NORM กับความทันสมัย


เนื่องจากทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมชนบท จึงเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงสังคม นักวิชาการจะกล่าวถึงบ่อยๆว่าพลังหลักในการผลักดันสังคมให้เคลื่อนตัวไปในทิศทางที่เรียกรวมๆว่าความเจริญนั้นก็คือ ระบบทุนนิยม

เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ดูที่นี่) ปี พ.ศ. 2293-2393 นั้น มีการพัฒนาเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ มนุษย์ก็นำความรู้ใหม่ๆที่ได้นั้นมาดัดแปลงใช้ในเรื่องต่างๆในวิถีชีวิต ซึ่งเข้ามาทดแทนสิ่งเดิม เพราะ สิ่งใหม่ดีกว่าในด้านความสะดวกสบาย รวดเร็ว ชัดเจน อธิบายได้ พิสูจน์ได้ ฯลฯ เกิดการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยี และนำเอาเข้าไปเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา

เมื่อคนคลุกคลีกับการพัฒนาสิ่งใหม่ๆนั้นมากเข้า หรือกล่าวอีกทีคือ สภาพสังคมเมืองที่รับเอาสิ่งใหม่ๆเข้ามามากมายนั้นเป็นเสมือนเบ้าหลอมระบบชีวิตของคนเมืองให้มีความแตกต่างจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดในชนบท
ที่ด้อยกว่าหรือไม่มีสิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เนื้อหาสาระชีวิตใหม่ๆ วิถีใหม่ๆ (แต่ของใหม่ดีกว่าหรือไม่ดีกว่าเก่ายังไม่อภิปราย)

ประเทศชาติยอมรับความเจริญ เป็นเป้าหมายของการผลักดันสังคมให้พัฒนาไปในทิศทางนั้นๆ ซึ่งการเคลื่อนตัวของสังคมไม่เท่ากัน ไม่พร้อมกัน สังคมเมืองก้าวไปก่อน เพราะเมืองคือศูนย์กลางการบริหารประเทศ ประเทศจึงลงทุนในทุกเรื่องที่เมืองก่อน แล้วค่อยๆขยายลงสู่ชนบท

เกิดช่องว่างในสังคม ระหว่างคนเมืองกับคนในชนบท  แม้ว่าปัจจุบันระบบสื่อสารไร้พรมแดน เช่นวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และอื่นๆจะเป็นตัวเชื่อมช่องว่างนี้ให้แคบลงมา แต่ก็เกิดความแตกต่างของความเป็นคนในสังคมเมืองกับคนในสังคมชนบท ผลกระทบของการพัฒนาก็เกิดการให้คุณค่าว่า เมืองเจริญแล้ว ชนบทไม่เจริญ  เมืองก้าวหน้า ชนบทล้าหลัง  เมืองเป็นวิทยาศาสตร์ ชนบทเป็นส่วนที่งมงายไร้สาระ เมื่อระบบทุนเมืองเชื่อมต่อกับระบบทุนโลกมากขึ้น โดยมีระบบทุนนิยม หรือระบบธุรกิจ เป็นพลังสำคัญในการเชื่อมและนำเข้าทิศทางการพัฒนา โดยมีระบบการศึกษารองรับ หนุนเนื่องการเคลื่อนตัวของระบบทุนดังกล่าว เช่น เมื่อระบบทุนสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาต้องการผู้มีความรู้ทางเทคนิคเฉพาะด้าน ก็เกิดวิทยาลัยอาชีวศึกษา  ระบบธุรกิจผลิตสินค้า เกิดการแข่งขัน ก็ต้องการนักการขาย นักการตลาด ก็เกิดการผลิตนักศึกษาด้านธุรกิจไปรองรับ เกิดขยายตัวด้านสื่อสารมวลชน ก็เร่งทำการผลิตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน และ ....ฯลฯ....

ระบบการศึกษาเคลื่อนตัวไปรองรับการเติบโตทางธุรกิจ ทางทุนนิยม รองรับการเคลื่อนตัวทางสังคม อันเนื่องมาจากการการเคลื่อนตัวของกระแสหลัก คือระบบทุน

ระบบทุนคืออะไร.... ทุนคือระบบผลประโยชน์ที่ต้องการกำไรสูงสุดจากการประกอบธุรกิจใดๆ (ดูความหมายที่นี่)  โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงแรกนั้นอันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบทุนนิยมนั้น เขาไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการทำกำไรสูงสุด แต่ต้องการนำการสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์เข้ามารับใช้วิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้น ทดแทนความไม่มีประสิทธิภาพแบบเดิมๆ แต่พัฒนาการของทุนก้าวเลยความพอดีไปสู่ความต้องการสูงสุด มากที่สุด นั่นเอง


หากย้อนกลับไปดูวิถีชีวิตเดิมๆของสังคมเรา เราเรียกสังคมเกษตรกรรมที่รวมตัวกันอยู่เป็นชุมชนที่มีองค์ประกอบความเป็นพี่น้อง คนชอบพอกัน รักใคร่กัน มีระบบสังคมที่ควบคุมการอยู่ร่วมกันคือ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธา ศาสนา ระบบอาวุโสระบบอุปถัมภ์ บทบาท หน้าที่ ชายหญิง แม้จะไม่มีร่างออกมาเป็นตัวอักษร แต่มีบรรทัดฐาน (NORM) ของสังคมที่ยอมรับร่วมกันเป็นเสมือนกติกาสังคม ที่ไม่มีหลักสูตรในห้องเรียนแต่ระบบครอบครัว สังคมเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

เช่น วันพระ พ่อแม่จะพาลูกๆไปทำบุญที่วัดร่วมกัน พ่อแม่จะบอกกล่าวการปฏิบัติตัวต่างๆระหว่างคนกับคน คือ ต่อพระต้องกราบไหว้ นอบน้อม รักษาระยะห่างเวลาพูดคุยกับพระ เป็นสตรีก็นั่งลงคุยกับพระ ต่อญาติพี่น้อง เด็กต้องไหว้ผู้ใหญ่ก่อนอย่างนอบน้อม หาน้ำมาให้ดื่มกิน บริการท่านในสิ่งที่ท่านต้องการหรือขอความช่วยเหลือ ต่อเพื่อนบ้าน เราเคารพผู้อาวุโส อายุน้อยกว่าเรียกผู้มีอายุมากกว่าว่าพี่ และพึงปฏิบัติต่อพี่ในสิ่งที่ควร ในเรื่องพิธีกรรมของวันพระ พ่อแม่ก็จะสอนสั่งว่าการใส่บาตรควรถอดรองเท้า ไม่ควรใช้ทับพีเคาะบาตรพระหากข้าวติดทัพพี ฯ เมื่อพระสวด ควรพนมมือ การนั่งควรนั่งแบบไหนถึงจะสมควรหากใกล้ชิดผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่นั่งแล้วเด็กจะเดินผ่านไปควรค้อมตัวและกล่าวคำสุภาพขอผ่าน หรือขออนุญาต หรือขอโทษ ตามเหตุผล เงื่อนไข เมื่อเสร็จพิธีบุญ มีการแลกข้าวและขนมกัน...ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่มีการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่พ่อแม่พี่น้องในครอบครัวจะช่วยกันเป็นเบ้าหลอมลูกหลานให้เป็นคนที่พึงประสงค์ของสังคมที่ทีบรรทัดฐานของสังคมที่สะสมสร้างสรรค์กันมา


เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาไป ชุมชนในเมือง มีวิถีชีวิตที่ไม่ได้อยู่บนกิจกรรมการเกษตร และสภาพแวดล้อมต่างๆที่เป็นเบ้าหลอมชีวิตแตกต่างออกไปจากสังคมชนบท เด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา นับครั้งได้ที่เข้าวัด และการเข้าวัดก็มิได้มีรายละเอียดเหมือนสภาพชุมชนดังกล่าวมาแล้ว เด็กมีความรู้จากโรงเรียน พ่อแม่ห่างจากวัฒนธรรม ประเพณีเดิมๆของสังคม เด็กก็ห่างออกไปจาก NORM เดิมๆของสังคม ในทางตรงข้าม ระบบสังคมเมืองมีสิ่งแวดล้อมใหม่ที่อยู่บนฐานของเทคโนโลยี  แต่ละวัน Perception ของเด็กคือความรู้ เรื่องราว วิถีของคนในสังคมธุรกิจ สังคมเมือง ที่มีค่านิยมแตกต่างสิ้นเชิงจากสังคมชนบท  ถามเด็กในตัวเมืองขอนแก่นว่ารู้จัก ฮีต คอง อีสานไหม เขาไม่รู้จัก หรือเคยได้ยินแต่อธิบายไม่ได้  ตรงข้ามเด็กชนบท อาจจะอธิบายไม่ได้ แต่เขาดำเนินชีวิตคามครรลองของฮีต คองที่มีผู้ใหญ่ พ่อแม่ กำกับอยู่..

Norm จำเป็นแค่ไหน.. 


คนคือสัตว์ประเสริฐ ที่มีองค์ประกอบภายนอกและภายใน ภายนอกคือรูปร่าง แต่ภายในคือ จิตใจ ระบบคิด หากอยู่ในแนวทางที่ดีก็เป็นฐานของความเป็นผู้ประเสริฐ หากจิตใจ ระบบคิดมีแต่กิเลส ตัณหา เอาประโยชน์ส่วนตน ฯ ก็เป็นที่มาของคนที่มีรูปร่างภายนอกเหมือนคนทั่วไป แต่ข้างในปนเปื้อนไปด้วยระบบคิด จิตใจที่ไม่พึงประสงค์แห่งการอยู่ร่วมกัน

นี่เอง ศาสนาจึงเกิดขึ้นมาเพื่อกำกับคนให้อยู่ในสิ่งอันควร ปฏิบัติในสิ่งที่พึงปฏิบัติร่วมกัน เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียว ครอบครัวเดียว ตระกูลเดียว ชนชาติเดียว แต่เราอยู่ในชุมชน สังคม ฯ ที่หลากหลาย แตกต่าง แต่ต้องอยู่ร่วมกัน แม้ว่าเนื้อแท้ที่สุดของศาสนาคือการหลุดพ้น แต่หลักการของศาสนาก็เหมาะสมแก่การใช้เพื่อเป็นครรลองแห่งการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง หลากหลาย  แม้ว่า Norm จะมิใช่กฎหมายที่ใช้บังคับ แต่ Norm คือข้อพึงปฏิบัติแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคม

Norm แห่งการอยู่ร่วมกันมีอะไรบ้าง  เป็นคำถามที่น่าจะค้นหาจากเด็กสมัยนี้ว่า เขาเข้าใจและรู้จักมากน้อยแค่ไหน
และน้อมนำมาปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน....
??!! 

เป็นเรื่องที่น่าจะช่วยกันหาคำตอบ และทบทวนกันให้มากๆ




หมายเลขบันทึก: 517797เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2013 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2013 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท