คนไทย การศึกษา กับประชาคมอาเซียน


คุณภาพคนของแต่ละประเทศมาจากระบบการศึกษา การจัดการศึกษาสำคัญ อาชีพครูจึงยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นงานสร้างคน

พิษณุโลกจะเป็นทางผ่านสำคัญเมืองหนึ่ง ของการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีผลจริงจังในปี 2558 รัฐมนตรีว่าการศธ.มีนโยบายให้โรงเรียนฝึกพูดภาษาอังกฤษสัปดาห์ละหนึ่งวัน เริ่มตั้งแต่ปีใหม่หรือเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิด บางคนทำนายว่า คนไทยจะตกงานมากขึ้น อันเนื่องมาจากฝีมือแรงงาน ภาษา หรือคุณภาพคนสู้เขาไม่ได้ นึกมาถึงตรงนี้ ก็น่ากังวลอยู่เหมือนกันไม่ใช่หรือ?

คุณภาพคนของแต่ละประเทศมาจากระบบการศึกษา การจัดการศึกษาสำคัญ อาชีพครูจึงยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นงานสร้างคน แต่อย่างที่หลายคนรู้ การศึกษาบ้านเรามีปัญหานานัปการ แถมดูเหมือนจะแก้ไม่ตก การแก้ปัญหาวนไปเวียนมาไม่ไปไหนสักที การปฏิรูปการศึกษาครั้งแรก บางคนวิพากษ์ เรามุ่งแต่แก้โครงสร้าง จัดกระบวนทัพ หรือองค์กรใหม่ มีสำนักงานใหม่ ตำแหน่งใหม่ และแล้วยังไม่ทันลงตัวดี เราก็ย้อนกลับไปหาโครงสร้างเดิม ที่เราเคยบอกว่าไม่ดี ใช้ไม่ได้ เป็นอุปสรรค

การปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 ยังไม่รู้จะเป็นในทิศทางใด ที่ป่าวประกาศจะแก้หรือเปลี่ยนแปลงวิธีเรียน-วิธีสอน โดยเน้นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้มากขึ้น แต่จนวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมนัก อันที่จริงเรื่องนี้พูดมาตั้งแต่ปฏิรูปครั้งแรกแล้ว “นักเรียนต้องเป็นสำคัญ” หรือจะอีหรอบเดิมอีก หมายถึง อีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้า เราก็จะยังพร่ำด้วยถ้อยคำเหล่านี้ “นักเรียนเป็นสำคัญ เน้นทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น”

สิงคโปร์เป็นประเทศในอาเซียนที่การจัดการศึกษาประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง อันดับจากการวัดประเมินในระดับนานาชาติเขาอยู่ต้นๆ หลักคิดเขาคือ “สอนให้น้อย เรียนให้มาก” การจัดการเรียนรู้ต้องเน้นให้เด็กเรียนรู้เอง ลงมือทำเอง ครูลดการบอกหรืออธิบายลง ทั้งนี้เพื่อพัฒนาความคิดและทักษะชีวิต สร้างและใช้อุปกรณ์จับปลาให้เป็น ครูจับปลามาเคี้ยวมาป้อนต้องให้น้อย เพื่อนคนหนึ่งเล่า การเรียนของนักเรียนสิงคโปร์ เน้นให้คิด ให้ทำ ให้ขายได้ ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างไรให้น่าสนใจ ฯลฯ นอกจากสิงคโปร์จะจริงจังกับการจัดการศึกษาแล้ว อีกหลายประเทศในอาเซียนก็ได้พัฒนาการจัดการศึกษาของเขาเป็นอย่างมากเช่นกัน อาทิ มาเลเซีย หรือเวียดนามที่กำลังกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของประเทศไทยเรา

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสาร จึงเป็นที่จับตาของทุกฝ่าย เราภูมิใจที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นใคร พร้อมๆกับยอมรับกันว่า คนบ้านเราอ่อนภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะทักษะการพูด การฟัง โรงเรียนจึงระดมเจ้าของภาษาหรือคนต่างชาติเข้ามาสอน จนเป็นเรื่องฮิตของโรงเรียนไป ค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนต่างต้องหาหรือจัดเตรียม แต่ละปีไม่ใช่น้อย ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ได้จากที่ไหน ก็เงินเรียกเก็บจากผู้ปกครองนั่นเอง ณ ที่นี่ ขอเว้นที่จะกล่าวถึงสารพันปัญหาจากการณ์นี้ สรุปเป็นว่า “เรื่องอินเทรนด์ดังกล่าวนั้น ก็ดีกว่าไม่ได้ทำ หรือไม่ได้เตรียมอะไรไว้เสียเลย”

อย่าเฝ้าโทษแต่ครู ว่าสอนยังไงเด็กพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ สาเหตุมีมากมาย หลายโรงเรียนครูสอนภาษาอังกฤษไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษ หลายโรงเรียน บางคราว การเรียนการสอนก็ไม่ใช่หัวใจของโรงเรียนอย่างที่อวดอ้าง ฯลฯ ดังนั้นพูดภาษาอังกฤษสัปดาห์ละวัน คงไม่มีผลอะไรมากนัก แต่เมื่อคิดในเชิงบวกแล้ว ก็ได้คำตอบเดิม “ดีกว่าไม่ทำอะไร”

โรงเรียนเข้าสู่มาตรฐานสากลหรือworld class ที่เดินหน้าอยู่ทุกวันนี้เป็นความหวังได้หรือยัง เอาแค่การจ้างครูต่างชาติ หลายชาติที่สอนอยู่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ยิ่งจะให้ได้คนที่จบตรงสาขาวิชาด้วยยิ่งยากเข้าไปใหญ่ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจ่ายกันแพงหูฉี่ แล้วการที่จะให้ครูไทยเรา อาทิ ครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ บรรยายเป็นภาษาอังกฤษล่ะ จะเป็นได้จริงหรือ? ผู้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้แสดงทัศนะไว้ว่า “ไม่ใช่แค่พูดสื่อความ ใช้ไม้ ใช้มือ หรือท่าทางประกอบ เพื่อให้เข้าใจได้เท่านั้น แต่ต้องถ่ายทอดเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นวิชาการ ทฤษฎี หรือหลักการ จนกระจ่างด้วย จึงไม่ง่ายที่ครูไทยจะฝึกจนทำได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยทำมาก่อน” ประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็นคำตอบได้พอสมควรในเรื่องโรงเรียนworld class

ดังนั้น พอถึงวันที่ต้องเป็นประชาคมอาเซียนจริงๆ เราต้องรวมกับเขา การแข่งขันทำมาหากินจะมิใช่แค่แข่งกับคนไทยด้วยกันเองอีกต่อไป แต่ต้องแข่งกับชาติอื่นๆ ซึ่งหลายชาติพร้อมและจริงจังกว่า โดยเฉพาะการจัดการศึกษา ลำพังการแข่งขันในบ้านเรา คนที่รวยกว่าหรือรู้มากกว่าก็มักเอาเปรียบคนจนหรือคนที่รู้น้อยให้เห็นเนืองๆอยู่แล้ว ความห่างของชนชั้นจึงยิ่งถ่างมากขึ้น แล้วต่อไปเราต้องแข่งกับเขา ความเมตตาปราณี เอื้ออาทร หรือความเห็นอกเห็นใจจะน้อยลง เพราะเขากับเราคนละชาติ คนจน คนไม่รู้ หรือคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกกระทำยิ่งกว่าแต่ก่อน

นี่แค่มองเรื่องการจัดการศึกษาเพียงอย่างเดียว ก็ดูน่าห่วงหรือน่ากังวลแล้ว คนไทยจะตกงานกันมากขึ้นจึงไม่ใช่คำทำนายที่เกินเลย ไหนจะเรื่องวินัย ความขยัน ความอดทน หรือความพยายามของคนในชาติอีกเล่า ที่ต้องนำมาร่วมพิจารณา

จริงอยู่เมื่อมองจากคนภายนอกแล้ว “คนไทยมีน้ำใจดี” แต่แค่นี้คงยากจะแข่งขันกับเขา..

หมายเลขบันทึก: 474993เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2012 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2014 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

"แข่งกับตนเองสำคัญที่สุด"

ไม่หนักใจเท่าไรเพราะเป็นครูสอนภาษาไทย แต่หนักใจแทนเพื่อนครูที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ แม้แต่ชื่อสารเคมีก็ยังอ่านไม่ค่อยถูกแล้วจะให้สอนวิทย์เป็นภาษาอังกฤษเพื่อนครูบอกว่าเออร์ลี่ดีกว่า

มาเยี่ยมเยือนด้วยบรรยากาศแบบเหนือๆครับผม

เห็นความห่วงใย จริงจังต่อการพัฒนาระบบการเรียนการสอนบ้านเราที่สื่อออกมาคะ

..

ขออนุญาตแสดงความเห็นเรื่องนี้

...อย่าเฝ้าโทษแต่ครู ว่าสอนยังไงเด็กพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ สาเหตุมีมากมาย หลายโรงเรียนครูสอนภาษาอังกฤษไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษ ..

หลายคนเป็นห่วง ว่าครูที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องจะสอนเด็กได้หรือ

ส่วนตัว เชื่อว่า คุณครูช่วยสร้างความคึกคัก ความมั่นใจให้เด็กกล้า

แล้วแบบอย่าง ให้ดูจากสื่อทางอินเตอร์เนตที่่มีมากมาย

หรือ รัฐอยากให้เป็นรูปธรรม น่าจะสร้าง สถานีโทรทัศน์ภาคภาษาอังกฤษ

เป็นทั้งสื่อการเรียนรู้ และ ทำให้คนต่างชาติดูเข้าใจ ได้มากกว่าข่าวด้วย

แจก tablet หรือไม่ ก็ไม่สำคัญคะ

* อ่านไปคิดไปถึงตัวเองที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษในระบบโบราณของการศึกษาแบบไทยๆ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาไปมากนักทั้งรูปแบบและเนื้อหา

* การฝึกฝนด้วยตนเองตลอดมาด้วยใจรักภาษาอังกฤษ ทั้งการอ่าน การดูหนังฟังเพลงการเขียน และการพูด จึงช่วยเพิ่มทักษะได้มากกว่าการหวังพึ่งในระบบการศึกษาแต่อย่างเดียวค่ะ

* เมื่อความกดดันทางสากลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เชื่อว่าทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ย่อมอยู่เฉยไม่ได้แล้ว คงต้องขวนขวายพัฒนาตนเองด้วยเช่นกันค่ะ

คนไทย การศึกษา กับประชาคมอาเซียน ฟังดูหรูมาก แต่ยากนะนั่น

เดินหน้า..ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยค่ะ

รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้ เราจะต้องปลุกกระแสให้สังคมต่อไป

พี่ครูธนิตย์ครับ คนไทยน้ำใจดีมากๆ อยากเขียนเรื่อง อาเซียน แต่ยังไม่มีเวลาขยับเลยครับ เฮ้อ มาเชียร์พี่ก่อนนะครับ...

การเปลี่ยนแปลงหากจะให้เกิดข้ามคืนคงเป็นไปได้ยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังมีเวลาอีกสามปี ที่อาจไม่ยาวนาน แต่ก็ไม่สั้นจนเรียนรู้ปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ หากเริ่มเสียแต่ตอนนี้ หากคนไทยมีการเตรียมตัวมากขึ้น เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด หากตั้งใจเปลี่ยนแปลงจริงและลงมือทำอย่างมีวินัย นั่นก็หมายถึงว่าเราต้องรู้จุดอ่อนของเราก่อน และตั้งใจพัฒนาตรงจุดนั้น

อีกอย่างคือการเพิ่มความเข้มแข็งในจุดแข็งของเราให้ดีเยี่ยมยิ่งขึ้นไปอีก จริงอยู่ในเรื่องภาษาอังกฤษ การศึกษา เราอาจไม่ถนัดนักเพราะประเทศอื่นอาจมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ดีกว่า แต่คนไทยเราก็มีจุดแข็งที่คนชาติอื่นอาจทำได้ไม่ดีเท่าเช่นด้านการเกษตร การช่าง การอุตสาหกรรม การบริการ ฯ เราอาจต้องเตรียมใจที่จะต้องเหนื่อยมากหน่อยในวันนี้ ที่จะต้องปรับตัวเองมากกว่า แต่ในเมื่อเราต้านกระแสไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนความหวั่นเกรงให้เป็นโอกาสทองของการพัฒนา

เชื่อว่าคงจะมีคนไทยอีกมาก (รวมทั้งข้าพเจ้าเอง) ที่ยังไม่อาจรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดและผลกระทบที่จะมีมาถึง คิดว่าคนที่พอรู้และสามารถเข้าถึงคนกลุ่มอื่นได้ คงจะช่วยกันปรับเปลี่ยน ตั้งแต่ตอนนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะสำหรับบันทึกที่ชวนให้คิดและ reflect ในวันนี้

การเริ่มต้นอาจมีปัญหาอยู่บ้างครับ แต่ถ้าหากไม่เริ่มต้นเลย นี่สิปัญหาที่ตามมาจะมากกว่า

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์ธนิตย์ จี้ตรงจุด ..ฉุดความคิดของเบื้องบนลงมาคลุกการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนจะได้รู้ว่า "มันสวนทางกัน" ควรจะแก้ที่ปรับเปลี่ยน รมต. คนใหม่ หรือใส่ใจกับระบบในโรงเรียน เด็กถึงจะเท่าทันอาเซียน อิ อิ

เขาให้เราทำอะไรเราก้อทำ

เขาทำอะไรเราก้อทำ

เขาไม่ทำอะไรเราก้อจะทำ มั่วไปหมด

เราก้อสอนภาษาอังกฤษอยู๋นะ เราว่าอ่านภาษาไทยให้คล่องหมด

พูดให้น่าฟัง ไพเราะ สื่อสารกันให้รู้เรื่องก้อพอนะ

ก่อนเถิดนะชาวไทย มันก้อแปลดีกนะ ทำไมเราจะต้องไปแข่งกับชาติใดด้วยอะ (แล้วมันสวนทางกันเลยนะ พอเพียงอะ)

เด็กนักเรียนบ้านนอกเขาไม่รู้เรื่องด้วยหลอกนะ เด็กๆ เขาคิดว่าเรียนจบ ม.3 ปวช ปวส และก้อจะหางานเพื่อเอาเงินมาจุนเจือครอบครัวก้อพอแล้ว

(ผู้ใหญ่มึน ๆ เขาก้อคิดเรื่องนี้ไปเรื่อย แบบว่าไม่รู้จะทำอะไรใหม่แล้วไง)

อาชีพที่ทำรายได้มีมากมายที่ทำแล้วเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งภาษาอังกฤษเลยนะมีเยอะเลยที่เมืองไทยเราอะ

ฝรั่งบางคนยังบอกเลยอะว่าอยู่เมืองไทยเนี่ยดีสุดแล้ว

(ต่างจังหวัดนะ) ทั้งของกิน อากาศ พื้นที่ ไม่ต้องไปแข่งกับใครเลย

ส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยี หรือการสื่อสาร ใหม่ๆ จะทำให้เด็ก หรือ คนเราหยาบขึ้น

แต่ดูแล้วทุกวันนี้ ทุกคนเหมือนจะชอบมัน

และก็มาบอกมามันไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ทีหลัง

เมืองไทยถ้าไม่มีนักการเมืองเลยนี่จะดี มีความสุขมาก

เพราะตาสีตาสา คงไม่อยากไป อาเซี่ยน อาไรนั่นหรอก

ปลูกข้าวให้รับประทานก็บุญแล้ว

ตกลง อา ไม่ได้ เซี่ยน หรอก

พวก........(ใส่เอาตามใจชอบ)........ที่เซี่ยน 

สวัสดีค่ะคุณครู

เห็นด้วยกับค่ะ เรื่องนี้วงการครู ได้รับผลโดยตรง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า จะเป็นเพียงแค่สร้างภาพ ใช้งบฯ กันไปแต่ละปีๆ อีกไหม นะคะ

ไม่ค่อยกังวลเรื่อง ภาษา ค่ะ

ใครใคร่อู้กำเมือง อู้

ใครใคร่เว้าลาว เว้าโลด

ใครใคร่พูดไทย พูด ไป

ใครใคร่แหลงใต้ แหลง

ใครอยาก สปีค อังกฤษโพด

กังวลผลกระทบจากเปิดเสรีอาเซียน ที่อาจส่งผลกระทบต่อ ชาวรากหญ้า หรือระบบการค้าโดยรวมที่เราอาจเสียเปรียบ ? ค่ะ

เพราะทุกวันนี้ ยังมีความไม่เท่าเทียมกันหลายๆ ด้านทั้งในระบบสถาบันศึกษา เอกชน รัฐ ลูกครึ่่งต่างชาติเอย แบ่งแยกชัดเจน

ขอเพียงมีปัจเจก ที่มองคนทุกผู้นามเท่่าเทียมในศักดิ์ศรีมนุษย์ รักชาติ สถาบัน แบ่งปันสังคม บ่มความเป็นไทย เปิดใจกว้าง

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์

  • ต้องบอกว่าเป็น " ปัญหาโลกแตก " นะคะ ก็แล้วแต่ความสามารถของคุณครูแต่ละท่านก็แล้วกัน คงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรเนาะ ค่อยๆเป็นค่อยๆไปเถอะค่ะ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เราก็อยู่ของเราได้ ไม่เห็นต้องง้อใครเลย
  • ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกๆท่านนะคะ

ปัญหามีไว้แก้ไขไม่ได้มีไว้กลุ้ม  ยังไม่ทันจะลงมือทำยังไม่มีใครรู้หรอกว่ามันจะสำเร็จ ถ้ามีความตั้งใจจะแก้ไขจริงๆไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องยาก  ภาษาไหนๆก็เรียนรู้ได้เท่าเทียมกันทุกคนเพราะมันคือเรื่องธรรมชาติ ธรรมดาของคนที่จะต้องสื่อสาร คนที่กล้าจะเรียนรู้กล้า ใช้ภาษาอังกฤษเสมือนหนึ่งว่าใช้ภาษาของเราเอง มีความตั้งใจเรียนรู้จริงสำเร็จทุกราย การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับสำเร็จแล้วครึ่งหนึ่ง มันอยู่ที่ผู้ศึกษามีความตั้งใจจริง ผู้สอนมีสถานะเป็นผู้มีจิตและวิญญาณของความเป็นครูมืออาชีพ ไม่ใช่เพียงมีการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิตด้วยการอาศัยความสูงส่งของอาชีพครูเป็นเครื่องมือ สององค์ประกอบนี้สร้างได้ในกลุ่มใด โรงเรียนใด หรือสถาบันใด ย่อมประสบกับสำเร็จแน่นอน

ÄÄÄÄ..ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมมา..ชั่วคน..ต้องเลิกใช้..ภาษาของตัวเอง..พูดภาษา..อังกฤษ.ใช้ภาษาอังกฤษ.(ฝรั่งเองยังต้องแปลภาษาอังกฤษให้เป็นอังกฤษ...ถ้าจะให้รู้เรื่องกันจริงๆ..อ้ะ..)แล้ว..พี่ไทยเราๆ..ก็เรียน..ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เท้าเท่าฝาหอย...ไม่มีใครบังคับ...ก็พูดได้บ้าง..ไม่ได้บ้าง..(ความจริง..ก็ไม่น่าจะหนัก(...)กะนักกะหนา...ภาษา..ก็เป็น..อัง..กิด..อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน..ด้วยสำเนียงไทย...ไม่ต้อง..ต้องสอนกัน..ยี่สิบปี...อิอิ.เพราะเรียนยังไงๆก็พูดไม่เป็นสำเนียงไม่ได้..อ้ะ..ลดเวลาเรียนลงบ้างก็ดี..เอาแค่ปีเดียวก็พอ..สอนสำหรับผู้อยากเรียนๆให้รู้กันไปที่เดียว...ฝรั่งเรียนภาษาไทย..ปีเดียว..พูดเป็นต่อยหอย....(ภาษาไทยเดี๋ยวนี้..ประโยคหนึ่งๆ..อ่านแล้วไม่รู้เรื่องเพราะมีแต่ภาษาต่างด้าวเต็มไปหมด)...แล้ว..ฝรั่งเดี๋ยวนี้ก็พูดไทยกัน..ปร๋อ...(เพราะคนไทย..ไปอยู่กันทั่วโลก...ทั้งๆไม่ได้เรียนภาษาประำจำชาตินั้นๆไปก่อน...แถมเจ้าของภาษา.(.รัฐ.บางประเทศ).ออกสตังค์ให้เรียนกันเป็นล่ำเป็นสัน..อ้ะ)...เด็กลูกครึ่ง.เวลานี้.มีมากมาย(เกือบทุกมุมโลกก็ว่าได้)..และก็จะมีมากไปเรื่อยๆ..เด็กเหล่านี้..ได้ภาษาแม่..(คือเมืองที่เขาเกิด)...เด็กเหล่านี้ก็มีแม่หรือพ่อเป็นคนไทย.."คิดว่า"..รัฐ(ไทย)ควรให้..ความสนใจเป็นพิเศษ..ในทุกๆประเทศที่มีคนไทยอยู่หนาแน่น..ให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาศได้เรียน..ภาษาไทย..(งบที่จะจัดสรรค์และไม่เกิดประโยชน์หรือจะเป็นแค่ กุศโลบาย....มาสนับสนุนการเรียนภาษา(ไทย)ของพ่อแม่เขาในประเทศที่เขาเกิด..ซึ่งอนาคตเด็กเหล่านี้..จะได้กลับมาทำงาน..ที่ต้องใช้ภาษาเข้มข้น..กับ..ชาวต่างชาติในเมืองไทย..ได้ไม่ขัดเขิน...(ทั้งนี้..เขียนจากประสพการณ์ที่มีและสัมผัสมา..ในต่างประเทศ...เป็นต้นว่า..เยอรมัน..และอเมริกา......สำหรับเยอรมันและกลุ่มบางประเทศในยุโรปเวลานี้..มีการเรียนภาษาไทย"ใช้ระบบแม่ไก่"..ช่วยตัวเองสอนลูก..อาศัยหลังร้านอาหารไทย..บ้างเป็นที่สอนที่เรียน...ครูที่สอนๆอยู่สอนฟรีบ้าง..ได้เงินช่วยจาก..กศน..บ้าง(เล็กน้อย)..แต่เป็นเงินไทย(สมัยมะโว้ชม.ละสามสิบห้าสิบบาท..ขณะที่ค่าครองชีพในต่างประเทศก็สูง...อีกประการหนึ่ง..ในฮัมเบอรกมีการเรียนภาษาไทยในระดับมหาวิทยาลัย..ถ้าเด็กไทยมีโอกาศเรียนภาษาไทยพื้นฐานตั้งแต่เด็กๆจะทำให้เขาสามารถใช้ภาษาสองภาษาอย่างคล่องแคล่ว..อีกทั้งโอกาศการเรียนภาษาต่างประเทศในยุโรปมีมากมาย...)..ฝากความคิดมายังท่านอาจารย์ ณที่นี้ด้วย..แล้วแต่จะโปรด......หากจะมีโอกาศ กับเด็กไทย(ลูกครึ่งและไทยแท้) เจ้าค่ะ..ยายธี

ต้องแก้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล + หลักสูตรที่สอน + เสริมการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก ๆ กระมังค่ะ

แต่ก่อนบอกว่า ดีน่ะ ที่เราไม่ได้เป็นเมืองขึ้น แต่มาตอนนี้จะให้เข้าสู่อาเซียน แล้วคนไทยก็พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง สื่อสารก็ไม่ค่อยได้ แล้วจะเป็นจริงหรือค่ะ...อาจเป็นได้ แต่เราต้องใช้เวลากระมังค่ะ เสมือน "น้ำซึมบ่อทราย" ค่อย ๆ ทำไป แต่ปัจจุบันก็ต้องทำแบบว่า "ผลที่ได้พอจะเป็นจริงหรือไม่กับการใช้ภาษาอังกฤษ" ในการสื่อสาร คนไทยเข้าใจมากน้อยอย่างไรกับการใช้ภาษาอังกฤษ...ดูเป็นความหวังที่เลือนลาง แต่ก็ยังดีที่เริ่มทำ จะได้หรือไม่ได้ ปี สองปี ผลน่าจะเกิดขึ้นบ้างนะคะ แล้วเราจะทำนายต่อได้ว่า 5 - 10 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรกับทิศทางการศึกษาไทยค่ะ...

สำหรับปัจจุบันก็อย่าไปหวังมากนักกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จะทำได้ก็เฉพาะคนที่เก่ง เพราะคนเรามีความแตกต่างกันในพื้นฐานความรู้ การเปิดใจรับค่ะ แล้วก็ไปเร่งกับเด็กเล็ก ๆ ชั้นอนุบาลขึ้นมาค่ะ ค่อย ๆ ให้เขาเรียนรู้ได้ทั้งสองภาษา อย่าลืม ภาษาไทยดั้งเดิมนะคะ เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่ได้อะไรเลย ภาษาอังกฤษ ก็ไม่ได้ แถมภาษาไทยยิ่งไปใหญ่ สะกดไม่ได้เลย จะทำให้เป็นปัญหาในอนาคตได้

งานนี้ ครู + เด็ก + ผู้ปกครอง รับบทหนักเลยค่ะ สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน...แต่ถ้ามองมุมกลับ ถ้าทำได้ ผลดีสำหรับประเทศไทยมหันต์ ในอนาคตค่ะ

ในความคิดของผู้เขียน เมื่อเด็กเรียนเก่งภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นไวยากรณ์ + การสื่อสาร ได้แล้ว เกรงว่า วิชาการ ด้านคณิต - วิทย์ ภาษาไทย ฯลฯ จะด้อยไปสิค่ะ ทางที่ดี ถ้าทำได้ ควรไปควบคู่กันค่ะ อย่าไปเห่อตามกระแสว่า เร่งภาษาอังกฤษ แล้วทำให้วิชาการด้านอื่น ๆ ตกต่ำไปนะค่ะ น่าเป็นห่วงค่ะ...

ถ้าเป็นไปได้ อาจแทรกไว้ในหลักสูตรนั้นแหล่ะค่ะ มีทั้งไทย ทั้งอังกฤษ น่าจะแก้ปัญหาได้ แต่ถึงบอกว่า งานนี้ ครู + เด็ก + ผู้ปกครองรับศึกหนักจริง ๆ ค่ะ...เพราะพื้นฐานของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันนะคะ...

เป็นกำลังใจให้ค่ะ...

เห็นด้วย เหมือนโรงเรียนนาย(ใน)ฝัน พอได้แล้วก็ทิ้ง ปล่อย เป็นที่รกร้าง ถึงเวลามาตรวจ

ก็ ปลุกผักชีกัน เด็กโดดเรียน หนีเรียน ถึงเวลาก็ให้เข้าสอบ โดย ผอ. ครูผู้สอน สุดทน

เป็นไปได้ยากที่จะให้เด็กพูดภาษาอังกฤษ ใน รร.ต่างจังหวัด แม้ครูเอง ยังพูดไม่ได้

โรงเรียนในกรุง ไม่กี่โรง คงเป็นไปได้

แต่โรงเรียนต่าง จังหวัด เป็นไปได้ยาก

เพราะพื้นฐานทางภาษาเราไม่มี ด้วยที่เราไม่ได้เป็นเมืองขี้นเขา

แถม การจ้างครู ที่ขาด ก็ไม่ตรงกับ สาขาวิชา ขาดครู ภาษาไทย แต่ได้ครู ฟิสิกส์ มาแทน

ได้ครูเคมี มาแทน ก็เพราะ เป็นเด็ก ของผู้หลัก ผู้ใหญ่ ใน สพม. ...สรุปเป็นไปได้ยากครับ

วันนี้ไปถึงโรงเรียนตอนเช้าก็ทักทายเพื่อนครูเป็นภาษาอังกฤษแบบทะแม่งๆ เพราะเราเป็นครูภาษาไทย แต่ก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่างเด็กเพราะโรงเรียนกำหนดว่าวันจันทร์ให้พูดทักทายกันเป็นภาษาอังกฤษ ก็ได้แค่คำทักทายเท่านั้นเอง พักกลางวันมีเวทีของชุมนุมภาษาอังกฤษ อีกกลุ่มหนึ่งมาเต้นประกอบเพลงอาเซียนเพื่อเปิดงานกีฬา ครูภาษาไทยบูรณาการการสอนอาเซียนกับหลักภาษาไทย

ในชุมชนโดยรอบโรงงานที่ชาวบ้านเปิดร้านขายของชำ อยู่ๆก็มีห้างสรรพสินค้าแห่มาเปิดร้านแข่งกันหลายยี่ห้อ มาถึงในหมู่บ้านเจ็ดสิบ้เอ็ดไปที่ไหน โลตัง ก็บี้ตามไปติดๆ ชาวบ้านที่มีร้านขายของชำก็คิดหนัก แล้วต่อไปยังต้องมีอาเซียนอีก ไม่รู้ว่าจะหลากหลายกว่านี้สักแค่ไหน

.....มาจับมือกันสร้างรั้ว เพราะลมเศรษฐกิจนั้นมันพัดแรง รั้วนั้นจะแข็งจะแกร่งเพราะชาวอาเซียนร่วมใจ ....เสียงเพลงจากเด็กๆที่ซ้อมการแสดงอยู่ใต้ถุนดังขึ้นมาให้ได้ยิน

ว่าแล้วครูก็เปลี่ยนป้ายแสดงผลงานนักเรียนหน้าห้องว่า ภาษาไทย ก้าวไกล..สู่อาเซียน

อ้าวเขาให้เน้นภาษาอังกฤษ แล้วทำไมเอาภาษาไทยสู่อาเซียน ? ก็เด็กเขาชอบเพลงนี้

  • เป็นการวิพากษ์ในมุมมองที่น่าสนใจค่ะ ความเห็นของสมาชิกก็น่านสนใจค่ะ
  • ก็ต้องขอขอบคุณทั้งเจ้าของบันทึกและ กัลยาณมิตรที่แสดงความเห็นนะคะ
  • ผู้เขียนเองก็อยู่ในกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาปริญญาตรี จากประมาณ 29 สาขา ตั้งใจว่าปลายเดือนจะลงบันทึกเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวค่ะ
  • ขอแลกเปลี่ยนแนวคิดจากบันทึกที่ได้เขียนใน GTK ตาม Link ข้างล่างนะคะ

          http://www.gotoknow.org/blogs/posts/457133

           

ในฐานะที่เป็นคุณครูเช่นกันหนูคิดว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันมานับวันจะยิ่งถอยหลังเข้าคลอง รัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายการศึกษา ครูทำหน้าที่สนองนโยบายรัฐ เรามักจะตั้งประเด็นถึง " ต้องให้ผูเรียนเป็นสำคัญ " แล้วเมื่ออดีตชาติที่ผ่านมามีคุณครูคนไหนที่ไม่เห็นนักเรียนไม่สำคัญบ้าง เวลาสอนหรือจัดการการเรียนการสอนคุณครูทุกคนต่อให้เป็นครูที่เบื๊อกสุดโต่ง.....แต่แน่นอนก็ย่อมให้ความสำคัญกับลูกศิษย์ รัฐมักชี้นำประเด็นนี้มาอ้างถึง มันเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่

ประเด็นที่สำคัญคือการปรับระดับมาตรฐานของโรงเรียนเป็น " โรงเรียนในฝัน / โรงเรียนดีประจำตำบล / โรงเรียนดีประจำอำเภอ / โรงเรียนระดับ World Class " เราจะปรับระดับโรงเรียนเป็นนู่นเป็นนี่ ทำเพื่ออะไร ? เราละเลยลูกศิษย์เราหรือเปล่า ? คุณครูมีภาระงานหนักขึ้นนอกจากการเตรียมการสอน มาเตรียมงานประเมินเบื๊อก ๆ พวกนี้ เพื่ออะไร ทำไมเราละเลยลูกศิษย์ แทนที่เราจะละวางสถิติเบื๊อก ๆ บ้าง เดี๋ยวนี้มีนักเรียนมัธยมบางคนได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเรียนในชั้นสูงขึ้นแต่อ่านหนังสือไม่ออก ย้ำอีกครั้งอ่านไม่ออก ( มันน่าใจหายที่เยาวชนของชาติอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ใช่อ่านไม่คล่อง อ่านไม่แตก ) แล้วใครเป็นผู้กำหนดนโยบายถอยหลังเข้าคลองนี้ นอกจากเป็นการศึกษาเพื่อการแข่งขันในแบบทุนนิยมแล้ว ยังทำให้คนมีการศึกษาดูถูกรากเหง้าของตน แล้วเราจะเหลืออะไร ในเมื่อค่านิยมทางการศึกษาเราเป็นแบบนี้ ที่สำคัญการศึกษาพื้นฐานในอนาคตดู ๆ ไป เหมือนแข่งกะพวกเรียนสายอาชีพมีแบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์และบริการ พูดภาษาบ้าน ๆ อารายยยยย....ฟะเนี่ย ตกลงเราสอนอะไร มันน่าใจหายยิ่งกว่าที่ทิศทางของนโยบายการศึกษาเป็นแบบนี้ได้ยังไง มันไม่ชัดเจน ก็ภาคบังคับ การศึษาพื้นฐาน เขาก็มีสายวิทย์ สายศิลป์ - ภาษา สายศิลป์ - คำนวณ ก็ดีอยู่แล้ว เพราะนั่นคือเด็กที่มุ่งมั่นไปสู่ระดับอุดมศึกษา แต่เนี่ยจะให้มีสายพาณิชย์ สายอุตสาหกรรม สายบริการ เฮ้ย......ไปเรียน สายอาชีพไม่ดีกว่าหรอคะ ทำไมต้องมาปรับหลักสูตรหรือให้การศึกษาภาคบังคับ การศึกษาพื้นฐาน ปรับด้วย เพื่ออะไร ???

สิ่งที่น่าใจหายยิ่งไปกว่านั้นสำหรับความคิดของหนูก็คือ เรามักจะดูถูกการสอนแบบการท่องจำ อ้าว ! ทำไมล่ะ การท่องจำมันก็ไม่ใช่จะไม่ดีไปทั้งหมด แต่ถ้าหากเราลองนึกถึงความเป็นจริง ไม่โกหกตัวเราเอง ตอนเราเป็นเด็ก ๆ เราเขียนหนังสือได้จากความเข้าใจกันก่อนหรือคะ เราเรียนรู้วิชาต่าง ๆ เราเข้าใจทุก ๆ สิ่ง ได้ แต่เราไม่ใช้ความจำ แล้วจะนำความรู้ที่ไหนไปประมวลผล สังเคราะห์ผล ไปสอบ ไปใช้ในชีวิต มันน่าคิดว่า............เราลืมบางสิ่งที่สำคัญตรงนี้แล้วเราก็หลงเชื่อตามสิ่งที่ใครก็ไม่รู้ชี้นำเรามาจนทำให้เรามักเข้าใจว่าการสอนด้วยการท่องจำเป็นสิ่งไม่ดี โบราณ ล้าหลังและดูฟอสซิลเอามั่ก....มาก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ล่ะคะ ?

แม้จะเข้าสู่ความเป็นอาเซียนแต่เราคนไทย ไม่ต้องไปนึกถึงลูกศิษย์ของเราเลย เอาแค่ตัวเราเองก็ยังรู้จักเพื่อนบ้านของเราน้อยกว่าที่เขารู้จักเรา เขาสามารถพูดได้หลายภาษา เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาประจำชาติของเขา แต่สังเกตไหมคะว่าเขาเองก็รู้ภาษาไทยของเราด้วย ภาษาเป็นทูตสื่อสารวัฒนธรรมและทำให้เข้าใจความเป็นชาติความเป็นตัวตนของเขาได้ไม่มากก็น้อย แล้วเราล่ะคะ ภาษาไทยเราเอง เราเองก็ยังไม่รู้ หรือรู้แต่ยังไม่แตกก็มี อย่าไปนับถึงภาษาอังกฤษมันเลยค่ะ ที่พูดได้ชัดปร๋อคือพวกบิดามารดามีฐานะส่งลูกเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติบ้าง อังกฤษษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินเดีย ไล่ไปตามระดับที่พอจะส่งลูกได้ แล้วลูกผู้ใหญ่ลีกะนางมา ตาสีตาสาพูดได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะมีครูชาวต่างชาติจ้างมาสอนเรียนสัปดาห์ละหนึ่งคาบเหล่านี้จะให้ใช้มาตรฐานระดับ World Class มันก็ยิ่งกว่าฆ่าคนโดยไม่ต้องใช้อาวุธซะอีก แล้วเราจะทำยังไง ?

รำพึง รำพันกันไป เพื่อประเทศไทยของเรา ขอบคุณมุมมองที่ถ่ายทอดเป็นข้อความออกมา

อ้างอิง : http://smartthai.co.cc/ สถานการณ์ของโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคพลิกขั้วอำนาจ จากซีกโลกตะวันตกมาสู่ภูมิภาคเอเชียจน

เกิดศัพท์ใหม่ "บูรพาภิวัฒน์" โดยมีจีนและอินเดียเป็นใหญ่ในการกำหนดทิศทางของโลก

  "บูรพาภิวัฒน์" เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์โลกเปลี่ยนขั้ว หลังการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนปี 2558  เป็นต้นไป ซึ่งทิศทางและแนวโน้มจีนและอินเดียจะเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลต่อโลกแทนประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วในแถบยุโรป  ดร.เอนก  ชี้ให้เห็นถึงการพลิกขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่มายังซีกโลกตะวันออกว่า จะส่งผลให้คนในซีกโลกตะวันตกเริ่มหันกลับมามองภูมิปัญญาของคนในซีกโลกตะวันออกที่สั่งสมมาหลายพันปีว่าไม่ด้อยไปกว่าโลกตะวันตก

   "หมดยุคที่เราจะเชื่อกันว่า ประเทศแถบตะวันตกดีกว่า เจริญกว่า หรือมีอำนาจกว่า เหมือนมองคนมองคนที่จบการศึกษาจากตะวันตกเก่งกว่า ฉลาดกว่า ถือเป็นความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อน"

ในยุคบูรพาภิวัฒน์ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียกำลังทะยานขึ้นโลกกำลังสลับขั้วส่วนสหรัฐฯและประเทศในยูโรโซน กำลังเพลี่ยงพล้ำและอ่อนแรง สหรัฐฯ กลายสถานะจากเจ้าหนี้รายใหญ่ของโลก มาเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของโลกแทน..

อาเซียนในยุคบูรพาภิวัฒน์

  Asean Economics Community คือการรวมตัวของชาติในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศได้แต่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา บรูไน เพื่อจะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน รูปแบบคล้ายๆ Euro Zone นั่นเอง

 หลังจากรวมกลุ่มจะทำให้อำนาจต่อรองของประเทศอาเซียน กับคู่ค้ามากขึ้น และการนำเข้า-ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี (ลดภาษีนำเข้าเป็น 0 ) ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ให้ลดนำเข้า(เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว)

ชาวไทยต้องพร้อมรับมือ ประชาคม อาเซียน หลังปี 58

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท