Oral Health CUP Manager : R8WAY


สรุปการเรียนรู้หลังอบรม (AAR) ของทันตแพทย์ผู้นำอำเภอ จากโรงพยาบาลในเขตบริการสุขภาพที่ ๘ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย สกลนคร นครพนม บึงกาฬ และหนองคาย เมื่อ ๒ - ๔ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมบุศยรินทร์ จ.หนองคาย

จบ ๓ วัน นำเสนอผลการจัดอบรมเป็นบันทึกแรกก่อนนะคะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้

๑. เริ่มเปิดใจ เปิดหู สร้างสัมพันธ์

การพบเพื่อนใหม่ ไม่ได้น่ากลัว

Positive thinking และเปิดใจ เปิดวงกว้าง เจอ ทพ. ทภ. หลาย ๆ คน

ได้เพื่อนใหม่ ๆ เหมือนที่คาดหวังก่อนมา ได้รู้จักเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่อื่น ต่างจังหวัด หลายคน

ได้ฟัง เป็นผู้ฟังให้มากขึ้น (ดีแน่ ๆ)

สนุกดีค่ะ ชอบการนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบนี้

ได้พูดคุย ได้รับฟังแนวคิด ประสบการณ์การทำงานของแต่ละคน ที่ทำำให้กลับมามองตนเอง แล้วนำไปปรับใช้ได้

การสร้างสัมพันธ์จะได้สิ่งดี ๆ กลับมาเสมอ

๒. สร้างทีม

การทำงานใหญ่ต้องอาศัยความเป็นทีม ทำคนเดียวไม่ได้

ในทีมมีเป้าหมายเดียวกัน แต่จะมีผู้นำและผู้ตาม

Fighting เป็นการสร้างศัตรู ไม่ได้สร้างทีม

เราไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ได้มีปัญหาคนเดียว มีพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ปัญหาต่าง ๆ กัน

แต่ก็พร้อมจะช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนกัน

๓. สานเครือข่าย

เรียนรู้วิธีการสร้างสัมพันธ์กับภาคีเครือข่าย

รู้จักทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ในเขตบริการเดียวกัน

เครือข่ายทันตแพทย์

ได้เครือข่ายในการทำงาน ได้เรียนรู้ / เครือข่ายทันตะมากขึ้น / เครือข่ายในเขต ๘ มากขึ้น

มีเครือข่าย + รู้จักเพื่อนเพิ่ม ทำให้ทำงานได้กว้าง มีที่ปรึกษาแล้วล่ะทีนี้

๔. ให้และรับ

รับฟังความเห็น ประสบการณ์การทำงานของรุ่นพี่ในงานด้านนี้

ได้เติมประสบการณ์ตัวเองให้น้อง ๆ

ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากประสบการณ์ในการทำงานของรุ่นพี่ ๆ เพื่อน ๆ ในอำเภออื่นในเขต ๘ ถึงวิธีการบริหารจัดการหน่วยงานทันตสาธารณสุขในอำเภอ การดำเนินงานทันตสุขภาพ

ช่วยให้เข้าใจ & มองเห็นภาพมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อการทำงาน

ทั้ง ๓ วัน ได้ความรู้เยอะที่สุดตอนช่วงวันที่ ๓ ตอน ๑๑ โมง ที่ได้ให้เข้ากลุ่มย่อย แล้วมีพี่ผู้เข้ามีประสบการณ์ทำงาน แบ่งปันความรู้ให้

ได้เทคนิควิธีการทำงานในพื้นที่จากผู้อื่นที่ทำได้ดี

ประสบการณ์ของผู้อื่น นำมาสอน ใช้กับชีวิตเรา

สะท้อนปัญหาในพื้นที่ให้ส่วนกลาง

๕. ผุดบังเกิดความรู้ สู่การใช้ทำงาน

๕.๑ รู้

ได้เรียนรู้หลาย ๆ เรื่องที่ยังไม่รู้ เรียนรู้การทำงานชุมชนผ่านประสบการณ์พี่ ๆ

แนวคิด ทิศทางการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพจากกระทรวง

ได้วิสัยทัศน์ในงาน

แนวคิดใหม่ ๆ ในการทำงาน แนวคิดในการสร้างทีม แนวคิดในการเป็นผู้นำ

ความหมายของคำศัพท์ต่าง ๆ

DHS + Service plan ได้รู้จักคำเหล่านี้ เรียนจบมาไม่เคยได้ยินคำเหล่านี้มาก่อน ได้เข้าใจมากขึ้น

ได้รู้จักที่มาของคำหลาย ๆ คำ เช่น DHS , Service plan , CBL , R2R เป็นต้น มากขึ้น

รู้จัก CUP การบริหารคร่าว ๆ การทำงานของแต่ละ CUP

ได้แนวคิดในการทำงานกับชุมชน การเข้าหาชุมชน เข้าหาเครือขายต่าง ๆ การสร้างภาคีเครือข่าย

หลักในการทำงานชุมชน

๕.๒ เข้าใจ

เข้าใจความหมายของ CUP มากขึ้น CUP = รพ. + สสอ. + รพ.สต.

เข้าใจความหมายของ DHS DHS = CUP + อปท. + ชุมชน ร่วมกันคิด ทำ แก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในอำเภอมีสุขภาพที่ดี ในแบบที่ชุมชนต้องการ

เข้าใจการทำงาน การบริหารงานใน CUP การเขียน Service plan มากขึ้น + เห็นภาพ

๕.๓ ประยุกต์ใช้ในพื้นที่ตนเอง

เรียนรู้การบริหารจัดการคน ทันตแพทย์น้อง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระ

การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด

การใช้ข้อมูลและการเก็บข้อมูล

มีความรู้ในการจัดการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทันตสาธารณสุขในพื้นที่ตัวเองมากขึ้น ได้วิธีบริหารจัดการงานทันตสาธารณสุขเพิ่มขึ้น

เพื่อนำไปปรับปรุงในการทำงาน

การจัดการ CUP สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้

ได้แนวทาง + แนวคิดในการทำงานลงชุมชนมากขึ้น

DHS และ Service plan การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้ชุมชนมีสุขภาพช่องปากที่ดี

๖. กำลังใจในการทำงาน

มุมมองใหม่ ๆ ในการทำงาน

เห็นมุมมองการบริหารงานเพิ่มขึ้น การมีภาวะผู้นำ จะทำให้งานสำเร็จได้

ได้ปรับทัศนคติในการทำงาน

ได้รู้จักเพื่อนร่วมเดินทางสู่การเป็น CUP Manager ที่ดีมากขึ้น

ขอบคุณวิทยากรทุกท่านนะคะที่เสียสละและตั้งใจมาจัดกิจกรรมเต็มที่

(พบประโยคนี้ ความเหนื่อยทำลายตัวเอง สลายแว้บเหมือนคำสั่ง Mission impossible เลยค่ะ :- ผู้เขียน)

ข้อเสนอแนะ

๑. บรรยากาศสนุก

การจัดอบรมแบบนี้ดีมากค่ะ กิจกรรมสนุกดีล่ะค่ะ

การประชุมไม่เครียดอย่างที่คิดไว้ (ประทับใจมากค่ะ)

กิจกรรมโดยรวมสนุก ได้สาระ ไม่น่าเบื่อ

ชอบการจัดประชุมแบบนี้ เป็นกันเอง กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่เครียด บรรยากาศสนุก

เป็นกิจกรรมที่ดีค่ะ ไม่เครียดจนเกินไป

อยากให้จัดกิจกรรมแนวนี้อีก รู้สึกไม่วิชาการจ๋าเกินไป

๒. ต่อครั้ง ๒ เวียนจังหวัด

อยากให้มีกิจกรรม/อบรมแบบนี้อีกครับ กิจกรรมที่ได้รู้จักกัน

ถ้ามีการจัดครั้งต่อไป น่าจะเป็นในรูปแบบนี้อีกค่ะ อาจจะจัดต่อเนื่องครั้งที่ ๒

อยากให้จัดประชุมในจังหวัดอื่น หมุนเวียนในเขต ๘ บ้าง เช่น สกลนคร เลย (จะได้มีบางครั้งเดินทางมาใกล้ ๆ บ้าง

เพิ่มเวลามากกว่านี้

๓. ชอบช่วง Open space

การ Open ความคิด (ในกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน) ถือว่าเป็นวิธีที่ดี

ขอให้มีการแลกเปลี่ยนแบบช่วงสุดท้ายอีก รายการสุดท้ายควรจัดให้เวลา ๑ วัน

๒ วันแรกสนุก ชอบ ได้รู้จักเพื่อน ได้แง่คิดในการทำงาน แต่ไม่ได้เนื้อหาวิชาการเท่าไหร่ แต่วันที่ ๓ ที่ให้นั่งจับกลุ่มแชร์ประสบการณ์ จับเข่าคุยกัน จะได้มาก รู้สึกมีประโยชน์มาก ทำให้เข้าใจมากขึ้น จากพี่ที่มีประสบการณ์มาก่อน ส่วนตัวได้เรื่อง CUP Manager และโชคดีที่มีคนในวงอธิบายได้ชัดเจนและกระจ่าง

สนุกดีแล้ว เสริมสาระ คละประสบการณ์

เนื่อหาการประชุมและรูปแบบการประชุมน่าสนใจดีค่ะ ไม่เครียด น่าจะเสริม เรื่อง ภาวะสุขภาพช่องปากของเขต ๘ และเป้าหมายของเขตเพิ่มเติมค่ะ

แต่บางครั้งจะทำให้หลุดข้อมูลวิชาการไป น่าจะเน้นเนื้อหาวิชาการเพิ่มกว่านี้ แต่ภายใต้บรรยากาศสนุกแบบนี้ดีแล้ว และผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนยังไม่มีประสบการณ์ อยากให้สอดแทรกผู้มีประสบการณ์เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มย่อยด้วย

สังเกตมีน้อง ๆ ทันตแพทย์จบใหม่ หรืออายุการทำงานยังไม่มาก เมื่อรวมกลุ่มคิดอาจจะไม่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์เท่าที่ควร (ยอมรับว่าบางเรื่องเราไม่รู้มาก่อน หรือไม่เคยได้ยินมาเลย) อยากเสนอการรวมกลุ่มจะมีพี่ ๆ อาวุโสกระจาย ๆ กัน ถ่ายทอด บรรยายปูพื้นฐาน Intro หรือเล่า Scope คร่าว ๆ ในแต่ละหัวข้อของการประชุม / ละเอียดมากกว่านี้ ให้น้อง ๆ มีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น / ตรงกัน ก่อน Discuss บางคนมีพื้นฐานมาก บางคนมีพื้นฐานน้อย เจอ Keyword เยอะ ๆ ขอบอกว่าไม่ค่อยรู้เรื่องเลย

๔. มุ่งตรงไม่้อ้อมค้อม

ชอบเกมแม่น้ำพิษนะ ตรงที่เรียนจากประสบการณ์จริง ๆ เลย แต่เกม Dracula เล่นแล้ว

เล่นเกมส์แม่น้ำพิษที่กลุ่ม ๒ ไม่เลิก เพราะได้รับทรัพยากรเพิ่ม ภารกิจง่ายขึ้น ไม่เลิก ในขณะที่หลายคนอยากเลิกแล้ว ในการทำงานจริง ถ้ามีการ Support เพียงพอ ก็ง่ายที่จะบรรลุเป้าหมาย

กิจกรรมหลายอย่างพี่ผู้ใหญ่รู้สึกว่ามันเด็ก ๆ ไป เมื่อเทียบกับว่าเป็นการขอให้หัวหน้าฝ่ายมา ลดกิจกรรมลงนิดนึง

กิจกรรมที่เล่นมีเยอะเกินไป จนได้สาระน้อย เนื่องจากข้อคิดที่ได้จากเกมเป็นนามธรรมที่รู้กันอยู่แล้ว (น่าสนใจดี แต่เยอะเกินไป) พอมีแต่เกม บางทีก็รู้สึกว่าไม่เล่นก็ได้ ด้วยเนื้อหา ถ้าตัดเกมออก วันเดียวก็ยังน่าจะพอ

แต่ยอมรับว่าเกมทำให้รู้จักหลายคนขึ้นค่ะ

การกระตุ้นให้เกิดการคิด ก่อนเริ่มบรรยายเป็นเรื่องที่ดี แต่ใช้เวลาเยอะมาก น่าจะลดเวลา คือ กระตุ้นให้คิดสักครู่ แล้วเข้าสู่สาระเลย น่าจะมีการสรุปโยงเข้าสู่การทำงานจริงที่ชัดเจนมากขึ้น

บางช่วงมีการบรรยายที่ยาวนานเกินไป ทำให้ความน่าฟังลดลงไป

๕. ข้อจำกัดทางกาย

รูปแบบ ลักษณะกิจกรรม ถ้าจัดรูปแบบนี้บ่อย ๆ อาจจะไม่เหมาะกับช่วงวัยที่หลากหลายบางกลุ่ม (เหมาะกับวัย ๔๐ ลงมา)

นั่งพื้น ปวดขาค่ะ แต่ชอบตอนนอนค่ะ เมื่อยขาเกินไป มีแต่เกมเมื่อยขา (คนแก่ฝากมา)

ผมเมื่อยหลัง นั่งพื้นขณะฟังบรรยายนาน ปวดหลัง / บางทีปวดหลังมาก

อยากได้เบาะหนา ๆ หน่อย นั่งแล้วเป็นเหน็บ หลายรอบเลย

อยากให้จัดโต๊ะนั่งบนเก้าอี้ฟังบรรยายบ้าง สบาย ได้เอนหลัง และมีสมาธิมากขึ้นตอนฟัง เพราะนั่งพื้นมันเมื่อยมาก และนั่งจับกลุ่มคุยกันได้ง่ายเกินไป หรือสลับกับเบาะ

๖. ช่องว่างห่างสาระ

เนื้อหาไม่น่าไว้บ่ายแก่ ๆ เลย หัวมันไม่รับ

อยากให้สอนเรื่อง Method ในการทำงาน วิธีการทำงาน วิธีการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ

การจัดการระดับ CUP ควรมีการแต่งตั้งให้กับผู้ใดผู้หนึ่งเป็นคนจัดการ ไม่ว่าจะสาย สสอ.หรือ สสจ. หรือสาย รพ. / มีทีมที่ดูแลชัดเจน หรือในระดับเขต เพื่อความเป็น Unity ในการดำเนินการ

การใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ น่าจะมีความชัดเจน / มีการอบรม Program ข้อมูลทันตะ

ควรมีคอร์สให้ความรู้เพิ่มเติมสำหรับทันตแพทย์จบใหม่

๗. ดูเหมือนเล็กแต่สำคัญ

แอบแนบตารางจริงมาด้วยก็ได้ค่ะ (ทาง mail หรืออะไรสักอย่าง)

สีที่ให้มาเขียนไม่ชัด อ่อนเกินไป พื้นเป็นเสื่อทำให้กระดาษขาดเป็นรอย

กับข้าวไม่ค่อยอร่อย

กิจกรรมการนอน ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะมีโรคประจำตัว = GERD T๐T

๘. ยังต้องการ Explicit knowledge

Print out ควรจะเป็นขาว - ดำ

อยากได้เอกสารการประชุมประกอบการ Lecture ที่เป็นข้อเขียน ที่มีการขยายความค่ะ PPT ย่อ ๆ จะอ่านยาก เมื่อเป็นขาว - ดำ จะดูกราฟที่เป็นสียาก

อยากได้แผนยุทธศาสตร์งานทันตสาธารณสุขของเขต ๘ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติงานให้สอดคล้องกันทั้งเขต

ควรนำข้อสรุปที่ได้จากการทำงานกลุ่ม ส่งคืนให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม หลังจากจบการประชุม

^_,^

ขอบคุณนะคะที่ติดตามอ่านมาได้จนบรรทัดสุดท้าย

พบกันใหม่เมื่อมีโอกาส จะเล่ากระบวนการเรียนรู้นะคะ

สวัสดีค่ะ

^_,^

หมายเลขบันทึก: 581829เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2014 02:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2014 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

"ได้พูดคุย ได้รับฟังแนวคิด ประสบการณ์การทำงานของแต่ละคน ที่ทำให้กลับมามองตนเอง แล้วนำไปปรับใช้ได้

การสร้างสัมพันธ์จะได้สิ่งดี ๆ กลับมาเสมอ"

ชอบค่ะ

ขอบคุณค่ะ อ่านจบแล้ว คำแรกที่ผุดมาในใจคือ "ความไว้วางใจในเพื่อนมนุษย์"
การทำกิจกรรมลักษณะนี้ให้ได้ประโยชน์ สำหรับคนที่บุคลิกเก็บตัว จะสลายพฤติกรรม ได้อย่างไรค่ะ
(มองว่าตัวเองก็เป็นคนประเภทนี้:)

ชอบจังพี่หมอ...กิจกรรมตั้งชื่อและออกแบบได้เก๋ น่าเรียนรู้ และสร้างความประทับใจมากๆ

ผมงี้แอบสงสัยหมอฟันทุกระดับชั้น งานหนัก ปวดหลัง ยังมานั่งคีย์งาน ที่ต้องให้ลงข้อมูลมากมาย...เป็นกำลังใจ

เราจะได้เจอกันไหมนี่...

ขออนุญาตเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนกับ...ท่านอาจารย์หมอ ป หน่อยครับ

ตอนที่ผม และทีม ไปตะเวนเข้าค่ายยาเสพติด น้องๆ ไม่ยอมพูดเลย...จะทำอะไรดีว้า...

ก็เลยให้วาดรูปบ้าง หรือเขียนอะไรๆ บ้าง...แล้วให้อธิบาย...

ต่อมน้ำตาแตกเลยครับ

ความวางใจ จะทำให้เปิดใจ และยอมรับวิถีของแต่ละคนครับ

ห้องประชุมของโรงแรมนี้ Work นะครับ คุณหมอธิ ;)...

เป็นบันทึกที่สรุปการประชุมได้อย่างเห็นภาพ

เปิดใจรับฟังกันทั้งผู้เข้าประชุม ผู้จัด ได้ประโยชน์ทุกฝ่ายจริงๆ ทำให้เห็นว่า "กระบวนการ" มีความสำคัญ เมื่อได้เรียนรู้ระหว่างทางร่วมกันแล้ว การเดินไปถึงปลายทางจึงไม่ยาก

สบายดีนะคะ

ชอบใจกิจกรรมแบบนี้

ผมก็ใช้การวาดภาพและกิจกรรมเจ้าตัวเล็กเพื่อเปิดใจเหมือนคุณทิมดาบครับคุณหมอ ป

การจัดตารางในตอนบ่ายสำคัญมากครับคุณหมอธิรัมภา

ต้องหาคนละลาย

อย่าให้หลับ

การสอนเนื้อหาก็ทำให้สนุกได้

555555


ขอบคุณมากค่ะคุณครูอร บางทีความรู้จากประสบการณ์ตรง หาไม่ได้ในตำราไงคะ อยู่ในหัว ในตัวเพื่อน พี่ น้อง .... อยากได้ จึงต้องสร้างสัมพันธภาพก่อน ^_,^

ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญ KM มากกว่านี้มาช่วยกันตอบคุณหมอ ป. เชิญนะคะ

ตอบจากตัวพี่อ้อเองละกันนะคะ ถ้าเลือกได้ชอบอยู่คนเดียวมากกว่า ทุกวันนี้ก็ยังโปรดช่วงกลางคืนก่อนนอน ได้ทบทวนประจำวัน อยู่กับตัวเอง พื้นฐานเป็น "หมี" นะคะ

พอปี ๒๕๕๒ เข้าอบรมพัฒนาทันตแพทย์ผู้นำสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก หลายคอร์สนะคะ แรก ๆ จะเริ่มที่ฝึกการฟัง - พูด จำเป็นที่จะต้องออกจาก "ถ้ำ" หรือพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองบ้างน่ะค่ะ

นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติ วันละเล็กละน้อย รู้จัก "ฟัง" มากขึ้น ฟังคนไข้ ฟังผู้ร่วมงาน ฟัง อสม. ...

ตัวเราเองจะเห็นพัฒนาการตัวเองค่ะ เช่น วันไหนตั้งใจฟังคนไข้ไ้ด้ดี งานจะสมูธมากค่ะ เราจะตอบสนองความต้องการคนไข้ได้รอยยิ้ม การไหว้ คำขอบคุณ คำชม เป็นของแถมค่ะ .... ทำให้เชื่อมั่นแนวทาง เพียงฟังให้เป็น เราจะเปิดใจคนอื่นได้

กลับมาที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้เครื่องมือการฟังอย่างตั้งใจเป็นหลักนะคะ มีกติกาช่วยบังคับก่อน เรื่องแรก ๆ พบหน้ากัน เริ่มที่เรื่องเชิงบวก ความสุข ความประทับใจ ใช้วาดภาพช่วยรวมความคิดก่อนเล่าก็ได้ผลดีเสมอค่ะ หรือให้นั่งนิ่ง ๆ ทบทวนเรื่องที่จะเล่า เท่าที่จะเปิดเผยได้ เท่าที่พร้อมจะออกจากพื้นที่ไข่แดง

พอฝึกฟังเรื่องคนอื่นบ่อย ๆ เรื่องนั้นก็ดี เรื่องนั้นก็เยี่ยม ชื่นชมคนละแง่มุม บางส่วนคล้ายกับเรื่องเรา เรื่องของเราก็ดีเหมือนกันนะ และส่วนตัวเราเองจะเล็กลง ๆ ๆ ๆ

พัฒนาการความไว้วางใจ "คนอื่น" จะเปลี่ยนไปค่ะ มีแต่เพื่อนเราทั้งนั้น

กลุ่มนี้มีบ้างค่ะ แรก ๆ มาจะเก๊กหน่อย ดูนิ่ง ๆ จับคู่อยู่แต่กับคนเดิม ได้อาศัยกิจกรรมเคลื่อนไหว (ฐานกาย) ให้ได้รู้จักเพื่อนคนอื่นบ้าง

๓ วัน ส่วนใหญ่ยิ้มแย้มคุยกันดี พอไว้วางใจ อะไร ๆ ปัญหาก็คุยได้ ไม่อาย ไม่เคอะเขิน แลกเปลี่ยนในวงสนุกสนาน ขอต่อเวลาก็มีค่ะ

ยอมรับคนอื่นได้มากขึ้น ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องทุกด้าน รู้กันคนละด้าน .... ได้เพื่อนกลับไป

ตอบได้เท่านี้ละคะคุณหมอ ป. ไม่มีใครทลายกำแพงในใจเราได้ นอกจากตัวเราเองนะคะ ^_,^

หัวข้อตัวเข้มไม่ใช่ชื่อกิจกรรมนะคะ เป็นหัวข้อที่พี่สรุปเองจากเนื้อหาที่ผู้เข้าประชุมเขียนส่งให้ ๒ หัวข้อ คือ สิ่งที่ได้เรียนรู้ และข้อเสนอแนะ

สงสัยต้องบุกไปหาคุณน้องทิมดาบตัวจริงถึงชัยภูมิ ๕ ๕ ๕ ๕

นอกจากคุณทิมดาบแล้ว ท่านใดจะมาช่วยตอบคุณหมอ ป. เชิญนะคะ ^_,^

สถานที่เหมาะสมมากค่ะคุณครูเงา มีเรื่องพื้นที่เป็นเสื่อค่ะ ไม่เรียบ และสีชอล์คสีอ่อนเขียนลำบากค่ะ

คราวหน้าต้องทำให้พื้นที่เขียนกระดาษต่าง ๆ เรียบ ใช้ปากกาเมจิกเส้นใหญ่ หรือเลือกยี่ห้อสีชอล์คให้ถูก เลือกหยิบสีเข้มมาเขียน และเขียนตัวใหญ่ค่ะ

สบายดีค่ะพี่ Nui แต่เวลาไม่พอตามอ่านบันทึกที่มาร์คไว้ในใจว่า ต้องอ่าน ๆ

เราไปจัดกระบวนการให้ Pants เปิดใจ ทีมวิทยากรเปิดใจรับได้อยู่แล้วค่ะ คราวนี้แก้ไม่ได้ก็คราวหน้าเท่านั้นเอง ^_,^

ไม่ได้หลับนะคะ แต่เนื้อหาไม่เข้าหัว เพราะไม่มานอนผ่อนพักตระหนักรู้ ให้สมองโล่งเหมือนทีมวิทยากร ๕ ๕ ๕ ๕

อีกอย่างน้องเขาไม่กล้านอนฟังผู้บรรยาย แบบทีมวิทยากรกระบวนการนอนฟังค่ะ อิ อิ

คราวหน้าอาจต้องแยกระดับผู้เรียนและหัวข้อที่สนใจค่ะ เพราะพอเกิน ๓๐ คน แนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลางบอกแล้ว มีตั้งแต่เพิ่งจบปีแรกจนทำงานสามสิบปี การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ต่างออกไป เรื่อง Management ทำได้หลายแง่มุมอยู่แล้ว

ครั้งนี้ให้ทันตแพทย์มาทั้งเขตเพื่อปูพื้นฐานค่ะ อ.ขจิต

เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจ และมีความสุขมากค่ะ

สัดส่วนสุขของผู้เข้าประชุมน่าจะมากกว่าทุกข์นะคะคุณป้าใหญ่ หลานหวังว่า อิ อิ

ครับ...
ไม่ว่าเรื่องใด

เปิดใจ.. เป็นกระบวนการขั้นต้นที่นำไปสู่ความสำเร็จทั้งปวง ครับ

ขอบคณครับ

เปิดใจ ให้และรับ นะคะ แลกกัน ไม่ว่าความรู้หรือความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน

ขอบคุณมากค่ะ อ.แผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท