กองล่อ (3) ศึกษาบทเซิ้งเยาะเย้ยทหารทางการของกบฏ


ทิงสองบั้งสังมายังบ่ทันขาด สังมาตะลาดล้มเต็งน้องเนดนอง หัวหนองบ่ทันเศร้าสังมาเทียวทางใหม่ เป็ดไก่เลี้ยงสู่มื้อบ่คุ้นแก่นคน สังบ่สนเคาไว้ไถนาคือสิคล่อง ข้าวกากไกลข้าวก้องสองซู้สิห่างกัน ขางเฮือนไกลขางเล้าหนีไปเซาไกลท่า ไก่ป่าไกลไก่บ้านขันท้าอยู่ละเนอ..."

"...ปีชวด ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ปรากฏมีลายแทง (ใบลาน) เป็นคำพยากรณ์ว่า...กลางเดือน 6 ปีฉลู ร.ศ. 120 จะเกิดภัยใหญ่หลวง  หินแฮ่กลายเป็นเงินเป็นคำ  บักอื๋อบักโต่นจะกลายเป็นช้างม้า  ควายตู้  ควายด่อน  หมูจะกลายเป็นยักษ์กินคน  ท้าวธรรมิกราชจะมาเป็นใหญ่  ใครอยากพ้นเหตุร้ายขอให้คัดลายแทงบอกต่อกันไป... ถ้าย่านตายให้ฆ่าควายด่อนและหมูเสียก่อนกลางเดือน 6 อย่าให้มันทันเป็นยักษ์  พวกผู้สาวก็ให้ฟ่าวเอาผัว  บ่อย่างนั้นยักษ์จะมาจับกินหมด.."

ศัพท์ 1) บักอื๋อ, บักโต่น: ฟักทอง, ฟักเขียว  2) หินแฮ่ : หินลูกรัง 3) ควายตู้: ควายทุย ตัวใหญ่แต่เขาสั้นสักคืบ  4) ควายด่อน:ควายเผือก  5) ฟ่าว: รีบ  ให้ฟ่าวคือให้รีบ  6) เอาผัว : แต่งงาน (คำพูดสุภาพปกติทั่วอีสาน/ลาว)

วันนี้ผมอยากจะพาท่านมารู้จักคำประพันธ์ภาษาอีสานจากผู้ที่เรียกว่าเป็นกบฎผีบุญผีบาป  ซึ่งมองจากมุมปัจจุบันข้อความในวรรคแรกที่ยกมา  คงเป็นเรื่องตลก  แต่เชื่อไหมครับว่าสมัยนั้นผู้คนเชื่อมากมาย  ผู้นำซึ่งเรียกตนเองว่าองค์...ต่าง ๆ  สร้างความกังวลแก่ทางการมาก

"พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์  ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน  ทรงสดับตรับฟังข่าวนี้ต่อ ๆ มา... ทรงคาดว่าคงจะเป็นคนคิดหากินด้วยหลอกลวงราษฎรเท่านั้น"

ที่ไหนได้ที่อำเภอบ้านด่าน (โขงเจียม) ผีบุญได้สมัครพรรคพวกราว 200 คน เข้าเมืองเขมราฐจับท้าวโพธิสารกรมการเมืองที่ห้ามมิให้ประชาชนเชื่อไปประหาร จับพระเขมรัฐเดชประชารักษ์เจ้าเมืองไปเป็นหุ่นเชิด  ไปตั้งมั่นที่บ้านสะพือใหญ่  เขตอำเภอตระการพืชผล  ได้คนเชื่อถือ "องค์มั่น" มาเป็นพวกอีกรวมราว  1,000 คน

ฝ่ายทางเมืองเสลภูมิ  ยโสธร  ข้าหลวงต่างพระองค์ตรัสสั่งให้นายพลตรีหม่อมเจ้าศรีใสเฉลิมศักดิ์  เกณฑ์จากเมืองบุรีรัมย์  นครราชสีมาเข้าปราบ  ส่วนทางด้านตระการพืชผลนั้นข้าหลวงต่างพระองค์ตรัสสั่งนายพันตรีหลวงสรกิจพิศาล ๆ จัดให้ร้อยตรีหรี่กับพล12 คน

"ครั้นไปถึงหนองน้ำเรียก "หนองขุหลุ" พวกผีบุญส่งคนมาดักคอยอยุ่แล้วกลุ้มรุมกันจับนายร้อยตรีหรี่  ต่อสู้กันอย่างตะลุมบอน  ทหารน้อยถูกพวกผีบุญฆ่าตายหมด... ยังเหลือแต่ข้าพุทธิเจ้าคนเดียวต่อสู้เอาชีวิตเข้าแลกจึงหนีรอดมา..พระอาญาไม่พ้นเกล้า"

ชนะคราวนี้ผีบุญได้พลเพิ่มอีกเป็น  1,500 คน จะยกไปตีเอาเมืองอุบลราชธานี  ตอนนี้มาแล้วครับ "กองล่อ" ของกบฏ  พวกองค์ต่าง ๆ แต่งบทเซิ้งเย้ยหยันทหารทางการ  ทั้งร้องปลุกใจกลุ่มตนเอง  และจะเอาไว้ร้องโฮแซวยั่วหยันตอนเข้าเมืองอุบลได้  ความว่า

"ทิงสองบั้งสังมายังบ่ทันขาด  สังมาตะลาดล้มเต็งน้องเนดนอง  หัวหนองบ่ทันเศร้าสังมาเทียวทางใหม่  เป็ดไก่เลี้ยงสู่มื้อบ่คุ้นแก่นคน  สังบ่สนเคาไว้ไถนาคือสิคล่อง  ข้าวกากไกลข้าวก้องสองซู้สิห่างกัน  ขางเฮือนไกลขางเล้าหนีไปเซาไกลท่า  ไก่ป่าไกลไก่บ้านขันท้าอยู่ละเนอ..." 

ศัพท์  1) ทิง/บั้งทิง : กระบอกไม้ไผ่ทะลวงปล้อง 2-3 ปล้อง ใส่น้ำดื่มสะพายไหล่  2) สัง : เป็นหยัง ทำไม  3) ตะลาดล้ม /คะลาดล้ม / คาดลาดล้ม: ล้มอย่างกระทันหัน  ล้มเสียหลักอย่างแรง  4) เต็ง : ทับ  เต็งน้องในที่นี้คือล้มทับกันเอง  5) แก่น: คุ้นเคย/เชื่อง  6) สนเคา : สนตะพาย(วัว  ควาย)  7)  ข้าวกาก:ข้าวเปลือก  เปลือกข้าวที่เป็นแกลบ อีสาน/ลาวเรียกกากข้าว  8) ข้าวก้อง:ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ  9) ซู้: คู่รัก  10) ขางเฮือน : เครื่องเรือนรับน้ำหนัก  11) เล้า: ยุ้งข้าว  11) สู้มื้อ : ทุกวัน  คูมื้อก็ว่าได้

บทร้องเซิ้งนี้ถ้าจะเปรียบโดยภาษิตปัจจุบันน่าจะคล้ายคลึงกับ การพ่ายแพ้แบบนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ ของฝ่ายทหารซึ่งมีน้อยกว่า  แปลเป็นสำนวนเข้าใจง่ายน่าจะประมาณนี้ครับ...

กระบอกน้ำยังไม่ทันร่วงไหล่   ใยคนล้มท่าวระเนระนาดนอง  ปลายหนองน้ำยังไม่ทันเฉาร้าง ไฉนเทียวทางใหม่   เป็ดไก่เลี้ยงอยู่ทุกวันกลับไม่เชื่องคุ้นคน   ทำไมไม่สนตะพายได้ ให้ไถนาคงจะคล่อง  ข้าวเปลือกลาข้าวกล้องสองชู้จำห่างกัน  ขางบ้านไกลขางยุ้งมุ่งไปไกลท่า  ไก่ป่าไกลไก่บ้านขันท้าทายอยู่ละเนอ... 

ผมว่าสำนวนอย่างนี้  สมแล้วครับที่ชาวบ้านจะเชื่อ... รุ่งเช้า 4 เมษายน 2444 พวกผีบุญยกกองจะไปตีเมืองอุบลฯ เป็นดังนี้ครับ

"...หลวงชิตสรการสั่งให้ยิงปืนใหญ่ออกไปหนึ่งนัด  ให้ศูนย์ปืนเลยข้ามพวกผีบุญไปก่อน  พวกผีบุญร้อง  ซ่า ซ่า สาธุ องมั่นนี้วิเศษแท้... ปืนใหญ่ยิงออกไปนัดที่สอง  กระสุนตกกลางไพร่พลพอดี  กระสุนระเบิดถูกผีบุญหัวเด็ดตีนขาดล้มระเนระนาด  พวกทหารปืนเล็กยาวและปีกซ้ายขวา  พร้อมกันระดมยิงและโห่ร้องตาม  ปืนใหญ่ยิงซ้ำไปอีกนัดที่สาม  ถูกพวกผีบุญล้มตายประมาณ  300 คนเศษ  ที่เหลือหนีตายเอาตัวรอด  องค์มั่น (หรือท้าวธรรมมิกราชปลอม) ปลอมตัวเป็นชาวบ้านหลบหนีเอาตัวรอดไป..."

ผลก็คือพวกองค์ต่าง ๆ และไพร่พลชาวบ้านถูกจับมาจากบ้านสะพือใหญ่จนล้นคุกล้นตะราง  เจ้าหน้าที่ต้องจองจำขื่อคาไว้ทุ่งศรีเมือง 2-3วัน   ผู้ที่ถูกตัดสินประหารก็ถูกนำไปเสียบหัวประจานไว้สถานที่เกิดเหตุทุกแห่ง

น่าเสียดายว่าบทเซิ้งเย้ยหยันของกบฏยังไม่ทันได้ร้องเย้ยทหารทางการ  เพราะความไมรู้เท่าทันการว่า  ลำพังความเชื่อในเรื่องลายแทงบอกต่อว่าผู้มีบุญจะมาโปรด  ถืออาวุธมีดดาบด้วยใจซื่อ  ต้องมาสู้กับทางการที่มีอาวุธทันสมัยกว่า  นี่คืออีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นว่าไว้

ผมเองยังอยากอ่านบทวรรณกรรมชาวบ้าน ๆ อย่างนี้อีก  แต่ไม่ต้องฆ่าแกงกันอย่างนี้ครับ...

ขอจบเรื่อง กองล่อ เพียงเท่านี้  ขอบคุณครับ...

อ้างอิง

เติม  วิภาคย์พจนกิจ.  ๒๕๔๖.  "กบฏผีบาปผีบุญ" ใน ประวัติศาสตร์ภาคอีสาน.  พิมพ์ครั้งที่  ๔.  กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

หมายเลขบันทึก: 153213เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดีครับอาจารย์

ขบถผู้มีบุญ เป็นปรากฏการทางสังคมของกลุ่มคนที่รู้สึกว่าถูกกดขี่ครับ ที่ทางเชียงใหม่ก็เคยมีกบถผญาผาบครับ เกิดขึ้นเพราะชาวบ้านไม่พอใจที่ต้องเสียภาษีต้นหมาก

ขบถผู้มีบุญทางอีสาน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านบทกลอนร้องกลอนลำ และใบบอกในรูปแบบจดหมายลูกโซ่ตามที่ท่านได้บรรยายไว้นั้น เป็นวิธีการที่แยบยลจริงๆครับ

อาจารย์ได้ศึกษาปรกฏการณ์ทางสังคมผ่านบทลำบทกลอนนี้ได้อย่างน่าสนใจครับ

ผมยังไม่ลืมหนังสือนะครับ ตอนนี้อยู่ในลาวเมืองหงสา แขวงไชยบุรีครับ

  • พ่อโสภา กบฎชาวนาอีสาน ร่ายกลอนลำแบบอีสานเยาะเย้ยพวกข้าราชการเมืองขอนแก่น
  • ตามอ่านจากบันทึกออตได้ครับ อิอิ
  • ปัจจุบันกบฏเริ่มใช้โลกออนไลด์แล้วครับ ท่าน ผอ. ก้าวหน้าไปมาก
  • สวัสดีครับคุณP
  • ขอบคุณครับที่แวะเยี่ยม
  • รอสำเนาหนังสืออย่างมีความหวังครับผม
  • ดีใจด้วยที่ได้ไปเมืองหงสาครับ  ได้ยินแต่ชื่อ..

 

  • สวัสดีครับ อ.P
  • กลอนลำพ่อโสภาผมตามอ่านยังไม่เจอเลย  หรือว่าหมายถึงจะเขียนในโอกาสต่อไปครับ
  • กบฏออนไลน์อยู่ใสแหน่  บอกหน่อยครับ  สิ่มทางบล็อกได้บ่

สวัสดีครับ

อ่านชุดกองล่อของอาจารย์แล้วมันมากครับ คนเราเวลาขาดสติเพราะถูกยั่วก็มักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ มันก็เป็นเรื่องสอนใจเราได้อย่างหนึ่งว่าจงมีสติตั้งมั่นเมื่อภัยมา ใช่ไหมครับ

เหอๆๆๆ ท่านผอ.ครับ

  • กบฏการศึกษาแบบเราก็เรียกกบฏครับ อิอิ
  • ตามอ่านได้ทาง G2K ครับ
  • เรื่องกบฏพ่อโสภา ตามอ่านได้ค้นคำว่า วัดไชยศรี นะครับ

 ขออนุญาตท่าน ผอ. ชาตรี ครับ

       บักอื๋อ = ฟักทอง

       บักน้ำ = น้ำเต้า

 

 

  • สวัสดีครับท่าน. อัยการชาวเกาะ
  • ท่านสรุปประเด็นได้ตรงที่สุดครับ  ศึกหลายครั้งก็พ่ายมาตั้งแต่อารมณ์  สติ ที่ไม่ควบคุมให้ดีใช่ไหมครับ
  • แต่การยั่วยุที่ไม่เป็นคำทอว่า  แต่ทำให้เราลืมสติได้  นี่ก็น่ากลัวเหมือนกัน  ท่านอัยการว่าไหมครับ  อิ  อิ..
  • ขอบคุณลุงวอP  นาย วรชัย หลักคำ ครับ
  • ใช่ครับ บักน้ำ  คือน้ำเต้า    ส่วนฟักเขียว  ภาษาอีสาน/ลาว คือบักโต่น  บักกะโต่น ครับผม
  • ขอแก้ไขในบันทึกตามนี้  ขออภัยอีกครั้งครับ
  • วาวว.. อ.P  ออต อะไรจะปานนั้น  เป็นตาย่านหลาย กบฏการศึกษา เอาแค่คิดนอกกรอบเป็นประจำดีบ่ครับ.. อึ  อึ..
  • ขอบคุณเรื่องพ่อโสภา  พลตรี ครับ..ตามอ่านแล้วพอนึกออกแล้ว..

สวัสดีค่ะคุณครูชา

อ๋อขอสมัครเป็นศิษย์คุณครูชาด้วยคนนะคะ

อ่านบันทึกครูแล้วสนุกมากค่ะ  ได้ความรู้มากมายด้วย

ขอบพระคุณค่ะ คุณครู

อ๋อ

 

 

  • สวัสดีครับคุณอ๋อ P  nithimar
  • ในโลก G2K พวกเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันตลอดเวลา 
  • ครูชาก็ได้ความรู้จากบันทึกคุณอ๋อด้วยครับ
  • และจะติดตามต่อไป  ขอบคุณครับผม

สวัสดีครับ คุณครูชาและทุกท่าน

ผมขอแสดงความคิดเห็นร่วมด้วยคนนะครับ

๑. กลอนที่ยกมานี้ เข้าใจว่า เป็นกลอนลำหรือกลอนผญา ไม่ใช่กลอนเซิ้งครับ

๒. เป็นกลอนที่กลุ่มผู้มีบุญใช้ปลุกระดมมวลชนแบบ "จดหมายลูกโซ่" (อย่างในปัจจุบัน) หรือบางทีอาจจะถูกนำมาลำเสนอตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดย "หมอลำอัศจรรย์" เพื่อทำนายชะตาบ้านเมือง

๓. และทั้งหมดนี้ น่าจะอยู่บนฐานสำนึก "ความหลังและความหวัง" ของคนอีสานในยุคนั้น กล่าวคือคนยุคนั้นเขาโหยหาความรุ่งเรืองของเวียงจันทน์และยุคสมัยพระศรีอาริย์ (สังคมที่ดีกว่า)

๔. เห็นด้วยว่า เป็นความเชื่อที่ขาดสติและขาดการประเมินสถานการณ์ที่ถูกต้อง

๕. และน่าสังเกตว่า ต่อมา อุบลฯ กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญของหมอลำและพระสงฆ์ (ธรรมยุติกนิกาย) 

  1. สวัสดีครับคุณสนอง  ขอบคุณมากที่ให้ข้อแลกเปลี่ยนครับ
  2. บทที่กล่าวว่า "ทิงสองบั้งสังมายังบ่ทันขาด  สังมาตะลาดล้มเต็งน้องเนดนอง  ฯลฯ..." ซึ่งในบันทึกผมใช้กล่าวนำว่า  "พวกองค์ต่าง ๆ แต่งกาพย์เซิ้งเย้ยหยันทหารทางการ" นั้น 
  3. ผมตรวจดูตามต้นฉบับ ในเอกสารที่อ้างถึงเขาเขียนว่า "ความตอนหนึ่งเป็นบทเซิ้งพวกองค์ต่าง ๆ" (เติม  วิภาคย์พจนกิจ,  2546: 440)  เมื่อผมสรุปมาเขียนในบันทึกนี้ว่าเป็น "กาพย์ซิ้ง" ผมขึงขออนุญาตแก้บันทึกนี้ให้เป็น "บทเซิ้ง" ตามเอกสารอ้างอิงนะครับ
  4. ทีนี้ก็มาดูว่าทำไมเอกสารอ้างอิง(เติม  วิภาคย์พจนกิจ, 2546: 440) จึงใช้คำว่า "บทเซิ้ง" และคุณสนอง ได้แลกเปลี่ยนไว้ว่า "๑. กลอนที่ยกมานี้ เข้าใจว่า เป็นกลอนลำหรือกลอนผญา ไม่ใช่กลอนเซิ้งครับ"
  5. เมื่อผมพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงเอกสารอ้างอิงที่ว่าเป็น บทเซิ้ง แล้ว  ก็เห็นตรงกันกับคุณสนองครับ  ว่าน่าจะเป็นกลอนลำ  ประเภทกลอนลำล่องยาว  ถ้าเป็นกลอนเซิ้งจะไม่มีคำมากเท่านี้ (เช่น กาพย์เซิ้งบั้งไฟ  เซิ้งแห่นางแมว  หรือเพลงเซิ้งอีสาน "แดนอีสานกำลังเดือดฮ้อน  มันเป็นย้อนพวกเจ้านายมัน..."ของวงคาราวาน)
  6.  ทีนี้เราชาวอีสานก็รู้ความหมายของ เซิ้ง นั้นมิได้หมายถึงบทร้อง แบบ "โอมพุทโธนะโมเป็นเค้า  ข้อยสิเว้าเรื่องพญาแถน..." เท่านั้นใช่ไหมครับ  เซิ้งก็คือคำเรียกการฟ้อนรำของคนอีสานคนลาวซึ่งมีทั้งเป็นระเบียบตามเอกลักษณ์ดูดี เช่น เซิ้งกระติบข้าว  เซิ้งตังหวาย  เซิ้งภูไทย  และอีกพวกคือเซิ้งตามอัธยาศัย  อาจมีฆ้องกลองหรือไม่ก็ได้  เช่น เซิ้ง(มั่ว)หน้าเวทีหมอลำ  เซิ้งยกมือฟ้อนดีใจอะไรสักอย่าง แห่ขันหมาก  แห่กัณฑ์หลอนยามบุญผะเหวด  ก็เรียกว่าเซิ้ง ซึ่งไม่ต้องมีบทร้อง  มีเพียงกลองยาว  แคน  พิณ... ก็เซิ้งม่วนแล้ว

  7. ใช่ครับ..การสื่อสารของกบฏผีบุญนี้มีลักษณะลูกโซ่..  แต่กลอน "ทิงสองบั้ง" นี้เป็นกลอนเฉพาะกิจสำหรับเยาะเย้ย  การที่พวกเขาสังหารลูกน้องร้อยตรีหรี่ตายตั้ง 11 ราย (อันนี้อ้างตามเอกสารของ เติม  วิภาคย์พจนกิจ มาเลยครับ)ส่วนข้อความลูกโซ่ นั้นน่าจะเป็นลักษณะคำทำนายแบบบันทึกของผมวรรคแรก

  8. ทีนี้ก็มาคิดว่าเมื่อเป็นกลอนลำ  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นลำล่องยาว  แต่ทำไมคุณเติมจึงเขียนเป็น บทเซิ้ง   ผมว่าคงน่าจะเมื่อชนะทหารทางการในสมรภูมิหนองขุหลุ  ตระการพืชผลในยกแรกแล้ว  ด้วยความดีใจคนลำใส่แคนก็ลำไป  ส่วนพลพรรคคนอื่นก็คงโห่ฮาเซิ้งสะใจ  เหมือนเราปีบฮายามหมอลำลำเข้าถึงวิญญาณม่วน  แม้จะเป็นลำยาวไม่มีจังหวะฟ้อนก็ตาม (ก็ยังฟ้อนในดอกได้)

  9. คงเป็นฟ้อนเซิ้ง  ใส่กลอนลำยาวนั่นแล  หรือว่ายังไงครับ  พวกเราไม่เห็น  ไม่ทัน  ก็คุยกันไปต่างโสเหล่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสู่กันฟังนะครับ.

 

 

 

เรียน คุณครูชา

ขออนุญาตครับ

ข้อ ๖ คำว่า "เซิ้ง" โดยขนบการใช้ของคนอีสาน หมายถึงการร้องบทกลอนในขบวนแห่ครับ แต่ที่ถูกนำมาใช้ในความหมายของการ "ฟ้อนรำ" (เช่นในปัจจุบัน) เพราะเหตุว่า การฟ้อนรำนั้น รำตามจังหวะเซิ้งครับ (หมายถึงจังหวะการร้องที่ว่า "โอ่เฮาโอ่เฮาโอ้เฮาโอ" ลองตีกลองตามจังหวะคำร้องนี้สิครับ จะเห็นว่านี่คื่อจังหวะการเซิ้ง (ฟ้อนรำตามจังหวะการร้องในขบวนแห่) ส่วนที่ว่า เซิ้งหมายถึงการฟ้อนรำ ความหมาย มันกลายแล้วครับ

ข้อ ๗-๘-๙ จังหวะการเซิ้ง ก็คือ จังหวะการเซิ้ง (กาพย์เซิ้ง) ไม่เกี่ยวกับกลอนลำ  (โคลงสาร) กล่าวคือ บทกลอนเป็นเรื่องของจังหวะถ้อยคำครับ เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่บทกลอนที่กล่าวนี้เป็น บทเซิ้ง เพราะจังหวะถ้อยคำไม่ใช่ครับ

ด้วยความเคารพครับ

ข้อความของเติม วิภาคย์พจนกิจ ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปครับ

  • สวัสดีครับคุณสนอง  ผมคิดว่าเรากำลังพูดเรื่องเดียวกัน  ค่อนข้างตรงกัน  ถ้านั่งผิงไฟสาดคนละผืน  ก็อาจซอดแจ้งบ่ยอมหลับได้
  • เห็นด้วยที่ว่า "ข้อความของเติม วิภาคย์พจนกิจ ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปครับ" และพบมากมายในเอกสารที่อ้างถึง
  • แต่การนำเสนอ  เป็นเชิงอ้างเอกสาร 
  • ขอขอบคุณ ที่คุณสนองพาตั้งข้อสังเกตุในเชิง  รูปแบบ "ฉันทลักษณ์" คำประพันธ์  ทั้งๆ ที่ฉันทลักษณ์ของอีสาน/ลาว  ไม่ได้เป็นแผนผังตายตัวเหมือนของไทยกลาง  แต่อยู่ที่ใจ  จังหวะของเสียงอักษร  วาดวาทศิลป์คนแต่ง  ใกล้เคียงหน่อยก็ร่าย ฯลฯ (มีโอกาสค่อยว่ากันให้ม่วนใจครับ)
  • ส่วนเซิ้งทั้งที่เป็น กาพย์เซิ้ง  หรือเซิ้งโห่เชิ๊บเชิ๊บไม่ต้องมีดนตรีเอาจังหวะม่วนใจอย่างไร..  ผมคิดว่าเซิ้งไม่ใช่ชื่อเชิง "ฉันทลักษณ์" ตายตัว  แล้วแต่ว่าเราจะใช้เป็นคำนาม  หรือคำกริยา  ถ้าเป็นคำกริยาก็พอหมายถึงฟ้อนทุกอย่าง 
  • ถ้าเป็นคำนามก็ต้องแจกแจงไป  แล้วแต่ใครจะคุ้นเคยบริบทของการเซิ้ง 
  • จริง ๆ เราตรงกันครับคุยให้ม่วนใจ  คำว่า  ฟ้อน  กับเซิ้ง หรือเอาแค่ ย่อน มันแยกกันไม่ค่อยออก  จะเอารูปเอาแบบ  หรือเอาตามอัธยาศัย ก็ว่ากันไป
  • ส่วนเรื่อง "ตีกลองตามจังหวะคำร้อง" เห็นด้วยและเข้าใจครับ  ผมเป็น "นักกีฬาชอบเล่นซออู้ม่วนเพลิน" อยู่ในสายเลือดมาตลอดครับผม 
  • ขอบคุณมากครับ  ปีใหม่ 2551 ขอให้คุณสนองโชคดี  ส่วนผมจะนำเสนอก็หมายลาวโบราณ  มาคุยกันอีกนะครับ.

เรียน คุณครูชา

ไม่เป็นไรครับ เป็นเรื่องมุมมองความคิดเห็น อาจจะเห็นเหมือนหรือต่าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและอธิบายกันต่อไป ทั้งหลายนี้ ก็เพื่อให้เกิดความแน่ชัด เพื่อเป็นหลักอธิบายสำหรับผู้ใฝ่รู้ท่านอื่น ๆ และแวดวงวิชาการ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจมองไม่เห็นพัฒนาการของความรู้ อะไรก่อนอะไรหลัง อะไรใช่หรืออะไรไม่ใช่ เส้นแบ่งนั้นอยู่ตรงไหน ไม่อย่างนั้นแล้ว มันจะไหล "ฮาด" กัน จนแยกไม่ออก กลายเป็นปัญหาของความรู้และอื่นๆ

ขอบคุณที่เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยน แล้วจะคอยติดตามเรียนรู้ด้วยครับ

  • สวัสดีครับคุณสนอง  คุยดี  ว่าจะจบ มาเจอเรื่อง "ฮาด" เอาอีกหน่อย  อิ  อิ
  • ".."โอ่เฮาโอ่เฮาโอ้เฮาโอ" ลองตีกลองตามจังหวะคำร้อง"
  • ได้จังหวะกลองต่อมาว่า "ป๊ะ  ตึง  ป๊ะ  ตึง  ป๊ะ  ตึง  ตึง" นี่ก็ ฮาด มาแล้วนะครับ เพราะกลองเดิมแล้วใช้รำมะนาอีสาน/ลาว(คนละอย่างกับรำมะนาลำตัดไทย) ตีช้า ๆ ให้คนจ่ายกาพย์ร้องขอแผ่ (บริจาค)ค่าหมื่อค่าขี้เกลือ  ขอกินเหล้าโท  หรือโชว์การเล่านิทานผาแดงนางไอ่  จะได้ร้อง/รับชัด ๆ ฟ้อนใส่เนิบ ๆ กลองรำมะนา ปุง ปุ๊/  ปุง ปุ๊/...
  • เมื่อตีให้เร็วขึ้น(ดังที่วงคาราวานประยุกต์ในเซิ้งอีสาน) "ฮาด" มาเป็น ป๊ะ ตึง ป๊ะ ตึง ป๊ะ ตึง ตึง แล้ว  ฮาด มาใส่คนคิดท่ารำมาจากการทำมาหากิน เช่น  เซิ้งกระติบ  เซิ้งสวิง  นี่ก็ ฮาด ไปอีก
  • หลัง ๆ มา ยุคมีวิทยุ  เห็นเอาทำนองลายแคน  ลำพื้นเมือง  ทางย้อ  ภูไทย  สีพันดอน  คอนสวรรค์ มาลำ บรรเลงประกอบการรำ  ก็เรียกชื่อว่าเซิ้ง...ตามถิ่นที่มาของทำนองลายเพลงอีก  นี่ก็ฮาด ไปอีก
  • ต่อมาเพลงทางแผ่นเสียงดังมา  เช่น รำเต้ย (เบญจมินทร์) สาวคนโก้  สาระวันรำวง  เซิ้งบ้องไฟ (ไวพจน์) เสียงพิณเสียงแคน  เวียงจันทน์เวียงใจ (สมัย  อ่อนวงศ์) ลูกทุ่งพเนจร  ข้าวเหนียวติดมือ  เซิ้งสวิง (พนม  นพพร)  มาจน อีสานบ้านเฮา(เทพพร) สาวจันทร์กั้งโกบ (พรศักดิ์) รักสลายดอกฝ้ายบาน(จินตรา) นี่เป็นการ ฮาด ความหมายจากการเซิ้งโดยกาพย์กลอนเซิ้งบั้งไฟ  นางด้ง  นางแมว  เซิ้งเซียงข้อง..  มาเป็นท่ารำเรียกว่าเซิ้ง ประกอบเพลงเหล่านี้  ตามแต่ละยุคเพลง
  • นี่ก็คือลักษณะการที่ "เซิ้งหมายถึงการฟ้อนรำ ความหมาย มันกลายแล้ว" คือการ "ฮาด" ซึ่งเป็นข้อควรศึกษาจากที่คุณสนองชี้ไว้
  • เซิ้งมีบทร้อง  กับท่ารำสวยงาม  รำอัธยาศัย  การฟ้อนแห่  มันก็อยู่ด้วยกันอย่างนี้  ไหลบ่าฮาดมาอย่างนี้  หรือไม่อย่างไร  เราชาวอีสานแด่นแด้ คุยโสกันไป..  ขอบคุณครับผม

สวัสดีปีใหม่ครับ คุณครูชา

คุณครูอธิบายการไหล "ฮาด" กันได้ดียิ่งแล้วครับ ผมเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตไว้ให้ช่วยกันพิจารณา เพราะก่อนนี้และเดี๋ยวนี้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "เซิ้ง" ผิด ๆ ในตำราการเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทยว่า อีสานมีแต่เซิ้ง ไม่มีฟ้อนไม่มีรำ ดังนั้น ถ้าชื่อชุดรำชุดใดไม่มีคำว่าเซิ้งนำหน้า ก็ไม่จัดว่าเป็นฟ้อนของอีสาน เช่น ฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ (ที่มีบทร้องว่า "มาเถิดเยอมาเยอขวัญเอย") เขาก็จัดว่าเป็นชุดรำของชาวภาคเหนือ เนื่องด้วยมีคำว่า ฟ้อนนำหน้า อย่างนี้เป็นต้น แล้วคนท้องถิ่นอีสานเห็นด้วยกับเขาหรือครับ? 

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีปีใหม่ ครับคุณสนอง
  • เรื่องความเข้าใจความเห็นของคนอีสานหลายอย่าง  ก็เข้าใจกันเองจนลืมไปก็มี  ที่จริงบ้านเราถ้า "รำในดอก" ก็เรียกว่าฟ้อน  ฟ้อนแยะแยะ  ฟ้อนซางซะ ซางซะ  อยู่แล้ว  จะมีก็พวกเวลาเด็กฟ้อนรำ  เซิ้ง ครูชอบอธิบายใส่ไมค์  ฟัง ๆ มาก็ว่าไป...
  • ทางดนตรีก็เหมือนกันครับ  เหมือนเพลงโชว์วงโปงลาง ที่ฮิตก็บรรเลงสำปะปิเพลง  จังหวะช่าช่าช่า  ที่ขึ้นเหมือนเพลงสุรพลมาแล้ว  มีทั้งปูไข่ไก่หลง  ลายริทึ่มสายเปลสายใจ  แถมเพลงเส่เลเมา(โมงแซะแซะโมง..) อีกหลายเพลง  ถ้ามองว่าเล่นไปไม่ยึดเอกลักษณ์เพลงอีสานก็ถูก  จะว่ามีการบูรณาการเพลงที่ม่วนสนุกคึกครื้นก็ได้  แต่นั่นเป็นเพลงบรรเลง  ไม่เหมือนคำพูดซึ่งจะมีความหมายในตัวทุกคำ
  • ผมเคยเห็นสูจิบัตรงานฉลอง 200 ปี จังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งของภาคอีสาน  กำหนอว่าให้ทุก ๆ คนที่ร่วมขบวนแห่ "สวมเสื้อม่อฮ่อม" แค่นี้ก็ไม่ต้องไปฉลองภูมิใจอะไรแล้ว  เพราะแค่เสื้อดำ "หม้อนิน" ยังไม่รู้จักเรียกแบบอีสาน
  • อย่างหัวจั่วกาแลบ้านแถบอีสาน  ก็เห็นแล้วทั่วไป เป็นต้นครับ 

เรียน คุณครูชา ครับ

ทั้งหมดนี้ ก็คงเป็นกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างที่พูด ๆ กัน ทุกอย่างล้วนไหล "ฮาด" กัน ทั้งโดยพื้นที่และเวลา จนยากที่จะแยกให้เห็นถึงลักษณะตัวตนที่แท้จริงของแต่ละสังคม นอกจากท่านผู้รู้อย่างคุณครูชาและท่านอื่น ๆ จะได้ช่วยกันหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเสนอ อภิปราย แลกเปลี่ยนกัน เช่น ใน Gotoknow แห่งนี้ ดังนั้น คำว่า "อัตลักษณ์" จึงถูกใช้มากในยุคสมัยนี้ ซึ่งผมถือว่าเป็นธรรมชาติของการ "คานอำนาจ" ทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น "ขบถแห่งยุคสมัย" ย่อมไม่อาจจางหายไป ไม่ว่าจะสมัยโน้น (ผีบุญ) สมัยนี้ หรือสมัยไหน ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านครับ (ฮา)

  • ขอบคุณครับคุณสนองครับ
  • ผมชักคุ้น ๆ ชื่อ จะนึกออก  ไม่รู้ว่าใช่คนเดียวกันไหม  แตซงคืออยู่ครับ...
  • สองบรรทัดสุดท้าย  เป็นกำลังใจให้ใผบ้างหนอหนอ  อยู่ในบันทึกของผม จะให้ผมไปลี้อยู่ใสนอ..ฮา..

เข้ามาเจอโดยบังเอิญ

ขอกบอกว่าดีใจมาก

บล็อกของคุณเยี่ยมมากเพื่อน

หวังว่าคงสบายดี

สวัสดีครับคุณครูทุกท่าน

ผมเห็นด้วยกับครูสนองนะครับ เซิ้ง นั้นใช้กับดนตรี ส่วน ฟ้อน ใช้กับคน พูดง่ายๆก็คือ คนนั่นแหละครับ ที่ไปฟ้อนใส่เซิ้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท