เปิดจดหมายคาใจ'ทักษิณส่งถึงบุช'


เปิดจดหมายคาใจ'ทักษิณส่งถึงบุช'

12 กรกฎาคม 2549 09:57 น. เปิดจดหมายคาใจหลังจากที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร"รักษาการนายกรัฐมนตรี ส่งถึงประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : จดหมาย พ.ต.ท.ทักษิณถึง"บุช"

สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร

23 มิถุนายน 2549 (2006)

เรียนท่านประธานาธิบดี

           ข้าพเจ้าเขียนจดหมายมายังท่านบนพื้นฐานของความนับถือเป็นการส่วนตัวที่มีต่อท่านประธานาธิบดีและต่อภาวะผู้นำของท่าน เพื่อใช้โอกาสนี้อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในประเทศไทย ซึ่งข้าพเจ้าได้กลับมารับผิดชอบเมื่อเร็วๆ นี้ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป้าหมายของข้าพเจ้าก็คือเพื่อเตรียมการตามแนวทางประชาธิปไตยให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับให้รัฐบาลชุดต่อไปที่จะมีขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปีนี้

            นับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมาได้เกิดมีภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย สถาบันหลักของประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง และธรรมเนียมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยข้อจำกัดของรัฐบาล ได้ถูกทำลายลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องพึ่งพาการสร้างความโกลาหลและการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในกรุงเทพฯเป็นวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่กลุ่มเหล่านี้ไม่อาจได้รับด้วยการได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เนื่องเพราะล้มเหลวในอันที่จะกระพือให้เกิดความรุนแรงและความปั่นป่วนขึ้นมาได้ ฝ่ายตรงกันข้ามของข้าพเจ้าในเวลานี้ก็กำลังพยายามหันมาใช้ยุทธวิธีนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญหลายรูปแบบเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน

            หากสถาบันประชาธิปไตยของเรามีความเข้มแข็งจริงในช่วงอีกหลายเดือนต่อไปนี้แล้ว ความพยายามดังกล่าวเหล่านี้ก็คงล้มเหลวไปด้วยเช่นเดียวกัน

             ในวันที่ 2 เมษายน ไทยรักไทย พรรคการเมืองของข้าพเจ้า ได้ชัยชนะได้รับเสียงข้างมากอย่างน่าพอใจในการเลือกตั้งทั่วไปทั่วประเทศ ข้าพเจ้ามีความมั่นใจในการสนับสนุนจากความนิยมชมชอบอย่างแรงกล้า เนื่องจากได้ทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลไทยมาเป็นเวลากว่า 5 ปี และได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ และผู้มีสิทธิออกเสียงก็ตอกย้ำทรรศนะดังกล่าวนั้นของข้าพเจ้า

             ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของข้าพเจ้าบอยคอตการเลือกตั้งในเดือนเมษายนเพราะพวกเขารู้ดีว่าจะได้รับความพ่ายแพ้อีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองในไทยอยู่ในสภาพชะงักงัน ข้าพเจ้าไม่อาจปล่อยให้สภาวะชะงักงันทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อวโรกาสอันเป็นประวัติศาสตร์อันเนื่องจากวาระเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังใกล้จะมาถึงได้ เพื่อให้เกิดความสงบขึ้นอีกครั้งและเปิดโอกาสให้การเตรียมงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองดังกล่าวดำเนินต่อไปได้ ข้าพเจ้าจึงถอยออกมาโดยการลาพักจากการปฏิบัติหน้าที่ มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้ารักษาการบริหารแทน

           ในการรักษาสถานภาพความเป็นอิสระของตน ศาลไทยได้ประกาศให้การเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนเป็นโมฆะด้วยข้อพิจารณาเชิงเทคนิค และมีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ขึ้นอีกครั้ง ที่อาจจะเป็นในราวกลางเดือนตุลาคมนี้

           นักสังเกตการณ์ที่เป็นกลางส่วนใหญ่เชื่อว่าพรรคการเมืองของข้าพเจ้าจะได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนอีกครั้งหนึ่งให้จัดตั้งรัฐบาล ในระหว่างช่วงเวลานั้น ข้าพเจ้าไม่อาจปล่อยให้ประเทศของข้าพเจ้าถดถอยต่อไปโดยไร้ผู้นำ การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของเราจำเป็นต้องดำเนินไป เศรษฐกิจของเราจำต้องได้รับการบริหารจัดการ และภารกิจพื้นฐานของรัฐบาลต้องดำเนินต่อไป

           ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการตามคำเรียกร้องของคนไทยหลายคน ทั้งในพรรคของข้าพเจ้าเองและในหมู่พรรคการเมืองฝ่ายค้านด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อเข้ารับหน้าที่อีกครั้งหนึ่งในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนี้

           ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ความมั่นใจต่อท่านว่า ข้าพเจ้าจะดำเนินขั้นตอนต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศนี้มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่เป็นเสรีและยุติธรรม และจะทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการถกเถียงโต้แย้งกันในระดับชาติจากการถกเถียงกันด้วยข้อกล่าวหาที่เต็มไปด้วยอารมณ์เป็นการถกเถียงหารือกันด้วยเหตุผลว่าด้วยปัญหาที่เป็นหัวใจสำคัญคือเรื่องอนาคตของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่า การเมืองการปกครองของประเทศนี้ควรจะถูกตัดสินชี้ขาดกันด้วยการลงคะแนนเสียงในหีบบัตรเลือกตั้งหรือด้วยการประท้วงตามท้องถนน คำตอบของคำถามดังกล่าวนี้จะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อเส้นทางประชาธิปไตยในเอเชียในอนาคต

             ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านประธานาธิบดีคงเห็นพ้องกับข้าพเจ้าที่ว่าการปกครองโดยกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งในไทยและในเอเชียโดยรวมจำต้องได้รับชัยชนะเหนือการกระทำของม็อบและการปลุกระดมทั้งหลาย ในท้ายที่สุดนี้ ท่านประธานาธิบดีโปรดได้รับความมั่นใจไม่มีที่สิ้นสุดของข้าพเจ้าไว้เถิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาบนพื้นฐานของค่านิยมประชาธิปไตยร่วมกันและผลประโยชน์สำคัญระดับชาติร่วมกัน จะเติบใหญ่ต่อไปในอนาคต

                                               ขอแสดงความนับถือ

                                               (ลายเซ็น) (พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร 

                                               นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย

จดหมาย"บุช"ตอบ"ทักษิณ"

ทำเนียบขาว วอชิงตัน 3 กรกฎาคม 2006

 ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย กรุงเทพฯ

ท่านนายกรัฐมนตรี

           ขอขอบคุณสำหรับจดหมายของท่าน และความคาดหวังในทางที่ดีเกี่ยวกับเส้นทางในอนาคตของประเทศไทย สหรัฐอเมริกาได้จับตามองเหตุการณ์ในประเทศของท่านด้วยความกังวลอยู่บางส่วน และในฐานะพันธมิตรและมิตรประเทศ ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังอย่างจริงใจว่าทุกฝ่ายจะสามารถพบหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้าอันเป็นหนทางที่จะเคารพต่อความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของประชาธิปไตยไทยในอดีตที่ผ่านมา และได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มขึ้นมาปกครองประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

           ความเป็นมิตรระหว่างประเทศทั้งสองของเรายังคงเข้มแข็ง และข้าพเจ้าขอชื่นชมคำรับประกันของท่านต่อความร่วมมืออันดีระหว่างเราในประเด็นที่มีความสำคัญๆ อย่างยิ่งต่อเราทั้งสองจะยังคงดำเนินต่อไป

           ระบอบการเมืองที่เปิดกว้างและมีเสรีอาจกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ขึ้นมาได้ แต่ประชาชนชาวไทยมีความสามารถในการปรับตัวที่ดีและประชาธิปไตยในไทยก็เข้มแข็งและข้าพเจ้ารู้ว่าประเทศของท่านจะผ่านพ้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ไปได้โดยที่มีความมุ่งมั่นใหม่อีกครั้งในอันที่จะทำให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่ต่อไป

                                     ขอแสดงความนับถือ

                                    (ลายเซ็น) จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

                                    (ประธานาธิบดีสหรัฐ)

หมายเลขบันทึก: 38687เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 04:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
 ขอนำเสนอฉบับภาษาอังกฤษเสริมครับ ..

        จดหมายขาไป   ....  จดหมายขากลับ

   เพื่อส่วนตัวหรือส่วนรวม ......?

  • พรรคการเมืองของข้าพเจ้า (3)
  • ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของข้าพเจ้า
  • รองนายกรัฐมนตรีของข้าพเจ้า
  • ประเทศของข้าพเจ้า

   ประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่การเลือกตั้ง.........?

     "การเมืองการปกครองของประเทศนี้ควรจะถูกตัดสินชี้ขาดกันด้วยการลงคะแนนเสียงในหีบบัตรเลือกตั้งหรือด้วยการประท้วงตามท้องถนน"

ผู้นำที่พูดโดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน ไม่รักษาคำพูด ไม่เคารพแม้แต่คำพูดของตัวเอง เราจะฟังเขากันอยู่หรือ เราควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาพูดกันอยู่อีกหรือ

คนที่ไม่สามารถเคารพนับถือตัวเองได้ ถือได้ว่าล้มเหลวต่อการเป็นคน อย่าว่าแต่การเป็นผู้นำเลย

พูดได้แต่เพียงว่า

  • สงสารเยาวชน ผู้ขาดโอกาสในสังคม และผู้สูงอายุที่จะต้องมาเผชิญกับความสับสนต่างๆในขณะนี้    การผูกโยงปะติดปะต่ออย่างไม่สมเหตุสมผล เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง  เพราะท้ายที่สุดจะเป็นการทำร้ายดวงใจบริสุทธิ์ทุกดวงที่ห่วงใยชาติบ้านเมือง

     ความรู้สึกของผมต่อเรื่องนี้ หากหลุดออกมาเป็นภาษาเขียนหรือพูดจะหยาบเอามาก ๆ ด้วยความรู้ตัวและไม่ควรค่าที่จะกล่าวออกมาเลย จึงได้แต่พูดเพียงคำว่า "เสียใจเป็นที่สุด" กับสิ่งที่เกิดขึ้น

    แต่ผมว่า คุณชายขอบ ควรเขียนให้ครบว่า ...
  "เสียใจ แค้นใจ ช้ำใจ ปวดใจ เหนื่อยใจ เป็นที่สุด" จะได้เห็นชัดว่าในใจรู้สึกอย่างไร ผมแอบนั่งทางในเห็นนะ จะบอกให้ !

เรียน อาจารย์ Handy

     คือมันอย่างนี้ครับ ผมจะรู้สึกไม่ดีเอามาก ๆ ครับ กับคนที่ไม่รู้จักศักดิ์ศรีตัวเอง ลืมกำพืด ไม่หนำซ้ำยังเอาประเทศไปยำยีด้วยการลงท้ายในจดหมายว่า ....แห่งประเทศไทย หากเปลี่ยนเป็นทำในนาม หัวหน้าพรรค ก็ไม่มีศักดิ์ศรีไปคน/กลุ่มก๊วนเดียว แต่นี่ทั้งประเทศนะครับ แถมโดนดูกถูกกลับแบบ "เย็นชาเฉย ๆ" จากเขาอีก ยังทำหน้าไม่อายอยู่ สุดทนครับ

เขาไม่ใช่ผู้นำ 
เขาเหยียบย่ำศักดิ์ศรี
เขาไม่ใช่ผู้ดี
เขาไม่มีชาติตระกูล
    เขาคงมีวันแตกดับ
    เขาคงตกอับดับสูญ
    เขาคงไร้ผู้เทิดทูน
    เขาคงไร้บุญจุนเจือ....

นักเรียนชั้นประถมศึกษายังรู้ถึงพฤติกรรมของเขา  ไม่ต้องห่วงเลยว่าพวกเขารู้เช่นเห็นชาติ  และไม่เอ่ยนามผู้นี้มานานแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท