หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ว่าด้วยการบูรณาการข้ามศาสตร์และการสร้างจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด


เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ (ข้ามสาขา/ข้ามหลักสูตร) ทั้งในมิติมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย ทะลุไปถึงการบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน รวมถึงกลไก หรือกระบวนการของการเพียรพยายามนำพาเด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้ “ตัวเอง” อันหมายถึงภูมิปัญญา หรือมรดกวัฒนธรรมของเขาเอง

การบูรณาการข้ามศาสตร์ อันหมายถึงการทำงานของต่างหลักสูตร (สาขา) และต่างคณะในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงการสร้างกลไกให้ปราชญ์ชาวบ้าน เด็กและเยาวชนได้มีส่วนต่อการเรียนรู้ร่วมกัน   ถือเป็นความท้าทายของการขับเคลื่อนโครงการ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” เป็นที่สุด  เพราะนี่คือกระบวนการเรียนรู้หลากศาสตร์ หลากสถานะ และหลากวัยในบริบทเดียวกัน



ฐานการเรียนรู้ "ทอเสื่อด้วยหญ้าลังกา"


หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  เป็นมิติใหม่ของการบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยเน้นการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง  นับตั้งแต่ “ผู้สอนกับผู้เรียน”  อันหมายถึง “อาจารย์กับนิสิต”  รวมถึงการเชื่อมร้อยการเรียนรู้ไปสู่ห้องเรียนหลังใหม่ที่มีชื่อว่า “ท้องถิ่น” หรือ “ชุมชน”  ที่ประกอบด้วย “ผู้สอน” (ชาวบ้าน) และ “ผู้เรียน” (นิสิต)


แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  ภายใต้แก่นคิดหลักคือการเรียนรู้คู่บริการ (Service Learning)  ทำให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น  ไม่ได้จำกัด หรือแบ่งแยกวรรณะ- ชนชั้นระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนเลยก็ว่าได้  เพราะทั้งอาจารย์ นิสิต หรือแม้แต่ชาวบ้าน ล้วนมีสถานะของการเรียนรู้ร่วมกันแทบทั้งสิ้น  ต่างฝ่ายต่างสลับบทบาทของการเป็น “ผู้สอน-ผู้เรียน” ตามบริบทของเนื้อหา  มิใช่เน้นกระบวนการถ่ายทอดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา

กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้  ผมถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning Process)  ที่ช่วยลดทอนความเลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมลงได้เป็นอย่างดี  อีกทั้งยังช่วยหนุนเสริมให้แต่ละฝ่ายเกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง ไปพร้อมๆ กับการตระหนักในคุณค่าของการแบ่งปัน หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นมิตร  




ฐานการเรียนรู้ "หมอยาสมุนไพร"


ฐานการเรียนรู้ "ศิลปะใบตอง"



กรณีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเช่นนี้ปรากฏเด่นชัดในหลายโครงการ  โดยเฉพาะการดำเนินงานของสาขาสารสนเทศศาสตร์ (คณะวิทยาการสารสนเทศ)  กับสาขาการพัฒนาชุมชน (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)   กล่าวคือการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของสองสาขา  ไม่เพียงสะท้อนถึงการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนเท่านั้น  หากแต่สะท้อนถึงแนวทางของการบูรณาการข้าม “ศาสตร์” เข้าด้วยกันอย่างน่าสนใจ  โดยในสาขาสารสนเทศศาสตร์ที่นำโดย ดร.ฉันทนา  เวชโอสถศักดา  มุ่งสู่การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว  ขณะที่สาขาการพัฒนาชุมชนที่นำโดย ผศ.ดร.ชูพักตร์  สุทธิสาร  ก็มุ่งสู่การพัฒนาศักยภาพในทางภูมิปัญญาชนชุมชน และสืบค้นข้อมูลการรวมกลุ่มภูมิปัญญาในชุมชน


ทั้งสองโครงการได้ออกแบบกิจกรรมร่วมกันเป็นระยะๆ  อาทิ  การนำนิสิตลงชุมชนเพื่อศึกษา รวบรวมข้อมูลและสังเคราะห์  พร้อมกับการสะท้อนกลับสู่ชุมชน  เพื่อร่วมกันตรวจทานความถูกต้องร่วมกันในทุกภาคฝ่าย  ซึ่งข้อมูลที่ได้ก็นำไปสู่การลงลึกในเชิงสาระต่างๆ  ทั้งในมิติของ “คน” และ “ผลงาน”  อันหมายถึงกระบวนการของการผลิตผลงานของชุมชนนั่นเอง



                         ฐานการเรียนรู้เรื่อง "ทอเสื่อจากหญ้าลังกา"  และ "ศิลปะการขับร้องหมอลำ"


ล่าสุดในปลายเดือนพฤศจิกายน 2555  ผมมีโอกาสได้ร่วมสังเกตการณ์กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของสองสาขานี้อย่างใกล้ชิด  ภาพที่เห็นไม่ใช่เพียงการบูรณาการข้ามศาสตร์ของสองสาขา หรือสองหลักสูตรเท่านั้น  หากแต่หมายถึงการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนได้อย่างน่าทึ่ง


ในเวทีการเรียนรู้ของวันนั้น  สาขาสารสนเทศศาสตร์  ปักหลักประชุมเพื่อจัดวางโครงสร้างคณะกรรมการบริหารศูนย์การเรียนรู้  ขณะที่สาขาการพัฒนาชุมชน  จัดฐานการเรียนรู้กลุ่มภูมิปัญญาต่างๆ ควบคู่กันไป  โดยนิสิตทั้งสองสาขาพยายามเรียนรู้ร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป  ซึ่งอาจารย์คอยทำหน้าที่เสมือน “โค้ช”  อยู่ใกล้ๆ และเนียนๆ  เพื่อเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้ทำงานร่วมกัน พร้อมๆ กับการสร้างสรรค์กระบวนการให้นิสิตและชาวบ้านได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างเรียบง่าย และเป็นกันเอง  โดยไม่ต้องพะวงว่าอาจารย์จะเข้าไปก้าวก่าย จนเกิดอาการขวยเขิน – เกร็ง 


กระบวนการเช่นนั้น  ถึงแม้อาจารย์จะดูถนอมตัวไม่เข้าไปจัดกระบวนการด้วยตนเอง  แต่ก็เห็นได้ชัดว่าอาจารย์ผู้สอนทั้งสองคน  ได้สังเกตกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ  อันหมายถึงเข้าสู่การเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านและนิสิตอย่างกลมกลืน




การประชุมเพื่อจัดวางโครงสร้างคณะกรรมการฯ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว



ผมชื่นชอบบรรยากาศของการโสเหล่เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้เป็นอย่างมาก  เห็นการพูดคุยที่เน้นชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง  กระตุ้นให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น   อันหมายถึงออกแบบการบริหารจัดการทั้งในเชิงบุคคลและกรอบหน้าที่ด้วยตนเองเป็นที่ตั้ง  ขณะที่ฟากฝั่งมหาวิทยาลัย  เน้นการเชื่อมวงการโสเหล่ และอำนวยความสะดวกในเรื่องของการจดบันทึก จับประเด็นไปพรางๆ




เช่นเดียวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสาขาพัฒนาชุมชน ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน  เนื่องเพราะฐานการเรียนรู้ต่างๆ นั้นล้วนนำพา “ปราชญ์ชาวบ้าน” จากหมู่บ้านต่างๆ มา “สอนลูกสอนหลาน”  ได้อย่างลงตัว  ทั้งด้านขับร้อง  หมอยา  ใบตอง  จักสาน  ทอเสื่อ ฯลฯ 

 

การเรียนรู้ดังกล่าวก็ถือเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง  (Action Learning)  ร่วมกับชุมชน  โดยใช้ชุมชนเป็น “ห้องเรียน”  และใช้กิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้ (Activity-Based Learning)  ซึ่งแต่ละฐานจะมี “นิสิตเข้าเรียนรู้ร่วมกับนักเรียน”  ในชุมชน อบต.หนองบัว  กระบวนการเช่นนี้แหละที่ผมมองว่าเป็น “พลังของการเรียนรู้”  ที่น่าสนใจ  เพราะได้เรียนรู้จาก “ตัวจริงเสียงจริง” (ผู้รู้)  อันหมายถึงปราชญ์ชาวบ้านที่เกิดจากการศึกษารวบรวมข้อมูลของนิสิต นั่นเอง





กรณีของนักเรียนนั้น -  การเรียนรู้จากปราชญ์เช่นนี้  จะช่วยให้นักเรียนได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เฒ่าผู้แก่ของตนเอง ได้ถามทักกันว่าใครเป็นใครมาจากไหน  ใครอยู่บ้านอะไร  เป็นลูกเต้าเหล่าหลานใคร  เสมือนค้นหาญาติกันในตัว  สานเครือข่ายการรับช่วงมรดกทางวัฒนธรรมด้วยก็ว่าได้

และนอกจากนี้   ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสร้างกระแสธารความคิดเรื่อง “จิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด” ให้กับนักเรียน  (เด็กและเยาวชน)  ด้วยเหมือนกัน  โดยพวกเขาเหล่านั้น  จะเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาเป็นคณะกรรมการศูนย์การเรียนรู้  หรือแม้แต่การทำให้ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของโรงเรียนในชุมชนนี้เลยก็ว่าได้-




หรือในอีกมุมหนึ่ง  ปราชญ์ชาวบ้านที่ประจำในแต่ละฐานการเรียนรู้ของวันนี้  ผมเชื่อเหลือเกินว่าแต่ละท่าน ย่อมรู้สึกตื้นตัน  สัมผัสถึงคุณค่าของตนเอง  พร้อมๆ กับการมีพลังใจในการที่จะส่งมอบมรดกทางวัฒนธรรมไปสู่ลูกหลานอย่างไม่ท้อแท้  และที่สำคัญคือกระบวนการนำพาผู้รู้มาอยู่ร่วมกันเช่นนี้ถือเป็นกลไกที่สำคัญมาก  เพราะทำให้รู้ว่าแต่ละชุมชน ยังคงหลงเหลือ “คลังความรู้”  อะไรบ้าง  ซึ่งเหล่าบรรดาผู้รู้ หรือปราชญ์เหล่านี้  จะเป็นเสมือนแกนนำหรือตัวจักรอันสำคัญของกลุ่ม (Core of the Group) ในการนำพาภูมิปัญญา (ทุนทางสังคม) ในท้องถิ่นมาบูรณาการกับความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย 




นี่คือกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีพลังอย่างน่าสนใจ  เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ (ข้ามสาขา/ข้ามหลักสูตร)  ทั้งในมิติมหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัย ทะลุไปถึงการบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  รวมถึงกลไก หรือกระบวนการของการเพียรพยายามนำพาเด็กและเยาวชนกลับเข้าสู่การเรียนรู้  “ตัวเอง” อันหมายถึงภูมิปัญญา หรือมรดกวัฒนธรรมของเขาเอง  โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่ หรือปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้นำพา ...


ดีไม่ดีในอนาคตอันใกล้นี้  ผมเชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้ภายใต้การขับเคลื่อนผ่านกิจกรรม 1 หลักสูตร 1 ชุมชน อาจกลายเป็นห้องเรียนอีกห้องหนึ่งของนักเรียน หรือระบบการเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนในละแวกนี้ก็เป็นได้ -...



หมายเลขบันทึก: 511758เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ทุนทางปัญญา ... หลายๆ ทุน ในสังคม .... เก็บเท่าไหร่ก็ไม่หมดนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

การเรียนรู้ข้ามศาสตร์..เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม..ร่วมกันคิดแยกกันไปทำ..ขยายผลออกไปทั้งในเชิงพื้นที่และบุคคล..ขอให้กำลังใจแบบอย่างดีๆเช่นนี้ค่ะ..

  • บูรณาการข้ามและทะลุมิติ อย่างกลมกลืนครับ

เข้ามาทึ่งในกิจกรรมดีๆ แบบนี้เสมอค่ะ

แรงใจ แรงกายที่ทุ่มเทไป แลกกับรอยยิ้มและแววตาของเด็กรุ่นใหม่ที่มีแรงบันดาลใจมุ่งมั่นให้กับถิ่นเกิด ก็แสนจะคุ้มเหนือยนะคะน้องแผ่นดิน    

เป็นกำลังใจให้สำหรับคนมีไฟและมีฝันนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์ แผ่นดิน

กลับจากเวที Happy Ba ก็มีวงในพื้นที่ทุกวัน  

วันนี้ไปคุยเรื่องการจัดการน้ำทำนาของพัทลุง  

ปัญหามากมายส่วนมากอยู่ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ทั้งกรมชล และสนงการจัดการน้ำเขต

ยัง บูรณาการกันไม่ลง

อ้อ"เรียนนอกฤดู  ภาษาใต้เขาพูดว่า เรียนผิดสิม" สิม ฤดูกาล

สวัสดีครับ พี่อ.Ple

ว่าด้วยทุนทางสังคม หรือทุนทางปัญญานั้น  พบในทุกท้องถิ่น  ขึ้นอยู่กับว่า  ที่ไหนจะเจือจาง เข้มข้นต่างกันไป  หากแต่กระบวนการทางการศึกษานั้น ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดมาก  เพราะกระบวนการทางการศึกษาที่ผ่านสถานศึกษา  มีสถานะเสมือนความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เมื่อนำไปผนึกเข้ากับ "ปัญญาชุมชน"  อันหมายถึง "ภูมิปัญญาชาวบ้าน"  จะช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ อนุรักษ์  สืบสาน และบูรณาการเพื่อการคงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันต่อไป

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ


กรณีการเรียนรู้ข้ามศาสตร์นั้น  ผมเห็นมิติข้ามศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัย และทะลุสู่ชุมชนไปเสร็จสรรพ  สิ่งเหล่านี้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน  นิสิตต่างสาขาได้เรียนรู้ร่วมกัน  ยกตัวอย่างง่าย  สาขาการพัฒนาชุมชน  มีความสันทัดในการลงชุมชน  มีทักษะในการเรียนรู้บริบทชุมชน เก็บข้อมูลชุมชนได้ดี  ก็สามารถเป็นพี่เลี้ยงนิสิตจากสาขาสารสนเทศศาสตร์ไปในตัว  ข้อมูลที่ช่วยกันเก็บรวมรวม สังเคราะห์ร่วมกับชาวบ้าน ก็ถูกจัดกระทำเป็นหมวดหมู่เพื่อเข้าสู่ระบบสารสนเทศ คลังความรู้ใน "ศูนย์การเรียนรู้"  ต่อไป  โดยชุมชนขยับลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในการเป็น FA  ประจำศูนย์ของตนเอง

ผมว่าโมเดลนี้ น่าสนใจ และยังมีอะไรให้ต่อยอดต่อไป ครับ


เป็นการบูรณาการที่น่าสนใจมาก เป็นการข้ามสาขา ข้ามสาระวิชาเป็นการเรียนรู้แบบชีวิตจริง

ชอบภาพนี้

นับวันจะหมดไปนะครับ


มีความเห็นเหมือนอาจารย์ขจิตค่ะ เมื่อก่อนที่บ้านจะมียาพื้นบ้านที่นำมาฝนกับหินแล้วจุ่มน้ำในแก้วให้ออกสียาสมุนไพรพื้นบ้านแล้วให้ดื่มแก้ไข้  ดีมากๆนะคะ ทุกอย่างคือราก ลำต้น ของพืชในป่าบ้านเรานะคะ  วันนี้หาดูยากมากค่ะ

การเรียนรู้จากชุมชน ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามาก ๆ สำหรับนักเรียนนักศึกษาจ้ะ  คุณมะเดื่อก็จัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากห้องเรียนในชุมชนเช่นกัน


http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/508101

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

"..... รู้สึกตื้นตัน  สัมผัสถึงคุณค่าของตนเอง  พร้อมๆ กับการมีพลังใจในการที่จะส่งมอบมรดกทางวัฒนธรรมไปสู่ลูกหลานอย่างไม่ท้อแท้...."     ข้อความนี้   สัมผัสได้ ทุกคุณค่า อย่างงดงาม เกิน คำบรรยายค่ะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท