หัวใจเดียวกัน "ครูเพื่อศิษย์คือครูเพื่อแผ่นดิน"


การมีปัญญาไม่ได้วัดที่ปริญญา แต่คือการตระหนักรู้กายใจและดึงศักยภาพที่เรามีอยู่ออกมาให้เป็นคุณแก่แผ่นดิน

ทุกคนต่างเป็นศิษย์มีครูด้วยกันทั้งนั้น และการเป็นครูเพื่อศิษย์ ศิลาเชื่อว่ามีอยู่ในตัวเราที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่และทำหน้าที่ด้วยหัวใจของการเป็น “ผู้ให้” เพื่อผู้อื่น 

                    

 

ดังนั้น การยกตัวอย่างบุคคลสำคัญอันเป็นที่เคารพยกย่องศรัทธา  จึงไม่สามารถยกมากล่าวได้ทั้งหมดและทั่วถึง  แต่อยากขอมีส่วนร่วมในการเขียนบันทึก “ครูเพื่อศิษย์”   โดยไม่ขอเน้นตัวบุคคลมากนัก เพียงจะดึง จุดร่วม” ของการมีหัวใจดวงเดียวกันในการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ตรงนี้ออกมากล่าว บนพื้นฐานความเชื่อว่ามีอยู่ในตัวของใครหลายคน หลายแห่งหนในโลกใบนี้

      

ก่อนอื่น ขอออกตัวว่า สำหรับศิลาแล้ว  ความเป็นครูไม่ใช่เพียงโดยอาชีพหรือตำแหน่ง แต่จะขอเน้นย้ำที่จิตวิญญาณแห่งความเป็นครู

 

คุณพ่อคือคุณครูในดวงใจ ยึดหลัก “ซื่อสัตย์สุจริต”

ตั้งแต่จำความได้ ศิลาอยู่ท่ามกลางชีวิตคุณครู เพราะคุณพ่อเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน  การใช้ชีวิตในวัยเด็ก จึงค่อนข้างมีวินัยและเป็นตัวอย่างของเด็กวัยเดียวกัน

 

จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ตอนนั้นอายุเพียงแค่ 8 ปี เห็นผู้ปกครองมาที่บ้านพักในโรงเรียนเพื่อมาพบคุณพ่อ และได้ยินแว่ว ๆ ตามประสาเด็ก ก็อยากรู้อยากเห็น แอบฟัง…ได้ยินว่าผู้ปกครองมาเสนอเงินเพื่อให้ลูกที่สอบเข้าโรงเรียนไม่ได้  ได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนนี้  คุณพ่อตอบปฏิเสธอย่างนุ่มนวล เน้นหลักซื่อสัตย์สุจริต

 

เงินทุกบาททุกสตางค์คือเงินของรัฐที่นำมาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ในรั้วโรงเรียน สอนให้เด็กปลูกผักเอง เลี้ยงสัตว์เอง แม้แต่ตัวศิลาก็ยังต้องจับจอบเสียมตั้งแต่ 8 ขวบ จนมือด้าน

    

ในความคิดของศิลา จุดเริ่มต้นแห่งการทำความดี ควรมีพื้นฐานมาจากหลักสุจริตค่ะ   ในวงการกฎหมาย หลักนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

คุณครูทุกคนมี “หัวใจของการให้ความรู้” เหมือนกัน

ศิลาโชคดีที่มีคุณครูที่เป็นคุณครูในดวงใจหลายคน จนจดจำไม่ได้หมด  จุดร่วมที่เห็นในตัวคุณครูทุกคนคือ “การให้ความรู้แบบเกาะติดสถานการณ์” กล่าวคือคุณครูจะคอยติดตามถามเด็กทุกคนว่ารู้ถึงไหนแล้ว ตามเพื่อนทันไหม   เป็นการให้แบบรอ feedback จากผู้เรียนรู้กลับมาเพื่อทบทวนการสอนของคุณครูเอง

 

เมื่อเราเอ่ยถึงความเป็นครู เราก็ย่อมนึกไปถึงการสอนให้ความรู้เพื่อหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น ความหมายของหน้าที่คุณครู ที่ศิลาได้สัมผัสในวัยเรียนก็คือ “การเป็นผู้ให้ความรู้อย่างเต็มที่” แบบเกาะติดตามตัวเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้และรับรู้ไม่เหมือนกัน  การตามทำความเข้าใจในตัวเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ

 

คุณครูผู้ “ปลุกให้ตื่น”

ศิลาเพิ่งตระหนักรู้ว่านับยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาก่อนที่จะได้มาพบกับพระอาจารย์สันติกโร ตนเองได้หลับทั้งที่ยังตื่น…การได้มารู้ตัวว่าตนเองมีรากที่มาแห่งความนึกคิด อารมณ์ความรู้สึก  มีกิเลสหลักที่ยึดติด มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่น มีโลกทัศน์อย่างไร ทำให้เราได้ย้อนกลับมามองโลกภายในอย่างเป็นกลางประณีตละเอียดยิ่งขึ้น

 

สิ่งที่ศิลาเห็นในตัวท่านอาจารย์สันติกโร (ปัจจุบันท่านลาสิกขาบทแล้ว) นั่นคือท่านเป็น “ครู” ในจิตวิญญาณและสายเลือด  ท่าน “ให้ธรรม” ที่เข้าใจ เข้าถึงง่าย และมีเมตตาที่จะปลุกให้เราตื่นจากการหลงลืมตนเอง  สิ่งที่ท่านมีและเป็นสอดคล้องตามหลักธรรมพรหมวิหาร 4 และหลักธรรมของผู้แสดงธรรม

ธรรมเทศกธรรมมี 5 ประการ

1.อนุปุพพิกถา   สอนให้มีขั้นตอนถูกลำดับ

2.ปริยายทัสสาวี จับจุดสำคัญมาขยายให้เข้าใจเหตุผล

3.อนุทยตา         ตั้งจิตเมตตาสอนด้วยความปรารถนาดี

4.อนามิสันดร     ไม่มีจิตเพ่งเล็งมุ่งเห็นแก่อามิส

5.อนุปหัจจ์        วางจิตตรง ไม่กระทบตนและผู้อื่น

จากหนังสือพุทธธรรม หน้า 637  โดยพระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตโต)

หลักธรรมดังกล่าวน่าจะนำมาใช้กับผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทุกท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นครูโดยอาชีพหรือไม่ก็ตาม

 

ก่อนจากกันสิบกว่าปีที่แล้ว ขณะที่ท่านเป็นพระ  ท่านมอบย่ามผ้าฝ้ายใบนี้ให้ศิลาค่ะ

 

                   Duty for duty’s

              

คำที่ปรากฎในย่ามเป็นคำที่ท่านเขียนเอง บอกให้เราตระหนักรู้ที่จะทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ณ ปัจจุบันขณะจิตให้ดีมีคุณค่า  ท่านไขปริศนาให้ศิลาเข้าใจการมีชีวิตที่ตื่น ควรเริ่มต้นจากอะไร  "การสังเกตและรู้ทุกข์"  

 

 

คุณครูที่ปลุกให้ศิลาตื่นอีกท่านหนึ่งคือ หลวงพ่อปราโมทย์  ซึ่งสอนให้ตื่นด้วยหลักธรรม "อริยสัจ 4" ท่านสอนวิธีการเรียนรู้กายใจ เป็นการทำให้เข้าใจว่า  "การดู" "การรู้"  ควรทำอย่างไร

ศิลาจะไม่ขอกล่าวโดยรายละเอียด  เพราะหลายท่านต่างรู้จักและเคารพศรัทธาโดยทั่วหน้ากันดีอยู่แล้ว  เพียงอยากจะกล่าวว่านับเป็นวาสนาที่เรามีครูดี   เราควรที่จะเป็นศิษย์ที่ดี ด้วยเช่นกัน

      

 “การเป็นศิษย์ที่ดีคือการการปฏิบัติบูชาเพื่อคุณครูของเรา”

 

คุณครูเพื่อศิษย์ด้วยหัวใจของความเป็นพ่อแม่

เมื่อศิลาได้เข้ามาทำหน้าที่บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณครูทั้งนอกระบบและในระบบโรงเรียน  สิ่งที่พบด้วยสายตา และหัวใจที่มิอาจสัมผัสได้ด้วยตา นั่นก็คือการทำหน้าที่ยิ่งกว่าคุณครูผู้ให้ความรู้แก่เด็ก

        

จากความทรงจำวัยเด็กที่เราได้เรียนรู้ผ่านตำราและคุณครูชี้ให้เข้าใจความหมายของตัวหนังสือในตำรานั้น กลับเปลี่ยนมิติมุมมองใหม่ ทำให้โลกทัศน์ของการมองคุณครูไม่ใช่แค่คุณครูผู้สอนวิชาความรู้

 

              ครูคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง  

             

               

ศิลามองเห็นได้จากการเข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครู กศน. หลายท่าน  มีข้อค้นพบที่สำคัญ

 

ขอให้เรามีจินตนาการร่วมกันอย่างหนึ่งก่อนว่านักเรียนของคุณครู กศน. อายุอาจจะมากกว่าคุณครู กศน. และนักเรียนก็อาจจะมีงานทำกันหมดแล้ว ดังนั้น การสอน “เด็กโข่ง” ย่อมต้องสอนในลีลาของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่าสอนแบบยิงตรง (one way communication)

 

หลาย ๆ คำบอกเล่าของคณครู กศน. ได้อธิบายการทำหน้าที่คุณครูของพวกท่านในจุดร่วมเดียวกันว่า  มีความสุขกับการทำหน้าที่ครู เพราะพวกท่านได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความทุกข์สุขร่วมกันกับนักเรียน

 

สิ่งค้นพบสำคัญนั่นคือ ท่านได้

 

“มีส่วนเปลี่ยนแปลงชีวิตนักเรียนบางคนเลยทีเดียว”

   

เปลี่ยนแปลงอย่างไร…เปลี่ยนแปลงจากคนที่เสพยา ให้กลับมาคิดได้ และ เลิกยาเสพติดในที่สุด

 

การเป็นครูเพื่อศิษย์ ในความหมายใหม่ที่ศิลาค้นพบก็คือ การเป็นครูที่ทำหน้าที่เสมือนพ่อแม่ หล่อเลี้ยงชีวิตศิษย์

 

ไม่ได้สอนให้เขามีความรู้และไปประกอบอาชีพเท่านั้น   แต่

สอนให้เขาเป็นคนดี การเป็นคนดีทำให้เปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตและส่งผลให้คนในครอบครัวมีชีวิตที่ดีตามไปด้วย

     

อีกหลายคำบอกเล่า ที่คุณครู กศน. ได้กล่าวให้ฟังว่าได้เข้าไปส่งเสริมอาชีพในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน  ให้มีความโดดเด่นน่าสนใจ ต่อยอดความคิด แตกไลน์การผลิตออกไปได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น วิธีการทำห่อหมกในชุมชน เพิ่มมูลค่าโดยใส่มะพร้าวอ่อนให้มีรสชาติเพิ่มขึ้น   สิ่งนี้ได้มาจากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและศิษย์

             

นอกจากคำบอกเล่าของคุณครู กศน.  ที่ศิลาได้ผ่านประสบการณ์ร่วมในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มา  การได้เข้ามาร่วมทีมงานกับคุณเอกและพี่นุช (คุณนายดอกเตอร์)   โครงการ “Humanized Educare” ก็ได้ทำให้ต่อยอดประเด็นร่วมตรงนี้ออกไปอีกมากมายมหาศาล

 

คุณครูเพื่อศิษย์ที่มาร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนี้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ชุมชนรอบตัว  เชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติรอบตัวได้งดงาม และสร้างความรู้สึกร่วมนี้ให้เกิดขึ้นในตัวศิษย์

 

 

             ครูคือผู้สร้างเครือข่ายในชุมชน

เชื่อมโยงโรงเรียนกับวิถีชีวิตในชุมชนและธรรมชาติ

     

 

ศิลามองเห็นว่าการทำหน้าที่คุณครู ไม่เพียงการเชื่อมโยงระหว่างคุณครูกับศิษย์  แต่เป็นการขยายเครือข่ายไปยังครอบครัวของเด็กนักเรียน  วิถีชีวิตในชุมชน โรงพยาบาล วัด และสถานที่แวดล้อมโดยรอบ

    

การสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเป็นห่วงโซ่ชีวิตที่คล้องใจให้ทุกคนรักถิ่นฐานและอยากใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในชุมชนนี้ตราบนานเท่านาน

 

เราอาจจะแสวงหาความรู้จากที่ไหนก็ได้ในโลกทั้งที่มีพรมแดนและไร้พรมแดน แต่เราไม่อาจจะแสวงหา “ความจริงใจ” “ความอบอุ่นใจ” และ “พลังใจ”   ได้จากทุกที่   นอกจากในที่ที่เราเกิด  อยู่อาศัย หรือใช้ชีวิตเรียนรู้กันมาอย่างยาวนานจนไว้เนื้อเชื่อใจกันดีแล้ว

 

จุดร่วมที่ศิลาเห็นในตัว ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากคุณครูทุกท่านก็คือ การน้อมนำหลักธรรมคำสอนของศาสนาและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมายึดเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนและบริหารโรงเรียน

 

ถ้อยคำบางคำที่ได้รับฟังมาคือ “หลักพอประมาณ” คำนี้คำเดียวแตกประเด็นเป็นโครงการกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้ เพียงอยากจะชี้ให้เห็นว่าความดีงามมีอยู่ทั่วทุกแห่งหน ครูเพื่อศิษย์มีอยู่ทั่วทุกตำบลหมู่บ้าน เพราะเรามีหัวใจดวงเดียวกันที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่เราเกิดมา

 

สิ่งดีงามเหล่านี้คือสิ่งที่คุณครูเพื่อศิษย์ทุกท่านเพียรพยายามบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ให้อยู่ใน DNA ของผู้เป็นศิษย์ทุกคน โดยทำหน้าที่ครูทั้งในรั้วและนอกรั้วโรงเรียน

 

 “การสร้างคนเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ อาศัยความประณีต เชื่อมั่นและไว้วางใจ”

 

สุดท้ายนี้ ขอลงท้ายเช่นเดิม เหมือนกับหลายบันทึกที่สืบเนื่องจากโครงการ “Humanized Educare” นั่นคือ

 

การแสดงความเคารพ ขอบพระคุณคุณครูอีกสองท่าน  นั่นคือคุณเอกและพี่นุช (คุณนายดอกเตอร์) ซึ่งเป็นครูเพื่อศิษย์ด้วยเช่นกัน การทำงานให้กับคุณครูเพื่อศิษย์ ทำให้ท่านเป็นครูในดวงใจของคุณครูหลายคน

เพราะเราต่างเชื่อมั่นในความดี   เราจึงมีวันนี้ วันที่มาอยู่ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงาม ดึงศักยภาพของครูเพื่อศิษย์ที่มีอยู่แล้วหลายท่านออกมาให้ปรากฎเป็นรูปธรรม   โน้มนำจิตใจให้คุณครูอีกหลายท่านมีความเชื่อมั่นร่วมกันในสิ่งที่ทำว่า “ความดีสวยงามเสมอ” (คำของคุณเอกค่ะ) 

สำหรับคำของศิลาก็คือ “บัณฑิตที่ดีไม่ได้วัดที่ปริญญา อยู่ที่คุณค่าที่ให้แก่สังคม” ค่ะ และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราเลือกดอกบัวเหมือนกัน  

       

 

การมีปัญญาไม่ได้วัดที่ปริญญา  แต่คือการตระหนักรู้กายใจและดึงศักยภาพที่เรามีอยู่ออกมาให้เป็นคุณแก่แผ่นดิน

 

“ผู้มีปัญญา ใจยิ่งสูงเทียมฟ้า กายาต่ำเตี้ยติดดิน”  นั่นคือการลดละมานะอัตตาของผู้รู้ที่ไม่ควรเน้นความคิดมากกว่าความรู้สึก

       

            

ช่วงนี้ ในยามว่าง ศิลาเก็บตัวอ่านหนังสือค่ะ อาจจะแว่บไปแว่บมา นาน ๆ ทีไปเยี่ยมกัลยาณมิตร   ซึ่งศิลาเองก็เชื่อว่าหลายท่านก็คงไม่ว่างเช่นเดียวกัน แต่เรามีหัวใจดวงเดียวกันนะคะ "ครูเพื่อศิษย์" มีอยู่ในตัวเราทุกคนเพราะเราคือผู้ให้ความรู้และความรักค่ะ

หมายเลขบันทึก: 297124เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2009 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

นี่คือ ภาพครูของผม ครับ อาจารย์นพลักษณ์ ๙ ;)

อาจารย์อ่านหนังสือหนักนะครับ ... หนังสือหนัก ไม่ได้หมายถึง น้ำหนักของหนังสือ แต่หมายถึง หนังสือที่มีเนื้อหาที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ กว่าจะลึกซึ้ง ก็เหงือกแห้งพอดีครับ ;)

เรียนท่านอาจารย์ นพลักษณ์ 10 เหงือกแห้งตอนท่านอาจารย์นำกาแฟมาอวด เหมือนแมวเห็นปลากระป๋องแต่ทานบ่ได้  ตกลงเป็นห่วงกันหรือเปล่าคะ อิอิ

แวะมาเยี่ยมพี่ศิลาครับ

แอบเห็นตัวเองในภาพด้วยครับ

ขอบคุณครับ

  • เราคือผู้ให้ความรู้และความรักค่ะ
  • แค่นี้..ก็ติดแก่น..แล้วครับ

สวัสดีครับ

ครู คือ ผู้ให้ ลาก ผลัก ดัน ต้อน ชี้ บอก แนะ สอน เตือน นักเรียน ผู้เรียน ลูกศิษย์ ไปในทางที่ถูก ที่ควร ที่เหมาะสม มอบวิชา ความรู้ ด้วยใจ ด้วยกาย ด้วยจิตและวิญญาณ ด้วยความรัก เหนื่อยก็ยอม มีหลายคนที่ทำได้ และทำได้ดีด้วย ขอเทอดพระคุณของครู ครับ ฯลฯ

สวัสดีค่ะ  น้องศิลา

  • การเป็นครูด้วยใจ
  • รัก ดูแล และอบรมสั่งสอนศิษย์ตามวิธีและแนวทางและบริบทของตนเอง
  • ก็คือ "ครูเพื่อศิษย์"  ได้ด้วยเช่นกันใช่ไหมคะ

 

อ่านมาจนจบอย่างเต็มอิ่ม บอกได้เลยว่า อาจารย์คือคุณครูที่แท้จริงอีกท่านหนึ่งค่ะ
บันทึกนี้ ครบถ้วนทุกมุมเลยจริงๆค่ะ

  • สวัสดีค่ะ คุณ Phornphon อยากถ่ายบรรยากาศเก็บเอาไว้ค่ะ เลยได้ภาพด้านหลังชายหนุ่มมาด้วย  น่าจะเป็นช่วงที่ท่านจบบรรยายธรรมพอดี  เป็นกล้องจากมือถือไม่มีแสงแฟลช คงไม่เป็นการรบกวนผู้ฟังธรรมจนเกินไปนะคะ
  • ดีใจค่ะที่แวะมาเยี่ยม
  • เขียนเรื่อยเปื่อย เพราะอยากมีส่วนร่วมบ้างค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณ สามสัก อ่านแล้วก็อมยิ้มนะคะ  "ติดแก่น" คำนี้คมดีค่ะ แก่นจริง ๆ มีนิดเดียวนะคะ แต่ทำให้มีเรื่องพูดได้มากมาย เพื่อให้เห็นภาพของการเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเท่านั้นเองค่ะ
  • จริง ๆ แล้วอยากบอกว่ากลับไปที่คำสำคัญหน้าประวัติของศิลาเลยค่ะ "ข้อเท็จจริงมีมากมาย สัจธรรมนั้นไซร้มีหนึ่งเดียว" 
  • เชื่อว่าคงจะมีใครหลายคนเข้าใจความหมายแท้ ๆ ของคำสำคัญนี้แล้วค่ะ
  • เห็นคำที่ท่านอาจารย์ ผศ. เพชรากร หาญพานิชย์ ยกมา "ครู คือ ผู้ให้ ลาก ผลัก ดัน ต้อน ชี้ บอก แนะ สอน เตือน นักเรียน ผู้เรียน ลูกศิษย์ ไปในทางที่ถูก ที่ควร ที่เหมาะสม มอบวิชา ความรู้ ด้วยใจ ด้วยกาย ด้วยจิตและวิญญาณ ด้วยความรัก เหนื่อยก็ยอม มีหลายคนที่ทำได้ และทำได้ดีด้วย"
  • การเป็นครูเป็นงานที่ยิ่งใหญ่อาศัยหัวใจเบิกทางจริง ๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ

อ่านเพลิน...ยิ้มไป พยักหน้าไป เลยไม่ทราบจะคอมเม้นท์อะไร...

สมบูรณ์แบบและมีสาระครบถ้วน สมกับบันทึก "ครูเพื่อศิษย์" แล้วค่ะ

คนไม่มีรากเพิ่งจะได้เงยหน้าขึ้นมาจาก Text ที่ต้องอ่านค่ะ เรื่อง Human Society Part 1 ของ ท่าน P.R.Sargar ขนาด เกือบ 200 หน้า ไม่มีภาพสักภาพ ตัวหนังสือล้วน ๆ และเป็นภาษาอังกฤษที่อ่านไปงงไป ... เพราะปนไปด้วยภาษาอังกฤษ-สันสกฤต ท่านเป็นชาวอินเดีย ที่เป็นผู้คิดและเผยแพร่แนวคิดนีโอฮิวแมนนิสค่ะ

และ...ท่านได้พูดถึงประเด็นปัญหาของ "ครู" ซึ่งมักจะถูกเรียกร้องจากสังคม จากผู้ปกครอง แต่สังคมไม่ได้มีระบบการดูแลให้สวัสดิการแก่ครูที่เหมาะสมกับงานที่ครูต้องทำเลย...

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

ศิลาลูกรักมีบันทึกดีๆมาให้อ่านเสมอๆนะครับ

สวัสดีค่ะ พี่ ครูอรวรรณ การที่คุณครูเชื่อมโยงการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทก็เป็นครูเพื่อศิษย์เช่นกันเหมือนแบบที่พี่นำเสนอในบันทึกเป๊ะเลยค่ะ ไกด์ยุวชนเป็นเรื่องใหม่สำหรับศิลามากค่ะ น่าสนใจและทำให้เด็ก ๆ มีการพัฒนาอารมณ์เข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ได้เร็ว เนื่องจากจะต้องมีการบริหารจัดการตัวเองและนำเสนอความรู้ ประกอบกับการให้บริการอย่างเป็นระบบขั้นตอน เด็กทำได้เพราะมีครูเป็นพี่เลี้ยงที่ดีให้ค่ะ ย่อมเป็นครูเพื่อศิษย์แน่นอนค่ะ และน่าจะตรงกับประเด็นที่ศิลากล่าวไว้ค่ะ

ครูคือผู้สร้างเครือข่ายในชุมชนเชื่อมโยงโรงเรียนกับวิถีชีวิตในชุมชนและธรรมชาติ

 

  • พี่ Sasinand คะ การมาเยี่ยมและคำกล่าวของพี่ปลุกให้ศิลาตื่นจากหลับเลยค่ะ อ่านเม้นท์ของพี่ตอนศิลากำลังง่วง ๆ ก็ตื่นเลย  ตื่นจากง่วงความหมายนัยหนึ่ง
  • และยังตื่นเพราะปิติ ทำให้มีกำลังใจในการเขียนบันทึกด้วยความมุ่งมั่นค่ะ
  • ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ

ครูท่านใดสอนศิษย์ด้วยจิตเมตตา

นั่นแหละหนา "ครูเพื่อศิษย์"

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้จบแล้ว พี่สุนันทาเขียนบรรยายความรู้สึกไม่ได้เลยค่ะ น้องศิลาเข้าใจ "ครู" ได้อย่างแท้จริงค่ะ

สบายดีน่ะค่ะ

น้องศิลาคะ

พี่นำภาพแห่งความประทับใจ  ของกัลยาณมิตรของชาว g2k  ในงาน gotoknow สัญจร ครั้งที่ 1 ที่ขอนแก่นเมื่อวาน  มาฝากนะคะ

ทั้งปวงนั้น ชีวิตย่อมเติบใหญ่จากครูแทบทั้งสิ้น...
ผมเชื่อเช่นนั้น...พอๆ กับการชื่นชมกับทุกกระบวนความในบันทึกนี้

แวะมาให้กำลังใจก่อนการเดินทางอีกครั้งของผมเอง

  • ขอบพระคุณท่านอาจารย์กานดา รุณนะพงศา สายแก้ว มากค่ะ ที่กรุณาแวะมาอ่านบันทึกนี้ เขียนจากหัวใจคนที่ไม่ได้ทำอาชีพครูเต็มตัว แต่ก็หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพลังใจที่จะมอบให้แด่ผู้มีจิตวิญญาณครูทั่วประเทศค่ะ

สวัสดีค่ะ มาเยี่ยมอีกรอบ ดนตรีเพราะมากค่ะ

มาอ่านถ้อยคำที่จรรโลงใจ...ความดีสวยงามเสมอค่ะ...สดชื่นนะคะ

 

 

ท่านได้พูดถึงประเด็นปัญหาของ "ครู" ซึ่งมักจะถูกเรียกร้องจากสังคม จากผู้ปกครอง แต่สังคมไม่ได้มีระบบการดูแลให้สวัสดิการแก่ครูที่เหมาะสมกับงานที่ครูต้องทำเลย...

  • คุณครูไม่มีเครื่องมืออะไร ก็สร้างขึ้นมาเองจากหัวใจล้วน ๆ แล้วจะไม่นิยามว่าคุณครูเปรียบเหมือนพ่อแม่ได้อย่างไรกันนะคะ
  • ดีใจท่านพ่อ เบดูอิน ว่างแวะมาเยี่ยมแล้ว เย้
  • ดีใจอีกแล้วรอบสอง น้องซวง ยังห่วงหา แวะมาเยี่ยมพี่ยา
  • เจอกันนะ พรุ่งนี้
  • คะ พี่ สุนันทา   ศิลาเข้าใจคุณครูอย่างแท้จริง เพราะคุณพ่อเป็นครูด้วย จึงมีสายเลือดอยู่บ้าง แต่การเข้าใจคุณครูของศิลาต้องเรียนว่าเป็นการเข้าใจอย่างชื่นชม ที่เรานิยมอยู่ในใจ โดยที่หากเราอยู่ในสภานการณ์ที่มีข้อจำกัดมากมาย เราเองก็คงจะทำแบบท่านเหล่านั้นไม่ได้
  • จึงเป็นการเข้าใจที่เราได้แต่หงนมองความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เป็นกำลังใจในฐานะผู้ชื่นชมค่ะ

ไม่ทราบว่าคุณครูอยู่ใกล้หรือไกล

ยังไงก็ขอส่งเทียบเชิญมาถึงคุณครู 

และกัลยาณมิตรทุกท่านด้วยนะครับ 

ขอเชิญร่วมชมนิทรรศการ โครงงานคุณธรรม 

ในงาน"พลังเยาวชน พลังสังคม" ครั้งที่ 1 
"ร่วมสร้างประเทศไทย...ด้วยการให้"

และร่วมเวทีเสวนา


วันเสาร์ที่ 10 ต.ค. : ถอดองค์ความรู้โครงงาน สร้างเป็นบทภาพยนต์โทรทัศน์ 
เวลา10.00-16.30น. ณ หอประชุมชั้น5 หอศิลป์ฯ กทมฯ

วันอาทิตย์ที่ 11ต.ค. : ถอดรหัส ๙ วิธีฟื้นฟูชาติ 
เวลา13.00-18.00น. ณ หอประชุมชั้น5 หอศิลป์ฯ กทมฯ



ผมก็ถือโอกาสใช้เวทีเสวนาที่สยามกัมมาจลเป็นเจ้าภาพงาน จัดระดมความคิด หัวข้อ ถอดรหัส ๙ วิธีฟื้นฟูชาติ ขึ้น

ยังไงก็เรียนเชิญ กัลยาณมิตร ผู้รักแผ่นดินทุกท่าน ร่วม work shop ระดมความคิดในเวทีเสวนาได้นะครับ

 

พี่ศิลา

ทรายแวะมาเยี่ยมด้วยความคิดถึง ภาระกิจมากเหลือเกิน แต่ระลึกถึงเสมอนะคะ

บันทึกเก่า ให้ดอกไม้ใหม่ ;)...

  • ประเดิมคนแรกเลยนะคะ อาจารย์คนดีเพื่อศิษย์ Blank
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท