การคิด


การคิดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในความจำระยะสั้น(STM)ในขณะที่เรามีความรู้สึก(Conscious)เพื่อหาคำตอบของปัญหา

การคิด ประกอบด้วยเหตุการณ์ต่อไปนี้คือ (1) มีปัญหาเข้ากระตุ้น, (2)เกิดกระบวนการคิด,(3) มุ่งไปสู่คำตอบ

เหตุการณ์ใน(2)กระบวนการคิด ข้างบนนี้นั้น เกิดขึ้นในระบบความจำระยะสั้น(STM)

ลักษณะสำคัญของเหตุการณ์ใน STM ก็คือ (ก) กิจกรรมของกลุ่มนิวโรน และ(ข)เกิดการรู้สึกคิด(Conscious)

ถ้าปัญหาที่เข้ากระตุ้นเป็นประเภทให้คิดหาคำตอบถูกเพียงคำตอบเดียว  ก็เรียกความคิดที่เกิดขึ้นนั้นว่า  ความคิดเอกนัย (Convergent Thinking)   ถ้าให้คิดหาคำตอบถูกหลายคำตอบ  ก็เรียกว่า ความคิดอเนกนัย(Divergent Thinking)  หรือ ความคิดสร้างสรรค์(Creative Thinking)  ถ้าคืดหาคำตอบมโนทัศน์ ก็เรียกว่า  ความคิดมโนทัศน์(Conceptual Thinking)  ถ้าคิดหาเหตุผล  ก็เรียกว่า  ความคิดเหตุผล(Reasoning Thingking) ฯลฯ  ดูปัญหาต่อไปนี้

(1) ข้อใดเป็นกิริยาสะท้อน(Reflex)?

     ก. การเดิน  ข. การกระโดด  ค. การกระพริบตา  ง. การกลืนอาหาร

(2) ถ้า  3  เป็นค่าเฉลี่ยของ 2, 5, 3, 4, x, แล้ว  x  จะมีค่าเท่าไร?

     ก. 1        ข. 2         ค. 0         ง. -1

(3) คนเกิดในกรุงเทพฯทุกคนเป็นคนดี  นายดำเป็นคนกรุงเทพฯ   ฉะนั้น.......

     ก. นายดำอยู่ที่กรุงเทพฯ  ข. นายดำเป็นคนดี  ค. นายดำเป็นพ่อค้า  ง. ยังสรุปไม่ได้

(4) แมว,   นายแดง,  ปากกา, เด็กชายขาว, ครู, ปลา, พระ, ดอกบัว, ท้องฟ้า,   คำตัวเอนคือ x  ถามว่า  x คือะไร?

     ก. คน       ข. สิ่งมีชีวิต  ค. วัตถุ     ง. สิ่งเดินด้วยเท้า

(5) พฤติกรรมใดบ้าง ที่เรียกว่า  กิริยาสะท้อน (Reflex)  บอกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ข้อ (1)-(5) ที่เป็นสีแดงนั้น  คือปัญหา  ที่เข้ากระตุ้นทางตา ไปรู้สึกสัมผัส(Sensation)ที่แดนการรู้สึกเห็น(Visual Cortex)  ที่สมองบริเวณท้ายทอย  และเมื่อได้รับความหมายที่ดึง(Retrieval)มาจากระบบความจำระยะยาว(LTM)แล้ว  ก็เกิดการรับรู้(Perception)  และอยู่ในระบบความจำระยะสั้น(STM)  ซึ่งเป็นระบบที่เกิดการรู้สึกตัว(Conscious)   การปฏิบัติการการคิดแก้ปัญหาเกิดในระบบนี้

ข้อ (1) เป็นการคิดแก้ปัญหาง่ายๆ  เพียงแต่ดึงความจำออกมาจากระบบ LTM ได้  ก็จะได้คำตอบแล้ว  ใช้ความจำมาแก้ปัญหา  ความสามารถที่ตอบได้คือ  ความจำ ข้อ (2) เป็นปัญหาที่ลึกมากกว่า (1) เพราะต้องใช้ ความจำ + กฎ(Rules)การคำนวณบางอย่าง ซึ่งเรียกว่า ทักษะทางสติปัญญา หรือ Intellectual Skills ที่เกี่ยวข้อง   ข้อ(3) ต้องใช้ความจำ + กฎทางตรรกะซึ่งเป็นทักษะทางสติปัญญาเช่นกัน  ข้อ(4) ต้องใช้ความจำ + กฎมโนทัศน์(Conceptual rules)  ออกมาปฏิบัติการคิด  แต่มุ่งไปหาคำตอบถูกคำตอบเดียวทุกข้อ

ข้อ(1) ต้องใช้ความจำล้วนๆ

ข้อ(2)-(4) ต้องใช้ความจำ+ทักษะทางปัญญา

ข้อ(5) ใช้ความคิดหลายทิศทาง คือความคิดอเนกนัย ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์

ถ้าตั้งแต่อนุบาลมาจนถึงระดับปริญญาเอกเขาสอบและสอบเราตามแบบข้อ(1) นับเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง  แล้วให้ปริญญาเรา  เราก็เป็นพวกนักจำ  ปริญญาจำ  ดร.จำ !   หัวของเราคงจะโป่งเป็นโกดังเก็บของ!

แต่ถ้าตั้งแต่อนุบาลมาจนถึงปริญญาเอก  เราถูกสอนและถูกสอบมาด้วยข้อสอบแบบ (1)-(4) โดยมีแบบ (2)-(4) มากๆแล้วละก้อ  อะแฮ้ม !  เราก็มีปัญญญาเหมือนกัน !

แต่เราไม่ค่อยพบการสอนและการสอบแบบข้อ(5) ซึ่งวัดความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ครับ ข้อสอบแบบ(1)-(4) ไม่ได้วีดความคืดสร้างสรรค์โดยตรงครับ  จะวัดติดไปบ้างก็เป็นแบบไม่ได้ตั้งใจ  ข้อสอบดังกล่าวลืมวัดความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์ไปครับ ! 

ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ครับ  แต่ระบบการศึกษาของเราลืมวัดและลืมพัฒนา !

 

หมายเลขบันทึก: 16942เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2006 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
หนึ่งร้อยปีแห่งความเหงา

อืม...บอกตามตรงว่าผมไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลยครับ...

แต่เห็นมันน่าสนใจดีก็เลยเข้ามาอ่าน

พึ่งเจอเวปนี้อ่ะครับ...รู้สึกชื่นชมในวัตถุประสงค์การสร้างมาก

แล้วก็ชื่นชอบในงานเขียนของท่าน อ.ไสวด้วย

ยังไงจะติดตามอ่านงานก่อนๆของอาจารย์ดูนะครับ...

^_^

ขอบตุณมากครับ  มันมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องมาจากบันทึกเรื่องก่อนๆด้วย  ถ้าท่านมีเวลาก็ขอเชิญเยี่ยมบันทึกเหล่านั้นด้วยครับ  จะทำให้การอ่านบันทึกหลังๆได้ดีขึ้นครับ

ผมเพิ่งรู้จักเวบนี้จาก search engine เเล้วเกิดข้อสงสัย คือ

     ถ้าอ่านเผินๆเเล้วคิดตามก็จะร้องอ๋อ เพราะเขียนเข้าใจง่ายเเต่ถ้าลองคิดดูดีดีเเล้วผมรู้สึกสงสัยเกี่ยวกับ "ก่อเกิด" เพราะผมไล่อ่านงานของ อ. ประมาณ 3-4 กระทู้ที่เกี่ยวข้องกับจิตเเล้ว เเต่ยังไม่เห็น อ.อธิบายถึงหลักการในระดับของโมเลกุลเลย(เเบบชัดชัด) อย่างเช่น จิตเกิดจากกิจกรรมของนิวโรน อ.ก็ไม่ได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับสารตัวไหนบ้างที่นิวโรนสร้างขึ้น ปริมาณเท่าไหร่ โครงสร้างยังไง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเเบบนั้น เเบบนี้

คือผมคิดว่านะ บางทีโครงสร้างของจิตมันอาจไม่เป็นเเบบที่ อ.คิด เเต่ผมก็คิดอีกทางหนึ่งว่า อ.อาจจะคิดมากกว่าที่เขียนลงในนี้เเต่ที่เขียนลงในบทความอาจเป็นเเค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปเข้ามาอ่านเเล้วร้องอ๋อทันที

ผมอยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับ กิจกรรมของนิวโรนว่าในสภาวะพักกับสภาวะที่ถูกกระตุ้น เกิดการเปลี่ยนเเปลงยังไงบ้าง(นอกจากความต่างศักย์ที่รู้ๆกันอยู่เเล้ว)

พอดีผมอ่านงานเขียนของ สตีเฟ่น ฮอร์คิง เเล้วก็งานเขียนของนักฟิสิกส์บางท่านที่มีเเนวคิดเกี่ยวกับจิตในเเบบฉบับของฟิสิกส์เอง รวมถึงงานของนักเคมีที่พูดถึงสารเเต่ละตัวว่าเร้าความรู้สึกมนุษย์ยังไง ซึ่งพวกเขาต่างก็สรุปตามที่พวกเขาชำนาญกัน

เเต่ผมเห็นส่วนที่เป็น "จุดที่เหมือนกัน" ของทั้งสองสาขาวิชานี้ นั่นคือ "พลังงาน" ทุกสิ่งทุกอย่างต่างก็เเปรเป็นพลังงานได้ เเต่พลังงานก็เป็นเเค่ "ตัวส่งเสริม" ให้กิจกรรมของอนุภาค ของสารเคมี ของนิวโรนดำเนินไป

ปัจจุบันเเนวคิดเรื่องนี้ถูกเเตกเเขนงออกไปตามความรู้ ความเชื่อของหลายคน ผมเห็นว่า อ.เป็นคนที่เขียนเรื่องของจิตมาหลายเรื่องเเล้ว เเสดงว่า อ. น่าจะมีข้อมูลของจิตมากพอดู ผมเลยใครขอรายชื่อเวบลิงค์ที่ อ.ใช้เป็นเเหล่งข้อมูลด้วยครับ ผมจะได้เข้าไปอ่านประดับความรู้ เพราะที่ผมลองใช้ search engine หาดู จะเป็นการอธิบายตามเเนวศาสนาซะส่วนใหญ่ หรือไม่ก็อธิบายเพียงผิวเผิน

ปล.ผมเองก็ไม่ชอบระบบการศึกษาปัจจุบันเหมือนกัน ตอน ปี1-ปี2 ชอบโดดเรียนมาก เพราะเบื่อหน่าย มาคิดได้ตอนนี้เองว่าเบื่อไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ตัวคนเดียวเเก้อะไรไม่ได้ เล่นไปตามเกมส์ที่เค้าสร้างขึ้นเถอะ ขอบคุณอาจารย์ที่ลงบทความดีดี(ผมหาบทความเเบบนี้ตั้งนาน นานจนถอดใจ คิดว่าเมืองไทยคงไม่มีเวบเป็นเรื่องเป็นราว)

๑. ที่ผมเขียนว่า จิตเกิดจากกิจกรรมของนิวโรน... นั้น คุณอรรคพล ถามว่า จิตก่อเกิดขึ้นได้อย่างไร? นิวโรนได้สร้างสารตัวไหน + ปริมาณเท่าไร + โครงสร้างอย่างไร ?  ที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า จิต ?

คำถามนี้สำคัญมาก เพราะว่า (๑) ถ้าเราได้คำตอบ เราก็สามารถสร้างจิตได้ เราสามารถสร้างความรู้สึกหรือจิตให้กับคอมพิวเตอร์  หรือหุ่นยนตร์ได้  (๒) เราสามารถอธิบายจิตโดยใช้วัตถุและพลังงานที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติได้โดยไม่ต้องใช้สิ่งเหนือธรรมขาติมาอธิบาย  เช่น ถ้าเราอธิบายว่า (๒.๑) เรามีจิตได้ก็เพราะพระเจ้ากำหนดให้มา  ก็เรียกว่า เรานำสิ่งเหนือธรรมชาติมาอธิบายเหตุการณ์ธรรมชาติ  แต่ถ้าเราอธิบายว่า (๒.๒) เมื่อนิวโรนแสดงกิจกรรมก็จะเกิดการสร้างสาร ก.ขึ้นมา + ปริมาณหนึ่งมิลลิกรัม + โดยมีโครงสร้างแบบ x แล้ว จิตก็จะเกิดขึ้น!  ก็เป็นการอธิบายธรรมชาติด้วยสิ่งธรรมชาติเอง  ไม่ต้องพึ่งสิ่งเหนือธรรมชาติ

๒. ขณะนี้ ผมยังไม่รู้จิตตามแบบ (๒.๒) ครับ  ผมจึงพูดในระดับกิจกรรมของนิวโรนว่า  จิตเกิดจากกิจกรรมของนิวโรน  คำกล่าวนี้จึงเป็น สมมุติฐาน(Hypothesis) หรือ สมมุติฐานเชิงทฤษฎี (Theoretical Hypothesis) ทั้งนี้เพื่อหลีกหนีข้อ(๒.๑)

๓. ในปัจจุบันและอนาคต ผมพยายามหนีจาก (๒.๑) มาเป็น (๒.๒) โดยฝันว่า  จะมีใครสักคนหนึ่งมาทำให้เป็นจริงได้! และคนๆนั้นจะต้องเป็น Biochemicophysiological Psychologist (ผมตั้งชื่อเองครับ) ผมไม่รู้ว่าคุณอรรคพลเป็น Scientist สาขาใด แต่ผมสังหรณ์ใจว่า  ผมได้พบนักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นเข้าแล้ว !

๔. ผมดีใจมาก  และขอขอบคุณที่ชมผม  ผมขอให้คุณอรรคพลค้นหาตอบให้ได้ ก่อนที่คนอื่นจะชิงค้นพบตัดหน้าเสียก่อน

คุณหนึ่งร้อยปีแห่งความเหงา  และ คุณอรรคพล ครับ มีเรื่องที่คล้ายๆกับที่คุณสนใจอยู่บ้างที่ http://gotoknow.org/archive/2005/11/26/00/04/20/e8040  และ  http://gotoknow,org/archive/2006/04/30/10/52/10/e26117

หากมีเวลาก็ลองคลิกเข้าไปดูนะครับ.

ดร.ไสว เลี่ยมแก้ว

ก็ขอบคุณนะครับที่เข้ามาทักทาย

ในบล็อกหลังๆผมได้บันทึกเกี่ยวกับการคิดที่"หลักสูตร"ในระบบการศึกษาประสงค์จะให้ครูได้พัฒนาเด็กด้วยครับ  ซึ่งความหมายของความคิดแบบต่างๆเหล่านั้นเป็นผลจากข้อเสนอของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาชาวอเมริกันหลายท่านได้เสนอแนะไว้  โดยมี ศาสตร์จารย์ ดร.บลูม เป็นบรรณาธิการ  แต่ดูเหมือนว่า  ครูทั่วๆไปยัง งงๆ อยู่กับ"ชื่อของกระบวนการคิด"เหล่านั้นอยู่ครับ  ซึ่งสันนิษฐานว่า ครูจำนวนหนึ่งไม่ค่อยได้อ่านจุดประสงค์ของหลักสูตร  หรือว่าอ่านบ้างแต่ไม่ค่อยเข้าใจ ครับ  ผมจึงได้บันทึกเรื่องเกี่ยวกับความคิดเหล่านั้นไว้ในบล็อกเหล่านี้  แทนที่จะเขียนหนังสือขาย  เพราะมีความประสงค์ที่จะให้เรื่องเหล่านี้ได้วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไป  ไม่ใช่แต่ในวงการของนักการศึกษาครับ

การที่ท่านเข้ามาเยี่ยมจึงสอดคล้องกับความปรารถนาของผมครับ  และคิดว่าท่านคงไม่ผ่านบล็อกหลังๆที่ผมเอ่ยถึงด้วยนะครับ

เรียน อาจารย์ ดร.ไสวที่เคารพ

   ดิฉันกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการคิดเชิงระบบและแบบทดสอบความสามารถของการคิดเชิงระบบค่ะ ได้ข้อมูลบางส่วนแล้วแต่ยังไม่สามารถหาตัวอย่างแบบทดสอบได้ ขอความกรุณาอาจารย์แนะนำแหล่งข้อมูลด้วยค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

                              กิติมา

สวัสดีครับ คุณกิติมา

รู้สึกดีใจครับที่เข้ามาทักทาย  คำว่า "การคิดเชิงระบบ"  ผมได้ยินพูดกันมากในชว่งสองสามปีที่ผ่านมา  แต่ผมไม่ทราบว่า "การคิดเชิงระบบ"ของแต่ละคนนั้น มีความหมายเหมือนกันหรือไม่? ครับ  สำหรับผมเองนั้น  ผมคิดว่า  การคิดเชิงระบบหมายถึงกระบวนการคิดที่เกี่ยวกับเครือข่ายของหน่วยย่อยที่รวมกันเข้าเป็นหน่วยใหญ่ "หนึ่งหน่วย"  คือ "คิดหน่วยรวมแทนที่จะคิดหน่วยย่อยเป็นหน่วยๆ  เพราะว่าหน่วยย่อยแต่ละหน่วยเป็นเอกเทศนั้น  มีคุณสมบัติ "ไม่เท่ากับเมื่อพวกมันรวมกันเป็นหน่วยใหญ่"  มันเป็นการคิดที่มุ่งให้มองปัญหาที่เข้ามาเผชิญหน้าเราอยู่อย่างเป็นระบบแทนการเห็นหน่วยย่อยเป็นหน่วยๆ

ถ้าหากคำว่า"การคิดเชิงระบบ"ของผมกับของคุณกิติมาตรงกันแล้ว   ต่อไปเราจะมาพูดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณกิติมาถามมาครับ

คุณถามว่า "จะหาตัวอย่างข้อสอบที่วัดความสามารถของความคิดเชิงระบบได้จากที่ไหน?"

ความสามารถคิดเชิงระบบ นั้น  ไม่ใช่ความสามารถหน่วยเดียว  เหมือน  ความสามารถที่จะคิดเหตุผล  หรือ  ความคิดสร้างสรรค์   แต่มันได้"รวมเอาความสามารถต่างๆเข้าด้วยกัน" เพื่อที่จะคิดแก้ปัญหาหนึ่งปัญหาใดที่เผชิญหน้าอยู่ ครับ  ยังไม่มีความสามารถที่ชื่อว่า "การคิดเชิงระบบ" ที่มีลักษณะเป็นหน่วยเดียวเหมือนกับ "ความสามารถจำ"  "ความสามารถคิเหตุผล" ฯลฯ ครับ

ฉะนั้น  จึงไม่พบข้อคำถามที่วัดความสามารถนี้โดยเฉพาะครับ

แต่ถ้าคุณกิติมาจินตนาการเห็นเช่นนั้น  และสร้างเครื่องมือวัดขึ้นมาได้สำเร็จ  แล้ววิเคราะห์ด้วยวิธี Factor Analysis  ได้ Factor Loading  ออกมา  ก็นับว่า  เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ครับ

ถ้ามีเวลา  ผมขอเชิญให้เข้าไปอ่านที่บล็อกที่ชื่อ "เรื่องของระบบหรือ System" ครับ

ขอบคุณครับ คุณ อ.

ได้ความรู้มากเลยค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท