เมื่อเศรษฐกิจต้องพึ่งตนเอง สุขภาพยิ่งต้องพึ่งตนเอง


การที่ อบต.ปางมะผ้า จะเปิดเวทีคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล ในครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญ ในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง บนฐานความพอเพียง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และคาดหวังได้ในเรื่อง “ความยั่งยืน”

เมื่อความฝันสิ้นสุดลง คนก็เริ่มค้นหาความจริง

เพื่อให้ก้าวพ้นนิยายของการพัฒนา เราจะต้องมีระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง

คำจาก อมาตยา เซน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขา เศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย


 

                                แนซึซือซู = หมอสมุนไพร


นายก อบต.ปางมะผ้า คุณสุทัศน์ เดชทรงชัย โทรมาย้ำวันที่เชิญประชุมแผนพัฒนาตำบลอีกครั้ง ในบ่ายวันนี้ พร้อมกับคุยกันเล็กน้อย เรื่อง การพัฒนางานสาธารณสุขในระดับตำบล นายกสุทัศน์ ได้คุยทิ้งท้ายว่า สิ่งที่นายกต้องการคือ การดูแลสุขภาพของพี่น้องในตำบลปางมะผ้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ ว่าน่าจะมีกระบวนการทำงานอย่างไร

 ผมเข้าใจว่า นายกจะให้ผมไปช่วยเติมในมุมมองของอดีตนักการสาธารณสุข เรื่อง การพัฒนาชุมชนด้านสุขภาพ 

ผมมานั่งคิดทบทวนในคืนที่ผ่านมา...ว่าผมจะคิดหากระบวนการแบบไหนที่จะตอบสนอง สอดคล้องปัญหาและความต้องการของพื้นที่ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ของ อบต. เพื่อผลลัพธ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพ สุขภาวะของคนในท้องถิ่น

ผมมองอย่างนี้ครับ...ผมมองไปถึงเรื่อง การพึ่งตนเอง เพราะแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจเรายังต้องพึ่งตนเอง  สุขภาพซึ่งเป็นเรื่องของเราแท้ๆ ยิ่งต้องพึ่งตนเอง เป็นทางเลือก ทางรอดในกระบวนการดูแลสุขภาพชุมชน

ทำอย่างไร? จะให้ชุมชนพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพให้ได้ นี่...น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมขบคิด และคิดหากระบวนการนำเสนอแนวทางให้กับ อบต. ในวันประชุม

ตามความคิดของผม

การพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพของชุมชน น่าจะแบ่งออกเป็น ๔ หลักการใหญ่ ก็คือ

๑.    การส่งเสริมสุขภาพ (health Promotion)

     ตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะถือว่าเป็นหัวใจของการดูแลสุขภาพก่อนป่วย ทำยังไงไม่ให้ป่วย ตรงนี้สิเป็นประเด็นท้าทายในยุคที่คนป่วยล้นสถานีอนามัยและโรงพยาบาล ในยุค๓๐ บาทรักษาด้วยยาพาราเซตามอล

      กิน อยู่ อย่างไรให้ไกลโรค? คิดว่าประเด็นนี้สามารถคิดโครงการ กิจกรรมที่สอดคล้องกับพื้นที่ได้หากเชื่อมกับข้อมูลบริบท ของพื้นที่

     ใช้หลักการดำเนินงานตาม Healthy Thailand ก็ได้ หรือ การดูแลสุขภาพตามหลัก ๕ อ.  อาหาร อากาศ อารมณ์ อุจจาระ และออกกำลังกาย       นำไปสู่ อโรคยา

๒.  การดูแลสุขภาพตนเอง (Self - care)เมื่อเจ็บป่วย (illness)

     ตามแผนภูมิของไคลน์แมน (Klein man) ได้แบ่งรูปแบบการรักษา เยียวยาไว้เป็น ๓ ระบบ ในการพึ่งตนเองนั้น เราอาจมองใน ๒ ระบบ คือ ระบบการแพทย์ของสามัญชน (pupular sector) ผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชนดูแลกันเอง อีกระบบก็คือ ระบบการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ชนเผ่า (Folk sector) ระบบนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านมีและเป็นการเยียวยาที่ได้ผลเพราะดูแลทั้งคนและโรค ผมเคยทำงานวิจัยกับเผ่าลีซู พบว่า มีองค์ความรู้ในกระบวนการเยียวยาที่น่าสนใจมาก

๓.    การพัฒนาศักยภาพ  เพิ่มความสามารถให้กับชุมชน(Strengthen Community Action)

     ผมมองถึงเรื่องการพัฒนาศักยภาพ การดูแลตนเองของชุมชน รูปแบบนี้อ้างอิงตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบัน และกลุ่มเป้าหมายที่เราจะมุ่งเน้นผมคิดว่าน่าจะเป็น ชาวบ้านเองที่สามารถจะดูแลสุขภาพด้วยกันเองได้ โดยการร่วมมือกันระหว่าง หน่วยงานด้านสาธารณสุขเติมวิชาการให้ชุมชน ในส่วนที่ชุมชนขาด ฝึกฝนทักษะ (Skill Training) การสร้างพลังอำนาจ (Empowerment)และการพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม เช่น กลุ่มพ่อแม่อาสา (หากจะดูแลเรื่องแม่และเด็ก)

กลุ่ม อสม. กลุ่มแกนนำสุขภาพ แล้วแต่จะพัฒนาไป ยังไงก็ตามขอให้เน้นการพัฒนาแบบองค์รวมให้ทุกกลุ่มมองสุขภาพเป็นองค์รวม ดูแลกันให้ครบทุกมิติ กาย ใจ จิตวิญญาณ

๔.    การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ( Knowledge Sharing)

     สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือ กระบวนการจัดการความรู้ : Knowledge management ของชาวบ้าน ทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ : Learning Process นำไปสู่การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ดึงความรู้ภายใน ภายนอกให้มาเชื่อมประสานกัน การดึงเอาภูมิปัญญา ศักยภาพของชุมชนที่มีอยู่แล้วพัฒนาต่อ เพื่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืน

หากมีครบทั้ง ๔ ประการ ผมคิดว่า ชุมชนสามารถพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (Local Health care system) ได้และจะยั่งยืน

สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเอง อย่างเป็นระบบ ความเป็นบูรณาการ การมีส่วนร่วม  แนวทางการตลาดเชิงสังคม(Social Marketing) โดยมี อบต.เป็นผู้สนับสนุน เป็นคุณเอื้อให้กระบวนการเดินอย่างต่อเนื่อง

การที่ อบต.ปางมะผ้า จะเปิดเวทีคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล ในครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญ ในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง บนฐานความพอเพียง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา  และคาดหวังได้ในเรื่อง ความยั่งยืน

ในส่วนตัวผมเองเชื่ออย่างนั้นครับ



ความเห็น (11)

เรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านก็น่าสนใจนะคะ เพราะว่า ถ้าเขารู้กันว่า สิ่งที่เขามีความรู้อยู่แล้วนั้น ก็คือ การส่งเสริมสุขภาพ หรือการรักษาโรคได้ด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน ชีวิตของเขาก็จะอยู่ได้อย่างมีสุขภาพที่ดี

และเกิดเป็นความรู้ต่อเนื่องไปสู่ลูกหลายต่อไปได้ด้วย

อาจารย์หมอนนท์

ตอนที่ผมเขียนบันทึกนี้ ตั้งแต่เมื่อคืน ผมนึกถึงอาจารย์อยู่เลยครับ

ผมนั่งคิดหลายเรื่องราว เพราะแผนยุทธศาสตร์  อบต. ครั้งนี้สำคัญมากครับ ผมจะนำเสนอแบบไหนที่จะให้งานพัฒนาสุขภาพตรงนั้นเคลื่อนตัวได้ ซึ่งท้ายสุดผมก็คิดถึงเรื่องความยั่งยืนด้วยครับ

มีผู้รู้ ๑๐ กว่าท่านที่จะเข้ามาร่วมประชุม แต่ก็เป็นนักพัฒนาด้านอื่นๆ ผมคิดว่าการประชุมครั้งนี้ คงได้วิธีคิด กระบวนการที่หลากหลาย 

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

ผมดูและสนใจเรื่อง "การส่งเสริมสุขภาพ" แต่กระบวนการน่าจะเป็นอย่างไรนั้น ผมจะนำมาเขียนบันทึก และปรึกษาอาจารยหมอนนท์์อีกครั้ง 

ขอคิดด้วยคนค่ะ
กิน อยู่ อย่างไรให้ไกลโรค  
ประเด็นนี้น่าจะสำคัญ
เปรียบเทียบกับชนบทบ้านของตัวเองค่ะ   เมื่อก่อนอาหารการกินจะเป็นพวกปลาน้ำจืด    และผักพื้นบ้าน  เป็นหลัก     เดี๋ยวนี้กลายเป็น  พวกหมู  เนื้อ ไก่  และมี delivery ถึงบ้าน    ( เรียกว่าซื้อง่ายขายคล่อง)
.
และมีอีกอย่างหนึ่งที่     ไม่ว่าชนบทไหนๆ  ก็มีเหมือนๆ กัน  สงสัยจังเลยว่าทำไม  หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ฝังลึกในสังคมไทยไปแล้ว   นั่นก็คือ "สุรา"    ตัวทำลายสุขภาพ   ตัวบิ๊กๆ  เลยล่ะ

ประเด็น "เหล้า" เป็นประเด็นต้องคุยกันนาน เพราะเราเดินทางไปตามหมู่บ้านก็จะพบก๊งเหล้า อยู่ทุกมุมของหมู่บ้านเลยครับ

กิน อยู่อย่างไร ให้สุขภาพดี

คำนี้เป็นคำถามใหญ่ ที่คิดว่าต้องนำกลับไปถามชาวบ้าน ว่าคิดอย่างไร

ให้นิยามสุขภาพกันอย่างไร?

ให้ความเห็นเรื่อง สิ่งกำหนดสุขภาพกันอย่างไร ? และเราจะควบคุมกันได้อย่างไร?

ขอบคุณพี่นิดหน่อยครับ 

  • การพัฒนาชุมชนดิฉันมองว่า ประชากรที่อยู่ในชุมชนจะต้องเป็นผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการวางแผนพัฒนา ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนคนที่อยู่ในชุมชนจะรู้ดี ส่วนการวางแผนในการแก้ปัญหาควรมีการวางแผนร่วมกันหลาย ๆ ฝ่าย ตั้งแต่ นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นายกอบต.  อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนประชาชน
  • ภูมิปัญญาของชาวบ้านมีมากมายและเป็นเรื่องที่วิเศษจริง ๆ หากเราสามารถดึงเอาส่วนนี้ออกมาให้เกิดเป็นมูลค่า เกิดผลผลิต สืบทอดจากรุ่นเก่าสุ่ร่นใหม่ จะเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ
  • ลืมบอกอ้ายไปว่า อ้อจะปิ๊กบ้านเจียงใหม่ช่วงปี๋ใหม่เมืองบ้านเฮาทุกปี๋ รดน้ำดำหัวพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ถึงปี๋ใหม่เปิ้นจะถามและกึดเติงหาตลอด 
  • สวัสดีค่ะคุณเอก  เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา สู่ความยั่งยืนค่ะ 
  • ขอบคุณค่ะ 
  • บันทึกนี้มีประโยชน์  ขอโหวดให้ค่ะ

ถึง...น้องอ้อ ยินดีนักๆครับเน้อ

 การประชุมครั้งนี้มีทั้งนายอำเภอ ปลัด  พัฒนาการ นักพัฒนาที่หลากหลาย ตามที่ นายกแจ้งผมมานะครับ คิดว่า เป็นจุดเริ่มที่ดีของ อบต.ชนบทแห่งหนึ่ง

ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นนี่เป็นของดีเลยนะครับ น้องอ้อคงทราบดีว่าคนเหนือเฮามีภูมิปัญญาที่ดีมากมาย โดยเฉพาะการดูแลรักษาสุขภาพ 

...................................... 

 ครูอ้อย

ขอบคุณครับ สำหรับคะแนนโหวต ๑ แต้ม  ยินดียิ่งสำหรับการแลกเปลี่ยนครับ

บทความนี้ต้องขยายนะค่ะ...ดีอย่างนี้

chah ชอบ ในส่วนของ "การดูแลสุขภาพที่ต้องพึ่งตนเอง"  

อาจารย์ก็ทำงาน แล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วยนะค่ะ

  • หนึ่ง         ดูแลร่างกายให้สะอาด
  • สอง         ไม่ขาดแปรงฟันหมั่นพบหมอ
  • สาม         ล้างมือก่อนกินหลังถ่ายไม่มอซอ
  • สี่             อาหารเพียงพอไม่ปลอมปน
  • ห้า           อย่าสำส่อนยาเสพติด
  • หก          ครอบครัวใกล้ชิดจิตถนอม
  • เจ็ด         อุบัติเหตุอย่าประมาทพลาดเป็นตรอม
  • แปด        ออกกำลังกายอย่าให้ผอมไม่อ้วนเกิน
  • เก้า          ร่าเริงแจ่มใสให้ใจคึก
  • สิบ          สร้างสำนึกต่อสังคมล้วนสรรเสริญ
            เป็นบัญญัติสิบประการอย่าอ่านเพลิน   ปฏิบัติแล้วเจริญทั้งกายใจ
            ......เป็นบัญญัติสุขภาพที่จำเขามานำมาฝากันค่ะ

ขอบคุณ คุณ Chah มากครับ

 ไม่ว่าอะไรก็ตามผมคิดว่า การพึ่งตนเอง ดีที่สุดนะครับ

ผมก็ทำงานค่อนข้างหนักครับ  บางครั้งก็ละเลยการดูแลตนเองบ้าง ...

คุณchah เช่นกันนะครับ ขอให้ดูแลสุขภาพตนเอง

........................................

พี่ปวีณา

ขอบคุณสำหรับการเพิ่มเติมพื้นฐานการดูแลสุขภาพ

แบบนำไปใช้ได้เลย  "บัญญัติ ๑๐ ประการ"

ครบเลยครับ กาย จิต สังคม จิตวิญญาณ เยี่ยมมากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท