เครื่องเครากินหมาก และ ผ้าไหมเนื้อเนียนลายโบราณ ที่ตลาดเมืองสุรินทร์


ไปทำงานวิชาการ คือ ไปร่วมเป็นกรรมการสอบสัมมนาของลูกศิษย์ปริญญาเอกสองคนที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ จังหวัดสุรินทร์ เป็นการไปทำงานจริงๆ ไม่มีเวลาชมเมือง และ หมู่บ้านทอผ้าไหมที่เลื่องลือเลย

ได้ใช้เวลาช่วงสายก่อนการสอบสัมมนาไปแวะที่ตลาดสุรินทร์ ในเมือง ที่อยู่ใกล้หอนาฬิกา เพราะตั้งใจว่าอย่างไรก็ขอซื้อผ้าไหมสุรินทร์ติดมือกลับไปบ้าง ไปเช้านักคนขายก็ยังไม่มา เพราะที่นี่ชาวบ้านจะเดินทางมาจากอำเภอต่างๆนอกเมือง กว่าจะมาถึงและจัดวางสินค้าผ้าไหมของตนก็ต้องเก้าโมงเช้าไปแล้ว สักบ่ายสามโมงเขาก็กลับบ้าน

มีเวลาแค่ 15-20 นาที ได้คุยกับคนขายเครื่องหมากพลู ระหว่างรอคนขาย ผ้าไหม นำผ้าออกมาวางเรียง เลยมีภาพมาฝากทั้งเครื่องเคราการกินหมาก กับ การขายผ้าไหม เป็นบรรยากาศซื่อๆ ง่ายๆ ได้พูดคุยกับคนขายสนุกสนาน เสียดายมีเวลาน้อยนิด คงต้องได้กลับไปอีกแน่ๆ

เห็นเครื่องเคราการกินหมากแล้วคิดถึงคุณยาย สมัยเป็นเด็กๆชอบเล่นเชี่ยนหมากคุณยาย โดยเฉพาะตลับสีผึ้งทาปาก และช่วยตำหมากให้คุณยายเป็นประจำ เห็นเขาขายหมากและเครื่องเคราครบในที่เดียวกันเลยได้ถามเครื่องแปลกๆที่ไม่เคยเห็นที่อื่นด้วย

การกินหมากเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่หลายร้อยปีในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกว้างไกลไปถึงอินเดีย ศรีลังกา หมู่เกาะแซนซิบาร์ ฝั่งตะวันออกของทวีปอาฟริกาโน่นเลยค่ะ แต่ก็เป็นวัฒนธรรมที่กำลังเลือนหายไป  เท่าที่ทราบการเคี้ยวหมากเป็นนิสัยยาวนานหลายสิบปีติดกันเป็นสาเหตุของมะเร็งในช่องปากด้วย

เรื่องการกินหมากนี้เขียนหนังสือได้เป็นเล่ม วันนี้ชมภาพและข้อมูลสั้นๆเท่าที่ถามมาได้ก็แล้วกันนะคะ

หมากสด

 

หมากแห้ง

 

ปูนขาว และ ปูนแดงซึ่งเป็นปูนผสมสีเสียด

 

นี่เป็น พลูขาว ซึ่งใบใหญ่และสีเขียวอ่อน มาจากโคราช

 

ฝักกัลปพฤกษ์ ซึ่งแกะเมล็ดออก เป็นส่วนผสมที่กินกับหมากได้

 

ซ้ายมือ คือ เปลือกต้นพยอม ขวามือ คือ เปลือกต้นแสนคำ ซึ่งเป็นส่วนผสมกินกับหมากที่เขาบอกว่ากินเฉพาะที่สุรินทร์ เปลือกไม้พวกนี้จะช่วยรักษาแผลในปากได้

 

ส่วนผ้าไหมนั้นของสุรินทร์มีลวดลายดั้งเดิมโบราณมากมาย สวยงามทั้งลวดลาย สีสันและเนื้อผ้าที่ทอแน่น ละเอียด ตัดใจดูแค่สองสามเจ้าอย่างรวดเร็ว และซื้อมาได้สามชิ้น เป็น ลายราชวัตร ลายลูกแก้ว และลายลูกอ๊อด

ครั้งหน้าคงได้อุดหนุนกันมากกว่านี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 345224เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2010 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (39)

สวัสดีครับพี่นุช...

แวะมาทิ้งร่องรอยว่าเข้ามาเยี่ยมครับ

คุณหนานเกียรติ นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ละซีคะเนี่ย ขอบคุณค่ะที่มาทิ้งร่องรอย

พี่เขียนบันทึกช่วงนี้ไม่คิดว่าจะมีใครมาอ่านเพราะหายไปครั้งละนานๆ แต่ก็อยากเขียนไว้เป็นบันทึกความทรงจำของเราด้วย กำลังจะปั่นอีกสองบันทึกเรื่องไปปากช่องเป็นงานพร้อมเที่ยว ก่อนจะหายไปเที่ยวจริงๆสิบวันชมซากุระปลายเดือนนี้ค่ะ

  • พี่นุชครับ
  • ไม่ได้เห็นไม้พยอมนาน
  • สมัยเด็กๆๆเคยไปหาให้ย่า(ผมเรียกว่า แม่คุณ)
  • ต้นใบพลูแถวบ้านก็ตายไปหมดเลยครับ ปกติมันชอบเกาะต้นเสาอยู่
  • เดี๋ยวนี้แถวบ้านหาคนกินหมากยากมากครับ
  • เคยไปแถวอำเภอศรีสวัสดิ์  เหมามาให้คนแก่
  • ดูคนแก่ดีใจมากๆๆ
  • เห็นเอามาหั่นแบบในภาพแล้วเก็บไว้กินนานๆๆ
  • พี่นุชสบายดีไหม
  • ผมกำลังเดินทางไกล
  • อ้าวลืมดูลายผ้า ฮ่าๆๆๆๆ
  • สวัสดีค่ะ คุณนายดอกเตอร์
  • แวะมาทักทายค่ะ
  • เห็นเครื่องกินหมากมากมาย  แสดงว่าแถวนั้นยังมี
    คนกินหมากค่อนข้างมากนะคะ  เห็นแล้วก็เปรี้ยวปากแทน  อิอิ
  • ผ้าลายสวยงามดีค่ะ
  • ขอบพระคุณที่แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ
  • นำภาพเด็กอวบมาฝากค่ะ  ไปแอบถ่ายภาพลูกแม้ค้าที่ตลาดนัดมาค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต น้องกำลังเดินทางไกลไปไหนล่ะคะ ขอบคุณที่อุตส่าห์ปลีกเวลามาทักทาย พูดคุยกัน คนแก่เคี้ยวหมากเป็นภาพความสุข ความทรงจำครั้งอดีตนะคะ ตอนนี้พี่ไม่มีญาติผู้ใหญ่ที่ยังคงกินหมากหลงเหลืออยู่เลยค่ะ คนแก่สมัยใหม่ก็ไม่มีใครกินหมากกันแล้ว ต้องไปตามบ้านนอก เห็นเขาขายหมากและเครื่องเคราอย่างนี้แสดงว่ายังมีคนกินหมากที่สุรินทร์อีกเยอะ

เมื่อก่อนที่บ้านริมน้ำนี้ก็มีค้างพลูงามมากเลยค่ะ น้ำท่วมตายเสียแล้ว ยังไม่ได้หามาปลูกใหม่เลย แม้ไม่กินหมาก ก็ชอบดูความงามของใบพลูค่ะ

ว้าว หนูน้อยรับลมร้อนที่คุณธรรมทิพย์ส่งมาให้ชมทำให้หายร้อนเลยค่ะ สงสารเหมือนกันท่าทางหนูจะเหนื่อยหรือง่วงนะคะ ^___^

การกินหมากนี่มีรายละเอียดเยอะนะคะ ต้องพิถีพิถันพอควร ยิ่งพวกเชี่ยนหมากของภาคต่างๆสวยงามทั้งเครื่องไม้ เครื่องเงิน

อยากให้ได้เห็นลายผ้าของจริงชัดๆ สวยมากเลยค่ะ

ขอบคุณที่มาแวะทักทายค่ะ

สวัสดีครับ คุณ นายนุช คนโบราณมีศิลป์ ในการกินหมาก สูบยา ครับ

ผมเคยเห็น กล่องยาเส้น จากมาเลย์ ครั้งประดับลวดลายสวยหรู ราคาคงแพง

ปัจจุบันหันมากินหมากเคี้ยวหมากฝรั่ง แถมทิ้งไว้ให้เลอะผู้อื่น ก็คงเปนศิลป์ในการกินหมากสมัยใหม่น่ะครับ

สวัสดีครับ

สงสัยอยู่ว่าพี่หายไปไหน อิอิ

แต่ก่อนที่บ้านมีทั้งหมากทั้งพลู

ตอนนี้ไม่มีใครกินแล้ว

อยากเห็นผ้าลายลูกอ๊อดครับ

ออตชอบตลาดแบกะดินมาก

ไปหลายตลาดที่อีสานใต้ ยังมีผ้าพืื้นบ้านดีดีให้เลือกมากมาย

ชอบอีหลี

  • ผ้าแบบนี้ผมเข้าใกล้ไม่ได้ครับ...
  • กลัวโดนไหม...อิอิ

ที่บ้านมีทั้งหมากและพลูค่ะ

เสียดายแม่คุณ (ยาย)ท่านเสียแล้ว

อุปกรณ์ตำหมากยังมีอยู่

จำได้ว่า กว่าท่านจะเลิกกินหมากได้ใช้เวลานานมาก

แต่ท่านก็เก่งมากค่ะที่เลิกได้

------

รอชมค่ะว่าผ้าไหมพอคลี่แล้วจะสวยแค่ไหน

-สวัสดีครับอาจารย์

-เห็นหมากเยอะแยะขนาดนี้แล้ว คิดถึงแม่อุ้ยของผม ครับ

-อายุ 99 ปีแล้วก็ยัง ชอบกินหมากอยู่เลยครับ

-เอาภาพแม่อุ้ยมาฝากครับ ที่นี่ครับ....

http://gotoknow.org/blog/boonsong2523/343015

สวัสดีค่ะ

  • คนกินหมากส่วนมากคือคนแก่สูงอายุ (มาก) แล้ว
  • แต่ครูคิมเคยเห็นคนยังแก่ไม่มากกินหมากด้วยนะคะ
  • ผ้าไหมสุรินทร์สีไม่ฉูดฉาด  และลวดลายโบราณดีค่ะ  เนื้อแน่นจริง ๆนะคะ

ชอบผ้าไหมสุรินทร์ ไปทุกครั้งต้องได้ผ้าไหมสุรินทร์ติดมือมาทุกครั้งค่ะ

ส่งผ้าครามมาให้ดูค่ะ

สวัสดีค่ะท่านผู้เฒ่าฯวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--  เมื่อก่อนคนเคี้ยวหมากจากธรรมชาติ ปัจจุบันเคี้ยวหมากฝรั่งใส่โน่นใส่นี่ แต่กากที่เหลือเลอะเทอะอย่างที่ท่านว่าจริงๆค่ะ

นุชก็ชอบดูพวกกล่องใส่ยาเส้น ตลับ สำรับเชี่ยนหมาก เป็นศิลปะจริงๆค่ะ

ดูหนังบาบ๋า ย่าหยา ซีรี่ส์ช่องไทยพีบีเอส ก็ได้เห็นวัฒนธรรมการกินหมาก แม้แต่สาวๆก็ต้องเคี้ยวหมากเวลาเล่นไพ่กันค่ะ

เคยไปเลือกซื้อให้ยายค่ะ เวลาเลือกต้องแอบเคี้ยวดูก่อน

 ว่านิ่มพอมั๊ย เดี๋ยวยายเคี้ยวไม่ได้ ไม่มียายแล้ว ไม่ได้เลือกอีกเลย

คุณธ.วั ช ชั ย ก็หายไปนานเหมือนกัน ต่างคนก็ต่างไม่ค่อยเห็นกันนะคะ เอาลายผ้าไปส่งให้ดูที่บันทึกของคุณแล้ว และเอามาลงที่นี่อีกที เผื่อท่านอื่นจะได้ชมด้วยค่ะ

ผ้าลายลูกอ๊อด คือ ผืนที่เป็นทางๆแล้วมีลายแต้มๆสีขาว ดูใกล้ๆจะเห็นเหมือนเป็นหาง และในผืนนั้นหางก็ไม่ได้หันไปทางเดียวกันหมด ขนาดก็ต่างๆกันไป น่ารักมากค่ะ ยิ่งชอบมากที่ริมผ้าเป็นสีแดง

ดีใจจังที่คุณออต เข้ามาชมผ้าด้วย พี่ชอบตลาดแบบพื้นบ้านแท้ๆอย่างนี้ค่ะ น่ารัก ซื่อๆ เดินแล้วสบายใจ ว่าจะหาโอก่าท่องไปตามจังหวัดต่างๆชอบดูผ้าพื้นบ้านค่ะ

คุณเกษตร(อยู่)จังหวัด กลัวโดนไหมอะไรคะ อิ อิ ไม่เก็ต นึกว่ากลัวกระเป๋าเบาซะอีก

พี่เพิ่งทราบนะคะน้องอ็อดnaree suwan ว่า แม่คุณ เป็นคำใช้เรียก คุณย่า คุณยาย อาจารย์ขจิตก็บอกมาตรงกันค่ะ

การเคี้ยวหมากคงทำให้ติดนะคะ เคยได้ยินคนแก่พูดว่า เปรี้ยวปาก หรือ พอไม่ได้กินหมากแล้วเหมือนจะเป็นลม การเลิกคงต้องใช้กำลังใจน่าดูค่ะ

ได้ชมลายผ้าแล้วนะคะจากที่พี่ตอบคุณธ.วัชชัย พี่ชอบผืนลายลูกอ๊อดมากที่สุดค่ะ

ขอบคุณคุณเพชรน้ำหนึ่งที่แนะนำให้รู้จักแม่อุ๊ยอายุ 99 ปี เป็นบุญที่ได้พบ ได้คารวะนะคะ

เคยไปที่ตลาดหัวรอ ไปเจอเจ้าของร้านเป็นหญิงชรายังคล่องแคล่วมาก ดูแข็งแรง แจ่มใส เลยไปคุยด้วยพอทราบว่าอายุร่วมเก้าสิบแล้วก่อนจากได้กราบสวัสดี รู้สึกว่ายินดีที่ได้พบผู้อาวุโสวัยงาม

แม่อุ๊ยของคุณยังเคี้ยวหมากได้เยี่ยมมากค่ะ

สมัยนี้เราแทบไม่ค่อยเห็นคนแก่กินหมากหากไม่ไปตามบ้านนอกนะคะคุณครูคิม จึงชอบไปบ้านนอก ได้เห็นชีวิตจริงๆของผู้คน

เสียดายไปสุรินทร์เที่ยวนี้ไม่ได้ไปบ้านท่าสว่าง หากไปคงกระเป๋าแห้งกลับบ้านแน่ๆเลยค่ะ ผ้าไหมสุรินทร์มีเอกลักษณ์และชาวบ้านที่นำผ้ามาขายเขาก็ยังทำด้วยวิธีเดิมๆอยู่ การที่เราซื้อ ก็คือการช่วยให้เขายังดำรงศิลปวัฒนธรรมการทอผ้าไหมอยู่ได้ค่ะ ดิดอย่างนี้แล้วสบายใจที่ได้ซื้อ ^___^

คุณแก้วแก้ว..อุบล จ๋วงพานิช ไปเที่ยวยุโรปกลับมาแล้วหรือคะ พี่ไปอ่านแว่บๆไม่สะดวกที่จะทักทายและอ่านละเอียด หวังว่าคงสนุกสนานสำราญใจนะคะ

ผ้าครามที่ส่งภาพมาให้ชมลวดลายงามมาก ฝีมือมัดหมี่เยี่ยมนะคะ

ผ้าไหมย้อมครามนั้นมีไม่กี่รายในบ้านเราที่ทำ ในขณะที่ทางอินเดียนิยมทำไหมย้อมคราม มากกว่าฝ้ายย้อมคราม พี่เคยสนทนากับคนส่งเสริมการทอผ้า ผลิตผ้าของอินเดียเขาบอกอย่างนี้ค่ะ

คุณครู ป.1 น่ารักจังที่ต้องลองเคี้ยวหมากทดลองความนิ่มก่อน พี่เห็นหมากแห้งก็สงสัยเหมือนกันว่าตอนตำคงต้องตำให้แหลกๆไม่งั้นคุณยายคงถูกหมากแห้งตำเหงือก

ความทรงจำดีๆเมื่อได้นึกถึงก็เป็นความสุขนะคะ

เพิ่งได้ผ้าไหมสวยงามละเอียดแวววาวจากผอ.พรชัย กัลยาณมิตร GtoK ค่ะ

        

 

ไม่อยากบอกพี่นุชหรอกค่ะว่าเป็นคนสุรินทร์กลายๆ แบบว่าไปสนิทกับครอบครัวชาวบ้านเค้า

นี่ก็แอบตลาดสุรินทร์เหมือนกัน...มีความหลากหลาย

โดยเฉพาะผักดอง....ที่นี่เค้ามีถั่วงอกดองด้วยนะคะ

ผ้าไหมของคุณพี่นงนาท นาง นงนาท สนธิสุวรรณ สีสวยมากเลยค่ะ เป็นสีโปรดของนุชด้วยค่ะ

ชิ้นสีดำลายลูกแก้วของนุชเป็นผ้าฝ้ายผสมใยสังเคราะห์ ซื้อมาเพราะท่าทางจะใช้ง่ายดี ราคาก็ไม่แพงเลยค่ะ ปกตินุ่งผ้าไทย ใส่ผ้าถุงในชีวิตประจำวันค่ะ ชิ้นงามๆมักต้องเลือกโอกาสใช้ ตอนนี้เลยมักเลือกผ้าที่จะนุ่งได้บ่อยๆค่ะ คุยกันเรื่องผ้านี่ถ้าจะคุยกันได้ยาวนะคะ ขอบพระคุณที่ส่งภาพมาให้ชมค่ะ

พี่รู้แล้วล่ะว่าน้องตุ่นสิริพร ทิวะสิงห์ tuk-a-toonมีความชำนาญเรื่องเที่ยวและกินจริงๆ ^___^ ครั้งหน้าต้องลองผักดองที่น้องตุ่นเล่ามา พี่ไม่มีเวลาตามล่าของอร่อยเมืองสุรินทร์เลยค่ะ เพื่อนสมัยเรียนม.ช. เป็นคนสุรินทร์ เขามาหาพี่พร้อมฝากข้าวหอมมะลิเมืองสุรินทร์ให้มาสองถุง พร้อมหัวไชโป๊ว และกาละแมขึ้นชื่อ พี่ชอบทานกาละแมศรีขรภูมิ เขาว่าต้องเป็นยี่ห้อ ศรีขรภูมิ ตราปราสาทองค์เดียวถึงจะอร่อย คือเขาห่อกาละแมตรงๆกับใบตองแห้งเลย ไม่เหมือนยี่ห้ออื่นที่ห่อด้วยพลาสติคแล้วเอาใบตองแห้งทับก่อนจะห่อด้วยกระดาษแก้วสีขุ่น อิ อิ พี่ก็เป็นคนชอบกินและเที่ยวเหมือนน้องตุ่นเลย คนคอเดียวกัน

สวัสดีค่ะ

*** เรื่องราวทั้งหมดทำให้คิดถึงยายค่ะ

*** ข้าวหอมอิสานดีที่สุด แทบทุกจังหวัดเลยนะคะ

*** ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่นำมาให้ชม

สวัสดีคะ

วันนี้โชคดีคะ ที่เจอบล้อกนี้แล้ว

เพราะว่า แม่ต้อยยังสงสัยไม่หายว่า อาจารย์ หายไปไหนน้า..

ยังคิดถึงเสน่ห์ผ้าไทยอยู่นะคะ  ว่าจะถามน้องเอก เหมือนกัน ว่า พี่สาวหายไปไหนเอ่ย

ตอนนี้ที่ทำงาน มีงานมากมายคะ  นานๆจะได้มีโอกาสแวะมาเยี่ยมเยือนคะ

 

 

ขอบคุณค่ะคุณกิติยา เตชะวรรณวุฒิ ครอบครัวไทยๆจะมีความใกล้ชิดกับปู่ย่าตายายนะคะ ผู้เขียนเองทุกครั้งที่เห็นหมากพลูและผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ทำให้นึกถึงความสุขความอบอุ่นในวัยเด็กที่ได้รับจากคุณตาคุณยายตอนเป็นเด็กบ้านนอกอยู่เมืองกาญจน์ค่ะ

ข้าวหอมมะลิของอีสานเยี่ยมจริงๆหอม นุ่ม อร่อยมาก กลับมาครั้งนี้ก็ได้มาจากสุรินทร์สองถุงค่ะ เวลาไปซื้อข้าวที่ร้านขายข้าวได้ทราบว่าข้าวหอมมะลิสุรินทร์นั้นแพงที่สุดค่ะ และอีกที่ที่ราคาแพงเท่ากันคือข้าวหอมมะลิจากเชียงราย น่าประหลาดใจมากว่าข้าวหอมมะลิภาคกลางคุณภาพไม่ดีเท่าหรืออย่างไรทั้งๆที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การปลูกข้าวที่สุด หรือเดี๋ยวนี้เขามัวไปปลูกข้าวทำแป้งส่งโรงงานกันหมด

ขอบคุณที่มาทักทายค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแม่ต้อย นุชดีใจจังที่ยังคิดถึง สงสัยว่านุชหายไปไหน ^___^

ทราบว่าทางทีมงานมีงานยักษ์ที่เพิ่งผ่านมาและคุณเอกและคุณหนานเกียรติได้ไปร่วมงานเป็นเรี่ยวแรงใช่ไหมคะ

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยือนค่ะ เชื่อว่าคงมีโอกาสได้พบกันอีกแน่ๆค่ะ 

สวัสดีค่ะ P คุณนายดอกเตอร์
* ตอนเด็ก แม่อุ๊ย (ยาย) ของครูใจดี กินหมากค่ะ แต่ฟันของอุ๊ยแข็งแรงมาก ท่านเคี้ยวหมาก ผู้สูงอายุวัยเดียวกับแม่อุ๊ยเขาใช้ครกทองเหลืองเล็กๆ บางคนก็ใช้ตำใน.... มันเป็นทรงกระบอก ทำด้วยทองเหลืองเหลืองกัน  เรียกว่าไม่ถูกค่ะ
* ครูใจดี แอบเครี้ยวหมากบ่อยๆ  ที่แอบ เพราะแม่อุ๊ยไม่ค่อยให้ทาน บอกว่าเดี๋ยวฟันจะดำ   บ้านแม่อุ๊ยอยู่ชนบท ปลูกหมาก พูลไว้กินเอง และแบ่งปันให้เพื่อนบ้านด้วยค่ะ  ซุ้มใบพูลของแม่อุ๊ยงามมาก เป็นพุ่มหนาเลื้อยพันเป็นซุ้มบังแดดเลยค่ะ  ที่นอกชานบ้าน  เอาไว้นั่งเล่น นอนเล่น ฟังละครวิทยุ และลิเก.. สมัยก่อน  วิถีชีวิตมีความสุขและสงบดีจังนะคะ
* ขอบคุณบันทึกนี้  ทำให้ครูใจดีคิดถึงอดีต และคิดแม่อุ๊ยมากๆ  ท่านจากไปนานแล้ว
** ขอบคุณมากค่ะ
   

สวัสดีครับคุณนายฯ ได้ความรู้ทางภูมิปัญญาดีมาก

สวัสดีค่ะคุณครูใจดี ขอบคุณมากค่ะที่มาแบ่งปันความสุขในความทรงจำกัน พี่ยังจำได้ว่าที่ตำหมากของคุณยายก็เป็นกระบอกทองเหลืองค่ะ แต่จำได้เพียงเลือนลางว่าเมื่อตำแหลกได้ที่นั้นอาจเป็นการกระทุ้งที่ก้นกระบอกให้หมากที่ตำไว้ขึ้นมาข้างบนใช่หรือเปล่า

ชอบต้นพลูที่ส่งภาพมาให้ชมจังค่ะ ชอบความงามของใบพลู เมื่อก่อนที่ปลูกพี่มักให้คนสวนเก็บมัดไปวางไว้ฝาโอ่งหน้าบ้านบอกคุณยายที่เดินไปส่งหลานที่โรงเรียนวัดแคให้หยิบไปได้เลย เราเก็บไว้ให้แกค่ะเพราะเห็นแกเคี้ยวหมาก แปลกมากที่แถวบ้านพี่ไม่เห็นมีใครปลูกพลูเลยค่ะ ทั้งๆที่ก็กินหมากกันหลายคน

สวัสดีค่ะคุณเบดูอิน ขอบคุณที่มาทักทายค่ะ คนที่ชอบเรื่องภูมิปัญญา ไปไหนตามันก็มักไปมองเห็น ไปเก็บเรื่อง เก็บภาพมาเล่าต่อค่ะ เป็นความสุขเล็กๆ ของผู้เล่าด้วยล่ะค่ะ

  • รอให้โชเฟอร์ที่บ้านพักเหนื่อยก่อนนะคะ แล้วเราค่อยเดินทางท่องไทยกันค่ะ ช่วงนี้เขาออกไปทำงานเกือบทุกวัน (ช่วงเตรียมพร้อม) แต่ศิลาเอาเปรียบอยู่บ้านเกือบทุกวัน อิอิ
  • เห็นผ้าไหมแล้ว เกิดกิเลสค่ะ ชอบความงามของผ้าไหม จ.สุรินทร์มากเลยค่ะ

ร้อนๆอยู่บ้านดีที่สุดค่ะ ให้ทั้งอากาศและความร้อนของบ้านเมืองคลายตัวพี่จะรอคิวคุณศิลาว่าจะไปทำอะไรดีๆที่โคราชอีกสักครั้งก่อนที่คุณศิลาจะยุ่งกับงานใหม่และการเรียนนะคะ

เมื่อวานให้พี่น้อยเอาลังเปล่ามาแยกผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่เป็นชิ้นๆยังไม่ได้ทำอะไร เห็นแล้วคิดว่าไม่ควรซื้ออะไรอีกแล้วค่ะ ^___^

เห้นบอกว่าใบพลูเอามาจากโคราส คือพอดีกำลังจะทำสวนพลูอะค่ะเลยอยากจะขอความรู้เรื่องตลาดพลูอะค่ะ ใครพอทราบบ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท