ตักบาตรและเก็บขยะริมชายหาด : หนึ่งในกระบวนการบ่มเพาะ "จิตสาธารณะ" ของนักกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด มมส


สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะเป็นเหมือนการสร้างกติกากรายๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นกระบวนการหนึ่งของการบ่มเพาะเรื่อง “จิตสาธารณะ” ได้เป็นอย่างดี เพราะหาใช่บังกับกะเกณฑ์โดยตรง หากแต่คณะสต๊าฟขันอาสาทำเอง เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่นิสิต/นักกีฬา



ผมเป็นคนเชื่อว่า “จิตสาธารณะ”  (Public Mindก่อเกิดได้จากกระบวนการของการฝึกปฏิบัติมากกว่าการพูดพร่ำด้วยคำสอนใดๆ ยิ่งหากมี “ต้นแบบ” ที่ดี  ย่อมง่ายต่อการปลูกฝังให้เกิดจิตสาธารณะ  เพราะการเรียนรู้จากต้นแบบ ย่อมดีกว่าการเรียนรู้ผ่านทฤษฎีที่อัดแน่นด้วยแนวคิดแต่ไร้ชีวิต ชีวา –

ในทัศนะส่วนตัวผม, ผมมองว่า จิตสาธารณะ  เป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของมนุษย์  ทั้งในฐานะของการเป็นพลเมืองของสังคมไทยและสังคมโลก  เพราะเป็นคุณลักษณะที่สะท้อนให้เห็น “ความงาม” ในตัวตนของมนุษย์  อันหมายถึงภาพสะท้อนของการเป็นสัตว์สังคมที่ต้องพึ่งพา  แบ่งปัน  หรือการตระหนักรู้ต่อการรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม  ไม่ดูดายและเพิกเฉยต่อเรื่องราวอันเป็นชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์  สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า  “ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” 

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า “จิตสาธารณะ” เป็นคำที่มีความหมายนัยเดียวกันกับคำอีกหลายคำในสังคมไทย เช่น  จิตสำนึกสาธารณะ  จิตสำนึกทางสังคม และจิตอาสา (volunteer)  ซึ่งรู้จักโดยทั่วไปว่า “อาสาสมัคร”  แต่ไม่ว่าจะเป็นคำใดก็ตาม  ล้วนมีลักษณะร่วมที่ตรงกัน  กล่าวคือ  เป็นคือคุณลักษณะของการเป็นผู้ที่มีความตระหนักรู้ในเรื่อง “บทบาทและหน้าที่” ของตนเองที่มีต่อการรับผิดชอบต่อ “ตนเองและสังคม” เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือ “สาธารณะ”  ให้ได้มากที่สุด






โดยส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบคำๆ นี้มากเป็นพิเศษ  เพราะสะท้อนสภาวะความเป็น “สัตว์สังคม” ได้อย่างแจ่มชัด  เนื่องเพราะสอนให้คนเราได้รับรู้ว่า “ไม่มีใครอยู่คนเดียวในโลกใบนี้  สรรพสิ่งล้วนต้องพึ่งพากัน”

ครับ, คำว่า “พึ่งพา”  (พึ่งพิง)  ที่ผมพูดนั้น  หมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน รักและแบ่งปัน หรือแม้แต่ร่วมรับผิดชอบต่อกันและกัน   อันหมายถึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน  หาใช่ปักหลักปลีกวิเวก ไม่สนใจต่อชะตากรรมของสรรพสิ่งในสังคม




ล่าสุดในเวทีการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๔๐ (พลบดีเกมส์)  ซึ่งสถาบันการพลศึกษา  ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้น  ผมได้พบเห็นความง่ายงามในเรื่องจิตสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกระบวนการดูแลและปฎิบัติการจริงของ "ทีมวอลเลย์บอลชายหาดของ "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม"

ครับ,ในครั้งนี้ทีมวอลเลย์บอลชายหาดของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเดินทางเข้าร่มการแข่งขันรอบสุดท้ายในฐานะของ “แชมป์เก่า” โดยไม่จำเป็นต้องลงประชันฝีไม้ลายมือในรอบ “คัดเลือก”




ถึงแม้ทีมวอลเลย์บอลชายและหญิงที่ผมเป็นผู้จัดการจะหล่นร่วงตั้งแต่รอบคัดเลือก แต่สารภาพได้เลยว่า  การหล่นล่วงที่ว่านั้น ก็หาใช่เกินความคาดหมายของคณะทำงานเลยแม้แต่น้อย  กระนั้นก็สุขใจเป็นที่สุด เพราะแต่ละคนได้ทำหน้าที่อย่างสุดกำลังแล้วนั่นเอง

การตกรอบของทีมวอลเลย์บอลชาย-หญิง  ส่งผลกระทบให้ผมไม่มีโอกาสได้เดินทางไปท่องทะยานในรอบสุดท้ายของ “พลบดีเกมส์”  แต่ผมก็ไม่ละเลยที่จะเกาะติดสถานการณ์ในแต่ละวันของคณะทำงานที่เป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน  จนได้รับรู้ว่าพวกเขาอพยพหนีค่ายออกมาปักหลักพักอาศัยและฝึกซ้อมอยู่แถวชายทะเล  โดยสต๊าฟโค้ชต่างขันอาสารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด  ด้วยการไม่เบิกจ่ายเรื่องที่พักจากมหาวิทยาลัยฯ

ครับ, ผมเองไม่ค่อยรู้ชัดนักกับเหตุผลของการแหกค่ายมาปักหลักแถวชายทะเล แต่ก็เชื่อว่าคงมีเหตุปัจจัยอันสำคัญไม่ใช่ย่อย มิเช่นนั้นคงไม่ยอมที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยตนเองอย่างมากมายก่ายกองเช่นนั้น

แต่เรื่องราวที่ชวนขบคิดและจดจำเป็นพิเศษก็คือ  เมื่อแหกค่ายออกมาแล้ว  กลับมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าการเรียนรู้ใน “สนามแข่งขัน”  ที่เต็มไปด้วยกฎกติกา มารยาทอันสำเร็จรูป




กรณีดังกล่าวนี้  ผมหมายถึงสต๊าฟวอลเลย์บอลชายหาด (เยาวภา ปรีวาสนา,จันเพ็ญ ศรีดาว,นางสาวกรรณิการ์  พาบุดดา)  ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนานักกีฬาของตนเองได้อย่างมหัศจรรย์  เป็นต้นว่าในแรกเช้าของทุกเช้า  จะพานักกีฬาตื่นมาตักบาตร  ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย  รวมถึงเก็บขยะที่โรยร่วงอยู่ตามชายหาดอย่างไม่ว่างเว้น

ครับ,ฟังดูก็เป็นกิจกรรมแสนธรรมดาอยู่หรอก  แต่ต้องไม่ลืมว่าจะมีนักท่องเที่ยวกี่คนกันเล่าที่ให้ความสำคัญกับการเที่ยวท่องแล้วเก็บขยะไปในตัว  รวมถึงแหกขี้ตาตื่นมาแล้วทำบุญตักบาตรเหมือนวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ที่ปรากฏอยู่ในหัวเมืองที่โด่งดังในมิติของการท่องเที่ยวฯ

จะว่าไปแล้ว ลำพังการตื่นเช้าเพื่อวิ่งออกกำลังกายและซ้อมทบทวนชั้นเชิงต่างๆ  ก็หนักสาหัสสาโหดอยู่แล้ว  มิหนำซ้ำยังต้องมาตักบาตร  หรือแม้แต่เดินทอดน่องเก็บขยะสมทบเข้าไปอีก  ยิ่งชวนให้เหนื่อยหน่ายได้ง่ายๆ

แต่ด้วยความที่ว่าคณะสต๊าฟมิใช่ประเภท “สั่ง...แต่ไม่ทำ”  หากแต่จัดอยู่ในกลุ่ม  “พาทำ...ทำให้ดู”  จึงส่งผลให้ นิสิต/นักกีฬาแทนที่จะออกอาการเหนื่อย-เบื่อและหงุดหงิดใจ  กลับกลายเป็นความรื่นรมย์  (เพลิดเพลิน..บันเทิงใจ) ไปโดยปริยาย  แถมยังสานสายสัมพันธ์ระหว่างโค้ชกับนักกีฬาได้สนิทแน่นกันมากขึ้น   สอดรับกับวาทกรรมที่ผมเคยได้ย้ำเน้นในทีมทำงานมาเมื่อหลายปีก่อน คือ “พูดให้ฟัง-ทำให้ดู-อยู่เป็นเพื่อน”

แต่ที่แน่ๆ  สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะเป็นเหมือนการสร้างกติกากรายๆ  แต่ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า  เป็นกระบวนการหนึ่งของการบ่มเพาะเรื่อง “จิตสาธารณะ” ได้เป็นอย่างดี  เพราะหาใช่บังกับกะเกณฑ์โดยตรง   หากแต่คณะสต๊าฟขันอาสาทำเอง  เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่นิสิต/นักกีฬา  

และด้วยความรักของนักกีฬาที่มีต่อสต๊าฟ ก็อดไม่ได้กับการที่จะต้องลงแรงในเรื่องเหล่านั้นผ่านมิติของการ “ร่วมด้วยช่วยกัน”  ซึ่งไม่ใช่แค่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสต๊าฟโค้ชกับนักกีฬาเท่านั้น   แต่ยังหมายถึงการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะในด้าน “สิ่งแวดล้อม”  ให้กับนักกีฬาอย่างเรียบง่ายและเนียนลึก –





ผมว่านี่แหละคือการ “เรียนนอกฤดู” ขนานแท้   เพราะไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการเรียนรู้ผลแพ้ชนะในสนามแข่งขัน  หากแต่หมายถึงการเรียนรู้เรื่องราวอันหลากหลายที่อยู่นอกสนาม   การเรียนรู้ที่ว่านี้ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในระดับ “ปัจเจก”  หากแต่เป็นการเรียนรู้ในระดับ “สังคม” อย่างชัดแจ้ง  มิใช่ “ต่างคนต่างอยู่-ต่างคนต่างใช้”  โดยไม่สนใจว่าต้องรับผิดชอบต่อสรรพสิ่งในสังคม

และนั่นยังไม่รวมถึงการเก็บเกี่ยว "มุมมองชีวิต"  ผ่านเรื่องราวของผู้คนหลากวัย หลากเชื้อชาติที่ใช้ชีวิตบนชายหาดแห่งนั้น  ซึ่งถือว่าเป็นการหนุนเสริมโลกทัศน์และชีวทัศน์ของนิสิต/นักกีฬาให้เข้าใจต่อ "โลกและชีวิต"  ได้ในอีกมิติหนึ่ง

สำหรับผมแล้ว ผลแพ้ชนะจะเป็นเช่นใด  น้องๆ จะป้องกันแชมป์ได้หรือไม่  หาใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเสียที่ไหน  แค่ได้เห็นว่าน้องๆ อันหมายถึงสต๊าฟและนักกีฬาได้ตื่นเช้ามาตักบาตร เดินเก็บขยะอย่างต่อเนื่องเช่นนี้  ผมถือเป็น “ความสำเร็จ”  อย่างใหญ่หลวง   และถือเป็นชัยชนะอันทรงเกียรติที่ไม่จำเป็นต้องเดินขึ้นไปยืนบนแท่นเพื่อรับเหรียญรางวัลใดๆ ก็ได้

ครับ, นี่คือเรื่องจิตสาธารณะเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ในมุมมองของผม
และนี่คือการเรียนนอกฤดูที่น่าทึ่ง  เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง  หาใช่เรียนรู้ทฤษฎีแต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ  รวมถึงเป็นการเรียนรู้ผ่านต้นแบบ เสมือน “การสอนที่ดีคือการทำให้ดู” (พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน)  ซึ่งย่อมตกผลึกอยู่ในตัวตนของนิสิต/นักกีฬาอย่างไม่ต้องสงสัย...


หมายเหตุ
1.นักกีฬา :  ปรียาภรณ์ รักแม่ และ สิริรัตน์ รักแม่

2.ภาพ :  คณะสต๊าฟทีมวอลเลย์บอลชายหาด ม.มหาสารคาม


หมายเลขบันทึก: 516519เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2013 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2013 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

อ่านแล้วมีความสุขจังค่ะ..ช่วยกันบ่มเพาะจิตอาสาดีๆเช่นนี้..

ไปกับเค้าด้วยหรือครับ งานนี้ ;)....

สวัสดีค่ะ......อาจารย์แผ่นดิน  คุณพี่ใหญ่และอาจารย์วัต   นอนดึกนะคะ

ตอนนี้ขยะเป็นปัญหามาก ...จิตสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม  เป็นเรื่องสำคัญจริงๆๆค่ะ  

คารวะจิตสาธารณะในการกระทำ   .....เรียนนอกฤดู

จิตสาธารณะของผู้รู้ มักอยู่ที่การพูด...เรียนในระบบ

จิตสาธารณะของสำนึกพูดและทำ      เรียนตามอัธยาศัย

จิตสาธารณะของชุมชนคนอาสา         เรียนไปทำไป


ขอบคุณมากมายค่ะพี่นัส....

ที่ได้นำเรื่องราวของกลุ่มเล็กๆ..กลุ่มหนึงที่แหวกกฎออกจากค่าย...เพื่อสร้างพลังกายและใจแก่นักกีฬา...ได้เกิดความพร้อมมากที่สุด...ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง...แต่ก็หาละเลยต่อสังคมไม่....อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ...ที่อาจสะท้อนและสั่งสมให้เกิดขึ้นในจิตสำนึกที่ดีแก่น้องๆต่อไปค่ะ...

และขอบคุณการนำสร้างและร่วมทำของเจ๊ใหญ่เรา..(พี่เจี๊ยบ) ค่ะ

เมอมโอกาสกอยากตอบแทนบญคณประเทศไมมากกนอย......และชวยเกลานองๆ  ใหเปนผทมสนกทด

ผมว่าเป็นมิติใหม่แห่งวงการกีฬาไทย เลยนะครับ  กับการดูแลรักษาพื้นที่บริเวณตนเองแข่งขัน เพราะปกติเราไม่ค่อยเจอมากนักคงเป็นเพราะความเร่งรีบและเหน็ดเหนื่อยจากการแข่งขัน  ต้องขอขอบคุณทีมสต๊าฟ และน้อง ๆ นักกีฬา นะครับที่ได้ทำกิจกรรมดี ๆ ให้กับสังคม  และผมเชื่อว่า สิ่งนี้จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อไปข้างหน้า  และเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็นครับ 

   "ทำบุญทำทานอธิษฐานจิต 

    ขอให้ชีวิตจงสดใส 

     ทำบุญทำทาน ชำระจิตใจ 

     กายสดใส จิตสงบ พบทางเจริญ สาธุ"

นักกีฬาไปแข่งที่ใต้ใช่ไหมครับ

ดีใจเลยไปแข่งกีฬาได้ทำบุญ ได้มีจิตอาสาเก็บขยะชายหาดด้วย

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

จิตอาสา ไม่ได้สร้างกันได้ในเร็ววัน
แต่ในฐานะของผู้ดูแลเด็ก  ก็ต้องไม่สูญเสียศรทธาต่อการสร้างกระบวนการบ่มเพาะ-ปลูกฝังไปเรื่อยๆ 
พร้อมๆ กับการทำตัวเป็นแบบอย่างแก่เด็ก  ซึ่งกรณีดังกล่าว  ผมหยิบมาเขียน เพราะอยากให้เห็นมุมเล็กๆ ง่ายๆ งาม เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใครๆ ก็ทำได้  ทำบ่อยๆ ทำถี่ๆ มันจะตกผลึกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา

ขอบพระคุณพี่ฯ มากครับ

สวัสดีครับ อ.วัส  Wasawat Deemarn


ส่งใจไปครับ เกาะติดสถานการณ์ผ่านโลกออนไลน์นี่แหละ -


สวัสดีครับ พี่แจ๋ว

จะว่าไปแล้ว เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นจุดบอดในสังคมไทยมากเลยทีเดียว แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยก็เป็นปัญหา  สังเกตได้จากองค์กรนิสิต / ชมรม  ที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่ค่อยมีมากนัก

ถามนิสิตเรื่องวันสำคัญๆ เทศกาลสำคัญๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็ตอบกันได้ยากยิ่งเหลือทน  กว่าจะตอบได้ก็คิดนานสองนาน...

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ดีใจที่เห็นนิสิต/นักกีฬาได้ทำในสิ่งหล่านี้แล้วมีความสุข
การเรียนรู้ที่แท้จริง หากไม่นับผลสัมฤทธิ์ในสิ่งที่ทำ
การที่ผู้ทำรู้สึกมีความสุข  ผมก็ถือว่ายิ่งใหญ่และเป็นผลสัมฤทธิ์ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

ครับ นุ้ยcsmsu

นอกจากทุนชีวิตที่ดีที่ติดตัวเด็กมา
การมีต้นแบบที่ดีจากคณะโค้ช นั่นแหละคืออีกหนึ่งปัจจัยของความสำเร็จที่ว่านั้น
และปฏิเสธไม่ได้ว่าคณะโค้ช ก็ผ่านวัฒนธรรมการหลอมหลวมมาใกล้ๆ กัน คือ "ใจนำพา ศรัทธานำทาง"

ส่งใจไปเชียร์เสมอ นะครับ

ขอบคุณ คุณ แดนไท มากครับ

สงสัยส่งข้อความผ่านมือถือกระมัง  วรรณยุกต์ถึงหลุดๆ ขาดๆ ไม่สมบูรณ์

เห็นความสุขจากน้องๆ แล้ว ขออนุญาตทำตามนะคะ จะลองถือถุงดำไปตามชายหากใกล้บ้านบ้างค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์พนัส

ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งนะคะ สำหรับข้อคิดเห็นในบันทึกย้อนรอยฯ

และขอคารวะ ทีมงาน กระบวนการบ่มเพาะ "จิตสาธารณะ"ทุกท่าน
ด้วยความเชื่อมั่น...สักวัน สักวัน...ดอกไม้...จะบานสะพรั่ง ทั้ง...แผ่นดินค่ะ

โอ...ขอเล่าเรื่องราวของความฝันหน่อยนะคะ ขำๆค่ะ
คืนวันก่อน ฝันค่ะ ฝันว่าคุณแผ่นกับคุณแดนไทและทีมงาน
ไปทำกระบวนการ อบรมให้พวกเรา จนสี่ทุ่ม ยังมิได้จัดที่พักและหาน้ำหาข้าวให้เลย
เพราะมัวแต่ง่วน ทำการบ้านอยู่หน้าจอค่ะ ๕๕๕
ลุ้นในฝันว่า ขอให้เป็นเพียงความฝันเถอะนะ
ถ้าเป็นความจริง คงอภัยให้ตัวเองยากยิ่งนัก
สี่ทุ่ม... ท่านวิทยากร หน้าแห้ง กระเพาะแห้งเชียว :))
และแล้ว...ก็เป็นเพียงฝัน...จริงนิ อิอิ
 
ขอบคุณมากค่ะ


ผมมองว่าทุกวันนี้ผู้คนมักเอาตัวออกห่างจากวัด อาจเนื่องด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน และบริบททางสังคมที่บีบด้วยเรื่องของการงานอาชีพที่ทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม การทำให้กิจกรรมในยามเช้าเช่นการไปวัดทำบุญที่ถูกปลูกฝังมาจากรุ่นคุณตาคุณยายในสมัยก่อนจางหายไป การทำบุญตักบาตรยามเช้าเป็นการให้กำลังพระภิกษุสงฆ์สามเณรเท่ากับว่าได้ช่วยสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาได้ยืนยงคงถาวรอยู่ได้ นี่คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ผู้ใหญ่ในฐานะครู(โค้ช) ได้นำ ทำให้ดู เรียนรู้ไปด้วยกันผ่านการทำบุญตักบาตรในยามเช้า พร้อมทั้งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ที่เข้าไปเรียนรู้ผ่านการเดินออกกำลังกายเลียบชายหาดด้วยการเก็บขยะเพื่อทัศนียภาพที่ดีของชายหาดไปในตัวอีกทางหนึ่ง ผมขอชื่นชมในวีรกรรมครั้งนี้ด้วยคนครับ...

เห็นด้วยอย่างยิ่งนะครับ ยะ (คนเดินทาง)

เพราะอาจกระตุกความคิดเชิงระบบว่า  แข่งเสร็จก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ (บ้าง)  เพื่อลดทอนภาระสังคม  ลดทอนมลภาวะ  สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นแนวปฏิบัติ ยกระดับเป็นวัฒนธรรมของทีมกีฬา  "อยู่บ้านท่านไม่นิ่งดูดาย"  ช่วยจับโน่นนี่สร้างประโยชน์ร่วมกัน  บางทีก็เหมือนสำนึกรักในพื้นที่ๆ เราเข้าไปใช้ประโยชน์นั่นแหละ

...

ตั้งแต่มีเจ้าตัวเล็ก รู้สึกพูดอะไรเป็นธรรมะมากขึ้นนะ (55)

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

กีฬามหาวิทยาลัยปีนี้  สถาบันการพลศึกษาเป็นเจ้าภาพฯ
วอลเลย์บอลชายหาดแข่งที่ชลบุรี ครับ--
ตอนนี้  ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศแล้ว พรุ่งนี้ถ้าชนะก็เข้าไปป้องกันแชมป์เบ็ดเสร็จในวันเดียวกันเลย


ผู้เสียสละ ผู้อุทิศตน คือบุญุศลโดยแท้เลยละครับ

อ่านแล้วชอบมากค่ะเรื่องการส่งเสริมจิตอาสา......โดยเฉพาะ “การสอนที่ดีคือการทำให้ดู”
 (พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน) 

สวัสดีครับ พี่ครูอ้อย แซ่เฮ

วันนี้ที่สารคาม  ฝนตกมาตั้งแต่เช้าเลยครับ
จะว่าสดชื่นกับสายฝนก็ไม่ใช่นัก
เพราะลึกๆ ก็ออกซึม ๆ ง่วงๆ
แต่ที่แน่ๆ ดีใจที่ฝนตก  เพราะต้นไม้ใบหญ้าจะได้ชื่นบาน
หลังจากรบพุ่งกับแดดร้อนจัดจ้ามาหลายสัปดาห์

เป็นยังไงบ้างครับ คุณปริม ทัดบุปผา...

ตอนนี้ได้ลงไม้ลงมือเก็บกวาดขยะรอบบ้านบ้างหรือยัง...
ผมว่า  วิธีการเช่นนี้  ก็ทำให้ชีวิตวิ่งและเดินช้าลงเหมือนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท