๓๗.Transformative Learning โดยศิลปะและกระบวนการทางศิลปะ


๑๒-๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้มีงานสัปดาห์หนังสือ ผมจึงได้ไปเตร็ดเตร่ดูความเคลื่อนไหวของงานสร้างสรรค์และงานความรู้ที่สะท้อนอยู่ในหนังสือจากหลายสำนักพิมพ์ทั่วโลก แล้วก็ได้เห็นหนังสือดีๆหลายเล่ม ขอนำมาคุยแบ่งปัน สักเล่มสองเล่มทางด้านศิลปะ

ทั้งสองเล่ม จัดว่าเป็นงานแนวบูรณาการพหุปัญญา Integration and Multi-Intellectualistic และ Transformative Learning ซึ่งงานในแนวนี้ จะเป็นงานแนวข้ามโหมด ส่องทางกัน และสะท้อนซึ่งกันและกันแบบข้ามกรอบ ข้ามพรมแดนความแตกต่าง ซึ่งทางด้านศิลปะกับทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นั้น ปรากฏให้เห็นในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมาไม่มากนัก แต่ครั้งนี้มีความหลากหลายพอสมควร และโดยมากเป็นงานที่ผลิตออกมาไม่เกิน ๑๐ ปี

       เปิดพรมแดนศิลปะสู่ความรู้บูรณาการข้ามกรอบและข้ามศาสตร์

วิถีพหุปัญญาบนงานศิลปะแนวนี้ จะเห็นวิธีชมงานศิลปะอย่างเข้าถึงความซาบซึ้งและได้สัมผัสมิติสุนทรียภาพของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็อ่านภาษาศิลปะ ข้ามโหมดงานสร้างสรรค์ทางปัญญา ให้วิธีมอง วิธีวิเคราะห์ พิจารณา หยิบยืมวิธีการกันและกันไปมากับศาสตร์สาขาอื่น ทั้งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ วิพากษ์ และการสร้างความหมายของทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จิตวิทยาและศาสตร์ทางการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ได้ความรู้ความเข้าใจต่อโลกของสรรพสิ่งอย่างหลากมิติและรอบด้าน ซึ่งโดยทั่วไปนั้นเรามักรับรู้ว่างานศิลปะต้องให้ประสบการณ์ด้านความงามและสุนทรียภาพ ทว่า งานในแนวนี้ จะเห็นถึงบทบาทของกระบวนการทางศิลปะในการสร้างความรู้และสื่อสะท้อนความจริง

วิธีผสมผสานที่ทำให้ได้วิธีคิดและความรู้หลากมิติอย่างนี้ จะพบว่าแตกต่างจากการอ่านงานเขียนที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาก โดยจะเห็นทั้งความรู้เชิงลึกและความรอบด้านที่สะท้อนไปสู่มิติอื่นแบบก้าวกระโดด ดูสีสันและภาษาองค์ประกอบของศิลปะ-->แล้วก็สามารถเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบไปอธิบายสังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ พัฒนาการทางเทคโนโลยี และสารพัดที่เป็น Transformative Learning ในอีกแนวทางหนึ่ง

เหมือนกับฟังเพลง-->แล้วเขียนถ่ายทอดเป็นรูป | ดูรูป-->แล้วเขียนสะท้อนความคิดเป็นบทกวี | อ่านบทกวี-->แล้วก็กลับได้วิธีคิดแก้ปัญหาสังคมเชิงบวก | เขียนตัวอักษรและวาดรูปด้วยพู่กัน-->ก็สั่นสะเทือนภาวะภายในให้บรรลุธรรม | เลี้ยงลูกดีเห็นลูกประสบความสำเร็จ-->ทำให้เขียนรูปได้งดงามและเส้นอ่อนหวาน เหล่านี้เป็นต้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ จัดว่าเป็นความรู้และวิถีปัญญาที่สามารถกระโดดข้ามโหมด(Mode) ทั้งวิธีการ ลักษณะข้อมูล ชนิดของประสบการณ์ เปลี่ยนผ่านจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งราวกับเป็นคนละชนิดหรือปลูกถ่ายขึ้นใหม่ทั้งสารบบ ไม่มีความเกี่ยวเนื่องที่จะอธิบายได้ด้วยวิธีการคิดเชิงเดี่ยว  เหมือนกับเป็นโรคปวดหัวแล้วหาวิธีเปลี่ยนขนาดรองเท้าเลยทำให้หายปวดหัว ดังนี้เป็นต้น

       Art Practice as Research : Inquiry in Visual Arts    

                        

เล่มแรก   Art Practice as Research : Inquiry in Visual Arts   การเขียนรูปและกระบวนการทางศิลปะเพื่อเป็น Entry-Point เข้าสู่พรมแดนความรู้และงานทางปัญญาในมิติอื่นๆ รวมทั้งการใช้วิธีทำงานศิลปะและกระบวนการศิลปะเพื่อวิจัยและสร้างความรู้ที่ลึกซึ้ง

เมื่อประมาณปี ๒๕๔๙ ผมและกลุ่มนักวิชาการสหสาขาของมหิดล ประกอบด้วยอาจารย์นักวิทยาศาสตร์สุขภาพหลายสาขา ได้จัดเวิร์คช็อปกันโดยผสมผสานความเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และศิลปะ เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เดียวกัน ต่อมาก็บันทึกแนวคิดและวิธีการ การพัฒนาการคิดคลี่คลายโดยวิธีการทางศิลปะ[คลิ๊กเข้าไปชมและอ่านรายละเอียดที่นี่] ทำหมายเหตุขึ้นกรอบและแนวคิดทดไว้ก่อน จากนั้น ก็หาหนังสือและงานวิจัยอ่านศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นฐานสนับสนุนแนวคิดกับวิธีการคล้ายกับที่ได้พบอีกครั้งในครั้งนี้ แต่ก็หาไม่ได้ดังที่ต้องการสักที รวมทั้งในปี ๒๕๕๐ ก็ได้เขียนหนังสือการพัฒนาพลังทางศิลปะเป็นหมายเหตุความคิดไว้เพื่อศึกษาค้นคว้าและหาบทเรียนจากประสบการณ์ในการทำงานเชิงสังคมต่อไป [คลิ๊กเข้าไปอ่านรายละเอียดและโหลดฟรีที่นี่ หนังสือ การพัฒนาพลังทางศิลปะ]

เมื่อกว่า ๑๕ ปีก่อน ก็เคยอ่านบทความและงานเขียนของต่างประเทศพอได้สะดุดความคิดที่สอดคล้องกับสิ่งที่กรุ่นอยู่ในใจได้บ้าง แต่ครั้งนั้นก็พบว่าเป็นงานเขียนที่ผู้เขียนพยายามพิจารณาจากทรรศนะนักวิทยาศาสตร์สังคม ซึ่งให้ความลึกซึ้งและเผยให้เห็นความเป็นจริงในมุมมองใหม่ๆหลายประการด้วยกัน ทว่า ก็มีข้อจำกัดด้วยขาดจุดยืนในการพิจารณาด้วยทรรศนะคนทำงานศิลปะ แม้หลายเรื่องจะพยายามใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนทำงานมาเป็นแหล่งอ้างอิงชั้นต้น แต่ก็เข้าถึงได้เพียงความรู้ระดับทรรศนะวิพากษ์เท่านั้น ไม่สามารถกล่าวถึงมิติเชิงสะท้อนโลกและการแสดงความความหมายออกมาจากวิธีการทางศิลปะโดยตรง

Art Practice as Research : Inquiry in Visual Arts เล่มนี้ ก็ให้ความรู้ในด้านที่ขาดหายไปจากที่ได้กล่าวถึงข้างต้น โดยเป็นการเดินออกจากกรอบตนเองของนักวิชาการศิลปะไปสู่ทรรศนะที่ขยายกรอบครอบคลุมไปถึงพรมแดนอื่นนอกเหนือจากมิติความงามและสุนทรียภาพ แต่ก็มีข้อจำกัดในการพิจารณาด้วยทรรศนะสาขาอื่นที่มองเข้ามายังศิลปะดังที่ปรากฏอยู่ในงานที่ได้กล่าวมา

กระนั้นก็ตาม ก็นับว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ของการเดินเข้าหาความเป็นเอกภาพความต่างกันของปัจเจกและสังคม ทำให้เห็นได้มากขึ้นว่าบทบาทของศิลปะมิได้มีมิติเดียว ทว่า เป็น Entry-Point เพื่อสร้างความรู้อย่างเป็นระบบ เดินเชื่อมโยงไปหาทรรศนะและศาสตร์สาขาอื่น พร้อมกับสามารถให้ทรรศนะการเข้าใจและจัดความสัมพันธ์ในกรอบใหม่ๆที่งดงามและเติมเต็มให้แก่กันได้มากยิ่งๆขึ้น ในทรรศนะผมแล้ว ถือว่าเป็นสัญณาณความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของวิธีวิทยาในการสร้างความรู้ (Knowledge Creation) และวิธีเห็นโลกของสรรพสิ่ง(Ways of Knowing) ที่นำเสนอออกมาจากนักวิชาการทางศิลปะและสังคมวิทยาศิลปะแนวบูรณาการ 

       Art : The Definitive Visual Guide      

                         

                        

                        

อีกเล่มหนึ่ง คือ...  Art : The Definitive Visual Guide  คอหนังสือและคอศิลปะเห็นแล้วต้องครางฮือเลยทีเดียว

โดยเนื้อหาแล้ว หนังสือ Art : The Definitive Visual Guide ราวกับเป็น Encyclopedia ทางศิลปะของโลกที่จะสามารถแยกเล่มได้สัก ๔๐ เล่มของ ๔-๕ ยุคสมัย สักยุคละ ๑๐ เล่มย่อยๆ นับแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโบราณ ยุคศิลปะสมัยใหม่ กระทั่งความเคลื่อนไหวที่เป็นความก้าวหน้าทางศิลปะของทั่วโลก ทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

นอกจากนี้ บทนำของหนังสือซึ่งเหมือนกับผนวกตำราว่าด้วยหลักทฤษฎีทางศิลปะกับการวิเคราะห์ทางศิลปะและสังเคราะห์แบบแผนที่สะท้อนอยู่ในศิลปะต่างๆทั่วโลกเข้าไว้ให้เกิดปัญญาและทรรศนะอันกว้างขวาง ก็ให้หลักเกณฑ์การชมและเรียนรู้โลกกว้างผ่านการชมงานศิลปะซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยได้รู้จัก สมกับเป็นหนังสือและตำราที่พาท่องเข้าไปในประสบการณ์ปัญญาสร้างสรรค์ด้านศิลปะของทั้งโลกด้วยวิธีการต่างๆหลายวิธี

ภายในเล่มมีผลงานของศิลปินและจิตรกรทั้งหมดที่เราเคยรู้จักและไม่เคยรู้จักอย่างพรักพร้อมเป็นที่สุด รวมทั้งงานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่เป็นลายมือและจิตวิญญาณของสังคมต่างๆ ซึ่งรวมถึงของประเทศไทย กลุ่มประเทศอาเซียน และทุกอารยธรรมของโลก

ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในหนังสือหนาเตอะเล่มเดียว ความหนา ๖๑๑ หน้า ขนาดกระดาษ A3 เจียนขอบย่อมกว่าหนังสือมติชนสุดสัปดาห์นิดหน่อยเท่านั้น ภาพประกอบ ๔ สีบนกระดาษอาร์ตด้าน ๘๐ แกรม ซึ่งทำให้คุณภาพการพิมพ์ ความคมชัด การแสดงผลด้านสีสัน และมิติ Half-Tone ให้ความงดงามสมกับเป็นหนังสือชั้นเยี่ยมทางศิลปะ

ผมเห็นขนาดนี้แล้วเลยได้แต่นั่งดู เปิดชม แล้วก็ลูบๆคลำๆอยู่เป็นนาน ไม่คิดว่าจะซื้อ และมั่นใจว่าไม่มีกำลังซื้อเป็นของตนเองแน่นอน เพราะเมื่อก่อนนี้ หนังสืออย่างที่พรรณามานี้ ควรจะเล่มละหมื่นกว่าบาท จึงต้องขอนั่งลง จมอยู่กับกองหนังสือ เพื่ออ่านและชมภาพเร็วๆ เป็นชั่วโมง แต่เจ้าของและพนักงานขายมาบอกว่าเล่มละ ๒,๙๐๐ บาท ทำให้รีบตัดสินใจซื้อเพราะเหลืออยู่เล่มเดียวด้วย แล้วก็สั่งเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้มีไว้เพื่อศึกษาค้นคว้าด้วย

หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนที่ระดมนักวิชาการแนวนี้มาร่วมกันเขียน ๑๒ คน Andrew Graham-Dixon เป็นบรรณาธิการที่ปรึกษา และมีบรรณาธิการร่วมกัน ๔ คน เป็นหนังสือออกเมื่อปี ๒๐๐๘ หรือ ๒๕๕๑ เมื่อปีกว่ามานี้เอง

เนื้อหาของหนังสือ นำเอางานศิลปะมาเป็นจุดเริ่มต้นเปิดเข้าสู่พรมแดนต่างศาสตร์ สรรพวิชา และมิติใหม่ๆของ ความงาม ความดี ความจริง และสุนทรียภาพ ทำให้เห็นความสะท้อนกันและกันในความสร้างสรรค์ของมนุษย์จากสังคมต่างๆทั่วโลก ข้ามยุคสมัยครอบคลุมกรอบเวลากว่า ๕,๐๐๐ ปี กล่าวได้ว่าข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงของโลกจนเป็นของสากลที่ไม่ปรากฏเชื้อชาติและขอบเขตประเทศอย่างเจาะจงเลยทีเดียว เห็นความร่วมกันและความเป็นสากลที่ปรากฏในงานศิลปะ มากกว่าที่เคยเห็นจากวิธีการอธิบายสังคมโลกในศิลปะก่อนหน้านี้

กระนั้นก็ตาม ก็มีความเป็นการศึกษาโดยใช้กรอบการพิจารณาอิงอยู่กับศิลปะยุโรป อเมริกา และสังคมโลกตะวันตก รวมทั้งวิธีวิเคราะห์โดยใช้ภาพรวมในภูมิภาคต่างๆของโลก เป็นหลัก ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดในการเห็นความหลากหลายในแง่มุมที่ต่างออกไป โดยเฉพาะศิลปะและงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ในการดำรงอยู่ของสังคมต่างๆ

แล้วจะค่อยๆย่อยมาแบ่งปันให้ฟังนะครับ คอศิลปะและคนทำงานแนวบูรณาการต้องชอบแน่นอน.

.......................................................................................................................................................................

เรื่องที่ ๑ Assemblage,Junk, and Land Art
            เมื่อขยะ ความเปล่าร้าง สื่อพลังสร้างโลกของเมือง

หมายเลขบันทึก: 376190เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

ภาษา ไวยากรณ์ จิติวิญญาณ มิติสังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อมของศิลปะ : ส่วนต้นของหนังสือ เป็นเนื้อหาที่ต่างออกไปจากที่เคยเห็นในหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะพบว่าหนังสือศิลปะระดับนี้ จะเน้นเพื่อการเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาและคนทำงานทางศิลปะ เนื้อหาและวิธีพิจารณาองค์ประกอบต่างๆจะมีความเฉพาะด้าน ผู้สนใจทั่วไปหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นที่มุ่งแสวงหาความรู้ทางศิลปะ จะสามารถเข้าถึงได้อย่างจำกัด

แต่ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากมีเนื้อหาและวิธีพิจารณางานศิลปะของทั่วโลกในลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกันแล้ว ก็เห็นแนวทางการอธิบายและสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปะที่เพิ่มขึ้นมาอีก ๓ มิติ กล่าวคือ

  • เดินออกจากพรมแดนทางศิลปะสู่มิติอื่น : การแสดงให้เห็นความงาม และมิติสุนทรียภาพในความหมายอื่นหรือในทรรศนะของศาสตร์สาขาอื่น เช่น การนำเอาเนื้อหาด้านสังคม สงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมประเทศต่างๆของโลก มาเป็นเรื่องราวและองค์ประกอบการนำเสนอทางศิลปะ เดินออกจากพรมแดนทางศิลปะเข้าไปสู่มิติอื่นๆของประกฏการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • การก้าวเข้าสู่พรมแดนศิลปะเพื่อเข้าถึงความรู้และทรรศนะการมองโลก : การวิเคราะห์และวิพากษ์ให้เห็นบทบาทของการบันทึกและสะท้อนเหตุการณ์รว่มสมัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆทั้งของสังคมท้องถิ่นและสังคมโลก ที่ปรากฏอยู่ในงานศิลปะ ทั้งเรื่องราวของผลงานศิลปะและสิ่งที่เป็นสื่อทำงานศิลปะ เช่น สี ดิน โลหะ และวัสดุต่างๆ เป็นการนำผู้ชมนอกพรมแดนทางศิลปะ ให้ก้าวเดินเข้าสู่พรมแดนทางศิลปะ สามารถอ่าน และเห็นอีกมิติหนึ่งของการสะท้อนโลกของสรรพสิ่งด้วยภาษาและวิธีการทางศิลปะ ซึ่งเผยให้เห็นถึงความมั่งคั่งของญาณทรรศนะและภูมิปัญญาของโลกมากยิ่งๆขึ้น
  • การผุดอีกมิติของความเป็นสากลและความร่วมกันของมนุษย์ : ความเหนือพรมแดนความรู้และความเป็นสากลของมนุษย์ : ในหนังสือไม้ได้กล่าวถึงมิตินี้อย่างเจาะจง แต่การทบทวนมิติต่างๆของศิลปะอย่างรอบด้าน โดยนำเอาหลักฐานของงานศิลปะจากแหล่งต่างๆทั่วโลก เป็นแหล่งการอ้างอิง วิพากษ์ แล้วก็ให้บทสรุปในหลักการทั่วไป ก็ทำให้เห็นมิติที่ ๓ ของความเป็นมรดกทางปัญญาและความสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เป็นสากล

                       

                        ภาพที่ ๑ การวิเคราะห์และสังเคราะห์แบบแผนของสี ทำให้สามารถเห็นมิติของภาษาและไวยากรณ์ทางศิลปะที่ลึกและหลากหลายมิติมากกว่าความเป็นศิลปะทัศนธาตุ(Art Elements) 

                       

                        ภาพที่ ๒ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ทีแปรงและพื้นผิว Stroke and Texture ซึ่งปรกติแล้วจะเป็นวิธีการที่เข้าถึงอยู่ในจำเพาะกลุ่มคนทำงานศิลปะและผู้ที่สนใจอย่างลึกซึ้งจำเพาะกลุ่มแคบๆเท่านั้น

                       

                        ภาพที่ ๓ การศึกษาพัฒนาการทางวิทยาการและเทคโนโลยี ให้วิธีพิจารณาลงไปในรายละเอียดของงานศิลปะซึ่งทำให้สามารถศึกษาและเห็นมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมได้กว้างขวางและลึกซึ้งมากยิ่งๆขึ้น เช่น ชนิดของสี จำนวนความหลากหลายของสีซึ่งสะท้อนการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีในการผลิตวัตถุทำสี รวมทั้งสะท้อนการติดต่อทางเศรษฐกิจและสังคม แลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างกันของประเทศต่างๆ

                       

                        ภาพที่ ๔ การศึกษาแบบแผนคลาสิคของศิลปะในสังคมภูมิภาคต่างๆของโลก รวมทั้งของประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน

                         

                         ภาพที่ ๑ : ศิลปะจัดวาง ผสมผสานองค์ประกอบของมนุษย์และสังคม เข้ากับองค์ประกอบที่มีอยู่โดยธรรมชาติของโลก เมือง สิ่งแวดล้อม ธรรรมชาติ ทะเล ภูเขา สายลม กลางวันและกลางคืน ให้ประสบการณ์ต่อองค์ประกอบทางกายภาพที่เข้าถึงมิติจิตวิญญาณและพลังด้านในของสังคมมนุษย์

                         

                        

                         ภาพที่ ๒ และ ๓ : สงคราม ทั้งในแง่ความสะเทือนจิตใจจากสงคราม การสื่อสะท้อน การทำหมายเหตุในฐานะความเป็นผู้สังเกตการณ์หรือตาที่ ๓ ของสังคม (Observer) ของคนทำงานศิลปะในแต่ละยุคสมัย และการทำบันทึกเหตุการณ์ทางสังคม ก็เป็นความเคลื่อนไหวในอีกมิติหนึ่งที่ให้วิธีคิดและนำเสนอวิธีพิจารณาอย่างใช้ปัญญาต่อวิกฤตการณ์ทางสังคม ทั้งแยบคายและเข้าถึงความมีจิตใจและความรู้สึกต่อสถานการณ์ทางสังคม ในสภาวะแวดล้อมที่สามารถคิดหาทางแก้ไขได้

  • ชอบหนังสือแนวนี้ครับ
  • Transformative Learning
  • แต่เอามาเรียนบูรณาการทางภาษา
  • เลยได้การเคลื่อนไหวที่มาจากภาษาอังกฤษว่า

A big melon

Cut the left, cut the right

You take one half

I take another….Ah….!!

Huang Ho River

Comes from the heaven

Passing my house

I take them all…Ah…!!

นักศึกษาออกแบบท่ารำมวยจีนเองเลยออกมาแบบนี้ครับ

ภาพล่างคนนำ s(he) เป็นผู้ชายครับ  เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

  • อาจารย์ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ผมซื้อมา ๓-๔ ปีแล้ว เป็นหนังสือแนว Reading guide ให้เข้าถึงความอลังการของวิธีคิดมนุษย์ในภาษากวีและประพันธการ
  • กลบทจากบทกวีที่อาจารย์นำมาแบ่งปันกันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่ง น่าศึกษามากครับ ง่ายแต่มีพลัง
  • เป็นวิธีแบบ Comparative Logic ให้ตัวบทเพื่อเห็นหลักคิดก่อน ๑ บท จากนั้น ก็ใช้ตรรกะเดียวกัน ทว่า อ้างอิงไปเข้าใจให้แยบคายในอีกบริบทหนึ่ง
  • ทำให้เห็นและรู้สึกได้อย่างอลังการถึงวิธีดื่มกินน้ำ ให้ได้ความเป็นหนึ่งกับผืนดิน โลก แม่น้ำหวงเหอ และจักรวาล
  • อาาา....มิตรภาพ (จากการแบ่งผลแตงโมกินด้วยกัน)  ช่างยิ่งใหญ่ดั่งหวงเหอหยาดจากสวรรค์ ไหลผ่านภูเขา แผ่นฟ้า และผืนพิภพ ประมาณนั้น
  • จัดว่าเป็น Transformative Learning ได้ครับ ขงจื้อบอกว่า ด้วยการใช้ปัญญาที่แยบคายนั้น แม้นั่งอยู่ในห้องคับแคบ มองลอดไปนอกหน้าต่าง ก็สามารถเห็นโลกกว้าง ก็คงจะมีลักษณะแบบ Transformative Learning นะครับ
  • คนหลายยุคหลายสมัย เห็นลูกแอปเปิ้ลหล่น ก็เห็นแค่แอปเปิ้ลดิบและแอปเปิ้ลสุกตามๆกันมาหลายร้อยพันปี ทว่า Newton กลับเห็นแรงดึงดูดและสมการแรงโน้มถ่วงของโลก ข้ามโหมด ก้าวกระโดดผ่านเรื่องอาหารและของทิ้งขว้าง ไปสู่การได้แรงบันดาลใจ สร้างหลักเกณฑ์เข้าถึงธรรมชาติและโลกของสรรพสิ่งในวิถีของเขา ทำนองนี้น่ะครับ
  • s(he) นี่ ถือว่าเป็นพัฒนาการของสังคมสมานฉันท์ เป็นความปรองดองทางเพศหญิงและชาย ไม่เลือกข้าง ได้เหมือนกันหรือเปล่านะครับ เป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษที่สนุกและได้พัฒนามิติอื่นๆไปด้วยหลายอย่างเลยนะครับ
  •                         

    "ศิลปะ ชำระล้างฝุ่นผงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ให้ออกไปจากจิตวิญญาณปาโบล ปิกัสโซ  : อีกนิยามและความหมายหนึ่งของศิลปะ ที่ปกหลังนอกของหนังสือเล่มนี้

    วันที่ 28 เดือนนี้ตั้งใจจะไปเยี่ยมอาจารย์วิรัตน์ครับ ไม่ใช่อาจารย์ผม ฮา แต่ขอเลื่อนไป 28 สิงหาคมครับ เพราะพี่ครูอ้อยจัดค่ายที่โรงเรียน ( 28 สิงหาคมนะครับ)

    • ว่าแล้วเชียว
    • โชคดีนะครับที่ผมเอะใจ

    วันที่ 28 สิงหา 53 วันดีเดย์ค่ะพี่อาจารย์..พี่น้องทำงานร่วมกันคงมันพะยะค่ะ..น้องดร.จะย่ำแย่หรือเปล่าก็ไม่ทราบเลยนะคะพี่อาจารย์งานนี้...

    -เห็นหนังสือพี่อาจารย์แล้วตาร้อนจริงๆเลยค่ะ...การรวมกันของคนที่ชอบเหมือนกันเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาได้งดงามน่าชื่นชมมากค่ะ..

    -ในส่วนของน้องครูอ้อยเล็ก กลับมาจากการอบรมวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญที่พัทยาในครั้งนี้ก็มีความยินดีในใจ..ว่าการทำงานที่ชอบอย่างสม่ำเสมอ พัฒนาสร้างสรรค์ไปบนรากฐานของความเป็นคนไทย ประยุกต์ใช้ศิลปะไทยที่มีในสายเลือด ก็สามารถนำพาเราเข้าสู่การนำเสนอผลงานเชี่ยวชาญได้อย่างไม่ต้องมีกังวลใดๆคือส่งไปถ้าเขายอมรับคือยอมรับ เราก็ผ่านเชี่ยวชาญไปได้ แต่ถ้าส่งไปเขาไม่ยอมรับเราก็ส่งใหม่ก็เท่านั้น...แต่ไม่หยุดงานที่ชอบ...การพัฒนาสื่อศิลปะในเรื่องของศิลปะภูมิปัญญา....เรื่องเรียงร้อยความเป็นไทย  http://www.watchari.com/board/index.php?topic=318.0 

    ศิลปะกับภูมิปัญญา...เรื่อง ของขวัญจากก้อนดิน  http://www.watchari.com/board/index.php?topic=319.0 

    หุ่นฟาง.."จินตนาการจากท้องทุ่ง"http://www.watchari.com/board/index.php?topic=317.0

    ก็ล้วนจัดอยู่ในผลงานทางวิชาการในเรื่องอื่นๆได้ค่ะพี่อาจารย์เลยมีแรงลุยต่ออีก...คงเจริญรอยตามกันไปอย่างที่ว่า.."ทำงานแล้วมีความสุข สนุกที่ได้ทำงาน"

    วันนี้เล่าพอสังเขป..เพิ่งกลับมาถึงเมื่อประมาร 6 โมงเย็น มีเวลาตวจเช็คเว็บตัวเอง..ปรากฎว่าภาพที่ฝากไว้หมดอายุ..เลยต้องใส่Url ของภาพแล้วปริ้นสกีนหน้าจอ..ตกแต่งภาพแล้วนพมาฝากไว้ในโกทูโน..ต่อไป..ต้องค่อยๆไล่ไปค่ะ..

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ

  • อย่าลืมเจียดเวลานำมาบันทึกแบ่งปันให้ได้อ่านกันบ้างนะครับ
  • แวะเข้าไปอ่านเว็บและผลงานของน้องคุณครูอ้อยเล็กแล้วละครับ พลังเยอะจริงๆ
  • หนังสือนี้ จะพยายามอ่านและย่อยมาแบ่งปันกันเป็นระยะๆครับ
  • หลายเรื่อง เมื่อครั้งทำงานศิลปะและเป็นนักเรียนศิลปะ ก็ได้สัมผัสมาแล้วมากมาย แต่ตอนนี้ พอนำเอาหนังสือเก่าๆมานั่งอ่าน เอารูปเขียนมานั่งดู ก็มักได้เห็นความเชื่อมโยงและเห็นรายละเอียด ที่เมื่อก่อนนี้ไม่ค่อยได้รู้จัก อีกหลายเรื่อง
  • อย่างเมื่อวานก่อนนี้ ผมเห็นเครื่องเล่นเทปที่บ้านต่างจังหวัด แล้วก็เห็นตลับเทปรวมเพลงของ The Eagle ความที่ไม่ได้เล่นเทปเพลงฟังมานับสิบปีแล้วนับแต่สังคมยุคดิจิตอลทำให้สื่อทะลักและเฝือไปหหมด ก็เลยลองเอาเทปใส่เครื่องเล่นและฟังดู โอ้โฮ ...มันช่างนุ่มนวล ไพเราะ จนแทบอยากจะกลับไปนั่งรื้อเทปเพลงเก่าๆออกมาปัดฝุ่นและนั่งฟังใหม่หลายชุด
  • การได้ความหมายและความซาบซึ้งใหม่ๆจากสิ่งที่มีอยู่ ทั้งของเราเองและในสภาพแวดล้อมที่ร่วมประสบการณ์ ร่วมกาลเทศะกับเรา อยู่เสมอ เป็นศิลปะในการมองและสร้างประสบการณ์จากการเห็นอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ นำมาแบ่งปันกันดูก็คงให้ความสุข ได้สะสมแนวคิดสำหรับสร้างแรงบันดาลใจของคนทำงาน หลากหลายมากยิ่งๆขึ้น
  • ขอให้มีความสุข ได้ความสำเร็จ และเกิดการค้นพบสิ่งดีๆ จากการเดินบวกการทำงานเพื่อเด็กๆด้วยกันของน้องคุณครูอ้อยเล็กกับอาจารย์ ดร.ขจิต นะครับ
  • หากได้ลองถอดบทเรียนหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมดู ก็น่าจะเห็นแนวคิดและวิธีบูรณาการประสบการณ์ศิลปะ+ภาษาอังกฤษ+การเรียนรู้ด้วยการมีส่วนร่วมแบบ Active Learning การสอนเป็นทีมแบบ Interdisciplinary Team Teaching และการแสวงหาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาทางการปฏิบัติเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้และการแปรแนวนโยบายใหม่ๆทางการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งบล๊อก อินเทอร์เน็ต และการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองของครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นปัจจัยเงื่อนไขที่อำนวยความสะดวกและเอื้อให้ 'คนที่มีไฟ' สามารถริเริ่มและช่วยกันสร้างให้เกิดโอกาสดีๆขึ้นมาได้ อย่างนี้ เป็นความริเริ่มที่น่านำมาถอดบทเรียนและบันทึกรายงานรูปแบบการค้นพบทิ้งๆไว้ก่อน มากเลยนะครับ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์

    กำลังสนใจพหุปัญญาอยู่พอดีเลยค่ะ

    วันก่อนได้หนังสือ "พหุปัญญาประยุกต์" มา อ่านแล้วสนุกดีค่ะ ผู้เขียนท่านประยุกต์ใช้กับวิธีการสอนเด็ก

    อยากอ่านที่อาจารย์จะทยอยนำมาบันทึกต่อแล้วซีคะ

    สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ

    • แล้วจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ เป็นการพากันไปชมการแสดงงานทางศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ
    • อยากอ่านแนวคิดและวิธีการของพหุปัญญาประยุกต์ มากด้วยเช่นกันนะครับ
    • หากมีโอกาสละก็ คุณณัฐรดาอย่าลืมนำมาถ่ายทอดและแบ่งปันให้ได้อ่านไปด้วยบ้างนะครับ

    ทฤษฎีพหุปัญญา Theory of Multiple Intelligences อ้างในนพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

    เด็กที่ไม่เก่งคณิตศาสตร์ อาจจะมีความสามารถในการใช้ภาษาดี

    เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ และภาษา อาจเป็นเลิศทางศิลปะ

    เด็กที่ไอคิวปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางกีฬา

    เด็กที่ไอคิวต่ำกว่าปกติ อาจเป็นอัจฉริยะทางดนตรี

    เด็กที่ไอคิวสูง ก็อาจไม่มีเรื่องใดโดดเด่นเลย

    เด็กที่ไม่เก่งทั้งคณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี กีฬา และศิลปะ

    ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข มีเพื่อนฝูงมากมาย ได้เช่นกัน

    การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาด หรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้าเรานำระดับสติปัญญาหรือไอคิว ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นมาตรวัด ก็อาจได้ผลเพียงเสี้ยวเดียว เพราะว่าวัดได้เพียงเรื่องของภาษา ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบในปัจจุบันไม่สามารถวัดได้ครอบคลุมถึง เช่น เรื่องของความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น

    ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลาย โดยคิดเป็น “ ทฤษฎีพหุปัญญา ” (Theory of Multiple Intelligences) เสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป

    ในปี พ.ศ. 2526 การ์ดเนอร์ ได้เสนอว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 7 ด้าน คือ ด้านภาษา ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านการเข้าใจตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ด้าน คือ ด้านธรรมชาติวิทยา เพื่อให้สามารถอธิบายได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า พหุปัญญา ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 8 ด้าน ดังนี้

    1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)

    คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง

    2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)

    คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร

    3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligence)

    คือ ความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์

    สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น

    4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)

    คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม

    5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)

    คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง

    6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)

    คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ

    7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)

    คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด

    มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย

    8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)

    คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ

    ทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นความสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้

    1. แต่ละคน ควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ปัญญาด้านที่ถนัด เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้

    2. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ควรมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้สอดรับกับปัญญาที่มีอยู่หลายด้าน

    3. ในการประเมินการเรียนรู้ ควรวัดจากเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถครอบคลุมปัญญาในแต่ละด้าน

    ทฤษฎีพหุปัญญา ของการ์ดเนอร์ ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมีหลายด้าน หลายมุม แต่ละด้านก็มีความอิสระในการพัฒนาตัวของมันเองให้เจริญงอกงาม ในขณะเดียวกันก็มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน เติมเต็มซึ่งกันและกัน แสดงออกเป็นเอกลักษณ์ทางปัญญาของมนุษย์แต่ละคน

    คนหนึ่งอาจเก่งเพียงด้านเดียว หรือเก่งหลายด้าน หรืออาจไม่เก่งเลยสักด้าน แต่ที่ชัดเจน คือ แต่ละคนมักมีปัญญาด้านใดด้านหนึ่งโดดเด่นกว่าเสมอ ไม่มีใครที่มีปัญญาทุกด้านเท่ากันหมด หรือไม่มีเลยสักด้านเดียว

    นับเป็นทฤษฎีที่ช่วยจุดประกายความหวัง เปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการศึกษาด้านสติปัญญาของมนุษย์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งในกลุ่มเด็กปกติ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กที่มีความสามารถพิเศษ

    บทความนี้ยินดีให้นำไปเผยแพร่เพื่อความรู้ได้ โดยกรุณาอ้างอิงแหล่งที่มา

    ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. ทฤษฎีพหุปัญญา. [Online] 2549; Available from: URL: http://www.happyhomeclinic.com/a01-multiple intelligence.htm

    สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็กครับ

    • ตัวเล็กจนแทบจะต้องถลนตาเอาไปแปะที่หน้าจออย่างแมลงวันเลยละครับ
    • ได้ความรู้ดีครับ เคยเห็นท่าน ศาสตราจารย์ ดร.วิรุฬ ตั้งเจริญ อธิการบดี มศว.ประสานมิตรท่านพูดถึงอยู่เมื่อหลายปีมาแล้ว แล้วก็ดูเหมือนผมจะได้อ่านจากที่ไหนสักแห่ง ...จากบทความของคุณณัฐรดาหรือเปล่านะครับ รู้สึกว่าเมื่อไม่นานมานี้เอง
    • เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายวิธีพัฒนาคนอย่างไม่แยกส่วนอีกแนวหนึ่งที่น่าสนใจนะครับ
    • เป็นแนวการพัฒนา Individualist ที่สอดคล้องกับแนวคิด Mastery Learning ของ Bloom ที่เชื่อว่าปัจเจกทุกคนค้นพบและเข้าถึงความเป็นเลิศในตนเองซึ่งมีอย่างแตกต่างกันได้ทุกคน เหมือนกันนะครับ
    • แต่แนวพหุปัญญญานี่นอกจากจะเน้นความเป็นเลิศว่ามีอยู่หลายด้านแล้ว ก็เน้นการพัฒนาความเป็นเลิศที่มากกว่า ๑-๒ ด้านขึ้นไปในปัจเจกคนหนึ่ง
    • ในแนวประชาคมที่เน้นวิธีทำงานแบบรวมกลุ่มของปัจเจก กับแนววิถีชุมชน ก็น่าจะนำเอาแนวคิดอย่างนี้ไปเป็นแนวคิดได้ด้วยเช่นกันครับ
    • แต่พอหน่วยการพิจารณายกขึ้นจากระดับปัจเจกบุคคล เป็นระดับกลุ่มคนและระดับชุมชน ก็จะมีแนวคิดเรื่อง Collective Leadership และ Potential-Social Capital เข้ามาช่วยเป็นแนวคิดสำหรับชี้นำการปฏิบัติ
    • การรวมกลุ่ม และภาวะผู้นำที่หลากหลายของหมู่คณะนั้น ก็มีแนวคิดและแนวอธิบาย ที่พอจะกล่าวโดยสรุปได้อย่างนี้ว่า....หากได้วัฒนธรรมการทำงานด้วยกันในวิถีการเรียนรู้เชิงปฏิสัมพันธ์ในแนวราบหรือแนวประชาคม กลุ่มการรวมตัวกันของปัจเจกและความเป็นชุมชน ก็จะผลิตพลังพหุปัญญาออกมา ให้คนเรามีความสามารถช่วยกันแก้ปัญหายากๆและสร้างความเป็นส่วนรวมได้เป็นอย่างดี ดูๆแล้วก็จะคล้ายกันเหมือนกันนะครับ
    • แต่แนวคิดที่เน้นการรวมกลุ่มของปัจเจก และเน้นวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ความเป็นส่วนรวมด้วยความเป็นชุมชนอาจจะมีข้อปลีกย่อยที่ต่างขึ้นมาอีกนิดหน่อย
    • นอกจากความเป็นเลิศหลายๆด้านของแต่ละคนระดับปัจเจกแล้ว เขาเชื่อว่าทุกคนเป็นทุนศักยภาพและทุนมนุษย์ของสังคม แม้ในคนที่อาจจะไม่ได้มีความฉลาดที่พอจะสามารถระบุออกมาเป็นด้านได้อย่างเจาะจง อีกทั้งตลอดชีวิตก็อาจจะไม่ได้ตายตัวอยู่กับความสนใจเพียงบางด้านอย่างแยกส่วน เมื่อมีพื้นฐานความเป็นชุมชนและการพัฒนาวิธีเรียนรู้ที่จะระดมพลังผสมผสานกันที่ดีได้ พลังเชิงบวกและภาวะผู้นำอย่างพหุปัญญา ก็จะเกิดขึ้นอย่างทวีคูณ ซึ่งก็จะเหมาะสมสำหรับการอยู่ร่วมกันของทุกคนไปอีกแบบหนึ่ง
    • ในแนวคิดอย่างหลังนี้ มีแง่มุมที่จะก่อเกิดจาก 'ความร่วมกัน' ซึ่งเมื่อแต่ละคนอยู่ตามลำพังแล้วจะไม่สามารถมีและเกิดขึ้นได้คือ เมื่อมีพื้นฐานความเป็นกลุ่มก้อนและชุมชนแล้ว ความมีใจต่อใจและความสามารถสื่อพลังแห่งความเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนหมู่คณะ ก็จะทำให้แต่ละคนเป็นความบันดาลใจซึ่งกันและกัน ซึ่งองค์ประกอบจากพลังความร่วมกันในลักษณะดังกล่าวนี้ จะสามารถทำให้คนไม่ฉลาดกลายเป็นคนฉลาดได้ และคนฉลาดที่ตีบตันทางความคิดก็จะเกิดความบันดาลใจ ดึงพลังสร้างสรรค์ในตัวเองออกมาได้อย่างมากมาย
    • สองแนวคิดนี้บวกกัน ก็จะยิ่งทำให้เราได้แนวคิดสำหรับปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆในเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งๆขึ้นเลยนะครับ

    ตอนแรกเจอตัวหนังสือยาว ๆ กับหนังสือศิลปะภาคภาษาอังกฤษของบันทึกนี้ก็ใจไม่ค่อยสู้ที่จะอ่าน

    พอค่อย ๆ มาตามอ่านทีละน้อย ได้ข้อมูลที่น่าสนใจและน่าสนุกดีค่ะ ทั้งสิ่งที่อาจารย์พยายามย่อยมาให้อ่าน และการแลกเปลี่ยนความคิดกับสมาชิกท่านอื่น

    ข้อมูลเรื่องทฤษฎีพหุปัญญาที่คุณอ้อยเล็กนำมาฝากก็น่าสนใจมากค่ะ พอดีตรงกับเรื่องที่ใบไม้ฯ สนใจอยู่

    การอ่านเรื่องที่สนใจโดยไม่ใช่เพื่อส่งการบ้านหรือส่งงานนี่สนุกนะคะ ช่วงนี้กำลังสนุกกับการตามอ่านสิ่งที่สนใจอยู่ค่ะ

    เรื่องตัวหนังสือหน้าจอคอมฯ ที่เล็กเกินไป อาจารย์สามารถกด CTRL ค้างไว้ แล้วกด + ตัวหนังสือหน้าจอจะขยายใหญ่ขึ้นค่ะ ถ้าจะลดขนาดตัวหนังสือก็สามารถกด CTRL ค้างไว้ แล้วกด - เลือกขนาดตัวหนังสือให้ไม่ทำร้ายดวงตาเราเกินไป จะได้สนุกกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในโลกไซเบอร์ได้นาน ๆ ไงคะ

    ขอบคุณความรู้จาก อ.วิรัตน์ และ คุณอ้อยเล็กไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ..^__^..

    สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง ย้อนแสงครับ

    • ดีจังเลยครับที่เข้ามาเสวนากันในมุมนี้ด้วย
    • การศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้แบบพหุปัญญา นอกจากจะเป็นหลายมิติของการเข้าถึงความเป็นเลิศในตนเองของปัจเจกแล้ว หากนำเอาทรรศนะการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้ามาทำความเข้าใจ ก็จะสามารถเห็นอีกด้านหนึ่งได้เหมือนกันครับ
    • ในวิธีมองของการทำงานศิลปะแบบพหุปัญญานั้น มีคำกล่าวที่มักได้ยินกันอยู่เสมอว่า 'ศิลปะส่องทางกัน' ซึ่งทรรศนะดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ปัจเจกบางคนเหตุใดจึงมีความสามารถชนิดสุดยอดได้หลายด้าน เช่น ในสังคมไทย อย่างกรณีของอังคาร กัลยาณพงศ์นั้น ก็จะเห็นว่าสุดยอดทั้งทางด้านกวีนิพนธ์ และงานจิตรกรรม ซึ่งงานกวีนิพนธ์นั้นเป็นเรื่องของฉลาดทางภาษา ส่วนงานจิตรกรรมนั้นเป็นความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ เป็นคนละหมวดข้อมูล ซึ่งถ้าหากใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผล ก็ไม่สามารถประมวลผลข้อมูลภาพให้ออกไปเป็นบทกวีนิพนธ์ได้
    • ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ก็เป็นเลิศทั้งด้านจิตรกรรม กวีนิพนธ์ วรรณกรรม การแต่งเพลง การเล่นดนตรี และการร้องเพลง หรือแทบจะเรียกว่าเกือบทุกสาขาทางศิลปะและงานสร้างสรรค์เพื่อสุนทรียภาพ เขาทำได้ชนิดที่อยู่ในขั้นถึงที่สุดและนำเสนอต่อสาธารณะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในทุกสาขา
    • ถวัลย์ ดัชนีย์ พูดและเขียนภาษาที่สำคัญของโลกระดับใช้การได้ ๔-๕ ภาษา งานจิตรกรรมก็ขึ้นทำเนียบจิตรกรของโลกที่ไปจากคนเอเชีย และทำงานสถาปัตย์โดยการออกแบบและสร้างบ้านกว่า ๓๐ หลังให้เป็นชิ้นงานศิลปะเพื่อเก็บงานศิลปะของตนเองในประเทศไทย ทำนองเดียวกับเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์  ที่เป็นเลิศในงานจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย
    • ใน gotoknow อย่างกรณี ดร.บัญชา นี่ก็น่าจะจัดว่าเป็นคนพัฒนาตนเองแบบพหุปัญญาด้วยเช่นกันนะครับ ทั้งความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ความเป็นศิลปะและเข้าถึงสุนทรียภาพในหลายเรื่อง ความเป็นเลิศในการสื่อสารและถ่ายทอด รวมทั้งคุณณัฐรดา ทั้งทางด้านภาษาและการเขียนสื่อสาร ความฉลาดในการเข้าใจคนและสังคม ความฉลาดในการเข้าใจตนเอง และความฉลาดทางศิลปะ ขออนุญาตกล่าวถึงทุกท่านเพื่อเป็นตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ
    • ตัวอย่างเหล่านี้ หากอธิบายด้วยทรรศนะทางศิลปะ ก็จะอธิบายว่า ความงามและสุนทรียภาพนั้นเป็นภาวะเดียวกัน จะเข้าถึงโดยวิธีการไหนก็บรรลุถึงภาวะดังกล่าวได้เหมือนกัน และส่องทางกัน ได้ภาวะดังกล่าวแล้ว จะสามารถสะท้อนไปสู่วิธีใดๆก็ได้อย่างไม่จำกัด
    • ในวิธีคิดแบบ Transformative Learning ก็จะมองว่า การเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่ภาวะพื้นฐาน โดยเฉพาะวิธีคิด คุณภาพของจิตใจ ภาวะทางสติปัญญา จิตวิญญาณ ซึ่งเหมือนกับเป็นการพัฒนาที่ระดับ Software สำหรับนำไปใช้กำกับการคิดและทำสิ่งต่างๆของปัจเจกและชุมชนระดับต่างๆนั้น จะสามารถถ่ายเทข้ามโหมดข้อมูล สะท้อนไปสู่วิธีการใดๆที่อาจจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ได้
    • คุยเสียยืดยาว เพื่อให้เป็นกำลังใจและหาโอกาสแวะมาคุยกันเป็นระยะๆอีกนะครับ

    ความสัมพันธ์ระหว่างนามธรรมสู่รูปธรรม..สะท้อนความสุขสงบทางใจและปัญญาญาณ..ถ่ายทอดจากคนถึงคน...เป็นความละเอียดอ่อนที่หลากหลาย..ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ ที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจอีกมุมหนึ่งค่ะ..

             

    สวัสดีครับคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณครับ

    • ในสาขาศิลปะ มีวิชาหนึ่งสำหรับฝึกหัดกระบวนการเรียนรู้จากระดับปรากฏการณ์เพื่อเข้าถึงความรู้และวิธีคิดระดับนามธรรม คือ การฝึก Study ผ่านการเขียนภาพเหมือนจริงที่สุดระดับ Super Realistic จากธรรมชาติและของจริง แล้วก็ค่อยๆคลี่คลายไปสู่ภาพ Abstract หรือภาพศิลปะนามธรรม ให้ได้อย่างน้อย ๗ ระยะ
    • หลังจากฝึกปรือจนถึงขั้นแล้ว คนทำงานศิลปะจะได้ความเป็นตัวของตัวเอง หรือเข้าถึงภาวะความเป็นหนึ่งที่จำเพาะตนของตนเอง เช่น ได้แนวทางที่แตกฉานจำเพาะตน ได้วิธีคิดและคิดเป็นภาพได้ ออกแบบและวาดภาพคลี่คลายได้อย่างแตกฉาน
    • ผมมาเห็นความเชื่อมโยงกับสาขาอื่นในภายหลังว่า เป็นกระบวนการที่จะให้ผลเหมือนกับวิธีปฏิบัติแล้วถอดบทเรียนตกผลึกการเรียนรู้ การสังเคราะห์และพัฒนารูปแบบ การพัฒนาสมการเพื่อทำนายและเป็นตัวแบบวิเคราะห์ในเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างกัน เลยพอจะเข้าใจคุณลักษณะบางประการของผู้ที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆที่เข้าถึง State of the Art และผู้ที่ทำงานศิลปะได้แบบพหุปัญญา รวมทั้งผสมผสานหลายสาขาได้
    • มีตัวอย่างมาแบ่งปันครับ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้และเห็นความเชื่อมโยงกลับไปกลับมาของรูปธรรมและนามธรรม หรือ Form and Concrete form - and - Abstraction

                                       

                                       

                                       

                                       

                                       

                                        

    • วิธีอย่างนี้นอกจากได้ฝึกกระบวนการทางความคิด การคิดเป็นภาพ เห็นสายธารของกระแสความคิด รวมทั้งหลุดพ้นออกไปจากรูปแบบ กลับไป-กลับมา หรือ เข้าถึงภาวะพื้นฐานและมิติที่เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อTransform ออกไปในทิศทางที่ต้องการต่างๆได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถใช้เป็นวิธีการอยู่กับตนเอง ดูภาวะภายใน และฝึกฝนตนเองที่ด้านในดีมากเลยละครับ
    • มีรายละเอียดให้อ่านเล่นเพลินๆและมีภาพให้ชมอีกครับ : การพัฒนาการคิดคลี่คลายด้วยวิธีการทางศิลปะ
    • มีความสุขกับการดูรูปเขียนครับ

    ขอบคุณมากค่ะสำหรับแนวคิดงานศิลป์ที่ generate ไปสู่การ transform เรียนรู้สู่ภายในตัวเราเอง..ขอฝากตัวเป็นสมาชิกประจำ blog ของอาจารย์นะคะ..

    ..พี่ได้ถ่ายภาพ แสงเงาใต้ใบบัวยามบ่ายที่หน้าบ้าน เพื่อประกอบบันทึกนี้ค่ะ :

    http://gotoknow.org/blog/nongnarts/290868

    สวัสดีครับคุณพี่นงนาท สนธิสุวรรณครับ

    • เห็นแค่เป็นบางมุมของบ้าน ก็รู้สึกได้ถึงความร่มรื่นและเย็นใจนะครับ
    • ชอบกระถางดอกบัวจังเลยครับ
    • มันเป็นงานศิลปะจัดวางในกระถางอยู่ในตัวเลยนะครับ
    • ผมขออนุญาตที่ผู้เข้ามาอ่านและชมภาพ เปิดหัวข้อบันทึก ให้เป็นหัวข้อใหม่ต่างหากเพื่อให้อ่านสะดวกมากขึ้นนะครับ
    • หัวข้อแรก เรื่อง Assemblage,Junk, and Land Art : เมื่อขยะ ความเปล่าร้าง สื่อพลังสร้างโลกของเมือง เข้าอ่านรายละเอียดได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/379917
    • ขณะเดียวกันก็จะนำลิงก์มาแขวนไว้ที่บันทึกหน้านี้ด้วยครับ

    เรียนท่านอ.

    ยามที่ความคิดสับสน

    แต่เมื่อเปิดบันทึกเพียงหวังคลายเส้นสมองที่ตึงจากงาน

    กลับพบว่าที่นี่มีพลังที่กระตุ้นความคิด และคลายเส้นสมองให้ผ่อนคลาย

    และลืมความตึงนั้น พร้อมส่งพลังศิลป์แห่งความคิดขึ้นมาแทนที่

    หากเป็นความคิดที่ให้ความรู้สึกเบาๆ สบายๆ

    และชวนให้ไหลไปสู่สิ่งที่ท่านนำพาที่นี่ค่ะ

    http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=1653.0

    ค่อยๆผ่านสายตาไปอย่างช้าๆ ด้วยรู้สึกถึงคุณค่าของความคิดผ่านงานศิลปะ

    ขอบคุณคะที่แบ่งปัน คงให้โอกาสตัวเองเพื่อค้นหาตัวเองที่แท้จริง

    โดยเรียนรู้ผ่านงานศิลปะและงานเขียนที่อ.กรุณาค่ะ

     

    งานที่ลิงก์ให้ไปชมได้และkrutoitingได้เข้าไปชมพร้อมกล่าวถึงนั้น เป็นผลงานของแม่ชุมสาย มีสมสืบ คุณแม่ของศักดิ์สิริ มีสมสืบ กวีซีไรต์ครับ งานชุดนี้ศักดิ์สิริ มีสมสืบ พาคุณแม่จากจังหวัดชัยนาทพร้อมกับลูกหลานและชาวบ้านท้องถิ่น เข้ามาจัดแสดงงานเดี่ยวที่มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ข้างสถานีรถไฟสามเสนเมื่อ ๒-๓ ปีก่อน

    ผมได้ไปชม ได้ความประทับใจและตื่นตาตื่นใจ จิตใจรื่นเริง และได้ไฟเพื่อการทำงานต่างๆมากมาย ขอนำรูปมาฝากและเข้าไปชมในห้องแสดงงานออนไลน์ในเว็บของเพาะช่างตามนี้ได้อีกครับ http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=1653.0

                            

    งานแนวนี้ จัดว่านำเอาเรื่องราวของชีวิตชนบทเป็นเป็นเนื้อหาและแรงบันดาลใจเพื่อการทำงาน แสดงวิธีคิดวิธีมองเรื่องราวต่างๆจากจุดยืนของชาวบ้าน มีขนบและสำเนียงแบบชาวบ้าน-ชาวบ้าน ซื่อๆตรงๆ อยากเล่าว่ามีการทำนา ในนามีหุ่นไล่กา มีการทำมาหากินหลายอย่าง ทั้งการทำนา เลี้ยงเป็ดเป็นฝูงๆ มีป่าไม้ ภูเขา ก็ใส่ลงไปเลยไม่ต้องลังเลรีรอ หรือติดหลักทฤษฎีศิลปะมากมาย ดังนั้น ในแง่หนึ่งจึงอาจจะเรียกว่าศิลปะแนวโฟล์คอาร์ต Folk Art

    ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเขียนขึ้นด้วยมุมมองที่มาจากความประทับใจ เล่าเรื่องจากประสบการณ์ชีวิตและความประทับใจตลอดเส้นทางชีวิต ดังนั้น ก็อาจจะเรียกไปตามแนวพิจารณาอย่างนี้ว่าเป็นงานแนวอิมเพรชชั่นนิสต์ Impressionism

    ในมุมมองผมนั้น เมื่อดูในหลายมิติและหลายองค์ประกอบ ทั้งเนื้อหาของงาน จิตรกร แล้ว เห็นว่าน่าจะเรียกว่างานแนวโฟล์คอาร์ตน่ะครับ ซึ่งจะทำให้เห็นแง่มุมที่เป็นพัฒนาการของงานในแนวนี้ ซึ่งเมื่อก่อนก็จะอยู่บนเกวียน ข้างรถสองแถว และฉากลิเก สามารถเปิดเข้าไปสู่พรมแดนงานศิลปะอีกแนวหนึ่งในบ้านเราครับ

    หากดูที่แนวการทำงานแต่เปลี่ยนเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมของจิตรกรแล้วละก็ งานแนวนี้ที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองและในสังคมของคนทำงานก็มีครับ ในต่างประเทศกำลังได้รับความสนใจมากครับ ในต่างประเทศนั้น กลุ่มศิลปะที่เป็นผู้สูงอายุและเขียนภาพแสดงงานในลักษณะนี้ เขาจัดอยู่ในกลุ่ม ศิลปะของจิตรกรสูงวัย Eldery and Retirement Artist ซึ่งทั้งน่าสนใจและมีบทบาทมากต่อสังคมหลายด้านครับ

    ในประเทศไทยนั้น ลักษณะการทำงานของกลุ่มจิตรกรสูงวัยนี้ผมเคยเห็นอยู่กลุ่มหนึ่งครับ เป็นการรวมตัวกันและทำงานจัดแสดงอยู่บ้าง หากบังเอิญรื้อหาข้อมูลเจอก็อาจจะกลับมาเล่าสู่กันฟังอีกในภายหลังนะครับ ดูเมือนว่าจะมีสุเทพ วงศ์กำแหง เป็นแกนหลักและเป็นสมาชิกของกลุ่มจิตรกรดังกล่าวนี้ด้วยครับ

    ในกลุ่มคนวัยทำงานของสังคมเมือง ก็มีการทำงานศิลปะและจัดแสดงงานของตนเองในลักษณะนี้ในช่วงที่อิสระออกจากการทำงานของตนเอง ซึ่งเขาก็จัดกลุ่มจิตรกรและคนทำงานแนวอย่างนี้ว่าเป็นศิลปินวันหยุดหรือ Holiday Artist ซึ่งเป็นการทำงานศิลปะเพื่อพัฒนาชีวิตด้นในตนเอง ทำเพื่อมีพลังชีวิต และได้สร้างพื้นที่ทางจิตใจ-พื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางสุนทรียภาพขึ้นในสังคมเมือง

    อีกแนวหนึ่ง อาจจะดูจากกรณีของคุณณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์เป็นตัวอย่างก็ได้ครับ กรณีอย่างคุณณัฐรดานี้ เมื่อมองในแง่ความเป็นพัฒนาการและความเคลื่อนไหวของสังคม ก็จะพบว่า คนที่มีการศึกษาและมีศักยภาพหลายด้าน ที่ทำความส้รางสรรค์ต่างๆได้มากกว่าการเป็นคนแยกส่วนในสังคมการทำงานแบบแยกเป็นด้านๆเหมือนเป็นน๊อตเป็นตะปูนั้น มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ขณะเดียวกัน ในกลุ่มพลเมืองประชากรกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพศหญิงและเป็นแม่บ้าน ซึ่งถึงแม้จะต้องเลี้ยงลูก ดูแลงานบ้าน และอยู่ในฐานะไม่ต้องทำงานในส่วนที่เน้นสร้างรายได้ของครอบครัว ก็ยังเป็นกลุ่มพลเมืองประชากรที่มีศักยภาพสร้างสรรค์ได้อีกมากมายหลายด้าน ทั้งทางด้านวิชาการ ศิลปะ และอื่นๆ การทำงานศิลปะและการรวมกลุ่มเป็นจิตรกร ก็เลยเกิดขึ้นในกลุ่มอย่างนี้ด้วยเช่นกัน งานของจิตรกรกลุ่มนี้ก็มีชื่อเรียกเฉพาะว่าจิตรกรแม่บ้าน หรือ Housewife Artist

    ผมเคยเดินดูหนังสือจากต่างประเทศ งานของกลุ่มจิตรกรแนวนี้จะเป็นงานศิลปะในครัวเรือนและศิลปะในการใช้สอยเพื่อคุณภาพชีวิตประจำวันของคนทำงานในสังคมเมือง ซึ่งมีหนังสือและสื่อแพร่หลายสำหรับระดับครอบครัวคนทั่วไปมากกว่างานศิลปะในแนวอื่นเสียอีกครับ

    ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ที่กรุณายกตัวอย่างอธิบายให้แจ่มแจ้งขึ้น

    การเรียนนอกห้องเรียนนั้นสนุกนะคะ แม้ว่าจะไม่ค่อยมีระบบเท่าไร อิ อิ

    ไปพบบทความ 5 ลักษณะจิตสำหรับอนาคต ตามแนวคิดของ Howard Gardner จาก นสพ.มติชน ซึ่งเพื่อนเอามาแปะให้อ่านใน Facebook ใบไม้ฯ เลยเก็บมาฝากค่ะ คิดว่าน่าจะต่อยอดจากที่คุณอ้อยเล็กโพสต์ไว้ได้ รวมถึงเสริมความเห็นของอาจารย์ด้วยค่ะ

    คิดว่าถ้าคนค้นพบความสามารถของตนเอง ลงมือทำสิ่งที่ตัวเองรัก น่าจะใช้ชีวิตได้อย่างสนุก มีความหมายและมีพลัง เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ได้มาก ๆ เลยค่ะ ...^__^...
    • สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง ถอนสายตาจากงานเงยหน้าขึ้นมาผ่อนคลายเป็นระยะๆใช่ไหมเนี่ย
    • ได้เข้าไปอ่านลิงก์ที่ใบไม้ย้อนแสงนำมาฝากแล้วละครับ
    • แนวคิดอย่างนี้ เป็นแนวคิดที่ผมชอบครับ  มีความเป็นการนำเสนอประเด็นอนาคตเพื่อเป็นเป้าหมายลางๆ ไม่ต้องตายตัวแบบเพะๆ และพอจะสำรวจความเชื่อมโยงให้ผู้คนร่วมสร้างความเป็น Shared Vision ผ่านการทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติด้วย ได้เป็นอย่างดีครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท