โรงเรียนแห่งความสุข : ครูในฝัน (เก็บตกจากมุมมองของว่าที่คุณครูพันธุ์ใหม่)


ผมตั้งใจให้งานชิ้นนี้สะท้อนไปยังอาจารย์ที่กำลังทำหน้าที่ปลุกปั้นว่าที่คุณครูคนใหม่เหล่านี้ไปในตัว ว่าพวกเขามองความเป็น “ครู” ในปัจจุบันอย่างไร หรือแม้แต่การสะกิดให้บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ได้หวนกลับไปทบทวนเรื่องราวบางเรื่อง หรือแม้แต่บางจังหวะของชีวิตด้วยก็เป็นได้

เห็นช่วงนี้กำลังอยู่ในเทศกาลโครงการ สรอ. ขอความรู้ในหัวข้อ"ทักษะของครูในศตวรรษที่ 21"เลยถือโอกาสเขียนบันทึกเกี่ยวกับ “ครู”  เพิ่มเติมอีกบันทึก แต่เป็นเรื่องราวของ (ว่าที่)  คุณครูคนใหม่ที่มองว่าครูที่ดีควรมีลักษณะเช่นใด –


  



ครูในฝัน :  คิด โสเหล่  วาดและบอกเล่า


ในช่วงที่เดินทางไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับว่าที่คุณครูพันธุ์ใหม่ของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก ต.ขี้เหล็ก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่) มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อปรับแต่งทัศนคติสู่ความเป็นครูแก่นักศึกษาใหม่ พร้อมๆ กับการมุ่งให้กิจกรรมดังกล่าว เป็นกระบวนการฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม ผ่านระบบและกลไกของการ “ร่วมคิด ร่วมสังเคราะห์” 

ครั้งนั้นผมให้นักศึกษาโสเหล่ในประเด็น “คุณครูในฝัน”  เพื่อสำรวจมุมมองความคิดของพวกเขาที่มีต่อความเป็นครู  รวมถึงเพื่อให้พวกเขาได้วางหมุดหมายเกี่ยวกับ “ครู”  ที่พวกเขาอยากจะเป็นไปในตัว  โดยใช้กิจกรรม “คิด โสเหล่  วาดและบอกเล่า”  เป็นฐานของการเรียนรู้ร่วมกัน




ก่อนเวทีการโสเหล่ของแต่ละกลุ่มจะเริ่มอย่างเป็นทางการ  ผมอธิบายกระบวนการอย่างคร่าวๆ ผ่านวาทกรรมสำคัญสองวาทกรรมคือประเด็น “ครูในฝัน”  และกระบวน “คิด โสเหล่ วาดและบอกเล่า” ด้วยการเน้นให้แต่ละคนสะท้อนมุมคิดที่มีต่อครูเป็นรายบุคคล  จากนั้นก็นำเข้าสู่การพูดคุย/โสเหล่ในภาพของกลุ่ม  สรุปความและถ่ายทอดเป็นภาพวาด (แผนผังความคิด)  เพื่อนำเสนอ หรือบอกเล่าให้กลุ่มต่างๆ ได้ฟังร่วมกัน 

ครับ,ในช่วงที่แต่ละกลุ่มกำลังแลกเปลี่ยนกันนั้น  ผมจะเปิดเพลงคลอเบาๆ หรือสุดแสนจะเบาไปด้วย  เพื่อเสริมหนุน หรือจรรโลงให้เกิดความสุนทรียะในการเรียนรู้ พร้อมๆ กับการเฝ้าสังเกตอยู่ห่างๆ  ถึงพฤติกรรมของแต่ละคน  ว่าเปิดใจเข้าสู่การเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกในกลุ่มแค่ไหน  และอย่างไร –






ครูในฝัน : สวยงาม เพราะจิตใจอันดีงาม


กิจกรรมครั้งนั้น  ผมให้เวลากับนักศึกษาในราวๆ 1 ชั่วโมง  เปิดกว้างให้แต่ละกลุ่มออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  จะนอน จะนั่งในห้องก็ได้  หรือจะหอบหิ้วกระดาษปากกาไปนั่งเสวนาใต้ร่มไม้ก็ไม่ผิด  เรียกได้ว่าให้เสรีภาพในการเรียนรู้อย่างเต็มพิกัด  แต่ต้องกลับมานำเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามเงื่อนไขของเวลาที่กำหนดขึ้น

ครั้นแต่ละกลุ่มกลับมาในห้องเรียน  ก็ถึงคราวของการ “บอกเล่า” นำเสนอ  ซึ่งกระบวนการเช่นนี้เป็นการฝึกทักษะของการสื่อสารสาธารณะเป็นที่ตั้ง 




เท่าที่ประมวลทัศนคติในประเด็น “ครูในฝัน”  ทำให้เราเห็นมุมมองความคิดของว่าที่คุณครูพันธุ์ใหม่เหล่านี้ในทิศทางเดียวกัน เป็นต้นว่า   

·  อุปนิสัยที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาสุภาพไพเราะ  แต่งกายเรียบร้อย 
·  ตรงต่อเวลา  เสียสละ  อดทน อดกลั้น ยุติธรรม
·  ศรัทธาต่ออาชีพครู  จริงใจกับการสอน  มีแผนการสอน
·  มีความคิดกว้างไกล ทันต่อโลก 
·  มีความรู้และทักษะการสอน และใส่ใจใฝ่รู้ตลอดเวลา
·  มีจิตวิญญาณความเป็นครู  เป็นทั้งครูและแม่ ให้คำปรึกษาได้ในทุกเรื่องของชีวิต
·  มีทักษะด้านสื่อที่หลากหลาย  
   บูรณการการสอนนอกสถานที่  ฯลฯ




จะเห็นได้ว่า  ประเด็นโดยสังเขปข้างต้น  สะท้อนให้เห็นภาพในฝัน/อุดมคติเกี่ยวกับครูว่า “เก่ง – ดี”  อย่างชัดเจน 

ประเด็นเหล่านี้ผมเชื่อว่าถูกคัดกรองจากภาพครูที่พวกเขารักและศรัทธา  รวมถึงภาพครูในอนาคตที่ตัวเองอยากจะเป็น  ความงดงามที่ว่านั้น คือความงดงามที่เกิดจากจิตใจอันดีงามของพวกเขา  ด้วยการ “คิดดี –เชื่อและศรัทธาต่อบทบาทและสถานะของครู”   ซึ่งเป็นความคิดเชิงบวกที่ขับออกมาจากทุนอันดีงามในชีวิตของพวกเขาเอง

จึงไม่แปลกเลยที่เด็กหนุ่มสาวเหล่านี้  ตัดสินใจสอบคัดเลือกเข้าสู่โครงการผลิตครูของสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้-





สรุป : ครูในฝันภาพสะท้อนเล็กๆ ของว่าที่คุณครูและครูในปัจจุบัน


ทันทีที่แต่ละกลุ่มนำเสนอมุมมองของตนเองเสร็จสิ้นลง  ผมจะเชื้อเชิญให้สมาชิกทั้งหมดได้ร่วมแลกเปลี่ยนร่วมกัน  เน้นบรรยากาศสนุกๆ ขำๆ มีบ้างที่บางคนก็ดูจะแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ แบบจริงๆ จังๆ...แต่ถึงกระนั้นก็ยังเฮฮา สนุกสนาน ได้สาระตามที่ตั้งเป้าไว้

ครับ,  ผมเชื่อว่ากระบวนการเช่นนี้จะได้รสชาติการเรียนรู้ทั้ง “บันเทิง-เริงปัญญา” อย่างไม่ต้องสงสัย  เป็นการจัดระบบความคิด ฝึกทักษะการคิด การฟัง การตีความ การสังเคราะห์  การนำเสนอในมิติต่างๆ รวมถึงฝึกทักษะของการกล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์  ทั้งในมิติของบุคคลและกลุ่มทีม

และที่สำคัญผมตั้งใจให้งานชิ้นนี้สะท้อนไปยังอาจารย์ที่กำลังทำหน้าที่ปลุกปั้นว่าที่คุณครูคนใหม่เหล่านี้ไปในตัว  ว่าพวกเขามองความเป็น “ครู” ในปัจจุบันอย่างไร  หรือแม้แต่การสะกิดให้บรรดาครูบาอาจารย์ทั้งหลาย  ได้หวนกลับไปทบทวนเรื่องราวบางเรื่อง  หรือแม้แต่บางจังหวะของชีวิตด้วยก็เป็นได้

แต่ที่แน่ๆ  ถึงแม้บันทึกนี้จะไม่ยึดโยงประเด็น "ทักษะของครูในศตวรรษที่ 21" เลยก็ตาม  แต่มุมมองเล็กๆ ซื่อๆ ใสๆ ของว่าที่คุณครูคนใหม่เหล่านี้ก็น่าจะบ่งบอกอะไรสักอย่าง  ทั้งที่หมายถึงตัวผู้เรียน ผู้สอน...หรือปรากฏการณ์
จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูในสังคมปัจจุบันได้บ้าง  (กระมัง)




ครับ,นี่คือเรื่องเล่าที่ผมไม่เคยหลงลืม 
เป็นความสุขในเวทีการเรียนรู้จากโรงเรียนแห่งความสุขที่ผมไม่ได้เขียนถึงมาร่วมเกือบปี---


หมายเลขบันทึก: 517799เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2013 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2013 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีค่ะ อ. แผ่นดิน     มาชมโรงเรียนแห่งความสุขค่ะ

สวัสดีครับ ครูทิพย์

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
ฝากความสุขกับไปแบ่งปันด้วยนะครับ

เห็นแนวทางการสร้างครูแล้วมีความสุขครับ

ขอชื่นชม

ครับ อ.ขจิต

ยังไม่ถาม อ.วัส เลยว่า ตอนนี้เด็กๆ (ว่าที่คุณครู)  เป็นยังไงบ้าง...
ยังครบทีมอยู่มั๊ย...


เรียน คุณ แผ่นดิน ;)...

จวบวาระสมัยใกล้ครบ ๑ ปีการศึกษา
เด็กหลายคนเริ่มค้นหาตนเองมากขึ้น
ว่า การเข้ามาโครงการนี้ถูกใจตนเอง
เป็นไปตามความจริง ๆ หรือไม่

ผมกำลังรอการขยับตัวของบางคน
ที่กำลังคิดถึงการเปลี่ยนแปลง
หลังจากจบภาคเรียนนี้

ในขณะที่อีกหลายคน
เริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า
เขาเลือกมาถูกทางแล้ว

ยังคงมีเด็กด้อยโอกาสตามหลืบต่าง ๆ
ของประเทศเรา ที่ยังต้องการ
ครูอย่างพวกเขา

ผมเพียงแต่เฝ้ารอครับ คุณ แผ่นดิน ;)...

พวกเขาต้องตัดสินชะตาชีวิตของตัวเอง

ผมจะได้นำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

ขอบคุณมากครับ

ป.ล. เราคงได้พบกันอีกครับ ;)...

ความเป็นครู...อยู่ที่ใจ...ใช่...อาชีพ

ใช่ต้องรีบ...ต้องเร่ง...ต้องเก่งสอน

แต่ต้องสู้่...ต้องเรียนรู้...ทุกขั้นตอน

ใจมาก่อน...พร้อมวิญญาณ...การเป็นครู

...........................................................

จำเค้าเอามาฝากจ้ะ

ครูในฝัน นั้นใกล้ความจริงที่วันนี้มีข่าวการให้การบ้านต้องบูรณาการทั้งหมดทุกสาระ เอาจริงไหมในปีการศึกษา 2556 ครูคงต้องเพิ่มทักษะให้ทันเหตุการณ์แน่นอนนะคะ

ขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจ ให้ครูทุุกคนครับ ทั้งในปัจจุบัน และในฝัน หากเรื่องราวข้างต้นถูกนำไปสานต่อ และทำได้จริงอย่างตั้งใจไว้  ผมว่าเป็นบุญของเด็กรุ่นใหม่มากเลยครับ  ที่จะมีครูดี ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

สวัสดีครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

เรื่องหลายเรื่องล้วนอาศัยการนำพาของผู้นำ-นโยบาย
จะเป็นที่น่าเสียดายมาก
หากเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนทิศทาง
เปลี่ยนทั้งที่รู้ว่า สิ่งนั้นดีงามอยู่แล้ว
เพียงเพราะไม่อยากต่อเติมรอยมือ รอยเท้าของกันละกัน
ผมว่านั่นแหละคือปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายองค์กร
หากเป็นเช่นนั้นจริง
คนทำงาน-คนหน้างาน ก็จำต้องปรับตัว ปรับใจตามบริบท

ผมชื่นชมเด็กๆ กลุ่มนี้มาก
ชื่นชมเพราะมันตอบสนองเรื่องการคืนบัณฑิตสู่บ้านเกิด
ใครละครับจะดูแลบ้านเกิด ถิ่นฐานได้ดีเท่าพวกเขา

กระบวนการที่เกิดขึ้น
สะท้อนให้เห็นว่าระบบและกลไกในการผลิตครู
ถูกติดตั้งอย่างถูกต้องแล้ว
หากมีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง
มีอาจารย์ประกบนักศึกษาอย่างใกล้ชิดและเป็นมิตร
ผมเชื่อว่าพวกเขาจะเติบโต แกร่ง
และมีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นแม่พิมพ์ของสังคม
ผมให้กำลังใจนะครับ
และระลึกถึง
บางทีอาจสะพายเป้ไปเยี่ยมแบบเงียบๆ...

วันหนึ่งสายลมจะพัดพาผมไป -


เป็นกำลังใจให้ครูพันธ์ุใหม่ค่ะ

เอาใจช่วยครูพันธุ์ใหม่ค่ะ....เชื่อว่าครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นคนที่ดีมีคุณภาพต่อไปค่ะ   

ศิษย์จะเป็นคนเก่ง-ดีหรือไม่นั้น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากแม่พิมพ์

เพราะถ้าหากมีแม่พิมพ์ที่ดีแล้ว ผลผลิตของการบ่มเพาะก็ย่อมดีด้วยเช่นกัน

ผมเชื่อว่า... ว่าที่คุณครูพันธุ์ใหม่ทุกท่าน ย่อมฝึกตนเพื่อเป็นคนต้นแบบแก่ศิษย์ในอนาคต

ครูพันธ์ุใหม่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป เป็นกำลังใจให้นะคะ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ความเป็นครู...อยู่ที่ใจ...ใช่...อาชีพ

ใช่ต้องรีบ...ต้องเร่ง...ต้องเก่งสอน

แต่ต้องสู้่...ต้องเรียนรู้...ทุกขั้นตอน

ใจมาก่อน...พร้อมวิญญาณ...การเป็นครู

...

ขอบพระคุณที่นำพากลอนเพราะๆ มาฝากประดับไว้ในบันทึกนี้นะครับ

สวัสดีครับ krutoom

โลกพลิกผันไปรวดเร็วมาก  บางทีคนทำงานดิ้น ปรับตัวไปตามนโยบาย/ผู้นำ
บางครั้ง บางทีก็เริ่มต้นบ่อยจนไม่อาจสานต่อภารกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ครู ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน
ยังต้องให้กำลังใจแก่คุณครูกันต่อเนื่อง
ทั้งว่าที่คุณครู และคุณครูตัวจริง --ครับ

ครับ คนเดินทาง

4-5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย  คือห้วงอันสำคัญของการที่ว่าที่คุณครูเหล่านี้จะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตในมิติต่างๆ อย่างเต็มที่  และเรื่องราวในกิจกรรมที่ว่านี้  ก็เป็นหมุดหมายหนึ่งในการสะกิดเตือนให้มีการทบทวนอยู่ตลอดเวลากับการเติบโตไปเป็นครูของสังคม ---

ขอบคุณ ครูนาย  มากครับ

ครู คือผู้สร้างคนเพื่อสังคม โดยแท้ ครับ

ขอบคุณ คุณแดนไท ที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท