บริษัทที่น่าทำงานที่สุด


ช่วงปลายปีของแต่ละปี นิตยสาร Fortune จะตีพิมพ์รายการ 100 อันดับแรกของบริษัท(ในสหรัฐ) ที่น่าทำงานด้วย ในปี 2007 ที่เพิ่งจะผ่านไป Google เป็นอันดับหนึ่ง

คุณ msmart ได้แปลข่าวนี้ไว้ที่ blognone.com ผมคัดลอกมาให้ดูทั้งหมด (สัญญาสิทธิ์ cc-by-3.0)

กูเกิล บริษัทน่าทำงานที่สุดในปี 2007 - Fortune

tags: Company Google Internet

นิตยสาร Fortune จัดอันดับบริษัทน่าทำงานที่สุดในปีนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาดสำหรับกูเกิล บริษัทร้อนแรงแห่งปี ได้รางวัลบริษัทที่น่าทำงานที่สุดแห่งปีไปครอง

เราเคยได้ผ่านตากันไปบ้างสำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในกูเกิล ที่ให้ความสำคัญกับพนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างมาก แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่คุณอาจจะยังไม่รู้เช่น

  • ต้องมีขนมหรืออาหารในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากโต๊ะทำงานของทุกคน
  • อาหารฟรี, ขนมฟรี, ฉีดวัคซีนฟรี, รถรับส่ง, สปา, สระว่ายน้ำและส่งหมอเข้าไปตรวจไข้ถึงบ้านฟรี
  • ไม่จำกัดวันลาป่วย
  • สามารถใช้เวลา 20 เปอร์เซ็นต์ของเวลางานทำโปรเจ็คส่วนตัวอะไรก็ได้
  • กูเกิลมักจะเลือกจ้างพนักงานที่สนใจกิจกรรมอื่นๆนอกเวลางาน มากกว่าตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงิน (อันนี้น่าสนใจ)
  • บริษัทได้รับจดหมายสมัครงานกว่า 1,300 ฉบับต่อวัน

ปัจจุบันกูเกิลมีพนักงานในสหรัฐอยู่ 6,500 คนและที่อื่นๆอีก 3,000 คน (ส่วนใหญ่อยู่ในอินเดีย) โดยปีนี้รับเพิ่มจากปีก่อนมากถึง 2,000 คน ส่วนอันดับอื่นๆที่น่าสนใจก็มี ซิสโก้, อโดบี, ยาฮู และไมโครซอฟท์ ตามมาห่างๆ (แอปเปิลหายไปไหน)

ที่มา - 100 Best Companies to work for 2007 : Fortune

จำเป็นต้องให้สวัสดิการอย่างนี้หรือไม่

ผมหวังว่าผู้อ่าน คงไม่ตอบว่าจำเป็น หรือไม่จำเป็น นี่ไม่ใช่การทำข้อสอบ แต่ไม่ว่าท่านจะตอบว่าอย่างไร ผมคิดอย่างนี้:

  1. กิจการบริษัทแสวงหาความมั่งคั่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholders) พนักงานก็เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีพนักงาน ก็ไม่มีงาน ไม่มีความมั่งคั่งที่แสวงหา ไม่มีอะไรทั้งนั้น

  2. ค่าใช้จ่ายที่เป็นสวัสดิการ ดูเหมือนเป็นผลประโยชน์ขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นกับพนักงาน เพราะสวัสดิการเหล่านี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้กำไรลดลง แต่ก็กลับมองเป็นการลงทุน หรือแม้แต่การลดค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน

    มีบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำของไทยแห่งหนึ่ง มีที่ทำการอยู่ไกลจากแหล่งชุมชน จึงเลี้ยงอาหารกลางวันพนักงานฟรี ทำไมล่ะ ก็เพราะว่าการพักรับประทานอาหารเที่ยงแล้วขับรถไปกินข้าว กว่าจะเข้ามาก็บ่ายสองโมง เสียเวลาทำงานไปหนึ่งชั่วโมง พนักงานสามารถเขียนโปรแกรมด้วยอัตราชั่วโมงละ US$8 ดังนั้นการเลี้ยงอาหารกลางวันพนักงาน จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอาหาร 30 บาท ลดค่าใช้จ่ายของพนักงาน และเพิ่มประสิทธิภาพของงานในขณะเดียวกัน

  3. กิจการไฮเทค มีแรงผลักดันด้วยสมองคน (the War for Talents: McKinsey & Co, Harvard Business School, อ่านออนไลน์) มีการแย่งตัว มีการเปลี่ยนงานกันบ่อยมาก

    ในบางเขต เช่น Silicon Valley แทบไม่มีใครเลยที่มีอายุงานเกินสองปี (ยกเว้นเจ้าของหรือมีความผูกพันธ์เป็นพิเศษ) คนที่ไม่เปลี่ยนงาน กลายเป็นคนที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า! พิลึกดี แต่บริบทของสังคมกิจการไฮเทคในสหรัฐนั้น แตกต่างกับเมืองไทยมาก

  4. ความเครียด/ความหมกมุ่นของพนักงาน เป็นอุปสรรคขัดขวางความคิดก้าวหน้า กิจการที่สามารถจะก้าวหน้าได้นั้น จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเสียก่อน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

    ในกิจการลักษณะนี้ เป็นเรื่องยากมากที่จะได้ผลลัพท์ที่ดีขึ้นถ้าหากยังทำเหมือนเดิม แต่ทำเหมือนเดิม ก็มักจะดีในลักษณะกิจการผลิต ที่ความชำนาญในการทำซ้ำๆ ช่วยให้ประสิทธิผลสูงขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง

    บริษัทบัตรเครดิตชั้นนำของไทย เปลี่ยนตัวเองจากความคร่ำครึเป็นกิจการสมัยใหม่ ที่เชื่อมั่นและปลดปล่อยศักยภาพสูงสุดของพนักงาน มุ่งสู่นวัตกรรมแทนการใช้ระเบียบแบบแผน ตำรา และฟอร์ม

  5. องค์กรของไทยหลายแห่ง ได้พยายามปรับเปลี่ยนตามกำลัง เพื่อก้าวให้พ้นจากความจำเจ

    เรื่องที่ยากที่สุดในการปรับเปลี่ยน คือความคุ้นเคย/ความกลัวของทุกคน บวกกับผู้ที่คิดว่าตนค้นพบสูตรของความสำเร็จแล้ว โดยไม่ได้ตระหนักว่าทุกสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป อาคารร้านรวงตั้งอยู่บนพื้นโลกที่เคลื่อนไหว โลกหมนุอยู่ตลอดเวลา และโคจรรอบดวงอาทิตย์ ไม่มีอะไรหยุดนิ่งเลยนอกจากความคิดของตัวเอง

    ความกลัวการเปลี่ยนแปลง อาจจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พนักงานกลายเป็น dead wood

  6. สำหรับท่านที่อยากไปทำงานอยู่กับ Google (หรือที่ไหนก็ตาม) ไม่ผิดหรอกที่ท่านจะศึกษาไปก่อนว่าเขาเป็นอย่างไรและท่านจะได้อะไร แต่เรื่องที่สำคัญกว่าคือเขาจะรับท่านหรือไม่ แล้วท่านมีอะไรให้เขาต่างหากครับ ตัวอย่างข้อสอบคัดเลือกของ Google การจ้างงาน เป็นความพอใจทั้งสองฝ่ายครับ
หมายเลขบันทึก: 156891เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2008 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
  • เห็นด้วยกับแนวคิดที่ google ทำ และแนวคิดที่ Conductor เสนอ
  • พี่เองแม้ว่าเป็นสำนักงานเล็กๆ มีคนทำงานร่วมกันไม่ถึง 10 คน แต่เราก็มีสวัสดิการ และสร้างสวัสดิการขึ้นมาเอง
  • เช่นทำการออมทรัพย์กันเองในกลุ่ม และหาเงินส่วนเกินในแต่ละเดือนมาเข้ากองกลางนี้เพื่อวันสุดท้ายของการทำงานก็มอบเงินส่วนนี้ให้กับพนักงานที่มีเงินเดือนน้อยที่สุดไป หรือแบ่งกันตามความเหมาะสม
  • เป็นเรื่องเล็กๆแต่มีความหมายทางจิตใจมากทีเดียวครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

สวัสดีค่ะ

พออ่านเรื่องนี้ ก็มีประสบการณ์บางส่วนมาแชร์ด้วยบ้างค่ะ

ลูกสาวเพื่อนสนิทในก๊วนคนหนึ่ง จบจากStanford 

ทันทีที่จบ ทำงานกับGoogleเลย จนบัดนี้ 2ปีแล้ว บอกว่า Happyมาก เพราะงานตรงกับที่เรียนมา และสวัสดิการดี มีขนมหรืออาหารทาน 3 มื้อ ชอบเพราะงานดี สวัสดิการดี และรายได้ดี ถ้าไม่มีอะไร จะทำไปเรื่อยๆ ไม่คิดเปลี่ยนงาน

แสดงว่า บริษัท นี้ ดีจริง คนสบายใจจะอยู่

กรณีเรื่อง เงิน สำคัญที่สุดจริงหรือ

เงิน ใครๆก็อยากได้ แต่จะมากน้อยแค่ไหน เป็นลำดับแรกหรือลำดับสุดท้ายของความต้องการ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยของแต่ละคน

แต่ถ้าไปเจอคนที่ดูแต่เรื่อง เงิน อย่างเดียว ก็อย่าไปสนใจมากค่ะ เพราะ อยู่กับเราปี 2 ปี ก็ไป ยังไม่ทันเห็นผลงาน ก็ไปเสียแล้ว ไม่คุ้ม

สำหรับตัวเอง ประสบการณ์ สอนว่า สู้เอาเวลามาสรรหาคนเก่งปานกลางแต่รักในงานและจะอยู่กับเรานานพอที่จะสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องได้ จะดีกว่า

และการสัมภาษณ์พนักงาน จะประเมินความรู้ ความสามารถของผู้สมัครในการทำงานมากกว่า "ความชอบ" หรือ "ความอยาก" ที่จะทำงานของผู้สมัคร

เพราะผู้สมัครบางส่วน มักดูเรื่องค่าตอบแทน หรือแค่ จะมาหาประสบการณ์เท่านั้น ไม่ได้อยากจะทำงานหน้าที่นั้นๆจริงๆ

ดิฉันมักใช้คำถามว่า

เขาใฝ่ฝันที่อยากจะทำอะไรในชีวิต จุดสูงสุดในชีวิตที่อยากเป็นอยากมีคืออะไร เขามีแผนว่าใน 3 ปี, 5 ปี, 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ชีวิตเขาจะมีรูปแบบอะไร

พนักงานที่ดิฉัน รับเข้าทำงาน มักจะตอบเป็นฉากๆเลยว่า เขามีแผนการในชีวิต ของเขาอย่างไร เป็นขั้น เป็นตอน

คนที่ดิฉันถูกใจที่สุด จบจากม.เกษตรศาสตร์ เคยเป็นนายกสโมสรนิสิต เป็นประธานชมรม ต่างๆ ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ เป็นคนที่มีวุฒิภาวะสูง และเป็นคนกร้าว(แต่ใจอ่อน)   จนต้องคอย ฉุดให้สงบๆหน่อย เป็นคนมีpassaion ในการทำงาน ชนิด ไม่กินก็ได้ ถ้างานยังไม่เสร็จ ขณะนี้ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการค่ะ

แม้ในขณะนี้ ดิฉันเองก็ยังรู้สึกว่า ตัวเองพอมีบุญ ที่เจอคนทำงานด้วย ที่มีไฟ และทุ่มเทให้งานจริงๆ มาทำงานกับเราหลายคน ทั้งชายและหญิง  มีแย่อยู่ตรง ต้องคอยระวังไม่ให้คนมาฉกตัวไปค่ะ

ส่วนประเด็นว่า จำเป็นไหม ต้องมีสวัสดิการดีๆแบบนี้หรือไม่

ส่วนตัว คิดว่า จำเป็น

แต่ไม่ต้องดีเลิศขนาดGoogleนี้ เพราะฐานะของบริษัทแต่ละแห่ง ไม่เหมือนกัน

ตามประสบการณ์ส่วนตัว    นอกจากสวัสดิการพื้นฐาน  ที่ต้องมีทั้งหมดแล้ว เรามีกีฬาสี มีดรัมเมเยอร์ สวยๆหล่อๆ เดินนำ มีงานรื่นเริง .ในหลายๆโอกาสเพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าพนักงานได้มีโอกาสแสดงความสามารถในเชิงต่างๆออกมา นอกเหนือจากการทำงาน     มีการประกวดMiss....

มีอาหาร ขนมเลี้ยง เวลาทำO.T.   มีการประกวดความคิดสร้างสรรค์ สำหรับงานหรือสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ และมอบรางวัลให้ เป็นต้น

สรุปว่า...เราต้องให้สวัสดิการแก่พนักงานค่ะ ในรูปต่างๆ ตามที่เราเห็นว่า เหมาะสม เป็นแต่ละอุตสาหกรรมไป ไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นพวกบริษัท PR. นอกจาก สวัสดิการปกติ  มักให้รางวัล นำพนักงานไปเที่ยว ที่ไกลๆ หลายๆวัน ทุกอย่างฟรีหมดเป็นต้น

ดิฉัน จะหามุกใหม่ๆ มากระตุ้น พวกเขา ให้เกิดความกระตือรือล้น อยู่เสมอ ทั้งในงาน และนอกงาน เหมือนหย่อนข้าวเกรียบลงทอดในน้ำมัน ให้มีเสียงดังฉ่าๆ เป็นระยะๆ เงียบไม่ได้

เมื่อไรเงียบ เมื่อ นั้นเตรียมพบกับปัญหา ความเฉื่อยชาของพนักงาน ได้เลย ซึ่งดิฉันคิดว่า นี่คือส่วนหนึ่ง ของหน้าที่ผู้บริหาร

คำตอบสำหรับ กรณีที่คนบางคนอยากไปทำงานอยู่กับ Google (หรือที่ไหนก็ตาม) ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ

 ข้อดี

การทำงานกับบริษัทต่างชาติ ที่มีชื่อเสียงนั้น จะได้รับเงินเดือนที่ดี   จะได้รับการส่งเสริมให้ก้าวหน้า เพราะมีการฝึกฝนอบรม และได้รับโอกาสในการทำงานหลากหลาย และจะให้การปฏิบัติอย่างดีในเชิงของสวัสดิการ

 นอกจากนั้นยังไม่ค่อยจะมีเพดานกระจกที่กีดกัน มิให้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงในองค์กร เพราะบริษัทต่างชาติจะใช้ความสามารถเป็นเครื่องชี้วัด มากกว่าความเป็นลูกหลาน ของเจ้าของกิจการ

ข้อเสีย คือเนื่องจาก เขามีคนมาให้เลือกมาก มันกลายเป็น เขาเป็นฝ่ายเลือกเรา มากกว่าที่ เราเลือกเขา และ ถ้าเรา เป็นคนที่ ไม่ชอบทำงานกับคน ต่างชาติ ก็ไม่ควรทำค่ะ แค่ไปเรียนเอา วิชามาอย่างเดียวก็พอ 

สรุปสุดท้ายจริงๆ....

การทำให้คนทุกคนมีความกินดีอยู่ดี และให้มีอิสระเสรี ในการคิด การทำงาน เป็นสิ่งที่ Google ได้รางวัลบริษัทที่น่าทำงานที่สุดแห่งปีไปครอง

 

 

สวัสดีปีใหม่อีกทีครับพี่ไพศาล บางทราย ณ ไชยบุรี ผมอวยพรไปแล้วเมื่อคืนนะครับ 

หลายปีมาแล้ว ผมเป็นผู้บริหารองค์กรของรัฐแห่งหนึ่ง เคยถามพนักงานทั้งหมดว่าทำไมถึงไม่ตั้งสหภาพฯ เค้าก็บอกว่าไม่เห็นความจำเป็น ผมก็เลยตั้ง Employee Relations Committee (ERC) ขึ้นมาแทน ให้เลือกตั้งกันเอง ดูแลกันเอง ถ้าเห็นสิ่งใดที่ควรปรับปรุงแล้วยังไม่ได้ทำ ก็มาคุยกัน

ตอนแรกๆ สำหรับชุดแรก ผมคิดว่าทุกคนงงๆ ครับ มันไม่เคยมีมาก่อน ไม่มีใครเห็นว่าจำเป็น แต่ผมก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปทีละประเด็น พนักงานของผมดีอยู่อย่างหนึ่ง คือเมื่อไม่รู้ เค้าถามครับ

ตลอดมาทุกชุด ERC กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดและการกระทำเพื่อส่วนรวม ผมคิดว่ากรรมการทุกชุด ทุกคน เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นครับ รู้จักมองหลายมุม มีความเสียสละ เป็นทีมทำงาน-ไม่เอาแต่พูด เรียนรู้ที่จะหาข้อยุติที่ไม่ใช่ทั้งประนีประนอมหรือเผชิญหน้า แต่ยืนอยู่บนความถูกต้องและประโยชน์ของทุกคน ด้วยเหตุด้วยผล

ประสบการณ์ใน ERC ได้สร้างคนแบบที่ผมอยากได้มาเป็นผู้บริหารครับ (เรื่องความสามารถเฉพาะตัวของพนักงานนั้น ไม่ห่วงอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ไหวก็ไม่รู้จะจ้างไว้ทำไม)

ERC เป็นโต้โผของกิจกรรมต่างๆ ของพนักงาน ไปเที่ยว ไปทำบุญ ตักบาตร นั่งสมาธิ โยคะ กีฬา มีกองทุนของตนเอง ระดมเงินได้เอง จัดการเอง จัดกิจกรรมเอง จนได้รับการยกย่องไปทั้งบริษัท 

เรื่องพวกนี้นอกตำราทั้งนั้นครับ แต่สำคัญอย่างยิ่ง ตอนทำก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่; ถ้าไม่ตั้ง ERC ก็คงจะไม่มีปัญหาแรงงานเหมือนเดิม แต่นั่นกลับเป็นการเสียโอกาสที่จะพัฒนาพนักงาน ให้เขาได้แสดง ให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาของคนหมู่มาก ให้ได้ทดลองสิ่งที่คิดว่า "ใช่" ว่าจริงๆ แล้วใช่หรือเปล่า

  • ชอบการบริหารแบบนี้จังเลยครับ
  • มีประเด็นดีๆมากเลย
  • พบว่าเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
  • สวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญมาก
  • ขอบคุณครับ

พี่ศศินันท์: ผมดีใจกับลูกสาวเพื่อนสนิทของพี่ ที่ได้งานที่เหมาะกับตัวนะครับ

สิ่งที่ Google ทำคือการปล่อยให้พนักงานเปล่งประกายได้เต็มที่ เพราะคุณค่าที่พนักงานให้กลับมาที่บริษัทนั้น สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงเกิดความคุ้มค่้าทางการเงิน

เทียบกับบันทึกที่แล้ว Google ให้สามระดับล่างในปิรามิดความต้องการพื้นฐานของมาสโลว์ครับ เมื่อพนักงานไม่ต้องกังวลเรื่อง "การอยู่ได้" แล้ว ผลงานของแต่ละคน จะสำคัญและมีความหมายจริง (ไม่ใช่แค่คิดว่าสำคัญเพราะสมองสั่งว่าคิดอย่างนี้ทำให้ดูดี) -- สำหรับระดับที่สี่ แต่ละคนต้องพิสูจน์ตัวเอง และ/หรือ หามาเองครับ ไม่มีใครช่วยได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดในใจของแต่ละคน แต่ถ้าไม่ใช่ของจริง สังคมแบบนี้มีวิธีจัดการกำจัดส่วนเกินครับ

เมื่อกี้ผมพูดถึงความคุ้มค่าทางการเงิน แต่มีความคุ้มค่าอีกอย่างหนึ่งซึ่งวัดเป็นเงินไม่ได้ คือการสร้างคนที่มี integrity ขึ้นมาครับ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในองค์กรของเราต่อไป หรือไปแสวงหาความก้าวหน้าที่อื่น

ที่พี่ให้ความเห็นว่า "การทำให้คนทุกคนมีความกินดีอยู่ดี และให้มีอิสระเสรี ในการคิด การทำงาน เป็นสิ่งที่ Google ได้รางวัลบริษัทที่น่าทำงานที่สุดแห่งปีไปครอง" ผมเห็นด้วยครับ แต่อยากขอพ่วงไปด้วย ว่า "อิสระ ต้องมาคู่กับ ความรับผิดชอบ" ใช่ไหมครับ

อาจารย์ขจิต: บริหารแบบนี้ต้องกล้าทำครับ ใจกว้างหน่อย อย่ายึกยัก แล้วก็ต้องเชื่อใจคนด้วย (หมายความว่าต้องอ่านให้ขาดเสียก่อน) เริ่มได้ง่ายในองค์กรขนาดเล็กนะครับ

เห็นด้วยว่าเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ขอบคุณสำหรับ SMS ทั้งหลายครับ

คุณConductorคะ

ขอนอกประเด็นนี๊ดเดียว

นี่คือข้อดีเล็กๆของทุนนิยมหรือไม่คะ พี่ไม่ทราบเหมือนกัน อยากให้ช่วย ให้ความรู้ด้วยค่ะ

เพราะจุดแข็งของทุนนิยมคือการเปิดเสรีในการทำธุรกิจ ซึ่งมีผลในการเร่งให้เกิดการสร้างทุนขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ระบบตลาดเสรีซึ่งมุ่งเน้นในการเพิ่มการลงทุน  ก็ย่อมจะนำมาซึ่งการจ้างงานและการเพิ่มของเงินเดือนในที่สุด

ทุนที่มีศักยภาพสูง และมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว คือทุนมนุษย์ (human capital) หรือการศึกษานั่นเอง

ทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในขณะนี้คือ  ทุนมนุษย์หรือการศึกษา

จ๊าก นอกเรื่องนิดเดียว แต่เป็นประเด็นใหญ่ที่ดีมากเลยนะครับ

เรื่องทุนมนุษย์หรือการศึกษา มีบันทึกและความคิดเห็นอยู่มากมายแล้วครับ แต่ผมคิดว่าถึงเขียนออกมาอีกหลายบันทึก ก็ยังคงมีประเด็นที่ดีที่จะแลกเปลี่ยนได้อีก ขอติดคำตอบแบบยาวๆ ไว้ก่อนนะครับ อาจเขียนเป็นบันทึกใหม่

คนเราจะเป็นคนที่มีค่าหรือ ไม่ น่าจะมองได้หลายมุม เพราะว่า "ค่า" มีลักษณะสัมพัทธ์ เช่น "ไก่ได้พลอย" -- พลอยอาจมีค่าสำหรับคนในบางสังคม ในบางสภาวะ แต่ไม่มีค่าอะไรสำหรับไก่ กินไ่ม่ได้ แล้วไม่เท่ห์ด้วย 

คุณค่าของคน จึงขึ้นกับสภาวะแวดล้อมของเขา เป็นสภาวะที่เขาเลือก และรับผลของการเลือกนั้นเองครับ เช่นเดียวกับการทำงาน คนที่ดีสำหรับที่หนึ่ง อาจจะไม่เหมาะกับอีกที่หนึ่งก็ได้ครับ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจตัวเอง เลือกที่เหมาะกับตนเอง อย่าฝืน

บางทีก็เป็นเรื่องยากสำหรับเด็กจบใหม่ ซึ่งคุ้นเคยกับข้อสอบปรนัย แล้วออกมาสู่ตลาดแรงงานทันที หรือว่ามีประการณ์น้อย-ทำงานตามคำสั่งโดยไม่เคยฝึกคิด ที่จะเข้าใจว่าทางเลือกที่แท้จริงนั้น มีมากกว่าที่เห็นและเข้าใจ อันนี้ก็ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์คอยช่วยประคับประคองครับ 

เรื่องการรับคน ในบริษัทก็เรียนรู้จากความผิดพลาดอย่างเจ็บปวดครับ พอทำ budget มี headcount ก็รีบรับเข้ามาโดยไม่เลือกเฟ้นให้ดี เข้ามาแล้วก็มาเป็นมลพิษ อยู่แป๊บเดียวก็เผ่นไปที่อื่น เสียเวลาทั้งสองฝ่าย จนภายหลังบริษัทให้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาก่อนรับพนักงานทุกคน แต่ไม่ยากแบบ Google (คนเก่าก็ทำเพื่อการวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วยเช่นกัน) พร้อมกับเอา staff turnover เป็น KPI ของฝ่ายด้วย

P

Conductor

 

อ่านความเห็นสุดท้าย ตรงกับ พุทธศาสนสุภาษิต ว่า

  • ยหึ ชีเว ตหึ คจฺเฉ น นิเกตหโต สิยา
  • บุคลพึงเป็นอยู่ได้ในที่ใด ก็ควรไปอยู่ในที่นั้น ไม่พึงให้สถานที่ทำลายตน

เจริญพร

สาธุ อันแปลว่าชอบแล้ว

คนต่างควรเลือกเฟ้นสถานที่และสังคมที่ตนอยู่ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ทำประโยชน์ได้ ไม่เบียดเบียนใครครับ (รวมทั้งการเบียดเบียนตัวเองโดยการฝืนทำ แสร้งทำด้วย)

อลชฺชิตาเย ลฺชชนฺติ
ลชฺชิตาเย น ลชฺชเร
มิจฺฉาทิฏฺฐิสมาทานา
สตฺตา คจฺฉนฺติ ทุคฺคตึ
อภเย ภยทสฺสิโน
ภเย จ อภยทสฺสิโน
มิจฺฉาทิฏฺฐิสมาทานา
สตฺตา คจฺฉนฺติ ทุคฺคตึ
อวชฺเช วชฺชมติโน
วชฺเช จ อวชฺชทสฺสิโน
มิจฺฉาทิฏฺฐิสมาทานา
สตฺตา คจฺฉนฺติ ทุคฺคตึ
วชฺชญฺจ วชฺชโต ญตฺวา
อวฺชชญฺจ อวชฺชโต
สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา
สตฺตา คจฺฉนฺติ สุคฺคตึ
ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย
ไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย
ผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างนี้
ย่อมไปสู่ทุคติ
สิ่งที่ไม่น่ากลัว เห็นว่าน่ากลัว
สิ่งที่น่ากลัว กลับเห็นว่า ไม่น่ากลัว
ผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างนี้
ย่อมไปทุคติ
สิ่งที่ไม่มีโทษ เห็นว่ามีโทษ
สิ่งที่มีโทษ กลับเห็นว่าไม่มีโทษ
ผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างนี้
ย่อมไปสู่ทุคติ
เห็นโทษ เป็นโทษ
เห็นถูก เป็นถูก
ผู้ที่มีความเห็นชอบเช่นนี้
ย่อมไปสู่สุคติ

ถ้ามีกำลังทำให้สถานที่เป็นที่ที่น่าอยู่ ให้ผู้มาอยู่สามารถสร้างสรรประโยชน์ได้ ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับคนที่อาศัยอยู่ในสังคมนั้นเอง; แต่ถ้าต่างคนต่างอาศัยไปวันๆ ไม่ได้คิดจะช่วยกันทำให้น่าอยู่ น่าอาศัย สถานที่นั้นก็จะไปสู่ความเสื่อม 

สิ่งที่ Google ให้แก่พนักงาน ก็คงเป็นไปตามแนวคิดนี้ครับ และ Google เลือกสรรพนักงานอย่างดี ใช้วัฒนธรรมองค์กรและปรัชญาของบริษัทเป็นตัวควบคุม พนักงานแลกสิ่งที่แต่ละคนต้องการด้วยการสร้างผลงานแก่สังคม Google

คนต่างควรเลือกเฟ้นสถานที่และสังคมที่ตนอยู่ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ทำประโยชน์ได้ ไม่เบียดเบียนใครครับ (รวมทั้งการเบียดเบียนตัวเองโดยการฝืนทำ แสร้งทำด้วย)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

แต่ถ้า บางคนอยู่ในสภาวะที่เลือกไม่ได้ล่ะคะ  ไม่ชอบทำงานที่องค์กรนี้ แต่ต้องทำ เพราะ ยังไม่มีที่อื่นดีกว่า

ที่พุดนี้ เพราะเคยพบ พนักงานแบบนี้บ่อยเหมือนกันค่ะ อยากแต่จะทำงานกับองค์กรใหญ่ๆเท่านั้น

ที่เคยทำคือ แนะนำให้เขา ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ งานใหม่ สักพัก เพราะเขาอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้

ดิฉันเชื่อว่า คนเราสามารถปรับพฤติกรรมของคนเรา ให้เข้ากับธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม หรือสังคมรอบตัวได้ ตราบใดที่ สิ่งแวดล้อม และสถานที่นั้น ไม่ขัดแย้งกับแนวคิดหรืออุดมการณ์ของเราอย่างรุนแรง จนรับไม่ได้

เพราะคนเรามีสัญชาติญาณของการเอาตัวรอดทุกคน

เช่น คนที่ทำงานในด้านคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลข่าวสาร อยากจะทำงานในที่ๆซึ่ง very well established company เพราะระบบต่างๆและเครื่องมือเครื่องใช้มีพร้อม แต่ถ้า ยังไม่สามารถเข้าไปได้ ก็ต้องปรับตัวให้ยอมรับกับบริษัทที่เล็กกว่า หรือเพิ่งตั้งมา  ให้ได้ ดีกว่า อยู่บ้าน เป็นไหนๆ 

เมื่ออยู่ๆไป อาจปรับตัวได้และชอบ จนไม่ไปไหนอีกนานก็ได้ เพราะ ที่บริษัทเล็กๆ การแข่งขันไม่สูง และตัวเขาจะเป็น some bodyได้ง่ายกว่า อยู่บริษัทใหญ่ๆ ที่มีคนเก่งๆเยอะไปหมด กว่าจะสามารถแสดงความสามารถได้ เป็นที่ประจักษ์ ก็หืดจับ แถมการเมืองในองค์กรใหญ่ ก็มีหลายกลุ่ม ไม่ง่ายในการปรับตัวเหมือนกัน

หมายเหตุ---หมายถึง การทำงานในfieldที่ตนเองถนัด แต่ต่างกันที่ สิ่งแวดล้อมอื่นๆที่มีอีกมากค่ะ

แลกเปลี่ยน คุยกันเท่านั้น น่ะค่ะ

ผมคิดว่าคนเรามีทางเลือกอยู่เสมอครับ แต่หลายครั้งทางเลือกที่เราเห็นอยู่ข้างหน้านั้น ดูไม่ดีสักอย่าง เสี่ยงไปหมด ไม่แน่นอนทั้งนั้น ไม่คุ้นเคยอะไรเลย ถ้าเห็นแบบนี้แล้ว บางทีก็จะเลือกอยู่เฉยๆ พยายามยืนอยู่นิ่งๆ ให้ได้ 

สิ่งใดอยู่เลยสายตาออกไป ก็มองไม่เห็นแล้วครับ เรามักลืมไปว่ายังไม่ได้พิจารณาทางเลือกข้างหลังเลยนะครับ แค่เหลียวหลังไปก็มองเห็นแล้ว

กลับมาที่ Google เพราะคนเราคิดไม่เหมือนกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน การที่จะบังคับให้ทุกคนเข้ากรอบที่บริษัทวางไว้จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย

Google แสดงผ่านสื่อออกไปในวงกว้างถึงวัฒนธรรมการทำงานแบบที่ให้อิสระทางความคิดมาก ทำงานให้สนุก ไม่ต้องกังวลต่อการดำรงชีวิต เปล่งประกายได้เต็มที่ เพื่อดึงดูดคนที่อยากอยู่ในสังคมแบบนี้เข้ามาสมัคร และคัดกรองอย่างบรรจงว่าเขาจะได้ candidate ที่มีความสามารถและทัศนคติแบบที่เขาต้องการ ในเวลาที่เขาต้องการ

Google เลือกผู้สมัครได้ครับ แต่ก่อน Google จะเลือก ผู้สมัครเลือก Google ก่อน

This article Google yells, Ms blinks reminds me that what Google is now - the "Best Company to Work For in America", might have been what Microsoft was a decade or so ago. 

"Google yelled, Microsoft blinked, and just like that the world had a new bully, much like the old bully; Microsoft backed down when Google threatened to push its suit that Microsoft was not being fair to the intrusive Google Toolbar by building better desktop file-searching software into Vista; Microsoft talked big but backed down and make Vista worse to make Google happy."

No doubt at its peak, Microsoft Inc would have been "the" company  where IT hotshots inspire to get into. Cross fingers, a decade from now, our darling Google would not turn ugly and old. But then I won't hold my breath and will certainly knock on woods - don't really know what that'll do :=}

ก็น่าคิดครับ บริษัทหนึ่งเป็นได้ทั้งมารร้ายและเทพได้ในเวลาเดียวกัน ขึ้นกับมุมมอง

แล้วที่วุ่นวายมาก เพราะเราถือว่ามุมมองของเราถูกเสมอ มักไม่ใจกว้างพอที่จะมองจากมุมของผู้อื่นบ้าง 

ใครจะคิดอย่างไรกับ Google สำคัญน้อยกว่าพนักงานของเขามองเห็นเป้าและทำงานร่วมกันได้ดีตามวัตถุประสงค์หรือไม่ บริษัทให้สิ่งที่สามารถให้ได้ ให้แล้วคุ้มค่า และต้องการงานและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แลกเปลี่ยนครับ 

ได้เข้ามาอ่าน บทความ และ ความคิดเห็น ของพี่ๆ หลายคนแล้ว ทำให้มี มุมมองมากมาย หลายอย่าง จากที่ผม ก็ เป็น พนักงาน คนหนึ่งที่ใช้แรงอยู่ใน กทม

จากมุมมองแล้ว กูเกิล น่าจะเลือกคน ที่ใช้ชิวิตแบบทำงาน โดยไม่ยึดติดกับเงินมากกว่า แต่จะให้ สวัสดิการ ด้าน ต่างๆ คนที่สมัคร มัก จะคิดว่า เข้าทำแล้วเงิน น่าจะดี แต่ ผมเคยอ่านจาก บทความ บท หนึ่ง ซึ่ง แสดงให้เห็นรูป ของ สถานที่ทำงาน ซึ่ง มันแตกต่าง จาก ที่เราคิดไว้มาก เขาไม่ได้จัด ให้ เหมือน ที่ทำงานแต่ เขาจัดสถานที่ให้เหมือน ที่พักผ่อน ทำกิจกรรม มากกว่าการทำงานซะอีก   

นี่แหล่ะ อิสระ ของการทำงาน มากกว่า ที่ จะต้องมา ยึดติดกับการ ปิดกั้น ตัวเอง อย่างที่ เรากั้น ผนังระหว่าง บุคคล ที่ออฟฟิศ แล้วจะ คุยกับใคร นอกจาก คอมพิวเตอร์ของตัวเราเอง 

จากที่อ่าน การตอบกระทู้ ผมชอบ ที่ พี่ sasinanda ตอบ ตอนสุดท้ายว่า

การทำให้คนทุกคนมีความกินดีอยู่ดี และให้มีอิสระเสรี ในการคิด การทำงาน เป็นสิ่งที่ Google ได้รางวัลบริษัทที่น่าทำงานที่สุดแห่งปีไปครอง

ผมว่า บริษัท ในไทยน่าจะนำแนวคิดนี้มาใช้นะครับ เพราะว่า บุคลากร นั้น หากเขาได้รับ สวัสดิการที่ดี แม้เงินเดือนไม่มาก เขาก็พอใจแล้ว มากว่า เงินมาก แต่ สวัสดิการไม่ดี อย่างนี้ คนทำงานก็คงไม่เอานะผมว่า

จะว่าไปแล้วผมก็เข้ามาตอบ ครั้งแรกนะครับนี่ มีเรื่องการคิดแบบ บริหาร เยอะเลย ผมละชอบ มันจริงๆเล้ยย  

ยินดีต้อนรับคุณผักคะน้าครับ ไม่เคยมีใครเลย ที่มาให้ความเห็นในบันทึกของผมเป็นข้อความแรกที่เขียน (ยังไม่เคยเขียนบันทึกมาก่อนเลย) 

Google ลงทุนกับคนครับ (JPMorgan ออกบทวิเคราะห์ชื่อ Nothing but Net ชี้ ว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปในสหรัฐ จะมี EPS growth ถึง 34%) ซึ่งเขาก็เลือกพนักงานอย่างเข้มข้น เขาทำให้พนักงานสามารถทุ่มเท สนุกสนานกับงานของบริษัทได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต 

แต่ว่านั่นคือครึ่งเดียวครับ ในเมื่อองค์กรแสดงความรับผิดชอบต่อเราแล้ว เราแสดงความรับผิดชอบต่อองค์กรอย่างไรบ้าง -- เมื่อตัวเรามีค่า เราก็เลือกได้ครับ

สวัสดีค่ะ

ขอสนับสนุนคำตอบของคุณ Conductor ที่ว่า

"อิสระ ต้องมาคู่กับ ความรับผิดชอบ" 

"เมื่อองค์กรแสดงความรับผิดชอบต่อเราแล้ว เราแสดงความรับผิดชอบต่อองค์กรอย่างไรบ้าง -- เมื่อตัวเรามีค่า เราก็เลือกได้ครับ "

รู้สึก จะย้ำ ประโยคนี้ 2 ครั้ง ในบันทึกนี้แล้วค่ะ

ในฐานะ ที่ในครอบครัวดิฉัน  มีคนที่ ทำงานอยู่กับบริษัทระดับใกล้เคียงกันนี้ 4 คนด้วยกัน

ดิฉัน จึงพอจะเข้าใจ  วิธีการบริหารคน ของบริษัท แบบนี้ดีค่ะ

เขาลงทุนกับคนมาก จนเราทึ่ง และรู้สึกว่า ทำไมเขาจึงใจป้ำอย่างนี้นะ

แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องการผลงานพร้อมความรับผิดชอบเต็มร้อย 

หรือ ที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ความคาดหมายของเขาเช่นกัน ยิ่งเกินความคาดหมายได้ยิ่งดี

จริงๆแล้ว ไม่ง่ายที่จะทำงานกับเขาเช่นกัน ถ้าเราเจาะลึก ลงไปให้มากกว่าที่เห็นผิวเผิน

คุณ Conductor บอกว่า....

"แต่ถ้า ใครไม่ใช่ของจริงของเขา   สังคม(ตะวันตก)แบบนี้ มีวิธีจัดการกำจัดส่วนเกินครับ"

 และ  จะเป็นคนละแบบกับ วัฒนธรรม ตะวันออกโดยสิ้นเชิงค่ะ  

แต่เมื่อไรที่เรา เปล่งประกายศักยภาพและคุณค่าของเราอย่างเต็มที่ออกมาให้ประจักษ์แล้ว

เมื่อนั้น ไม่ใช่เขาเป็นคนเลือกเรา

แต่เรา ต่างหาก ที่เป็นคนเลือกเขา และอยู่ที่การตัดสินใจของเรา ว่า ยังจะอยากอยู่กับเขาต่อไปหรือไม่

ดิฉันว่า แสง spot light มันย้ายที่ได้  ในที่สุด มันขึ้นอยู่กับตัวเราจริงๆค่ะ

ทั้งหมดของบันทึกนี้ ก็อยากจะบอกว่า ไม่ว่านายจ้างจะให้อะไรก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดครับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรามีอะไรให้เขาต่างหาก เมื่อคุ้มค่า นายจ้างก็ให้ได้ครับ (ถ้าเขาฉลาดพอ เพราะเขาได้มากกว่า)

  • จะหาได้มาก ก็ต้องมีค่ามาก
  • จะมีค่ามาก ก็ต้องเป็นที่พึ่งพาได้
  • เมื่อเป็นที่พึ่งพาได้ ก็จะเกิดความคุ้มค่า
  • เมื่อคุ้มค่า มันมาเองครับ
  • ตราบใดที่ยังรับเงินเดือนเขาทุกเดือน ก็ต้องทำทุกเดือนเช่นกัน อย่าหลงปลื้มอยู่กับความสำเร็จในอดีตนานนัก

ไม่ใช่แต่สวย/หล่อเลือกได้นะครับ ดี/เก่งก็เลือกได้เช่นกัน

แต่เมื่อไรที่เรา เปล่งประกายศักยภาพและคุณค่าของเราอย่างเต็มที่ออกมาให้ประจักษ์แล้ว

เมื่อนั้น ไม่ใช่เขาเป็นคนเลือกเรา

แต่เราต่างหาก ที่เป็นคนเลือกเขา และอยู่ที่การตัดสินใจของเราว่า ยังจะอยากอยู่กับเขาต่อไปหรือไม่

ดิฉันว่า แสง spot light มันย้ายที่ได้  ในที่สุด มันขึ้นอยู่กับตัวเราจริงๆค่ะ

ได้แนวคิดและ สาระ มากมาย เลยครับที่เข้ามาอ่านใน blog ของพี่  Conductor คนที่เป็นนาย เขาคิดกันอย่างไร คนที่เป็น ลูกจ้างต้องคิดอย่างไร จะนำไปปรับใช้ครับและจะ เข้ามาอ่านบ่อยๆ ครับ

สวัสดีครับConductor

นั่งอ่านทุกคำเขียนครับ เข้าใจมั่งไม่เข้าใจมั่ง ตามประสาคนบ้านนอกธรรมดาคนหนึ่ง มีนายจ้าง+ลูกจ้าง และมีการบริหารอยู่ตรงกลาง อันการบริหารนี้ก็เหมือนผู้ตัดสินว่านายจ้างและลูกจ้างจะอยู่รอดหรือไม่ และยังมีความสำคัญมากจะต้องมี "การศึกษา" เข้าใจว่าเช่นนั้น

องค์กรเล็กๆในชุมชนคนชนบท เช่น ครอบครัว เขาน่าจะมีโอกาสได้รับทุน อย่างเช่นคุณ sasinanda กล่าวทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในขณะนี้คือ  ทุนมนุษย์หรือการศึกษาและถ้าได้รับทุนการศึกษา(ที่ผูกติดกับรายได้ กรอ.)ก็คงจะดีคนชนบทจะได้มีความรู้ในการบริหารจัดการ กันเยอะๆ ขอบคุณครับ 

  

คุณผักคะน้า คุณคนเดินดิน: องค์กรที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่ต้องการความยั่งยืนนั้น ไม่สามารถจะแบ่งชั้นเป็นนาย-ลูกน้อง ผู้ปกครอง-บ่าวไพร่ ผู้นำ-ผู้ตามได้หรอกนะครับ ท่านคงจะไม่ติดแหงกอยู่ตรงนั้น แต่ผมขอเรียนเตือนย้ำไว้อยู่ดี 

ตำแหน่งบอกถึงหน้าที่ สถานะบอกบทบาท เพื่อที่จะทำให้สังคมยืนอยู่ได้และทุกคนได้ประโยชน์ ต่างต้องพึ่งพากันและกัน (ถ้าหากความสำเร็จ เกิดขึ้นได้ด้วยตัวคนคนเดียว ก็ไม่ต้องมีนาย-ลูกน้อง ผู้ปกครอง-บ่าวไพร่ ผู้นำ-ผู้ตามหรอกครับ ในกรณีนั้น ความสำเร็จไม่ว่าจะหมายถึงอะไรก็ตาม ก็ไม่ต้องแบ่งกับใคร ไม่จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม) 

แต่ละองค์กรมีวัตถุประสงค์อยู่ เสมอ ม๊อบยังมีวัตถุประสงค์เลยครับ องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์ ก็ไม่สามารถจะนำคนที่มีวัตถุประสงค์ในแนวเดียวกัน (ปณิธาน) มารวมกันไว้ได้ จะทำให้องค์กรฉาบฉวย ไร้ทิศทาง และสูญเปล่า -- นั่นคือสิ่งที่ Google ทำในบันทึกครับ เรามองผล (บริษัทที่น่าทำงานด้วย) โดยไม่มองที่เหตุ

สังคมหรือองค์กรมีชีวิตอยู่บนความแตกต่างเสมอ (เพราะมีตำแหน่ง หน้าที่ สถานะ และบทบาท ที่แตกต่างกัน)  ดังนั้นปัญหาของสังคมหรือองค์กร จึงไม่มีคำตอบวิเศษอันเดียวที่แก้ไขได้ทุกปัญหาหรอกครับ

ผมถามคำถามเอามันนะครับ ถ้านักการเมืองเรียนรู้เป็น มองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง และมีหิริโอตตัปปะ ประชาชนจะอยู่ดีกินดี+เมืองไทยจะเป็นมหาอำนาจไหมครับ -- ผมคิดว่าหากเป็นอย่างนั้นจะช่วย แต่จะไม่ทำให้เป็นครับ

การศึกษาสำคัญจริงๆครับ แต่ไม่ใช่แค่เรียนอะไรมา จบอะไรมา แต่เป็นความสามารถในการเรียนรู้ ความช่างสังเกต ความกล้าที่จะมองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง และโอกาสต่างหากครับ 

สวัสดีครับConductor 

ก่อนจะเรียนรู้เป็นหรือมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงได้นั้น ก็ต้องได้รับโอกาสเสียก่อน เช่น พ่อแม่ ให้โอกาสแก่ลูกๆ ได้รับ "การศึกษา" การให้โอกาสทางการศึกษานั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ

ส่วนความมี หิริ-โอตตัปปะ นั้น มีอยู่แล้วในตัวของทุกคน เพียงแต่สภาพความเป็นจริงไม่รุนแรงถึงขั้นคอขาดบาดตายเลยไม่แสดงออกมา 

  • หิริ คือ ความละอายใจในการทำบาป
  • โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว

ถ้านักการเมืองเรียนรู้เป็น มองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และมีหิริโอตตัปปะ ประชาชนจะอยู่ดีกินดี+เมืองไทยจะเป็นมหาอำนาจไหมครับ?

เมื่อนักการเมืองมีหิริโอตตัปปะนี้แล้ว กฎหมายบ้านเมืองทุกมาตราไม่มีใครกล้าทำผิดหรอก อย่าว่าแต่ธรรมเลย การอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะ เป็นพรรคเป็นพวกหลายคนด้วยกัน ถ้ามีหิริโอตตัปปะแล้ว ไม่มีอิจฉาริษยาเบียดเบียนซึ่งกันและกันมันก็เป็นสุขเท่านั้น หากคิดผิดประทุษร้ายเกิดความละอายและกลัวขึ้นมา นั่นธรรมเตือนขึ้นมาแล้ว เลยไม่กล้าทำความชั่ว ครั้นทำลงไปก็เป็นเหตุให้เดือดร้อนวุ่นวาย ตนเองเดือดร้อนเพราะทำชั่ว คิดชั่ว แล้วก็เป็นเหตุให้คนอื่นเดือดร้อนอีกด้วย

เรียกว่า ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติสุจริตก็มี หิริโอตตัปปะ อยู่ในตัวนั่นแหละ เรียกว่า ประพฤติธรรมสุจริต ผู้ประพฤติธรรมดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ มันก็สวมหัวใจของเรามาแต่เบื้องต้นนั่นน่ะซี จะสุขที่ไหน สุขแต่เบื้องต้นที่เราประพฤติดี ประพฤติชอบ มันไม่เดือดร้อนวุ่นวาย คนอื่นก็สุข อยู่หมู่มากด้วยกันก็สุข หมู่น้อยก็เป็นสุขด้วยกันทั้งหมด ไม่มีเดือดร้อนวุ่นวาย จึงว่าธรรมอันนี้เป็นของดี

การให้โอกาสทางการ "ศึกษา" นั้นถือว่าเป็นการช่วยและการช่วยนี้ทำให้คนได้ดีมามากแล้วนะครับ ส่วนการทำเป็นนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถของแต่ละคนครับ

ดีใจครับที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน จากคนบ้านนอกธรรมดาคนหนึ่ง ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท