วันและคืนที่หัวใจแช่มชื่นเป็นที่สุด


ผมได้รับเมล หรือแม้แต่โทรศัพท์จากกัลยาณมิตรบางท่านในทำนองสงสัยถึงการเงียบหายไปของผม  เพราะในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา  ผมไม่ได้เขียนบันทึกเลยแม้แต่บันทึกเดียว 

          มิหนำซ้ำยังไม่ได้แวะไปเยี่ยมใครๆ  อีกต่างหาก

หนักหน่อยก็คงหนีไม่พ้น การไม่โผล่ไปเยี่ยมเยียนผองเพื่อนจากบันทึกใน โลกแห่งมิตรภาพ  นี้เลยก็ว่าได้

บางคนถามผมด้วยความห่วงใยว่า  ผมเกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจอะไรหรือเปล่า, บางคนเป็นห่วงว่าผมกำลังเผชิญบ่วงทุกข์ใจอันใดหรือไม่, มีปัญหาสุขภาพหรือเปล่า,  หรืออื่นๆ อีกจิปาถะ

แต่ทั้งปวงนั้นก็หมายรวมอยู่อย่างเดียวว่า เหตุใดจึงหายไปจากโกทูโน-โลกแห่งมิตรภาพ  แห่งนี้นั่นเอง

ผมจึงได้แต่บอกไปตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมว่าพักนี้ผมเหนื่อยมาก 

ผมไม่มีเวลาพักผ่อนสักเท่าไหร่ 

ผมเดินทางไปโน่นไปนี่อยู่ตลอดเวลา 

กลับบ้านดึกแทบทุกคืน

บางคืนขับรถข้ามจังหวัดคนเดียวโดดๆ  เป็นต้นว่า  ออกจากกาฬสินธุ์ตอนสี่ทุ่ม  มาโผล่ที่สารคามห้าทุ่มและล่วงไปโคราชจนถึงตีสามต้นๆ

บางคืนโผล่ออกจากโคราชเที่ยงคืน จวบจนตีสามโน่นแหละถึงได้มานอนหมดสภาพในห้องหับอันเงียบเหงา ก่อนจะพาตัวเองดุ่มเดินไปสู่ห้องทำงานที่บางครั้งก็ดูจำเจ-จำใจ

หรือแม้แต่ช่วงนี้ก็จำต้องขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างพื้นที่อันเป็นหมู่บ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์กับมหาวิทยาลัยฯ  เพื่อดูแลนิสิตที่ออกค่ายการเรียนรู้ชุมชนในชนิดแบบ ฝังตัว อยู่ในหมู่บ้าน

เฉกเช่นวันนี้ผมเองก็เพิ่งกลับมาถึงในช่วงตีหนึ่งเศษๆ นี่แหละ

และนั่นก็คือเหตุผลหลักๆ  ที่ผมไม่มีพลังเหลือพอที่จะขับแต่งคลอดบันทึกของตัวเองมาสนทนากับทุกๆ ท่าน

         กระทั่งวันนี้  จึงได้รวบรวมพลังใจทั้งหมดอีกยก  เพื่อคลอดบันทึกสักบันทึก  เพื่อยืนยันว่า ที่ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ผมรักและหลงรักอย่างไม่จากจาง

          และจากนี้ไปก็เป็นบันทึกที่ยืนยันได้ว่าชีวิตวันนี้หนักหน่วงยิ่งนักกับการพานิสิตและลูกๆ เรียนรู้วิถีชุมชนแบบชนิดฝังตัว เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง 

แต่ก็ช่างเถอะ  เมื่อเทียบกับความสุขที่ได้รับจากการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านแล้ว  ที่ว่าหนักหน่วงนั้น ช่างน้อยนิด และเทียบไม่ได้เลยกับความสุขที่ผมและนิสิต ตลอดจนลูกๆ ได้รับมาตั้งแต่แดดอ่อนๆ สู่ร้อนจัดจ้า กระทั่งล่วงสู่ห้วงแดดล่มลมตก และสุดท้ายด้วยคืนค่ำที่ฟ้านวลงามด้วยแสงจันทร์อันอุ่นละไม

 

          ภาพทุกภาพต่อไปนี้  คงบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าตัวหนังสืออันเทอะทะ และวกวนของผมกระมัง ..

          เชิญเถอะครับ...เชิญดูกันเอง

          ภาพเหล่านั้น จะทำหน้าที่ในการบอกเล่าเรื่องราวของมันเอง

          แล้วจะรู้ว่า  สิ่งที่ผมและคนรอบข้างได้รับมานั้น มีค่ามากแค่ไหน

          บางทีท่านอาจจะหันกลับมาถามตัวเองอีกรอบว่า วันเดียวกันนี้-ท่านทำอะไรบ้าง และมีความสุขกับมันแค่ไหน...

กินข้าวป่า..เสวนาภูมิปัญญาชุมชน

 

ปิ้งปลา..ลาบปลา ..

(หนึ่ง)ตำรา.. (สอง)ภูมิปัญญา : กลวิธีการจับปลาแบบพอเพียง

ตบปะทาย : เฮ็ดบุญดิน เฮ็ดบุญน้ำ-ขอขมาลาโทษ ณ ท้ายหมู่บ้าน

 

บั้งไฟ..เสี่ยงทายฝนฟ้า


เย็บขันหมากเบ็ง..

 

หลักปักเขตบ้าน..ป้องกันภยันตราย

ตบปะทาย..ภูมิวัดภูมิวา

เวียนเทียน..

และทั้งปวงนี้ คือภาพชีวิตเนื่องในวันวิสาขบูชาของชาวบ้านในหมู่บ้านอันเป็นบ้านเกิดของผมเอง
เช้ายันค่ำ และล่วงเข้าดึกดื่น..แต่เป็นวันและคืนที่หัวใจของผมแช่มชื่นเป็นที่สุด

หมายเลขบันทึก: 260058เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2009 02:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (36)

สวัสดีคะอาจารย์พนัส

เป็นประเพณีที่ดีงามนะคะ

พี่ไม่ทราบว่ามีหลายขั้นตอนแบบนี้

ทราบแต่ว่าไปวัด เวียนเทียน

ขอบคุณนะคะ ความรู้เพิ่มเติม

เจอกันพรุ่งนี้เช้าคะ

สวัสดียามเช้าค่ะ..อาจารย์แผ่นดิน

รู้สึกสดชื่นกับอาจารย์ด้วยจริงๆค่ะ

เป็นความงดงามของวิถีชีวิตที่ผู้คนต่างโหยหากันนะคะ

ในความคิดของตัวเอง..พบเช่นเดียวกันอาจารย์แผ่นดินค่ะ

หากเราให้เวลาตัวเอง..เราจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็น "รากเหง้า"ที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ยังคงเป็นวิถีที่งดงามอยู่ในสังคม..

คืนที่ผ่านมาก็พบเช่นกันค่ะ  เมื่อเวียนเทียนในตัวเมืองเชียงใหม่ 

เห็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นจำนวนมากทีเดียวค่ะ เกือบ 40 % ที่ร่วมกิจกรรม

รู้สึกลึกๆค่ะว่า ตื้นตันใจ..กับภาพงามนี้

หากผู้ใหญ่ไม่ทิ้งเด็ก อะไรๆที่เป็นปัญหาคงผ่อนเบาลงนะคะ

เช่นเดียวกับอาจารย์แผ่นดิน..ที่มีภาพน้องดินน้องแดน..และคนข้างเคียงเสมอ

ขอบคุณสำหรับความงดงามของชีวิตที่นำมาแบ่งปันค่ะ..

ทำงาน คือการปฏิบัติธรรม

ขอให้มีความสุขในการทำงานนะคะ

เรื่องราว ที่เป็นวิถีชีวิตคุณพนัสบันทึกไว้อย่างงดงามที่สุดครับ..

------------------------------------------------

ระลึกถึงครับ เอาไว้เจอกันที่หาดใหญ่ ตอนนี้ก็เตรียมตัวเพื่อไปร่วม gotoknow forum ครับ 

อ้อ...น้องมะปรางและน้องสี่ ฝากผมให้ขอพี่พนัสเขียนบันทึก "ความเหลื่อมล้ำ" เด็ดๆ สักบันทึกสองบันทึกนะครับ จะได้เอาไปรวมอยู่ในหนังสือครับ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

ทักทายด้วยระลึกถึง ช่วงนี้หัวฟูและยุ่งมากๆ ค่ะ

แต่ก็เหมือนอย่างที่คุณแผ่นดินเอ่ย คิดเช่นเดียวกันค่ะ

...ที่ตรงนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ผมรักและหลงรักอย่างไม่จากจาง

และยังชอบประโยคเดิมๆ อยู่ ... เราไม่เหงา เพราะมีคนให้เราได้คิดถึง ... กัลยาณมิตร ทั้งหลายในที่นี้ ขอบคุณนะคะ

...

อิ่มเอม กับ ทุกบันทึกด้วยหัวใจ และ ภาพมีชีวิตชีวา ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับสำหรับภาพเรื่องราวดี

แวะมาตลอด หายไปก็รอคอยอยู่ตรงนี้เสมอครับ

สวัสดีค่ะ

  • น้องเซียงและน้องจุก..บุกทุกที่เลยนะคะ
  • ขอเป็นกำลังใจนะคะ
  • เหนื่อยกาย..พักผ่อนก็หายนะคะ
  • ดูภาพแล้วมีความสุขมาก
  • ภาพบล็อกขวามือเทห์มากๆ
  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • สงสัยอยู่ว่าอาจารย์หายไปไหน
  • ครูอิงเองก็หายไปหลายวันเหมือนกันค่ะ
  • เพิ่งกลับเข้ามามีเวลาเต็มที่ก็เมื่อคืนนี้เอง
  • คิดถึงบันทึกคุณภาพของอาจารย์จึงแวะมาอ่านมาชม
  • เห็นภาพสองหนุ่มน้อยแล้วชื่นใจทุกครั้งค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับภาพการถ่ายทอดวิถีชีวิตที่ทรงคุณค่า และควรค่าแก่การบันทึกไว้ ณ ที่นี้

สวัสดีครับ พี่ประกาย~natachoei ที่~natadee

ยังไม่ไปถึงไหนเลย..รถดับไปเฉยๆ เลยนั่งแช่อยู่ที่ศูนย์ขอนแก่น..
ง่วงมากครับ-

ดีใจเหลือล้นกับการได้มาร่วมกิจกรรมดีๆ ในวันนี้,
ไม่ใคร่ได้ช่วยอะไรนัก แต่ก็ชื่นใจกับความดีที่งดงามของทุกคนที่ก่อเกิดอยู่ในเวทีวันนี้...

ขอบคุณในมิตรภาพอันงดงาม นะครับ

สวัสดีครับ ศน.อ้วน

ปีนี้เป็นปีที่คึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีนิสิตนักศึกษามาร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านได้หันกลับมาดู "ตัวตน-รากเหง้า" ของตัวเองอีกครั้งอย่างจริงจัง

หลายๆ กิจกรรม ผมพยายามเชื่อมโยงให้เกิดการ "ถอดความรู้" ร่วมกันระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน  ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลายเรื่องที่ทำๆ กันอยู่นั้น ก็หลงลืม "นัยความหมาย" ของชีวิตและวัฒนธรรมไปอย่างน่าเสียดาย

แต่โชคดีมากครับ กิจกรรมเหล่านี้ ได้ถูกขุดค้นรื้อฟื้นร่วมกันอีกครั้ง และนี่คือปฐมบทของการบันทึกเรื่องราวอย่างเป็นลายลักษณ์ไว้ให้ลูกหลานได้อ่าน-ได้ศึกษา

ผมคงได้เล่าในแต่เรื่องแบบรวมๆ กว้างๆ อีกครั้งในบันทึกต่อๆ ไป นะครับ

 

สวัสดีครับ พี่ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ยังอยู่ที่ขอนแก่นอยู่เลยครับ-รถเสีย...

ขอบคุณเรื่องดีๆ ที่ช่วยกันรังสรรค์ขึ้นนะครับ..

หวังว่าจะมีครั้งที่สองและต่อๆ กันไป-ยุ่งแค่ไหน ก็จะ "มาช่วยมาเป็นกำลังใจ" เหมือนวันนี้, นะครับ

........

 

สวัสดีครับ คุณเอก.จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ขอบคุณความระลึกอันแสนงามที่มีให้นะครับ..

กรณี บันทึกว่าด้วย "ความเหลื่อมล้ำ"  จะพยายามนะครับ แต่ไม่รู้ว่าจะ "เด็ด" แค่ไหน เพราะไม่มั่นใจว่า วิถีที่ดำเนินอยู่นี้เป็นกระบวนการหนึ่งของการ ลดความเลื่อมล้ำเฉกเช่นที่พูดถึงในโกทูโน

ครับ,-จะพยายาม นะครับ

รักษาสุขภาพมากๆ นะครับ

....

 

สวัสดีครับ..คุณปู poo

ต้องขอบคุณโกทูโนครับที่ทำให้เราและเราได้พบพานกันอย่างไม่รู้จบ, และได้สัมผัสความงามของมิตรภาพอย่างไม่กังขา (แม้ยังไม่พบเจอตัวจริงๆ)

ที่ตรงนี้ ช่วยให้ผมรู้สึกเรื่อยมาว่า "โลกไม่มีเงียบเหงา เพียงเพราะมีคนให้เราได้คิดถึง"

....

เช่นกันครับ,
คิดถึงมากๆ

รักษาสุขภาพและความฝันที่มีชีวิตของตัวเอง นะครับ
-ผมเป็นกำลังใจให้

วันนี้ โชคดี เจอท่านแผ่นดิน ตัวเป็นๆ อีกครั้ง ครับ

หน้าคุ้นๆ ใหมครับ

สวัสดีครับคุณแผ่นดิน

   ขอพละกำลังและความสดชื่นจงเกิดกับท่านที่ทุ่มเททำงานเพื่อนิสิตและสังคม...ขับรถตอนเหนื่อยๆ ระวังหน่อยนะครับ ถ้าเหนื่อยมากๆแวะจอดพักสักหน่อยก็จะดีนะครับ..ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

สวัสดีค่ะ

  • กลับมาแล้ว
  • ดีใจนะคะที่ได้อ่านเรื่องราวดีๆ
  • และงานอันเป็นที่รักของอาจารย์
  • รักษาสุขภาพด้วยนะคะ
  • สวัสดีค่ะ
    อ่านแล้วก็สุขใจ
    ทำให้คิดถึงบทกลอนบทนี้ค่ะ

    "วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตชน
    เป็นทั้งมิ่งมงคลและมิ่งขวัญ
    จากสูงสุดวิมุติค่าสู่สามัญ
    ล้วนสร้างสรรค์สังคมให้สมบูรณ์"
           (เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์)
  • ขอเป็นกำลังใจให้ครูดีของแผ่นดิน
    ทุกคนค่ะ

 

http://www.kroobannok.com/blog/view.php?article_id=7729http://www.kroobannok.com/blog/view.php?article_id=7729

สวัสดีครับ. ขอแค่ได้เขียน

ขอบคุณมากๆ เลยนะครับที่ยังคงติดตามบันทึกของผม..

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าจะเล่าให้ละเอียดสักสามบันทึก
ถ้าไม่พลิกฯ  ไม่เกินพรุ่งนี้คงได้อ่าน สักสองเรื่องได้กระมัง

ขอบคุณครับ

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ควรให้ความสำคัญโดยการถือศีลปฏิบัติธรรม
ฟังหัวข้อแล้วปลื้ม "วันและคืนที่หัวใจแช่มชื่นเป็นที่สุด "

แต่เนื้อหาภายในกลับกลายเป็นการส่งเสริมการทำบาป
มีการจับปลา ฆ่าปลา เผาปลาอย่างสนุกสนาน

ท่านคิดอย่างไรจึงเขียนออกมาเช่นนี้ไม่ไตร่ตรองเลยหรือ
เด็กนักเรียนในเวบนี้ก็มาก

สวัสดีครับ..พี่คิม

ยินดีกับรางวัลสุดคะนึง นะครับ..
ค่ายนี้ หลักๆ คือพานิสิตไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน โจทย์การเรียนรู้ชาวบ้านเป็นผู้กำหนดขึ้น...

นิสิตไปดู เก็บข้อมูลและวิคราะห์ พร้อมๆ กับแลกเปลี่ยนไปในตัว พอตกดึกก็มานั่งสังเคราะห์ร่วมกัน  และไม่กี่วันข้างหน้านี้  จะนำเสนอต่อชุมชนอีกรอบ  พร้อมๆ กับการผลิตเป็นสื่อการเรียนรู้ให้ชุมชนไปในตัวด้วยเหมือนกัน

....

 

 

สวัสดีครับ คุณเบดูอิน

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ..

กรณีภาพที่พูดถึงนั้น ถ้าหมายถึงหัวบล็อก หรือหัวบันทึกนั้น น้องในทีมงานที่สำนักงามทำให้  ผมเลือกภาพนี้เพราะดูเป็นธรรมชาติ  เป็นภาพที่ผมกำลังกึ่งพูดกึ่งบรรยายให้นิสิตชาวค่ายได้รับฟังในชุมชนแห่งหนึ่ง โดยใช้กระบวนการง่ายๆ ..ภายใต้บริบทของร่มไม้เป็นแหล่งเรียนรู้

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ...อิงจันทร์

ระลึกถึงเช่นกันนะครับ.
ค่ายครั้งนี้ ใช้เวลาอยู่ในชุมชนสิบคืนเลยก็ว่าได้  เราใช้ชีวิตไหลรื่นไปกับชาบ้าน ยึดขนบวัฒนธรรมของชาวบ้านเป็นแบบเรียน  ยังไม่ได้เปิดเวทีชาวบ้านอย่างเป็นรูปแบบ

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เริ่มเห็นการตื่นตัวของชาวบ้านที่หันกลับมามองเรื่องราวเก่าๆ ของตัวเองบ้างแล้ว  และนั่นก็คือประเด็นที่เราคาดหวังไว้ลึกๆ  ส่วนการร่วมถกคิด วิเคราะห์ต่างๆ นั้น จะตามมาในเร็วๆ นี้...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.JJ

ผมเองก็ดีใจเช่นกันที่ได้เจอกับอาจารย์แบบตัวเป็นๆ อีกครั้ง
เพราะที่มหาวิทยาลัย ก็แทบไม่ได้เจอกันเลยก็ว่าได้

ผมเองยังต้องเดินทางเข้าออกระหว่างค่ายกับมหาวิทยาลัยฯ...
วิถีค่าย หรือการเรียนรู้ของนิสิต ก็ยังต้องค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับค่ายนี้ ก็เป็นค่ายที่ฉีกออกมาจากค่ายทั่วๆ ไป  เพราะเน้นการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน  ไม่ใช่การไปค่ายเพื่อสร้างสิ่งใดๆ ในเชิงวัตถุ

กำลังเริ่มถอดบทเรียนร่วมกันระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน...
คงได้เห็นเรื่องเดียวกันที่มีมุมมองหลากมุมในเร็ววันนี้แหละครับ โดยเฉพาะมุมมองของคนรุ่นเก่ากับหนุ่มสาวที่เข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้าน

....ขอบคุณครับ...

 

สวัสดีครับ..ผมคนโสตฯครับ

ขอบคุณในกำลังใจและความปรารถนาดีที่มีต่อผมนะครับ
คืนที่ผ่านมา พักเต็มที่ ตอนนี้สดชื่นและมีพลังเหมือนเคยแล้ว  กำลังเตรียมที่จะไปประเมินนิสิตที่ฝังตัวอยู่ในชุมชน ไม่รู้จะออกหัวออกก้อย แต่ก็เชื่อว่า  นิสิตจะต้องได้อะไรบ้าง  ทั้งในมิติของการใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างชาวค่าย และการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านจากอดีตถึงปัจจุบันที่ดูเหมือนจะเริ่มปะติดประต่อในเชิงข้อมูลบ้างแล้ว

ขอบคุณครับ

 

 

สวัสดีครับ  อรวรรณ

เช่นกันนะครับ...
ขอให้สุขภาพแข็งแรงๆ ...

 

สวัสดีครับ.. วราภรณ์ ธรรมทิพย์สกุล

ในมุมมองของผมเอง  ความเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้น มองกันได้หลายมุมมองมาก บางเรื่องตีความได้กว้างไกล บางเรื่องคงอยู่เป็นปัจจุบัน บางเรื่องจากหายไปตามยุคสมัย

ค่ายครั้งนี้ จึงเป็นการไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชุมชน  จัดเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ จัดเวทีชาวบ้านสังเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย นำไปสู่การทำแผนหมู่บ้านไปในตัว

เรายึดนาฏการณ์ของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง..ถือว่าภาพชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นข้อมูลที่ต้องนำมาจัดเก็บและถกคิดร่วมกันอีกรอบ  ซึ่งจะมีเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พ.ค. นี้.. ความเหมือนและความต่างระหว่างมุมมองของนิสิตกับชาวบ้านก็จะถูกนำมาเสวนากันแบบมีมิตรภาพ ด้วยกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน...ซึ่งคงได้บอกเล่าในบันทึกถัดไป

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณไอสูรย์ฯ

ก่อนอื่นเลย ผมต้องขอขอบคุณมากๆ ที่แวะมาให้คำชี้แนะอันดีต่อบันทึกนี้ ถึงแม้ดูฟังดูจะเป็นการติติงซะมากกว่า..กระนั้น ก็ขอน้อมรับไว้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

กิจกรรมค่ายครั้งนี้  ผมนำนิสิตไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน  โดยไม่ใช่ค่ายที่เป็นการสร้างวัตถุใดๆ...เน้นการกินอยู่ในหมู่บ้านแบบ "ฝังตัว" พบปะชาวบ้าน พูดคุยและจัดเก็บข้อมูลจาก "ปากคำ" ของชาวบ้านเป็นหลัก  เพื่อนำมาบันทึกและขยายผลไปสู่หนังสือการเรียนรู้ของคนในชุมชนนั้นๆ...

กิจกรรมวันนั้นก็เช่นกัน...
ชาวบ้านเป็นคนกำหนดรูปแบบเสียทั้งหมด วันๆ เดียวกันนี้ มีโจทย์การเรียนรู้ร่วมกันอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ การเรียนรู้วิถีของการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชาวบ้าน  โดยชาวบ้านพานิสิตไปเรียนรู้แหล่งน้ำอันเป็นเสมือน "ธนาคารปลา" ของชาวบ้าน  ที่มีไว้เพื่อเพาะเลี้ยงปลาและจะใช้ประโยชน์ในงานบุญต่างๆ รวมถึงการใช้เลี้ยงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โดยไม่ต้องเสียสะตุ้งสตางค์ไปซื้อขายมาจากตลาดในเมือง...

เชนเดียวกัน ก็ผูกโยงไปว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นโรงเรียนปลูกข้าวของชาวบ้าน  มีการลงแขกร่วมกัน ทั้งการปักดำและเก็บเกี่ยว..แต่ละปีมีการ "เกี่ยวข้าวใหม่ กินปลามัน" ตาม "ฮีตคอง" ของชาวอีสาน  เป็นต้น..

....

แน่นอนครับ..ผมอาจดูเหมือนไตร่ตรองน้อยไปสักนิดเกี่ยวกับความเป็นวันวิสาขบูชากับวิถีของการกินปลาและจับปลาในแบบชาวบ้านๆ ..แต่ผมก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาใดๆ มากถึงขั้นการชี้นำให้ในทำนองว่าวันนี้เป็นวันส่งเสริมการทำบาป...

ผมว่า..นักเรียนมีพื้นที่อื่นที่ควรต้องเรียนรู้เป็นหลัก พื้นที่ตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ของคนทำงาน  แต่ก็อย่างว่า  โลกของการเรียนรู้ไม่กั้นขวางสถานะใดๆ ..

และภาพที่นำเสนอนั้น จริงแท้ก็เป็นภาพชีวิตหลักของชาวบ้านที่ต้องบันทึกไว้ว่าเป็นขนบของพวกเขาโดยแท้  ก็ไม่ต่างไปจากวาทกรรมที่กำลังรณรงค์ห้ามดื่มเหล้าเบียร์ในเทศกาลต่างๆ ทางศาสนา หรือมแต่พิธีกรรมต่างๆ นั่นแหละ - แต่เอาเข้าจริง เราต่างยึดปฏิบัติกันได้จริงแค่ไหน  และสิ่งที่ผมยังไม่เขียนเลยก็คือ การขยายบันทึกนี้ให้เห็นความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นของชุมชนนี้  ซึ่งผมก็คิดว่า มันเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กับไปหมด...

แน่นอนครับ..ผมยืนยันว่า บันทึกนี้ไม่ใช่ส่งเสริมการทำบาป...และเชื่อว่าคนอื่นๆ มีวิถีการไตร่ตรองที่แยกแยะได้  และคิดว่า การแนะนำด้วยความเป็นมิตร คือ วิถีบุญทางใจที่เราควรมีต่อกัน...อย่างจริงใจ  ผมเองเสียดายที่คุณไอสูรย์ฯ ไม่แสดงตัวในระบบ  ผมจะได้อธิบายอะไรให้มากกว่านี้ และแลกเปลี่ยนกันด้วยความเป็นมิตรมากกว่าอื่นใด

ผมขออภัยนะครับ
แต่คิดว่า ..ผมเขียนแบบไตร่ตรองแล้ว  หลงเหลือแต่การขยายความในเชิงวัฒนธรรมชุมชนเท่านั้นเอง
และยืนยันว่า ไม่มีเจตนาชี้ให้เห็นว่า หมู่บ้านนี้ ทำบาปในวันวิสาขบูชานะครับ...

ขอบคุณด้วยความสัตย์จริง...

ขอบคุณมากๆ...อีกครั้ง นะครับ

 

 

 

วันวิสาขบูชา ควรงดการฆ่าทุกชนิด อย่างเคร่งครัดค่ะ ถ้าชาวบ้านจะทำได้ในกรณีนี้จะเป็นค่ายที่มีคุณค่ามากค่ะ นิสิตก็จะได้เข้าใจแก่นของพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น "บาปเป็นทุน บุญเป็นกำไร" ขอให้กำลังใจในการทำงานนะคะ

เหนื่อยก็พัก

หายเหนื่อยก็กลับมาเขียนใหม่นะครับ

สวัสดีครับ..ครูบ้านนอก

ขอบคุณข้อแนะนำดีๆ นะครับ  ผมได้ตรวจต้นฉบับการบันทึกข้อมูลของนิสิตแล้ว  มีประเด็นเหล่านี้อยู่ในนั้นด้วย  ที่ไม่แย้งกับชาวบ้าน  เพราะเห็นว่า เป็นการจัดการของชาวบ้านทั้งหมด แต่ข้อเสนอแนะนั้น จะถูกนำเสนอต่อชุมชนในวันที่ 14 พ.ค.นี้

แต่นิสิตได้ถกกันแล้วว่า การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในวันสำคัญเช่นนี้ไม่เหมาะสมยิ่งนัก ละวางได้เป็นประโยชน์สูงสุด  แต่ก็มีการแซวกันเหมือนกันว่า ...เพิ่อปากท้อง (บาปน้อยหย่อย)...

ขอบคุณครับ,
ขอบคุณคำเสนอแนะที่สัมผัสได้ถึงมิตรภาพและความงามของจิตใจ

โชคดี ครับ

สวัสดีครับ...Phornphon

ตอนนี้ได้พักมากกว่าที่ผ่านมา รู้สึกดี มีเวลาคุยกับตัวเองมากขึ้น

ขอบคุณครับ

ถ้าต้องการคงไว้ซึ่งเนื้อหาสาระของชาวบ้าน

ก็ไม่ควรตั้งหัวเรื่องที่เอา "วันวิสาขบูชา" ไปเกี่ยวข้องด้วย เสียภาพพจน์

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกันชา... คะ
ต้องมีสติในการเขียนนะคะ อย่าให้ขัดกันระหว่างเนื้อหาและการจั่วหัวเรื่องนะคะ

สวัสดีครับ
คุณปรเมศร์ ธำรงค์รัตน์
คุณยุพดี ศรีจันทร์

ขอบคุณในทุกๆ คำแนะนำ ชี้แนะข้างต้นนะครับ ขอน้อมรับไว้ด้วยใจ และเบื้อต้นผมได้ปรับชื่อเรื่องตามที่ควระต้องเป็น แล้วนะครับ

และขอบคุณและขออภัยมา ณ โอกาสนี้อีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท