พูด-มิตรภาพ-ความเหงา ..ไม่มีบทสรุปวิชาการใดจากบันทึกนี้


วันจันทร์ที่ผ่านมา-
ผมและเพื่อนร่วมรุ่นจำนวนเกือบๆ จะ
40 ชีวิต เทใจเดินทางไปทำกิจกรรมร่วมกันที่สถานสงเคราะห์คนชรา จังหวัดมหาสารคาม  (หรือกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม


เพื่อนร่วมรุ่นในที่นี้หมายถึง  สมาชิกที่เข้าร่วมฝึกอบรมตามหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะหลักผู้บริหารสายสนับสนุน กรณีหัวหน้างาน รุ่นที่
1 ...ที่ผมถูกล็อคโหวตให้เป็น “ประธานรุ่น”


ทันทีที่รถบัสเคลื่อนตัวออกจากมหาวิทยาลัยในเวลาราวๆ
3 โมงเช้า  ผมก็ถูกรบเร้าจากหมู่มวลสมาชิกให้ลุกขึ้นมากล่าวทักทายกับทุกคน  ซึ่งที่จริงนั้น  ผมเองก็เตรียมใจไว้บ้างแล้วว่า ยังไงเสียก็คงต้องพูดอะไรบ้างล่ะ... แต่ถึงกระนั้น  ก็ไม่เคยตระเตรียมเรื่องมาพูดเลยแม้แต่สักครั้งเดียว

 

อีกอย่าง ผมเองก็เคยเกริ่นกล่าวมาตลอดว่า  ผมไม่ปรารถนาจะพูดคุยในทำนองนี้มากจนเกินไป ...มันเป็น “ขนบนิยม”  ที่ผมไม่พึงใจที่จะติดยึดเท่าใดนัก  แต่ก็น้อมรับอย่างสุภาพว่า  นี่คือมารยาททางสังคมที่พึงกระทำเป็นที่สุด  แต่จนแล้วจนรอด  ก็ไม่วายที่จะมอบหมายท่านเลขาฯ  ท่านรองฯ  หรือคนอื่นๆ  สลับกันขึ้นมาพูดคุยแทนเป็นระยะๆ


พูด...


ในห้วงเวลาที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันนั้น
ผมและทีมงานร่วมกันกำหนดให้แต่ละคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องราวของตนเองในมิติต่างๆ  ให้เพื่อนได้ร่วมฟัง  โดยมีจุดประสงค์หลักคือการ
“แบ่งปัน...เปิดเปลือยตัวตน..สู่คนรอบข้าง”  และนั่นก็รวมถึงโจทย์ง่ายๆ  เลยก็คือ  การพูดต่อที่สาธารณะ


กิจกรรมดังกล่าวนี้  สะท้อนภาพที่น่าสนใจเป็นยิ่งนัก 
บางคนมีทักษะการพูดที่ดียิ่ง  ขณะที่บางคนดูแล้ว  ยังคงต้องแต่งเติมทักษะการสื่อสารอย่างยกใหญ่...จนผมอดที่จะถอดบทเรียนกับทีมงานไม่ได้ว่า  นั่นคงเป็นเพราะสาเหตุหลายประการ  หรือเพราะเป็นผลพวงของ
“วัฒนธรรมองค์กร”  ที่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้ “พูด”  ในสิ่งที่ต้องพูด  ! ...

แต่ก็ช่างเถอะ  ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตามแต่  ทั้งผมและทีมงานจึงได้แต่พยายาม “โยนไมค์”
  ให้แต่ละคนได้พูดอยู่เนืองๆ 
     
โดยหวังว่า  กระบวนการเหล่านี้  จะเป็นการเสริมสร้างและพัฒนาสมรรถนะของเขาเองไปในตัว 
     
เผื่อว่าวันหนึ่ง  เมื่อเติบโตไปสู่การเป็นผู้บริหาร  จะได้ไม่เคอะเขินกับการ “พูด”  หรือ “การสื่อสาร” 
     
เพราะนั้นคือ  สมรรถนะหนึ่งของการสร้าง “ทีม” และสร้าง “ความสำเร็จแห่งความเป็นทีม” ....

 

 

 

มิตรภาพ...

 

และสำหรับผมนั้น
ผมสะท้อนเรื่องราวอันเป็นปรากฏการณ์ของรุ่นให้เพื่อนๆ ได้ฟังอย่างไม่บิดเบือนว่า ...
“ขณะนี้รุ่นของเราได้รับการกล่าวขานถึงอย่างแทบไม่น่าเชื่อ (กระแสมาแรง) ส่วนใหญ่แสดงความชื่นชมถึงบุคลิกภาพและศักยภาพ  ทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่มคน...จนทำให้ใครต่อใครตื่นตัวกระหายที่จะเข้าสู่การอบรมในรุ่นต่อไป...และใครต่อใครที่ว่านั้น  ต่างลุ้นระทึกว่าจะผ่านการพิจารณาเข้าสู่รุ่นที่ 2 หรือเปล่า”


เรื่องที่ผมพูดนั้น  เป็นความสัตย์จริงทุกกระบวนความ  และผมก็ฝากให้เพื่อนพ้องน้องพี่ในรุ่นได้ขบคิดว่า  บัดนี้แต่ละคนได้สาระความรู้ใดไปบ้างแล้ว ... มีอะไรที่นำไปใช้ในองค์กรหรือยัง  หากใช้แล้ว  สัมฤทธิ์ผลกี่มากน้อย...ฯลฯ

และสุดท้าย  ผมก็ทิ้งทวนการพูดในภาคเช้าไว้แบบไม่รอให้ใครๆ ต้องร่วมวงเสวนาว่า
“ความรู้ที่ได้จากการอบรมนั้น  ผมเชื่อว่าคงยากที่จะบอกว่าได้อะไรบ้างแล้ว และประยุกต์ใช้ได้ผลหรือไม่  แต่สำหรับผมแล้ว  ถึงแม้กระบวนการเหล่านี้ยังไม่จบ ..ผมกลับค้นพบสิ่งหนึ่งอย่างไม่กังขา  ซึ่งพร้อมที่จะสรุปอย่างหนักแน่นตรงนี้เลยก็คือ ..มิตรภาพระหว่างเรา...นั่นเอง

 

ครับ..ถึงแม้กระบวนการของการฝึกอบรมตามหลักสูตรจะยังไม่ยุติลง  และยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า  โครงการดังกล่าวนี้ ประสบความสำเร็จสักกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ 
แต่ผมก็พร้อมแล้วกับการที่จะบอกว่า  ..มิตรภาพที่เกิดขึ้น คือ เครือข่ายการทำงานชั้นยอดที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยได้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น
  โดยเฉพาะในกลุ่มสายสนับสนุน  ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับสายการสอน ..


ไม่ต้องดูอะไรมากเลยก็ได้  เพราะก่อนหน้านี้  หลายคนไม่คุ้นชินกันเลยก็ว่าได้  พอมาใช้ชีวิตในห้องอบรมด้วยกัน  ทุกอย่างก็หลอมละลายและเทใจเข้าหากันอย่างแสนงาม  เมื่อกลับไปที่ทำงานก็สื่อสารกันและกันเป็นระยะๆ  และใช้สัมพันธภาพนี้เกื้อหนุนการทำงานข้ามหน่วยงานอย่างมีระบบ
       ซึ่งก่อนหน้านี้ ...
       ปัญหานี้ถูกพยายามเรื่อยมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

แต่ก็อย่างว่า  นี่เพียงระยะต้น ...ยังคงต้องดูกันยาวๆ ..
แต่ก็ยังมั่นใจว่า  การเริ่มต้นที่ดี  ย่อมนำพาไปสู่สิ่งดีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก..

และเมื่อเราต่างเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่  ก็ยิ่งควรต้องดูแลอย่างดียิ่ง  เพื่อให้มิตรภาพที่มีอยู่นั้น เติบโตงอกงามเป็นเครือข่ายทางสังคมในองค์กรของเราอย่างเข้มแข็ง-ยั่งยืน


ความเหงา...


ทั้งผมและทีมงานมาถึงจุดหมายปลายทางในราวๆ 4 โมงเช้า
ผมสารภาพตรงนี้เลยว่า  ถึงแม้จะเคยท่องทะยานไปจัดกิจกรรมทางสังคมมานับร้อยครั้ง  แต่การมาจัดกิจกรรมในสถานสงเคราะห์คนชราเช่นนี้  ครั้งนี้เป็นครั้งแรก...


ภาพที่ผมพบเจอนั้น  ที่นี่ดูเงียบสงบ  และในความเงียบสงบนั้น  ก็ดูประหนึ่งว่ามันคือความ
“เงียบเหงา”  ...มันเป็นความเงียบที่มีพลัง  ชวนให้หัวใจของคนมาเยือนสั่นไหวอย่างบอกไม่ถูก


สถานสงเคราะห์คนชราดังกล่าว  เปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2529  ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณะประโยชน์ “โคกหินตั้ง”  ในเทศบาลตำบลแวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม  ซึ่งครอบคลุมการให้บริการในเขตภาคอีสานทั้งหมด  แต่ก็แทบไม่น่าเชื่อว่า  ผู้คนที่พักอาศัยอยู่ในนี้  ส่วนหนึ่งก็มาจากภาคอื่นๆ เลยก็มี  เป็นต้นว่า  สระบุรี  ปทุมธานี 

เมื่อถึงเวลานัดหมาย  คุณลุงคุณป้า..คุณตาคุณยายทั้งหลายก็ทยอยมารวมกันที่โรงอาหาร  เพื่อเตรียมที่จะร่วมกิจกรรมและรับประทานอาหารกลางวัน

กิจกรรมทั้งปวงเริ่มขึ้นง่ายๆ  โดยผมถูกผลักให้ออกไปพบปะชี้แจงที่มาที่ไป  (ทั้งๆ ที่พยายามมอบหมายคนอื่นแล้ว..แต่ดูเหมือนแต่ละคนก็เกิดอาการประหม่าขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด)


กิจกรรมแรกเปิดตัวด้วยการร้องเพลงของเจ้าของพื้นที่  มีทั้งเพลงเร็ว เพลงช้า  ลูกทุ่ง ลูกกรุง  หมอลำ  หรือแม้แต่เพลงเพื่อชีวิตก็มีให้ฟังอย่างเหลือเชื่อ...

 


เพลงเดือนเพ็ญของยายท่านหนึ่ง  ขับขานออกมาด้วยสำเนียงอันหนาวเหน็บและเจ็บลึก  ราวกับกำลังฝากข่าวถึงใครสักคนที่อยู่ที่ไหนสักแห่ง  ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า  ในห้วงวัยเช่นนี้  ท่านยังรักและชื่นชอบเพลงๆ นี้  ซ้ำยังสามารถร้องได้อย่างครบถ้วนกระบวนความ...

หากแต่ในห้วงหนึ่งนั้น  เพลงๆ หนึ่งก็ถูกสื่อสารออกมาอย่างแจ่มชัด  น้ำเสียงและจังหวะการขับร้องฟังดูไพเราะ นิ่ง...ประหนึ่งคนร้องไม่ใช่คนในวัยเกือบๆ จะ 80  ปี...
        ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าเพลงที่ว่านั้นคือเพลงอะไร  
        
รู้แต่เพียงว่า  เพลงๆ นี้สะกดให้ทุกคนนิ่งงันราวกับต้องมนต์  และไม่นานนัก  หลายคนก็น้ำตาหยาดไหลออกมา 
        บางคนลุกออกไปร้องไห้อย่างเงียบๆ 
       
ขณะที่บางคนก็นั่งรวบรวมสติ  โดยมีเพื่อนคอยปลอบประโลมอยู่อย่างไม่ห่าง

  

 

ถัดจากนั้น-ก็ถึงคราวของการรับประทานอาหาร 
หลายคนเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เสมือนเพลงทุกเพลงได้ร้อยรัดให้ผู้มาเยือนกับเจ้าบ้านได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันไปเป็นที่เรียบร้อย 
       ในห้งนั้น ผมเห็นชัดว่า 
บางคนถูกเกาะกุมไว้ด้วยเรื่องราวหลากหลายที่พรั่งพรูออกมาจากดวงใจอัน
“เงียบเหงา”  ของผู้คนที่เลยห้วงวัยแห่งการหยัดยืนด้วยตนเองได้ ... และดูเหมือนจะอดไม่ได้กับการต้องซึมซับความปวดร้าวอันแสนเหงานั้นอีกรอบ พร้อมๆ กับการร่ำไห้อีกหนอย่างไม่เขินอาย

 

ผมไม่รู้หรอกว่าแต่ละคนสัมผัสได้กับเรื่องใดบ้างในเวทีเช่นนั้น...
แต่คิดว่า  เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมนี้แล้ว  มีบางเรื่องที่ผมและเพื่อนร่วมรุ่นต้องถอดบทเรียนร่วมกันอีกสักยก ...


กิจกรรมในครั้งนี้  อยู่นอกเหนือหลักสูตรที่มีขึ้น  ทั้งผมและเพื่อนร่วมรุ่นปลงใจเองว่าอยากจัดกิจกรรมทางสังคมร่วมกันสักครั้ง  ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ก็ไม่เคยมีรุ่นใดขยับออกมาสู่การจัดกิจกรรมในทำนองนี้เลยก็ว่าได้


กิจกรรมในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นจากใจ..สู่ใจ.. เกิดจากมิตรภาพที่ร้อยเรียงความเป็น
“รุ่น”  ที่เท “ใจ”  มาสู่สังคมอย่างไม่เกี่ยงงอน... เงินทุกบาททุกสตางค์  เราทุกคนลงขันกันอย่างเสมอภาค  ส่วนใครจะเพิ่มเสริมเติมเต็มมากกว่านั้น  ก็ขึ้นอยู่กับ “ศรัทธา”  ของแต่ละคน

บนรถ..
เมื่อรถบัสเคลื่อนตัวออกมาจากสถานสงเคราะห์คนชราฯ ... ผมปล่อยให้ทุกคนอยู่กับตัวเองสักระยะ  ก่อนสะกิดทีมงานให้เริ่มส่งเสียง เพื่อให้แต่ละคนละวางจากเรื่องราวและฉากชีวิตที่เพิ่งสัมผัสมาสดๆร้อนๆ ...


ผมจำต้องลุกขึ้นถือไมค์อีกครั้ง..พร้อมกับการกล่าวในทำนองว่า 
“หากเป้าหมายของกิจกรรมนี้  หมายถึงการมาเลี้ยงอาหารกลางวัน  เราก็บรรลุซึ่งเป้าหมายแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย  แต่เป้าหมายรองอันเป็นผลพวงอื่นๆ นั้น  ก็สุดแท้แต่ว่าใครแต่ละคน  จะสามารถซึมซับและเก็บเกี่ยวอะไรมาได้...”

 

จากนั้น  ผมก็โยนไมค์ไปสู่เพื่อนร่วมรุ่นอีกหน ......

........................

........................


สำหรับผมแล้ว...
ไม่มีบทสรุปวิชาการใดจากบันทึกนี้  นอกเสียจากเสียงพร่ำบ่นของตนเองที่ก้องดังอยู่เบื้องลึกว่า

มิตรภาพช่างงดงามและแสนงาม
แต่ทำไม  ความเหงา ...ช่างโหดร้ายเสียจริง
!

 

 

....

23 กุมภาพันธ์...
วันดีๆ ..ท่ามวิถีที่เหงาๆ

 

 

หมายเลขบันทึก: 244778เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

ท่ามกลางวิถีที่เหงาๆ...ในวันดีๆ

ท่ามกลางความขัดเเย้งของอารมณ์ทั้งมวล..ผมปรารถนาให้คุณพนัสมีพลังกาย พลังใจในการทำงานต่อเนื่องไปครับ

:)

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ชอบกิจกรรมแบบนี้จังค่ะ เป็นกำลังใจให้บันทึกเรื่องราวดีๆให้พอล่าได้อ่าน และศึกษา อยากเขียนเก่งๆ แบบมีสาระบ้างค่ะ ดูเชื่อมโยงและร้อยเรียงคำพูดและความหมายได้ดีจังค่ะ มีเคล็ดลับอะไรหรือคะ อิอิ

  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆ
  • รู้สึกดีมากครับ

แวะมาทักทาย ให้หายเหงาไปบ้างนะคะ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • กิจกรรมแบบนี้มีคุณค่ามากค่ะ
  • เพราะได้ซึมซับความรู้สึก ทำให้ละลายความคิด ความรู้สึกของใครบางคน
  • เพราะยังมีคนที่เห็นแก่ตัว คนที่มีอัตตาสูง
  • ทำให้เห็นคุณค่าของตนเองและคุณค่าของคนอื่นมากขึ้นค่ะ
  • สมควร สำหรับตำแหน่งประธานรุ่น
  • แวะมาชื่นชมกิจกรรมดีๆ มิตรภาพ ความอบอุ่นค่ะ
  • ขอให้มีความสุขเสมอ

มายิ้ม เหงา ๆ เศร้าพองาม ๆ นะครับ อิ อิ อิ

มีกิจกรรมแบบนี้ มิตรภาพ

ภาพที่เป็นมิตร

ขอบคุณน่ะค่ะ

เอาอันนี้มาฝากอีกค่ะ

http://play.kapook.com/vdo/show-65490

เห็นผู้สูงวัยให้นึกถึงคุณยายที่จากไป

ท่านเป็นความทรงจำที่ดีและน่าประทับใจให้ลูกหลานได้รำลึกนึกถึงท่านค่ะ

สวัสดีครับ อ.แผ่นดิน

อ่านไปอ่านมาชัดอายเหมือนกัน พูดที่ชุมชนไม่ได้เรื่องเหมือนกัน บุคลิกท่าทาง ไม่ให้ แต่ถ้ารายบุคคลนี้ผ่าน

ประสบการณืนี้สำคัญ ผมพ฿ดกับเกษตรกร เราพูดด้านเดียว ผิดถูกไม่เป็นไร

แต่ถ้าเป็นแบบเวทีอาจารย์ผมแย่แน่ๆ

ความเหงา..สำหรับคนวัยนั้นช่างทารุณจริง

น้ำหล่อเลี้ยงไม่มี..หมายถึงลูกหลาน ญาติพี่น้อง

กำลังใจมันถดถอย

ไม่พูดดีกว่า

ขอบคุณมากครับ 

สวัสดีค่ะ

เชื่อว่า เป้าหมายรอง ของทุกคน ในวันนั้น คือความสุข ที่ได้้ให้ และได้รับ

ชื่นชมทีมงานนะคะ

หวัดดีค่ะ

สบายดีนะค่ะ...แวะมาทักทายยามดึกค่ะ...สู้ ๆ ต่อไปนะค่ะ

  • ความเงียบเหงาเปรียบเหมือนความแห้งแล้ง เมื่อมาพบกับมิตรภาพก็เหมือนพื้นดินที่แตกระแหงได้สัมผัสฝนจากฟ้านะคะ
  • ขอให้มีความสุขที่สุดจากการให้น้ำใจที่งดงามนี้ค่ะ สุขที่ได้มีเมตตา บารมีก็ตามมาค่ะ

มาอีกแล้วค่ะพี่แผ่นดิน

อิอิ

เอามาฝากค่ะ

เปิดลำโพงด้วยน่ะค่ะ

http://www.horhook.com/section/spinyarns/new/01726_6.html

สวัสดีครับ...คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

ในแต่ละวัน  ชีวิตของผมมีภารกิจเข้ามาเกี่ยวพันมากมายเหลือเกินครับ  เป็นเรื่องการบริหารจัดการด้านเวลาเป็นหลัก  ...

ผมมีความทุกข์ใจมากที่สุด  หากช่วงนั้นๆ  กลายเป็นคนว่างงาน เสมือนตกอยู่ในห้วงสูญญากาศ 

แต่ในช่วงที่มีงานให้ทำเยอะๆ ..ออกสังคมชนบทบ่อย ๆ ... งานหนัก เหนื่อย แต่เป็นห้วงชีวิตที่ผมมีความสุขและมีพลังในการที่จะขับเคลื่อนชีวิตและการงานมากที่สุด

เสมือนกับสมัยที่เรียน..  ปีที่ลงเรียนมากที่สุดและมีตำแหน่งองค์กรนิสิตที่ต้องรับผิดชอบเยอะๆ  ช่วงนั้น หรือภาคเรียนนั้น  ผมมีพลังชีวิตเยอะมาก ... ทำกิจกรรมได้ต่อเนื่อง และมีผลการเรียนที่ดี

....

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..♥.paula ที่ปรึกษาตัวน้อยแต่~natadee✿

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและมาให้กำลังใจนะครับ..

ตอนนี้  ผมก็ชื่นชมคุณพอล่าทั้งวิถีการงานและการเขียนบล็อกนะครับ ซึ่งสไตล์ที่เป็นอยู่ก็ "น่ารัก"  และได้สาระอย่างดียิ่งแล้วครับ

ส่วนวิถีการเขียนบันทึกของผมนั้น  เป็นการเขียนเรื่อยๆ ไม่ค่อยจัดประเด็น  เอาความรู้สึกและบรรยากาศเป็นตัวนำ ไม่เน้นการวิพากษ์ หรือเสนอแนวคิดอะไรมาก  แต่เน้นให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นหลัก  ส่วนประเด็นแนวคิดนั้น  จะเปิดกว้างให้ผู้อ่านตีความและเก็บเกี่ยวไปเอง

สำคัญคือ .. ผมประเภทวิชาการ 3 บรรทัดครับ... นอกนั้น เน้นอารมณ์ ความรู้สึก  ซึ่งเคยนิยามการเขียนของตนเองว่า "เปิดเปลือย" ...

ขอบคุณครับ

 

สวัวดีครับ...ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม..นะครับ..

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปจัดกิจกรรมในสถานที่เช่นนั้น ที่ผ่านมามักไปจัดกิจกรรมกับเด็กๆ ในโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะเด็กๆในโรงเรียนชนบทๆ  แต่ครั้งนี้ ได้สัมผัสรสชาติชีวิตที่ดูจะเปลี่ยวเหงาไปอีกแบบ  ห้วงปลายของชีวิต  ดูเศร้า อย่างแทบไม่น่าชื่อ..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.จารุวัจน์

ตอนนี้อากาศร้อนมาก.. ปีนี้ร้อนเร็วกว่าทุกปี

เด็กๆ ในชนบท รอเวลาปิดเทอม จะได้ใช้ชีวิตส่วนหนึ่งกับป่าโคก..จับกิ้งก่า..แหย่ไข่มดแดง

ภาพชีวิตเช่นนี้ เป็นมนต์เสน่ห์ของลมร้อน ครับ

สวัสดีครับ...ครูอ้อย แซ่เฮ

ในชีวิตจริง ผมคุ้นชินกับความเหงาเป็นพิเศษ  อันเป็นคุณลักษณะประจำตัวของคนอ่อนไหวที่ไม่อ่อนแอ..ครับ

ผมเพิ่งเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน, ..

ท้องทุ่งตอนนี้แล้งระแหงมาก  เปลวแดดเต้นระยับไปทั่วทุ่ง ปีนี้ สงสัยจะร้อนกว่าปีที่แล้ว....

และที่แน่ๆ .. คนอีสานหลายคนจะต้องกลับมายังบ้านเยอะขึ้น  เพราะคิดว่า  โรงงาน หรือบริษัทหลายแห่งคงต้องโละคนงงานออกมาตามภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ .. ซึ่งบางคนอาจกลับมาเพื่อพักยก แต่บางคนอาจกลับมาเพื่อเยียวยาจิตใจ  หรือบางคนอาจกลับมาเพื่อปักหลักปักฐานอย่างจริงจังอีกครั้ง

....

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ  ครูคิม 

  • ดีใจทื่ได้พบเจอตัวจริงเสียงจริง นะครับ
  • และก่อนอื่นก็ขอเป็นกำลังใจต่อการสร้างคนให้แก่สังคมสืบไปเช่นกัน, นะครับ
  • โครกงารที่ผมและทีมงานร่วมจัดขึ้นนั้น  เป็นความเห็นชอบร่วมกันของ "รุ่น"  โดยมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับว่าจะต้องจัด
  • กิจกรรมเหล่านี้  หลายคนซื้อสิ่งของต่างๆ ไปสมทบด้วยตนเอง รวมถึงการบริจาคเงินเพิ่มเติมตามศรัทธา...
  • ผมเข้าใจว่า หลายคนคงมีปมเรื่องเหล่านี้อยู่บ้าง  เช่น  พ่อหรือแม่สิ้นบุญไปแล้ว.. พอมาเจอภาพชีวิตเช่นนี้ก็อดที่จะคิดถึงท่านไม่ได้
  • รวมถึง, บางคนอาจอ่อนไหว เห็นใจในชะตาชีวิตบั้นปลายที่คนเหล่านี้ถูกทอดท้องจากลูกหลานด้วยก็เป็นได้
  • แต่เหนือสิ่งอื่นใด...ก็ถือ ว่ากิจกรรมนี้  ช่วยนำพาพวกเราทั้งหลายในรุ่นนี้ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสนิทแน่น
  • กิจกรรมดีๆ... ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องลงทุนสรอนอะไรมาก  ยกเว้นการลงทุนด้วย "ใจ"  เป็นหลัก
  • ....
  • ขอบคุณครับ...

สวัสดีครับ พี่เกศ เกศนี

รุ่นนี้..เห็นชอบ..มอบประธาน

...นั่นเป็นวาทกรรมชวนขันสำหรับผมเลยทีเดียวครับ..

สวัสดีครับ อ. umi

ยิ้มเหงาๆ ..เศร้าพองาม ๆ ...นี่เพลงของพงษ์เทพ  กระโดนชำชาญ เลยนะครับ

ผมเคยฟังตั้งแต่เป็นหนุ่ม  ตอนนี้ในรถก็มีอัลบั้มรวมเพลงเหล่านี้อยู่เหมือนกัน  (ของแท้ครับ) ...

  • ความเหงา มีช่องว่างทางความรู้สึกกับความสุข เป็นความรู้สึกทางลบ แก้ไขได้โดยเติมเต็มช่องว่าง คือ การจัดให้มีโอกาสทักทายเสริมพลังอำนาจให้กับผู้มีความรู้สึกเหล่านั้น
  • ผู้ด้อยโอกาสมีโอกาสได้รับดูแล ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจ ประทับใจไว้ในความทรงจำอย่างไม่รู้ลืม
  • กิจกรรมนี้ดีจริง ๆ ค่ะอาจารย์

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

กิจกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดจากคนดีๆ....
จะเป็นพลังสรรสร้างคนรุ่นใหม่.....
ให้หันมาใส่ใจ..กับใครบางคน....
ที่รอเราอยู่...ณ ที่แห่งนั้น...
ที่ๆเราเติบใหญ่..สู่ชีวิต..ในปัจจุบัน...


เป็นแรงใจให้คนดีเช่นคุณ..สู้ๆ
เป็นแบบอย่าง...ให้กับ..อนุชนรุ่นหลัง...
ตรานาน..เท่านานค่ะ...

 

สวัสดีครับ กอก้าน>>>ก้านกอ*:)*(แก๊งค์ก้านคอพับ)

เข้าไปเยี่ยมชมแล้วครับสนุกมากๆ ..
เห็นความสดใสของวัยหนุ่มสาว  เห็นพลังการแสดงออก และที่สำคัญเห็นแนวคิดในทางการบริโภคเรื่องราวแห่งยุคสมัยในตัวเขาด้วยเหมือนกัน

ขอบคุณมากครับ.

สวัสดีครับ... นิตยา จรัสแสง

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ..

การพลัดพรากทางกาย  เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "คน"  แต่สำคัญอยู่ที่ว่า  การพลัดพราก หรือตายจากกันนั้น  ร่างกายได้พรากเอาความทรงจำใดๆ ไปจากเราบ้างหรือเปล่า..

สิ่งเหล่านั้น คือสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามกับชีวิต...

ขอบคุณมากครับ

 

สวัสดีครับ...เกษตรยะลา

เรื่องการพูดเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เลยครับ...

ในรุ่นของผมที่เข้าร่วมอบรมตามหลักสูตรนั้น  บางคนยังขาดความมั่นใจที่จะพูดในที่สาธารณะ  นั่นก็คงเป็นเพราะเคยทำงานอยู่กับเอกสารและเพื่อนร่วมงานเป็นส่วนใหญ่ และในวิถีงานนั้น ก็ไม่มีโอกาสไดพูดได้แสดงความคิด หรือนำเสนอความคิดของตนเองอย่างเป็นทางการบ่อยนัก  จึงพลอยให้ไม่ถูกเคี่ยวกรำโดยสถานการณ์...

ดังนั้นเอง  กิจกรรมการพูดเรื่อยๆ บ่อยๆ  สวนเฮฮาปราศัยของรุ่นนี้ จึงหมายถึงการฝึกฝนให้แต่ละคนได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการพูดของตนเองไปในตัว..

สนุก..และได้สาระไปพร้อมๆ กัน...

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ...สิริพรรณ ธีระกาญจน์

ขอบคุณนะครับที่มาช่วยขมวดประเด็นให้แจ่มชัดขึ้น...

เพราะเป้หามายหลัก นั้น ชัดเจนมาก  แต่เราก็ได้ทำการณ์นั้นสำเร็จไปตามที่หวังไว้  ความสุข, ...และมุมมองชีวิตอันเป็นเป้าหมายรองๆ นั้น  หรือแม้แต่อื่นๆ  ที่แต่ละคนอาจเก็บเกี่ยวมาได้เหมือนและต่างกันไปนั้น  ถือเป็นเรื่องใหญ่มา และเชื่อว่าทุกคนจะมีความสุข,อิ่มเอม, และสดชื่นกับสิ่งที่ได้รับมาอย่างถ้วนหน้า...

ผมจึงได้แนวคิดว่า  ทำอะไรสักอย่าง  นอกจากการสรุปบทเรียนในเป้าหมายหลักแล้ว  ต้องไม่ละเลยที่จะสรุปบทเรียนในเป้าหมายรองด้วย...

ขอบคุณครับ...

สวัสดีครับ. อ้อยควั้น

ก่อนอื่นสารภาพเลยนะครับ..ว่าคิดถึง ไม่แพ้กัน

สบายดีครับ...ซึ่งหมายถึง  มีความสุขกับชีวิตและการงาน..แต่ปัญหาสุขภาพก็ยังต้องจัดการกับตัวเองอย่างจริงจัง

..

เช่นกันครับ

ดูแลสุขภาพ..และคนรอบข้างให้ดีๆ นะครับ

ผมเป็นกำลังใจให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท