับ หาโค้ชมาช่วยค้นหา Purpose ของคน ว่าเขาเกิดมาเพื่ออะไร สำนักคิดที่เด่นที่สุดในเมืองไทยเรื่องโค้ชขณะนี้สำนักคิดหนึ่งคือ Thai Coach ครับ... ตอนนี้จะเปิดรุ่น 6 แล้วครับ ที่นี่เป็นสังคมโค้ชที่ทรงพลังที่สุดที่ผมเคยเห็นมาครับ

Credit: ฤทธิ์วิสุทธิ์ ตั้งเกษมศักดิ์


ส่วนเรื่อง Masterly และ Autonomy อาจใช้เครื่องมือพัฒนาองค์กรเช่น Appreciative Inquiry หรือ Theory U, KM หรือ Talent Scan ของอ.วนิดาจาก Thai Coach และ Learning Organisation มาช่วยก็ได้

Note: อ่านเรื่องของกราฟีนต่อได้ที่ http://www.theguardian.com/science/2011/oct/07/hug...

เปิดมุมมอง Thai Coach จากท่านว. ได้ที่นี่ครับ


หมายเลขบันทึก: 591621เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท