โรงเรียนแห่งความสุข : "วีรกรรมทำเพื่อศิษย์" หนังสือที่ทำหน้าที่มากกว่าผลผลิตในเวทีกระบวนการ...


หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ผลผลิตจากเวทีกระบวนการโรงเรียนแห่งความสุขเท่านั้น ไม่ใช่แค่หนังสือที่ระลึกของ ป.บัณฑิตรุ่น ๕๓ ไม่ใช่แค่จดหมายเหตุชีวิตของนักศึกษาและคณะคุรุศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ และไม่ใช่แค่ตัวชี้วัดในการประกันคุณภาพการศึกษา, กพร.•แต่หนังสือเล่มนี้คือ “คลังความรู้,พลังชีวิต” ที่ไม่เพียงทำให้เจ้าของเรื่องมีพลังกับการเดินทาง แต่ยังช่วยให้คนอ่านได้มีแรงบันดาลใจในการเรียนและการใช้ชีวิต หรือแม้แต่พลเมืองที่ดีของสังคมด้วยเหมือนกัน

ช่วงวันที่ ๒-๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ผมเดินทางไกลไปยังเชียงใหม่เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ในโครงการ “ผลิตและพัฒนาครูสู่ความเป็นเลิศ” ของคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ถึงแม้จะข้ามพ้นอุบัติเหตุทางรถยนต์มาได้ไม่นานนัก แต่ผมก็ไม่ลังเลกับการตัดสินใจเดินทางไปยังเชียงใหม่  เพราะหลงรักในมิตรภาพของกัลยาณมิตร หลงรักนโยบายเชิงรุกที่มหาวิทยาลัยมีต่อนักศึกษาในท้องถิ่น ซึ่งมุ่งผลิตครูที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมและชุมชน

 

 

ก่อนการเดินทางกลับ ผมได้รับของฝากจากเจ้าภาพหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือหนังสือที่ระลึกที่มีชื่อว่า “วีรกรรมทำเพื่อศิษย์”

 

ครับ-หนังสือเล่มนี้คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกให้กับผู้เรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต วิชาชีพครู (Graduate Diploma in Teaching Profession) ซึ่งเป็นรุ่นรหัส ๕๓

 

ในอีกมุมหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิต output หนึ่งในเวทีการเรียนรู้ที่ผมและคุณจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร เคยได้รับเกียรติให้เดินทางไปจัด workshop ร่วมกับนักศึกษา ป.บัณฑิต ซึ่งเกิดขึ้นในห้วงปี ๒๕๕๔  และเรียกเวทีนั้นด้วยใจว่า “โรงเรียนแห่งความสุข”

 


 

ครั้งนั้นผมรับผิดชอบเรื่องกิจกรรม  “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  ซึ่งเป็นกระบวนการละลายพฤติกรรมของผู้เรียนเพื่อให้ “ทบทวนชีวิต” (ถอดบทเรียนชีวิต) ผ่านกลไกของ “ศิลปะบำบัด” อันประกอบด้วยเครื่องมือสำคัญๆ คือ

 

  • วาดภาพ

  • เล่าเรื่อง (storytelling)

  • ฟังแบบฝังลึก (Deep Listening)

 

และครั้งนั้น ภายหลัง AAR ในภาพรวมเสร็จสิ้นลง  ผมค้นพบว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคนที่มีพื้นฐานความรู้และทักษะชีวิตค่อนข้างดี เพราะส่วนใหญ่โตกันแล้ว มีงานทำกันแล้ว สอนหนังสือกันมาก็เยอะ  แต่หันกลับเข้ามาเรียนอีกครั้งก็เพื่อพัฒนาศักยภาพ (Potential) หรือเพิ่มขีดความสามารถ (Capacity Building)  การเป็นครูที่ดีของตัวเอง รวมถึงมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของชีวิตเป็นสำคัญ ดังนั้นในเวทีดังกล่าว  ผมจึงพลิกมุมการเรียนรู้ใหม่ แทนที่จะให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการวาดภาพที่เกี่ยวกับ “ความสุขความทรงจำของชีวิต”  ซึ่งดูเป็นประเด็นที่กว้างๆ มาเป็นประเด็น “วีรกรรมทำเพื่อศิษย์” แทน

 

 

 

ในห้วงที่นักศึกษากำลังวาดภาพนั้น แน่นอนครับทีมกระบวนกรไม่ละเลยที่จะ “เล้าโลม” หรือหนุนเสริมจินตนาการและสมาธิด้วยการเปิดเพลงคลอไปเบาๆ ขณะที่นักศึกษามุ่งมั่นกับการวาดภาพ  ผมสังเกตได้ชัดเจนว่าแต่ละคนดู “จริงจัง และจริงใจ” กับกระบวนการมากไม่ใช่ย่อย เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่านั่นคือการเรียนรู้ที่  “มีความสุข-มีความสุขกับการได้ทบทวนความทรงจำอันดีงามของตนเอง”  

 

และในกระบวนการสังเกตของผมนั้น ในบางโอกาสผมก็จะถือโอกาสเข้าไปหยิกแซวนักศึกษาที่กำลังวาดภาพเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย และทดสอบสมาธิของนักศึกษาไปในตัว รวมถึงการสังเกตเพื่อหมายมั่นจะหยิบจับภาพที่น่าสนใจมาเป็นโจทย์ของการเรียนรู้และแบ่งปันหน้าเวที (หน้าชั้นเรียน)

 

 

ครับ- ต่อเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการ “เล่าเรื่องสู่กันฟัง”  ก็เห็นได้ชัดว่าแต่ละคนดูมีพลังในการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก แววตาฉายฉานทอประกาย ขณะที่คนฟังก็ดูมีสมาธิในการฟัง ราวกับกลัวว่าตนเองจะตกขบวนไปจากเรื่องเล่านั้นๆ

 

การบอกเล่าเรื่องราวสู่กันฟังเช่นนี้ ในทางทฤษฎีผมเชื่อว่าการเล่าเรื่องมีอานุภาพต่อการทำให้ผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจในการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเปลี่ยนแปลง (Transformation) ชีวิตได้ด้วยเหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องออกแรงค่อนข้างมากในการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้เห็นความสำคัญ และสนุกกับกระบวนการที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า ด้วยการนำ “คลิป,วีดีทัศน์” มาปลุกเร้าสร้างความกระหายอยากในการเรียนรู้  จากนั้นจึงพูดโน้มน้าวอย่างละมุมละม่อมฝากให้ ผู้เล่า”  ได้เปิดใจเล่า > เล่าออกมาจากใจ > เล่าให้เพื่อนเห็นว่าเรื่องราวในภาพนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ > เป็นอย่างไร > และทำไมถึงทรงอิทธิพลต่อผู้เล่าถึงขั้นยกฐานะเป็น “วีรกรรมทำเพื่อศิษย์” 

 

เช่นเดียวกับ “ผู้ฟัง”  ผมพยายามโน้มน้าวให้ผู้ฟังเปิดใจรับฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างไม่อิดออด ฟังไปคิดไป > ฟังไปไตร่ตรองไป > ไม่ถามแทรกในขณะที่เพื่อนเล่า  ยกเว้นหากมีเวลาเหลือพอ ค่อยแลกเปลี่ยนถามทักเพิ่มเติม แต่นั่นต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่อยากรู้ แต่ไม่คำนึงว่าคนต้นเรื่อง  ปรารถนาเปิดเปลือยถึงสิ่งเหล่านั้นหรือไม่

 

วิธีคิดดังกล่าวนี้ ผมเคยได้เขียนเป็นกลอนประกอบกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ไว้ชัดเจน ว่า

            ในโลกแห่งการงานและชีวิต    
            น้อยนิดแต่ใช่จะไร้ค่า     
            เมื่อเธอพูด ฉันก็ฟังด้วยศรัทธา    
            เปิดประตูดวงตาสู่ประตูใจ
            เมื่อฉันพูด เธอก็ฟังอย่างเป็นมิตร    
            เรื่องน้อยนิด จึงดูเป็นยิ่งใหญ่ 
            โลกสองโลกจึงนิยามความเป็นไป      
            ว่าเราต่างล้วนใช้ใจนิยาม

รวมถึงกลอนที่เขียนขึ้นประกอบกระบวนการเพื่อชวนให้แต่ละคน “ทบทวนชีวิตนวันว่าง” ว่า


            กี่หมื่นล้านจังหวะก้าวแห่งชีวิต
            เธอฉัน, ได้จุมพิตซึ่งความฝัน
            กี่ผู้คน ประสบ พบรักกัน
            กี่ผู้คน ขาดสะบั้น สัมพันธ์ใจ
            ทบทวนชีวิตวันละนิดในวันว่าง
            เห็นร่องรอยแห่งเส้นทางอันยิ่งใหญ่
            เห็นริ้วรอยบอบช้ำของวันวัย
            เห็นความเป็นไปในมรรคา 
            เห็นเธอฉันเดินทางไม่รู้จบ
            เห็นเธอฉัน, ค้นพบสิ่งมีค่า
            เห็นเธอฉัน,ค้นพบความทุกข์ทรมา
            สลับฉากวนเวียนมาอย่างสามัญ
            ทบทวนชีวิตวันละนิดในวันว่าง
            ทบทวนก้าวย่างบนทางฝัน
            เพียงเศษเสี้ยวแย้มยิ้มของแต่ละวัน
            โลกและชีวิตไม่เงียบงันอย่างเข้าใจ

 

 

ครับ-กลอนที่เขียนขึ้นนั้น ปกติผมจะไม่อ่านคนเดียวหรอกนะครับ แต่มักจะจั่วหัวด้วยการชวนให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้อ่านพร้อมกัน พออ่านไปได้ซักพักหนึ่ง  ผมจะกระโดดเข้าไปผสมโรงอ่านร่วมกับพวกเขา เป็นการกระตุ้นให้อ่านอย่างคึกคัก เข้มข้น  โดยปกตินั้นผมจะอ่านให้หนักแน่น มีจังหวะจะโคน หรืออ่านให้สอดรับกับกระบวนความในกลอนที่ผมต้องการสื่อสาร  ซึ่งถือว่าเป็นอีกกระบวนการหนึ่งของ “ศิลปะบำบัด” เพียงแต่เปลี่ยนจาก “ทัศนศิลป์” (ภาพวาด) มาสู่ “วรรณศิลป์” (กลอน) เท่านั้นเอง

 

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการนี้ก็คือ ผมพยายามสื่อแบบเนียนๆ ว่า ...

 

  • ภาษาเป็นมรดกวัฒนธรรม บ่งบอกความเป็นชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม และภาษาคือความงามที่สะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของจิตใจไม่แพ้ศิลปะแขนงอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนสันทัด หรือมีทักษะแขนงใด จึงควรค้นหาให้เจอและนำกลับออกมาใช้เพื่อการพัฒนาชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ
  • เพราะการจัดการความรู้ที่ดีนั้น ผมเชื่อว่าคนเราแต่ละคน ต้องรู้ว่าตัวเองมีอะไรเป็น ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)) และมีอะไร (เครื่องมือ) ที่สามารถสกัดเอาความรู้เหล่านั้นมาสื่อสาร แบ่งปันกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แต่ที่แน่ๆ ในเวทีโรงเรียนแห่งความสุขและการวาดภาพในหัวข้อ “วีรกรรมทำเพื่อศิษย์” ผมมองว่ากระบวนการเหล่านี้ คือกลไกของการเสริมทักษะของการเล่าเรื่อง (storytelling) ที่ผสมผสานการฟังแบบฝังลึก (Deep Listening) ไว้อย่างนวลเนียน  กล่าวคือ การฟังที่ว่านั้น ผมไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะผู้ฟังเท่านั้น และผู้เล่าเรื่อง หรือเจ้าของภาพนั้น ก็จำต้อง “ฟังเสียงหัวใจ” ตัวเองเหมือนกัน เพราะการฟังเสียงหัวใจในมุมมองของผมนั้น เปรียบได้กับการฟังเรื่องราวในความทรงจำนั่นแหละ เมื่อมีสมาธิต่อการฟังหัวใจของตัวเองเล่าเรื่อง ย่อมตระหนักรู้ (awareness) และวาดภาพเหล่านั้นออกมาอย่างเป็นรูปธรรมได้ โดยไม่ต้องวิตกกับเรื่องกรอบกติกาว่า “ภาพจะสวย หรือไม่สวย”

 

แต่ที่แน่ๆ ภาพในวันนั้น ล้วนได้ “ความสดใหม่” ราวกับเรื่องราวเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน และภาพแต่ละภาพก็มีความงามในตัวของมันเอง อันหมายถึง “ชีวิตงดงาม วีรกรรมงดงาม” นั่นเอง

 

ในเวทีครั้งนั้น  ด้วยความประทับใจส่วนตัวที่เกิดขึ้นจากการได้เห็นภาพวาดที่มีชีวิต เห็นการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยประกายพลัง เห็นความกระตือรือร้นแห่งการเสพสัมผัสเรื่องราวอันเป็นวีรกรรมร่วมกัน (ชะตากรรมเดียวกัน) รวมถึงเห็นดอกผลทาง “ปัญญาปฏิบัติ” ของแต่ละคนที่หากรวบรวมและจัดกระทำเป็นรูปเล่มได้ ย่อมเป็นอานิสงส์ทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี ทั้งต่อนักศึกษา อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ครูในโรงเรียน นักศึกษาฝึกสอน หรือแม้แต่นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ เพราะในเรื่องราวอันเป็นวีรกรรมนั้น ได้ปรากฏปัญญาปฏิบัติ (เคล็ดวิชา) อยู่ในตัวอย่างเสร็จสรรพ อ่านแล้วสามารถหยิบจับไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่ต้องกังขา

 

 

ครับ-ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอดไม่ได้ที่จะ “ขายฝัน” ว่าเรื่องราวอันดีงามทั้งปวงนี้ควรค่าต่อการนำไปเผยแพร่ในวงกว้าง ด้วยการออกปากชวนนักศึกษา “เขียนเรื่องต่อ”  อันหมายถึงเขียนขยายความจากภาพวาดและการเล่าเรื่องเมื่อครู่ไปสู่เรื่องเล่าเร้าพลังในเวอร์ชั่น “การเขียน” ซึ่งหากใครสนใจให้ส่งไฟล์ข้อมูลมายังผม เพื่อจัดทำเป็นหนังสือขึ้นมาซักเล่ม

 

แต่สุดท้าย “ฝัน” ที่ “ขาย” ไปนั้น อ.วัส Wasawat Deemarn,ครูอ้อย,คุณหนูแหม่มและทีมงานโรงเรียนแห่งความสุข กลับตอบรับอย่างแข็งขันว่าทางคณะคุรุศาสตร์จะเป็นผู้ดำเนินการสานต่อพันธกิจแห่งความฝันให้เอง ซึ่งนั่นก็แสดงว่าทางคณะ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร (คณบดี : ผศ.เยี่ยมลักษณ์ อุดาการ) หรือแม้แต่อาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในครั้งนี้ “เห็นความสำคัญ” กับผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (outcome) หรือแม้แต่ impact ที่เกิดขึ้น (หรือกำลังจะเกิดขึ้น) โดยตรงกับนักศึกษา ผ่านการออกแบบการเรียนการสอนที่มีชีวิต

 

 

จวบจนบัดนี้ ผมยังคงอ่านและดูภาพในหนังสือเล่มนี้อย่างไม่รู้เบื่อ ดีใจและสุขใจที่เห็นกระบวนการเรียนรู้ในเวทีแห่งความสุขตกผลึกเป็นผลผลิตที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผมมองว่า-

  • หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ผลผลิตจากเวทีกระบวนการโรงเรียนแห่งความสุขเท่านั้น

  • ไม่ใช่แค่หนังสือที่ระลึกของ ป.บัณฑิตรุ่น ๕๓

  • ไม่ใช่แค่จดหมายเหตุชีวิตของนักศึกษาและคณะคุรุศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่

  • และไม่ใช่แค่ตัวชี้วัดในการประกันคุณภาพการศึกษา, กพร.

  • แต่หนังสือเล่มนี้คือ “คลังความรู้,พลังชีวิต” ที่ไม่เพียงทำให้เจ้าของเรื่องมีพลังกับการเดินทาง แต่ยังช่วยให้คนอ่านได้มีแรงบันดาลใจในการเรียนและการใช้ชีวิต  หรือแม้แต่พลเมืองที่ดีของสังคมด้วยเหมือนกัน

 

หรือในอีกมุมหนึ่ง... “จะดีแค่ไหน หากหนังสือเล่มนี้ไปปรากฏอยู่ตามห้องสมุดในโรงเรียนต่างๆ”  เพราะผมเชื่อเหลือเกินว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนและคุณครูอีกหลายคนได้เป็นอย่างดี

 

 

สำหรับผมแล้ว

  • ดีใจและสุดใจเป็นที่สุดที่เห็นเวที หรือกระบวนการที่ตนเองขับเคลื่อนได้กลายเป็นจุดเปลี่ยน หรือกลายเป็นรงจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์เล็กๆ ในตัวตนของผู้คน และในตัวตนของระบบ ด้วยการหยิบจับไปต่อยอดอย่างจริงใจ
  • ดีใจและสุขใจที่ได้เห็นกระบวนการต่อยอดจากการวาดภาพ > การเล่าเรื่อง > สู่การเขียนเรื่องราวในแบบฉบับของเรื่องเล่าเร้าพลัง

  • ดีใจและสุขใจที่ได้อ่านหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย มีความสด  เห็นภาพ เห็นชีวิต..
  • ดีใจและสุขใจเป็นที่สุดที่ได้เห็นการจัดการความรู้ที่ควบคู่ไปกับการจัดการความรักในแบบฉบับของ “ครู” อย่างลงตัว ทั้งในเวที workshop และในกระบวนการเรียนการสอนของคณะคุรุศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงใหม่

 

ครับ-ผมดีใจและสุขใจจริงๆ
และหวังอย่างยิ่งว่า เราๆ ท่านๆ จะไม่มองข้ามเรื่องอันดีงามเล็กๆ น้อยๆ ของคนรอบกาย

 

 

หมายเลขบันทึก: 489311เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เรียนท่านอาจารย์ แผ่นดิน เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ (ครับ-ผมดีใจและสุขใจจริงๆ และหวังอย่างยิ่งว่า เราๆ ท่านๆ จะไม่มองข้ามเรื่องอันดีงามเล็กๆ น้อยๆ ของคนรอบกาย)

อาจารย์คะ

  • อ่านบันทึกอาจารย์ ก็สัมผัสได้ว่า ผู้เขียนบันทึกมีความสุขยิ่ง
  • ดีใจและมีความสุขร่วมไปด้วยจริง ๆ ค่ะ

แวะมาชมนะคะ น้องแผ่นดิน ยังคงงดงามเสมอ กับอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ "การให้ที่มิรู้จบ"

ชอบคำนี้มากเลยค่ะ "วีรกรรมทำเพื่อศิษย์"

อาจารย์คะ เห็นกระบวนการสอน วิธี สื่อการสอนแบบนี้แล้ว บอกตรงๆอยากกลับไปเป็นนักศึกษาอีกครั้งจังค่ะ

;)

น่าชื่นชม จริงจริง

สุขใจอย่างยิ่งที่ได้อ่านเรื่องเล่า ซึ่งเป็นเรื่องราวดีๆ การูถ่ายทอดศิลปะ ผ่านภาพวาดของคุณครู การแลกเปลี่ยนประสบการณ์สอนที่ประทับใจ คงจะสร้างความสุขได้ไม่น้อย เห็นกิจกรรมดีๆ แบบนี้ อดยิ้มไม่ได้นะค่ะ กับผู้ให้ และผู้ที่นำโครงการดีๆ แบบนี้มาเผยแพร่สู่สังคม

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei

ทุกครั้งที่เวทีปิดตัวลง ผมจะถามตัวเองในสองประเด็นหลัก คือ มีความสุขกับกระบวนการกี่มากน้อย และที่สำคัญคือ มีสิ่งใดเติบโตในตัวตนของเราบ้าง  ส่วนผู้เข้าร่วมกระบวนการนั้น พวกเขาได้ตอบเราแล้วในเวทีทั้งปวง ที่เหลือคือการติดตามไปสู่การประเมิน outcome และ impact

แต่ที่แน่ๆ...ทำกระบวนการในเวทีโรงเรียนแห่งความสุขแล้ว..
มีความสุขจริงๆ ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ ชดาวัลย์(อิงจันทร์)

บันทึกที่ผมเขียนยังดูยืดยาวเหมือนเคย คงไม่เบื่อกับการอ่านนะครับ
แต่กลับมาคราวนี้ ต้องการบันทึกที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการ และผลลัพธ์ของกระบวนการไปในตัว ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวผม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ อันหมายถึง ผู้เข้าร่วมกระบวนการ หรือเจ้าของโครงการฯ ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่Bright Lily

ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเรื่องเล่าเล็กๆ ในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับคนอื่นๆ เหมือนที่ผมบอกย้ำในบันทึกว่า... "เรื่องราวอันเป็นวีรกรรมนั้น ได้ปรากฏปัญญาปฏิบัติ (เคล็ดวิชา) อยู่ในตัวอย่างเสร็จสรรพ อ่านแล้วสามารถหยิบจับไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่ต้องกังขา"

หรือในอีกมุม ถึงแม้เรื่องเล่าเหล่านั้น จะไม่โฟกัดให้เห็นกระบวนการใดมาก แต่ก็สามารถหยิบจับประเด็น "รูปแบบโดยรวมของกิจกรรม" ไปใช้ได้เหมือนกัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ noktalay

...จำไม่ได้ว่าตอนนั้น ผมกำลังคิดอะไร ถึงได้ตั้งชื่อประเด็นว่า "วีรกรรมทำเพื่อศิษย์"...รู้แต่ว่าต้องตั้งชื่อให้ดูยิ่งใหญ่ไว้ก่อน จะได้ช่วยกระตุ้น หรือเร้าให้นักศึกษาที่เข้าร่วมกระบวนการเกิดความตื่นตัว กระหายที่จะวาดภาพ หรือถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง  บนพื้นฐานที่กำลังบอกว่า เรื่องดีๆ ล้วนมีพลังในตัวของมันเอง และทุกคนก็มีเรื่องเล่าดีๆ ในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น การวาดภาพในครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการจัดทำจดหมายเหตุชีวิตตัวเอง และผูกโยงไว้เป็นข้อมูลทางสังคมให้คนอื่นได้เรียนรู้ต่อไป

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ♥.`๏'-พร ทั้ง หล้า`๏'- ♥

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ ถึงแม้จะไร้ร่องรอยก็เถอะ..ยังไงๆ ผมก็อุ่นใจ เพราะช่วยให้รู้ว่า "โลกไม่เงียบเหงา......เพราะ.....ยังมีคนให้เราได้คิดถึง"

 

สวัสดีครับ คุณปริม pirimarj...

จริงอยู่เราล้วนย้อนเวลากลับไปแก้อดีตไม่ได้ แต่เราก็ชดเชยมันได้ด้วยการทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน หรือทำให้ดีไม่ด้อยไปกว่าอดีตนั่นเอง

และที่สำคัญ...พื้นที่ G2K นี่แหละครับ คือกลไกของการกลับคืนสู่อดีต  เพราะทันทีที่บันทึกเรื่องราวลงมาจัดเก็บสู่ระบบ ก็ย่อมโยงสู่การเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งเราและคนอื่นก็ได้บทเรียนเล็กๆ ไปใช้กับสิ่งที่จะลงมือทำในครั้งต่อไป...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ธีรกานต์

กระบวนการทำเรื่องเล่าและภาพวาดออกมาเป็นหนังสือ ผมมองว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของโครงการฯ ที่จัดขึ้น ผมเชื่อว่าหากนักเรียนได้อ่าน หรือคนที่กำลังเป็นครูฝึกสอนได้อ่าน จะเกิด "แรงบันดาลใจ" ในการเป็น "ครูที่ดี"  รู้และตระหนักในภารกิจ และทำภารกิจด้วยจิตวิญญาณ...
 
ขอบคุณครับ

ความทรงจำนั้นไม่เคยลืมเลือนครับ คุณ Blank แผ่นดิน ;)...

คืนนี้ผมอยู่กับเด็ก ๆ ที่วิทยาเขตใหม่ นิทรรศการเราจัดเสร็จแล้วนะครับ พรุ่งนี้ถึงเวลาที่เขาและเธอจะได้จัดการประมวลความรู้กันแล้ว

อยากจะบอกว่า "กลุ่มนึงมีชื่ออาจารย์พนัส ปรีวาสนา" ด้วยนะครับ เดี๋ยวจะบันทึกภาพมาฝาก ;)...

ขอบคุณสำหรับน้ำใจที่มอบให้เสมอนะครับ

ไกลเพียงใด หัวใจก็ยังคงนำทางเสมอ

ด้วยความสัตย์จริงครับ อ.วัสWasawat Deemarn

พรุ่งนี้เช้าๆ ลงพื้นที่ บ่ายอัดรายการทีวีของมหาวิทยาลัย..
แต่เหนือสิ่งอื่นใด จะโทรสุ่มไปให้กำลังใจเด็กๆ นะครับ..

 

Surprise เช่นนั้น คือ สิ่งที่เด็ก ๆ รอคอย

เช้า ... นิทรรศการ

บ่าย ... เรื่องชีวิตในค่ายปัจจุบันและอนาคต

ขอบคุณมากครับ ;)...

  • อ่านแล้ว ก็ดีใจและสุขใจไปด้วยค่ะ
  • ชื่นชมและประทับใจในผลงานเสมอ
  • ขอให้มีชีวีที่มีสุขตลอดไปนะคะ
  • ขอบคุณค่ะ..^_^
  • ขอลงความเห็นว่า "เป็นบันทึกที่ดีที่สุด" หลังจากที่ได้อ่านแบบฝังลึกยิ่งขึ้น (Deeper Reading) 

  • ดี 1 เป็นบันทึกที่แสดงถึงการมีศักยภาพสูงของผู้เขียนในด้านทักษะการเขียน ทั้งการดำเนินเรื่องแบบร้อยเรียงให้ชวนติดตาม การใช้ภาษาที่ละเมียดละไม ประณีตบรรจงทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง อ่านแล้วได้ทั้งสุนทรีย์รสและอรรถรส

  • ดี 2 เป็น "เรื่องเล่า" ที่ "เร้าพลัง" ได้จริงๆ สามารถนำไปเป็นตัวอย่างของของการเขียน "เรื่องเล่าเร้าพลัง" ได้เป็นอย่างดี

  • ดี 3 เนื้อหา แสดงตัวอย่างที่ชัดเจน ที่สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดของขงจื๊อที่ว่า "I hear and I forge; I see and I remember; I do and I understand." 

  • และดี 4 เป็นบันทึกที่เป็นตัวอย่างที่ดีของกิจกรรมการผลิตครูที่พิถีพิถันในแนวจิตตปัญญาศึกษา ที่หน่วยงาน/ครูของครูควรเรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และนำไปเป็นแนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเตรียมครูคุณภาพสู่สังคม

  • ภูมิใจ ที่ "ลูกแผ่นดิน" ผลิตชิ้นงานคุณภาพสูงชิ้นนี้ และขอบคุณที่ทำให้อาจารย์แม่ได้รับการประเทืองปัญญาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้วิชา "จิตวิทยาสำหรับครู" เป็นภาคเรียนสุดท้าย ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ และหันหลังให้กับงานหลวงไปเป็นเกษตรกรเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่รอมานานถึง 8 ปี

จะแบ่งเวลาวันหยุดยาวนี้ ทบทวนตัวเอง....ขอบคุณมากค่ะ

อ.แผ่นดินคะ จินตนาการว่าเวลาอ่านกลอน "ทบทวนชีวิตในวันว่าง" พร้อมกัน คงทรงพลังจริง ๆ

หากมีโอกาส จะขออนุญาตอย่างไร จึงจะนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มนักสร้างเสริมสุขภาพ ได้บ้างคะ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท