ชมผ้าลายน้ำไหล เยี่ยมบ้านไทยลื้อ


อากาศหนาวกำลังดี ตื่นเช้ามาหมอก น้ำค้างเย็นฉ่ำ อ้าปากพูดก็มีไอน้ำลอยออกมา เป็นที่สนุกสนานของคนที่คุ้นเคยกับอากาศร้อนๆ แถบภาคกลาง

จำได้ว่า ตอนที่ไปพะเยาช่วงนั้น อากาศหนาวกำลังดี ตื่นเช้ามามีหมอก น้ำค้างเย็นฉ่ำ อ้าปากพูดก็มีไอน้ำลอยออกมา เป็นที่สนุกสนานของคนที่คุ้นเคยกับอากาศร้อนๆ แถบภาคกลาง 

ดอยภูคา ยืมภาพจาก http://gotoknow.org/file/pookpik/ 

(ภาพยืมจาก http://gotoknow.org/file/pookpik)

คืนก่อนนอนบนอุทยานแห่งชาติภูคา ต้องตื่นแต่เช้ามืด เพราะกลัวจะไปไม่ทัน ประมาณตีห้าก็ออกเดินทางกันเลย ฟ้ามืดตื๋อ อากาศเย็นเฉียบอย่างที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อน เก็บข้าวของได้ก็ออกเดินทางกันเลย (ไม่ได้เล่าข้ามนะครับ เรื่องอาบน้ำ ไม่มีใครอาบ เครื่องทำน้ำอุ่นก็ไม่มี) ขาลงนั้นเดินทางไม่นานนัก หมอกลงน้อยกว่าเมื่อวาน ครู่เดียวก็ลงมาถึงอำเภอปัว แวะกินกาแฟที่ปั๊มน้ำมันตรงทางแยกเข้าอำเภอปัวที่เรามาแวะตอนแรกจากนั้นก็ตะบึงขับรถออกไป

จุดหมายปลายทางก็คือ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เส้นทางจากปัวไปเชียงคำนั้นต้องย้อนลงไปที่อำเภอท่าวังผา แล้วไปทางเส้นตะวันตก เส้นทางคดเคี้ยวขึ้นเขาโดยตลอด นั่งนับเขากัน แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องว่าเขาลูกไหนเป็นลูกไหน มันติดเป็นพืดไปหมด รถสวนมาไม่มาก ทางแค่สองเลน แต่ก็ไปได้สบาย ไม่ค่อยมีหลุมบ่อ แต่ด้วยความที่ทางสบายนี่แหละ ทำให้คนขับเร่งความเร็วสูงได้ คนนั่งจึงผะอืดผะอม โดยเฉพาะปิ่นกับบอล ใครสักคนต้องไปอาเจียน

พอดีมีที่พักริมทาง ขับเลี้ยวเข้าไป เพราะทิวทัศน์ด้านล่างสวยงามมาก เป็นแอ่งน้ำสีเขียวเข้มอยู่ไกลลิบ ด้านหลัง (ตะวันออก) เป็นภูเขาสูง ไปถ่ายรูปกัน

พอเริ่มเช้า รถวิ่งมาได้พัก เห็นหมู่บ้านชาวเขาข้างทาง ชาวเย้า (เรียกอีกอย่างว่า เมี่ยน) แต่งตัวสวย มีเด็กๆ เดินไปเรียนหนังสือ สองข้างทางมีพื้นที่ทำกินบนภูเขา ที่ถูกโค่นเหลือแต่ดินโล่ง ปลูกพืชเล็กๆ ผ่านไปได้กว่าครึ่งทาง มีปั๊มน้ำมันของชาวเขา ราคาสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ก็ต้องเติม เพราะคติประจำตัวของพวกเราก็คือ "เจอปั๊มให้รีบเติม" และ "หลงทางเสียเวลา" 

ประมาณเก้าโมงก็ถึงอำเภอเชียงคำ (ช้ากว่าที่คิดไว้เล็กน้อย) ที่นี่ผู้คนคลาคล่ำ เข้าใจว่าเป็นเมืองใหญ่ทีเดียว เราไปถึงที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่รออยู่ เที่ยวนี้หัวหน้าพัฒนาการอำเภอมาเอง พาไปที่วัดหย่วน ซึ่งไม่ไกลจากอำเภอนัก มีกลุ่มทอผ้า มีโรงกี่ เป็นผ้าลายน้ำไหลแบบไทยลื้อ ลายสีเหลืองแดงดำสลับกัน แล้วมีส่วนที่ถักทอเป็นน้ำไหลอยู่ตรงกลางคล้ายตะขอมากกว่าน้ำไหล

ผ้าทอไทลื้อ

วันนี้ช่างทอผ้าเขาแต่งชุดแบบโบราณ ผู้ชายโพกหัว ผู้หญิงก็โพกเหมือนกัน ช่างทอคนหนึ่ง หน้าใส ตาคม บอกกล้องมาถ่ายคนนี้หน่อย ที่นี่นอกจากมีลายน้ำไหลที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังมีลายขิดด้วย การทอผ้าน้ำไหลนั้นใช้หลอดด้ายเป็นแกนยาวเรียว จะได้สอดล้วงได้สะดวก ไม่เหมือนแกนไม้สั้นของน่าน ส่วนขิดนั้น มีไม้ไผ่ชะลอลายลงมาไว้เป็นช่วงๆ พอถึงจังหวะจะขิดลาย ก็พลิกไม้ไผ่เล็กเอาสันขึ้น สอดไม้หลาบเข้าไปแล้วพลิกอีกที ด้ายยืนจะยก แล้วสอดด้ายพุ่ง ทำให้ทอได้สะดวก ไม่ต้องเอื้อมไปไล่ไม้เก็บขิดด้านหลังตลอดเวลา

 

Luedress 

ถ่ายการทอผ้าเสร็จก็ไปดูตุงผ้าและผ้าทออื่นๆ ด้านหลังโรงกี่เป็นวัดหย่วน มีลวดลายแกะสลักสวยงาม เราไปที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยลื้อ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ที่นี่สร้างเป็นอาคารสวยงาม แต่ไม่มีคนดูแล จึงรกร้างและมีฝุ่นเขรอะ ข้าวของที่จัดไว้ก็คงจะหลุดเลาะออกไปบ้าง แต่ก็ยังน่าสนใจ โดยเฉพาะชั้นบน ที่เก็บผ้าโดยเฉพาะ

Textile1

ผ้าในห้องนี้ส่วนหนึ่งเป็นตุงแบบไทยลื้อ สีแดงขาว อีกส่วนก็เป็นผ้านุ่ง ผ้าซิ่นลายน้ำไหลของผู้หญิง ผ้าห่ม มุ้ง ที่นอน ถ้ามีคนดูแลสักหน่อย คงจะเป็นศูนย์วัฒนธรรมที่น่าสนใจทีเดียว เพราะที่นี่ถือเป็นชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งของชาวไทยลื้อทีเดียว

Hernlue

หัวหน้าบอกว่าจะพาไปดูบ้านไทยลื้อแบบดั้งเดิม ในละแวกใกล้ๆ กันนี่แหละ เป็นเรือนไม้สองหลังมุงหลังคาไม้สับ ตรงกลางมีชาน มีคุณตาคุณยายสองคนอยู่ที่นั่น ขอถ่ายรูปไว้ด้วย ทั้งสองคนอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว แต่คุณยายยังแข็งแรงดี พูดภาษาไทยลื้อให้ฟัง เข้าใจยากมาก นอกจากสำเนียงแล้ว บางคำก็ต่างไปจากภาษาเหนือไปเลย (เรื่องนี้ต้องให้ชาวลื้อตัวจริงมาอธิบาย)

จากนั้นไปที่วัดพระธาตุสบแวน มีกลุ่มทอผ้าที่คุณลัดดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ส.ส.พะเยามาส่งเสริม ไม่ได้ถ่ายอะไรไว้ เพราะต้องรีบเดินทาง ที่นี่มีต้นจามจุรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย คุณยุทธภูมิ นามวงศ์ หัวหน้าพัฒนาการอำเภอพาไปกินข้าว ท่านเล่าว่า ก่อนนี้เขาได้เป็นพัฒนาการอำเภอที่อายุน้อยที่สุด แต่ตอนนี้มีคนเป็นได้เร็วกว่าเขาแล้ว เมื่อก่อนเคยอยู่ที่ อ.บ่อเกลือ จังหวัดน่าน ไปเยี่ยมชาวบ้านบ่อย มีสังสรรค์บ่อย ทำให้ติดเหล้างอมแงม จนได้เรื่อง เมื่อมาอยู่ที่พะเยาตอนแรก ก็ยังไม่เลิก เกือบต้องย้ายไปอยู่ที่กันดาร (แม่ฮ่องสอน) แต่ท่านว่าตอนนี้กลับใจแล้ว ชาวบ้านรักมาก แต่ไม่กี่เดือนก็ต้องย้ายเพราะอยู่ที่นี่มานานถึง 5 ปี (หลังจากเรากลับมาได้ไม่กี่เดือน ท่านก็ย้ายไปสำนักงานที่จังหวัดแล้ว)

กินข้าวแล้วออกเดินทางไปอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย เส้นทางไม่ลำบากนัก ผ่านทางขึ้นภูชี้ฟ้า เสียดายที่ไม่ได้แวะไป อาฆาตไว้ว่า คราวหน้าต้องมาให้ได้...

 Tree

ขอขอบคุณ

  • คุณยุทธภูมิ นามวงศ์ และชาวบ้านหย่วน อำเภอเชียงคำ
  • ภาพจาก หนังสือ ไทลื้อ จัดพิมพ์โดย บ.มติชน จำกัด (มหาชน)
  • หนูปุ๊กปิ๊ก (http://gotoknow.org/blog/thaichinese)
หมายเลขบันทึก: 167249เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

ที่ไม่ได้แวะ  ภูชี้ฟ้า เพราะมัวแต่หลงทางม้าง

เอิ้ก ๆๆๆ

มาชมภาพ และเรื่องราวไทลื้อครับ

หากต้องการไป ภูชี้ฟ้า สอบถามข้อมูลได้นะครับ ผมมีเครือข่ายคนทำงาน การท่องเที่ยวโดยชุมชนอยู่ จะได้ข้อมูลเชิงลึกครับ

ครูอ้อยชอบ ผ้าไทย สวยมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ อ. ธ.วัชชัย

  • ชอบบ้านไทยลื้อจังค่ะ คิดถึงบ้านคุณปู่คุณย่าสมัยเมื่อที่ป้าแดงยังเด็กๆๆๆน้อยๆๆ
  • เคยไปเที่ยว อ.ปัว ก็ได้ผ้ามาหลายผืน ได้กางเกงได้เสื้อมาด้วย แต่ใช้ไม่ได้เลย เลยต้องเก็บไว้
  • ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เฮ่อ! อยากไปบ้างจังเลย ชอบอากาศทางเหนือร้อนน้อยกว่าบ้านเรา

ผ้าสวยจังเลยค่ะ(คนใส่ก็สวย)  ชอบการแต่งกายของทางเหนือค่ะแต่ว่าไม่ค่อยกล้าแต่ง(เกรงใจสีผิวตัวเอง..555..เอิ๊ก)

มีความสุขกับการทำงานนะคะ

มามาดใหม่แฮะ  ท่าน บก. ยืนหันหลังให้ซะด้วย

ผ้าสวย  คนสวย  อยู่นานไปหน่อยแน่ ๆ เลยไม่ได้แวะภูชี้ฟ้า อิอิ

 พูดถึงอ้าปากพูดมีไอน้ำลอยออกมา นึกถึงไปดอยอ่างขาง

โอย โอย  หนาวแทบแย่แต่ยังมีความพยายามที่จะถ่ายรูปไอน้ำที่ลอยออกมาเวลาพูด 

ทั้งสนุกและทุกข์ ทรมารกับความหนาวเลยหละ  ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

เมืองธรรมะ มีพระนั่งดิน

ถิ่นผ้าทอลายน้ำไหล ผ้าไทลื้อ

หวานเลื่องลือ น้ำผึ้งบ้านฮวก

ท่องเที่ยวสะดวก น้ำตกภูซาง

นวลนางน่าพิศเพียง...สาวเชียงคำ

....บ้านหนูเองค่ะ ...ส่วนบ้านไทลื้อ เป็นบ้านป้าสะใภ้ ให้บริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ด้วยค่ะ พร้อมสอนทำอาหารไทลื้อ โดยเก็บผักบริเวณลานบ้าน มาปรุงกันสดๆ (ถ้าสังเกตุดีๆ จะมีผักสดนานาชนิด ให้ได้ทานทั้งปี ที่ปราศจากสารพิษ) ท้าให้คุณไปลิ้มลอง กับบรรยากาศการต้อนรับอันอบอุ่นของชาวไทลื้อ จะสร้างความประทับใจ แก่ผู้มาเยือนไม่รู้เลือนค่ะ...ไปเที่ยวกันไหมคะ...ยินดีนำเสนอจริงๆค่ะ

เสื้อผ้าอาภรณ์ ของไตลื้อ ดูงดงามแต๊ๆเน่อ

สวัสดีค่ะ

.......น่าสนใจทุกเรื่องเลยค่ะ ทั้งการเดินทาง ทั้งวัฒนธรรมไทลื้อ และโดยเฉพาะบรรยากาศทางเหนือ

......คงมีสักวัน..จะได้ไปบ้านไทลื้อ  แถบบ้านน้อง little cat (จองไว้ในใจ...)

P สวัสดีครับ คุณกาแฟ

ไปตะลอนทั่วถิ่นไทย แต่หาเวลาเที่ยวไม่ค่อยได้

วันหนึ่งต้องไปสองที่ เวลาว่างก็คือกลางคืน

เตร่ๆ แถวตลาดโต้รุ่ง สนุกดีเหมือนกัน

ไม่ใช่ก็ลองดูสิ ;)

P สวัสดีครับ น้องเอก

ขอบคุณสำหรับคำชวนครับ น่าจะได้ไปครับ

แต่ว่า เมื่อไหร่หนอ.. หาจังหวะเหมาะๆ อยู่

อาจจะได้ไปแวะแม่ฮ่องสอนก่อนไปภูชี้ฟ้าก็ได้

P สวัสดีครับ คุณครูพี่อ้อย

ผมไม่ได้แวะไปเยี่ยมนานเลยครับ

ต้องขออภัยด้วย

ผ้าสวยครับ ราคาก็ไม่แพง

ซื้อไว้แต่ก็ไม่ไม่ได้ใช้ ;)

P สวัสดีครับป้าแดง

จำได้ว่าป้าแดงก็ชอบผ้าไทยเหมือนกัน

เคยไปที่ปัวมีผ้าทอลายเกล็ดเต่า ผ้าฝ้ายงามๆ

ชาวลื้อมีเสื้อตัวเล็กๆ เรียกเสื้อปั๊ด คล้ายเสื้อกั๊ก

เขาว่าสาวลื้องามแต้ๆ

แต่ไปตะลอนที่ไหนๆ ก็เจอแต่เด็กกะคนแก่

ต้องไปเที่ยวใหม่ซะแล้ว

สวัสดีครับ ครูตุ๊กแก

ผมว่าครูตุ๊กแกนุ่งซิ่นได้นะ แจ่มๆ

เอ แถวเดิมบาง(นางบวช) มีบ้านทอผ้าเหมือนกันนะครับ

ไม่ก็ไปหาแถวบ้าน อ ขจิต ราชบุรี ผ้าขาวม้าร้อยสี

ที่คูบัวราชบุรี ซิ่นไทยวน สวยไม่แพ้ใครเหมือนกัน

รับรองๆ ;)

P สวัสดีครับครูรักษ์

คิดแล้วก็อยากไปเที่ยวหนาวๆ

ตอนไปเที่ยว เอ๊ย ไปทำงาน เอาผ้าขาวม้าโพกหัว

กันหนาวได้มาก แต่รุงรังชอบกล

ภาพหันหลังให้สงสัยต้องเปลี่ยน เพราะว่าไม่เห็นหน้า

เดี๋ยวจะหาว่ามีพิรุธอะไรหรือเปล่า ;)

P สวัสดีครับ อ แคท

สาวลื้อตัวจริงมาแล้ว เชียงคำน่าเที่ยวน่าอยู่จริงๆ นะครับ

มีวัดสวยๆ เยอะเลย หน้าจั่วหน้าบันลวดลายอ่อนช้อย

เคยไปเชียงคำสองครั้ง ยังเที่ยวไม่ทั่วเลย

อย่างนี้ ต้องนำเสนอสักบันทึกแล้วล่ะ

ชวนเที่ยวเชียงคำ รับรองมีคนสนใจเพียบ

P สวัสดีครับ คุณกวินทรากร

ชื่อเท่ดีนะครับ แฮ่ ยินดีที่ได้รู้จักครับ

เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว ตามแบบฉบับเดิม

ดูสวย งาม ประณีต ผมไปครั้งที่สอง

มีงานชุมนุมชาวลื้อ จากสิบสองปันนาก็มา

ขบวนสวยงามละลานตา

เสียดายไม่ได้ถ่ายภาพเอาไว้เลย

ภาพนี้หาเอาทีหลังครับ

P สวัสดีครับ อ หญ้าบัว

การเดินทางสนุกครับ

มองซ้ายมองขวาไปเรื่อย

บางตอนก็อยู่บนสันเขา หวาดเสียว

บางทีทางโค้งคด ขึ้นๆ ลงๆ

เหมือนใครเอาลวดมาขดๆ งอๆ เล่น

สวยอย่าบอกใคร

อิๆ อ แคท คอยต้อนรับล่ะ มีคนจองแล้วนะครับ

สวัสดีค่ะคุณ ธ.วัชชัย

เส้นสายลายผ้าบอกที่มาของชุมชนและวัฒนธรรมได้อย่างดีเลยนะคะ แม้แต่ลักษณะการย้อมก็น่าสนใจ สีที่ย้อมเค้าใช้สีอะไรคะธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์

ลักษณะของผ้าหรือการแต่งกายมีการแบ่งเป็นชนชั้นเจ้านายหรือชาวบ้านทั่วไปมั้ยคะ

ชอบบ้านไทยลื้อกับต้นก้ามปูมากเลยค่ะ ดูขลังดีจัง

ขอบคุณมากค่ะสำหรับเรื่องราวดีๆ ชอบๆๆๆๆ ^ ^

  • ตามมาดูต้นไม้ ต้นจริงคงให้ร่มเงาดีมากนะคะ
  • อิอิมาดูสาวนุ่งผ้าสีสดใส สวยจังนะคะ
  • ช่วงนี้พี่เดี้ยงเลยไม่ได้ไปเที่ยวไหน
  • ไม่รู้ว่าปิดเทอมนี้จะได้ไปปลีกวิเวกในห้องผ่าตัดหรือเปล่า เฮ้อ
  • ธุ อาจารย์ค่ะ..

ต้อมไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับผ้า  แต่คิดว่าผ้าแต่ละผืนมีเรื่องราวและเรื่องเล่าของชนชาติตลอดจนวัฒนธรรม

อยากสวยและหุ่นดี  จะได้นุ่งผ้าสวยๆ แบบนี้มาโพสรูปมั่งจังหนอ  อิอิ 

  • ตามมาเก็บตกเรื่องราวไทลื้อครับ
  • อ่านแล้วเหมือนได้ไปเที่ยว
  • เอาอีกครับ เอาอีก

ต้นไม้ที่เห็นนี่ จามจุรีใช่ไหมคะ ฟอร์มสวยจริงๆค่ะ สวยมาก ชอบจังเลย

สวัสดีครับ คุณเบิร์ดP

ที่ผมไปดูสองแห่งในเชียงคำ ใช้เส้นด้ายย้อมเคมีสำเร็จรูป ครับ

แต่เน้นลวดลายเก่า และมีผ้าตัดเย็บแบบเก่าด้วย

เสื้อผ้าแบบไทยลื้อก็มีขาย

เสื้อผ้านั้น แบ่งแยกชนชั้นชัดเจนครับ สมัยโบราณคนมีฐานะแต่งมาก คนฐานะไม่ค่อยดีก็แต่งน้อย เสื้อผ้าที่ดูโดดเด่นก็เป็นผ้านุ่งของสตรี ของผู้ชายไม่เห็นมีอะไรมากนัก, ผู้ชายทอผ้าไม่เป็น นุ่งตามแต่ที่มีคนจัดให้ ;)

สวัสดีค่ะ

คิดถึงบ้านที่อิสานจังค่ะ

สวัสดีครับ คุณนาง ลักษมี สารบรรณ  P

คิดถึงอีสานเหมือนกันครับ ไม่ได้ไปสามสี่ปีแล้ว

ปีหน้าน่าจะได้ไปครับ

คุณลักษมีอยู่ไหนเอ่ย

สวัสดีค่ะพี่ธ.วัชชัย

  • มาเยี่ยมค่ะ
  • แถมได้ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยลื้ออีกค่ะสวยงามมากค่ะ
  • ผ้าทอมือนี่นอกจากจะสวยแล้วยังมีความหมายตรงความตั้งใจของคนทำอีกนะคะ กว่าจะได้มาแต่ละผืนไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย
  • น่าชื่นชมค่ะ
  • รักษาสุขภาพนะคะ
  • คิดถึงค่ะ

เมืองน่านน่าอยู่จิงเลยอะ

น่าเที่ยวด้วยอะ

อยากมาเที่ยวจัง

ถ้ามีโอกาสจะมาเที่ยว

อยากมาอยากมา

สวัสดีครับ คุณธวัชชัย

พอดีว่าผมทำงานวิจัยเกี่ยงกับผ้าทอไทลื้อของอ.เชียงคำ จ.พะเยานะครับ

ก็เลยอยากได้คำปรึกษานะครับ แล้วถ้าผมจะไปดูงานที่เชียงคำ ผมควรจะต้องไปติดต่อที่ใหนดีครับ

รบกวนคุณธวัชชัย ตอบมาที่เมลผมทีนะครับ [email protected]

ผ้าลายน้ำไหลทำเป็นอะไรได้บ้าง

สวัสดีครับ คุณครูมิม

ตอบช้าไปหน่อย อิๆ ต้องขอโทษด้วยครับ

ไว้เปิดบันทึกใหม่นะครับ

 

สวัสดีครับ คุณ zeza

ปัจจุบันศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่นหาดูได้ยากขึ้น

ถ้ามีโอกาสต้องรีบไปดูครับ

ก่อนจะเปลี่ยนแปลง หรือหายไป

 

สวัสดีครับ คุณเอก

รู้สึกว่า เราได้คุยกันแล้วใช่ไหมครับ

งานวิจัยเป็นอย่างไรบ้างครับ

 

สวัสดีครับ คุณ พั

ผ้าน้ำไหล ของเดิมๆ นี่เป็นผ้าซิ่นอย่างเดียวครับ

ปัจจุบัน เห็นเอามาทำเป็นผ้าตัดเสื้อ กระโปรงก็ดูดีเหมือนกัน

แถวแพร่ น่าน  พะเยา เขาเอามาตัดเสื้อผ้าหลายอย่างครับ

ทางลำพูนเชียงใหม่ เขาใช้ฝ้ายเส้นใหญ่ (มาก) ทอลายน้ำไหล

เป็นผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ก็สวยครับ

สำคัญที่การให้สี ลวดลายให้เด่นดูสวยงาม

ถ้าลายมากไป ก็ไม่ค่อยสวย

ทั้งนี้ก็คงขึ้นกับรสนิยมด้วยครับ

สวัสดีค่ะ

พี่คิมมีผ้าลายน้ำไหลจากน่านค่ะ แล้วจะถ่ายภาพมาให้ชมนะคะ

สวัสดีครับ คุณครู Ico48 พี่คิม นพวรรณ

 

รอชมภาพครับ ;)

ปลัดสุวิทย์ สิงห์ธนะ(หลานไทลื้อ)

สวัสดัครับพี่น้องไทลื้อ

ได้มีโอกาสไปเยี่ยมพี่น้องไทลื้อ สิบสองปันา ประเทศจีน ตามความตั้งได้ไฝ่ฝันเอาไว้ มีความประทับใจเป็นอย่างมาก ได้เห็นดินแดนภูมิประเทศประวัติศาสตร์ ที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษว่าอพยพมาจากเมืองสิบสองปันนาจริง เขายังคงรักษาวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เช่นภาษาอู้กำล้อ ภาษาเขียนไทลือ การแต่งกายของแม่ญิงสาวๆ คนเฒ่าคนแก่ อาหารการกิน การนับถือศาสนา ศิลปกรรมจิตรกรรมตามฝาผนัง อาคารบ้านเรือน ไม่แตกต่างจากพี่น้องไทล้อประเทศไทย เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมายาวนาน รัฐบาลท้องถิ่น แลฃะรัฐบาลกลางเขาให้การสนับสนุน

แด่น่าเสียดายวัฒนธรรมไทลื้อในประเทศไทยกำลังจะถูกกลืนหายไปที่ละน้อยจากวัฒนธรรมของไทยภาคอื่นๆ เช่นการพูดภาษาไทลื้อ คนรุ่นใหม่จะไม่ยอมพูด ไดรับการสอนจากพ่อแม่รุ่นใหมว่าไม่ทันสมัยหรืออาจจะอายหรือเหตูผลใดไม่ทราบ ภาษาเขียนก็ได้ถูกยกเลิกไม่มีการนำมาใช้ คนรุ่นใหม่มีคนอ่านและเขียนได้น้อยมาก

เพื่อเกียรติยศและศักศรีของบรรพบุรุษ จึงขอวิงวอนคนไทลื้อรุ่นใหม่ได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ยังยืนนาน เท่าที่จะนานได้

ปลัดสุวิทย์ สิงห์ธนะ(หลานไทลื้อ)

สวัสดัครับพี่น้องไทลื้อ ได้มีโอกาสไปเยี่ยมพี่น้องไทลื้อ สิบสองปันา ประเทศจีน ตามความตั้งได้ไฝ่ฝันเอาไว้ มีความประทับใจเป็นอย่างมาก ได้เห็นดินแดนภูมิประเทศประวัติศาสตร์ ที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษว่าอพยพมาจากเมืองสิบสองปันนาจริง เขายังคงรักษาวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น เช่นภาษาอู้กำลื้อ ภาษาเขียนไทลือ การแต่งกายของแม่ญิงสาวๆ คนเฒ่าคนแก่ อาหารการกิน การนับถือศาสนา ศิลปกรรมจิตรกรรมตามฝาผนัง อาคารบ้านเรือน ไม่แตกต่างจากพี่น้องไทล้อประเทศไทย เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมายาวนาน รัฐบาลท้องถิ่น แลฃะรัฐบาลกลางเขาให้การสนับสนุน แด่น่าเสียดายวัฒนธรรมไทลื้อในประเทศไทยกำลังจะถูกกลืนหายไปที่ละน้อยจากวัฒนธรรมของไทยภาคอื่นๆ เช่นการพูดภาษาไทลื้อ คนรุ่นใหม่จะไม่ยอมพูด ไดรับการสอนจากพ่อแม่รุ่นใหมว่าไม่ทันสมัยหรืออาจจะอายหรือเหตูผลใดไม่ทราบ ภาษาเขียนก็ได้ถูกยกเลิกไม่มีการนำมาใช้ คนรุ่นใหม่มีคนอ่านและเขียนได้น้อยมาก เพื่อเกียรติยศและศักศรีของบรรพบุรุษ จึงขอวิงวอนคนไทลื้อรุ่นใหม่ได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ยังยืนนาน เท่าที่จะนานได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท