การถ่ายเทไฟฟ้าสถิตจากร่างกายด้วยรองเท้าและพื้นควบคุมไฟฟ้าสถิต


การถ่ายเทไฟฟ้าสถิตจากร่างกายด้วยรองเท้าและพื้นควบคุมไฟฟ้าสถิต

สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดไฟฟ้าสถิตในการทำงานก็คือ การเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะการสัมผัสของรองเท้าและพื้นขณะนั่งหรือเดิน การลดและควบคุมไฟฟ้าสถิตให้ได้ผลมากที่สุดคือการใช้พื้นควบคุมไฟฟ้าสถิตร่วมกับรองเท้าตัวนำ เพื่อถ่ายเทไฟฟ้าสถิตจากร่างกายลงสู่ระบบกราวด์ ดังรูปที่ 3.6 โดยเฉพาะในลักษณะงานที่พนักงานไม่ได้นั่งอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งไม่สามารถใช้สายรัดข้อมือได้ หรือลักษณะงานที่พนักงานทำงานอยู่ใกล้เครื่องจักรและอาจเกิดอันตรายจากสายรัดข้อมือกับเครื่องจักรที่อยู่รอบข้าง เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้พื้นควบคุมไฟฟ้าสถิตยังมีประโยชน์ในการถ่ายเทประจุและลดไฟฟ้าสถิตจากเคลื่อนที่ของรถเข็นหรือเก้าอี้บนพื้นนั้นได้อีกด้วย คุณลักษณะของพื้นที่ใช้ควบคุมไฟฟ้าสถิต จึงมีอยู่ 2 ประการคือ ลดการเกิดประจุจากการสัมผัส และเป็นทางผ่านในการถ่ายเทประจุที่เกิดขึ้นลงสู่กราวด์

ข้อจำกัดในการใช้พื้นควบคุมไฟฟ้าสถิตร่วมกับรองเท้า มีอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ ในการทำงานที่พนักงานนั่งบนเก้าอี้ พนักงานควรใส่สายรัดข้อมือร่วมด้วยตลอดเวลา เพราะถ้าพนักงานนั่งโดยไม่ได้วางเท้าบนพื้นก็จะไม่สามารถถ่ายเทประจุที่เกิดขึ้นผ่านรองเท้าสู่พื้นได้ ข้อจำกัดที่สองคือราคาของพื้นควบคุมไฟฟ้าสถิตพร้อมกาวตัวนำ (Conductive adhesive) และการติดตั้งซึ่งเป็นการลงทุนครั้งแรกที่สูง รวมทั้งการติดตั้งบนพื้นคอนกรีตต้องมีความระมัดระวังเรื่องความชื้น ถ้าเป็นอาคารใหม่ควรจะมีการก่อสร้างที่ป้องกันความชื้นจากพื้นดินไว้แต่แรก ถ้าพื้นคอนกรีตมีความชื้นสูง อาจมีความจำเป็นต้องใช้กาวตัวนำชนิดพิเศษที่มีแรงยึดติดมากขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันความชื้นทาทับคอนกรีตก่อนจะมีการติดตั้งพื้นควบคุมไฟฟ้าสถิต เป็นต้น

ชนิดและการเลือกใช้พื้นควบคุมไฟฟ้าสถิต

1. พื้นชนิดอิพอกซี่ (ESD Epoxy Flooring) ข้อดี บำรุงรักษาง่าย ทนทานต่อรอยขีดข่วน ค่าความต้านทานสม่ำเสมอ ทนทานต่อสารเคมี รับแรงกดได้สูงมาก สะอาด ใช้ในห้องสะอาดได้ ไม่มีรอยต่อของแผ่นต่อแผ่น ข้อเสีย การติดตั้งต้องอาศัยผู้ชำนาญงานและราคาสูงมาก ไม่สะดวกในการซ่อมแซม

2. พื้นชนิดไวนิล (ESD Vinyl Flooring) ข้อดี ทนทานต่อรอยขีดข่วนได้ปานกลาง ติดตั้งและซ่อมแซมง่าย ติดตั้งบนพื้นชนิดยกสูง (Raised Access) ได้ ข้อเสีย มีรอยต่อแผ่นต่อแผ่น รับแรงกดจากเครื่องจักรได้จำกัด ต้องทำความสะอาดและบำรุงรักษาสม่ำเสมอ

3. พื้นชนิดแผ่นม้วน (ESD Floor Mat) ข้อดี ติดตั้งและเคลื่อนย้ายสะดวก ราคาถูกโดยเฉพาะการติดตั้งในบริเวณเล็ก ๆ ค่าความต้านทานสม่ำเสมอ ข้อเสีย ไม่ทนทานต่อรอยขีดข่วน ราคาสูงถ้าติดตั้งบริเวณกว้าง รับแรงกดได้จำกัด ไม่ทนทานต่อสารเคมี

4. สีชนิดตัวนำหรือดิสซิเปทีฟ (Dissipative Paint) ข้อดี ใช้งานง่าย ราคาถูก แต่อาจไม่สามารถวัดความต้านทานเทียบกราวด์ได้ตามมาตรฐาน ข้อเสีย อาจต้องบำรุงรักษาบ่อยเนื่องจากสีลอกหรือกระเทาะเนื่องจากการใช้งานหรือความชื้นของพื้นคอนกรีต

ในลักษณะงานที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้นั่งอยู่กับที่ ซึ่งไม่สามารถใช้สายรัดข้อมือสำหรับถ่ายเทประจุลงกราวด์ได้ การใช้รองเท้าควบคุมไฟฟ้าสถิตร่วมกับพื้นควบคุมไฟฟ้าสถิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และถึงแม้ว่าผู้ปฏิบัติงานจะสวมสายรัดข้อมือก็ตาม การใช้รองเท้าและพื้นเป็นการถ่ายเทประจุอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้ความเชื่อถือของระบบควบคุมไฟฟ้าสถิตสูงขึ้น

หมายเลขบันทึก: 591618เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2015 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท