KM ผู้นำค่าย : "ที่นี่มีอะไร..." (การเรียนรู้บนฐานคิด "..ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า..และความรู้")


ปลุกเร้าและหนุนเสริมพลังใจให้นิสิตได้ก้าวออกไปเรียนรู้ชุมชนอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดการเติบโตเล็กๆ ในตัวเอง และกระตุ้นให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าของตัวเอง ทบทวนตัวเอง และนำพาองค์ความรู้ต่างๆ มาแบ่งปัน หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนกับนิสิต

ช่วงปิดเรียนภาคฤดูร้อนของทุกปี ชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มักจะออกค่ายอาสาพัฒนาไม่น้อยกว่า 20-30 ค่าย มีทั้งที่เป็นค่ายสร้าง-ค่ายสอน-ค่ายเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วค่ายแต่ละค่ายล้วนตะกายฝันหางบประมาณมาดำเนินการด้วยตนเอง

เช่นเดียวกันนี้ ก่อนการออกค่าย กองกิจการนิสิต ก็จะนำพาแกนนำชมรมต่างๆ มาใช้ชีวิตอยู่นอกพื้นที่ร่วมกัน กินนอนร่วมกัน ทำกิจกรรมเพื่อ “ติดอาวุธทางปัญญา” ร่วมกัน –โสเหล่ร่วมกัน ซึ่งเราเรียกกิจกรรมนี้ว่า “การจัดการความรู้สู่ผู้นำองค์กรนิสิต” หรือที่ผมเรียกทั่วไปว่า “KMผู้นำค่าย

 

โครงการดังกล่าว  มีวัตถุประสงค์หลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ก็คือการปลุกเร้าและหนุนเสริมพลังใจให้นิสิตได้ก้าวออกไปเรียนรู้ชุมชนอย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดการเติบโตเล็กๆ ในตัวเอง และกระตุ้นให้ชุมชนได้เห็นคุณค่าของตัวเอง ทบทวนตัวเอง และนำพาองค์ความรู้ต่างๆ มาแบ่งปัน หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนกับนิสิต

โดยหลักการ  ผมมุ่งเน้นกระบวนการ “การจัดการความรักก่อนการจัดการความรู้เสมอ”  กล่าวคือ ผมให้ความสำคัญกับกระบวนการของการเสริมพลังบวกให้นิสิตมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง (มองเห็นคุณค่า ศักดิ์ภาพและเกียรติภูมิของตนเอง) อันหมายถึงรู้ตัวตนตนเอง รู้พื้นเพ- พื้นฐานและรากเหง้าตนเอง ทั้งในมิติของบ้านเกิดเมืองนอน ความเป็นมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่การเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ของ “สังคม” (พลเมือง) รวมถึงการรู้จักการเปิดใจรับต่อเพื่อนร่วมงาน...

ซึ่งทั้งปวงนั้น  ผมพยายาม “ทำไปเรียนรู้ไปอย่างไม่หยุดนิ่ง” ...พยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทดลองและถอดบทเรียนผ่านเวทีต่างๆ ให้ถี่ครั้ง  ตลอดจนผลักดันเจ้าหน้าที่ หรือลูกทีมได้ลุกขึ้นมาเป็นวิทยากรกระบวนการด้วยตนเอง-

 

 

ในการปฐมนิเทศ หรือโสเหล่ KM ค่ายครั้งล่าสุด ทีมงานได้หยิบจับกระบวนการเดิมๆ มาใช้อีกครั้ง นั่นก็คือ “ที่นี่มีอะไร...” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถูกปั้นแต่งขึ้นบนฐานคิดสำคัญๆ คือ “...ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้...”

ครับ-แทนที่ทีมกระบวนการจะบรรยาย “ทฤษฎี” การเรียนรู้ “บริบทชุมชน”  เป็นแกนหลัก  แต่กลับเน้นที่จะโปรยหว่านแรงบันดาลใจแบบหลวมๆ และกว้างๆ เสร็จจากนั้นก็ปล่อยให้นิสิตได้เดินทอดน่องไปสู่การเรียนรู้ในชุมชนจำลองอันเป็นสถานที่สัมมนานั่นเลย โดยบอกเล่ากรอบแนวคิดแบบปลายเปิดเก๋ๆ “ที่นี่มีอะไร...”

 

 

กิจกรรมดังกล่าว  ฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้สภาพทั่วไปของชุมชน ทั้งในมิติ “กายภาพและชีวภาพ”  สะท้อนให้นิสิตได้เรียนรู้  “องค์ประกอบ-โครงสร้าง” ของชุมชนนั้นๆ เป็นการฝึกทักษะและเทคนิคการเรียนรู้ชุมชนก่อนการเรียนรู้จริงที่จะมีขึ้นในแต่ละค่าย...

กระบวนการเช่นนี้ช่วยให้แกนนำค่ายแต่ละชมรมได้เรียนรู้ร่วมกัน ฝึกการเก็บข้อมูล ฝึกการจัดกระทำด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์กับข้อมูล ฝึกการนำข้อมูล/ความรู้ที่ได้มาแปรรูปเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ พร้อมๆ กับการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน”

แน่นอนครับ-กระบวนการที่ว่านี้  เราเน้นให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตนเอง เน้นย้ำให้นิสิตเรียนรู้ผ่าน “ปากคำประวัติศาสตร์ของคนต้นเรื่อง” ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น มากกว่าการรั้งรอศึกษาผ่านเอกสารสำเร็จรูปที่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้รวบรวมและจัดกระทำไว้แล้ว...

สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อเหลือเกินว่านิสิต หรือแกนนำค่ายอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัยฯ  จะเกิดมิติการมองเชิงระบบได้มากขึ้น  เข้าใจกระบวนการ หรือเทคนิคของการเรียนรู้ชุมชนแบบเป็นธรรมชาติๆ ในยามที่ออกค่ายจริง จะได้ไม่จมจ่อมอยู่กับแต่เฉพาะงานหลัก หากแต่จะก่อให้เกิดการเดินเท้าเข้าหมู่บ้านเพื่อศึกษาเรียนรู้ “วิถีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ไปในตัว

 

ครับ-กระบวนการเช่นนี้ ยังหมายถึงการสื่อให้เหล่าบรรดาผู้นำค่ายฯ ได้ตระหนักว่า เมื่อไปถึงชุมชนแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะนำพาให้ “ผู้นำหมู่บ้าน” ได้มีเวทีในการบอกเล่า “ตัวตนชุมชน” ให้นิสิตและลูกหลานของชุมชนได้ฟังร่วมกัน  โดยเฉพาะนิสิตที่มาในฐานะ “คนนอก” (ผู้มาเยือน) จะได้เข้าใจบริบทเบื้องต้นของชุมชน นำพาไปสู่การประพฤติและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม หรือแม้แต่การนำพาข้อมูลเหล่านั้นมาจัด “บูรณาการ” ให้เกิดเป็นกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันในค่ายนั้นไปในตัว

 

ครับ นี่คือกระบวนการเล็กๆ ใน “สไตล์” ของผมและทีมงานที่มักเน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง  อันหมายถึง ลงมือทำไปก่อนแล้วค่อยถอดบทเรียนกลับไปสู่ภาคทฤษฎี

และเมื่อเหล่าแกนนำกลับไปยังชมรมในสังกัด เพื่อสัญจรออกไปทำค่าย ทีมงานของมหาวิทยาลัยก็จะได้สัญจรไปเยี่ยมเยียน พร้อมๆ กับการไถ่ถามถึงการนำกระบวนการเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติจริงในค่ายว่า "นำไปใช้ได้ผลหรือไม่..หรือไม่ได้นำไปใช้เลย...."

เพราะกระบวนการที่นำมาให้นิสิตได้ทดลองเรียนรู้นั้น คือกลไก หรือเครื่องมืออันดับต้นๆ ที่จะช่วยให้นิสิตประสบความสำเร็จกับการจัดค่ายอาสาพัฒนา และการเรียนรู้ชุมชนในแบบ "ค่ายบูรณาการ" ที่มหาวิทยาลัยได้มุ่งเน้นนั่นเอง

 

..
KM ผู้นำค่าย
2-3 มีนาคม 2555
เฮือนสวนตุ้มโฮมรีสอร์ท-นาดูน
มหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 481233เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2012 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 04:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • ทั้งเตรียม ทั้งติดตาม เรียนรู้ด้วยการคิดเองทำเอง เพื่อประสิทธิผลในการออกค่ายของนิสิต..
  • ขอบคุณความรู้ครับอาจารย์

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

หายไปนานนะคะ

"ค่ายบูรณาการ"  เรียนรู้ชมชุนบูรณาการ  สู่เติบใหญ่.....ชีวิตทำงานบูรณาการ

ลูกศิษย์อาจารย์  เป็นสมาชิกที่สังคมไทยกำลังต้องการ

ขอบคุณนะคะ

เห็นแล้วมีความสุข ได้ครบทั้งการเรียนรู้และการทำงานเพื่อสังคม ขอบคุณมากๆครับ

ตามที่ผมได้ติดตามเรื่องพัฒนาการในการเรียนการสอน ในอนาคตการทำค่ายเช่นนี้จะเป็น "การเรียนหลัก" ของการศึกษาในระบบ ส่วนการเรียนที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นจะเป็นเรื่อง "ใครๆ ก็ทำได้ที่บ้านเมื่อไหร่ก็ได้" ครับ เราอาจจะไม่มีใบปริญญาสำหรับการเรียนอย่างปัจจุบันแต่มีใบปริญญากับการทำกิจกรรมด้วยซ้ำครับ ผมไม่ได้พูดเล่นนะครับ

แต่คงอีกนานกว่าแนวคิดนี้จะถึงเมืองไทย เพราะในต่างประเทศ "flipped classroom" ก็ยังตั้งไข่อยู่เลยครับ

อืมม... ที่จริงแล้วทำไมเราต้องรอต่างประเทศ เรามีความพร้อมในการเริ่มต้น "flipped classroom" อยู่แล้วมากมาย นึกอีกทีจากประสบการณ์ที่ผมเห็นในมหาวิทยาลัยต่างประเทศมา ผมเชื่อว่าไทยมีความพร้อมมากกว่าต่างประเทศด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้เรื่องยาวครับ ค่อยๆ คิดกันไปทีละขั้นดีกว่าครับ ตอนนี้กระแส 21st century skills เริ่มเข้ามาในบ้านเรา หน่วยงานทางการศึกษาก็เริ่มเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น

คิดดูเล่นๆ ....

"Rediscovering Thailand's Flipped Classrooms: An Exploratory Study of Social Activities as Learning Supplimentaries in the Thailand Educational System"

หัวข้อนี้ผมว่าเป็นหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ได้สบายๆ เลยครับ เรื่องนี้น่าสนุกครับ มีประเด็นน่าคิดได้อีกเยอะเลยครับ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน
  • ยังคงเข้มแข็ง ขยันเหมือนเดิมนะคะ
  •  ขอให้ประสบความสุข สงบตลอดไปค่ะ

สวัสดีครับ อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

กิจกรรมที่เกิดขึ้น ฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้บริบทของชุมชน และเขียนความเป็นชุมชนในลักษณะของ "แผนผังความคิด" และ "แผนผังชุมชน" ไปในตัว...

การออกค่ายในแต่ละครั้ง จะปลุกเร้าให้นิสิตเขียน "เรื่องเล่าเร้าพลัง" และการ "ประกวดภาพถ่ายคนชาวค่าย" พอเปิดเรียนก็จะมีกิจกรรม "ลมหายใจปัญญาชนคนชาวค่าย" โดยให้แต่ละชมรมมาแสดงผลงาน แลกเปลี่ยนเรื่องราวร่วมกัน ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าจัดกระบวนการครบวงจรของมันเอง...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ อ.ธิรัมภา

ผมหายไปนานเลยครับ แต่ยังคงรู้และตระหนักว่าที่นี่คือบ้านที่ช่วยให้ผมเรียนรู้และเติบโตมาจนบัดนี้...

ผมให้ความสำคัญกับกิจกรรมค่ายในช่วงปิดเรียนมาก เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงที่ท้าทายต่อการเติบโตของนิสิต งานค่ายช่วยให้นิสิตได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีม ได้ฝึกทักษะของการวางแผนและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกการประสานงานกับชุมชน ฝึกการเรียนรู้บริบทของชุมชน อันเป็นคลังความรู้ หรือแม้แต่เป็นกระบวนการของการสะกิดเตือนให้นิสิตหวนกลับไปคิดถึงเรื่องราวชุมชนบ้านเกิดของตัวเองไปในตัว...

และที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ กิจกรรมเหล่านี้ ช่วยปลูกฝังเรื่อง "จิตสำนึกสาธารณะ" ได้เป็นอย่างดี เป็นการเรียนรู้เรื่อง "หน้าที่พลเมือง" ไปในตัว

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีอาจารย์แผ่นดิน ฝึกประสานงานกับชุมชน จบออกมาจะทำงานสัมพันธ์กับชุมชนได้ดี

คือการเรียนรู้ชุมชน

ด.ช.แผ่นดิน (ตัวจริง)

ค่ายแต่ละค่ายสนุกมากครับ แต่ละค่ายสร้างประโยชน์แก่ชุมชนมาก

to ดร.ธวัชชัย

  • ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ฯ ครับ และเริ่มเห็นเงาลางๆ จากแนวคิด จากกระแส "21st century skills" ในบ้านเราบ้างแล้ว จากตัวอย่างหลายๆ แห่ง ตามที่ท่าน อจ.หมอวิจารณ์ ได้ชี้ให้เห็นมา 2-3 ปีที่ผ่านมา
  • มหาวิทยาลัย(ชื่อดัง) จากต่างประเทศ ก็เริ่มหันกลับมามอง "แนวคิดตะวันออก" มากขึ้น ฉะนั้น บางอย่าง เราอาจมีดีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับการ เสาะหา มา เผยแพร่ ให้สังคม หรือโดยเฉพาะแวดวงการศึกษา มากเท่าที่ควรจะเป็น

นับถือๆ

อ่านแล้วนึกถึงตัวเอง

สมัยก่อนอาจารย์ให้ไปฝึกภาคปฏิบัติที่ รพ.อำเภอไกล๊ ไกล

กันดารมาก   ไม่บอกอะไรเราเลย

อย่างน้อยน่าจะบอกว่า  "ที่นี่มีอะไรดี..." ให้เราค้นคว้าเอง

ให้เราฝึกไปศึกษาวิถีชีวิตชุมชนเอาเอง เรียนรู้เอง

พอมาเดี๋ยวนี้ถึงรู้ว่า

นั่นแหละเป็นวิธีการสอนที่ดี

ที่เราสามารถเอามาใช้ในชีวิตจริงได้อย่างดี

  • "เพราะไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า" นี่คือประโยคที่เป็นโจทย์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ในเรื่องราวเล็กๆ ครับ เพราะจากการที่ทีมงานเราได้ใช้แนวทางการเรียนรู้จากพื้นที่ที่เราเหยียบยืนอยู่นั้น นอกจากการได้เรียนรู้ของเราเองที่ได้รู้ว่าที่นี่ มีอะไร เป็นอย่างไร และมาแบบไหนแล้ว สิ่งที่เป็นการจัดการคววามรู้ที่สำคัญที่สุดคือ การชำระประวัติศาสตร์ และฟื้นคืนความทรงจำให้จำชุมชน หรือแม้กระทั่งจากการนำไปใช้จริงแล้วบางครั้งเพียงกระบวนการเล็กๆที่เราได้เรียนรู้นี้ กลับสร้างคุณค่าของคนในชุมชนบางคนให้กลายเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่พลิกความรู้สึกตัวเองให้มีชีวิตชีวาขึ้นได้อีกด้วยครับ
  • การปฐมนิเทศค่ายครั้งนี้ ผมมองว่าเราไม่ได้เน้นที่การบอกให้ทำ นำความคิด แต่เราเน้นที่กระบวนการ "ลงมือทำ ย้ำให้ดู และอยู่เป็นเพื่อน" ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำค่ายก่อนที่เขาจะเผชิญหน้ากับการใช้ชีวิตในสถานที่จริง และแก้ปัญหาจริง เรียนรู้ประสบการณ์จริงครับ...
  • ขอขอบคุณพี่พนัส (แผ่นดิน) ที่วางพื้นฐานให้เราได้เห็นความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง และพลังของเรื่องราวและบรรยากาศการเรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา(สาระบนความไร้สาระ อิสระที่มีแบบแผน) ครับ...

สวัสดีคะอาจารย์แผ่นดิน ขอบคุณมากนะคะที่เข้ามาเยี่ยมพี่สุคะ พี่สุเห็นอาจารย์มาเยี่ยมก็หลายครั้งแล้ว  แต่ไม่ได้เยี่ยมตอบซักที ไม่ได้ลืมนะคะ เห็นมาเยี่ยมทุกครั้ง แต่ไม่ตอบ ครั้งนี้ พอปลีกเวลาได้บ้างคะ และขอบคุณที่แสดงความคิดเห็นว่า ตัวเราเป็นหมอประจำตัวที่สำคัญที่สุด ถูกต้องคะ เพราะตัวของเราเท่านั้นจะรู้ว่าเราทำอะไรลงไป และผลจากการกระทำ ทำให้ตนเองไม่สบาย ทานยาไม่ปรึกษาแพทย์ ด้วยอยากหายเร็ว ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือหาสาเหตุของการเกิด และพี่สุคิดว่า ภูมิปัญญา สมุนไพร ผักปลอดสารพิษ ธรรมชาติบำบัด ทุกอย่างของธรรมชาติ ถ้าเรารู้ เราก็ไม่ต้องพึ่งหมอ ในสิ่งที่เราพอแก้ไขได้ เช่น ไอ แต่ถ้าไอจนเลือดออก หรือไอนาน เราจำเป็นต้องพึ่งหมอ อาศัยธรรมชาติคงไม่ทันการ หรืออาจสายไปเสียแล้ว  คงต้องไปหาหมอหละคะ พี่สุไม่ประมาท แต่คิดว่า พอรักษาตัวได้ถ้าเปลี่ยนพฤติกรรม  เช่นเดียวกัน ถ้าพี่น้องเรา รู้จักใช้ภูมิปัญญาตนเอง ภูมิปัญญาชาวบ้าน รู้จักใช้สมุนไพรเป็นยา รู้จักใช้ปุ๋ยชีวภาพทำเอง หรือขี้หมู ขี้หมา ขี้วัว ขี้ควาย มาใส่พืช ผักปลอดสารพิษ รับรองว่า จะไม่มีคนป่วยอาการหนัก ไม่ตายเร็ว แลถ้าหวนคืนย้อนหลัง พ่อแม่เราเก่งนะคะ และอายุยืนด้วย พี่สุกลัวภูมิปัญญาจะหายไป ก็ดีแล้วคะ ที่พากันหันกลับมาศึกษาภูมิปัญญาในอดีตที่ดีดีคะ

    หลายบทความ พี่สุอ่านมา ขอเม้นบทความนี้นะคะ พี่สุขอชมเชยในความคิดที่ ให้นักศึกษา หา KM แบบใช้การกิจกรรมข้าค่าย  เข้าไปหาข้อมูลของชุมชน ซึ่งในชุมชนนั้นย่อมมีจุดแข็งจุดอ่อน เมื่อนักศึกษาพบของจริง ซึ่งในแต่ละชุมชนมันต่างกันแล้วนำมาถกมาแก้ปัญหา หรือมาช่วยกันคิด เป็นการฝึกทักษะและเรียนรู้วิถีชีวิตแบบจังๆๆ ดีกว่าไปอ่านหนังสือแล้วก็จินตนาการตามไป แต่ไปแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่ได้เจอของจริง แล้วบูรณาการไม่ได้ พี่สุว่า ต้องสอนนักศึกษาแบบนี้แหละคะ ได้เห็น ได้คิด ได้บูรณาการ แก้ไขปัญหา ถ้าหากเป็นท้องถิ่นตนเอง จะได้คิด เรามีอะไรดี ขอบคุณคะ สวัสดีคะ

หวัดดีครับ พี่พนัส อบรมครั้งเมื่อกี้ ชมรมสานฝันได้ส่งตัวแทนน้องผู้หญิงไป 2 คน เค้าก็เล่าให้ฟังว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ นำไปประยุกต์ใช้กับค่ายที่พวกผมไปทำอยู่ที่หนองบัวฯ(สร้างฝาย)ผลลัพธ์ออกมาเกือบร้อย % ขาดอยู่นิดเดียว คือเรื่องชุมชนครับ แน่นอนว่า กิจกรรมที่ร่วมกับชุมชน กิจกรรม พ่อฮัก แม่ฮัก ผมยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องและพยายามพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่อุปสรรค์ คือ ผู้นำหมู่บ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน)ค่อนข้างที่จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ(กระแส เสียงพูดเดียวกับ ของน้องๆและพ่อฮัก แม่ฮักหลายๆคน) แกเฉยชามากครับ พยายามติดต่อ พยายามเข้าไปคุย แกก็เหมือนจะไม่ให้ความร่วมมือ ต่ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมากครับ ทั้งอาหารที่อยู่ ที่กิน และที่อยู่อาศัยเป็นต้น ที่ขาดคือการประสานงานระหว่างชาวบ้าน กับชาวค่าย ซึ่งต้องอาศัยตัวกลางคือผู้ใหญ่บ้าน การทำฝาย ตลอดทั้งค่าย พวกผมจึงทำเฉพาะกลุ่มนิสิต และมีเจ้าหน้าที่ที่ทำเกี่ยวกับฝาย 3-4 ท่านมาช่วยครับ......... สิ่งที่ยังคมดีใจและอบอุ่นใจเหมือนเดิมก็คือ ความรัก ความหวงแหนที่ชาวบ้านมอบให้ในวันกลับก็ยังคงปรากฏอยู่เหมือนเดิมครับ . . .....ย้อนกลับไป เมื่อปีที่แล้ว ที่พี่ๆจัดอบรม(น่าจะเป็นครั้งแรก)ที่จังหวัดกาฬสินธ์(ที่สร้างหนัง ครูบ้านนอก) ผมได้มีโอกาศไปเข้าร่วมกับน้องผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ตอนนั้น ค่ายที่ทำคือ ทำแนวป้องกันไฟป่า ที่จ.ชัยภูมิ ผมพยายามนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อย่างเต็มที่ แต่เสียดายที่ สถานที่จัดกิจกรรม กลับอยู่บนภูเขา ไม่มีหมู่บ้าน จึงขาดองค์ประกอบที่สำคัญไปครับ............................ .....ค่ายตุลาคม ปี 54(ที่บุรีรัมย์) ผมได้มีโอกาศจัดค่ายอีกครับ ซึงกลุ่มเป้าหมายหลักคือ น้อง ปี1 ค่ายนี้ผมยังยึดหลักการ ที่เข้าร่วมอบรมกับพี่ๆที่กาฬสินธ์ "บวร" (บ้าน วัด ราชการ) ค่ายนี้ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากเลยครับ ว่าเป็น "ค่ายที่สมบูรณ์แบบที่สุด" ถึงแม้ต้นไม้ที่ปลูกจะไม่เติบโตทุกต้น ต้นไม่ที่เอาผ้าเหลืองไปผูกจะรอดจากน้ำมือของชาวบ้านทุกต้น แต่ที่ภูมใจที่สุดคือ ความผูกพันธ์/ความสัมพันธ์/ความรัก ความอบอุ่น จากชาวบ้านที่มอบให้พวกเรา ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางไปถึง ชาวบ้านก็มาต้อนรับแล้รอที่จะจูงแขน "ลูกฮัก" ของตัวเอง กลับไป อาบน้ำและ(บังคับ)กินข้าวที่บ้านด้วย...........ส่วนองค์ประกอบที่ 2 (วัด) ตอนนั้น ตรงกับวันออกพรรษาพอดี ผมและน้องๆได้มีโอกาศทำกับข้าว(ทั้งของตัวเอง และช่วยพ่อ/แม่)และได้ไปทำบุญร่วมกับท่านในตอนเช้าๆ ซึงเป็นโอกาสที่ดีที่พวกเรา และน้องๆหลายๆคนที่ไม่เคยได้เข้าไปทำบุญที่วัดเลยหรือไม่ค่อยได้ทำบุญ....วันนี้พวกเราได้ร่วมกันทำบุญและเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากแถวๆบ้านของเราอีกด้วยครับ.......... ...องค์ประกอบสุดท้าย(ราชการ)....พวกเราได้รับความร่วมมือจากค่ายทะหาร(จำช่อไม่ได้แล้วครับ)มาร่วมกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นพิธีเปิด/ปิด การปูกป่า/บวชป่า สิ่งที่น่าภาคภูมิใจกว่านั้นคือเค้ามีโครการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติอยู่ เราจึกได้เข้าร่วมกับเข้าพอดีเลยครับ........................

...ที่จริงผมก็อยากมีบร็อคอย่านี้อยู่น่ะครับ แต่เสียดาย สมัครที่ไรก็ไม่ได้ซักทีครับ.....................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท