(ขอบคุณเจ้าของภาพทุกภาพ ที่นำมาจากการสืบค้นทาง Internet)
"ครูของครู" ผู้เขียนขอให้นิยามว่า "หมายถึง บุคคลหรือสิ่งใดๆ ที่ได้ให้ความรู้ แนวปฏิบัติ ข้อคิด และแรงบันดาลใจ ที่ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานวิชาชีพครู และการดำเนินชีวิตส่วนตัว ตลอดจนการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม" จากนิยามดังกล่าว "ครูของครู" จึงมีทั้งที่เป็นบุคคลที่เรียกกันว่า "ครูคน" เป็นโสตทัศนูปกรณ์ ที่เรียกกันว่า "ครูเครื่อง" เป็นเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ขอเรียกว่า "ครูเอกสาร" และเป็นประสบการณ์ในชีวิตจริงที่ครูได้ประสบพบพาน ที่ขอเรียกว่า "ครูประสบการณ์ชีวิต" และในบันทึกนี้ ขอกล่าวถึง "ครูทั้ง 4 ประเภท" ของผู้เขียนเอง ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ในสังกัดคณะครุศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษา มากว่า 35 ปี (จึงได้รับการเรียกขานว่าเป็น "ครูของครู") ก่อนที่จะมาเป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งก็ยังจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ผ่าน Weblog "GotoKnow" เพื่อแทนคุณแผ่นดินอยู่ ณ ขณะนี้
"ครูคน" ของผู้เขียนมีอยู่มากมายเกินกว่าจะนำมากล่าวได้ทั้งหมด ณ ที่นี้ แต่ที่ผู้เขียนซาบซึ้งในพระอัจฉริยภาพ แนวพระราชดำริ และพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย อย่างหาที่สุดมิได้ ก็คือ ล้นเกล้าฯ ของชาวไทยทั้งสองพระองค์ ที่ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ทั้งในการปฏิบัติงานวิชาชีพครู การดำเนินชีวิตส่วนตัว และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทั้งในเวลาที่ผ่านมา ณ ขณะนี้ และจะตลอดไป...พระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ดังภาพล่าง รวมทั้งข้อความภาษาอังกฤษ ผู้เขียนอัญเชิญมาจากหนังสือ "A Lifetime of Love" ซึ่งได้ซื้อมาจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ในปี 2547 ในโอกาสที่ได้เข้าชม "งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 4" (ตามลำพัง) ก่อนที่จะไปนำเสนองานวิจัยปฏิบัติการเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ ตามคำเชิญของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา : สกศ.) ในวันรุ่งขึ้น (หนังสือดังกล่าว เขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม) ส่วนภาพ "บุษบกมาลา" ซึ่งเป็นงานศิลปาชีพชิ้นหนึ่งที่ได้ชมในงาน นำมาจากการสืบค้นทาง Internet เพราะในงานไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ
ในฐานะที่ ขณะนี้ตนเองเป็นข้าราชการบำนาญ ผู้เขียนจึงขออัญเชิญพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่ครูอาวุโสในวันที่ 13 ตุลาคม 2520 (ปีแรกของการเข้ารับราชการครูของผู้เขียน) ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ... “ผู้เป็นครูอย่างแท้จริง นับว่าเป็นบุคคลพิเศษ ผู้ต้องแผ่เมตตาและเสียสละเพื่อความสำเร็จ ความก้าวหน้า และความสุขความเจริญของผู้อื่นอยู่ตลอดชีวิต ที่กล่าวดังนั้นประการหนึ่ง เพราะครูจําเป็นต้องมีความรักความสงสารศิษย์ เป็นพื้นฐานทางจิตใจอยู่อย่างหนักแน่น จึงจะสามารถทนลําบากทนตรากตรํากายใจอบรมสั่งสอน และแม้เคี่ยวเข็ญศิษย์ให้ตลอดรอดฝั่งได้ อีกประการหนึ่ง จะต้องยอมเสียสละความสุขและประโยชน์ส่วนตัวอันมาก เพื่อมาทําหน้าที่เป็นนครู ซึ่งทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไม่ใช่ทางแสวงหาความร่ำรวย ยศศักดิ์ หรือ อํานาจความเป็นใหญ่แต่ประการหนึ่งประการใดให้แก่ตนได้เลย …การที่ท่านทั้งหลายได้รับเลือกเฟ้นให้เป็นครูอาวุโส ได้ชื่อว่าบําเพ็ญคุณธรรมของผู้เป็นครูอย่างแน่วแน่ และครบถ้วนแล้ว การบําเพ็ญความดีของท่าน ถึงหากจะมิได้รับประโยชน์ตอบแทนเหมือนผู้อื่นก็ตาม แต่ก็ได้รับความเย็นใจ ปลื้มใจ และความเคารพรักใคร่จากศิษย์ ในทุกที่ทุกหนทุกแห่ง ทุกวงการ ซึ่งเป็น ความสุขทางจิตใจอย่างพิเศษ...”
อนึ่ง ผู้เขียนได้อ่านความเป็นมาของ "โครงการป่ารักน้ำ" ด้วยความซาบซึ้งในพระมากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ สรุปความได้ว่า...ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จเยี่ยมราษฎรที่่บ้านหนองไผ่ ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ทรงพบว่า ในหมู่บ้านนี้มีราษฎรอยู่ ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีฐานะดี เป็นกลุ่มมีอาชีพตัดไม้ขาย มีเรือนหลังใหญ่มีที่ดินครอบครองคนละ ประมาณ ๕๐ - ๖๐ ไร่ แต่อีกกลุ่มมีฐานะยากจนมาก สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น ไม่มีที่ดินทำกินสุขภาพทรุดโทรมมาก เมื่อเสด็จกลับถึงพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์แล้ว ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้พันเอกเรวัต บุญทับ (ยศในขณะนั้น) เข้าเฝ้าฯและทรงมีพระราชดำรัสว่า "ต้องมีคนอธิบายให้ราษฎรเหล่านี้ฟังถึงสภาพแวดล้อมที่เขาทำลายอนาคตของประเทศชาติและชีวิตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว ด้วยการตัดไม้ทำลายป่าแล้วจับจองที่ทำกินไว้คนละมากๆ แต่ทำกินไม่หมดปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าอย่างน่าเสียดาย จะให้เนรมิตน้ำให้ จะสร้างสักกี่อ่างถ้าฝนไม่ตกอ่างจะไปเก็บอะไรได้ คุณเรวัตช่วยแบ่งจำนวนไร่ที่ฉันเช่าให้กับพวกซึ่งไม่มีที่ทำกิน เราต้องไปสร้างบ้านป่ารักน้ำเป็นบ้านน้อยในป่าใหญ่ ให้ราษฎรเหล่านั้นได้อาศัย และสอนให้เขารู้จักใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์ ในขั้นแรกจะต้องช่วยเหลือให้มีเงินเดือน มีฉางข้าว มีถังเก็บน้ำฝน สำหรับดื่มได้ตลอดปี มีโค มีเกวียน สำหรับบรรทุกสิ่งของ ให้ทุกครอบครัวเลี้ยงไก่ นำไข่ไก่ให้ลูกรับประทานบ้าง จะได้ไม่เป็นโรคขาดอาหารและสมองเจริญทันอายุ ให้ทุกบ้านมีกี่สำหรับทอผ้า มีแปลงหม่อนสำหรับปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมใช้เองและส่งไปขายมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ แนะนำการทำสวนของหมู่บ้านที่เขาจะได้รับประโยชน์ เช่น เพาะเห็ด ปลูกมะม่วง กล้วย มะขาม ต้นแค มะละกอ กระบก พริก พืชผักสวนครัว เช่น ต้นหอม ฟักทอง แตงกวา ผู้ชายจะต้องหัดเพาะชำกล้าไม้และปลูกป่าให้เป็น ปลูกไม้เนื้อแข็งที่สูงค่าให้ใบหล่นเป็นปุ๋ยหมักรักษาหน้าดิน ปลูกต้นนุ่นรอบๆ บ้านเพื่อเก็บฝักมาทำผ้านวมส่งขายให้มูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ เพื่อนำไปพระราชทานทหารตำรวจ... (http://www.civilarmy2.net/rdpca2_web/Pharaknam_project.htm)
ผู้เขียนเองและผู้จัดการ "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ได้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม มาตั้งแต่ปี 2548 ที่ได้หันเหจากการใช้ชีวิตในเมือง ซึ่งมีความจำเป็นเพราะหน้าที่การงาน (ผู้เขียนและ ผจก.ฟาร์มเป็นอาจารย์ในสังกัดคณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบลราชธานี) หลัง ผจก.ฟาร์มเกษียณฯ ในปี 2547 พวกเราได้ไปตั้ง "ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้" ที่ อ.วารินชำราบ ซึ่งห่างจาก อ.เมืองอุบลฯ แค่มีแม่น้ำมูลกั้น แต่ที่ตั้งฟาร์มเป็นหมู่บ้านเล็กๆ (ชายแดนติดเขต อ.นาเยียและ อ.สว่างวีรวงศ์) ขณะนั้นมีประมาณ 48 หลังคาเรือน (ห่างจาก "บ้านเรือนขวัญ" ในเมืองอุบลฯ ประมาณ 45 กม.) หมู่บ้านเป็นที่ดอน สภาพดินเป็นดินทราย มีฝนตกน้อย จึงมีความแห้งแล้ง ทำให้มีปัญหาในการทำการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน มีโรงเรียนขนาดเล็ก (ที่มีนักเรียนจากอีก 2 หมู่บ้านมาเรียนด้วย มีครู 4 คน ผอ. และครูสอนชั้นอนุบาลเคยเป็นลูกศิษย์ของผู้เขียน) ไม่มีวัด ทำให้ชาวบ้านขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ที่ทำฟาร์มมีเนื้อที่ 10 ไร่มีสภาพเป็นดินทราย เจ้าของเดิมที่เป็นอดีตนายทหารทำการเกษตรไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ที่ๆ จำนองไว้กับธนาคารจะถูกยึด จึงได้ขอให้เพื่อน (ต่อมาคือ ผจก.ฟาร์มไอดินฯ) ช่วยซื้อต่อ ที่ดังกล่าวมีข้อดีคืออยู่ในชัยภูมิที่ดี เพราะอยู่ติดเส้นทางหลักที่ด้านหนึ่งทะลุไปยังถนนสาย อุบลฯ-เดชอุดม อีกด้านทลุไปยังถนนสายอุบลฯ-พิบูลมังสาหาร ระยะทางด้านละประมาณ 12 กม. และอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยอุบลฯ ประมาณ 12 กม. ผู้เขียนได้กำหนดคำขวัญของฟาร์มฯ ดังที่ระบุในภาพบน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติภารกิจของฟาร์ม ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน
อนึ่ง คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเฉลิมพระ เกียรติเนื่องในปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2010 เนื่องด้วยพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่ประจักษ์ชัดในดวงใจของปวงชนชาวไทย ตลอดจนสาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ (http://nstda.or.th/index.php/nstda-knowledge/2725-queen-of-biodiversity) ฟาร์มไอดินฯ ก็ได้ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท โดยการเสาะหาและนำต้นไม้ประจำจังหวัดทั่วประเทศไปปลูกที่ฟาร์ม รวมทั้งใช้ฟาร์มเป็นที่รวบรวมพันธุ์กล้วย ไม้หายาก ไม้ท้องถิ่น ไม้ป่า ไม้จากต่างแดน และพรรณไม้นานาชนิด ดังตัวอย่างในภาพล่าง และดูภาพเพิ่มเติมได้ในบันทึกเรื่อง "ตามรอย...พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ" ที่บันทึกก่อนนี้ (ท้ายบันทึกนี้) ดังตัวอย่างภาพ "ค้างคาวปีกผีเสื้อ" ที่พบในฟาร์มซึ่งเคยมีการลงข่าวหน้าหนึ่งว่า เป็นสัตว์ป่าหายาก และบ่งชี้ถึงการมีระบบนิเวศน์ที่ดีของแหล่งที่พบ
ผู้เขียนมีโอกาส ได้เรียนรู้ "วิถีชีวิตแบบพอเพียง" กับ "ครูประสบการณ์ชีวิต" โดยมี "แม่" เป็นผู้จัดการเรียนรู้หลัก มาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้ว เพราะความขัดสนของครอบครัว ด้วยแม่ในวัยเพียง 34 ปี ต้องเลี้ยงลูกกำพร้า 5 คนที่มีอายุ 12 ปี, 6 ปี, 4 ปี 2 ปี และ 20 วัน ตามลำพัง เพราะพ่อที่เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนบ้านป่า เกิดมาด่วนจากไป ...ด้วยความระทมทุกข์ แม่ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนเดียวกับพ่อต้องหอบหิ้วลูกทั้ง 5 คน นั่งเรือข้ามแม่น้ำกลับไปยังบ้านเกิดของปู่ย่า/ตายาย (น้องอายุ 2 ปีที่ขี้โรคได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าอาวาสวัดนำไปเลี้ยงดู น้องที่อายุ 20 วัน [ตอนพ่อจากไป] แม่พาไปโรงเรียนด้วย พี่คนโตไปเรียนมัธยมในเมือง พี่ที่อายุย่าง 7 ปีเข้าเรียน ป.1 ผู้เขียนเองอายุ 4 ปี ต้องอยู่บ้านตามลำพัง) แม่และพ่อไม่มีที่ดินที่บ้านเกิดเพราะทั้งคู่ไม่ยอมรับมรดกจากพ่อแม่ของตนที่เป็นชาวนา เพราะถือว่า การได้รับการศึกษาจนสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เป็นมรดกที่เพียงพอแล้ว
ยายของผู้เขียนมีที่นามากมาย (ถือเป็นผู้มีอันจะกินในหมูบ้าน ซึ่งปัจจุบันคือ ต.ขุมเงิน อ.เมือง จ.ยโสธร) มีลูกสาวล้วน 3 คน แม่และน้าคนติดกันเป็นครู บ้านและที่นาทั้งหมดยายยกให้กับน้าที่เป็นครู น้าเลยสร้างตึกไม้สองชั้นในเมืองยโสธรให้ยายและน้าคนเล็ก (ที่ไม่เรียนต่อเพราะไม่ชอบเป็นครู) เปิดร้านขายของ รับตัดเย็บเสื้อผ้าและดัดผม เมื่อแม่ลำบากก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากยายและน้าผู้รับมรดก ผู้เขียนทราบจากพี่สาวคนโตตอนที่ตนเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว ว่า ยายและน้ามีเรื่องขัดใจอย่างรุนแรงกับพ่อและปู่ย่าของผู้เขียน จึงไม่ยอมดูดำดูดีลูกและหลานที่ตกระกำลำบาก แม่ต้องนำบ้านที่รื้อจากบ้านป่าไปปลูกในที่ของป้าเป็นการชั่วคราว (แล้วซื้อเป็นของตนเองในภายหลัง ซึ่งนอกจากปลูกบ้านแล้วยังมีที่เหลือสำหรับทำสวนประมาณ 120 ตารางวา) บ้านและสวนของแม่อยู่ติดกับชายทุ่งของคุ้ม แม่ทำงานหนักทุกชนิดเพื่อเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจำได้ ดี คือ แม่จะตื่นตอนเช้ามืด หลังนึ่งข้าวให้ลูกดูต่อแล้ว แม่จะออกจากบ้านไปขุดหน่อไม้บ้าง ช้อนกุ้งช้อนปลา บ้าง ถ้าหาไม่ได้ก็เข้าไปในหมู่บ้านเพื่อขอซื้อจากชาวบ้านเพื่อนำกลับไปทำอาหารใส่ปิ่นโตจังหัน (ทุกวัน) และให้ลูกกิน ก่อนที่จะเตรียมตัวไปโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านถัดไป ในวันหยุดแม่จะปลูกพืชผัก ผลไม้ และ "มัน" ไว้เป็นภูมิ คุ้มกันว่า ลูกจะมีอะไรกินเวลาหาหรือซื้อไม่ได้ โดยผู้เขียนและพี่สาวคนติดกันมีหน้าที่ช่วยรดน้ำ ผู้เขียนได้ใช้เวลาอยู่ในสวนและชอบสวนของแม่มาก จำต้นไม้ของแม่ได้ทุกต้น รู้ว่าชนิดไหนอยู่บริเวณใด
ภาพข้างล่าง มันชนิดที่ 1-4 คือ มันที่แม่ปลูก นอกจากได้กินหัวมันแล้ว แม่ยังเก็บยอดมันเทศ (แม่เรียกว่ามันแกว) และยอดมันสำปะหลังไปนึ่งจิ้มน้ำพริกด้วย ส่วนกลีบดอกมันสาคูใหญ่ที่เป็นสีแดง พวกเราเก็บไปติดเล็บให้สวยงาม ส่วนมันชนิดที่ 5 ตอนที่ผู้เขียนกับพี่สาวทั้งสองไปเช่าห้องของยายเพื่อเรียนชั้นมัธยมในเมือง (พี่คนโตเป็นครูโรงเรียนเอกชน) เห็นยายปลูกไว้หลังบ้าน แต่ไม่มีโอกาสได้กิน สำหรับมันชนิดที่ 6 และ 7 ผู้เขียนเคยขุดจากป่าในตอนที่แอบย่องตามหลังแม่ไปเก็บเห็ด ส่วนมันชนิดที่ 8 เวลาแม่เข้าเมือง (ยโสธร) แม่จะซื้อไปฝากพวกเรา แม่เรียกว่า "มันแกวสะเภา" ในช่วงที่พี่คนโตปิดเทอมและกลับบ้าน เคยพาพวกเรานำไปทำทับทิมกรอบด้วย ทั้งสนุกและอร่อย ส่วนมันชนิดที่ 9 ผู้เขียนเพิ่งจะพบเป็นครั้งแรกที่ตลาดนัด ชาวบ้านนำไปขายและบอกว่าปลูกได้ ผู้เขียนเลยซื้อไปนึ่งกินและตัดส่วนที่ติดกับเถาไปแช่น้ำ
พี่คนโตเล่าว่า พ่อมีเงินบำนาญน้อยมาก เพราะเคยลาออกไปทำไร่ฝ้าย แล้วถึงกลับไปเป็นครูอีกรอบ ผู้เขียนจำได้ว่า พ่อมีโรงสีและเพิ่งซื้อเรือยนต์ให้บริการ โดยให้เพื่อนๆ ดูแลกิจการทั้งสองให้ แต่ก่อนเสียชีวิตพ่อนอนป่วยอยู่นานทำให้ไม่ได้ไปติดตามกิจการทั้งสอง เลยถูกโกงจนกิจการทั้งสองกลายเป็นศูนย์ ...ด้วยเหตุที่กล่าวมา ทำให้พวกเราไม่มีเงินพอที่จะซื้อข้าวกิน แม่ต้องให้ผู้เขียนช่วยหาบสินค้าดังที่ระบุในภาพ ไปแลกข้าวในหมู่บ้านใกล้ไกล รวมทั้งแลกปลาร้าไว้กิน ผู้เขียนใช้ผ้าถุงที่แม่ทอเอง และใช้เสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าที่แม่ทอ (โดยผู้เขียนช่วยทอด้วย) ตอนผู้เขียนเรียนครูปี 1 พี่สาวที่เกิดก่อน 2 ปีเรียนปี 2 (ผู้เขียนเรียนเร็วไป 1 ปี คือเข้าเรียนป.1 ตอนอายุ 5 ปีเต็มเพราะไม่มีคนดูแล) แม่ให้เงินรายเดือนผู้เขียนและพี่คนติดกันจำนวนเท่ากัน ผู้เขียนจะเหลือใช้ทุกเดือน ทั้งที่ต้องแบ่งให้พี่ใช้ทุกเดือนเพราะพี่ไม่เคยมีเงินใช้ชนเดือน (พี่จะชอบซื้อเสื้อผ้าตามสมัย) และได้นำเงินที่เหลือซื้อของกินที่แม่ชอบ ไปฝากแม่ทุกเดือน...จากที่กล่าวมา ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้คุณธรรมด้านความขยันอดทน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณธรรมของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับคุณธรรมด้านการแบ่งปันนั้น แม่แสดงให้เห็นตลอดจากการที่ป้า/อาและชาวคุ้มทุกหลังคาเรือน จะมาขอผักและดอกไม้บูชาพระจากสวนของเราทุกวัน แม่บริจาคเงินทำบุญอย่างสม่ำเสมอ และที่ผู้เขียนชื่นชอบมาก คือ แม่ได้บริจาคเงินทำสะพานไม้ยาวประมาณ 120 เมตร จากคุ้มออกไปยังทางดินที่ตัดจากหมู่บ้านไปยังถนนใหญ่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อ ทำให้ชาวบ้านได้รับความสะดวกในการเดินทางมากมาย
เด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีค่านิยมฟุ้งฟ้อเห่อเหิม และขาดทักษะชีวิตเพราะผู้ปกครองมักจะให้เรียนอย่างเดียวไม่ให้ช่วยงานของครอบครัว การที่ครูปลูกฝังค่านิยมการใช้ชีวิตแบบพอเพียงจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ดังตัวอย่างยุทธวิธีที่แยบยลโดยบูรณาการลงไปในการเรียนวิชาต่างๆ ของ "คุณครู ดร.ขจิต ฝอยทอง" ผู้ที่ผันตนเองจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปเป็นครูอาสาสมัครในโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก ในจังหวัดกาญจนบุรีบ้านเกิด และสนับสนุนให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะชีวิตด้านต่างๆ และสร้างค่านิยมการเป็นอยู่แบบพอเพียง โดยการให้ปลูกผัก เพื่อนำผักไปทำอาหารกลางวัน ส่วนที่เหลือก็ให้นำไปขาย
การปลูกฝังค่านิยมการใช้ชีวิตแบบพอเพียง จะได้ผลมากขึ้น ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมทำตนเป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลในอาชีพที่เด็กและเยาวชนชื่นชอบชื่นชม คือ "หมอ" (ผลการทำโพลในวันเด็กปี 2557 อาชีพในฝันของเด็ก อันดับ 1 คือ "หมอ" ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอด) อนึ่งอาชีพหมอมีรายได้ดี ถ้าเด็กและเยาวชนเห็นว่า แม้คนที่มีรายได้ดียังใช้ชีวิตแบบพอเพียง ก็จะกระตุ้นให้พวกเขาเห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้มากขึ้น ดังตัวอย่างการดำเนินชีวิตของ "ทพญ.ธิรัมภา ลุพรหมมา" ในภาพล่าง ซึ่งปลูกผักกินเอง กินอยู่แบบเรียบง่าย ใช้ชีวิตแบบสงบงามท่ามกลางธรรมชาติ และบำเพ็ญตนเป็นพุทธมามกที่ดี
กิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจของผู้เขียนกับ ผจก.ฟาร์มฯ ก็เป็น "การพักผ่อนแบบพอเพียง" ที่ให้ทั้งประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ การไปเที่ยวชมงานด้านการเกษตร ที่สถานประกอบการของเกษตรกรซึ่งประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร และการจัดงานเกษตรของจังหวัดต่างๆ (ที่ผู้เขียนทราบข้อมูลจากการสืบค้นทาง Internet สำหรับ ผจก.ฟาร์ม [ขออนุญาตนินทาที่เจ้าตัวก็รับรู้เพราะบอกให้รู้ทุกครั้งหลังนินทาแล้ว] : อดีตอาจารย์ผู้สอนและเขียนตำราวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา [ยุค "Word ราชวิถี"] ไม่ยอมใช้ IT ใดๆ แม้มีมือถือที่ลูกซื้อให้แบบใช้ Internet ได้ก็ไม่เคยใช้ [ผู้เขียนเองใช้แบบ Lowtech ราคา 700 บาท] ให้โน้ตบุ๊คไว้เครื่องหนึ่งที่เก็บข้อมูลฟาร์มฯ อย่างเป็นระบบให้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งฟาร์มจนปัจจุบัน มีทั้งไฟล์เอกสาร ไฟล์ภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหว แต่ไม่เคยเปิดดู พอถามหาข้อมูลบอกให้เปิดดูก็เปิดไม่เป็น พอเปิดให้ก็ดำเนินการต่อไม่ได้บอกแก่แล้ว ไม่เอาแล้ว เรื่องอื่นๆ ไม่เห็นยอมแก่) กิจกรรมล่าสุด คือ การไปเที่ยวชมงานเกษตรและเข้าร่วมอบรม ที่หมวดวิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังภาพล่าง (พันธุ์ไม้ที่ซื้อไปปลูกมี 10 ชนิด แต่นำภาพให้ดูเพียงบางชนิด สำหรับส้มแขกผู้เขียนซื้อเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน พอไปศึกษาข้อมูลในภายหลัง พบว่าเป็นพืชที่น่าสนใจมาก)
ก่อนถึงขอนแก่น ได้แวะนำผลผลิตจากฟาร์มไปฝากและทานข้าวเที่ยง กับพี่สาวคนโตและน้องชายคนเล็กที่ จ.ยโสธร และแวะเยี่ยม/ให้ของฝากหลานชายซึ่งทำการค้าและทำรีสอร์ทที่ จ.ร้อยเอ็ด (เป็นลูกคนโตของพี่สาวที่ยโสธร) จากร้อยเอ็ดให้ผจก.ฟาร์มช่วยขับรถ บอกให้ออกเส้นเลี่ยงเมืองไม่เข้า จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นเส้นทางที่พวกเราเคยใช้ตอนขับรถไปชมเกษตรที่สูง ที่ อ.ภูเรือ จ.เลย ในปี 2551 ปรากฏว่า ขับหลงออกนอกเส้นทาง บอกให้วกกลับไปยังเส้นทางที่ถูกต้องก็ไม่ยอม ด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง บอกลูกทั้ง 3 คนเรียนจบวิศวะ จบแพทย์จาก มข. ขับรถไปขอนแก่นไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งมีหรือจะไม่รู้เส้นทาง...ขับหลงไปจนป้ายข้างหน้าบอกอีก 133 กม. นครราชสีมา ไม่มีป้ายไหนบอกไปขอนแก่นเลย จึงยอมแพ้ให้ผู้เขียนแก้ปัญหา เลยสามารถไปถึงขอนแก่นได้ตอนประมาณ 1 ทุ่ม ปกติเวลาเดินทางพวกเราจะพักที่รีสอร์ทในสวน แต่ครั้งนี้หาไม่ได้ เพราะเช็คจาก Internet เต็มหมด เลยกะจะหารีสอร์ทที่ไม่ให้บริการจองแบบออนไลน์ แต่เมื่อมืดแล้วก็เลยหาไม่สะดวก โรงแรมที่พักของมหาวิทยาลัยก็เต็ม โชคดีจริงๆ ที่สุดท้ายได้ที่พักที่สะดวกมาก (ห้องพักอยู่ชั้น 3 ชั้น 1-2 เป็นสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น) แถมยังสะอาดสะอ้าน กว้างขวาง มีห้องว่าง 1 ห้องอยู่ริมสุดด้านติดกับถนนหน้า มข. ก่อนไปเข้าอบรม ผู้เขียนซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าฝ่ายแนะแนว และหัวหน้าศูนย์สนเทศและบริการอาชีพ จึงได้แวะขอเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการแนะแนวการศึกษาต่อหลังจบ ป.6, ม.3 และ ม.6 และ เอกสารอื่นๆ เกี่ยวกับการสมัครงาน การทำงาน เพื่อนำไปศึกษาเองและมอบโรงเรียนต่างๆ ในชุมชน
การอบรมเรื่อง "สวนครัวยุคใหม่ : ปลูกผักร่วมกับการเลี้ยงปลา (Aquaponics)" ใช้หลักการ "3 ไม่ 3 น้อย 3 และ 3 อ." 3 ไม่ คือ ไม่ใช้ดิน (ใช้หินลูกรัง ถ่าน กาบมะพร้าวสับและขุยมะพร้าว) ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์ และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง 3 น้อย คือ ใช้นํ้าน้อย ใช้แรงงานน้อย และใช้เวลาดูแลรักษาน้อย 3 อ. คือ อาหาร อารมณ์ และออกกำลังกาย สำหรับภาพและข้อมูลปลา ผู้เขียนสืบค้นจาก Internet เลือกเฉพาะชนิดที่ตนเองเคยจับจากทุ่งนาของหมู่บ้าน และจับจากแม่น้ำชีที่ต้องเดินเท้าไปกลับประมาณ 20 กม.ออกจากบ้านเช้ามืดและกลับถึงบ้านก็มืดแล้ว (ยังจำได้ดีถึงวันนั้น เมื่อปี 2510 ที่ผู้เขียนซึ่งเป็นเด็กคนเดียว ได้นำสวิงและคุน้ำยาขี้ซีตามผู้ใหญ่ในคุ้มบ้าน เดินทางไปจับปลา ถึงบ้านด้วยความเหนื่อยอ่อนหมดแรง แต่กลับลิงโลดมีพลัง เมื่อแม่บอกว่า สอบ ปกศ.ได้ที่ 6 เป็นไปได้ยังไงนะ ก่อนนั้นเรียน ม.ศ. 2-3 อยู่ 3 วิชา คือ วาดเขียน ประวัติศาสตร์ และเรขาคณิต กับเพื่อนร่วมห้องชุดสุดท้าย 7 คน ก่อนที่โรงเรียนจะถูกยุบ ทำให้ต้องย้ายไปเข้าเรียนที่โรงเรียนยโสธร ในปลายภาคเรียนที่ 2 ของชั้น ม.ศ.3 ก่อนที่จะไปสอบ ป.กศ. หลายปีต่อมา เห็นทางโรงเรียนขึ้นป้ายว่า เป็นศิษย์เก่าคนแรกที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท) สำหรับภาพการจับปลาของผู้เขียน เป็นภาพจำลอง
คนที่เป็นครูต้องรู้ลึกรู้จริง รู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง เพราะ "การศึกษาคือชีวิต ไม่ใช่การเตรียมเพื่อชีวิต" การเป็น "ผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity) รักการอ่าน" จะช่วยครูได้มากในเรื่องนี้ ครูต้องอ่านตำราหลายๆ เล่มเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ความรู้ อ่านบทความจากวารสารที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการพัฒนาทางวิชาการวิชาชีพ และอ่านหนังสือประเภทพ็อคเก็ตบุ๊คที่ผู้เขียนเขียนหรือแปลเรียบเรียง ซึ่งมักจะเสนอประเด็นความรู้และแนวปฏิบัติให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในการจัดการเรียนรู้ ผู้เขียนเองได้ใช้ "ครูเอกสาร" โดยจะเข้าห้องสมุดของคณะและของศูนย์วิจัยฯ เสมอ เพื่อติดตามดูรายการหนังสือ/รายงานการวิจัยใหม่ๆ และยืมเล่มที่น่าสนใจไปอ่าน ติดตามอ่านและสำเนาบทความในวารสารใหม่ไปศึกษา และเข้าร้านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อเลือกซื้อหนังสือที่น่าสนใจ ดังตัวอย่างเมื่อต้องการเรียนรู้เรื่องการทำงานของสมอง และการพัฒนาสมรรถภาพทางสมองของนักศึกษา ก็จะซื้อพ็อคเก็ตบุ๊ดังตัวอย่างในภาพล่าง ตำรา วารสาร และพ็อคเก็ตบุ๊คต่างๆ เป็นอีกแหล่งเรียนรู้ของครู จึงนับว่าเป็น "ครูของครู" ได้เช่นกัน
"ครูเครื่อง" ณ ที่นี้คือ โทรทัศน์ และ โน้ตบุ๊ค ซึ่งอย่างแรกผู้เขียนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งของตนเองและของนักศึกษา โดยการบันทึกรายการทีวีในช่วงที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับบทเรียน เป็น DVD เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้และการอบรมครู อย่างหลังผู้เขียนใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของตนเอง โดยใช้สืบค้นทาง Internet เพื่ออ่าน e-book, วารสารทางการศึกษาและทางจิตวิทยาของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในรูป Online และใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน อนึ่งในภาคเรียนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ ได้ใช้เป็นเครื่องมือจัดการเรียนรู้สำหรับนักศึกษาเป็นรายบุคคลกว่า 100 คนผ่าน "Weblog GotoKnow.Org" ซึ่งทำให้มีเวลานอนคืนละประมาณ 3-4 ชั่วโมงตลอดภาคเรียน
ผู้เขียนเคยแสดงความเห็นในบันทึกของ "ครูวุฒิ : ผอ.โรงเรียนโคกเพชร" ประมาณสามปีที่แล้ว ที่บอกว่าครูสูงวัยมักจะใช้เทคโนโลยีไม่เป็น...ว่า “อ.วิเป็นผู้สูงอายุแต่ชอบเรียนรู้ ก็เลยใช้เครื่องไม้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเป็นค่ะ ได้ใช้เงินส่วนตัว ซื้อเครื่องบันทึกรายการทีวีเป็นวีดิโอเทป (Video Tape) เช่น รายการเกี่ยวกับการเล่านิทาน การละเล่นพื้นบ้าน เพลง การเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต และเสริมสร้างลักษณะนิสัย ฯลฯ เพื่อใช้เป็นสื่อเสริมสำหรับจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยมาตั้งแต่ปี 2540 (ทำวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานค่ะ) จนพังไปสองเครื่อง (ใช้ผลิตสื่อการเรียนการสอนด้วย) พอยุค DVD ที่คณะครุศาสตร์มีแต่เครื่องเล่น DVD อ.วิก็ใช้เงินส่วนตัวซื้อเครื่องที่ใช้บันทึกได้ด้วย อีก ซื้อมาแล้วอ่านและทำตามคู่มือแล้วก็ยังบันทึกไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่คณะก็ไม่เคยใช้แนะนำให้ไม่ได้ ก็เลยหอบหิ้วไปถามร้านที่ซื้อมา ซึ่งพนักงานก็ให้คำแนะนำไม่ได้ (ขายอย่างเดียว) ต้องหอบหิ้วตามไปร้านที่ขายเครื่องบันทึก/เล่น DVD ยี่ห้อนั้นโดยตรง ซึ่งก็ให้คำแนะนำได้เฉพาะวิธีบันทึกและการเล่นกับเครื่องเล่น DVD แต่ไม่รู้เรื่องการนำไปใช้กับ Notebook อ.วิ เลยโทรฯ ไปปรึกษาลูกชาย ลูกก็ไม่เคยทำเหมือนกัน แต่ได้แนะให้ลองใช้แผ่น DVD ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น คือมีคำว่า +RW ตกราคาแผ่นละ 32-35 บาท อ.วิทำตามก็ได้ผล และได้ซื้อบันทึกรายการทีวีมาแล้วนับ 100 แผ่น ตอนนี้มีปัญหาหาซื้อแผ่นไม้ได้ คนขายบอกไม่ค่อยมีคนใช้เลยไม่สั่งมาขาย ทั้งมหาวิทยาลัยก็มี อ.วิ คนเดียวที่ผลิตสื่อประเภทนี้ แม้แต่อาจารย์สาขาเทคโนโลยีการศึกษาของคณะก็ไม่มีใครผลิต มีแต่รับบริจาคและซื้อ DVD ที่ผลิตสำเร็จรูปเท่านั้น"
ลูกศิษย์ของผู้เขียนส่วนใหญ่แล้วจะไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน (มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้คุณลักษณะดังกล่าว เป็น "อัตลักษณ์ของนักศึกษา มรภ.อุบลฯ) ในชั้นเรียนก็ไม่มีสมาธิไม่สนใจบทเรียน ผู้เขียนจึงหาทางกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ โดยการใช้สื่อ DVD ที่ทุกวันต้องใช้เวลาในช่วงประมาณสามทุ่มถึงตีหนึ่ง และเวลาตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า เพื่อติดตามว่า จะมีช่วงไหนของรายการที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับบทเรียน (โดยเตรียมการสอน ตรวจงานไปด้วย) ข้างล่างเป็นภาพตัวอย่างการนำ DVD ไปใช้ในห้องเรียนและห้องอบรมครูแกนนำสาขาการแนะแนว
...เกษียนไปแล้วก็ยังเป็นห่วงนักศึกษา ที่ครูบาอาจารย์ไม่ใส่ใจหาวิธีพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน แทนที่จะใช้ IT เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ กลับนำไปใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เห็นอาจารย์รุ่นน้องไปร่ำเรียนได้ "ดร." มา นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังได้รับทั้งเงินประจำตำแหน่งทางการบริหาร และเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ ลูกก็มีคนเดียว ไม่รู้ว่าจะหาเงินไปทำอะไรกันนักกันหนา เห็นเข้ามาเสนอขายสินค้าให้ผู้เขียนทาง Facebook หลายครั้ง...เศร้าใจนักที่ทั้งผู้บริหารและอาจารย์ส่วนใหญ่เห็นว่า นักเรียนที่เข้าไปเรียนในม.ราชภัฏ (Input) มีพื้นฐานทางวิชาการและระดับสติปัญญาด้อยกว่า พวกที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอื่นๆ บอกสอนไปก็เท่านั้น เสร็จแล้วก็ปล่อยให้พวกเขาจบออกไปแบบตามบุญตามกรรม ผู้เขียนเองเห็นว่า แม้แต่เด็ก Down's Syndrome (ปัญญาอ่อน) ยังเรียนสำเร็จปริญญาตรีได้แบบมีคุณภาพเพราะความทุ่มเททั้งคุณแม่และตัวเขาเอง แล้วนักศึกษา ม.ราชภัฏอุบลฯ ทุกคนมี IQ ในเกณฑ์ปกติขึ้นไป มีหรือจะหาทางช่วยให้เขาเรียนรู้อย่างมีคุณภาพไม่ได้ ผู้เขียนจึงได้หาทางพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้ทัดเทียมนักศึกษามหาวิทยาลัยเก่าแก่อื่น มาตลอด ด้วยคติ ...อุทิศตนเพื่อหน้าที่มี "ฉันทะ" "วิริยะ" บากบั่นหมั่นฝึกฝน เอาใจใส่ "จิตตะ" ภาระตน มุ่งคิดค้น "วิมังสา" พัฒนางาน อุปสรรคมากมีมิเคยท้อ แค่ยังพอมีแรงกายไว้สืบสาน พลังจิตมั่นบ่มอุดมการณ์ งานและงาน...คือ มาลีแห่งชีวิต...
ขอขอบพระคุณ กัลยาณมิตรทุกท่านที่กรุณาเข้ามาอ่าน มอบดอกไม้กำลังใจ และทักทายพูดคุยด้วยอัธยาศัยไมตรีที่มีต่อกัน
ขอบพระคุณค่ะอาจารย์.....ที่มาเชื่อมโยงชัดเจนเรื่องครูคน ครูเครื่อง ครูประสบการณ์ชีวิต และครูเอกสาร...ครบเครื่องเรื่อง ครูเลยค่ะ
ขอบคุณครับท่านอาจารย์ เป็นบันทึกที่น่าสนใจ อ่านแล้วมีประโยชน์มากครับ
อาจารย์แม่ มีประสบการณ์ หลากหลายนะคะ ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ
สวัสดีค่ะอาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้
หลากหลายมิติ ตัวอย่าง องค์ความรู้ โดยเฉพาะวิถีปฏิบัติ จนกลั่นออกมาเป็นครูของครูอย่างเต็มเปี่ยมด้วย "จิตวิญญาณความเป็นครู" โดยแท้เลยนะคะ
ขอบพระคุณที่อาจารย์ให้เกียรติกล่าวถึงนะคะ
ทุกสิ่งอย่างรอบ ๆ ตัวเรา ล้วนเป็น...ครู...ของเราทั้งสิ้นจ้ะ
เป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากนะคะคุณพี่ผศ.วิไล อ่านแล้วคิดได้หลายมุมมอง...ในความเห็นส่วนตัวอาจเป็นบทสรุปส่งท้ายที่ตรงใจคุณพี่นะคะ...น้องพจนามองว่า"ครูของครู" ของคุณพี่...ได้รับการอบรมสั่งสอน ปลูกฝังมาจากครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหาย และสังคมรอบข้าง รวมทั้งวิทยาการอันทันสมัยต่างๆ ที่ได้ศึกษาเรียนรู้ สามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้จนเกิดประโยชน์มากมาย ...และสิ่งสำคัญที่สุดคือความเลื่อมใสศรัทธาในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ให้พลังใจ และแนวทางการดำเนินชีวิต...ทั้งหมดจึงเป็น"ครูของครู" ที่ยิ่งใหญ่ หล่อหลอมให้เกิดจิตวิญญาณความเป็นครูตลอดมา...
...พิมพ์ตกบางคำไปนะคะ ...การที่ได้รับการอบรมสั่งสอน ปลูกฝังตลอดจนประสบการณ์ชีวิตมาจากครอบครัว ครูบาอาจารย์ ญาติสนิท มิตรสหาย และสังคมรอบข้าง รวมทั้งวิทยาการอันทันสมัยต่างๆ ที่ได้ศึกษาเรียนรู้ จนสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้จนเกิดประโยชน์มากมาย ...และสิ่งสำคัญที่สุดคือความเลื่อมใสศรัทธาในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ให้พลังใจ และแนวทางการดำเนินชีวิต...ทั้งหมดจึงเป็น"ครูของครู" ที่ยิ่งใหญ่ หล่อหลอมให้เกิดจิตวิญญาณความเป็นครูตลอดมา...
ด้วยความซาบซึ้งใจในมิตรไมตรีของกัลยาณมิตร และขอขอบคุณทุกท่านที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมเยียน มอบปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจนะคะ
เมื่อวานไอดินฯ เข้าเมืองเพื่อเยี่ยมญาติ รดน้ำต้นไม้ที่บ้านเรือนขวัญในเมือง เก็บกวาดรอบบ้าน ขายลังกระดาษและขวดพลาสติก (ได้เงินตั้ง 23 บาทแน่ะค่ะ ส่วนที่ได้มากกว่านั้น คือได้ช่วยทำให้บ้านรกน้อยลง) แล้วก็เข้าตลาด 2 แห่งเพื่อซื้อกับข้าวและไก่เป็นตัวเพื่อเตรียมไปนึ่งเลี้ยงเจ้าปู่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของหมู่บ้านที่ไอดินฯ จะได้เข้าร่วมครั้งนี้เป็นครั้งแรกค่ะ กลับถึงฟาร์ม 2 ทุ่มพอดี แล้วต้องทำอาหารให้เฉาก๊วยสุนัขแม่ลูกอ่อนเพิ่งคลอด 29 ม.ค. ก่อนที่จะจัดอาหารให้ตนเอง...ค่ำวานนี้ เลยไม่ได้เข้าบ้าน GotoKnow ค่ะ
เช้านี้ตื่นตี 5 เตรียมนึ่งไก่ และใช้เวลาที่รอไก่สุกแว้บเข้าบ้าน GotoKnow ค่ะ ...ตอนนี้ได้เวลาเตรียมตัวไปร่วมงาน แล้วจะกลับมาเก็บรายละเอียดที่เหลือในบันทึก และตอบความเห็นกัลยาณมิตรนะคะ
_สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน
_ตามมาอ่านบันทึกของอาจารย์แม่ไอดินแล้วได้ทราบถึงครูของครู.....ครับ
_สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับแรงผลักดันที่ได้มาซึ่งใบประกอบของวิชาชีพครูที่อาจารย์แม่ไอดินได้ขอเพิ่มเติมนั้นผมจะเขียนและส่งไปให้ทางอีเมลล์นะครับ
_วันนี้อากาศสดใส...อาจารย์แม่ไอดินมีกิจกรรมเลี้ยงเจ้าปู่....ซึ่งน่าจะคล้ายๆกับประเพณีและความเชื่อทางบ้านผมที่มีการเลี้ยงผีปู่ผีย่า....
_ทางอีสานเรียกว่าศาลปู่ตาไหมครับ?จำได้ว่าตอนอยู่มุกดาหารจะมีความเชื่อแบบนี้และถือเป็นสิ่งที่ควรเคารพนับถืออย่างยิ่งเลยครับ...
_สำหรับผม...วันนี้ทำหน้าที่เป็นกรรมเลือกตั้ง...ณ มุมหนึ่งของประเทศไทย...สถานการณ์ปกติดี...แต่ดูเงียบเหงา....ชอบกล....
_ขอบคุณครับ
_อ้อ....เมื่อวานเย็นได้มีโอกาสพาคนใกล้ตัวไปทำบุญฝังลูกนิมิตรมาครับ....เธอบอกว่าเพิ่งเคยทำบุญฝังลูกนิมิตรเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกของเธอคือเมื่อปีก่อน...ซึ่งก็ไปกับผมครับ.....ลองมาคิดดู....เธออยู่เชียงใหม่..มีวัดเก่าแก่มากมาย...และเขาคงฝังลูกนิมิตรไปหมดแล้ว...นั่นเอง.....
_เก็บภาพมาฝากครับ
คุณแม่ที่เยี่ยมมากๆเลย น่าภูมิใจที่สุดนะคะ (เพราะดาก็เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 ) คุณแม่ 5 แล้วคุณยายหายโกรธไหมค่ะ ดาไม่ได้ตามทุกบันทึก แต่ได้อ่านบันทึกนี้ก็ประทับใจมากค่ะ ขอบคุณมากนะคะ
ครูดีดีมีอยู่รอบตัวเรา รู้ตัวเห็นตนรู้จำรู้ใส่ใจหมั่นฝึกฝน ขอบคุณบันทึกดีๆมีคุณภาพเช่นนี้ค่ะ
ขอบคุณ "คุณครู Noktalay : รุจิดา สุกใส" จากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา (สพม.สงขลา เขต 16) มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจครูอาวุโส
ไม่ได้อ่านบันทึกครูนกมาเป็นเวลานาน เที่ยวนี้เลยเข้าไปอ่านนับ 10 เรื่อง ยินดีด้วยนะคะ ที่ครูนกบอกว่า "นับว่าครูนกมีความโชคดีที่เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อและตา พร้อมกับอาเป็นครูมืออาชีพ..."
ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง กับรางวัลสุดคะนึงเดือนธันวาคม 2556 ที่ครูนกได้รับ ด้วยเหตุผลที่ ดร.จันทวรรณชี้ว่า "...ครูนกได้แบ่งปันเทคนิควิธีการออกแบบการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้มีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีจิตอาสารู้จักเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม...ด้วยความเป็นครูมืออาชีพและด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ทำให้เห็นได้ว่า ลูกศิษย์ได้รับทั้งความรู้และความสุข..."
และขอบคุณบันทึกเรื่อง "เส้นทางส้มแขก" ของครูนกที่ทำให้ไอดินฯ รู้จักข้อมูลส้มแขกเป็นครั้งแรกและได้เข้าไปสืบค้นเพิ่มเติม เห็นครูนกบอกว่า "กว่าจะได้ผลส้มแขกใช้เวลามายาวนานค่ะ เกินสิบปีตั้งแต่สมัยยายยังมีชีวิตอยู่ แต่มาออกดอกออกผลในช่วงห้าปีที่ผ่านมา..." สำหรับต้นที่ไอดินฯ ซื้อไปปลูก คนขายบอกว่า เป็นแบบเสียบยอด ประมาณ 3 ปีก็ให้ผลค่ะ (ถ้าเขาพูดความจริง)
ขอบคุณ "คุณเขียวมรกต : คุณสายัณห์ ปิกวงศ์" นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มากนะคะ ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจไอดิน-กลิ่นไม้ อีก หลังจากที่ห่างหายไปพักหนึ่ง
และขอขอบคุณที่หลังจากห่างหายจากการเขียนบันทึกใน GotoKnow ไปประมาณ 5 เดือน ก็ได้กลับมาเขียนบันทึก 2 เรื่อง เกี่ยวกับการทำมะม่วงนอกฤดู และเรื่อง "การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในสวนมะม่วง" (http://www.gotoknow.org/posts/560283) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มากสำหรับฟาร์มไอดินฯ ค่ะ เพราะ "มะม่วง" เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเรา ซึ่งได้ปลูก,มะม่วงนับ 10 ชนิด ได้แก่ 1) มะม่วงงามเมืองย่า 2) มะม่วงโชคอนันต์ 3) มะม่วงน้ำดอกไม้ 4) มะม่วงแก้ว (ดังภาพเปรียบเทียบขนาดของมะม่วงทั้ง 4 ชนิด) 5) มะม่วงเขียวเสวย เป็นต้น สำหรับการทำมะม่วงนอกฤดู และวิธีป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้ดอกเดหลี นับเป็นเรื่องใหม่ของเรา จะขอเข้าไปเรียนถามรายละเอียดในบันทึกของคุณเขียวมรกต อีกทีนะคะ
ที่ยายไอดินฯ เล่าชีวิตวัยเด็กน่ะ มันแค่กระผีกริ้นของความลำบากนะคะ "ป๋าเด" ที่หนักหนาสาหัสน่ะไม่ได้เล่าหรอก คงจะป็นอย่างป๋าเดว่า ลำบากมามากเลยได้ฝึกความแข็งแกร่ง ถ้ามองโลกในแง่ดี ก็คือ เป็นโอกาสดีที่ได้พัฒนา "AQ" ทำให้เมื่อโตขึ้นเจอเรื่องร้ายๆ เลยผ่านมาได้นะคะ
ขอบคุณนะคะ ที่ป๋าเดบอกว่าเขียนยาวแต่ไม่น่าเบื่อ...
ขอบคุณ "Dr.Ple" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจอาจารย์แม่ และบอกว่า "อาจารย์แม่ มีประสบการณ์หลากหลาย นะคะ"
พี่สาวคนติดกันของไอดินฯ บอกว่า ชีวิตพวกเรายิ่งกว่าละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอต้องถือว่าเป็นนักสู้จริงๆ ประโยคที่ว่า "Life is a reality to be experienced." ดูจะเข้ากับไอดินฯ ที่สุดเลยค่ะ
ขอบคุณ "Dr.Ple" มากนะคะ ที่นำ เครื่องประดับเมืองเพชรมาให้ชม ยอมรับว่าสวยงามประณีตจริงๆ ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ขอบคุณ "ทพญ.ธิรัมภา" มากนะคะ ที่เข้ามามอบดอกไม้พร้อมด้วยปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจให้กับ "ไอดิน-กินไม้" ที่แสดงถึงการอ่านด้วยความใส่ใจจนสามารถสังเคราะห์ออกมาเป็นถ้อยคำ...."หลากหลายมิติ ตัวอย่าง องค์ความรู้ โดยเฉพาะวิถีปฏิบัติ จนกลั่นออกมาเป็นครูของครูอย่างเต็มเปี่ยมด้วย 'จิตวิญญาณความเป็นครู' โดยแท้เลยนะคะ"
ตั้งแต่รู้จักคุณหมอจากบันทึกที่กล่าวถึงการส่าว (หักร้างถางพง) ของบรรพบุรุษเพื่อให้มีที่นาทำกินที่ไอดินฯ ได้นำไปถอดบทเรียนใน Theme "Happy 8" มาจนถึงบันทึกหลังๆ ได้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสงบงามของคุณหมอ ก็รู้สึกชื่นชม ทั้งการปลูกผัก การรับประทานอาหารแบบพื้นบ้านในรสนิยมเดียวกับไอดินฯ สัตว์ตามธรรมชาติที่บ้านไม้ชายทุ่งของคุณหมอไม่ว่าจะเป็น ปาด หิ่งห้อย แมลงปอ นก รวมทั้งการมองเห็นภาพคนเลี้ยงวัว ก็ช่างคล้ายกับบ้านไอดินฯ เสียเหลือเกิน แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ เราไม่มีปัญญาสร้างบ้านไม้ค่ะ
เมื่อได้เข้าไปอ่านบันทึกของคุณหมอเรื่อง "พืชผักผลไม้ในสวนกาแฟบนดอย (๒)" ซึ่งมีภาพดอก "นางพญาเสือโคร่ง (Wild Himalayan Cherry)" มาให้ชมด้วย ก็นึกขึ้นได้ว่า ตอนที่เลิกจากการอบรมมีเวลาเล็กน้อย ไปเดินดูต้นไม้ที่วางขายในงานอีกรอบหนึ่งแบบเดินผ่านๆ เพราะมีมากมายเหลือเกิน ตาดีเหลือบไปเห็นป้ายระบุชื่อต้นพญาเสือโคร่งอยู่ท้ายๆ ร้าน รีบเข้าไปเลือกซื้อมาต้นหนึ่ง...เมื่อสืบค้นข้อมูลทราบว่า "นางพญาเสือโคร่ง" มีชื่อเรียกว่า "ซากุระเมืองไทย" ก็นึกถึงที่ได้ไปเที่ยวมณฑลยูนนานกับคณะครูศาสตร์ จึงนำภาพมาฝากคุณหมอ ด้วยนะคะ
ขอบคุณ "น้องมะเดื่อ" มากนะคะ ที่แวะมาให้กำลังใจพี่ไปดินฯ
พี่บอกว่าปีนี้ พะยอมก็ยังไม่ออกดอก เธอคงจะรำคาญก็เลยออกมาเต็มต้นเลย แต่ดอกอยู่สูงเหลือเกิน เพราะต้นสูงแข่งกับ "ต้นมะขาม : ต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์" ซึ่งอยู่ด้านหลังค่ะ พี่ก็เลยอดชมความงามของเธอ ต้องชมต้นที่โรงเรียนน้องมะเดื่อแทน
ชอบดาวเรืองมากค่ะ งามจริงๆ ...ดีใจแทนคุณพ่อคุณแม่น้องมะเดื่อนะคะ ที่ผลผลิตออกมาน่าชื่นใจเช่นนี้ และชอบที่อยูริมน้ำ มีบัวสายสวยๆ ใช้ชมด้วย
ขนุนที่ผอ.อัญชัญนำมาประกอบบันทึก ก็ดกน่าทึ่งจริงๆ นะคะ ไม่ทราบว่าเป็นพันธุ์อะไร และท่านนำภาพนี้มาจากไหน
ขออนุญาตแก้คำผิดที่ตอบความเห็นน้องมะเดื่อ นะคะ ...พี่ไปดินฯ...พี่ไอดินฯ, ...มีบัวสายสวยๆ ใช้ชม...ให้ชม...
ขอบคุณ "น้อง ดร.พจนา" จริงๆ ค่ะ ที่มาให้กำลังใจพี่พร้อมด้วยปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจ ที่สำคัญ ช่างสังเคราะห์งานเขียนของพี่ชิ้นนี้ ได้ "ลุ่มลึก ครอบคลุม ตรงใจ" ชนิดที่พี่ซึ่งเป็นผู้เขียนเองยังไม่สามารถทำได้เช่นนี้ น้องบอกว่า "เป็นบันทึกที่มีคุณค่ามากนะคะคุณพี่ผศ.วิไล อ่านแล้วคิดได้หลายมุมมอง...ในความเห็นส่วนตัวอาจเป็นบทสรุปส่งท้ายที่ตรงใจคุณพี่นะคะ...น้องพจนามองว่า 'ครูของครู' ของคุณพี่....การที่ได้รับการอบรมสั่งสอน ปลูกฝังตลอดจนประสบการณ์ชีวิตมาจากครอบครัว ครูบาอาจารย์ ญาติสนิท มิตรสหาย และสังคมรอบข้าง รวมทั้งวิทยาการอันทันสมัยต่างๆ ที่ได้ศึกษาเรียนรู้ จนสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้จนเกิดประโยชน์มากมาย ...และสิ่งสำคัญที่สุดคือความเลื่อมใสศรัทธาในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่ให้พลังใจ และแนวทางการดำเนินชีวิต...ทั้งหมดจึงเป็น 'ครูของครู' ที่ยิ่งใหญ่ หล่อหลอมให้เกิดจิตวิญญาณความเป็นครูตลอดมา.."
บ่ายเมื่อวาน พี่ได้รับปฏิทิน "Save the Birds 2" ที่ "Thai PBS" ส่งไปให้จากการแจ้งชื่อรายการของช่องที่ชอบที่สุด กอปรกับได้เข้าไปอ่านบันทึกเรื่อง "รอคอย...การกลับมาอีกครั้ง...(http://www.gotoknow.org/posts/560715)"-ของน้อง คิดว่า เมื่อมีโอกาสอันเหมาะสม จะเขียนบันทึกนำเสนอเรื่องนกต่างๆ ที่พี่สะสมมาจากบันทึกของน้อง นกที่พบในฟาร์มไอดินฯ และนกที่นำเสนอในปฏิทิน ค่ะ
ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมเยียน และเล่ากิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำร่วมกับคุณมดตะนอย (คนข้างกาย) พร้อมด้วยภาพให้อาจารย์แม่ได้ร่วมรับรู้เสมอ และขอบคุณที่คุณเพชรบอกจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับแรงผลักดันที่ทำให้ได้มาซึ่งใบประกอบของวิชาชีพครู ให้อาจารย์แม่ทางอีเมลล์
ใช่่ค่ะ ทางอีสานเรียกศาลปู่ตา... เข้าไปอ่านบันทึกที่คุณเพชรแนะนำ เมนูถั่วแปบ ถึงจะบอกว่า ง่ายมาก แต่เมนูอาจารย์แม่ง่ายกว่าค่ะ ...ที่ฟาร์มอาจารย์แม่ไอดินฯ ปลูกถั่วแปบไห้พันกับต้นขี้เหล็กใกล้บ้าน และทำเมนูง่ายมาก แค่เก็บมาล้างแล้ววางข้างจานตำฝักนุ่น หรือตำส้มตำก็กินได้เลยค่ะ
ขอบคุณ "น้องดา" มากนะคะ ที่เข้ามาแวะเยี่ยมที่ แล้วจะกลัมมาคุยต่อนะคะ เดี๋ยวต้องเตรียมตัวขับรถเข้าเมืองพาพี่สาวลูกคนที่สองของคุณแม่ไปทำบุญ ค่ะ
ขอคุยกับ "น้องดา" ต่อนะคะ
น้องดาถามว่า "แล้วคุณยายหายโกรธไหมคะ" คงจะเป็นคำถามจากข้อความที่ได้อ่านในบันทึก ความว่า "...เมื่อแม่ลำบากก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากยายและน้าผู้รับมรดก ผู้เขียนทราบจากพี่สาวคนโตตอนที่ตนเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว ว่า ยายและน้ามีเรื่องขัดใจอย่างรุนแรงกับพ่อและปู่ย่าของผู้เขียน จึงไม่ยอมดูดำดูดีลูกและหลานที่ตกระกำลำบาก..." พี่ก็ขอตอบว่า "คุณยายโกรธยาวมากค่ะ ในขณะที่น้าผู้รับมรดกที่นาทั้งหมดได้จ้างชาวบ้านทำนา แต่ละปีมีข้าวไว้กินตลอดปี เก็บข้าวเปลือกไว้ทำพันธุ์ในปีต่อไป และเหลือขายได้เงินมากมาย แต่ครอบครัวของพี่ต้องซื้อ/แลกข้าวเปลือกใส่ไว้ในยุ้งข้าว เพื่อให้พี่หาบไปสีเป็นข้าวสารเหนียวไว้นึ่งกิน...ตอนจบป.4 ยายจำเป็นต้องรับพี่ไปอยู่ด้วยเพื่อเรียน ป. 5 ที่บ้าน/ร้านค้าในเมือง ลูกคนโตของน้าซึ่งเรียน ม.4 (ม.1 ในปัจจุบัน) เหมือนเป็นคุณหนูไม่ต้องทำอะไร เรียนอย่างเดียว (ในขณะที่พี่ต้องทำงานบ้านทุกอย่าง) อาหารก็กินแบบพิเศษต่างหาก แต่พี่ต้องกินตามยายและน้าคนเล็กซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาร้า และปลาป่น ลาบปลาดุกใส่ข่าที่พี่กินไม่ได้แต่ต้องกินเพราะกลัวยายมาก ผักผ่องซึ่งขมมากพี่ก็กินไม่ได้แต่ต้องกินตามที่ยายบอก และส้มผักกาด (ผักกาดดอง) ที่จะเสียแล้ว ที่ยังไม่เสียยายให้พี่ใส่ตะกร้าพร้อมกล้วยน้ำว้าหิ้วไปขายแถวคุ้มวัด พี่ชอบกินกล้วยน้ำว้ามาก แต่กล้วยที่ยายให้พี่กิน คือ กล้วยที่เปลือกดำแล้วและขายไม่ได้ คิดแล้วก็ขำตัวเอง ที่ตอนนั้นคิดในใจว่า โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะปลูกกล้วย เพื่อให้กินกล้ววยที่ยังไม่เสีย เป็นไงคะชีวิตพี่ รันทดไหมคะ แต่แปลกที่พี่ไม่เคยน้อยเนื้อต่ำใจอะไร ตอนนี้กลับขอบคุณ 'คุณยาย' ที่ได้ช่วยฝึก 'AQ : Adversity Quotient' ทำให้พี่มีความสามารถในการเผชิญและฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ที่มีมากมายเมื่อโตขึ้นค่ะ
ตามมาขอบพระคุณอาจารย์แม่ที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลและทำให้มีกำลังใจในการทำความดีต่อไป
ตอนนี้กำลังรวบรวมผักในท้องถิ่นที่หายากเช่นตะคึก ผักหวานให้นักเรียนปลูกครับ
วันก่อนเอาผักไปขายกับพี่ๆน้องๆพยาบาลของอยุธยา
ผักปลอดสารพิษขายดีมากๆครับ
น้องมีความสุขตามพี่ใหญ่ไปด้วยค่ะ ที่ได้เห็นพรรณไม้ในความรับผิดชอบของพี่ใหญ่ แตกใบ และออกดอกออกผลดกดื่น นำความชื่นใจมาให้กับผู้ดูแล ต้นมะยมที่บ้านเรือนขวัญในเมืองของน้อง ก็ทำหน้าที่เป็นต้นไม้มนุุษยสัมพันธ์เหมือนต้นที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ของพี่ใหญ่ค่ะ ด้วยความที่ต้นใหญ่และออกลูกดกมาก ในแต่ละปีจะมีคนบ้านใกล้เรือนเคียงไปเก็บไปครั้งละตะกร้าใหญ่ คงนำไปดอกหรือแจกต่อจึงเก็บมากขนาดนั้น นอกนั้นน้องก็นำไปฝากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่คณะครุศาสตร์ และฝากญาติๆ ตลอดจนคนคุ้นเคย ไม่เคยขายเอาเงินแม้แต่บาทเดียวค่ะ น้องชอบใจการคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) ของพี่ใหญ่มากค่ะ ที่นำมะยมไปเพิ่มรสชาติให้กับซุปฟักทอง คิดว่าพี่ใหญ่น่าจะเป็นผู้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Original Creator) สูตรนี้นะคะ
ขอบคุณ "ลูกขจิต" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจอาจารย์แม่
อาจารย์แม่ได้เข้าไปอ่านบันทึกของลูกขจิต เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมให้พยาบาลที่อยุธยา และนำผักไปขายเพื่อนำรายได้ไปเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กที่ช่วยกันปลูกผัก แล้วค่ะ ผักก็ขายดี กิจกรรมก็น่าสนุกและมีประโยชน์ นะคะ อาจารย์แม่ได้นำคติภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการมองตนเอง ไปฝากในบันทึกนั้นด้วยค่ะ
สำหรับบันทึกล่าสุดเกี่ยวกับการปลูกผักแบบดาวล้อมเดือน ที่ลูกขจิตขอนำภาพการปลูกผักจากบันทึกนี้ของอาจารย์แม่ไปเผยแพร่ อาจารย์แม่เต็มใจเป็นอย่างยิ่ง และได้นำภาพชัดๆ ไปเพิ่มให้ด้วยนะคะ
ลูกขจิตบอกว่า จะรวบรวมไม้หายากในท้องถิ่น เช่น ตะคึก และ ผักหวานไปให้เด็กปลูก อาจารย์แม่เลยไปค้นภาพและเรื่องราวที่ลูกขจิตส่งเมล็ดพันธุ์ตะคึกและอื่นๆ ไปให้อาจารย์แม่เมื่อ 3 ปีก่อน น่าเสียดายจริงๆ ค่ะ ที่กล้าตะคึกที่พ่อใหญ่สอเพาะให้ที่ฟาร์มงอกแล้ว แต่ภายหลังกลับเฉาตายหมดดังที่อาจารย์แม่ได้แจ้งลูกขจิตไปแล้ว ส่วนบวบปลูกได้ผล แต่ถั่วครูคิมไม่ยอมงอกเลยค่ะ
-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..
-ตามมาอีกรอบ..
-ขอบคุณสำรับการรวมภาพแห่งความประทับใจของครอบครัวเล็ก ๆของผมนะครับ
-วันนี้ตามมาแจ้งข่าวว่าส่งแรงบันดาลใจของผมไปให้อาจารย์แม่ไอดินทางอีเมลล์แล้วนะครับ
-วันนี้มีเมนูจาก"ปูนา"มาฝากครับ..
-เมนูนี้ยากกว่า"การจี่ปูนา"ครับ ฮ่า ๆ
-ขอบคุณครับ..
สายแก่ๆ ของวันหนึ่งในขณะที่แม่ไปร่วมงานบุญที่วัด เด็กหญิงวิที่น่าจะอายุประมาณ 8-9 ปี ถือเสียมพร้อมตะกร้าและไม้ไผ่ที่เหลาให้กลมไร้เสี้ยน ปลายข้างหนึ่งแหลมข้างหนึ่งทู่ เดินออกจากบ้านไปยังทุ่งนา หวังจะขุดกบมาให้แม่ทำอาหารมื้อเย็น โดยมีน้องชายคนเล็กที่อายุประมาณ 4-5 ปี เดินตามไปด้วย...
เมื่อเจอรูก็ใช้ไม้แหย่ด้านแหลมลงไป ถ้าสัมผัสที่รับรู้ว่าแข็ง ก็คะเนว่าเป็นปู ถ้าหยุ่นๆ ก็คะเนว่าเป็นกบ...แต่วันนั้นไม่ใช่วันของ ดญ.เด็กหญิงวิ แต่ละรูที่ขุดลึกสุดช่วงแขนของเธอ เมื่อถึงเป้าหมาย ไอ้ที่หยุ่นๆ กลับเป็นคางคกบ้าง งูบ้างแทนที่จะเป็น "กบ" ดังที่หวังไว้...
จากสายถึงบ่าย ทั้งพี่และน้องอยู่ท่ามกลางเปลวแดดโดยไม่ได้สวมหมวก ทุ่งนาก็ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา แต่เมื่อในตะกร้ามีปูขาขาดอยู่ตัวเดียวยังไม่ได้ "กบ" ตามเป้าหมายเลยยังไม่คิดจะกลับบ้าน ...ออกจากบ้านมาไกลถึงถนนหลวง ถ้าทางตรงจะระยะทาง 2 กม. แต่การหากบไม่ได้เดินตรง เดินตรงไปข้างหน้าบ้าง ไปทางซ้ายบ้าง ทางขวาบ้าง กลับหลังบ้าง ระยะทางจึงประมาณไม่ได้ จนน้องชายเป็นลมคงเพราะโดนแดดดมาก น้ำก็ไม่มีดื่ม ดญ.วิตกใจมากต่อมอาดรีนอล (Adrenal Gland) จึงขับฮอร์โมนอาดรีนาลินออกมามาก ฮอร์โมนเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน ทำให้มีพลังมากอุ้มน้องตัวปลิวเดินข้ามถนนไปตะโกนเรียกย่า (อาเคยชี้บอกว่าย่าจะเลี้ยงวัวอยู่บริเวณนั้นซึ่งเป็นที่นาของย่า) ...โชคดีที่เจอย่า ย่าพาไปที่เถียงนาและเปิดฝาแอบ (กระป๋อง) ยาเส้น แล้วรินน้ำจากขวดใส่ฝาแอบยาเส้นให้น้องและ ดญ.วิดื่ม แล้วย่าก็อมน้ำเป่าพรมจนน้องฟื้น...จำได้แค่นั้นค่ะ
อีกเหตุการณ์ ...วันนั้นเป็นวันของ ดญ.วิที่ออกไปช้อนฮวก (ลูกอ็อด) กับพี่คนติดกัน ได้ฮวกกบไม่มากนัก แต่โชคดีไปเจอปูที่หนีจากน้ำในนาข้าวที่ร้อนมาก ไต่ขึ้นไปตามซังข้าวเต็มไปหมด เหมือนปูในมือคุณเพชรเลยค่ะ สองพี่น้องตื่นเต้นดีใจมาก รีบเก็บปูจนหมดแล้วนำกลับบ้านไปให้แม่ทำอาหาร (คิดทบทวนแล้วก็น่าสงสารปูนะคะ "หนีเสือปะจรtเข้" จริงๆ แต่ทำไงได้ สมัยนั้นต้องหาอยู่หากินเพื่อให้มีชีวิตรอด มีบางมื้อไม่มีอะไรกิน แม่ต้องต้มหัวหอมแห้งให้พวกเราจิ้มน้ำพริกเป็นอาหาร) เมนูหนึ่งที่จำได้ก็คือ "อ๋อปู" ซึ่งทำคล้ายๆ "อ่องปู๋" ของคุณเพชร ต่างกันตรงที่ไม่ได้ทอดแต่นำไปย่างไฟค่ะ
เล่าเรื่องปูเพลินจนลืมขอบคุณ...ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะที่บอกว่า ได้ "ส่งแรงบันดาลใจไปให้อาจารย์แม่ไอดินทางอีเมลล์แล้ว"...แล้วจะเข้าไปดูนะคะ
ตอนนี้ที่บ้านกำลังขุดบ่อน้ำ ผมได้อ่านบันทึกนี้นานแล้วแต่ก็รอดูอยู่ว่าอาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้ จะนำมาเขียนอย่างละเอียดหรือไม่ ก็ยังไม่เห็นอยากได้เอกสารรายละเอียดของการปลูกผักเลี้ยงปลา แบบเป็นขั้นเป็นตอนที่สามารถทำตามได้หนะครับ
จะนำมาทดลองทำดูบ้าง ไม่แน่ใจว่าอาจารย์แม่มีเอกสารการทำดังกล่าวหรือไม่ อีเมล [email protected] หรือ [email protected] หรือไม่ก็ที่อยู่ 242 ม.7 บ่อทอง ทองแสนขัน อุตรดิตถ์ 53230 ครับผม...
มิติมุมมองของนักเขียนผู้เชี่ยวชาญ..อ่านเท่าไหรไม่เคยเบื่อถูกอักขระ...ได้สาระ..ซาบซึ้งใจ....
ปราชญ์โดยแท้จริง....จะติดตามทุกคอลัมน์ค่ะ...
เห็นคุณ "พี่หนาน" บอกว่า " ตอนนี้ที่บ้านกำลังขุดบ่อน้ำ ผมได้อ่านบันทึกนี้นานแล้วแต่ก็รอดูอยู่ว่าอาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้ จะนำมาเขียนอย่างละเอียดหรือไม่ ก็ยังไม่เห็น อยากได้เอกสารรายละเอียดของการปลูกผักเลี้ยงปลา แบบเป็นขั้นเป็นตอนที่สามารถทำตามได้หนะ (น่ะ) ครับ จะนำมาทดลองทำดูบ้าง ไม่แน่ใจว่าอาจารย์แม่มีเอกสารการทำดังกล่าวหรือไม่..." จากที่คุณ "พี่หนาน" บอกว่า "ที่บ้านกำลังขุดบ่อน้ำ" เกรงว่า จะเป็นการเข้าใจผิด เพราะระบบที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ไม่ใช้การขุดบ่อ แต่เป็นการสร้างถังขึ้นมาดังภาพล่างค่ะ การเลี้ยงปลาและปลูกผักเป็นระบบเกื้อกูลกัน ทำงานแบบหมุนเวียน ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำเลี้ยงปลา และไม่ต้องตักน้ำรดพืช เอกสารมีประมาณ 45 หน้า ถ้าอาจารย์เห็นโครงสร้างแล้วและยังคิดจะทำ จะส่งเอกสารไปให้นะคะ ยังไงช่วยยืนยันอีกทีด้วยนะคะ
ขอบคุณ "คุณครูหยิน" มากนะคะ สำรับปิยวาจาเสริมสร้างพลังใจ "มิติมุมมองของนักเขียนผู้เชี่ยวชาญ..อ่านเท่าไหรไม่เคยเบื่อถูกอักขระ...ได้สาระ..ซาบซึ้งใจ...ปราชญ์โดยแท้จริง....จะติดตามทุกคอลัมน์ค่ะ..."
ความสามารถก็มีพอประมาณหรอกนะคะ แต่ที่มีเปี่ยมล้นคือ ความรักชาติ ปรารถนาให้ประเทศไทย สังคมไทย และคนในชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเขียนบันทึกใน GotoKnow เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดและประสบการณ์ กับท่านที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน และผู้สนใจทั่วไป มอบไว้เป็นการแทนคุณแผ่นดินในชีวิตที่ยังเหลืออยู่ค่ะ