จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๒๗: มรณวิทยา (Thanatology)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๒๗: มรณวิทยา (Thanatology)

คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ มีการเรียนการสอนสาระมรณวิทยา (Thanatology) สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๓ ใน Block Human's Life cycle นัยว่าเรียนเกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ต้องเรียนเรื่องการตาย (ที่ไม่ใช่เกี่ยวกับ necrosis, lysis, apoptosis, etc) หรือผลกระทบของความตายต่อปัจเจกมนุษย์และสังคม เราใช้เครื่องมือช่วยสอนหลายประการ อาทิ ภาพยนต์ การอภิปรายกลุ่มย่อย และภาคการบรรยาย ผมได้มีส่วนในกิจกรรมเหล่านี้ แต่ที่น่าสนใจจะมาเล่าก็คือ มีการสอบด้วย และให้ผมออกข้อสอบ จะเก็บคะแนน ตอนที่สอนไปก็ไม่ได้ประมาณว่าจะออกข้อสอบอย่างไร (หรือแม้กระทั่งว่าจะสอบกันด้วยหรือ) สุดท้ายก็เลยขอออกเป็นข้อเขียน short assay ไปสองข้อ
@ อภิปราย "ความตายอันเป็นสุขภาวะแบบองค์รวม"
@ อภิปราย "หน้าที่ของแพทย์ต่อการตายดีของผู้ป่วย"

ผลกรรมที่ได้คือเมื่อวันก่อนมีปึกกระดาษคำตอบของนักศึกษา ๑๙๘ คน สำหรับ assay ๒ ข้อ ที่ทำให้นั่งตาลายอ่านอยู่สามวัน คิดเป็น working hour ๗ ชั่วโมง (อันที่จริงอยากจะขอบวกการต้องไป rehabilitation ใน spa อีกสัก ๔.๕ ชั่วโมงด้วย) การได้อ่านความคิด ความเห็นเรื่องแบบนี้ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๓ เกือบจะเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณประเภทหนึ่ง ตั้งแต่การรวบรวมฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา แกะลายมือของเด็กที่ท่าทางจะไม่ได้เขียนอะไรยาวเกิน ๓ บรรทัดมาหลายปี และทั้งเนื้อหา จินตนาการ ภาพมองจากมุมของเด็ก Gen-Y (หรือจะต่อ Z แล้ว) หมดกาแฟไปหลายแก้ว รวมทั้งความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อลูกตาทุกมัด

โดยที่ไม่ได้ทำ Factor Analysis ขอสะท้อนประสบการณ์ที่ได้จากการตรวจข้อสอบในครั้งนี้

๑) ความเป็น "องค์รวม" ของเด็กส่วนใหญ่ จะไม่สะท้อนด้าน "สังคม" ออกมา เด็กประมาณ ๘๐-๙๐ เปอร์เซนต์สามารถและยกตัวอย่างมิติทางกาย และทางจิตอารมณ์ได้ ประมาณ ๒๐ เปอร์เซนต์กล่าวถึงมิติจิตวิญญาณพร้อมตัวอย่าง แต่น้อยมากที่สะท้อนเรื่องสุขภาวะทางสังคม และส่วนที่เขียนออกมา กลับไม่ได้พูดถึงครอบครัว แต่ ไปพูดถึงการงาน หน้าที่ ตำแหน่ง เสียแทน ไม่ทราบว่ามีนัยสำคัญแค่ไหน แต่ลึกๆแล้วกำลังเกิดประหวั่นพรั่นพรึงว่า สถาบันครอบครัว อันเป็นสังคมหน่วยย่อยที่สุดนั้น ณ ขณะนี้มีสุขภาวะเช่นไรกันแน่ และสภาวะเช่นนี้มีผลอย่างไรต่อหน่วยสังคมที่ใหญ่ขึ้นมา

๒) มีหลายคนเขียน "องค์รวม" มีเพียงสองมิติ คือ กายและจิตใจ และอีกหลายคนเขียนมีสามมิติ คือ กาย จิตใจ และปัญญา (หรือวิญญาณ) ส่วนที่ตกหล่นหายไปอย่างชัดมากคือ "มิติทางสังคม"

๓) และผลกระทบจากข้อสอบข้อแรก มีผลต่อข้อที่สองแบบแปลกๆ ทั้งๆที่ทุกคนเขียนถึง "สุขภาวะทางกาย" แต่พอมาเขียนเรื่องหน้าที่แพทย์ที่จะช่วยเหลือมิติต่างๆของการตายดี มีส่วนน้อย (อย่างน่าใจหาย) ที่จะตอบเรื่องการดูแลอาการต่างๆก่อนเสียชีวิต ส่วนใหญ่พอ "รักษาไม่หาย" ก็จะหันไปตอบเรื่องการสื่อสาร การบอกข่าวร้าย และการดูแลทาง non-medical ต่างๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นการ "ละไว้ในฐานที่รู้กันว่าจะดูแลทางกาย" หรือว่าคิดว่าการรักษาทางการแพทย์นั้นมีเฉพาะตอน curative (รักษาให้หาย) เท่านั้นหรือไม่ อันที่จริง definitive treatment หรือการรักษาตัวโรคนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ ตรงไปตรงมา แต่ symptomatic treatment หรือการรักษาอาการ รักษาความทุกข์นั้นเป็นศิลปะ สมัยก่อน (ยุคผม) แพทย์สอบเอาใบประกอบโรคศิลป์ เพราะวิชาแพทย์เป็นวิชาทั้งศาสตร์และศิลป์ จู่ๆตอนไหนไม่ทราบ มี "ผู้รู้" ทะลึ่งชี้แจงมาว่าวิชาแพทยศาสตร์ไม่ใช่ศิลปะ ดังนั้นจึงไม่ควรได้ใบประกอบโรคศิลป์ เปลี่ยนชื่อเป็น "ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม" แทน อาจจะเป็นพยาธิกำเนิดของ "กรรม" ของประชาชนในยุคนี้ที่ศิลปะหายไปจากการแพทย์

๔) น่าจะเป็นผลกระทบจากมิติสังคมที่หายไปในข้อแรก ทำให้การเชื่อมโยงสื่อสารกับครอบครัวและผู้ดูแลหลักพลอยหายไปจากหน้าที่ของ แพทย์ในการ "ตายดี" ของผู้ป่วยไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นหลักฐานว่า "การเห็น" ของแพทย์นั้นสำคัญมาก หากไม่เห็น (เพราะไม่ได้มองหา) ก็จะไม่มีวันที่จะ "ได้ทำ" อะไรกับสิ่งที่เรามองไม่เห็นอย่างแน่นอน

ข่าวดีคือนักศึกษาอยู่ปีสามเท่านั้น ยังมีเวลาอีกพอสมควร เราอาจจะปลอบใจตัวเองไปก่อนว่าน้องๆยังไม่ได้เจอคนไข้จริง ไม่ได้เจอญาติคนไข้จริง เลยมองไม่เห็น โลกทุกวันนี้ก็สังคมอยู่ในมือถือ ใน facebook เป็นส่วนใหญ่ มิติสังคมว่าเราเป็นน้องใคร พี่ใคร ลูกใคร สามีภรรยาใคร ก็เลยยังไม่ชัด เพราะมันขาดหายไปจากชีวิตจริง

เราเป็นครูแพทย์ จะนำเอาประสบการณ์ในครั้งนี้ไปทำอะไรต่อดีหนอ....?

สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ หลังอ่างเก็บน้ำ ม.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑ นาฬิกา ๙ นาที
วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 588247เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2015 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2015 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มรณวิทยา..ชื่อน่าสนใจ..ค่ะ...ทางยุโรป..มีการทำ..ใบอณุญาติกับหมอ..ขอตายเอง..แบบไม่ต้องยึดชีพไว้..โดยความกรุณา..ของหมอ..มีศัพท์เรียกเป็นภาษาไทยแต่จำไม่ได้.....แต่คงไม่ใช่มรณวิทยา..

เป็นวิชาที่น่าเรียนมากครับ

นักศึกษาเรียนมากเลยนะครับ

ขอบคุณที่บันทึกเรื่องดีให้เอาไปประยุกต์ใช้ได้ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท