ลักษณะคำภาษาสันสกฤต


เราทั้งเรียนทั้งท่องกันมานาน ในวิชาภาษาไทย ว่าลักษณะคำในภาษาสันสกฤตเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ก็หาครอบคลุมเนื้อหาไม่ อย่ากระนั้นเลย มาขมวดให้กระชับ และครอบคลุมเนื้อหากันดีกว่านะ...

ภาษาสันสกฤตก็เหมือนภาษาอื่นๆ ที่มีคำเป็นหน่วยย่อย และมีประโยคเป็นหน่วยใหญ่ แต่คำว่าประโยคในภาษาสันสกฤตดูเหมือนจะไม่มี เพราะโครงสร้างของภาษาไม่ตรงกับลักษณะของประโยคแบบที่เราคุ้นกัน แต่เรื่องของประโยคเราจะคุยกันในคราวหน้านะครับ

 

ชนิดของคำ

        คำ (โดยมากจะใช้ว่าศัพท์ หรือคำศัพท์) ในภาษาสันสกฤต ก็ไม่กำหนดไว้อีกแหละ ว่ามีกี่ชนิด นักไวยากรณ์ตะวันตกมักจะเทียบกับภาษากรีกหรือละติน แต่เพื่อไม่ให้เราต้องเรียนภาษาอังกฤษ หรือภาษากรีกละตินเพิ่ม ผมขอจำแนกในแบบที่เข้าใจง่ายๆ ก็แล้วกัน

        ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจนิดหนึ่งว่า คำหนึ่งๆ ในภาษาสันสกฤตนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงชนิด หรือหน้าที่ได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเสียง โดยเติมหน้า เติมหลังอะไรทำนองนั้นแหละ แต่โดยมากจะมาจากหน่วยเล็กๆ แล้วค่อยๆ สร้างขยายขึ้นไปเรื่อยๆ

        เอาล่ะ มาดูชนิดของคำที่แบ่งตามลักษณะการเปลี่ยนเสียง มี 2 ชนิดเท่านั้นเอง

        1. คำที่ไม่เปลี่ยนแปลงเสียงเมื่อนำไปใช้ หมายความว่า คำเหล่านี้ ไม่ต้องไปเพิ่มเติมเสียงอะไรอีก นำไปใช้ได้เลย ....  

        2. คำที่เปลี่ยนแปลงเสียงเมื่อนำไปใช้ หมายความว่า แม้จะมีคำนี้มาให้ แต่เมื่อจะนำไปใช้ในแต่ละประโยค ก็ต้องเพิ่มเติมเสียง ตามสภาพแวดล้อมต่างๆ

        รู้จักแค่นี้กันก่อน

 

        ทีนี้มาดูการแบ่งชนิดคำตามความหมายและหน้าที่ เพื่อจะได้เทียบเคียงกับคำในภาษาที่เราคุ้นเคย อาจแบ่งได้ดังนี้

        1. คำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ และกริยาที่ใช้เสมือนนาม

        เหล่านี้จัดไว้เป็นชนิดเดียวกัน เพราะมีการเปลี่ยนเสียงแบบเดียวกัน คือเปลี่ยนเสียงแบบนาม (มีทั้งหมด 24 แบบ แต่มีรูปที่ตรงกันบ้าง หักลบกลบหนี้เหลือราว 16-17 แบบ) แบบ เช่น ราชะ ราเชา ราชาะ ราชํ ราชานฺ นี่แตกออกมาจาก คำว่า ราช เพื่อนำไปใช้ในประโยค คำคุณศัพท์ก็เหมือนกัน  นอกจากนี้ยังมีกริยาย่อยจำพวกหนึ่งที่นำมาเปลี่ยนเสียงแล้วใช้เสมือนคำนาม ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้

        2. คำกริยาหลัก

        กริยานั้นซับซ้อนที่สุดแล้วในภาษาสันสกฤต โดยเฉพาะกริยาหลัก เทียบกับภาษาอังกฤษก็คือ finite นั่นแหละ เพราะวิธีการประกอบกริยานั้นมีหลายขั้นตอน และยังต้องแยกแยะตามประธาน และตามกาลอีก  เช่น กริยา “กฺฤ” แปลว่า ทำ เปลี่ยนเสียงได้เป็นร้อยแบบ ตัวอย่างเช่น กโรมิ แปลว่า ฉันทำ กุรฺมะ แปลว่า พวกเราทำ , กโรติ แปลว่า เขาทำ กุรฺวนฺติ แปลว่า พวกเขาทำ ฯลฯ

        3. คำกริยาย่อยชนิดเติมครั้งเดียว

        กริยาพวกนี้ซับซ้อนน้อยลงหน่อย เพราะเมื่อประกอบรูปแล้ว เติมเสียงตามชนิดของกริยา ก็ใช้ได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตามประธาน เอกพจน์ พหูพจน์ หรือกาลใดๆ แต่ก็ยังเยอะ ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคย เช่น กรฺตุมฺ แปลว่า เพื่อจะทำ มีรูปเดียว

        4. คำอุทาน คำที่ใช้เรียกขาน

        คำอุทาน และคำที่ใช้เรียกขานนั้นมีน้อย เช่น หลา (แปลว่า เพื่อน) หรือ โภะ แปลว่า ท่าน คำพวกนี้ บางทีก็มาจากนามนั่นแหละ แต่ใช้จนติดปาก กลายเป็นคำอุทานที่ไม่เปลี่ยนรูปไปเลย

        5. คำเชื่อม คำเติมต่างๆ

        คำพวกนี้เป็นคำสั้นๆ เช่น จ (แปลว่า และ) ตุ (แปลว่า แต่), อิติ (แปลว่า ว่า หรือ นี้) หรือคำที่เราอาจจะเคยได้ยินที่เขาเรียกว่า อุปสรรค ปัจจัย อะไรพวกนั้น

 

เสียงของคำ

        ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาที่เขียนตามเสียง เราอาจศึกษาเรื่องเสียงจากการเขียนได้เลย ส่วนนี้เองที่เราเรียนกันในวิชาภาษาไทย ว่าภาษาสันสกฤตมีลักษณะอย่างไร

        ตามมาดูกันเลย

        1. เสียงสระ

        สระในภาษาสันสกฤตมี 3 ระดับ คือ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง ดังนี้

 

               สระระดับต้น ได้แก่ อะ อา อิ อี อุ อู ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ

               สระระดับกลาง ได้แก่ เอ โอ

               สระระดับสูง ได้แก่ ไอ เอา

 

        ศัพท์ที่ใช้สระระดับต้น เช่น มนสฺ, ฤษิ, วิจิตฺร คำเหล่านี้ใช้สระอะ สระอิ สระฤ

        โดยมาก ศัพท์ทั่วไป จะใช้สระระดับต้น แต่คำที่เกิดจากการสมาส หรือสร้างคำใหม่จากศัพท์เดิม จะใช้สระระดับกลางและสูง ตามกฎการเปลี่ยนเสียง (แต่ไม่ได้หมายความว่าศัพท์พื้นฐานจะใช้สระระดับต้นเสมอไป)

        เช่น มนสฺ สมาสกับ  อรฺถ = มโนรถ นี่ใช้สระระดับกลางแล้ว  หรือ เปารุษ มาจากศัพท์ ปุรุษ ก็เปลี่ยนเสียงจากสระระดับต้น (อุ) กระโดดไประดับสูง (เอา) เลย แบบนี้ก็มี

        สระในภาษาสันสกฤตนั้น มีได้ตั้งแต่ขึ้นต้นพยางค์ (เช่น อรฺถ, อิว ฤษิ) กลางพยางค์ (วฺฤกฺษ, ธรฺม) หรือท้ายพยางค์ (นร, ไค, เนา, กฺฤ)

        คำศัพท์โดยทั่วไปเป็นคำ 1-2 พยางค์ คำที่ยาวมากกว่านี้ มักมาจากการสมาส หรือจากการสร้างคำด้วยการเติมเสียง เช่น อินฺทฺรชิต มาจาก อินฺทฺร + ชิต, อากาศ มาจาก อา+กาศ

 

        2. เสียงพยัญชนะ

        เสียงพยัญชนะในภาษาสันสกฤตนั้น ผมได้เล่ามาบ้างแล้ว ไม่เล่าดีกว่า แต่จะบอกลักษณะของเสียงพยัญชนะในคำสันสกฤต มีอย่างนี้

        คำควบ ในภาษาสันสกฤตไม่เรียกคำควบอีกนั่นแหละ (เขาเรียกอะไรก็นึกไม่ออก หรือว่าเขาจะไม่ได้เรียก เพราะตำราไวยากรณ์สันสกฤตไม่ค่อยจะนิยมศัพท์อะไรพวกนี้) คำพวกนี้มีทั้งที่อยู่หน้าสระ เช่น พฺรู, ปฺรกาศ, ศฺรี หรือตามหลังสระก็มี เช่น ศาสฺตฺร, อินฺทฺร ศตฺรุ

        แต่มีข้อกำหนดชัดเจนว่า ศัพท์ในภาษาสันสกฤต เสียงท้ายคำจะเป็นเสียงควบไม่ได้ ดังนั้น หากมีหลักไวยากรณ์ใดๆ ที่ต้องเติมเสียงท้ายอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็ต้องเหลือพยัญชนะตัวเดียว เช่น พลภิทฺ เมื่อแจกเป็นประธาน เอกพจน์ จะต้องเติมเสียง สฺ เป็น พลภิทฺสฺ (สนธิแล้วเป็น ภิตฺสฺ) แต่เสียงท้ายสองเสียงไม่ได้ ต้องตัดตัวท้ายทิ้งไป เป็น พลภิตฺ แบบนี้แล

 

        3. เสียงเน้น

        เสียงเน้น หรือ accent นั้นเคยมีในภาษาสันสกฤตสมัยพระเวท สมัยหลังไม่มีแล้ว แต่ก็ยังมีใช้ในตำราไวยากรณ์ เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลง (เช่น คำที่มีเสียงเน้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างจากคำที่ไม่เน้น และคำที่ไม่เน้นเสียง ไม่สามารถขึ้นต้นประโยคได้ เป็นต้น) นับว่าโชคดีสำหรับนักเรียนสันสกฤตรุ่นหลังที่ไม่ต้องท่องส่วนนี้ (แต่ก็ต้องรู้อยู่ดี หากจะศึกษาไวยากรณ์ให้ลึกซึ้ง)

 

        เอาเป็นว่า วันนี้เราได้รู้จักลักษณะคำในภาษาสันสกฤตไปเรียบร้อยแล้ว ไว้คราวหน้าจะเล่าถึงลักษณะประโยคในภาษาสันสกฤตต่อครับ...

หมายเลขบันทึก: 489303เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาจารย์หมูคะ พอจะทราบชื่อเวปหรือมนต์ฮินดูที่เป็นอักษรโรมันระบบ IAST ไหมคะ หนูหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ เข้าไปดูใน sanskritdocument ก็เปิดไม่ได้

แต่กลับเห็นสันสกฤตโรมันระบบนี้ไปโผล่ในพระสูตรหรือบทมนต์ทางมหายานเพียบเลยคะ แต่ของฮินดูไม่ยักกะมี ส่วนใหญ่เป็นเทวนาครีหมด เซงจริงๆ...

มาให้กำลังใจค่ะ แต่บอกตรงๆเรื่องภาษานี่เป็นอะไรที่ ไม่เข้าสมอง เลย

คุณ Blank คุณ ศรี บรมอีศวรี

ระบบไหนก็ต้องใช้ให้ได้ครับ อย่าเพิ่งเหนื่อย ;)

เทวนาครีและโรมันเดิม สวยงาม และคุ้นเคยกันมากกว่า

อักษรแบบนี้จึงแพร่หลายมากกว่าครับ

 

คุณBlank ชลัญธร

ขอบคุณมากครับ ไม่ค่อยสนใจภาษา แต่อุตส่าห์มาให้กำลังใจ ;)

อ่านๆ ไป อาจจะสนุกก็ได้นะ

 

ताण्डव - tāṇḍava - ตาณฺฑว อาจารย์คะคำนี้ออกเสียงว่า ตานดะวะ ถูกต้องไหมคะ

ถูกต้องครับ อ่านว่า ตานดะวะ ประมาณนี้แหละครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท