แลกเปลี่ยนประสบการณ์"การสนทนากลุ่ม"


"อย่าคิดว่าเราเก่ง หรือเป็นผู้รู้" ในเรื่องเหล่านี้ เพราะแค่เราคิด เราจะขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างน่าเสียดาย

           เมื่อวันที่ 3-4 มิถุนายน ที่ผ่านมา  ผมและคุณสายัณห์ ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน กับนักศึกษา ป.โท สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา ของมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร เกี่ยวกับการดำเนินการสนทนากลุ่ม 

  • ในวันที่ 3 มิถุนายน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ มรภ.กำแพงเพชร
  • ในวันที่ 4 มิถุนายน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ศูนย์ฯแม่สอด จ.ตาก

         เมื่อได้รับการประสานจาก รศ.ดร.สมชัย  วงศ์นายะ และ ผศ.ดร.ทวนทอง เชาวกีรติพงษ์  ให้ร่วม ลปรร. ในวันที่ 3-4 มิถุนายน (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ได้ไปร่วมเวทีคุณอำนวยที่ ม.ขอนแก่น เพราะตกลงกับอาจารย์ไว้ก่อนแล้วครับ) โดยมีเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง  สิ่งที่ผมและคุณสายัณห์ ได้ดำเนินการก็คือ การพูดคุยกันในเบื้องต้นว่าจะจัดกระบวนการกันอย่างไร ใครจะนำเสนอด้วยสื่อหรือวิธีใดก็ให้เตรียมกันมาเอง ส่วนกระบวนการจะใช้สถานการณ์จริงเป็นตัวกำหนด(ไปตายเอาดาบหน้า)

        พอถึงวันจริง (3 มิถุนายน) เราก็ไปก่อนเวลา เพื่อเตรียมความพร้อม สิ่งแรกที่เราได้ดำเนินการก็คือ การพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนก่อน หลังจากนั้นเราก็เขียนแผนการดำเนินกระบวนการกันทันที กำหนดคิวกันเป็นที่เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาเราก็ดำเนินการ ซึ่งก็เป็นไปด้วยดี ซึ่งกระบวนการหลักๆ ที่เราได้กำหนดไว้ก็คือ

  • การทักทายและนำเข้าสู่กระบวนการโดยคุณสายัณห์ ใช้เวลาประมาณ 5 นาที
  • ผมเป็นคนนำเข้าสู่เนื้อหา เชื่อมโยงการวิจัยกับการเก็บข้อมูลโดยวิธีการเชิงคุณภาพ และสู่กระบวนการสนทนากลุ่ม ใช้เวลาประมาณ15  นาที
  • การดำเนินกระบวนการสนทนากลุ่ม(ปฏิบัติจริง) ใช้เวลาประมาณ 1-1 ชั่วโมง 30 นาที
  • การสรุปเชื่อมโยง การปฏิบัติกับแนวคิดและทฤษฎี ประมาณ 15นาที
  • เมื่อจบกระบวนการแล้ว ก็เป็นการเล่าประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือในกระบวนการกลุ่มโดยเน้นที่การสนทนากลุ่ม

        ทั้งกระบวนการเราใช้เวลาอย่างเต็มที่ ประมาณ 3 ชั่วโมงเต็มครับ

                         49060303 ที่ มรภ.กำแพงเพชร

        วันที่ 4 มิถุนายน  เราต้องเดินทางออกจากกำแพงเพชรกันตั้งแต่ประมาณ 6.30 น. ถึงศูนย์ฯแม่สอด จ.ตากประมาณ 3 โมงเช้า  เรายังใช้แผนกระบวนการเดิมที่ใช้เมื่อวาน แต่ปรับนิดหน่อย เพราะที่นี่มีจำนวนนักศึกษา 30 กว่าคน (มาไม่ครบ) สิ่งที่เราปรับกระบวนการจากเมื่อวานก็คือการใช้บัตรคำในการแบ่งกลุ่มของเนื้อหา และการแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่ม เพราะมีจำนวนมาก การดำเนินกระบวนการก็เป็นไปด้วยดีเช่นเดียวกันกับเมื่อวาน

         นี่ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งของเราที่ได้มีโอกาสนำประสบการณ์จริงๆ ไป ลปรร. กับนักศึกษา  ตอนที่ผมและคุณสายัณ์เรียนอยู่ที่นี่ พวกเราก็เคยได้แสดงกระบวนการสนทนากลุ่มให้กับเพื่อนๆ ในห้องเรียน เพราะในการทำงานกระบวนการเหล่านี้เราได้ปฏิบัติกันบ่อยมาก   จะเห็นได้จากการเขียนแผน เราใช้เวลากันไม่มากนักเพราะเราได้พูดคุยกันเกือบทุกวัน และกระบวนการในลักษณะนี้เราดำเนินการกันในงานประจำของเราอยู่แล้ว แต่มีบางประเด็นที่ผมขอบันทึกเพิ่มเติมก็คือ

  • การดำเนินการเก็บข้อมูลในลักษณะของการสนทนากลุ่มนั้น หากจะลงมือปฏิบัติจริง อย่าลืมเครื่องมือที่จะช่วยในการบันทึกข้อมูลต้องหลากหลาย เช่น การจดบันทึก  การอัดเทป การถ่ายถ่ายรูปหรือวีดีโอ เป็นต้น
  • การดำเนินงานในลักษณะนี้ต้องเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มคนที่เราจะไปดำเนินการเก็บข้อมูล/สนทนากลุ่มด้วย  นอกจากเราจะต้องพร้อมแล้ว ชาวบ้านก็ต้องพร้อมที่จะร่วมกระบสนบวนการด้วย (คือต้องเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เช่นในเรื่องของช่วงเวลาที่พร้อม/ว่าง เป็นต้น) 
  • คนที่จะมาร่วมสนทนากลุ่ม ต้องมีการคัดเลือกผู้รู้ข้อมูลจริงๆ บางทีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำที่เป็นทางการก็ได้ (อาจได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนัก) เพราะไม่กล้าให้ข้อมูล
  • ควรหาเพื่อนๆ หรือทีมทำงานไปช่วยดำเนินการด้วย
  • ต้องรู้จักปรับและลื่นไหลไปตามสถานการณ์  ไม่ยึดติด
  • ข้อมูลอาจไม่สมบูรณ์ในการดำเนินการเพียงครั้งเดียว
  • ต้องซ้อมให้บ่อย คือลงมือหรือร่วมกระบวนการในลักษณะนี้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส แล้วจะเกิดความชำนาญ
  • ต้องศึกษาจากผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และวิชาการที่มีอยู่แล้วประกอบกัน จะทำให้เราเข้าใจได้ถ่องแท้มากยิ่งขึ้น
  • ต้องฟัง  จับประเด็น  และสรุปเป็น (แต่อย่าด่วนสรุป) 
  • ใช้ฉันทามติของกลุ่ม อย่าโหวตหรือตัดสินข้อสรุปโดยการยกมือ จะทำให้เกิดความขัดแย้งได้
  •  ฯลฯ

           สิ่งสำคัญที่ขอเพิ่มเติมก็คือ "อย่าคิดว่าเราเก่ง หรือเป็นผู้รู้" ในเรื่องเหล่านี้  เพราะแค่เราคิด เราจะขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างน่าเสียดาย

          บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 38911เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
สิ่งสำคัญที่สุดที่พี่สิงห์ป่าสักเน้น เป็นเรื่องที่นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น และนักเรียนรู้ ต้องตระหนักมาที่สุดครับ การที่เราคิดว่าเรารู้และคิดว่าคนอื่นไม่รู้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง...เป็นการปิดรับข้อมูลความรู้ เพราะมี อคติในใจ/// ชาวบ้านมีอะไรที่ดี มีองค์ความรู้ที่มีอยู่หลายระดับ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมี กระบวนการเรียนรู้แบบไหน ที่จะดึง tacit knowledge นั้นออกมา...กระบวนการน่าจะต้องมีหลากหลาย และ เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ที่ผมใช้บ่อยๆ คือ การนั่งคุยกันไม่เป็นทางการ แต่มีประเด็นการสนทนาที่ตั้งไว้ และหากไม่ได้ข้อมูลครบ ถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนบ่อย ได้ทั้งใจ ได้ทั้งข้อมูลครับ

     แม้พี่จะไม่ได้ไปเจอกันที่ มข.ในช่วงเวลานี้ แต่พี่ก็ ลปรร.ผ่าน Blog ไปนี่ครับ ที่สำคัญพี่ก็ไปทำคุณประโยชน์มหาศาลอีกด้วย
    

เพิ่มเติมอีกหน่อยครับ.... การคิดแบบที่ว่า You and I are O.K. ทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดการอยากเรียนรู้ และให้ความเข้าใจ ทำให้เราเอาใจเขา มาใส่ใจเรา และนำไปสู่การเกิดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process)- - - ->ให้กำลังใจครับ
เรื่องนี้น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์กับชาวกรมอนามัยนะคะ เพราะเรื่องการสนทนากลุ่มนี้ เราต้องทำกันบ่อย แต่ว่า ทำอย่างไรล่ะ จึงจะสกัดเอาหัวใจของบทสนทนานั้นมาได้ ... คุณสิงห์ป่าสักเตรียมเนื้อหาเผื่อเล่าให้ด้วยนะคะที่ตลาดนัด KM กรมอนามัย ที่ 19 กค.นี้
ใช่เลยครับ การที่ผมมาเรียนที่นี่ ผมตั้งใจมาเป็นผู้เรียนรู้มากกว่าเป็นผู้รู้ครับ ทำความคิดและความรู้ของตนเองให้ต่ำ เพื่อที่จะให้มีความรู้หลั่งไหลมา ดังเช่นมหาสมุทร ที่อยู่ต่ำ มหาสมุทรจึงเป็นราชาแห่งแม่น้ำทั้งปวงครับ
        ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่านที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งคุณจตุพร  คุณชายขอบ คุณหมอนน และ อาจารย์ปภังกร   รวมถึงท่านที่ผ่านมาอ่านแต่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ

สวัสดีค่ะท่านสิงห์ป่าสัก

  • ตามมาจากคำแนะนำ...การทำสนทนากลุ่มก้าวที่สามค่ะ.
  • เป็นความกรุณาอย่างสูงที่ท่านแวะมา แนะนำสิ่งที่ดีๆให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ประสบการณ์การทำสนทนากลุ่มที่คนจำนวนมาก มีประโยชน์มากสำหรับมือใหม่อยางผึ้งงานค่ะ.
  • ขอบพระคุณค่ะ.
  • สวัสดีครับ ผึ้งงาน_SDU
  • ผมอาจอธิบายและบันทึกได้ไม่ค่อยละเอียดเท่าไร
  • หากมีประเด็นใดที่จะแลกเปลี่ยนได้ก็ยินดีมากเลยนะครับ ผ่านบล็อกหรือเมล์ก็ได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท