บันทึก 26 มิถุนายน 2549
ผมอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับยี่สิบปีมาแล้วที่ท้องทุ่งนาข้าวแถบนี้อุดมไปด้วยต้นกก จนเรียกว่านาร้าง ปัจจุบัน นาร้างเริ่มเปลี่ยน คนส่วนหนึ่งกำลังแปลงนาร้างเป็นสวนยาง อีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมของทางราชการเปลี่ยนนาร้างเป็นสวนปาล์ม
ภาพทุ่งนาร้าง ทั้งที่เป็นฤดูทำนา
(ภาพเมื่อ มีนาคม 2549)
การเปลี่ยนนาร้างเป็นสวนยางมีจุดเด่นตรงที่ราคายางพาราดีมากในช่วงนี้ ลงทุนทีเดียวประมาณ ๗ ปี ให้ผลต่อเนื่องไปอีก ๑๕-๒๕ ปี ตลาดยางพาราก็ซื้อง่ายขายคล่อง มีพ่อค้าคนกลางทุกหมู่บ้าน ถึงแม้บางช่วงบางปีราคาไม่ดีแต่ก็สามารถขายได้ตลอด เคยมีหน่วยส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐมาชักชวนให้ปลูกสวนปาล์ม ชาวบ้านบอกว่า ไม่รู้จะเอาไปขายให้ใคร ถ้าปลูกยางขายได้แน่ ราคาถูกๆ แพงๆ ก็ขายได้แน่ แถมเมื่อต้นยางพาราแก่จนไม่สามารถกรีดได้ ก็สามารถขายไม้ยางพาราได้ราคาดีอีกต่างหาก บางปีไม้ยางพาราขายได้ไร่ละ ๒ – ๓ หมื่นบาทเลยทีเดียว นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ในขณะที่การทำนาข้าวต้องเหนื่อยทุกปี ชาวบ้านที่เคยทำนาข้าวปัจจุบันเลยหันไปกรีดยางอย่างเดียว มีรายได้จากยางพาราซื้อข้าวสารกินก็เพียงพอ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรมาแนะนำให้เจ้าของนาร้างพัฒนาที่ดินให้เป็นสวนปาล์มน้ำมัน โดยรัฐขุดที่นา ยกร่องให้ มูลค่าไร่ละประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท ชาวบ้าน เมื่อเห็นว่าได้ขุดดินยกร่องฟรี ส่วนหนึ่งจึงหันไปเข้าโครงการเปลี่ยนนาร้างเป็นสวนปาล์ม ทั้งๆ ที่บางคนยังไม่ทราบเลยว่าเมื่อให้ผลผลิตแล้วจะเอาไปขายที่ไหน ราคาเท่าไรถึงจะอยู่ได้ ต้นทุนการบำรุงรักษาเป็นอย่างไร โครงการนี้น่าเป็นห่วงคล้ายๆ การส่งเสริมให้ปลูกมะม่วงหิมพานต์ในภาคอีสาน การส่งเสริมก็ทำไป การตลาดเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน จากประสบการณ์พบว่าสวนยางเหมาะสำหรับปลูกบนที่สูง เช่นที่ราบที่น้ำไม่ท่วม หรือเชิงเขา ที่นาส่วนใหญ่จะเป็นที่ลุ่มน้ำขังตลอดปี หน้าฝนน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า ๑-๒ เมตร การทำสวนยางพาราในที่นาจึงต้องขุดยกร่องเพื่อระบายน้ำ ขณะเดียวกันการยกร่องก็เป็นอุปสรรคสำหรับการบำรุงรักษา การเข้าไถพรวนทำได้ยาก ต้องจ้างแรงงานตัดและดายหญ้า ทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษาสูง แต่ธรรมชาติของต้นยางพาราเมื่ออายุย่างปีที่ ๔ ร่มเงาจะหนาแน่นขึ้น วัชพืชก็จะลดลงและหายไปในที่สุด ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างคือการขุดเอาดินลึกที่ไม่มีธาตุอาหารขึ้นมาไว้หน้าดิน ต้นยางจึงไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ผลผลิตก็เลยตกต่ำไปด้วย แต่ด้วยเพราะที่นาแปลงหนึ่ง พื้นที่ 3 ไร่ เป็นที่ดินเปรี้ยว ปลูกข้าวให้ผลผลิตน้อยมาก พี่สาวและน้องสาวเขาตกลงกันว่าจะทำให้เป็นสวนยาง ผมจึงต้องทำนาให้เป็นสวนยางไปด้วย ยังมีที่นาข้าวอีก 3 แปลง ประมาณ ๑๐ ไร่ ที่ผมยังทำนาข้าวอยู่ แม้ให้ผลผลิตน้อย แต่ก็สบายใจที่ขายข้าวได้แน่ๆ เมื่อปี ๒๕๔๗ ทำสวนยางบนเชิงเขา 2 แปลง แปลงหนึ่ง ประมาณ ๒ ไร่ อีกแปลงหนึ่ง 8 ไร่ ส่วนนาข้าว 3 แปลง รวมประมาณ ๑๐ ไร่ ยังทำนาอยู่ วันนี้จึงยังไม่มีความคิดว่าจะให้เป็นสวนยาง โดยเฉพาะถ้าจะคิดทำให้เป็นสวนปาล์ม ยิ่งไม่เคยคิดเลย
ภาพแปลงนาพื้นที่ติดนาร้าง
แสดงให้เห็นผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์
บันทึก 16 ก.ค. 50
เพื่อนบ้านมีที่นาแปลงหนึ่งประมาณ 30 ไร่ เขาเล่าให้ฟังว่าจะแปลงเป็นสวนยางสัก 20 ไร่ ประมาณ 10 ไร่ไว้ทำนาข้าว วางแผนว่าจะทำเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกปลูกไปเมื่อ มิถุนายน ๒๕๔๙ ขณะที่บันทึกนี้ยางที่อยู่บนร่องเติบโตปกติ ยกเว้นที่ลุ่มยังไม่สามารถปลูกได้อีกประมาณครึ่งไร่
พื้นที่แถวนั้นผมไปไถดะนาไว้แล้ว คิดว่าจะทำนาหว่านประมาณ ๗ ไร่ และพื้นที่ติดกันก็จะทำนาดำด้วย วันนี้กังวลอยู่อย่างเดียวว่า ในอนาคต ๒-๓ ปีข้างหน้า นาข้าวจะสลับกับสวนยาง-สวนปาล์ม ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ถ้าอยู่ติดกันก็จะขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เพราะสวนยางไม่ต้องการน้ำ แต่นาข้าวกลับต้องการน้ำมาก พื้นที่ที่ทางภาครัฐกำลังส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว มีระบบน้ำส่งให้ เมื่อตรงนั้นกลายเป็นสวนยางก็มีการปิดกั้นไม่ให้น้ำเข้าสวนยาง น้ำไหลต่อไปพื้นที่ทำนาข้าวไม่ได้ ท้ายที่สุดนาข้าวก็ต้องยอมแพ้เมื่อสวนยางปิดไม่ให้น้ำผ่านก็ทำนาไม่ได้ อีกประการ สวนยางจะเป็นที่อยู่อาศัยของหนูและวัชพืชอย่างดี เมื่อปลูกข้าว หนูที่อาศัยอยู่ในสวนยางก็จะออกมารบกวนนาข้าว สองเหตุผลนี้บวกกับความยากลำบากและผลผลิตตอบแทนที่น้อยนิดก็จะทำให้การทำนาข้าวหดหายออกไปโดยลำดับ ไม่เชื่อคอยดู
ได้สังเกตโครงการทำนาข้าวให้เป็นสวนยางของเพื่อนบ้านบนพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ช่วงที่ ๒ เดือนมีนาคม ๒๕๕๐ เห็นความคืบหน้าของการไถยกร่องนาข้าวให้เป็นสวนยาง เห็นรถแทรคเตอร์ได้เข้าดำเนินการแล้ว ไถได้เพียงบางส่วน เนื่องจากบางพื้นที่น้ำเยอะ ต้องปิดน้ำสักระยะหรือรอให้ฝนทิ้งช่วง ค่าจ้างไถไร่ละ ๑,๗๐๐ บาท ประมาณพฤษภาคม ๒๕๕๐ ก็ปลูกต้นกล้ายางเสร็จ ครั้นถึงเดือนมิ.ย. ฝนที่ตกลงมาตามปกติทำให้ทุ่งดังกล่าวน้ำท่วม ทำให้สวนยางน้ำท่วมโคน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อต้นยางที่ไม่ชอบให้ระดับน้ำท่วมราก เขาจึงยอมทุ่มค่าจ้างแบคโฮขุดยกร่องใหม่ ไร่ละ ๑๔,๐๐๐ บาท อีกทั้งต้องขุดกล้ายางที่ปลูกลงไปแล้วขึ้นมาชำใหม่ และปลูกลงไปอีกครั้งเมื่อยกร่องด้วยแบคโฮเสร็จ ที่ปลูกไปช่วงแรกเมื่อ ๒๕๔๙ ก็เลยขุดซ้ำเพื่อระบายน้ำ เมื่อปลูกยางเสร็จพบว่าน้ำที่อยู่ในร่องยังไม่สามารถระบายออกได้ เขาจึงต้องไปเจรจาที่ดินข้างเคียงเพื่อขอฝังท่อระบายน้ำลงคลอง น้ำจึงแห้งไปได้ งานนี้บนพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ลงทุนไปประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท นับเป็นการลงทุนทำสวนยางที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทำสวนยางในที่สูงทั่วไป
วันที่บันทึกนี้ความคิดเรื่องการแปลงนาข้าวเป็นสวนยางยังไม่ปลี่ยน แต่เริ่มมีปัจจัยอืนๆ เข้ามาเปลี่ยนความคิดบ้างแล้ว
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ชนันท์ สุวรรณรัตน์ ใน ทำนา ทำสวน ผลผลิตการเกษตร
ต้องการข้อมูล และ ข้อแนะนำในการทำสวนปาล์ม สำหรับผู้ที่เริ่มทำสวน