การฝึกศิลปการต่อสู้ :ไอคิโด เฟรนด์ชิป ในโครงการหลักสูตรผู้นำเด็กไร้สัญชาติ


ขอบคุณทุกน้ำใจ สำหรับการเสียสละเวลาและแรงกายแรงใจมาช่วยฝึก ขอบคุณน้ำใจที่อยู่ในสิ่งของบริจาคทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นชุดฝึก เสื้อผ้า สิ่งของเหลือใช้ที่ส่งมาแบ่งปัน

ปีที่ผ่านมา ผมเคยเขียนไว้ในบล็อกถึงความน่าสนใจของการฝึกวิชาศิลปะการป้องกันตัวที่เรียกว่า ไอคิโด  แต่ไอคิโดเป็นที่รู้จักน้อย เพราะเป็นการปฏิวัติเรียนรู้  ที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้แบบช่วยกันไปให้ถึงฝั่ง มิใช่การเรียนแบบเหยียบหัวกันขึ้นไปที่พบเห็นเป็นกระแสหลัก  ไม่มีการแข่งขันเอาหน้า คว้าถ้วยรางวัล  ทั้งยังต้องใช้เวลาในการสื่อสารถึงหลักการสันติภาพอันเป็นแก่นของวิชานี้

 

ในการเขียนคราวก่อนๆ ผมลองวิเคราะห์เล่นๆว่าโอกาสสำหรับการส่งเสริมไอคิโดในชนบทซึ่งรวมถึงเด็กไร้สัญชาตินั้นทำได้  อย่างน้อยก็สามทาง คือ

 

1.      จากผู้มีจิตอาสาจากข้างนอก อย่างเราๆ เข้าไปช่วยพัฒนา คือลุยเดี่ยวเข้าไปเลย ใครสนใจมาฝึกก็รับเป็นศิษย์ แต่รับจำกัด ไม่มีข้อผูกมัดอะไร แต่ต้องมีระเบียบฝึก และต้อง เอาใจมาแลก อันนี้เป็นแนวทางที่ผมทำมาแต่แรก คือต้องแสดงความตั้งใจจริง และมีจิตอาสา มีความประพฤติดีจึงจะรับเป็นศิษย์

2.      ชมรมไอคิโดจากข้างนอก หรือหน่วยงานภายนอก เปิดโอกาสให้เด็กในชนบทเข้าร่วมฝึกตามวาระต่างๆ 

3.      จากการผลักดันของชาวบ้าน เข้าสู่แผนพัฒนาท้องถิ่นของหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต. โรงเรียนในชุมชน

 

ถ้าจะวิเคราะห์จากการฝึกไอคิโดของตัวเองที่ปางมะผ้าแล้ว ผมเองพยายามผลักดันทั้งสามแนวทางนะครับ แต่ยึดแนวทางที่หนึ่งเป็นหลัก ก็ยังขาดอีกสองแนวทางที่ต้องหนุนเสริมต่อเนื่องให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

 

มาปีนี้ สยชช. เราได้งบจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ของกระทรวง พม. มาจัดทำโครงการหลักสูตรผู้นำเด็กไร้สัญชาติที่อำเภอปางมะผ้า ผมเลยได้โอกาสบรรจุการฝึกไอคิโดไว้ในหลักสูตรระยะสั้นหกเดือนนี้ 

 

อ้อ คำว่าหลักสูตรที่ผมใช้นี่ดูเหมือนใหญ่โตนะครับ แต่จริงๆแล้วมันเป็นหลักสูตรแบบชาวบ้านนะครับ คือไม่ได้เคร่งครัดกับตัวชี้วัด หรือแบบรายงานวิชาการอย่างที่ครูอาจารย์เขาทำกัน แต่เราเป็นหลักสูตรในแบบเอ็นจีโอ เน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนเป็นหลัก เน้นสร้างแกนนำกลุ่มเล็กๆที่สามารถจะทำงานในท้องถิ่นได้ต่อไป ไม่ใช่เรียนจบแล้วจะมุ่งเข้าเมือง อันนี้เราจะต้องเฟ้นหาเด็กที่อยากจะทำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆ ซึ่งต้องใช้เวลาดูกันนานๆ ก็ต้องทำใจ แต่ก็จำเป็น

 

การบรรจุวิชาไอคิโดไว้ในหลักสูตรผู้นำเด็กไร้สัญชาติครั้งนี้ ทำให้แนวทางข้อที่สองชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้น โดยวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ได้มีวิทยากรเป็นอาจารย์ไอคิโดขั้นสูง นำโดยHattori Takao Sensei กับภรรยา, คุณหมอกฤษณชัย ไชยพร, อาจารย์รัตนพล พนมวัน ณ อยุธยา, รวมทั้งอาจารย์ป๋อม กับทีมนักศึกษาชมรมไอคิโด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถมนักเรียนจากโรงเรียนวัฒนโนทัยพายัพ เชียงใหม่มาร่วมด้วยช่วยฝึกเด็กๆไร้สัญชาติที่นี่  รวม 9 คน

 

ดีใจแทนเด็กๆ .....ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีคนสนใจมาช่วยฝึกกันมากขนาดนี้....

 

เด็กๆเข้าร่วมโครงการ 15   คน มี 7 คนที่ฝึกกับผมมาก่อน แต่อีกครึ่งไม่มีพื้นการฝึกไอคิโดมาก่อนนะครับ เกือบทั้งหมดเป็นเด็กผู้หญิง แต่ใจสู้ไม่แพ้ผู้ชาย ผมต้องอบรมปูพื้นล่วงหน้าเพื่อให้สามารถล้มหน้า ล้มหลังเป็นบ้าง ให้รู้ธรรมเนียม มารยาทการฝึกไว้ก่อนที่อาจารย์ระดับสูงและรุ่นใหญ่จาก มช.จะมา เด็กๆก็ตั้งใจมากครับ ไม่แพ้อาจารย์ และเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีลงทุนลงแรงมามอบความรู้เป็นวิทยาทานถึงที่นี่

 

นอกจากการฝึกบนเบาะแล้ว เราก็มีกิจกรรมอื่นๆอีก อาทิ

1.                             พาเด็กไปพัฒนา เก็บกวาดทำความสะอาดวัด นัยยะว่า ทำความสะอาดวัด เพื่อทำความสะอาดใจ ลดความเห็นแก่ตัว  และสร้างขวัญกำลังใจแก่เด็กๆในการเป็นผู้มีจิตอาสา

2.                             ไปสาธิตไอคิโด เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ณ โรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า  เพื่อให้เกิดการรับรู้และยอมรับวิชานี้มากขึ้น

3.                             การจัดรายการวิทยุ บอกเล่าประสบการณ์ของเด็กไร้สัญชาติที่ได้มาฝึกไอคิโด

4.                             ส่วนกิจกรรมในเชิงผ่อนคลาย ก็มีการไปเล่นน้ำในลำธารหลังการฝึกภาคบ่าย ตกค่ำก็มีกิจกรรมการแสดงรอบกองไฟ ทั้งละครชุมชน และร้องเพลงที่มีเนื้อหาดีๆร่วมกัน

 

สี่วันกับการฝึกและการเตรียมงาน อย่าถามเลยว่าเหนื่อยไหม แต่ถามว่ามีความปีติสุขแค่ไหน ที่เราได้มอบสิ่งดีๆให้กับเด็กยากไร้เหล่านี้ เป็นความภูมิใจลึกๆที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณประโยชน์ให้เกิดแก่วงการไอคิโดบ้านเรา

 

ขอบคุณทุกน้ำใจ สำหรับการเสียสละเวลาและแรงกายแรงใจมาช่วยฝึก ขอบคุณน้ำใจที่อยู่ในสิ่งของบริจาคทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นชุดฝึก เสื้อผ้า สิ่งของเหลือใช้ที่ส่งมาแบ่งปัน

 

กลับมาที่แนวทางการส่งเสริมไอคิโดในชนบท หากดูตามแนวทางที่สองที่กล่าวไว้ข้างต้นจะเห็นว่าเริ่มชัดขึ้น ผมเห็นความหวังรางๆที่จะเชิญให้นักไอคิโด รวมทั้งสถาบันต่างๆที่จัดสอนไอคิโดได้มาแบ่งปันความรู้แก่เด็ก ในบรรยากาศที่อบอุ่น ท่ามกลางธรรมชาติ มีกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมชุมชนที่สามารถบูรณาการเรียนรู้ร่วมกับไอคิโด ให้เป็นกิจกรรมประเพณีที่น่าจะจัดเป็นประจำทุกปี 

 

ตอนนี้ โรงเรียนบางแห่งที่นี่เริ่มเห็นความตั้งใจของเรา เตรียมหาช่องทางซื้อเบาะฝึกเอาไว้ โดยผมกับแกนนำเยาวชนจะเข้าไปช่วยจัดอบรมให้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง อันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีนะครับ ที่โรงเรียนเริ่มเป็นหุ้นส่วนไอคิโดกับเรา

 

ช่วยทำความสะอาดวัด ใจคนทำก็สะอาดไปพร้อมกันด้วย

มาช่วยกันฝึกเด็กด้อยโอกาส ใจคนฝึกก็พลอยได้ฝนไปด้วย

ผมคิดอย่างนั้นนะครับ

 



ความเห็น (16)

มาชมกิจกรรมดีๆ ยามเช้าค่ะ

ช่วยทำความสะอาดวัด ใจคนทำก็สะอาดไปพร้อมกันด้วย

มาช่วยกันฝึกเด็กด้อยโอกาส ใจคนฝึกก็พลอยได้ฝนไปด้วย

เป็นกำลังใจให้คนทำงาน เพื่อเด็กน้อย ขอบคุณค่ะ

  • มาขอชื่นชมด้วยคน
  • ทีปางมะผ้าน่าอยู่มากๆๆ
  • เอาเด็กมีสัญชาติมาแลก
  • อิอิๆๆ
  • ขอบคุณกำลังใจยามเช้าจากคุณ POO นะครับ
  • ชอบรูปที่อาจารย์ขจิตนำมาฝาก เอ แต่ภาพซ้ายล่าง ผมแนะนำให้ครูช่วยฝึกเด็กให้ออกกำลังกายเยอะๆนะครับ
  • เด็กในเมืองเองก็น่าห่วงครับ เยอะแยะเลยที่ไม่เพียงแต่เอาห่วงมาไว้ที่ตา (ปัญหาสายตา) แต่ยังเอาห่วงมาไว้ที่เอวตั้งแต่เล็ก (ไม่อ้วนเอาเท่าไร) :-)
  • ปางมะผ้า น่าอยู่ครับ และก็น่าทำงานด้วย

ขอชื่นชมด้วยคนครับ การปลูกฝังทัศนคติไม่นิยมความรุนแรงสำคัญมากสำหรับเยาวชน หากจะให้ดีควรกระตุ้นพ่อแม่และครูให้เกิดความตระหนักในเรื่องนี้ และช่วยฝึกทักษะการจัดการกับพฤติกรรมเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วย เพราะเด็กๆ ก็เห็นตัวอย่างจากพ่อแม่และครูอยู่เกือบทุกวัน ผมพยายามทำเรื่องนี้อยู่ที่เชียงใหม่เหมือนกัน หากมีอะไรที่จะช่วยได้ก็จะยินดีมากครับ

น่ารักมากๆเลยเวา อยากมาด้วยแต่ก็มาไม่ได้ อยากได้รูปค่ะ ช่วยส่งให้หน่อย พี่จะเอาไปให้เซนเซหลายๆคนที่โตเกียวดู พี่เล่าให้เซนเซทางฮมบุโดโจฟัง หลายท่านก็มีความสนใจมาก

พี่กบค่ะ

แวะมาให้กำลังใจ ..ครับ

พักนี้ หายไปเพราะการงานบีบรัดอย่างมาก ...

"กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคมที่ดีกว่า.."  แนวคิดนี้อยากให้มีในตัวตนของเด็ก  เพราะมันหมายถึงการพัฒนาตัวเองและสังคมอย่างมีจิตวิญญาณ

เป็นกำลังใจให้นะครับ

พี่ยอด.. :)

ผมดีใจครับที่เห็น การเติบโตของ "สโมสรเด็กและเยาวชน" ผมเห็นตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ และมาเห็นภาพวันนี้เเล้ว ดีใจและมีความสุขครับ มีโอกาสอยากไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงชานบ้านนะครับ...

ออมสิน คงซนมากขึ้น..แล้วสิครับ

ตอนนี้ผมกำลังร่าง proposal ประเด็น ผลกระทบจากการท่องเที่ยว เน้นประเด็น demography  และสนใจ เกี่ยวกับ การแต่งงานกับชาวต่างชาติของผู้หญิงชนเผ่า ...เน้น lisu ครับ

ไว้วันหลังจะโทรศัพท์ไปพูดคุยด้วย ...ยาวๆนะครับ

 

 

 

ขอบคุณทุกท่านที่เยี่ยมเยือนนะครับ

  • ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สมบัตินะครับที่อยากจะขยายแนวคิดเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงไปยังครูและผู้ปกครองด้วย เพราะตราบเท่าทีเด็กยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆที่นิยมความรุนแรง (ดุ ด่า ว่า ตี บังคับ ลงโทษ)ก็ยากมากที่พวกเขาจะทำตัวเป็นปลาว่ายทวนน้ำ ถ้าพวกเขาไม่เข้มแข็งจริงๆ แต่ตอนนี้ผมมีกำลังน้อย หาภาคียังไม่ได้มาก ก็ทำได้แค่นี้ก่อนครับ แต่ต้องทำสิ่งแวดล้อมด้วย ขอบคุณที่เตือนสตินะครับ
  • พี่กบครับ ผมส่งรูปไปทางอีเมล์แล้ว แค่ได้รู้ว่าทางสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นได้รับรู้เรื่องราวของเรา ก็ถือว่าปลื้มสุดๆแล้วครับ
  • คุณแผ่นดิน พักนี้งานรัดตัวมาก เวลาผมเจองานหนักมากๆ รู้ตัวว่ายังไงก็คงต้องมีผิดพลาดและโดนตำหนิแน่ๆ ผมก็จะนึกถึงเพลงโปรดเพลงนึงคือเพลง "โลกนี้คือละคร"  ยังไงก็อย่าลืมดูแลสุขภาพด้วยนะครับ
  • สำหรับหนุ่มเนื้อหอม ขอบคุณที่ยังติดตามงาน สยชช. บ้านสบป่องยินดีต้อนรับเอกเสมอ ไม่มีงานอะไรก็มาเยี่ยมกันได้นะครับ
  • สวัสดีครับ พี่ยอด
  • วันนี้ผมได้เข้ามาฟังพี่พูดในเวทีวิชาการ "ประสบการณ์การใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น : วิถีชุมชน" ในงาน "มหกรรมสุขภาพชุมชน 2552" ครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ขอบคุณคุณสายธารกับการ์ดสวยๆนะครับ ดูแล้วสดชื่นได้ทุกวัน
  • คุณอำนวยครับ ผมเพิ่งพิมพ์เนื้อหาจากการเสวนาในห้องย่อยลงใน http://gotoknow.org/blog/culturalgarden/244259 เข้าไปดูได้นะครับ ขอบคุณที่ติดตาม หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการงานนะครับ

วัสดีครับ แว้มาทักทายด้วยคนครับ ดีใจน่ะที่มีผู้ใหญ่อย่างเห็นความสำคัญของเด็กด้อยโอกาส ยังไม่ทิ้งเด็กเหล่านี้

เด็กไตอย่างเรา คงหาทางออกไม่เจอ ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ใจดีมาสั่งสอน เด็กไรสัญชาติเป็นสิ่งที่ไม่มีโอกาส ที่จะได้ทำอะไรได้เลย

ทำงานก็ไม่ได้ ไปไหนก็ลำบาก ไม่ว่าจะทำงาน หรือการเล่าเรียนศึกษา ก็เป็นปัญหาทั้งนั้น ทั้งที่เด็กอย่างเราทำอะไรยังได้อื่กเยอะ แต่ถ้าไม่มีสัญชาติก็เป็นคนหมดโอกาส เป็นสิ่งที่หน้าน้อยใจ ไปไหนก็มีแต่ผู้คนเขาดูถูก แต่เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริง คือเป็นคนไม่มีสัญชาติครับ

<object width="320" height="240" ><param name="allowfullscreen" value="true" /><param name="movie" value="http://www.facebook.com/v/186938424657229" /><embed src="http://www.facebook.com/v/186938424657229" type="application/x-shockwave-flash" allowfullscreen="true" width="320" height="240"></embed></object>

ขอฝากเว็บพระสงฆ์ไทใหญ่ไว้ด้วยครับ

http://www.taisangha.com

ลองเข้าไปเยี่ยมเว็บพระสงฆ์ไทใหญ่แล้วครับ ขอให้กำลังใจและจะบอกต่อไปยังคนอื่นๆครับ

สนใจการฝึกไอคิโด ให้กับเยาวชนที่ทำงานด้วยมากเลยค่ะ

อยู่ที่ ชร. มีแนวทางยังไงบ้างค่ะ

ขอแนะนำว่าถ้าอยากรู้จักไอคิโดกับงานพัฒนาเด็ก เยาวชน เพิ่ม สามารถตามไปอ่านใน http://aikidocmu.wordpress.com/pangmapa/ มีบันทึกที่ผมเขียนไว้ รวมทั้งมีบทความจากอาจารย์ผู้ัคร่ำหวอดในวงการ นักจิตวิทยา และผู้คนจากหลายสาขามาเขียนให้สืบค้นต่อ

ในส่วนของการสนับสนุน เท่าที่รู้ ที่เชียงรายไม่มีสอน ใกล้สุดมีที่เชียงใหม่ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน แต่ถ้ามีโครงการจะพาเด็กๆเชียงรายมาอบรมกันที่แม่ฮ่องสอนเป็นระยะ มือใหม่ต้องไปเรียนหลักการเบื้องต้น ที่เหลือสามารถดูจากสื่อ อ่านหนังสือ แล้วฝึกต่อไปได้เองครับ และกลับมาเจอกับครู อาจารย์ รุ่นพี่เพื่อทดสอบความรู้เป็นระยะๆ

ไม่ทราบว่าคุณรัชนีทำงานอะไร อยู่หน่วยงานไหน จะติดต่อได้อย่างไร บางทีผมอาจจะช่วยให้แนวทางการฝึกเพิ่มเติมได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท