ว่าด้วยท้องถิ่นนิยม (Localism)


ว่าด้วยท้องถิ่นนิยม

25 มิถุนายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

เขียนบทความเรื่องท้องถิ่นมาหลายบท ยังไม่เคยมีบทว่าด้วยท้องถิ่นจริงสักครั้ง ลองมาดูว่า “ท้องถิ่นนิยม” ในกรณีท้องถิ่นจริง ๆ มีหรือไม่ อย่างไร

ในต่างประเทศกรณีท้องถิ่นนิยม ถือเป็นเอกลักษณะของท้องถิ่นในแต่ละถิ่น ที่ออกมาในรูปของวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็น “อัตลักษณ์” (Identity) อย่างหนึ่ง ใครจะว่าท้องถิ่นนิยม เป็น กระแสชาตินิยมรักชาติอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ในสภาวะที่บ้านเมืองต้องการความสมานสามัคคี ปรองดอง และการปฏิรูปเช่นนี้ เราต้องหันมามองกระแส “ท้องถิ่นนิยม” (Localism) [2] หรือ “ชุมชนนิยม” (communitarianism) หรือ “วัฒนธรรมชุมชน” [3] ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเกี่ยวกับ “แนวคิดชุมชน” ที่ปัจจุบันกระแสแนวคิดในเรื่องชุมชน แยกได้ในสามแนวทางคือ [4] (1) แนววัฒนธรรมชุมชน (2) แนวสิทธิชุมชน (3) แนวชุมชนจัดการตนเองและประชาธิปไตยชุมชน

ความหมาย

“ท้องถิ่นนิยม” เป็นแนวคิดทางทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หมายถึง [5] พันธะผูกพันทางอารมณ์ที่มนุษย์ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับกลุ่มมีต่อถิ่นที่อยู่อาศัย ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณี สัญลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ของตนเอง ซึ่งหาใช่มีความหมายเพียงหน่วยในการตั้งถิ่นฐานตามเขตการปกครองเท่านั้น ในกระบวนการท้องถิ่นนิยมที่เกิดขึ้นและกำลังเคลื่อนไหวในปัจจุบันพบได้ในหลากหลายแง่มุมด้วยกัน บ้างก็ใช้เพื่อเรียกร้องการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้างรณรงค์ให้ชุมชนหันมาอนุรักษ์หวงแหนวัฒนธรรมพื้นถิ่น (ภาษา, การแต่งกาย, ขนบธรรมเนียมปฏิบัติ, สถาปัตยกรรมท้องถิ่น ฯลฯ) หรือการที่พรรคการเมืองบางพรรคนักการเมืองบางคนเอามาเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียง แม้กระทั่งในเกมกีฬาก็ไม่มีข้อยกเว้นแต่อย่างใด เป็นต้น กล่าวโดยสรุปว่า [6] “ท้องถิ่นนิยม” เป็นกระแสของชุมชนท้องถิ่นที่มีรากฐานทางทรัพยากร ภูมิปัญญา พัฒนาการและประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ของตนเอง

ต้นไม้ ต้นเดียว เป็นป่าไม้ได้ ต้นไม้ชนิดเดียว ก็เป็นป่าไม่ได้ เพราะไม่มีความหลากหลายในชีวิต เปรียบเช่น “คนท้องถิ่น” ที่มีปัญหามากมายหลากหลาย ในการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการ ในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ย่อมใช้ปัจจัยในการแก้ไขปัญหาที่เหมือนกันทั้งประเทศ ย่อมไม่ได้ หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่ง การแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นนั้น จะใช้รูปแบบในการแก้ไขปัญหาที่เป็น “พิมพ์เขียว” (Blueprint) จากส่วนกลางที่หยิบยื่นส่งให้มาแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะมันไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่นที่มีสภาพปัญหาและอัตลักษณ์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป

ในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นนั้น ย่อมมาซึ่ง เครื่องมือเครื่องใช้ไม้สอยที่ต่างกัน ทั้งนี้ เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม สิ่งของเครื่องใช้ย่อมต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น เรือกอและ ในภาคใต้ ย่อมมีโครงสร้างเรือที่แตกต่างไปจากเรือของชาวอยุธยา หรือ คนใต้อยู่กับท้องทะเล ต้องดำรงชีวิตด้วยการจับปลา อุปกรณ์การหาปลาย่อมมีมากกว่าคนอยู่บนเขา ส่วนคนบนเขา มีชีวิตอยู่กับการล่าสัตว์ อุปกรณ์การดำรงชีวิต ย่อม ต่างจากคนทางลุ่มน้ำ หรือคนอยู่ทะเล เป็นต้นอย่างไรก็ตาม ในทุกสังคมย่อมจะเลือกรังสรรค์ เครื่องมือ เครื่องใช้ให้เหมาะกับวิถีชีวิตของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้จะได้รับการพัฒนาขึ้นจนเป็นสิ่งที่ดีที่ย่อมรับกันในสังคมนั้นๆ เรียกว่า “วัฒนธรรม” (Culture & Civilization) [7] ทำให้เกิดความสวยงามและชื่นชมในตนเองที่ถือว่าเป็น คุณลักษณะที่ดีงาม ควรค่าแก่การยอมรับและถือปฏิบัติไปสืบจนชั่วลูกชั่วหลาน โดยท้องถิ่นแต่ละแห่งก็จะมีลักษณะเฉพาะ ที่แสดงความเป็นตัวตนของตนเองที่เรียกว่า “อัตลักษณ์” อันเป็น “รากเหง้า” ทางวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในวิถีชีวิตและจิตใต้สำนึกของคนในท้องถิ่นนั่นเอง ซึ่งสามารถนำมาเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาได้ เช่น ผ้าป่าข้าวช่วยชาวบ้านได้ หรือ วัฒนธรรมไทยกับงานพัฒนาชนบท ซึ่งเน้นถึงประโยชน์ของการนำเอาวัฒนธรรมของชาวบ้านมาใช้ในงานพัฒนา รวมทั้ง การที่แต่ละท้องถิ่นได้ร้อยเรียงวัฒนธรรมของตนเองออกมาในรูปของ “สินค้าหรือผลิตภัณฑ์” ที่เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของตนเอง แล้วนำเสนอต่อตลาดทั้งในในระดับชุมชน ระดับประเทศ หรือ ในระดับระหว่างประเทศ จนกระทั่งมีชื่อเสียงในที่รู้จักกันทั่วไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่งคือ เรื่องการเมือง (Politics) ณ วันนี้ กระแสการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นกำลังมาแรง เร่งเร้าการสลายขั้วอำนาจของรัฐบาลกลางที่ผูกขาดการรวมศูนย์ไว้อย่างท้าทาย ในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) [8] นั้นก็ต้องไม่ลืมคำว่ากระแส “ท้องถิ่น” หรือ “ท้องถิ่นนิยม” ด้วย เพราะทั้งสองกระแสคือ สองด้านของเหรียญเดียวกันที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่ถือเป็นเรื่อง “ท้องถิ่นนิยม” ได้ในสองเรื่อง คือ (1) เรื่องสินค้าชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน และ (2) เรื่องประชาธิปไตยกินได้

ในเรื่องสินค้าชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน

“โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ One Tambon One Product (OTOP) เป็น “โครงการผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น” หรือ Outlet To On-Shelf Peer working เกิดจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ.2544 ลงวันที่ 7 กันยายน 2544 [9] เป็นโครงการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวบ้านในแต่ละตำบลสร้างอาชีพในการผลิตสินค้า เพื่อออกจำหน่าย โดยสร้างสินค้าที่เป็นสินค้าประจำตำบลนั้นๆ จากแรงบันดาลใจมาจากโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OVOP- One Village One Product) ที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่น [10] แม้หลังจากรัฐประหาร พ.ศ.2549 โครงการโอทอปได้ถูกยกเลิกไป แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ในปี 2553 เป็น “ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น” หรือ Outlet To On-Shelf Peer working โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ โอทอปที่ผลิตโดยชุมชน เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” ซึ่งไม่จำเป็นว่า หนึ่งตำบลจะต้องมีหนึ่งผลิตภัณฑ์ อาจเป็นหลายชุมชนเป็นเครือข่าย และไม่จำเป็นต้องอยู่ในจังหวัดหรือภาคเดียวกันส่วนที่ 2 คือผลิตภัณฑ์มาจากผู้ประกอบรายเดียว เช่น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น” โดยมุ่งเน้นเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างรายได้ และกำไรให้กับชุมชนของตนเอง ส่วนการพัฒนาสินค้าชุมชน จะเน้นการเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้าน โดยให้นำศักยภาพทางการตลาดมาเป็นตัวนำในการผลิตสินค้า เพื่อเป้าหมายด้านรายได้และกำไร ตามระบบตลาดมาเป็นตัวนำในการผลิตสินค้า โดยมองว่า ที่ผ่านมาจะเป็นการดำเนินธุรกิจ โดยไม่มีการวางแผนถึงแนวทางการทำการตลาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ต้องล้มหายตายจากไป ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ [11]

ในเรื่องประชาธิปไตยกินได้

ประชาธิปไตยกินได้ [12] เป็นวาทกรรม (discourse) [13] ที่มีความหมายเป็นนัยยะว่า ประชาชนสามารถเลือกผู้นำของตนเองได้เองตามที่ประชาชนต้องการ นักการเมืองใดที่สามารถแก้ปัญหาตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้ แก้ไขปัญหาของคนในท้องถิ่นได้ก็จะได้รับการเลือกตั้งให้กลับมาบริหารบ้านเมืองต่อในครั้งต่อไปได้ ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างจาก “ประชานิยม” (populist projects or populism) [14] ที่นักการเมืองจะมุ่งตอบสนองต่อตนเองเป็นที่ตั้ง โดยการหลอกล่อให้คนท้องถิ่นตายใจแล้วเลือกตนเขามาบริหารงาน แต่ “ประชาธิปไตยกินได้” เป็นกรณีที่ตรงข้ามกัน กล่าวคือ นักการเมืองจะต้องแก้ปัญหาของคนในท้องถิ่นให้ได้และตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นให้ได้ มิใช่ทำตามที่ตนเองวางแผนการไว้เพื่อเอาใจคนท้องถิ่น เพื่อหวังผลแก่ตนเองคือการได้รับการเลือกตั้งในวาระต่อไป

ถึงตรงนี้แล้ว คงพอจะมองออกแล้วหละว่า “ท้องถิ่นนิยม”มีประโยชน์ต่อการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศได้อย่างไรอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ยังคงมีคุณค่าที่บรรดา “นักการเมือง” และ “นักพัฒนา” ทั้งหลายต้องใส่ใจให้ความสำคัญต่อ “ท้องถิ่น” และทำต้องทำความเข้าใจใน “บริบทของท้องถิ่น” นั้นๆ ให้เป็นเสมือนหนึ่งตนเอง มิใช่การหยิบยื่นอัตลักษณ์หรือแนวคิดของตนเองไปให้ท้องถิ่นทำหรือให้ถือเป็นของท้องถิ่น โดยมิใช่เป็นความตั้งใจของท้องถิ่นเอง

 

[1] สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ/คณะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น/คณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน/ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ....ของคณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน สภาปฏิรูปแห่งชาติ, นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22704 หน้า 10 <การเมืองท้องถิ่น>

[2] ท้องถิ่นนิยม, โดยพัฒนา กิติอาษา, กองทุนอินทร์-สม เพื่อการวิจัยทางมานุษยวิทยา, 2546, http://sutir.sut.ac.th:8080/sutir/bitstream/123456789/2564/1/ท้องถิ่นนิยม.pdf 

&บุญยิ่ง ประทุม, “ท้องถิ่นนิยม :ในบริบทสังคมไทย 2551”,ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 22 ตุลาคม 2551, http://www.oknation.net/blog/baocd12/2008/10/22/entry-1

& บุญยิ่ง ประทุม, ท้องถิ่นนิยม :ในบริบทสังคมไทย 2551, GotoKnow, 25 ตุลาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts...

[3] กิรพัฒน์ เขียนทองกุล, “ชุมชนนิยม : แนวคิดและข้อสังเกตพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น”, นำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 1 วันที่ 28 - 29 สิงหาคม พ.ศ.2557 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น, https://www.academia.edu/10921256/ชุมชนนิยม_แนวคิดและข_อสังเกตพื_นฐานขององค_ความรู_ที_เกี_ยวข_องกับการปกครองท_องถิ_น

[4] ธร ปีติดล, “แนวคิดเรื่องชุมชนนิยม กับการสร้างเสริมเสรีภาพ”, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

ชุดหนังสือสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ , 2554, http://v-reform.org/wp-content/uploads/2014/06/แนวคิดเรื่องชุมชนกับการสร้างเสริมเสรีภาพ.pdf

[5] “จากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสู่ประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่นนิยม”, www.lek-prapai.org/watch.php?id=828

[6] บุญยิ่ง ประทุม, อ้างแล้ว, 2554

[7] “วัฒนธรรม (Culture)”, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/วัฒนธรรม , วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และ ความเหมาะสม & “อารยธรรม (Civilization)”, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/อารยธรรม, อารยธรรม (อังกฤษ: Civilization) โดยทั่วไปอาจหมายถึงความเจริญทางวัฒนธรรม แต่สำหรับทางด้านประวัติศาสตร์ อารยธรรม อาจหมายถึงการศึกษาความซับซ้อนของระบบสังคม

[8] “โลกาภิวัตน์”, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/โลกาภิวัตน์

[9] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ.2544, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 91 ง หน้า 9-13 วันที่ 19 กันยายน 2544, http://www.library.coj.go.th/info/data/AC182-01-001.PDF , มีแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545

[10] “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wikiหนึ่งตำบล_หนึ่งผลิตภัณฑ์/

[11] กัลยาณี สูงสมบัติ, “ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (Outlet To On-Shelf Peering Working) หรือ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์”,มหาวิทยาลัยเทคโนราชมงคลพระนคร, 2554, http://uhost.rmutp.ac.th/kanlayanee.so/L6/6-2-3.html

[12] สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์, อำนาจภาคประชาชน กับ “ประชาธิปไตยที่กินได้”, สำนักข่าวประชาธรรม, 10 ตุลาคม 2549, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000126331 & สมัชชาคนจน, “เราต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ และการเมืองที่เห็นหัวคนจน”, แถลงการณ์ ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 10 ธันวาคม 2549, www.prachatai.com/journal/2006/12/10868 & พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, “ประชาธิปไตยที่ห้ามกิน กับ ประชาธิปไตยที่กินได้”, 11 เมษายน 2552, http://www.prachatai.com/journal/2009/04/20760

[13] วาทกรรม คือรูปแบบของความคิด หรือกรอบความคิด เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นสถาบันและมีการสืบทอด ดูใน “วาทกรรม”, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/วาทกรรม

[14] ดู “ลัทธิอิงสามัญชน”(populism), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ลัทธิอิงสามัญชน &วินัย ผลเจริญ , ผลกระทบของนโยบายประชานิยมที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย, ส่วนหนึ่งของรายงานประจำภาคในวิชาสัมมนาการเมืองการปกครองไทย ภาค 1/2546 นักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอต่อ อ.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, http://www.fringer.org/wp-content/writings/populist.pdf& ปีดิเทพ อยู่ยืนยง, ประชานิยม(populist)และประชาสังคม(Civil Society), 8 ตุลาคม 2550, http://writer.dek-d.com/nutnakub/story/view.php?id=343392... ประชานิยม(populist) หรืออาจตีความหมายได้อย่างง่ายๆว่าเป็นการบริหารงานโดยเน้นถึงความนิยมของประชาชนต่อนโยบายเป็นสำคัญ กล่าวอย่างชาวบ้านก็คือ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนนั้นเอง ... & รัฐศาสตร์ มสธ., “นโยบายประชานิยม ข้อดี เเละข้อเสีย”, 25 สิงหาคม 2554, https://touch.facebook.com/notes/รัฐศาสตร์-มสธ/นโยบายประชานิยม-ข้อดี-เเละข้อเสีย/223564471024640/... นโยบายประชานิยม คือ นโยบายที่สนับสนุนประชาชนคนยากจนเป็นหลัก เพื่อมุ่งหวังความนิยมทางการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องมีความสมเหตุสมผลหรือเป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์มหภาคมารองรับและไม่จำเป็นเหตุผลที่ดีที่สุดของประเทศในขณะนั้นนโยบายประชานนิยมเป็นทั้งภาพหลอนทางการคลังของรัฐบาล &“Thai Populist Policies : นโยบายประชานิยมของไทย ที่ ได้รับการกล่าวขาน”, September 15, 2011, http://2bangkok.com/thai-populist-policies.html& รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของพอพพิวลิวสม์ (Populism) ในละตินอเมริกา : กรณีศึกษาประธานาธิบดี Hugo Chávez แห่งประเทศเวเนซูเอลา, รายงานชิ้นวิชา HS 602 ปีการศึกษา 1/2556, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, https://www.academia.edu/6992422/_รายงานชิ_นที_2_วิชา_HS_602_ปีการศึกษา_1_2556_ประวัติศาสตร_นิพนธ_ของประชานิยม_Populism_ในละตินอเมริกา_กรณีศึกษาประธานาธิบดี_Hugo_Chávez_แห_งประเทศเวเนซุเอลา

หมายเลขบันทึก: 591617เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2021 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท