​ค่ายสถาปัตย์สัญจร ครั้งที่ ๑๓ ... ความสำเร็จเล็กๆ ๒ ปีต่อเนื่องในเวทีกระดานดำกับกระทิงแดง


ค่ายสถาปัตย์สัญจรเป็นค่ายที่นิสิตไม่ได้มีสถานะของการเป็น "ผู้ให้" ต่อชุมชนแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะหนึ่งก็เรียนรู้ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการก่อสร้างโดยมี "ครูช่าง" ที่เป็น "ชาวบ้าน" มาช่วยกำกับดูแล

โครงการค่ายสถาปัตย์สัญจร ครั้งที่ ๑๓ โดยสโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ เป็นอีกกิจกรรมที่ตอบโจทย์การบ่มเพาะนิสิตตามกรอบอัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) สอดรับกับเอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) และปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)



ค่ายสถาปัตย์สัญจร ครั้งที่ ๑๓ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๙-๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๖ ณ โรงเรียนบ้านท่างาม บ้านด่านเม็ก ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก คือการสร้างห้องสมุดและปรับปรุงต่อเติมอาคารเรียน โดยมีประเด็นสำคัญชวนศึกษาเรียนรู้ ดังนี้

๑.ต่อยอดจากละครเวทีประเพณีสถาปัตย์ : ค่ายสถาปัตย์สัญจรฯ คือกิจกรรมต่อยอดจากงานละครประเพณีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ที่จัดขึ้นในทุกๆ ปี แนวทางการขับเคลื่อนที่ยึดปฏิบัติเสมอมาคือนำรายได้ส่วนหนึ่งจากละครเวทีไปสู่การออกค่าย โดยข้อเท็จจริงถึงแม้รายได้จากละครเวทีจะไม่ทำกำไรอย่างมากมาย แต่ก็ถือเป็นธรรมเนียมนิยมอันดีงามจากรุ่นสู่รุ่นในการผูกโจทย์การเรียนรู้อย่างไม่ขาดห้วง

๒.เป็นหนึ่งในระบบและกลไกคณะ : ปัจจุบันค่ายสถาปัตย์สัญจร มิได้ดุ่มเดินอย่างโดดเดี่ยวจากระบบ มิใช่การแบกรับภารกิจหนักหน่วงของชมรมสถาปัตย์สัญจร หรือสโมสรนิสิตคณะสถาปัตย์ฯ เท่านั้น หากแต่กลายเป็นกิจกรรมหลักเชิงรุกของการรับใช้สังคมที่ผู้บริหารคณะให้ความสำคัญ โดยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้จำนวนงบจะไม่มากมาย แต่ก็นับว่าเป็นระบบและกลไกที่มีพลังในการพัฒนานิสิต รวมถึงการฉายให้เห็นถึงสถานะของค่ายในความเป็นคณะอย่างไม่ต้องกังขา



๓.หนึ่งในหกโครงการกระดานดำกับกระทิงแดง ปีที่ ๑๒ : เป็น ๑ ใน ๖ โครงการจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาของบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ในชื่อโครงการ "กระดานดำกับกระทิงแดง ปีที่ ๑๒ จึงนับเป็นความสำเร็จในมิติสาธารณะ เพราะผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากผู้ทรงคุณวุฒิของเจ้าของทุน สะท้อนถึงศักยภาพและพลังแห่งจิตอาสาของนิสิตคณะสถาปัตย์ฯ อย่างน่ายกย่อง

๔.บูรณาการกิจกรรมหลากรูปลักษณ์ : ถึงแม้สถาปัตย์สัญจร จะมุ่งเน้นไปยังเป้าหมายหลักคือการสร้างอาคารเรียน แต่ก็พบว่ามีกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้คู่บริการที่หลากหลายไม่แพ้โครงการอื่นๆ นับตั้งแต่การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน การพานักเรียนทาสีผนังและวาดรูปบนผนังอาคาร การจัดกิจกรรมรอบกองไฟผ่านดนตรีและการรำมวยโบราณที่นิสิตคณะสถาปัตย์ฯ มักนำเสนอผ่านหลายๆ เวทีของการทำกิจกรรม เพื่อสื่อถึงมิติของศิลปะการแสดง หรือการต่อสู้ในแบบวิถีไทย นอกจากนั้นยังรวมถึงการจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อสานสัมพันธ์กับชุมชนผ่านกีฬา หรือกระทั่งการไปทำบุญตักบาตรที่วัด และการบายศรีสู่ขวัญที่ชุมชนจัดขึ้นก่อนวันปิดค่าย



๕.ค่ายอาสาบนฐานของทักษะวิชาชีพ : ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่ายสถาปัตย์สัญจรมีกลิ่นอายแห่งความเป็นวิชาชีพ หรือตัวตนของชาวสถาปัตย์อย่างเด่นชัด เพราะการสร้างอาคารเรียนนั้นล้วนเกี่ยวโยงกับวิชาชีพทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคาร การออกแบบวัสดุ กระบวนการก่อสร้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานทางวิชาชีพล้วนๆ

๖.เรียนรู้คู่บริการและการประสานความรู้กับ (ครู) ชาวบ้าน : ค่ายสถาปัตย์สัญจรเป็นค่ายที่นิสิตไม่ได้มีสถานะของการเป็น "ผู้ให้" ต่อชุมชนแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะหนึ่งก็เรียนรู้ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการก่อสร้างโดยมี "ครูช่าง" ที่เป็น "ชาวบ้าน" มาช่วยกำกับดูแล หรือกระทั่งการเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องของการ "เชื่อมเหล็ก" ซึ่งเป็นเรื่องที่นิสิตขาดความรู้และทักษะ

กรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นเสมือนการประสานพลังของการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องจ้างวานในแบบของค่าตอบแทนใดๆ นอกจากนั้นภาคส่วนในชุมชนยังให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเข้ามาสู่โครงการ เช่น อบต./เทศบาล ตอกย้ำให้เห็นความสำเร็จเล็กๆ ของการเรียนรู้คู่บริการบนฐานของการมีส่วนร่วมอย่างน่าชื่นชม



๗.AAR ..เดินหน้าต่อเนื่องเป็นปีที่สอง (ปิดจุดอ่อนเติมจุดแข็ง) : ค่ายสถาปัตย์สัญจร มีปัญหาท้าทายการคิดและการจัดการของแกนนำค่าย อาทิ จำนวนนิสิตเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ส่งผมให้เกิดภาวะ "คนล้นงาน" และการไม่ได้ออกแบบกิจกรรม "เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน" เพราะส่วนใหญ่พุ่งทะยานไปยังการสร้างอาคารให้แล้วเสร็จมาเงื่อนไขของเวลา ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบแยกส่วนระหว่าง "โรงเรียนกับหมู่บ้าน"



ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการประชุมสรุปงานจึงการเป็นความท้าทายใหม่ เสมือนการปิดจุดอ่อนและเติมจุดแข็งด้วยการนำเสนอโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ ในลักษณะเช่นเดิม และกลายเป็น ๑ ใน ๖ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการกระดานดำกับกระทิงแดง ปีที่ ๑๓ ในวงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หากแต่ปีที่ ๒ นี้นำจุดอ่อนเรื่องการเรียนรู้ชุมชนมาเป็นกิจกรรมหลักควบคู่ไปกับการบริการสังคมของชาวค่ายตามครรลอง "เรียนรู้คู่บริการ"



ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ค่ายสถาปัตย์สัญจร จึงนับเป็นกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีคุณลักษณะเฉพาะในทางวิชาชีพในวิถีค่ายอาสาพัฒนา หากในปีที่ ๒ ที่กำลังจะขับเคลื่อนในอีกไม่ช้า สามารถผนึกความเป็นทักษะทางวิชาชีพอื่นๆ เพิ่มเข้าเป็นกิจกรรมในค่ายได้ จะเป็นการเรียนรู้คู่บริการที่มีพลังอย่างมหัศจรรย์ เช่น

  • ให้ความรู้แก่นักเรียนในเรื่องของการวาดภาพ การใช้สี
  • พานักเรียนวาดภาพเรื่องราว หรือสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน
  • พานักเรียนเดินเท้าเข้าหมู่บ้านศึกษางานสถาปัตยกรรมในชุมชนผ่านมิติ "บวร" (บ้าน-วัด-โรงเรียน)
  • ฯลฯ

ซึ่งกระบวนการเล็กๆ เช่นนี้ ไม่ใช่การเรียนรู้ชุมชนธรรมดาเท่านั้น หากแต่หมายถึงการสร้างกระบวนการบ่มเพาะเรื่อง "รักษ์ท้องถิ่น" (สำนึกรักบ้านเกิด) ไปในตัวด้วยเช่นกัน



หมายเหตุ : ภาพโดยสโมสรนิสิตคณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ฯ มมส

หมายเลขบันทึก: 588249เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2015 02:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาชมกิจกรรม..สร้างคน...

-สำนึกรักบ้านเกิด....เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ๆ ครับ

-มาชวนอาจารย์ไปปีนเขาตาพวง...ด้วยกันครับ

ชื่อค่ายน่าสนใจ

กระทิงแดงสนับสนุนค่ายให้นิสิตได้ทำกิจกรรมนะครับ

เห็นการร่วมมือของชุมชนด้วย

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท